สีกา กับ ผ้าเหลือง

 

     

home

back

 

     

สีกา กับ ผ้าเหลือง ( ๑๘ มิ.ย. ๒๕๔๕ )

  • ธรรมะวิจารณ์ " เหตุใด พระพุทธองค์จึงไม่วางใจเหล่าสตรีทั้งหลาย แม้ในครั้งพุทธกาลจะยอมให้สตรีบวชในพุทธศาสนาอยู่บ้าง "

ข้าพเจ้ามักมีโชค หรือจะว่ามีจิตต้องกันกับพุทธศาสนาก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าข้าพเจ้าจะเดินทางไปที่แห่งใด มักได้พบหรือได้สัมผัสเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยบังเอิญบ่อยครั้ง และในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าตั้งใจจะไปเดินชมตามรอยประวัติศาสตร์ ถนนสายวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดฉลอง ๒๒๐ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อข้าพเจ้าได้เดินผ่านใต้สะพานพระปิ่นเกล้าจะไปป้อมพระสุเมรุ ก็ได้ผ่านพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบมาก่อนว่าตั้งอยู่บริเวณนี้ ข้าพเจ้าเห็นมีคนเข้าออกได้ แสดงว่าวันนี้คงเปิดให้เข้าได้ ไหนๆ มาแล้วก็ลองเข้าไปดูสักหน่อย เผื่อว่าจะมีความรู้อะไรเพิ่มแปลกใหม่บ้าง พอเข้าไปก็เห็นว่าเป็นห้องสมุด มีหนังสือธรรมะเก็บไว้พอสมควร ข้าพเจ้าสำรวจดูก็เห็นมีหนังสือพระไตรปิฎกอยู่หลายเล่ม ข้าพเจ้าเดินชมอยู่สักพักหนึ่ง ก็มีเสียงเจ้าหน้าที่ห้องสมุดถามข้าพเจ้าว่า "จะลองตอบปัญหาธรรมะดูไหม" ข้าพเจ้าจึงบอก "ลองดูก็ได้ครับ" เจ้าหน้าที่ก็ส่งกระดาษปัญหามาให้ข้าพเจ้า ๓ แผ่น, ๒ แผ่นแรกเป็นปัญหาธรรมะสำหรับชาวพุทธทั่วไป และปัญหาเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาพื้นๆ ซึ่งข้าพเจ้าทราบและตอบได้เป็นส่วนใหญ่ และอีกหนึ่งแผ่นเป็นปัญหาเกี่ยวกับประวัติพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ซึ่งข้าพเจ้าก็ตอบไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่ทราบประวัติมาก่อนเลย แต่เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาข้าพเจ้าตอบได้เป็นส่วนใหญ่ ข้าพเจ้าจึงได้รับรางวัลเป็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "สีกากับผ้าเหลือง" ซึ่งเป็นหนังสือจากกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลวงปู่เขียว และนั่นก็เป็นที่มาของหัวข้อ ธรรมะวิจารณ์ในครั้งนี้
  • พระพุทธองค์ได้มีการกล่าวไว้ และมีการบันทึกไว้ในพระสุตตันปิฎกเล่มที่ ๒๗ ในจุลลกุณาลชาดก ว่าด้วยสิ่ง ๕ อย่าง รู้ได้ยาก และคำกล่าวของพระพุทธองค์ กล่าวเปรียบนิสัยของสตรีไว้ดังนี้

* ไฟกินเปรียง๑ (ไฟไหม้เชื้อทุกอย่าง๑), ข้าวสาร๑, งูเห่า๑, พระเจ้าแผ่นดินผู้ได้มูรธาภิเษก๑, หญิงทุกคน๑, ทั้ง ๕ นี้ คนพึงคบหาด้วยความระมัดระวังเป็นนิตย์ เพราะว่าสิ่งทั้ง ๕ นั้นมีอัธยาศัยที่รู้ได้ยาก

* หญิงที่งามเกินไป๑, หญิงที่ชายเป็นอันมากไม่รักใคร่๑ (หญิงแพศยา), หญิงที่เหมือนมือขวา๑(ชำนาญการฟ้อนการขับ), หญิงที่เป็นภรรยาของคนอื่น๑, หญิงที่เห็นแก่ทรัพย์๑, หญิงทั้ง ๕ จำพวกนี้ไม่ควรคบหา
* บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ย่อมไม่ควรจะเชื่อหญิงผู้หยาบช้า ใจเบา ไม่รู้จักคุณคน มักประทุษร้ายมิตร
* หญิงเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักกิจที่ทำแล้ว และกิจที่ยังไม่ได้ทำ ไม่รู้จักมารดา บิดาหรือพี่น้อง ไม่ใช่อารยชน ก้าวล่วงธรรมเสียแล้ว ย่อมไปตามอำนาจจิตของตนถ่ายเดียว
* เมื่อมีอันตรายและเมื่อกิจเกิดขึ้น หญิงย่อมละทิ้งสามีนั้นแม้อยู่ร่วมกันมานาน เป็นที่รักเป็นที่พอใจ เป็นผู้อนุเคราะห์แม้เสมอด้วยชีวิต เพราะเหตุนั้นเรา(พระพุทธองค์) จึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
* ความจริง จิตของหญิงเหมือนจิตของลิง ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนเงาต้นไม้ หัวใจของหญิงทั้งหลายไหวไปมาเหมือนล้อรถที่กำลังหมุนไปฉะนั้น
* คราวใด มองเห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ คราวนั้น ย่อมใช้วาจาอ่อนหวานนำพาเอาบุรุษนั้นไป เหมือนชาวกัมโพชใช้สาหร่าย ล่อม้าไปฉะนั้น
* คราวใด มองไม่เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ คราวนั้น ย่อมละทิ้งบุรุษนั้นไปเสีย เหมือนบุคคลข้ามฝากถึงฝั่งโน้นแล้ว ก็ทิ้งแพไป
* หญิงเปรียบเหมือนยางรัก กินไม่เลือกเหมือนเปลวไฟ มีมายาแรงกล้า เหมือนแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว ย่อมคบหาบุรุษทั้งที่น่ารักและไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดไม่เลือกว่าฝั่งข้างนี้หรือข้างโน้น ฉะนั้น
* หญิงไม่ใช่ของบุรุษคนเดียวหรือสองคน ย่อมต้อนรับทั่วไปเหมือนร้านตลาด ผู้ใดสำคัญซึ่งหญิงเหล่านั้นว่าของเรา ก็เท่ากับ ดักลมด้วยตาข่ายฉะนั้น
* แม่น้ำ หนทาง ร้านขายเหล้า สภา และบ่อน้ำ มีอุปมาฉันใด หญิงในโลกก็มีอุมไมยฉันนั้น เขตแดนของหญิงเหล่านั้นไม่มีเลย
  • และในพระสุตตันปิฎกเล่มที่ ๒๘ ขุททกนิกาย กุณาลชาดก ว่าด้วยนางนกดุเหว่า ได้กล่าวไว้ว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการคือ
* ดัดกาย๑ , ก้มตัว๑ , กรีดกราย๑ , ทำอาย๑ , แกะเล็บ๑ , เอาเท้าเหยียบกัน๑ , เอาไม้ขีดแผ่นดิน๑ , ทำกระโดด๑ , เล่นกับเด็ก๑ , จุมพิตเด็ก๑ , ให้เด็กจุมพิต๑ , กินเอง๑ , ให้เด็กกิน๑ , ให้ของแก่เด็ก ขอของจากเด็ก๑ ,
ทำตามเด็กกระทำ๑ , พูดเสียงสูง๑ , พูดเสียงต่ำ๑ , พูดเปิดเผย๑ , พูดกระซิบ๑ , ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อน๑ , การขับ๑ , การประโคม๑ , ร้องไห้๑ , ด้วยการแต่งกาย๑ , ทำปึ่ง๑ , ยักเอว๑ , ส่ายผ้าที่ปิดของลับ๑ , เลิกขา๑ , ปิดขา๑ ,
ให้เห็นนม๑ , ให้เห็นรักแร้๑ , ให้เห็นท้องน้อย๑ , หลิ่วตา๑ , เลิกคิ้ว๑ , เม้มปาก๑ , แลบลิ้น๑ , ขยายผ้า๑ ,
กลับนุ่งผ้า๑ , สยายผม๑ , มุ่นผม๑
จะเห็นได้ว่าสตรีในสมัยพุทธกาล เมื่อ ๒๕๔๕ ปีกว่าล่วงมาแล้ว กับสตรีในสมัยปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมีนิสัยและพฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลงไปกว่าเดิมเลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ถ้ามองด้วยปัญญาแห่งสัมมาทิฐิ ก็คงหาคำตอบได้ไม่ยาก ซึ่งสตรีก็เปรียบเสมือนผู้เสนอสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งกับลูกค้า ย่อมต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อจูงใจลูกค้าให้ซื้อสินค้าของตนในทุกวิถีทาง ก่อนที่สินค้านั้นจะล้าสมัยหรือมีสินค้ารุ่นใหม่ที่ดีกว่าออกมา ซึ่งการที่พระพุทธองค์ได้แสดงนิสัยของเหล่าสตรีออกมานั้น แสดงถึงพระพุทธองค์ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองสำเร็จพระอรหัตสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้วนั้น มีญาณหยั่งรู้อดีตและอนาคต มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลไร้ขอบเขตจำกัด เป็นเลิศหาผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ได้
  • เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา พระเจ้าสุทโธทนมหาราชแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อขอให้สตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ ๓ ครั้ง ๓ ครา และพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามไว้ทั้ง ๓ ครั้ง

เหตุแห่งการขอบวชของพระนางมหาปชาบดีโคตมี อาจมองได้หลายเหตุผล

๑. เพราะนางไม่มีใครแล้วที่เป็นที่พึ่ง เมื่อพระเจ้าสุทโธนมหาราชสิ้นพระชนชีพแล้ว ตามหลักการถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงเสด็จออกบวช พระพุทธองค์จะต้องทรงครองราชต่อจากพระราชบิดา และพระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นผู้ให้การเลี้ยงดูพระองค์ ให้นมให้อาหารแทนพระพุทธมารดาของพระพุทธองค์ที่สิ้นพระชนชีพ หลังจากประสูตรพระพุทธองค์ ก็ยังสามารถอยู่ได้อย่างสบาย แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จออกบวช ภายในราชสำนักหลังจากพระเจ้าสุทโธทนมหาราชสิ้นพระชนชีพแล้วน่าจะอยู่ในสถานะที่ไม่สงบนักก็เป็นไปได้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงนำเหล่านางสากิยานีอีกจำนวนมากเพื่อขอบวช

๒. อาจเป็นด้วยแรงแห่งศรัทธาในพุทธศาสนาของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเองจึงของบวช

๓. อาจเป็นทั้งสองเหตุผลในข้างต้นก็ได้

๔. อาจเป็นเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่อาจกล่าวถึงได้

 

เมื่อพระพุทธองค์ปฏิเสธการขอบวชของพระนางมหาปชาบดีโคตมีทั้ง ๓ ครั้ง พระนางฯ จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ไป ครั้นต่อมาพระพุทธองค์เสด็จไปยังนครเวสาลี และเข้าประทับ ณ กูฏาคาร ในป่ามหาวัน ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมีโปรดให้ปลงเกศาของพระนาง และทรงนุ่งห่มผ้ากาวสาวพัสตร์ ทรงตั้งเจตนาบรรพชาพร้อมกับนางสากิยานีเป็นจำนวนมาก เวลานั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระบาททั้ง ๒ พอง พระกายมัวหมองด้วยฝุ่นละอองธุลี ทรงเป็นทุกข์เสียพระทัยมีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนทรงกันแสงอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอกวิหาร

เมื่อพระอานนทเถระได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงถามว่าทำไมพระนางถึงได้มีสภาพเช่นนี้ พระนางจึงตอบท่านพระอานนท์ว่าเพราะพระพุทธองค์ ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบรรพชาในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว เจ้าคะ
พระอานนท์จึงไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมี และสตรีได้บรรพชาในพระธรรมวินัยที่พระคถาคตทรงประกาศไว้แล้วเถิด ถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้ทั้ง ๓ ครั้ง
พระอานนทเถระจึงกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สตรีออกจากเรือนบรรพชาเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว อาจทำให้แจ้งผลแห่ง โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ได้หรือไม่ พระเจ้าข้า"
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ดูก่อนอานนท์ สตรีออกจากเรือนบรรพชาเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ก็อาจทำให้แจ้งผลแห่ง โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ได้"
พระอานนทเถระจึงกราบทูลขึ้นว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าสตรีได้บรรพชาในพระธรรมวินัยที่พระคถาคตทรงประกาศไว้แล้ว สามารถกระทำให้สำเร็จผลแห่ง โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ได้ พระนางมหาปชาบดี
โคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธองค์ ทรงเป็นผู้มีอุปการะคุณมาก ทรงประคบประหงมเลี้ยงดู ทรงถวายข้าวป้อน และขีรธาดาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นับตั้งแต่พระชนนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสวรรคต ขอประทานวโรกาสขอโปรดให้สตรีได้บรรพชาเถิด พระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอานนทเถระว่า "ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงยอมรับ "ครุธรรม" ๘ ประการ จงเป็นอุปสมบทของพระนางมหาปชาบดีโคตมี" นั่นหมายถึงจะบวชได้แต่มีข้อแม้ ๘ ประการ ที่ต้องถือเป็นธรรมอันหนัก หรือความประพฤติสำหรับภิกษุณีที่พึงถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๘ ประการ คือ
๑. ภิกษุณีแม้บวชแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องกราบไว้ภิกษุ แม้บวชเพียงวันเดียว
๒. ภิกษณีจะอยู่จำพรรษาในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถ และไปรับฟังโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์ และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตหรือการปฏิบัติเพื่อขอพ้นโทษจากอาบัติ ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๑๕ วัน
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เมื่อนางสิกขมานา หรือสามเณรีผู้ศึกษาธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว (เมื่อสามเณรีรักษาศีล ๖ แล้วครบ ๒ ปี จึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ แต่ถ้าละเมิดศีล ๖ ข้อหนึ่งข้อใด ต้องเริ่มต้นใหม่จนกว่าจะครบ ๒ ปี จึงจะอุปสมบทได้)
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่บริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
๘. ภิกษุณีจะว่ากล่าวภิกษุไม่ได้ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้
พระอานนทเถระจำครุธรรม ๘ ประการได้แล้ว ก็กลับไปบอกพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า "ขอถวายพระพร ถ้าพระนางทรงรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ได้ ก็เป็นอันว่าพระนางได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีแล้ว ขอถวายพระพร" พระนางมหาปชาบดีโคตมี ตรัสตอบว่า "ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเลยตลอดชีวิต เจ้าคะ"
พระอานนทเถระฟังพระวาจาของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ที่ตรัสตอบรับว่า "พระนางทรงพร้อมแล้วที่จะทรงรับครุธรรม ๘ ประการมาปฏิบัติ" พระอานนทเถระจึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ สถานที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการแล้วเป็นอันว่าพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้อุปสมบทแล้วพระเจ้าข้า"
เป็นอันว่าพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้อุปสมบท เป็นภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา สมเจตนารมณ์ของพระนาง
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าหม่อมฉันจะปฏิบัติต่อนางสากิยาณี (นางในราชสำนัก) อย่างไรพระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจง ให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีเห็น ให้ถือปฏิบัติอันดี ให้อาจหาญร่าเริง ด้วยทรงแสดงธรรมให้ทรงสดับ (พระพุทธองค์ทรงหมายให้ภิกษุณี ทรงปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัย ที่ตถาคตทรงประกาศไว้เท่านั้น ไม่ให้ภิกษุณีสามารถบวชให้เหล่ามาตุคามหรือสตรีได้)
ลำดับต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงถือเอาเรื่องที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี กราบทูลถามเป็นต้นเหตุ แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คถาคตอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณีทั้งหลาย"
ครั้งนั้นก็มีเรื่องวุ่นวายในภิกษุณีเหล่านั้นอีก จนต้องเดือดร้อนถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าต้องตัดสินอีกคือ เหล่าภิกษุณีที่อุปสมบทโดยภิกษุได้อ้างว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี พระนางยังไม่ได้อุปสมบท เพราะว่าพระแม่เจ้าทรงถือผ้ากาวสาวพัสตร์ด้วยพระหัตถ์ของพระแม่เจ้าเอง ไม่ได้ให้ภิกษุทรงอุปสมบทให้ ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณี พระภิกษุณีเหล่านั้นได้มีความรังเกียจ ไม่ยอมกระทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ที่พระสงฆ์เข้าร่วมฟังทุกกึ่งเดือน ไม่กระทำปวารณาร่วมกับพระนางเลย
ฝ่ายนางมหาปชาบดีโคตมีได้เสด็จไปหาพระอานนทเถระ กล่าวตรัสเรื่องดังกล่าวให้พระอานนท์ฟัง พระอานนท์จึงได้เสด็จไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเรื่องดังกล่าว
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงรับ ครุธรรม ๘ ประการเมื่อใดแล้ว พระนางชื่อว่าได้อุปสมบทแล้วในเวลานั้น"
ยังมีข้อความในอรรถกถา คัมภีร์พระธรรมบทกล่าวต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรับรองว่า "คถาคตเป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌายะของพระนางมหาปชาบดีโคตมี พวกเธอไม่ควรทำความรังเกียจในพระขีณาสพ (ผู้สิ้นกิเลส) ทั้งหลาย ผู้เว้นจากทุจริตทั้งหลาย มีกายทุจริต เป็นต้น"
และเมื่อพระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรม จึงตรัสคาถาธรรมว่า "ความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ของบุคคลใด
ไม่มี คถาคตเรียกบุคคลนั้น เป็นผู้สำรวมแล้ว โดยฐานะ ๓ ว่าเป็นพราหมณ์"
นี้แสดงให้เห็นความวุ่นวายแรกๆ ขณะมีภิกษุณีอุปสมบทในพุทธศาสนา ซึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี และภิกษุณีทั้งหลาย ยังไม่สำเร็จอรหันต์ ยังมีกิเลสอยู่ มีการตั้งแง่กันเล็กๆ น้อยๆ ตามวิสัยของสตรี ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พระพุทธองค์ ไม่ทรงวางใจเหล่าสตรีทั้งหลาย
ยังมีเรื่องของนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี เสด็จไปหาพระอานนทเถระ ให้ทรงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าขอพร ทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การยกมือไหว้ การแสดงความเคารพแก่ภิกษุ และภิกษุณีตามลำดับผู้แก่พรรษา ทั้งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการไว้แล้วข้อที่ว่า ภิกษุณีแม้บวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชเพียงวันเดียว การที่พระนางมหาปชาบดีเถรีขอพรดังกล่าวต่อพระพุทธองค์ เท่ากับต้องการแล่นแง่ต่อบทบัญญัติของครุธรรม ๘ ประการดังกล่าว ว่าถ้าภิกษุณีที่บวชมากพรรษาต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชเพียงวันเดียวได้ ภิกษุที่บวชน้อยพรรษากว่าก็ต้องแสดงการกราบไหว้ตอบรับ แสดงความเคารพตอบภิกษุณีที่บวชพรรษามากกว่าได้
เมื่อพระอานนท์กราบทูลเรื่องดังกล่าวให้กับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไม่ทรงอนุญาต ทรงแสดงธรรมตามสมควรแก่เหตุ และตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทำการกราบไหว้ การลุกรับ การยกมือไหว้ การแสดงความเคารพแก่มาตุคาม (สตรี) ไม่ได้ ถ้าภิกษุใดกระทำ ภิกษุนั้นต้องอาบัติ ทุกฎ"
ึเมื่อไม่ทรงอนุญาตตามที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีขอพรต่อพระพุทธองค์ ในครั้งหนึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี เสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทรงกราบทูลว่า "ขอประทานพระวโรกาสพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมแต่โดยย่อ พอที่หม่อมฉันฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร เป็นผู้เผากิเลสให้พินาศไป เป็นผู้มีใจตั้งมั่นพระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนพระนางโคตมี ท่านพึงรู้จักธรรมเหล่าใดว่า
ธรรมเหล่านี้
* เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ไม่ใช่เพื่อคลายความกำหนัด
* เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่ใช่เพื่อพรากสัตว์ออก
* เป็นไปเพื่อความสะสมกิเลส ไม่ใช่เพื่อความไม่สะสมกิเลส
* เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่ใช่เพื่อความมักน้อย
* เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่ใช่เพื่อความสันโดษ
* เป็นไปเพื่อคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่ใช่เพื่อความสงัด
* เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่ใช่เพื่อความเพียร
* เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย
ดูก่อนพระนางโคตมี ท่านพึงจำธรรมเหล่านั้นไว้ให้แน่นอนว่า นั่นไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ดูก่อนพระนางโคตมี ท่านพึงรู้จักธรรมเหล่าใดว่า
ธรรมเหล่านี้
* เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อความกำหนัด
* เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก ไม่ใช่เพื่อประกอบสัตว์ไว้
* เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกิเลส ไม่ใช่เพื่อความสะสมกิเลส
* เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่ใช่เพื่อความมักมาก
* เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่ใช่เพื่อความไม่สันโดษ
* เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่ใช่เพื่อคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
* เป็นไปเพื่อความเพียร ไม่ใช่เพื่อความเกียจคร้าน
* เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงยาก
ดูก่อนพระนางโคตมี ท่านพึงจำธรรมเหล่านั้นไว้ให้แน่นอนว่า นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย นั่นเป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา"
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้ทรงสดับพระพุทธโอวาท ที่ทรงแสดงลักษณะของพระธรรมวินัย และได้ทรงเล่าเรียนพระกรรมฐานในสำนักของผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้ทรงนำไปปฏิบัติและก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ เป็นพระอรหันตสาวิกา ในพระพุทธศาสนา ส่วนสากิยานีภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ได้สำเร็จพระอรหันตผล เป็นพระอรหันต์ในเวลาที่ได้ฟัง นันทโกวาทสูตรจบลง (สูตรว่าด้วยพระนันทเถระให้โอวาท)
เมื่อพระนางมหาปชาบดีเถรีสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดอาสวะกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงสถาปนาพระนาง
มหาปชาบดีโคตมีเถรี ไว้ในตำแหน่งที่เลิศที่สุดกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ฝ่ายรัตตัญญู คือผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงทรงบรรพชาก่อนภิกษุณีทั้งหลาย เพราะพระนางได้ประกอบบุญกุศลสะสมไว้ หลายภพหลายชาติมาแล้วนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์วุ่นวาย หรือเหตุพิพาทต่างๆ ของเหล่าภิกษุณีในครั้งพุทธกาลนั้น เป็นเหตุการณ์เล็กๆ น้อย แต่ภิกษุณีเหล่านั้นก็นำมาเป็นข้ออ้างกลายเป็นเรื่องสำคัญขยายใหญ่โตขึ้นมาจนได้ โชคดีที่เหล่าภิกษุณีนั้นเกิดมาในยุคของพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงตัดสินเหตุพิพาทต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด ในฐานะพระพุทธศาสดาแห่งชาวพุทธ ซึ่งคำตัดสินหรือคำตรัสของพระพุทธองค์เป็นที่ยอมรับ และถือนำไปปฏิบัติตามนั้น แต่ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันนี้ก็คงเป็นเรื่องวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้นเป็นแน่
ในครั้งที่หลังจากพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ทรงยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ถืออุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้วนั้น พระอานนท์ได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ ถ้าสตรีไม่ได้บรรพชาในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ พรมหจรรย์
(การประพฤติธรรมอันประเสริฐ หรือพระพุทธศาสนา) จะตั้งอยู่ได้นาน พระสัทธรรม(ธรรมที่แท้) จะพึงตั้งอยู่ได้ตลอด ๑,๐๐๐ปี แต่ถ้าสตรีบรรพชาเป็นบรรพชิต พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ปี เพื่อเป็นการป้องกันเหตุเหล่านี้ พระพุทธองค์จึงได้บัญญัติ ครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี ไม่ให้ละเมิดตลอดชีวิต เมื่อพระพุทธองค์บัญญัติ ครุธรรมเหล่านั้นไว้แล้ว พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้อีก ๕๐๐ปี รวมเป็น ๑,๐๐๐ปี"
* คำว่า ๑,๐๐๐ปี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ ด้วยทรงมุ่งหมายถึง พระอรหันตขีณาสพ (พระอรหันต์เป็นชื่อของพระอริยบุคคลระดับสูงสุด คือพระขีณาสพ ผู้สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอเสขะ ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป) เท่านั้นที่คงอยู่
* เวลาต่อจากนั้นไปอีก ๑,๐๐๐ปี พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายถึง พระอรหันต์สุกขวิปัสสโก (ผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เพราะเจริญวิปัสสนาล้วน หรือผู้เห็นสังขารเป็นของแห้งแล้ง) ยังมีอยู่
* เวลาต่อจากนั้นไปอีก ๑,๐๐๐ปี ทรงมุ่งหมายถึง พระอนาคามี (แปลว่า ผู้ไม่มาสู่โลกนี้อีกหลังจากตายไปแล้ว) ยังมีอยู่
* เวลาต่อจากนั้นไปอีก ๑,๐๐๐ปี ทรงมุ่งหมายถึง พระสกทาคามี (แปลว่า ผู้จะมาเกิดในโลกนี้อีกครั้งเดียว ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์) ยังมีอยู่
* เวลาต่อจากนั้นไปอีก ๑,๐๐๐ปี ทรงมุ่งหมายถึง พระโสดาบัน (แปลว่า ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เป็นพระอริยะบุคคลชั้นต้น) ยังมีอยู่
ด้วยเหตุนี้ พระปฏิเวธสัทธรรม ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน จะตั้งอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ปี พระปริยัติธรรม ได้แก่ธรรมที่จะต้องเล่าเรียน คือพระไตรปิฎก ก็จะตั้งอยู่ตลอด ๕,๐๐๐ปี เหมือนกัน
อนึ่ง พระปฏิเวธสัทธรรมนั้น ความจริงมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นด้วยจักษุญาณอันประเสริฐว่า ด้วยเวลาที่เนิ่นนานไปในกาลข้างหน้า จะมีเหตุปัจจัยรวมถึง สภาพการณ์ สภาพแวดล้อมต่างๆ มิอาจทำให้บุคคลสามารถประพฤติธรรมอันประเสริฐ บรรลุผลแห่งอริยะบุคคลระดับสูงสุด อันได้แก่พระอรหันต์ขีณาสพนั้น มิอาจทำได้ง่ายดายนัก
*** ข้อความต่อเนื่อง ...( ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ )
หลังจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้ทรงเป็นพระอรหันต์ คือเป็นอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อท่านจะทรงทำให้แจ้งซึ่งความเป็นพระอรหันต์ ด้วยการแสดงอุปการคุณชมเชยพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงกล่าวพระคาถาไว้ ซึ่งมีปรากฎอยู่ในพระบาลีคัมภีร์ ขุททกนิกายเถรีคาถา แปลความได้ว่า
"ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงแกล้วกล้า ผู้ทรงสูงสุดกว่าเทพยดา และมนุษย์ทั้งปวง ผู้ทรงช่วยปลดเปลื้องหม่อมฉัน และบุคคลอื่นๆ เป็นจำนวนมากให้พ้นจากทุกข์ หม่อมฉันได้กำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว เผาตัณหาอันเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ให้เหือดแห้งไป ได้เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว ได้บรรลุนิโรธแล้ว บุคคลทั้งหลายเป็นมารดา เป็นบุตรเป็นธิดา เป็นพี่ชายน้องชาย เป็นปู่ย่าตายายกันในชาติก่อน หม่อมฉันไม่รู้ความจริง ไม่ประสบอริยสัจ ๔ จึงได้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ (ในวัฏสงสาร) หม่อมฉันได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ร่างกายนี้เป็นร่างกายสุดท้าย ชาติคือการเกิดในสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว ขอพระองค์จงทอดพระเนตรพระสาวกทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกันกระทำโลกุตรธรรม (ธรรมอันข้ามพ้นไปจากโลก) ให้ประจักษ์แก่ตนอย่างนี้ เป็นการถวายบังคมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางมหามายาเทวีได้ประสูตรพระโคดมมาเพื่อประโยชน์แก่เทพยดาและมนุษย์เป็นจำนวนมาก เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงกำจัดกองทุกข์ของชนทั้งหลาย ผู้ถูกพยาธิและมรณะทิ่มแทงแล้ว"
พระชีวประวัติของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ในพระบาลีคัมภีร์ ขุททกนิกาย อปทาน กล่าวถึงความเป็นไปในเบื้องปลายแห่งพระชนชีพของพระนางเอาไว้ว่า
กาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็นพระประทีปแก้วส่องโลกให้สว่างไสว ทรงเป็นผู้ฝึกคนผู้ควรฝึกหัด ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี
ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ผู้ทรงเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า ประทับอยู่ในสำนักของภิกษุณี ในนคร
เวสาลีอันรื่นรมย์นั้น พร้อมด้วยภิกษุณีทั้งหลาย ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนแล้วแต่หลุดพ้นจากกิเลสแล้วทั้งสิ้น
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ประทับอยู่ในที่สงัด ทรงตรึกนึกคิดว่า "การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ดี ของอัครสาวกทั้งคู่ พระราหุลเถระและพระนันทเถระก็ดี เราคงไม่ได้เห็น เพราะเราต้องสละอายุสังขาร แล้วนิพพานไปก่อน" ฝ่ายพระภิกษุณีมี ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกนึกคิดอย่างนั้นเหมือนกัน
ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พร้อมด้วยภิกษุณีทั้งหลาย เสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถวายบังคมแล้วทรงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ (ผู้เป็นที่พึ่งของชาวโลก) พระองค์ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้หม่อมฉัน หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด ข้าแต่พระสุคตเจ้า พระรูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันให้พระองค์ทรงดูดดื่มน้ำนม เพื่อระงับความหิวกระหายได้เพียงชั่วครู่ ส่วนน้ำนมคือพระสัทธรรม ที่พระองค์ทรงให้หม่อมฉันได้ดูดดื่ม เพื่อระงับตัณหาได้โดยเด็ดขาด"
"ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ไม่เป็นหนี้หม่อมฉัน ในการผูกพันและรักษา หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปวารณาบุตร กระทำพิธีบวงสรวงย่อมจะได้บุตรสมใจนึก สตรีที่เป็นมารดาของพระนราธิบดี (ผู้เป็นใหญ่กว่านรชน) ชื่อว่าเป็นมารดาผู้ทำบุตรให้จมอยู่ในห้วงมหรรณพ (ห้วงน้ำใหญ่หรือทะเล) ได้แก่ ภพ (โลกอันเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์,แผ่นดิน)"
"ข้าแต่พระลูกเจ้า พระองค์ทรงช่วยให้หม่อมฉัน ผู้จมดิ่งอยู่ในห่วงมหรรณพ คือภพ ให้ข้ามพ้นจากห้วงมหรรณพ คือภพได้แล้ว พระมารดาของพระราชาที่ได้นามว่า ' พระมเหสีพันปีหลวง' เป็นของได้ยาก แต่พระนามว่า ' พระพุทธมารดา ' ยิ่งได้ยากกว่านั้นมากมายเหลือเกินพระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีพระวิริยะยิ่งใหญ่ ก็พระนามว่าพระพุทธมารดานั้น หม่อมฉันได้แล้ว ความปรารถนาน้อยใหญ่ทั้งปวงของหม่อมฉัน หม่อมฉันได้บำเพ็ญแล้วกับพระองค์ หม่อมฉันประสงค์จะปรินิพพาน เพื่อจะทิ้งร่างกายนี้"
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงพระวรกาย อันประกอบด้วยพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ ทั้งมีพระรัศมีรุ่งเรืองงดงาม ให้ปรากฎแก่พระมาตุจฉา (พระแม่น้า)
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้ซบพระเศียรลงที่พระยุคลบาทอันเป็นลายกงจักรคล้ายดอกบัวบาน มีรัศมีปานประหนึ่งแสงพระอาทิตย์ "ขอพระองค์ทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันเป็นครั้งสุดท้ายเถิด กาลต่อไปหม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์อีกแล้วพระเจ้าข้า"
"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงล้ำเลิศในโลก ธรรมดาสตรีทั้งหลายเป็นที่รู้กันว่า มีแต่จะก่อโทษ ตายไปทั้งที่มีความผิดติดตัว ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่งของหม่อมฉันมีอยู่ ขอพระองค์โปรดพระกรุณาทรงอดโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า"
"ภิกษุณีทั้งหลายที่หม่อมฉันแนะนำสั่งสอน ตามที่พระองค์ทรงอนุญาต ถ้าหม่อมฉันได้แนะนำสั่งสอนไม่ดี ขอพระองค์ได้โปรด อดโทษข้อนั้นด้วยเถิดพระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนพระนางโคตมี ผู้ประกอบไปด้วยคุณความดี โทษที่ท่านจะพึงให้อดนั้น ไม่เห็นมีโทษอะไรเลย เมื่อท่านบอกลาจะนิพพาน คถาคตจะไปว่าอะไรให้มากไปเล่า เมื่อภิกษุสงฆ์ของคถาคตบริสุทธิ์ไม่มีข้อบกพร่อง ท่านจะออกไปจากโลกนี้ก็สมควร เพราะเมื่อเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ดวงจันทร์ย่อมมองไม่เห็น"
พระภิกษุณีทั้งหลาย นอกจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พากันกระทำประทักษิณพระพิชิตมาร ผู้เลิศเหมือนหมู่ดาวที่เคลื่อนคล้อยติดตามดวงจันทร์ เวียนเป็นทักษิณาวรรตแห่งภูเขาสิเนรุแล้วก็หายไปฉะนั้น
ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ทรงหมอบลงแทบพระยุคลบาทแล้วประทับยืน ทอดพระเนตรพระพักตร์ของพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า "จักษุของหม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยอิ่ม ไม่เคยเบื่อด้วยการฟังพระภาษิตของพระองค์ จิตของหม่อมฉันทั้งหลายดวงเดียวแท้ๆ ก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยเบื่อด้วยรสแห่งธรรมของพระองค์"
ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีผู้มีวัตรอันงาม ทรงประกาศในหมู่พระภิกษุสงฆ์แล้วทรงนมัสการ
พระราหุลเถระ พระอานนทเถระ และพระนันทเถระ แล้วตรัสว่า "ดิฉันเบื่อหน่ายร่างกายซึ่งเหมือนที่อยู่ของอสรพิษ เป็นที่อยู่ของโรค เป็นสถานที่เกิดทุกข์ เป็นที่อยู่แห่งชราและมรณะ เกลื่อนกล่นไปด้วยซากศพต่างๆ ต้องพึ่งพาผู้อื่นปราศจากเรี่ยวแรง ฉะนั้นดิฉันจึงต้องการจะนิพพาน ขอท่านทั้งหลายจงยอมอนุญาตเถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับหมู่ชนเป็นจำนวนมาก ได้เสด็จไปส่งพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี จนกระทั้งถึงซุ้มประตูวัด พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พร้อมด้วยภิกษุณีทั้งปวง ได้กราบลงแทบพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลขึ้นว่า "การถวายบังคมครั้งนี้ เป็นการถวายบังคมพระยุคลบาทครั้งสุดท้ายของหม่อมฉัน การเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หม่อมฉันจะไม่ได้กลับมาเห็นพระพักตร์ของพระองค์ อันมีอาการปานน้ำอมฤตอีกต่อไปพระเจ้าข้า"
พระบรมศาสดาตรัสว่า "จะมีประโยชน์อะไรกับท่านเกี่ยวด้วยรูปนี้ในปัจจุบัน รูปนี้ล้วนมีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่น่ายินดี เป็นของต่ำทราม"
ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พร้อมด้วยพระภิกษุณีเหล่านั้น เสด็จกลับไปสู่สำนักภิกษุณีของตนแล้ว ประทับนั่งพับเพียบบนอาสนะอันประเสริฐ ทรงแสดงธรรมต่ออุบาสิกาทั้งหลาย ผู้มีความเคารพนับถือพระพุทธศาสนา ที่ได้ทราบเรื่องของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี เข้ามานมัสการและแสดงความเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้คร่ำครวญ พระแม่เจ้าอย่าละทิ้งดิฉันทั้งหลายเสด็จไปเข้านิพพานเลย พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ทรงตรัสว่า "ดูก่อนลูกทั้งหลายเอ๋ย การร้องไห้พร่ำเพ้อซึ่งเป็นไปในบ่วงแห่งมารไม่ควรเลย สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง มีแต่จะพรากจากกัน หวั่นไหวไปมา"
และต่อจากนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีก็ทรงสละอุบาสิกาเหล่านั้น ทรงเข้าปฐมฌาน (ฌานที่๑) ทุติยฌาน (ฌานที่๒) ตติยฌาน (ฌานที่๓) และจตุตฌาน (ฌานที่๔) แล้วทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน (ฌานกำหนดอากาศ คือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) วิญญานัญจายตนฌาน (ฌานกำหนดวิญญานหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์) อากิญจัญญายตนฌาน (ฌานกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์) เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (ฌานกำหนดภาวะที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่เป็นอารมณ์) โดยทรงเข้าอนุโลมคือตามลำดับ แล้วพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีก็ทรงเข้าฌานเป็นปฏิโลม คือทวนลำดับย้อนจากฌานสุดท้ายกลับไปจนถึงปฐมฌาน แล้วจึงเริ่มเข้าปฐมฌานใหม่ต่อไปถึงจตุตถฌาน ครั้นทรงออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เหมือนเปลวประทีปที่หมดเชื้อดับไปฉะนั้น
รวมพระชนชีพของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีทั้งหมด ๑๒๐ ปี
*** ข้อความต่อเนื่อง ...( ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕ )
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเวลาเสด็จปรินิพพานของพระนางมหาปชาบดีเถรีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสั่งพระอานนทเถระว่า " ดูก่อนอานนท์เธอจงไปประกาศให้พระภิกษุทั้งหลายทราบถึงการเสด็จปรินิพพานของพระมารดา "
ครั้นภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวการเสด็จปรินิพพานแล้ว จึงพร้อมกันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับสั่งให้ยกพระศพของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี ไปประดิษฐานบนเรือนยอดที่สำเร็จขึ้นด้วยทองคำล้วนๆ อันงดงาม
ส่วนศพของพระภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ยกไปประดิษฐานที่เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลัง บูชาด้วยดอกไม้ของหอมอันเป็นทิพย์น่ายินดี
บุคคลทั้งหลาย ได้ช่วยกันกระทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วนๆ และประพรมด้วยจุณของหอม น้ำหอม และถวายพระเพลิงพระศพ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีบนจิตกาธานนั้น
เมื่อพระสรีระของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีถูกเผา ไฟไหม้หมดแล้ว พระอานนทเถระได้น้อมพระธาตุของพระนางมหาปชาบดีเถรี เก็บใส่บาตรของพระนางไว้ แล้วนำเข้ามาถวายแด่พระโลกนาถ (พระผู้เป็นที่พึ่งของชาวโลก)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงประคองพระธาตุเหล่านั้นด้วยฝ่าพระหัตถ์แล้วตรัสว่า
"เพราะสังขารเป็นสภาพไม่เที่ยง พระนางโคตมีเถรีผู้ทรงเป็นใหญ่กว่าภิกษุณีทั้งหลาย จึงต้องนิพพานเช่นเดียวกับต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ ถึงจะใหญ่โตก็ต้องพินาศไปฉะนั้น
ดูเถอะอานนท์ เมื่อพระพุทธมารดานิพพานแล้ว แม้แต่สรีระก็ยังไม่เหลือ ไม่น่าโศกเศร้าปริเทวนาการ (ความคร่ำครวญ) ไปเลย บุคคลอื่นๆ ก็ไม่ควรโศกเศร้าถึงพระนางผู้ทรงข้ามสาครคือ สงสารไปแล้ว ทรงละเว้นเหตุอันทำให้เดือดร้อนได้แล้ว พระนางทรงเป็นบัณฑิต ทรงมีปัญญากว้างขวาง ทั้งทรงเป็นผู้รู้ราตรีนานกว่าพระภิกษุณีทั้งหลาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด พระนางโคตมีเถรีทรงเป็นผู้ชำนาญในฤิทธิ์ ทิพยโสต เจโตปริยญาณ และในปฏิสัมภิทา ๔ (อรรถะ ธรรมะ นิรุตติ และปฏิภาณ) เพราะฉะนั้นใครๆ ไม่ควรจะเศร้าโศกถึงพระนางโคตมีเถรี
ไฟที่กำลังลุกโชนอยู่ บุคคลใช้แผ่นเหล็กทับแล้วดับไปโดยลำดับ ใครๆ ก็รู้ไม่ได้ฉันใด บุคคลที่หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ข้ามพ้นโอฆะได้แก่ ห้วงน้ำคือกามกิเลสได้แล้ว บรรลุถึงธรรมอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีคติ (ทางไป) ที่ใครๆ จะรู้ได้ฉะนั้น
เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง จงมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์เถิด (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) จงอบรมโพชฌงค์ ๗ ประการเถิด (องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้) จะทำให้สิ้นทุกข์ได้"
*** ข้อความต่อเนื่อง ...( ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ )
ยังมีเรื่องราวของพระนางเขมา ผู้ยึดติดหลงใหลอยู่ใน ตัณหาทั้ง ๓ อันประกอบด้วย กามตัณหา๑ (ความยินดีในการเสพกาม), ภวตัณหา๑ (ความหลงใหลในความสวยความงาม ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นต่างๆ), วิภวตัณหา๑ (ความไม่อยากเป็นคนไม่สวยไม่หล่อ ไม่อยากเป็นคนแก่ชรา ตาฝ้าฟาง ผิวหนังเหี่ยวย่น ความไม่อยากเป็นคนต่ำต้อยน้อยวาสนา) ก่อนที่พระนางเขมาจะออกบวชเป็นภิกษุณี พระนางเขมาเป็นผู้หลงใหล จมอยู่ในตัณหาทั้ง ๓ ครบ เพราะพระนางเขมามีจิตใจที่ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งมั่นคงถาวร ไม่มีการแปรเปลี่ยนไป
ชีวประวัติในปัจจุบันชาติของพระนางเขมาเถรี พระอัครสาวิกาเบื้องขวา และเป็นเลิศด้าน "ปัญญามาก" มีกล่าวไว้ในอรรถกถาคัมภีร์ ปรมัตถทีปนี ที่ขยายเนื้อความพระบาลีเขมาเถรีคาถา คัมภีร์ขุททกนิกาย เถรีคาถา ในอรรถกถาคัมภีร์ มโนรถปูรณี ที่ขยายความพระบาลีคัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ในอรรถกถาคัมภีร์พระธรรมบท แห่งตัณหาวรรค ในเรื่องพระนางเขมา และในพระบาลีคัมภีร์ขุททกนิกาย อปทาน ความว่า
พระนางสมณีหลังจากทรงกระทำความดีไว้ในอดีตชาติ ก่อนที่พระนางจะทรงมาบังเกิดในพระชาติสุดท้ายนี้ พระนางได้ทรงบังเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง อยู่ตลอดกาลยาวนาน ๑๑ พุทธันดร (พุทธันดรได้แก่ช่วงเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้า คือช่วงเวลาหลังจากที่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งนิพพานแล้วกับที่พระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งจะมาตรัสรู้)
ในพุทธกาลนี้ พระนางเขมาได้ทรงพระราชสมภพเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ในสาคลนครอันอุดม แว่นแคว้นมัททะ และพระนางเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ามัททราชเป็นอย่างยิ่ง
บรรดาพระประยูรญาติได้ถวายพระนามว่า "เขมา" เพราะพระราชกุมารีมีพระฉวีวรรณมีสีสุกใสเปล่งปลั่งดังสายน้ำทองคำ และพร้อมกับเวลาที่พระราชกุมารีประสูติ ชาวพระนครได้มีความสุขเกษมเบิกบานไปทั่ว
ครั้นเวลาพระนางเขมา ทรงพระเจริญพระชันษา ก็ทรงมีพระรูปพรรณสัณฐานอันงดงามพราวเสน่ห์ยิ่งนัก แล้วพระราชบิดาของพระนางโปรดประทานพระนางเขมาแก่พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งมคธรัฐ กรุงราชคฤห์
พระนางเขมาทรงเป็นพระอัครมเหสี และทรงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพิมพิสารพระราชสวามีเป็นล้นพ้น แต่พระนางมีปรกติทรงพอพระทัยในการบำรุงรักษาพระรูปพระโฉม และไม่พอพระทัยบุคคลที่กล่าวโทษติเตียนพระรูปกายเป็นอย่างมาก
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาประทับที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ พระนางเขมาทรงสดับข่าวว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสติเตียนรูปกาย พระนางจึงไม่ทรงปรารถนาที่จะเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะกลัวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงโทษในรูปกายของพระนาง"
พระเจ้าพิมพิสารทรงพระดำริว่า "เราเป็นถึงองค์อัครอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่พระอัครมเหสีของพระอริยสาวกเฉกเช่นตัวเรา กลับไม่ทรงต้องการเสด็จไปเข้าเฝ้าพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เหตุการณ์อย่างนี้เราไม่ชอบใจ"
เมื่อพระองค์ทรงพระราชดำริถึงเรื่องนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้พวกกวีนิพนธ์ แต่งคำประพันธ์เป็นบทเพลงพรรณาสรรเสริญความสวยสดงดงามตระการตาของพระราชอุทยานเวฬุวัน แล้วตรัสสั่งให้พระราชทานแก่พวกนักขับร้อง นำไปขับร้องในที่ใกล้พระนางประทับ เพื่อให้พระนางพอที่จะทรงสดับได้
ครั้นพระนางเขมาเทวีได้ทรงสดับถึงความสวยงามของพระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นที่ทรงถูกโสตและทรงพอพระทัย ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระเวฬุวันมหาวิหาร จึงทรงทูลพระเจ้าพิมพิสารพระราชสวามีให้ทรงทราบถึงพระราชประสงค์นั้น
พระเจ้าพิมพิสารบรมกษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสอนุญาตว่า "เชิญพระน้องนางเสด็จไปชมพระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นที่เย็นตา เปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีแห่งพระพุทธเจ้า งดงามด้วยสิริทุกสมัยเถิด แต่ถ้าไม่ได้ทรงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว พระน้องนางอย่าเสด็จกลับมา"
พระนางเขมาเทวีมิได้ทรงทูลตอบพระราชาประการใดเลย แล้วเสด็จไปตามสถลมารค (ทางบก) พร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก พระราชามีพระราชกระแสรับสั่งกับพวกราชบุรุษที่ตามเสร็จพระนางเขมาเทวีไปว่า "ถ้าพระเทวีจะเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ควรจะเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียก่อน เพราะเหตุที่พระเทวีทรงเฝ้าพระทศพลซึ่งนับเป็นนิมิตที่ดี แต่ถ้าพระเทวีไม่ทรงเข้าเฝ้าพระทศพล พวกท่านจงทูลพระเทวีให้เสด็จเข้าเฝ้าพระทศพลให้จงได้ โดยอ้างคำสั่งของพระราชา"
พระนางเขมาเทวี เสด็จประพาสพระราชอุทยานเวฬุวันอยู่ตลอดวัน ในครั้งนั้นพระราชอุทยานเวฬุวัน มีสวนดอกไม้กำลังแย้มบาน มีหมู่ภมรนานาชนิดบินว่อนอยู่ เสียงนกโกกิลา (นกดุเหว่า) ร้องดังเพลงขับขาน ทั้งมีเหล่านกยูงรำแพนหางกันอยู่เป็นหมู่ดูสวยงาม เป็นสถานที่ที่ไม่มีเสียงอึกทึก ไม่พลุกพล่าน ประกอบด้วยที่เดินจงกรมต่างๆ ทั้งสะพรั่งไปด้วยกุฏิ และมณฑปอันเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ และเป็นที่พระภิกษุโยคาวจรปรารภความเพียร
ในขณะที่พระนางเขมาเสด็จเที่ยวไป ได้เห็นพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกำลังประกอบสมณกิจอยู่จึงทรงมีพระราชดำริว่า "พระภิกษุรูปนี้ อายุยังอยู่ในปฐมวัย มีรูปร่างน่าปรารถนา มาปฏิบัติดีอยู่ในป่าอันน่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนคนอยู่ในที่มืดคงเบื่อหน่ายต่อร่างกาย พระภิกษุรูปนี้ศรีษะโล้น ห่มจีวรนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้นี้ ละความยินดีที่เกิดจากอารมณ์ ตั้งใจเจริญฌานอยู่ ธรรมดาคฤหัสถ์ ควรแสวงหากามสุขบริโภคเสียก่อน ต่อเมื่อแก่เฒ่าลงแล้ว ค่อยประพฤติธรรมจึงจะเป็นการดี"
อนึ่ง จะเห็นได้ว่าความคิดของพระนางเขมาเทวีที่ว่า "ธรรมดาคฤหัสถ์ ควรแสวงหากามสุขบริโภคเสียก่อน ต่อเมื่อแก่เฒ่าลงแล้ว ค่อยประพฤติธรรมจึงจะเป็นการดี" ความคิดดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่าในปัจจุบันสมัยของเราๆ ท่านๆ นี้ ก็มีผู้คิดเห็นเช่นนั้นอยู่มากมายเหมือนกัน ถ้าผู้ใดคิดเห็นเช่นนั้น ก็จงรู้เอาไว้เถิดว่า ความคิดเห็นเช่นนั้น เป็นความคิดเห็นที่มีผู้คิดเอาไว้ก่อนแล้วเมื่อ ๒๕๔๕ ปีกว่าล่วงมาแล้ว การที่มีความคิดเช่นนั้นในยุคปัจจุบันช่างเป็นความคิดที่ล้าสมัยเสียจริง
พระนางเขมาเทวี เสด็จประพาสจนพอพระราชหฤทัยแล้ว ทรงปรารภจะเสด็จกลับ โดยที่ยังมิได้ทรงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพวกราชบุรุษผู้รับพระบรมราชโองการมาจากพระเจ้าพิมพิสาร พระราชสวามีของพระนางเขมาเทวี จึงกราบบังคมอัญเชิญพระราชเทวีเสด็จไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยวิธีที่ให้พระนางทรงพอพระทัย
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระนางเขมากำลังเสด็จมาจึงทรงเนรมิตนางเทพอัปสรสาวสวยขึ้นมา ๑ องค์ ด้วยฤิทธิ์ของพระองค์ โดยให้นางเทพอัปสรกระทำอาการเหมือนกำลังยืนถือพัดใบตาลถวายงานพัดพระองค์อยู่
อนึ่ง ผู้ที่จะสามารถทำการเนรมิตรสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้น ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ชำนาญในเรื่อง ฌานสมาธิ และเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องจิต (ภาวะจิต), วิญญาณ (ธาตุรู้ หรือตัวรับรู้) อย่างเชี่ยวชาญสูงสุด ดังเช่นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงจะสามารถกระทำได้
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
พระนางเขมา ทอดพระเนตรเห็นนางอัปสร ด้วยความไม่รู้ถึงรูปมายานั้น จึงมีพระราชดำริว่า "เราเข้าใจผิดแล้วหญิงสาวผู้มีความงามเปรียบปรานนางเทพอัปสรยืนอยู่ใกล้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตัวเราเพียงจะเป็นสาวใช้ของเขาก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้ปราศจากเหตุผลจึงคิดด้วยอำนาจจิตที่มีบาป" แล้วพระนางทอดพระเนตรยึดรูปหญิงสาวนั้นเป็นนิมิต เพราะหญิงสาวนั้นมีความงามต่างๆ สุดจะพรรณา เช่น มีรัศมีเปล่งปลั่งดั่งทองคำ ดวงตางามคมเช่นดอกบัว ริมฝีปากแดงด้วยผลมะพลับสุก ลำแขนเหมือนทองคำ (เหมือนงวงช้าง) วงหน้าสวยงาม ถันทั้งคู่เต่งตั้งดังดอกบัวตูม มีเอวกลมกลึง ตะโพกผึ่งผาย ลำขาเหมือนต้นกล้วยน่ายินดี มีเรือนร่างงามสง่าน่าดูยิ่งนัก ทั้งประดับด้วยเครื่องสรรพภรณ์อันสูงสุด ดูแล้วไม่เบื่อ ดูแล้วอยากดูอีก
พระนางเขมาทอดพระเนตรนางอัปสรสาวสวยนั้น แล้วทรงพระจินตนาการว่า "รูปหญิงงามเช่นนี้เราไม่เคยเห็น ตามที่มีคนกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตำหนิโทษของรูป ชนทั้งหลายคงเห็นจะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยถ้อยคำที่ไม่เป็นจริง" และพระนางมิได้ทรงสนพระทัยในพระสุรเสียงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่กำลังทรงเทศนาธรรมอยู่เลย พระนางเขมาประทับยืนทรงเพ่งดูหญิงสาวสวยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเนรมิตขึ้น โดยไม่ละพระเนตร
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบความที่พระนางเขมามีมานะถือตัวจัด เกิดขึ้นจากรูปที่ทอดพระเนตร เมื่อพระองค์จะทรงแสดงรูปนั้นให้มีสภาพที่แปรเปลี่ยนไป ด้วยพุทธานุภาพจึงบันดาลให้หญิงสาวนั้น มีวัยผ่านพ้นปฐมวัยไป ดำรงอยู่ในมัชฌิมวัย และผ่านพ้นมาถึงปัจฉิมวัยเข้าสู่วัยชรา
หญิงสาวที่แลดูสวยงาม พอถูกชราย่ำยี มีผิวพรรณแปรเปลี่ยนไป ผิวหน้าเหี่ยวย่น ฟันโยกคลอนและหักไปในที่สุด ผมหงอก น้ำลายไหล ใบหน้าไม่สะอาด ใบหูแข็งกระด้าง นัยน์ตาขุ่นขาว ถันหย่อนยาน หมดความงาม ผิวหนังตกกระทั่วตัว ร่างกายสั่นตลอดทั้งศรีษะ หลังขดงอลงไปข้างหน้า มีไม้เท้าเป็นคู่เดิน ร่างกายซูบผอมลีบลงเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก มีอาการสั่นงันงก แล้วล้มลงกลิ้งเกลือกทั้งที่ถือพัดใบตาลอยู่ ในที่สุดก็ตายไป ทั้งนี้เป็นด้วยพระพุทธานุภาพ
พระนางเขมา ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยบุพวาสนาบารมี ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปหญิงนั้น ความสังเวช (คือความรู้สึกเศร้าสลดหดหู่ใจ) อันไม่เคยมีได้ทำให้พระนางเกิดพระโลมา (ขน) ตั้งชูชัน เมื่ออารมณ์นั้นมาถึงคลองแห่งพระทัยของพระนาง พระนางจึงมีดำริว่า "รูปกายอันสวยงามถึงเพียงนี้ ก็ยังถึงวิบัติ มีความสิ้นไปเสื่อมไปโดยครู่เดียวเท่านั้น แม้รูปกายของเราก็จะเป็นเช่นนี้ น่าตำหนิรูปอันไม่สะอาด ที่พวกคนโง่หลงใหลยินดีกัน แก่นสารในรูปกายนี้ไม่มีเลยหนอ"
ในขณะที่พระนางเขมากำลังมีพระราชดำริอยู่ในพระทัยดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูวาระจิตขอพระนางเขมา แล้วจึงตรัสว่า "ดูก่อนพระนางเขมา พระนางทรงจินตนาการว่าแก่นสารมีอยู่ในรูปนี้ เชิญทอดพระเนตรดูรูปที่หาความเป็นแก่นสารมิได้ ในบัดนี้เถิด" แล้วทรงตรัสพระคาถาว่า
"ดูก่อนพระนางเขมา เชิญพระนางทอดพระเนตรดูร่างกายอันดิ้นรนกระสับกระส่าย ไม่สะอาด มีของโสโครกไหลเข้าถ่ายออก ที่คนโง่เขลาทั้งหลายต้องการกันยิ่งนัก"
พอเวลาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาธรรมะจบลง พระนางเขมาทรงได้บรรลุพระโสดาปัตติผล หมายถึงได้สำเร็จอริยธรรมชั้นต้นในพระพุทธศาสนา โดยเรียกผู้ที่ได้สำเร็จว่า "พระโสดาบัน"
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกับพระนางเขมาต่อไปว่า "ดูก่อนพระนางเขมา พระนางจงทรงอบรมพระทัยให้เป็นสมาธิ มีอารมณ์เดียวด้วย อสุภารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่งาม) เถิด จงมีกายคตาสติ (ความระลึกไปในกาย หรือสติพิจารณากาย) ให้มากด้วยการเกิดความเบื่อหน่าย รูปหญิงนี้เป็นเช่นใด รูปของพระนางก็เป็นเช่นนั้น รูปของพระนางเป็นเช่นใด รูปหญิงนี้ก็เป็นเช่นนั้น พระนางจงทรงคลายความพอพระทัยต่อพระกายทั้งภายในและภายนอกเสียเถิด จงทรงอบรม "อนิมิตวิโมกข์" (หลุดพ้นโดยยึดสิ่งที่ไม่มี) จงทรงละ "มานานุสัย" (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน คือความถือตัว) เสีย พระนางจะทรงเป็นผู้สงบ ทรงประพฤติไปเพราะละมานานุสัยนั้นได้ ดูก่อนพระนางเขมา สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกย้อมด้วยราคะ (ความกำหนัดยินดี) รุ่มร้อนด้วยโทสะ (ความคิดประทุษร้าย) งงงวยด้วยโมหะ (ความโง่เขลา) จึงไม่อาจเพื่อก้าวล่วงกระแสตัณหา (ความทะยานอยาก) ไปได้ ต้องข้องอยู่ในกระแสตัณหานั้นนั่นเอง"
แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถาธรรมเทศนาว่า "สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถูกราคะย้อมแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมเกาะใยตรงกลางที่ตนทำไว้เองฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความอาลัย (ความมีใจผูกพัน) ละกามสุขไป ย่อมละเว้นได้"
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาพระคาถาธรรมจบ พระนางเขมาเทวีได้ทรงสำเร็จพระอรหัตธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมทั้งได้สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ และมหาชนได้รับประโยชน์จากพระธรรมเทศนานี้ด้วย
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
 
พระนางเขมา ได้มีวาระจิตที่หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวงแล้ว ได้สำเร็จพระอรหัตผล ทั้งที่พระนางยังเป็นคฤหัสถ์ พระนางทรงทราบว่า พระชนมายุสังขารของพระนางยังดำรงอยู่ได้อีก ทั้งนี้พระนางไม่สมควรกลับไปใช้ชีวิตเฉกเช่นปกติดั่งเดิมได้อีกแล้ว จึงทรงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าจะขอบรรพชา โดยพระนางทรงหมอบลงแทบพระยุคลบาทแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อทรงประสงค์จะทรงแสดงโทษของพระนาง จึงทรงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง หม่อมฉันขอถวายนมัสการพระองค์ ผู้ทรงมีพระกรุณาคุณเป็นที่อยู่ผู้ได้เสด็จข้ามวัฏสงสารแล้ว ผู้ประธานอมตธรรม หม่อมฉันได้แล่นไปสู่ทิฐิ (ความเห็นที่ผิดทาง) อันรกชัฏ หลงใหลเพราะกามราคะ พระองค์ทรงแนะนำด้วยอุบายที่ชอบ หม่อมฉันเป็นผู้ยินดีในพระธรรมที่พระองค์ทรงแนะนำ
สัตว์ทั้งหลาย เหินห่างการเห็นท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เช่นพระองค์ ย่อมประสบกับมหันตทุกข์ (ทุกข์หนัก) ในสงสารสาคร (ห้วงน้ำคือการเวียนว่ายตายเกิด)
เมื่อใดหม่อมฉัน ยังมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นสรณะ คือที่พึ่งที่ระลึกของสัตว์โลก ไม่ทรงเป็นศัตรูต่อสัตว์โลก ทรงถึงที่สุดแห่งมรณะ ทรงมีธรรมะเป็นประโยชน์อย่างดี หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น หม่อมฉันมัวยินดีในรูป ระแวงว่าพระองค์ไม่ทรงเกื้อกูล จึงมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีความเกื้อกูลมาก ได้ประทานอมตธรรมอันประเสริฐ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะยิ่ง หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้นพระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า "ดูก่อนพระนางเขมา พระนางหยุดอยู่เถิด"
พระนางเขมากราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันจะกลับไปทูลขออนุญาตพระเจ้าพิมพิสาร พระราชสวามี เพื่อการออกบรรพชาของหม่อมฉัน พระเจ้าข้า"
พระนางเขมาทรงประนมหัตถ์ขึ้นนมัสการด้วยเศียรเกล้า ทรงกราบถวายบังคบทูลลา ทรงกระทำประทักษิณ (เดินเวียนขวา ๓ รอบ) พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพระนางเสด็จกลับไปสู่พระราชนิเวศน์
พระเจ้าพิมพิสารบรมกษัตริย์ ทรงทราบว่าพระนางเขมาเทวีทรงบรรลุอริยธรรม และได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาตามพระราชประสงค์แล้ว พระนางเขมาเทวีทรงกราบทูลว่า "การเห็นสิ่งที่พระองค์ทรงเห็น หม่อมฉันได้ประพฤติแล้ว แต่หม่อมฉันได้เห็นพระทศพลดีแล้ว ขอพระองค์ทรงอนุญาตแก่หม่อมฉันเพื่อการออกบรรพชาเถิด เพคะ"
พระราชาตรัสตอบว่า "ดีแล้วพระเทวี" ต่อจากนั้นก็อัญเชิญพระนางเขมาเทวี เสด็จขึ้นประทับบนพระสุวรรณสีวิกา (พระเสลี่ยงทองคำ) ทรงนำพระนางไปสู่สำนักพระภิกษุณี แล้วให้พระนางทรงบรรพชา
เมื่อพระนางเขมาทรงอุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ความเป็นผู้มีปัญญามากของพระนางได้ปรากฎขึ้นว่า "พระนางเขมาเถรี ขณะดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว"
ส่วนการที่พระนางเขมาเถรี ทรงได้รับยกย่องให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง เอตทัคคะ คือเป็นเลิศที่สุดฝ่ายมีปัญญามากนั้น มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในพระเชตวันมหาวิหาร เขตเมืองสาวัตถี ทรงแต่งตั้งพระภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งฐานันดรสมณศักดิ์ต่างๆ ตามความเหมาะสมกับวาสนาบารมีที่สร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระนางเขมาเถรีไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระนางเขมาเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ผู้เป็นอริยสาวิกาของคถาคต ฝ่ายมีปัญญามาก"
พระนางเขมาเถรี จัดว่าท่านทรงมีไหวพริบในด้านการแสดงวาทะปฏิภาณดี ซึงมีบันทึกไว้ในพระบาลีคัมภีร์ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคแห่งอัพยากตสังยุตว่า
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารอาราม ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย อยู่ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนี้ พระนางเขมาเถรีได้เสด็จไปที่แคว้นโกศล เข้าพักที่ "โตรณวัตถุ" ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพระนครสาวัตถี กับเมืองสาเกต ต่อกัน
ในสมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จจากเมืองสาเกตไปสู่พระนครสาวัตถี ทรงพักแรม ๑ ราตรีที่โตรณวัตถุนั้น และพระองค์ตรัสสั่งกับราชบุรุษคนหนึ่งว่า "ท่านจงไปเที่ยวสืบดูให้รู้ว่า มีสมณพราหมณ์ผู้สมควรที่เราจะไปหามีอยู่ที่โตรณวัตถุนี้บ้างหรือไม่"
ราชบุรุษนั้น กราบบังคมทูลรับพระราชบัญชา แล้วได้เที่ยวไปสอบถามดูจนตลอดโตรณวัตถุ ก็ไม่พบสมณ หรือพราหมณ์ผู้สมควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จไปหาเลย
แต่ราชบุรุษนั้นได้เห็นพระนางเขมาเถรี ซึ่งเสด็จมาจำพรรษาอยู่ที่โตรณวัตถุ จึงกลับมากราบบังคมทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า "ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ไม่มีสมณพรหมณ์ที่พระองค์ควรจะเสด็จไปหาเลย เห็นมีแต่พระนางเขมาเถรี ผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ประทับอยู่ในโตรณวัตถุนี้พระเจ้าข้า และกิตติศัพท์อันดีของพระนางเขมาเถรีนี้มีฟุ้งขจรไปว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้เฉียบคม เป็นผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต (ผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก) เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ มีปฏิภาณดี ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จไปหาพระเถรีนั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า"
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นชอบตามที่ราชบุรุษผู้นั้นกราบทูล จึงเสด็จไปหาพระนางเขมาเถรี ทรงนมัสการแล้วประทับนั่งในที่สมควรกับพระองค์ท่าน แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า สัตว์ถึงกาลตายแล้ว ย่อมเกิดหรือไม่"
พระนางเขมาเถรีทรงกราบทูลว่า "ขอถวายพระพรมหาราช ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงแก้ ขอถวายพระพร"
พระราชามีพระราชดำรัสถามต่อไปอีกว่า "ถ้าอย่างนั้น สัตว์ถึงกาลตายแล้ว ไม่เกิดอีกหรือ"
พระนางเขมาเถรีทรงทูลตอบว่า "ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงแก้ ขอถวายพระพร"
พระราชามีพระราชดำรัสถามต่อไปอีกว่า "ถ้าเช่นนั้น สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี อย่างนั้นหรือ"
พระนางเขมาเถรีทรงทูลตอบว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงแก้ ขอถวายพระพร"
พระราชามีพระราชดำรัสถามอีกว่า "ถ้าเช่นนั้น สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่ อย่างนั้นหรือ"
พระนางเขมาเถรีทรงทูลตอบว่า "แม้ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงแก้เหมือนกัน ขอถวายพระพร"
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสดับคำปฏิเสธจากพระนางเขมาเถรีทุกปัญหา จึงมีพระราชดำรัสถามอีกว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกหรืออย่างไร" พระแม่เจ้าก็ตอบว่า "ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงแก้" และข้าพเจ้าถามว่า "สัตว์ถึงกาลตายแล้ว ไม่เกิดอีกอย่างนั้นหรือ" พระแม่เจ้าก็ตอบว่า "ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงแก้" เมื่อข้าพเจ้าถามว่า "ถ้าเช่นนั้น สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี อย่างนั้นหรือ" ท่านก็ตอบว่า "ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงแก้" ครั้นข้าพเจ้าถามว่า "สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่ อย่างนั้นหรือ" พระแม่เจ้าก็ตอบว่า "แม้ปัญหาข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงแก้เหมือนกัน" เมื่อเป็นเช่นนี้ มีเหตุปัจจัยอย่างไรที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงแก้ปัญหาเหล่านี้
พระนางเขมาเถรีทรงทูลตอบว่า "ขอถวายพระพรมหาราช ถ้าเช่นนั้นอาตมาภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรในเรื่องนี้ มหาบพิตรทรงเข้าพระทัยอย่างใด ก็ทรงแก้อย่างนั้น คือมีนักคำนวณ นักประเมินผล หรือนักประมาณการต่างๆ โดยสามารถจะคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ หรือว่ามีทรายขนาดเท่านี้ร้อยเม็ด มีทรายขนาดเท่านี้พันเม็ด หรือว่ามีทรายขนาดเท่านี้แสนเม็ดได้หรือไม่ ขอถวายพระพร"
พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า "ไม่มีเลยพระแม่เจ้า"
พระนางเขมาเถรี ทรงทูลถามต่อไปอีกว่า "มหาบพิตร มีนักคำนวณ นักประเมินผล หรือนักประมาณอะไรๆ ที่เป็นผู้สามารถจะคำนวณนับน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้ อาฬหกะ (๑อาฬหกะ = ๔ทะนาน) หรือว่าน้ำมีร้อยอาฬหกะ น้ำมีพันอาฬหกะหรือไม่ ขอถวายพระพร"
พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า "ไม่มีเลยพระแม่เจ้า"
พระนางเขมาเถรี ทรงทูลถามว่า "เพราะเหตุอะไร ขอถวายพระพร"
พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก"
พระนางเขมาเถรี ทรงทูลว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร ข้อนี้ก็ฉันนั้น บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันพระตถาคตทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง เหมือนตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทร ฉะนั้น
การกล่าวว่า สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกก็ดี ไม่เกิดอีกก็ดี เกิดและไม่เกิดก็ดี เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร
เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด สัญญาใด สังขารใด วิญญาณใด อันเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น อันพระตถาคตทรงละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา
ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น
การกล่าวว่า สัตว์ถึงกาลตายแล้ว เกิดอีกก็ดี ไม่เกิดอีกก็ดี เกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ก็ย่อมไม่ควร ขอถวายพระพร"
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงแสดงความยินดี ทรงอนุโมทนาธรรมภาษิตของพระนางเขมาเถรี เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงนมัสการพระนางเขมาเถรี และทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จจากไป
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
สมัยต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับ ณ สถานที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วทรงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยปัญหาตามที่ตรัสถามพระนางเขมาเถรีมาแล้วนั้น และพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบปัญหาของพระเจ้าปเสนทิโกศล เช่นเดียวกับที่พระนางเขมาเถรีทรงกล่าวแก้มาแล้วโดยตลอด
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงกราบทูลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ นับเป็นการอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีพระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวิกา (พระนางเขมาเถรี) ย่อมเทียบกันได้ เหมาะสมกันได้ไม่ผิดเพี้ยน ในบทที่สำคัญพระเจ้าข้า"
"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ คราวหนึ่งหม่อมฉันได้ไปหาพระนางเขมาเถรี ไต่ถามข้อความข้อนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว ถึงแม้พระนางเขมาเถรีก็ได้ทรงกล่าวแก้ความข้อนี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้แก่หม่อมฉัน เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก้ น่าอัศจรรย์และไม่เคยมีพระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับสาวิกา (พระนางเขมาเถรี) ย่อมเทียบกันได้ เหมาะสมกันได้ไม่ผิดเพี้ยน ในบทที่สำคัญพระเจ้าข้า"
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า และทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป
ยังมีเรื่องของพระนางเขมาเถรี ที่ท่านถูกมารผจญ ตามบันทึกไว้ในพระบาลีคัมภีร์ ขุททกนิกาย เถรีคาถา ความว่า
วันหนึ่ง พระนางเขมาเถรีประทับนั่งกลางวันอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ในขณะนั้นได้มีมารตนหนึ่ง จำแลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหาพระนางเขมาเถรี แล้วกล่าวเล้าโลมว่า "พระแม่เจ้ายังสวยอยู่ มีรูปร่างสะสวย ฉันก็ยังหนุ่มอยู่ มาเถิดเขมา เรามาพากันไปหาความรื่นเริงยินดี ด้วยเสียงดนตรีอันประกอบด้วยองค์๕ กันเถิด"
พระนางเขมาเถรีทรงกล่าวตอบมาร ด้วยถ้อยคำอันเป็นคาถาธรรมะ มีใจความว่า "อาตมาอึดอัด เบื่อหน่ายเกลียดชังร่างกายอันบูดเน่านี้ อาตมาได้ถอนกามตัณหา (ความทะยานอยากในความใคร่) เสียแล้ว ความรักทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ท่านกล่าวถึงความรักใด อาตมาเกลียดความรักนั้น อาตมากำจัดความเพลิดเพลินในสิ่งทั้งปวงได้แล้ว ทั้งทำลายกองมืด (โมหะ คือความโง่เขลา) เสียแล้ว นี่แนะมารผู้ลามก ท่านจงรู้เถิดว่า อาตมาได้กำจัดตัวท่านเสียแล้ว คนโง่เขลาทั้งหลายไหว้ดวงดาว บูชาไฟอยู่ในป่า ไม่รู้จักชัดความจริง ก็เข้าใจว่าความบริสุทธิ์ย่อมมีขึ้นได้ด้วยสิ่งเหล่านั้น"
"ส่วนผู้นอบน้อมพระพุทธเจ้า ผู้ทรงประเสริฐสูงสุด และผู้ที่กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงแล้ว"
อนึ่ง เรื่องราวของพระนางเขมาเถรี พระอัครสาวิกาเบื้องขวา ฝ่ายภิกษุณี ในองค์พระศาสดาแห่งพุทธศาสนาและเป็นเลิศด้าน "ปัญญามาก" ก็จบลงเพียงเท่านี้ จะเห็นได้ว่าสตรีในสมัยพระพุทธกาลที่ได้บวชเป็นพระภิกษุณีในพุทธศาสนานั้นล้วนแต่เป็นผู้โชคดี มีบุพวาสนาบารมีอย่างมาก ที่มีโอกาสได้เกิดมาในยุคของพระพุทธองค์ มีพระบรมศาสดาคอยประคับประคองแก้ไขความหลงผิดต่างๆ จนสามารถบรรลุพระอริยธรรมต่างๆ ได้ ถ้าจะกล่าวถึงสตรีในสมัยปัจจุบันนี้ ก็ต้องมั่นทำบุญกุศล เพื่อที่ว่าจะได้พบผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่แท้จริง คอยแนะนำสั่งสอนนำพาไปสู่แสงสว่างแห่งพระสัทธรรมอันยั่งยืนต่อไป
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
ยังมีเรื่องราวของภิกษุณีที่มีความสำคัญในพุทธศาสนาอีกท่านหนึ่งคือ พระอุบลวรรณาเถรี พระอัครสาวิกาเบื้องซ้าย ฝ่ายภิกษุณี และเป็นเลิศด้าน "มีฤิทธิ์" ท่านเป็นพระอริยเถรีผู้มีอุดมคุณอันสูงส่ง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายกย่องด้านมีฤิทธิ์ เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่อันทรงเกียรติยิ่งในฐานะเป็น อัครสาวิกาเบื้องซ้าย ฝ่ายภิกษุณีในพุทธสำนัก ชีวประวัติของท่านมีบันทึกไว้ในคำภีร์ต่างๆ อย่างพิศดาร ทั้งภาคปัจจุบันชาติ และอดีตชาติ
อนึ่ง ชีวประวัติของพระอุบลวรรณาเถรี มีทั้งความพิศดารน่ามหัศจรรย์ด้านมีฤิทธิ์ และความน่าสลดหดหู่ใจที่เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแก่ตัวท่านนั้น ความจริงข้าพเจ้าอยากจะหลีกเเลี่ยงข้อความที่เกี่ยวกับการแสดงฤิทธิ์ และเรื่องราวที่น่าสลดหดหู่ใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวท่านนั้น แต่เนื่องจากเป็นข้อความที่ได้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ และพระพุทธองค์ทรงได้มีการอธิบายและให้ความกระจ่างในเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นไว้ด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นการกระจ่างชัดในเรื่องดังกล่าว จึงยังคงในเรื่องดังกล่าวนั้นไว้
ชีวประวัติปัจจุบันชาติของพระอุบลวรรณาเถรีมีกล่าวอยู่ใน อรรถกถาคัมภีร์มโนรถปูรณี เป็นอรรถกถาที่ขยายเนื้อความพระบาลีคัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ในอรรถกถาคัมภีร์พระธรรมบท แห่งพาลวรรค และในอรรถกถาคัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งเป็นอรรถกถาที่ขยายความพระบาลีคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรีคาถา ความว่า
พระอุบลวรรณาเถรี ได้ถือปฏิสนธิคือบังเกิดขึ้นในตระกูลเศรษฐี ซึ่งอยู่ในพระนครสาวัตถี และมารดาบิดาของนางได้ตั้งชื่อว่า "อุบลวรรณา" เพราะนางมีสีกายเหมือนสีดอกนิลอุบล พวกญาติซึ่งมีมารดาบิดาเป็นต้น ถือเป็นเนมิตกนาม จึงตั้งชื่อให้นางเช่นนั้น
กาลต่อมา เมื่อนางอุบลวรรณามีอายุเจริญเติบโตเป็นสาวแล้ว นางมีรูปร่างสวยงามมาก ซึ่งเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายในชมพูทวีป ทรงมีความปรารถนาที่จะได้นางอุบลวรรณาไว้เป็นสมบัติของตน ต่างก็ทรงส่งราชสาสน์เครื่องราชบรรณาการไปถึงเศรษฐีผู้เป็นบิดาว่า "ขอท่านเศรษฐีจงยกธิดาของท่านให้แก่ข้าพเจ้า"
ปรากฎว่า ชายผู้รู้จักนางอุบลวรรณาที่จะไม่สงสาสน์หรือเครื่องบรรณาการไปถึงท่านเศรษฐีนั้นไม่มีเลย ท่านเศรษฐีเมื่อได้รับพระราชสาสน์หรือราชบรรณาการจากพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีป ทำให้มีความหนักใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงคิดว่า "เราไม่สามารถที่จะเอาใจบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นได้ แต่เราจะกระทำอุบายสักอย่างหนึ่ง" ท่านจึงเรียกนางอุบลวรรณามาถามว่า "อุบลวรรณาลูกเอ๋ย ลูกสามารถพอที่จะออกบวชได้ไหม"
เพราะความที่นางเป็นผู้มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย แห่งชีวิตที่ได้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารมานานจนประมาณกาลมิได้ นางอุบลวรรณาจึงตอบรับคำของเศรษฐีผู้เป็นบิดา โดยมิได้รังเลใจเลยว่า "คุณพ่อคะ ดิฉันสามารถบวชได้คะ"
ท่านเศรษฐีบิดามีความดีใจ ที่อุบายของท่านสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย และท่านจะพ้นจากความหนักใจที่กำลังประสบอยู่ จึงได้จัดเครื่องสักการะเป็นจำนวนมากเพื่อนางอุบลวรรณา และนำนางไปสู่สำนักภิกษุณี และให้บวชอยู่ในสำนักภิกษุณีนั้น
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
เมื่อพระอุบลวรรณาภิกษุณีบวชได้ไม่นาน ก็ถึงกำหนดหน้าที่รับเวรจัดโรงอุโบสถ นางได้จุดประทีปตามที่ต่างๆ ไว้ เมื่อปัดกวาดเช็ดถูโรงอุโบสถเสร็จแล้ว นางได้ถือนิมิตแห่งเปลวประทีปและเพ่งดูอยู่ ทำให้เกิดฌานด้วยเตโชกสิณ (เพ่งไฟเป็นอารมณ์) แล้วทำฌานนั้นให้เป็นที่ตั้ง (การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ) พระอุบลวรรณาเถรีก็ได้สำเร็จพระอรหัตเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา (ปัญญาอันแตกฉาน ๔ ประการ) และอภิญญา (ความรู้ยิ่ง ๖ ประการ) ทั้งพระอุบลวรรณาเถรีได้เป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤิทธิ์ต่างๆ
ความเป็นผู้เก่งกล้าในทางมีฤิทธิ์ของพระอุบลวรรณาเถรี ซึ่งจะทราบได้จากอรรถกถาคัมภีร์พระธรรมบท แห่งพุทธวรรค เรื่องยมกปาฏิหาริย์ ความว่า
ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ แข่งกับพวกเพียรถีย์นิครนถ์ที่มาพูดถ้าทาย พระอุบลวรรณาเถรีได้เปล่งสีหนาท (บันลือเสียงดุจเสียงของราชสีห์) ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันจะขอกระทำปาฏิหาริย์แทนพระผู้มีพระภาคเจ้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า "อุบลวรรณา เธอจะทำปาฏิหาริย์อย่างไร"
พระอุบลวรรณาเถรีกราบทูลว่า "หม่อมฉันจะแสดงให้มีบริษัทประมาณ ๑๒โยชน์เป็นปริมณฑลโดยรอบ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันมีบริษัทในบริเวณสนามที่ประมาณ ๓๖โยชน์เป็นวงกลมแวดล้อม แล้วเข้ามาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรับรองว่า "อุบลวรรณา ตถาคตทราบถึงอานุภาพ (ฤิทธิ์เดช) ของเธอ แล้วพระองค์ทรงกล่าวห้ามพระอุบลวรรณาเถรีไม่ให้กระทำปาฏิหาริย์"
มีข้อความอันเป็นถ้อยคำของพระอุบลวรรณาเถรี พูดกับมารตอนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีฤิทธิ์ของพระเถรีเอง ปรากฎอยู่ในบาลีคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรีคาถา แห่งทวาทสกนิบาต ความว่า
"ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ ข้าพเจ้าได้ใช้ฤิทธิ์ของตนเนรมิตรถที่เทียมด้วยม้า ๔ ตัว เข้าไปถวายบังคมพระยุคลบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระสิริ ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก แล้วจึงได้ประดิษฐานอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง"
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนำเรื่องที่พระอุบลวรรณาเถรี มีความอาจหาญกระทำสีหนาท แล้วกราบทูลขอแสดงยมกปาฏิหาริย์แทนพระองค์เป็นต้นเหตุ จึงตรัสยกย่องพระอุบลวรรณาเถรี ให้เป็นเอตทัคคะ ตามที่มีข้อความอยู่ในพระบาลีคัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ความว่า
ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อพระองค์ทรงแต่งตั้งภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยม) ต่างๆ ตามความเหมาะสมแล้ว จึงตรัสประกาศแต่งตั้งพระอุบลวรรณาเถรีว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางอุบลวรรณาเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุณีทั้งหลาย ผู้เป็นสาวิกาของตถาคต ในฝ่ายมีฤิทธิ์"
นอกจากพระอุบลวรรณาเถรีได้รับการยกย่องเป็นผู้เลิศด้านมีฤิทธิ์แล้ว ท่านยังได้รับเกียรติอันสูงส่งให้ดำรงตำแหน่ง "พระอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย" คู่กับพระนางเขมาเถรี ผู้เป็นพระอัครสาวิกาฝ่ายขวา
ชีวประวัติภาคปัจจุบันชาติของพระอุบลวรรณาเถรี ที่ปรากฎอยู่ในอรรถกถาคัมภีร์พระธรรมบท แห่งพาลวรรค และในอรรถกถาคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา มีกล่าวต่อไปอีกว่า
กาลต่อมา หลังจากที่พระอุบลวรรณาเถรีสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ท่านได้จารึกไปในชนบทเพื่อกระทำงานให้พระพุทธศาสนา อันเป็นการสร้างประโยชน์แก่สังคม แล้วกลับเข้าไปอยู่ในป่าอันธวัน (ป่าทึบหรือป่าคนตาบอด)
ในช่วงระยะเวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุณีทั้งหลายอยู่ในป่า ครั้งนั้นผู้คนได้สร้างกระท่อม และตั้งเตียงไว้ในป่าอันธวันถวายแด่พระอุบลวรรณาเถรี เวลารุ่งเช้าพระอุบลวรรณาเถรีเข้าไปบิณฑบาต ในกรุงสาวัตถี แล้วกลับออกมาสู่กระท่อมที่พักของท่าน
ในครั้งนั้น ยังมีนันทมาณพ ผู้เป็นบุตรลุงพระอุบลวรรณาเถรี ได้เคยมีจิตปฏิพัทธ์คือ รักใคร่พระเถรีมาตั้งแต่เวลาที่ท่านยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ พอเขาได้ทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักอยู่ในป่า เขาจึงเข้าไปที่ป่าอันธวันนั้นเพื่อคอยดักรออยู่ก่อนที่พระเถรีจะกลับมาถึง โดยเขาเข้าไปในกระท่อมและซ่อนตัวอยู่ภายใต้เตียง
ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรีกลับมาถึงจึงเข้าไปในกระท่อม ปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ซึ่งตอนที่พระเถรีเข้ามาในกระท่อมใหม่ๆ ตายังมืดมัวด้วยแสงแดดภายนอกที่ท่านฝ่ามา นันทมาณพผู้หลบซ่อนอยู่ใต้เตียงจึงออกมา แล้วขึ้นไปหาพระเถรีบนเตียง และตรงเข้าปลุกปล้ำพระเถรีเพื่อจะกระทำการข่มขืนท่าน
พระอุบลวรรณาเถรีได้ร้องห้ามว่า "คนพาล เธออย่าต้องมาพินาศเลย ๆ" นันทมาณพไม่ยอมฟังเสียงร้องห้ามใดๆ ของพระเถรีทั้งสิ้น โดยได้กระทำการข่มขืนพระเถรีตามที่ตนต้องการแล้วก็หนีไป
ขณะที่พระอุบลวรรณาเถรีถูกข่มขืนอยู่นั้นท่านไม่รู้สึกยินดี อุปมาเหมือนเสาศิลา หรือต่อไม้ตะเคียน ฉะนั้น แต่กรรมชั่วหนักมากที่นันทมาณพได้กระทำต่อพระอรหันต์ขีณาสพ แผ่นดินใหญ่และหนาไม่อาจรองรับโทษชั่วช้าของเขาไว้ได้ ก็พลันแยกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วเขาก็จมลงไปสู่ระหว่างรอยแยกแผ่นดิน (เรียกว่าธรณีสูบ คือ อาการที่แผ่นดินแยกให้ตกลงไป หรือแผ่นดินดูดให้จมลงไป) แล้วได้ไปเกิดในอเวจีมหานรก (คำโบราณที่ท่านกล่าวว่า "เหยียบแผ่นดินผิด" หมายถึงคนชั่วช้าสามานย์อันเป็น "ครุกรรม" แผ่นพสุธาอันหนาแน่นได้ ๒ แสน ๔ หมื่นโยชน์ ก็ไม่สามารถรองรับน้ำหนักความชั่วช้าของคนชั่วไว้ได้ ดังเช่นผู้ถูกธรณีสูบนั้นเป็นผู้เหยียบแผ่นดินผิด เลยพลาดตกลงไปในนรก)
ผู้ถูกธรณีสูบ จากอรรถกถาคัมภีร์พระธรรมบท มีอยู่ ๕ คนได้แก่
๑. พระเจ้าสุปปพุทธะ โทษปิดทางโคจรพระพุทธเจ้า
๒. พระเทวทัต โทษทำสังฆเภท
๓. นางจิญจมาณวิกา โทษใส่ร้ายพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องไม่จริง
๔. นันทมาณพ โทษประทุษร้ายข่มขืนพระอุบลวรรณาเถรี
๕. นันทยักษ์ โทษประหารพระสารีบุตร
พระอุบลวรรณาเถรีได้ถูกนันทมาณพกระทำการข่มขืนแล้ว จึงบอกเรื่องนั้นกับพวกภิกษณี พวกภิกษุณีได้แจ้งเรื่องนั้นแก่พระภิกษุทั้งหลาย พระภิกษุทั้งหลายจึงนำความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสดับความเรื่องนั้นแล้ว รับสั่งเรียกพระภิกษุทั้งหลายมาเฝ้าแล้วตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ว่าคนพาลผู้ใดผู้หนึ่ง กระทำบาปกรรมต่อ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ครั้นกระทำบาปกรรมอันชั่วช้าลามก ก็ดูเป็นผู้ร่าเริงยินดี เป็นประดุจฟูขึ้นๆ หรือเปรียบเหมือนบุรุษเคี้ยวกินของมีรสหวาน มีพวกน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น" และเมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงสืบต่อเรื่องเพื่อทรงแสดงธรรมจึงตรัสพระคาถาธรรม ความว่า
"คนพาล ย่อมเข้าใจบาปประดุจน้ำผึ้งตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใดบาปให้ผลเมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์"
พระคาถาธรรมนี้ มีอรรถาธิบายว่า เมื่อคนพาลกระทำบาปคือ อกุศลกรรมอยู่ กรรมนั้นย่อมปรากฎเหมือนน้ำผึ้งที่มีรสหวาน ดูแล้วน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ คนพาลนั้นย่อมเข้าใจบาปเหมือนน้ำหวานตราบที่บาปยังไม่ให้ผลในทิฏฐธรรม (ในปัจจุบัน) หรือในสัมปรายภพ (ภพหน้า)
ในกาลใด เมื่อคนพาลนั้นถูกกรรมกรณ์ (เครื่องลงอาชญา) ต่างๆ ในทิฏฐิธรรม หรือเสวยทุกข์ใหญ่ในอบาย มีนรก เป็นต้น ในสัมปรายภพ บาปนั้นเชื่อว่าให้ผลในภายนั้น คนพาลนั้นย่อมประสบคือ กลับได้ทุกข์
เวลาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาจบ ประชาชนจำนวนมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผล เป็นต้น
ต่อมาวันหลัง มหาชนได้นำเรื่องของพระอุบลวรรณาเถรี มาสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า "แม้พระขีณาสพ (ผู้หมดกิเลสแล้ว) ทั้งหลาย ชะรอยจะยังมีความยินดีในกามสุข ยังเสพกาม ทำไมจะยังไม่ส้องเสพเพราะพระขีณาสพเหล่านั้นไม่ใช่ไม้ผุ ไม่ใช่จอมปลวก ซึ่งมีเนื้อและร่างกายยังสดชื่นอยู่ เพราะฉะนั้นถึงแม้พระขีณาสพเหล่านั้นก็คงยินดี กามสุขและยังเสพกามอยู่"
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร"
พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่อง พระขีณาสพทั้งหลายยังยินดีในกามสุข และยังเสพกามอยู่ พระเจ้าข้า"
 
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายว่า "พระขีณาสพทั้งหลายไม่ยินดีในกามสุข และไม่เสพกามแล้ว เหมือนดังหยาดน้ำที่ตกลงบนใบบัว ย่อมไม่ติดและไม่ค้างอยู่ ย่อมกลิ้งตกไปจากใบบัวฉันใด และเหมือนเมล็ดผักกาด ย่อมไม่ติดและไม่ตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ย่อมกลิ้งหล่นลงไปจากปลายเหล็กแหลม ฉันใด แม้กามทั้ง ๒ อย่าง (๑. กิเลสกาม คือกิเลสที่ทำให้ใคร่ ๒. วัตถุกาม คือวัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕) ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ตั้งอยู่ในจิตของพระขีณาสพ ฉันนั้น"
เมื่อพระพุทธองค์จะทรงสืบต่อเรื่องเพื่อทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาธรรมในพระบาลีคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกาย แห่งพราหมณวรรค ในเรื่องพระอุบลวรรณาเถรีว่า
"ผู้ใดไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไม่ตั้งอยู่ที่ปลายเหล็กแหลมฉะนั้น ตถาคตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์"
ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ชนจำนวนมากที่ได้ร่วมฟังคาถาธรรม ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีพระโสดาปัตติผล เป็นต้น
อนึ่ง กายของพระอรหันต์ขีณาสพ ย่อมมี ๒ กาย คือ ๑.กายภายนอก (ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุทั้ง ๔ ต้องบำรุงด้วยอาหาร และขนมสด ทั้งยังปรวนแปรไป เป็นแหล่งของ โรคา พยาธิ ต่างๆ) ๒. กายภายใน คือ นิรมานกาย (เป็นกายที่แท้จริงของพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย ที่ท่านมีจิตใจที่ละจาก กิเลสตัณหาทั้งปวงได้แล้ว และท่านไม่ได้ยินดียินร้ายกับกายภายนอก ที่หาสาระความเที่ยงแท้ไม่ได้แต่อย่างไร) พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย ท่านย่อมมีความสุขอยู่กับนิรมานกาย ที่ปราศจากกิเลสตัณหาใดๆ คงอยู่แต่ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทัสสนะ เท่านั้นที่คงอยู่กับนิรมานกายตลอดไป ดังนั้นการที่พระอุบลวรรณาเถรีถูกนันทมาณพกระทำการข่มขืน และพระอุบลวรรณาเถรีได้กำหนดวาระจิตที่ไม่ได้ตอบสนองการกระทำของนันทมาณพแต่อย่างใดนั้น การกระทำของนันทมาณพ จึงไม่อาจแปดเปื้อน กายภายใน หรือนิรมานกายของพระอุบลวรรณาเถรีแต่อย่างใด
ครั้นเหตุการณ์ที่ไม่ดี ไม่งามเกิดขึ้นกับภิกษุณีเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้เชิญ พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาแห่งแคว้นโกศล ผู้ทรงครองราชสมบัติอยู่ในพระนครสาวัตถีมาเฝ้า แล้วตรัสว่า "มหาบพิตรกุลธิดาทั้งหลายในพุทธศาสนานี้ ละหมู่ญาติจำนวนมาก และกองสมบัติใหญ่ ออกบวชแล้วอาศัยอยู่ในป่า เช่นเดียวกับกุลบุตรทั้งหลายเหมือนกัน แต่คนลามกที่ถูกราคะ (ความกำหนัด) เกาะใจแล้ว ย่อมเบียดเบียนภิกษุณีเหล่านั้นผู้อยู่ในป่า ด้วยการกระทำการดูถูกดูหมิ่นบ้าง ให้ได้รับอันตรายแห่งพรหมจรรย์บ้าง (การประพฤติธรรมอันประเสริฐ หรือการบวชซึ่งละเว้น เมถุน) เพราะฉะนั้น ขอมหาบพิตรควรทรงกระทำที่อยู่ภายในพระนคร ให้แก่ภิกษุณีเถิด"
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสรับว่า "ดีแล้ว พระเจ้าข้า" แล้วมีพระบรมราชโองการให้สร้างที่อยู่สำหรับ พระภิกษุณีสงฆ์ ณ สถานที่ข้างพระนครแห่งหนึ่ง
นับจำเดิมแต่นั้นมา พระภิกษุณีทั้งหลาย ได้อยู่แต่ภายในหมู่บ้านเท่านั้น
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
ความเป็นผู้สามารถในทางฤิทธิ์ของพระอุบลวรรณาเถรี มีข้อความปรากฏอยู่ในบาลีขุททกนิกาย อปทาน โดยพระอุบลวรรณาเถรีเป็นผู้เล่าถึง "อัตชีวประวัติ" ไว้เองความว่า
พระอุบลวรรณาเถรี ผู้ยอดเยี่ยมในทางฤิทธิ์ ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา และได้กราบทูลว่า "ข้าแต่มหามุนี หม่อมฉันข้ามพ้นชาติ (การเกิด) สงสารแล้ว ได้บรรลุถึงซึ่งธรรมอันไม่หวั่นไหว หมดสิ้นสรรพทุกข์ทั้งปวงแล้ว หม่อมฉันจึงขอกราบทูลให้ทรงทราบพระเจ้าข้า"
"ขอประชุมชนผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และพวกชนที่หม่อมฉันเคยกระทำความผิดพลาดไว้ ขอจงอดโทษให้หม่อมฉัน ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้พระภาคเจ้า"
"ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันขอกราบทูลว่า เมื่อหม่อมฉันท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) ถ้ามีความผิดพลาดพลั้งไปต่อพระองค์ ขอพระองค์จงโปรดประทานอภัยโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด และขอให้หม่อมฉันได้แสดงฤิทธิ์ของหม่อมฉันให้บริษัท ๔ ได้สิ้นสงสัยพระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่พระอุบลวรรณาเถรีว่า "ดูก่อนอุบลวรรณา เธอผู้กระทำตามคำสอนของตถาคต เธอจงแสดงฤิทธิ์เพื่อตัดความกังขาสงสัย แห่งบริษัท ๔ เสียในวันนี้เถิด"
พระอุบลวรรณาเถรี จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก มีพระปัญญาที่ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง หม่อมฉันเป็นธิดาของพระองค์ มีกรรมที่กระทำยากมีอยู่ แต่กรรมที่กระทำแสนยากหม่อมฉันได้กระทำแล้ว พระเจ้าข้า"
"ข้าแต่พระมหาวีระผู้ทรงมีพระจักษุญาณ หม่อมฉันมีนามว่า อุบลวรรณา เพราะมีสีกายเหมือนสีดอกนิลอุบล หม่อมฉันเป็นธิดาของพระองค์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาท พระราหุลเถระกับหม่อมฉันได้เคยเป็นพี่น้องร่วมท้องกันมาหลายร้อยชาติ เป็นผู้มีฉันทจิต (จิตมีความยินดี) เสมอกัน มีการเกิดร่วมภพร่วมชาติกัน แต่ในภพนี้ซึ่งเป็นภพสุดท้าย ได้เกิดมาในตระกูลต่างกัน พระราหุลเถระได้เป็นโอรสของพระองค์ หม่อมฉันชื่ออุบลวรรณาจัดว่าเป็นธิดาของพระองค์"
"ข้าแต่พระมหาวีระ ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรฤิทธิ์ของหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจะแสดงกำลังแห่งฤิทธิ์ถวาย พระเจ้าข้า"
พระอุบลวรรณาเถรีพอกราบทูลดังนี้แล้ว จึงเหยียดมือไปวักน้ำในมหาสุมทรทั้ง ๔ มาใส่ไว้ในมือ เหมือนกับน้ำมันอยู่ในฝ่ามือฉะนั้น ครั้นแล้วพระอุบลวรรณาเถรี จึงยกเอาแผ่นดินมาวางลงในฝ่ามือ เหมือนเด็กที่มีฝุ่นอยู่ในมือ ฉะนั้น ต่อจากนั้นพระอุบลวรรณาเถรี จึงใช้ฝ่ามือปิดครอบจักรวาล แล้วทำให้ฝนสีต่างๆ ตกลงมา ณ เบื้องบน ลำดับต่อไปพระอุบลวรรณาเถรี ได้ใช้พื้นดินทำเป็นครก ใช้เม็ดกรวดมาทำเป็นข้าวเปลือก ใช้ภูเขาสิเนรุทำเป็นสากตำข้าว แล้วซ้อมอยู่เหมือนเด็กซ้อมตำข้าวฉะนั้น
ครั้นแล้วพระอุบลวรรณาเถรีจึงกราบทูลว่า "หม่อมฉันชื่ออุบลวรรณา ผู้เป็นธิดาของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงประเสริฐสูงสุด หม่อมฉันมีความชำนาญในอภิญญา คือความรู้ยิ่งทั้งหลาย เป็นผู้กระทำตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า"
เมื่อพระอุบลวรรณาเถรีได้แสดงฤิทธิ์ต่างๆ แล้ว จึงประกาศนามและสกุล (โคตร) ของตน ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็นโลกนายก แล้วกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันผู้มีจักษุญาณ (ตาปัญญา) ขอกราบถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ หม่อมฉันเป็นผู้ชำนาญในฤิทธิ์ (อำนาจศักดิ์สิทธิ์) ในทิพยโสต (หูทิพย์) ชำนาญในเจโตปริยญาณ (รู้ใจผู้อื่นได้) ในบุพเพนิวาสานุสติญาณ (รู้ระลึกชาติก่อนได้) ในทิพยจักษุญาณ (ความรู้ดุจดวงตาทิพย์) ในจตูปบาตญาณ (รู้การตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย) และในอาสวักขยญาณ (รู้จักทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป)"
"บัดนี้ภพใหม่ของหม่อมฉันไม่มีอีกแล้ว (ไม่มีการเกิดอีกต่อไป) หม่อมฉันมีความรู้ในอรรถะ (เนื้อความหรือผลที่มุ่งหมาย) ธรรมะ (เหตุหรือปรากฎการณ์) นิรุตติ (ภาษาหรือคำพูด) และปฏิภาณ (การโต้ตอบได้ทันทีทันควัน) อย่างกว้างขวางหมดจดดีแล้ว ตามสภาพแห่งพระองค์ผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่"
"ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้กระทำอธิการกุศลไว้มาก ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนมาแล้ว ซึ่งได้ทำลายมัจฉริยะคือความตระหนี่ให้พินาศไป โดยที่สู้รบกันเพื่อประโยชน์ต้องการพบพระองค์ ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉัน และบุญที่หม่อมฉันได้สร้างสมไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระะองค์ พระเจ้าข้า"
"ข้าแต่พระมหาวีระ เมื่อพระองค์ทรงละเว้นการประพฤติที่ไม่สมควร ทรงอบรมพระญาณให้แก่กล้าอยู่ หม่อมฉันได้ละเว้นสิ่งที่ไม่สมควร ได้ประพฤติแต่สิ่งที่สมควร และได้สละชีวิตอันสูงสุดของหม่อมฉันเพื่อประโยชน์แก่พระองค์มาแล้ว พระเจ้าข้า"
ในคราวนั้น ประชุมชนทั้งสิ้นต่างพากันงงงวย จึงได้ยกมือขึ้นและกล่าวว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้มีฤิทธิ์ โดยหาผู้เสมอเหมือนมิได้ พระแม่เจ้าได้ทรงกระทำสิ่งใดไว้"
*** ข้อความต่อเนื่อง ...(๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
ยังมีเรื่องในปัจจุบันชาติของพระอุบลวรรณาเถรี ว่าด้วยเรื่องมารมารบกวนพระอุบลวรรณาเถรี ที่ปรากฎอยู่ในบาลีคัมถีร์ขุททกนิกาย อปทาน ความว่า
ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
ในสมัยนั้น พระอุบลวรรณาเถรีกลับจากบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในเวลาปัจฉาภัตคือเวลาภายหลังฉันอาหาร ได้แก่ตั้งแต่เที่ยงไปแล้ว พระอุบลวรรณาเถรีได้เข้าไปในป่าอันธวันและยืนอยู่ที่โคนต้นสาละต้นหนึ่ง ซึ่งกำลังออกดอกบานสะพรั้งงดงามเต็มต้น
คราวนั้นมารผู้ลามกประสงค์จะให้พระอุบลวรรณาเถรีเกิดความกลัว ความหวาดหวั่น ความสะดุ้ง และประสงค์จะให้พระอุบลวรรณาเสื่อมจากสมาธิ มารจึงเข้าไปใกล้แล้วกล่าวขึ้นว่า
"ดูก่อนภิกษุณี ท่านคนเดียวเข้ามาที่ป่าไม้สาละ อันมีดอกบานสะพรั่งตลอดยอด แล้วยืนอยู่ที่โคนต้นสาละเช่นนี้ ไม่มีภิกษุณีอื่นเป็นเพื่อน ภิกษุณีเช่นท่านมาในที่นี้ ไม่กลัวพวกนักเลงทั้งหลายผู้เป็นพาลหรือ"
พระอุบลวรรณาเถรีมีความดำริว่า "นี่ใครหน่อกล่าววาจาเช่นนี้ จะเป็นมนุษย์หรืออมุษย์กันแน่" และทันใดนั้น พระอุบลวรรณาเถรีก็นึกรู้ได้ว่าเป็นมารผู้มีใจบาป มีความประสงค์ไม่ดี จึงกล่าวกับมารนั้นว่า
"แม้นักเลงตั้งแสนมาในที่นี้ก็ตาม ไม่ทำให้ขนของเราหวั่นไหวสะเทือน ไม่ทำให้ใจของเราสะดุ้งได้หรอก ดูก่อนมาร ถึงเราคนเดียวก็ไม่กลัวท่าน เราจะหายเข้าไปในท้องท่าน ท่านก็จะไม่เห็นเราแม้ยืนอยู่ที่ระหว่างคิ้วของท่าน เรามีความชำนาญในจิต อบรมอิทธิบาทเจริญดีแล้ว พ้นจากสรรพกิเลสอันเป็นเครื่องผูกมัดทั้งปวงแล้ว"
"ดูก่อนมารผู้มีอายุ เราไม่กลัวท่าน กามคือความใคร่ทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว แม้ขันธ์ทั้งหลายก็คล้ายกองไฟ ท่านกล่าวถึงความยินดีในกาม แต่บัดนี้เราไม่มีความยินดีในกาม ความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งปวงเรากำจัดได้หมดแล้ว กองมืด (โมหะ) เราทำลายหมดแล้ว"
"ดูก่อนมารผู้มีใจบาปท่านจึงรู้อย่างนี้ และท่านจงหายตัวไปเสียเถิดพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็นโลกนายกชั้นพิเศษสุด ทรงพอพระทัยในคุณสมบัติของเรา ได้ทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งที่เลิศฝ่ายมีฤิทธิ์ เราคุ้นเคยกับพระองค์ ได้กระทำตามพระพุทธดำรัสสอนแล้ว ได้วางภาระคือของหนักลงแล้ว ได้ถอนตัณหาคือความทะยานอยากที่เป็นเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว เราได้บรรลุถึงประโยชน์ได้แก่ ธรรมะเป็นที่สิ้นสังโยชน์ (คือกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์) ทั้งปวง ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตมีความต้องการนั้นแล้ว"
"บุคคลทั้งหลายน้อมจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัชปัจจัยมาถวายเราพร้อมกันตั้งมากมายหลายพันราย เราได้เผากิเลสสิ้นไปแล้ว ได้ถอนภพทั้งปวง ได้ตัดเครื่องผูกมัดให้ขาดไปเหมือนกับนางช้างพังดึงเครื่องผูกให้ขาดไปฉะนั้น เราหมดอาสวะแล้ว (กิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน)"
"การที่เราเข้ามาในพุทธศาสนานี้จัดว่าเป็นการมาดีแล้ว เราได้สำเร็จวิชชา๓ ปฏิสัมภิทา๔ วิโมกข์๘ และอภิญญา๖ ประการแล้ว และเราได้กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว"
ฝ่ายมารผู้มีใจบาป ที่เข้ามาพูดเพื่อให้พระอุบลวรรณาเถรี เกิดความสะดุ้งกลัว พอรู้ว่าพระอุบลวรรณาเถรีรู้จักตนแล้ว ก็เป็นทุกข์เสียใจ แล้วอันตรธานหายไป
เมื่อพระอุบลวรรณาเถรีได้ทำกิจบรรพชิตาจบแล้ว อยู่ด้วยสุขในฌาน สุขในผลและสุขในพระนิพพาน วันหนึ่งท่านพิจารณาเห็นโทษในกามทั้งหลายที่ต่ำทราม และเศร้าหมอง จึงกล่าวคาถาซึ่งมีปรากฎอยู่ในพระบาลีคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรีคาถา แห่งทวาทสกนิบาต ความว่า
"เราทั้ง ๒ คือมารดาและลูกสาว ได้เป็นหญิงมีสามีคนเดียวกัน เรานั้นไม่เคยเกิดความสลดใจ และขนพองสยองเกล้าเลย น่าติเตียนนัก กามความใคร่ทั้งหลาย เป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น มีหนามมาก เพราะทำให้เราทั้ง ๒ คือมารดาและลูกสาว เป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกัน เราเห็นโทษในกามทั้งหลาย เราเห็นการออกจากกามเป็นความเกษมปลอดโปร่ง เราจึงออกบวชในพระธรรมวินัยในกรุงราชคฤห์"
"เราระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ เราได้ทิพยจักษุ (ตาทิพย์) เจโตปริยญาณ (รู้ใจผู้อื่นได้) และทิพยโสตธาตุ (หูทิพย์) เราชำระให้หมดจดแล้ว แม้ฤิทธิ์เราก็ทำให้แจ้งแล้ว ธรรมะเป็นที่สิ้นอาสวะ (กิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน) เราก็บรรลุแล้ว อภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ๖ ประการ เราก็ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ทำเสร็จแล้ว"
"ในเวลาที่พระพุทธเจ้าจะกระทำยมกปาฎิหาริย์ เราได้ใช้ฤิทธิ์เนรมิตรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัว เข้าไปถวายบังคมพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระสิริเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง"
ผลงานและเกียรติคุณต่างๆ ของพระอุบลวรรณาเถรี คงจะไม่ต้องกล่าวสรรเสริญว่ามีมากมายอย่างไร เพราะว่าพระอรหันตสาวิกาของพระพุทธเจ้า ผู้มีตำแหน่งเป็นถึงอัครสาวิกาเบื้องซ้าย ซึ่งตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ เพื่อกระทำกิจการงานต่างๆ มิใช่ตั้งไว้เพื่อประดับเกียรติเฉยๆ ฉะนั้นเมื่องานคือการศึกษาส่วนตัวของท่านจบ"มหาวิทยาลัยชีวิต"อย่างสมบูรณ์ที่สุด โดยท่านรู้ชัดเข้าใจจริงทั้ง"ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ" ส่วนงานที่ควรกระทำต่อไปก็ได้แก่"งานสังคม" ซึ่งมีพระพุทธดำรัสสั่งสาวกทั้งหลายว่า "ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบทเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นจำนวนมาก" จึงเป็นเหตุให้พระอรหันต์ทั้งหลายทำงานให้แก่สังคมโดยส่วนเดียว มิได้หวังเอาประโยชน์และความสุขเพื่อตนเอง ผลงานของท่านจึงปรากฎให้เห็นเด่นแต่เฉพาะส่วน"ดี"เพียงด้านเดียวเท่านั้น
อนึ่ง พระอุบลวรรณาเถรี ข้าพเจ้าถือว่าท่านเป็นพระภิกษุณีที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกท่านหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนสามารถบรรลุพระอรหัตผลเป็นอรหันต์ขีณาสพด้วยตัวท่านเอง ทั้งท่านยังเป็นผู้มีบุญวาสนาบารมี ได้ผลแห่งจักษุญาณ (ตาปัญญา) ชำนาญในฤิทธิ์ (อำนาจศักดิ์สิทธิ์) ในทิพยโสต (หูทิพย์) ชำนาญในเจโตปริยญาณ (รู้ใจผู้อื่นได้) ในบุพเพนิวาสานุสติญาณ (รู้ระลึกชาติก่อนได้) ในทิพยจักษุญาณ (ความรู้ดุจดวงตาทิพย์) ในจตูปบาตญาณ (รู้การตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย) และในอาสวักขยญาณ (รู้จักทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป) ในปัจจุบันนี้หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๒๕๔๕ ปีมาแล้ว ภิกษุณีได้ค่อยๆ หายไป และที่ข้าพเจ้าทราบไม่น่าจะมีสำนักภิกษุณีหรือวัดสำหรับภิกษุณีในประเทศไทยมาตั้งแต่เดิม เพราะจะต้องมีผู้รู้แจ้งคอย แนะนำสั่งสอนอยู่มาก เพียงวินัยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับหนทางสู่พระสัทธรรมได้
เรื่องราวของพระอุบลวรรณาเถรี ข้าพเจ้าต้องขอจบไว้เพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องราวของสตรีที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลอยู่อีก เช่นเรื่องราวของนางวิสาขา ผู้เป็นอุบาสิกาที่ให้การอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เป็นผู้มีความศรัทธาให้การอนุเคราะห์พระพุทธศาสนาอยู่มาก แต่เนื่องจากข้าพเจ้ามีความเพียรน้อย มีความเกียจคล้านอยู่มาก ยังต้องเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเพียรอยู่อีกมากทีเดียว จึงไม่สามารถนำเรื่องราวคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาไว้ในที่นี้ได้หมด ข้าพเจ้าจึงขอจบเรื่องราวของสตรีในพุทธศาสนาไว้เพียงเท่านี้ ถ้าข้าพเจ้าได้กล่าวสิ่งใดผิดพลาดหรือกระทบต่อจิตใจผู้ใด ขอจงได้ให้อภัยต่อข้าพเจ้าผู้มีความรู้น้อยด้วยเถิด แต่ถ้าเรื่องราวนี้ได้มีประโยชน์ต่อท่านหนึ่งท่านใดแล้ว ขอคุณความดีนั้นจงตกแก่ตัวท่านและผู้ที่เขียนและได้ร่วมกันจัดทำหนังสือธรรมะเรื่องสีกากับผ้าเหลืองนี้ ตลอดจนผู้ได้ให้การอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า จงได้พบหนทางไปสู่แสงสว่างแห่งพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ และความสุขในมรรคผลนิพพานอันยั่งยืนนั้นเถิด
 
**** ขอจบไว้เพียงเท่านี้**** ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕

[ home ] [ back ]