""พ่อให้ใจกับทุกคน..""

ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์

""นักการเมือง คิดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป รัฐบุรุษ คิดถึงคนรุ่นต่อไป""

คมวาทะของ เจ เอฟ คลาร์ค นักบวชนิกายแบ๊บติสท์ ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งรัฐ โรดไอสแลนด์ ถูกหยิบยืม มาใช้กันบ่อย ในเวทีหาเสียง หรือเวทีสภาของ นักเลือกตั้งบ้านเรา แต่ในความเป็นจริง ของการเมืองแบบไทยๆ คือ

""นักการเมือง คิดถึงการเลือกตั้ง ครั้งต่อไป และนักการเมือง ที่เป็นพ่อ ก็คิดถึงคนรับช่วง รุ่นต่อไปด้วย""

ยิ่งในยุคสมัยเลือกตั้งธิปไตยในทุกวันนี้ มีช่องทางสู่อำนาจระดับบนถึง 3 ช่องทาง ได้แก่ ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์), ระบบเลือกตั้งเขตเล็ก (วันแมนวันโหวต) และระบบเลือกตั้งวุฒิสภา นักเลือกตั้งทั้งหลายจึงสนุกสนานกับการเล่นเกมมหาสนุกในทุกช่องทางดังกล่าว

นักวิชาการท่านหนึ่งวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ แล้วฟันธงทันที ""ระบบการเมืองครอบครัว จะเติบใหญ่ขยายตัวภายใต้กรอบกติกาใหม่ รัฐสภาอาจกลายเป็นสโมสรภรรยานักการเมือง หรือเป็นที่ประชุมตระกูลการเมือง"" ซึ่งมีเสียงท้วงติงว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไปก็ได้

เพราะนักการเมืองทั้งหมดล้วนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนนักวิชาการ อยู่ในโลกแห่งอุดมคติ

และนี่เป็นรายงานจากสภาพที่เห็นและเป็นอยู่อีกครั้งหนึ่ง ถึงเส้นทางการเมืองของคนหนุ่ม 4 คน ที่บังเอิญเคยได้เรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ต่างรุ่น ต่าง พ.ศ.

คนแรก..จากตระกูล ขจรประศาสน์ ที่ยึดกุมกลไกการเมืองในจังหวัดพิจิตรได้แบบเบ็ดเสร็จ

คนที่สอง..จากตระกูล คุณปลื้ม ที่มากด้วยบารมีเหนือชายฝั่งทะเลตะวันออก

คนที่สาม..จากตระกูล โล่ห์วีระ ที่สร้างฐานที่มั่นทางการเมืองใหม่ในหัวเมืองอีสานตอนล่าง

คนที่สี่..จากตระกูล อยู่บำรุง ที่ยึดครองชายขอบเมืองหลวงด้านฝั่งธนบุรีมาหลายยุค หลายสมัย

ขณะนี้พวกเขาทั้งหมดกำลังก้าวสู่สมรภูมิเลือกตั้ง ด้วยวัยค่อนเบญจเพส แม้ด้อยประสบการณ์ แต่มีพี่เลี้ยงชั้นดีคอยประคบประหงม

หนทางสู่เส้นชัย ณ เบื้องหน้าโพ้น ดูราบรื่นและไร้วี่แววภัยพาลใดๆ จะมากรายกล้ำ

* * * *

""คำว่า ทายาททางการเมือง ก็คือผู้สืบทอดคนต่อไปอย่างที่คุณพ่อหวังจะให้เป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว พ่อไม่เคยบังคับว่าจะต้องเป็น ส.ส.แทนพ่อ ตั้งแต่เด็กแล้ว ที่บ้านไม่เคยขีดเส้นให้ลูกเดิน ไม่เคยบังคับ ให้อิสระเต็มที่ และในความคิดของผม ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นทายาททางการเมืองของพ่อ ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของผมเอง""

คำพูดประโยคนี้ อาจไม่มีความหมายหรือนัยทางการเมืองใดๆ เลย

ถ้าเขาไม่ใช่ "ยอด" หรือ ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์

ทายาท พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ส.ส.พิจิตร และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ทายาท ฉวีวรรณ ขจรประศาสน์ ภริยารองนายกรัฐมนตรี ฯลฯ และผู้สมัคร ส.ว.นนทบุรี

จึงไม่ประหลาดใจเลยว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ไปล่วงหน้าแล้วว่า ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ได้เป็น ส.ส.พิจิตร สมัยหน้าแน่นอน แต่หนุ่มวัย 25 หยกๆ 26 หย่อนๆ กลับออกตัวว่า

""ภาพที่ทุกคนมองก็คือ ผมสบายกว่าคนอื่น เพราะฐานเสียงเก่าของพ่อมีอยู่แล้ว จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้คิดไปแข่งกับใคร ในเมื่อผมตัดสินใจมาทำงานการเมืองแล้ว ผมก็อยากทำให้เต็มที่และดีที่สุด ก็คือ ผมถือว่าเป็นคนที่โชคดีคนหนึ่งที่มีฐานเสียงเก่าของพ่ออยู่แล้ว ก็ทำให้ผมทำงานได้สะดวกขึ้น ถ้าผมได้เป็น ส.ส. จะได้มีโอกาสทำงานได้สะดวกและพัฒนายิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเราจะเหนื่อยน้อยลง แต่เป็นการสานต่องานเดิมที่พ่อทำไว้""

ด้วยวัยที่อ่อนเยาว์ อาจกล่าวได้ว่าเขาผ่านโลกการเมืองเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่เรียนจบมัธยมต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ศิริวัฒน์ก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ ALTON ไฮสคูล สหรัฐอเมริกา อยู่ 3 ปี ก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย MARY VILLE หลักสูตร MIS คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ จนจบปริญญาตรี ก็เดินทางกลับมาเมืองไทย

มีเวลาหายใจโล่งๆ อยู่ในเมืองไทยได้เพียงปีเดียว ก็กระโจนสู่ยุทธจักรการเมืองในฉับพลันทันที

วิธีคิดวิธีตัดสินใจของเขา ดูเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ง่ายหรอก.. ถ้าเขาไม่ใช่ลูก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ บุรุษผู้มากด้วยบารมีใน พ.ศ.นี้

""วันที่ตัดสินใจที่จะทำงานทางการเมือง ผมเดินเข้าไปบอกพ่อเลยว่า ผมจะทำงานทางการเมือง จะช่วยพัฒนาประเทศชาติ พ่อไม่พูด ได้แต่ยิ้ม ผมคิดว่าลึกๆ แล้วพ่อคงดีใจที่เราเลือกเดินทางนี้ แม่ก็ดีใจ พี่น้องทุกคนก็เห็นด้วย ก่อนจะตัดสินใจคิดมานานมาก ผมยอมเสียสละเวลาส่วนตัวไปช่วยเหลือคนอื่นดีกว่า

""ช่วงนี้ก็ไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯกับจังหวัดพิจิตร เพื่อลงพื้นที่เตรียมเลือกตั้ง อาทิตย์หนึ่งลงพื้นที่ 3-4 วัน เวลาไปพื้นที่ก็ค้างที่บ้านในพิจิตร เพราะที่นั่นจะมีทีมงานเก่าของพ่อเป็นที่ปรึกษาและวางแผนโปรแกรมให้ ว่าวันนี้จะไปพบปะชาวบ้านในพื้นที่ไหน แต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ในลักษณะให้ข้อมูลการเลือกตั้ง แต่ยังไม่ถึงขนาดกำหนดตายตัวว่าจะต้องลงวันไหนบ้าง เดิมจังหวัดพิจิตร มี ส.ส.2 เขต ตอนนี้แบ่งเป็น 4 เขต ผมจะลงเขต 3 และยังไม่เห็นคู่แข่งในสนาม""

เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อ.โพทะเล และกิ่ง อ.บึงนาราง น่าจะเป็นเขตที่ลูกชาย พล.ต.สนั่น ลงสนามแบบไร้คู่ต่อกร และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตั้งแต่วันรับสมัครฯ ที่ศาลากลางจังหวัด

บนวิถีการเมืองที่ศิริวัฒน์เลือกเดิน ดูเหมือนว่าการห้ำหั่นกันในสนามเลือกตั้งอย่างรุนแรงนั้น มองข้ามไปได้เลย แต่สิ่งที่เขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อม คือ ผลพวงของยุทธการยึดทำเนียบ ซึ่ง พล.ต.สนั่น ย่อมตกเป็นเป้าหมายใหญ่ในการโจมตีจากพรรคคู่แข่ง

และในชั่วโมงนี้ พล.ต.สนั่น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบรายวันอยู่แล้ว สำหรับศิริวัฒน์เอง ก็พร้อมที่จะเผชิญปัญหาดังกล่าว

""สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ อดทน..มองพ่อเป็นต้นแบบ เพราะสิ่งต่างๆ ที่พ่อทำ พ่อชอบช่วยเหลือคน ใครเดือดร้อนมาอะไรที่ช่วยได้ ก็จะช่วยหมด พ่อเป็นคนที่ขยันมาก ทำงานตลอดชีวิต พ่อไม่เคยมีวันหยุด ไม่เคยขี้เกียจ ชีวิตพ่อทุ่มเทให้กับงานตลอด และผมก็ไม่เคยน้อยใจเลยตั้งแต่เด็กจนโต เพราะแม่จะสอนเราเสมอว่า พ่อทำงานอย่างนี้เราต้องเข้าใจ และเมื่อโตขึ้นก็คิดว่า ลูกๆ ควรจะหาเวลาให้พ่อมากกว่าที่พ่อต้องมาหาเวลาให้เรา เป็นสิ่งที่เราควรทำให้พ่อมากกว่า คือ พ่ออยู่ที่ไหน เราก็ไปหาได้ แทนที่ต้องรอให้พ่อมาหาเรา คือเราต้องเข้าใจพ่อ มากกว่าจะเรียกร้องให้พ่อเข้าใจเรา""

แต่กว่าครึ่งค่อนชีวิต ศิริวัฒน์จะมีความใกล้ชิดแม่-ฉวีวรรณ มากกว่า

""ชีวิตผมส่วนใหญ่จะคลุกคลีอยู่กับแม่มากกว่าพ่อ เพราะพ่อไม่ค่อยมีเวลาทำงานตลอด แม่ต้องรับหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 4 คน คือ ผม และสาว 3 ใบเถา (บงกชรัตน์-ปัทมารัตน์- วัฒนีพร) แม่จะพร่ำสอนเสมอเวลาผมติดตามไปพื้นที่ที่พิจิตรว่า ดูชาวบ้านเขาลำบาก ต้องทำนา ทำไร่ การศึกษาก็น้อย เมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่า ต้องทำตัวให้ดี เป็นลูกพ่อ ต้องทำให้ได้ และถ้ามีโอกาสก็ช่วยเหลือเขาตามสมควร นี่คือสิ่งที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ

""นอกจากหน้าที่เลี้ยงลูกแล้ว แม่ยังต้องทำหน้าที่ออกงานแทนพ่อในบางครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และยังต้องดูแลธุรกิจของครอบครัวด้วย แต่ตอนนี้ท่านคงเหนื่อยน้อยลง เพราะได้พี่สาวคนโตมาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว ส่วนพี่สาวคนรอง (ปัทมารัตน์) ทำงานเป็นประชาสัมพันธ์อยู่ที่สนามบินหนองงูเห่า น้องคนเล็ก (วัฒนีพร) ทำงานอยู่ที่ยูเอ็น

""ตั้งแต่เด็กจนโต ผมไม่เคยเห็นแม่ได้หยุดพักเลย แม่ทำงานไม่น้อยไปกว่าพ่อเลย แต่คนละบทบาท พ่ออยู่ในฐานะคนของประชาชน แต่แม่อยู่ในฐานะของภรรยานักการเมืองและแม่ของลูกอีก 4 คน ซึ่งต้องทำหน้าที่ค่อยดูแลความเรียบร้อยของทุกคนภายในบ้าน และที่สำคัญ แม่คือศูนย์รวมของบ้าน เพราะแม่จะคอยเป็นกำลังใจให้ทุกคนในบ้าน ทุกวันทุกคนจะมารวมกันที่บ้านใหญ่""

จึงไม่แปลกที่ผู้หญิงแกร่งอย่างฉวีวรรณ ขจรประศาสน์ จะตัดสินใจลงสมัคร ส.ว. ด้วยความมาดมั่น และมีบุคลิกผู้นำ ไม่แพ้ชายอกสามศอก

เมื่อถามว่า เป็นลูกนักการเมืองใหญ่ มีปัญหาในวางตัวต่อสาธารณชนหรือไม่..

""ผมคิดว่าลูกนักการเมืองทุกคนบางครั้งจะทำอะไรต้องระวังตัวเป็นพิเศษ ถึงเราจะไม่ทำผิดก็อาจกลายเป็นข่าวได้ และอีกอย่างคือ ผมไม่อยากทำอะไรให้พ่อหนักใจ เพราะทุกวันนี้เขาก็มีเรื่องหนักใจอยู่แล้ว เดี๋ยวเขาจะไม่สบายใจ ผมไม่เคยใช้สิทธิของลูกนักการเมืองเลย เพราะแม่ผมเลี้ยงมาแบบหนึ่ง คือสอนเสมอว่าอย่าไปใช้อำนาจ""

จะว่าไปแล้ว กระแสเสียงโจมตี หรือมีข่าวที่พาดพิงถึง พล.ต.สนั่น ไปในทางที่ไม่ดีในทุกวันนี้ เปรียบเสมือนบททดสอบอันสำคัญของศิริวัฒน์

""เรื่องนี้ผมชินแล้ว ทุกคนในบ้านชิน เพราะตลอดชีวิตการเมืองของพ่อก็มีข่าวมาตลอด จริงๆ เราก็รู้ อะไรเป็นอะไร ผมก็คุยกับคุณพ่อตลอด คือทุกคนในบ้านจะรู้สึกเฉยกับข่าวลือที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นความเคยชิน พ่อผมเป็นจริงใจกับทุกคน ให้ใจกับทุกคน อย่างลูกน้องก็จะไม่เคยว่าถ้าทำอะไรผิด ไม่เคยโกรธแค้น พ่อชอบช่วยเหลือคน ผมว่าการที่เราจะตัดสินคนหนึ่งต้องใช้เวลานาน คงต้องดูไปเรื่อยๆ

""ส่วนหนึ่งที่พ่อมักจะมีข่าวไม่ดีมาถึงตัวบ่อยๆ อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นคนมีพรรคพวกและคนใกล้ชิดมาก ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะไปทำอะไรไม่ดีได้ แต่เรื่องเหล่านี้คุณพ่อก็ไม่ได้แนะนำผมว่าเมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว การจะเอาใครมาใช้งานต้องดูให้ดีเสียก่อน ส่วนมากท่านจะปล่อยให้เรียนรู้เอง""

ภาษิตฝรั่งที่ว่า "กระจกเงาที่ดีที่สุด ก็คือเพื่อนเก่าของเรา" ฉะนั้น กระจกเงาบานหนึ่ง ซึ่งศิริวัฒน์พอจะอรรถาธิบายได้คือ "ติ๊ก" อิทธิพล คุณปลื้ม

""สนิทกันพอสมควร และยังเกิดปีเดียวกันด้วย เป็นเพื่อนกันตั้งแต่อยู่ ป.5 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา แต่ไม่ได้เรียนห้องเดียวกัน ต่อมาก็ไปเรียนมัธยมต้น คือ ม.1-ม.3 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จากนั้นไปศึกษาต่อที่สหรัฐ...ช่วงนี้ก็ได้เจอติ๊กบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก เพราะต่างคนต่างก็ลงพื้นที่ แต่ก็ยังมีนัดไปสังสรรค์เฮฮากันบ้างตามโอกาส

""ติ๊กเป็นคนเก่งในหลายๆ ด้าน เช่น การวางตัว การพูดจาเป็นผู้ใหญ่กว่าผม แต่ผมคิดว่าบุคลิกแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ผมมองว่าเราควรพัฒนาตัวเองในเรื่องที่ยังต้องพัฒนาอีกพอควร""

ส่วนเพื่อนร่วมโรงเรียนอีกคนหนึ่ง ที่ใครก็อยากรู้ถึงความสัมพันธ์ในอดีต

""วันเฉลิมเป็นรุ่นน้องที่สวนกุหลาบ แต่อายุเท่ากัน สมัยวัยรุ่นก็เที่ยวด้วยกันบ่อย นิสัยตอนเด็กๆ เขาก็ดี เป็นคนสนุกเฮฮา ไม่ได้มีเรื่องทะเลาะวิวาทเหมือนที่กำลังเป็นข่าวขณะนี้ ตอนนั้นคบกันอยู่ 3 ปี แต่พอขึ้น ม.4 ผมไปอยู่อเมริกา ก็ห่างๆ ไป ไม่ค่อยได้เจอะเจอกันเท่าไหร่""

แต่เชื่อว่าวันข้างหน้า ทั้งคู่คงได้ไปเจอกันในสภาฯ ถ้าวันเฉลิม ไม่ดวงแตกสอบตกคาสนามเลือกตั้งเสียก่อน

""ถ้าได้เป็น ส.ส.อยากจะสานต่อเจตนารมณ์และนโยบายที่คุณพ่อได้ทำไว้ โดยเฉพาะการพยายามพัฒนาจังหวัดพิจิตรให้ดียิ่งๆ ขึ้น และพยายามช่วยเหลือชาวบ้านที่ยังลำบาก อันนี้เราต้องช่วยเหลือเต็มที่ อาทิ หาอาชีพเสริมให้ชาวนา หลังหน้าเก็บเกี่ยว อย่างปีนี้ราคาข้าวไม่ได้ และยังมาเจอเพลี้ยกระโดดอีก ถ้าเขาไม่มีอาชีพเสริมอย่างอื่น ทำนาไม่ดีก็เดือดร้อน เรื่องการศึกษาเด็ก ตามโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3 ส่วนใหญ่เครื่องแบบจะไม่มี อุปกรณ์การเรียนก็ขาดแคลน

""ในอนาคตถ้าได้เป็นก็ต้องพยายามช่วยเหลือ ตอนนี้ขนาดยังไม่ได้เป็น ส.ส.ชาวบ้านบางที่เวลาเจอหน้าก็เข้ามาขอนั่นขอนี่สารพัดเรื่อง ส่วนใหญ่ขอให้ทำถนนหนทาง โทรศัพท์สาธารณะ เพราะบางพื้นที่ยังไม่มี

""ผมเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็มีความคิดว่าจะใช้ความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับงานการเมือง อย่างถ้าได้เป็น ส.ส. ก็จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในที่ทำการพรรค หรือเวลาที่ชาวบ้านมามีเรื่องเดือดร้อน เราก็จะได้บันทึกเรื่องเหล่านั้นไว้ในคอมพิวเตอร์จะได้ไม่ลืมและสามารถบริหารเวลาได้ ตอนนี้สาขาพรรคที่พิจิตรยังไม่มีระบบเหล่านี้""

ความฝันของคนหนุ่มที่ต้องการเป็นตัวแทนของชาวบ้าน อาจคล้ายกับความฝันของคนหนุ่มเมื่อทศวรรษที่แล้วอีกหลายคน ที่กลายเป็นคนหน้าเก่าเจ้าประจำสภาฯในปัจจุบันนี้