ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว
โดย เกษียร เตชะพีระ เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ ๘
ฉบับที่ ๔๐๐ (๓๑ ม.ค. - ๖ ก.พ. ๒๕๔๓)
ความจริงเรื่องนี้ ตัดสินง่ายนิดเดียว โดยผมมีข้อเสนอบ้างว่า
ให้ฝรั่งหรือใครก็ได้
เอาเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงของบิดาคนที่เรียกร้องสิทธิจะดูหนัง เรื่องนี้
แต่งเติมเสริมอะไรเข้าไปในเรื่องราวของหนังให้บิดาของคน ๆ นั้นดูยังกะไม่ใช่คนผู้เจริญ
แล้ว โง่ก็เท่านั้น เซ่อก็เท่านั้น แถมยังออกมาในแบบน่าเกลียด กักขฬะ โสมม
หรืออะไรก็ได้ ใส่ลง
ไปในหนังให้เต็มเหยียดเลย
อยากจะรู้ว่าคน
ๆ นั้น และญาติพี่น้องของคน ๆ นั้น จะเรียกร้องดูหนังเรื่องนั้นไหมในบ้าน
ของเขาเอง ในเมื่อก็รู้ว่าภาพลักษณ์ของบิดาจะออกมาแย่มาก ๆ
สุจินต์ จันทร์นวล, เนชั่นสุดสัปดาห์, ๘: ๓๙๘ (๑๗-๒๓ ม.ค. ๔๓), ๙๗
ทุกวันนี้คงได้ยินเสียงวิจารณ์ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้จงรักภักดีจำนวนหนึ่งที่เทิดทูน
ด้วยการยกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น พ่อ เรียกว่าพ่อด้วยความเทิดทูน ซึ่งจะเป็น
การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงอย่างผู้ดึงไม่รู้ตัว ท่านต้องช่วยบอกให้พวกเขาเข้าใจว่าไม่ทรงเป็น อื่นได้ สำหรับพสกนิกรแล้ว ต้องทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ต้องไม่เป็นอื่น ขอฝากให้ช่วยกันในเรื่องสำคัญเรื่องนี้ด้วย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มติชนรายวัน, ๑๘
ม.ค. ๔๓, น. ๒๔
หากตั้งคำถามในกระทู้เดียวกับการอภิปรายของนักประวัติศาสตร์ที่ศูนย์มานุษยวิทยา-สิรินธร
เมื่อ ๒๑ ม.ค. ศกนี้ (มติชนรายวัน,
๒๒ ม.ค. ๔๓, น. ๓) ว่า
อะไรกันนักกันหนา ?...
กะอีหนังฝรั่งแค่เรื่องเดียว ทำไมต้องท้าวความลามปามถึงบุพการีกันด้วย
?
ผมก็คงเห็นด้วยครับว่าเตี่ยผมไม่เกี่ยว แกอยู่ของแกดี ๆ
ไม่น่าพาโลโฉเกลากแกมายุ่งด้วย เลย
แต่ถึงกระนั้นเรื่องนี้มันก็มีเงื่อนงำลึกซึ้งของมันอยู่ ซึ่งเราไม่ควรดูเบาหรือหลงประเด็น
.....
ประเด็นมันไม่ใช่แค่หนังเจ๊กปนฝรั่งปลอมเป็นไทยเรื่องเดียวดอกครับ ถ้าแค่นั้นก็ง่ายมาก
แต่เป็นเรื่อง
อำนาจ กับ วิธีคิดของผู้ใช้อำนาจ ต่างหาก
ผมเองโดยส่วนตัวถึงจะเป็นแฟนโจวเหวินฟะมาตั้งสองทศวรรษ แต่ก็ไม่ได้พิศวาสหนัง แอนนา สักเท่าไหร่ เอาเข้าจริงยังไม่เคยดูด้วยซ้ำไป และเท่าที่สดับตรับฟังจากคนที่เขา เคยดู,
หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ดิบดีน่าประทับใจอะไรนัก ดังท่านผู้ใช้นามปากกาว่า บัวนอกบึง (ใครหว่า ? ING K. ? หรือ กาญจนา แก้วเทพ, นพพร ประชากุล, ทวีศักดิ์ เผือกสม ฯลฯ ???) สรุปไว้ใน
บทวิจารณ์เผ็ดแสบเฉียบคมทั้งทฤษฎี ประวัติศาสตร์ และภาพยนตร์ว่า
เป็นหนังก่อเรื่องที่ไม่ได้เรื่อง
ว่างั้นเถอะ (Anna and the King and the Thai, มติชนรายวัน, ๒๐
ม.ค. ๔๓, น. ๑๒)
ไม่สมพอที่คนไทยเราจะต้องมาแตกคอเสียความรักสามัคคีกันเพื่อปกป้องหนังไม่ได้เรื่อง
เรื่องนึง มิใช่หรือ...........
?
แต่เดี๋ยวก่อน ประเด็นที่พาหลงมันอยู่ตรงนี้แหละครับ
เพราะคนที่เขาวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งแบนและเรียกร้องสิทธิ์จะดูหนังเรื่องนี้นั้น เขาไม่ได้ปก ป้องหนัง แอนนา นะครับ
เขาปกป้องตัวเขาเองและสังคมไทยต่างหาก ปกป้องมันจาก
ก ) อำนาจเซ็นเซ่อร์และแบนหนังซึ่งถือเป็นข่าวสารข้อมูลสาธารณะอย่างหนึ่ง และ
ข ) วิธีคิดค่อนข้างคับแคบของผู้ที่ไปนั่งกุมอำนาจดังกล่าวนี้อยู่
ดังแสดงออกในกรณีแบน หนัง แอนนา นี้
อำนาจดังกล่าวอ้างความตามกฎหมายในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และคำสั่งคณะปฏิวัติใน
ยุคเผด็จการทหาร อันตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ารัฐเป็นผู้ใหญ่ ส่วนสังคมเป็นเด็ก ผู้ใหญ่จึงมีอำนาจ หน้าที่ปกครองดูแลคัดเลือกหนังเฉพาะที่ผู้ใหญ่เห็นว่าดีมาให้เด็ก
ๆ ดู
แต่บ้านเมืองเราไม่ได้อยู่ในยุคนั้นอีกต่อไปและความจริงก็ได้ปลดเปลื้องตัวเองหลุดพ้นจาก
ยุคดังกล่าวมาตั้งนมนานแล้ว เราอยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อันตั้งอยู่บนสมมุติ ฐานว่าสังคมไทยเป็นผู้ใหญ่ที่พึงมีอำนาจปกครองตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกดูหรือไม่ดูหนังที่
เห็นว่าดีหรือไม่ดีด้วยเหตุผลของตนเอง
การเซ็นเซ่อร์และแบนหนังในฐานะมาตรการป้องกันตัวเองและควบคุมทางวัฒนธรรมควร
จะมีอยู่อีกหรือไม่ ? นั่นเป็นปัญหาเปิดปลายที่สังคมเราถกเถียงกันต่อได้ แต่ต่อให้มีก็เป็นหน้าที่
ของสังคมที่จะต้องจัดวางกระบวนการที่โปร่งใส สรรหาตัวแทนที่รับผิดชอบ และมอบหมายอำ-
นาจที่ตรวจสอบได้ให้เอง ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของเจ้าหน้าที่รัฐและแขกรัฐเชิญเพียงไม่กี่คนที่
จะมาชุบมือ เปิบตัดสินใจแทน
อำนาจสิทธิ์ขาดที่จะกำหนดว่าสังคมดูและรับรู้อะไรได้หรือไม่ได้โดยปราศจากการตรวจ
สอบถ่วงดุลจากสมาชิกสังคมนั้น
เราปล่อยให้ตกไปอยู่ในมือคนกลุ่มเล็ก ๆ
กลุ่มเดียวได้อย่างไรใน เมื่อเราเข้าใจตัวเราเองว่าเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย ?
เพียงเรื่องลักษณะและขอบเขตของอำนาจเรื่องเดียวนี้ก็ชวนกังวลพอดูแล้ว แต่เมื่อพิจารณา
เนื้อหาหลักการของการใช้อำนาจในครั้งนี้ก็ยิ่งน่าวิตกเข้าไปใหญ่ เพราะข้อหาอุกฉกรรจ์ร้ายกาจที่ ใช้ในการแบนหนัง
แอนนา คือ
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นั่นหมายความว่าคณะเจ้าหน้าที่เซ็นเซ่อร์กำลังใช้วิจารณญาณต่างสถาบันพระมหากษัตริย์
เพื่อปกป้องสิ่งที่เห็นว่าเป็น พระบรมเดชานุภาพ ไว้จากการ หมิ่น ตามความเข้าใจของตน
แต่แน่ใจแล้วหรือว่าอะไรคือ พระบรมเดชานุภาพ ?
และอะไรคือการ หมิ่น ?
สังคม
ไทยมีคำตอบแน่ชัดสำเร็จรูปตายตัวต่อคำถามเหล่านี้แล้วหรือ ?
ลองคิดดูเถิดว่าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใหญ่โตอื้อฉาวครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีก่อนนั้น
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ประณามการก่อรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติว่า
เป็นการ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างร้ายแรงที่สุดในปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัยการยื่นฟ้องสุลักษณ์ต่อศาลอาญาว่า
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในปาฐกถาดังกล่าว
ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่าปาฐกถาของสุลักษณ์มิได้
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พิพากษา ยกฟ้อง ปล่อยตัวจำเลยเป็นอิสระ
อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้รับผิดชอบรวบรวมหลักฐานในคดีนี้และออกหมายจับสุลักษณ์กลับ
ถูกหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเวลาต่อมา
..................................................................................................
ตกลงใครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กันแน่ ? และอะไรคือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
? พระบรมเดชานุภาพ ในความเข้าใจของแต่ละฝ่ายที่กล่าวหาว่าอีกฝ่าย หมิ่น
นั้นคืออะไร ?
เหมือนหรือต่างกันตรงไหนอย่างไร ?
เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่าข้อหาใหญ่โตร้ายแรงดังกล่าวนี้เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติมีความหมาย
คลุมเครือลื่นไหลเพียงใด
การให้คณะบุคคลหนึ่งมีอำนาจตั้งข้อหานี้ ตัดสินวินิจฉัยว่าผิด และใช้อาญาสิทธิ์ลงโทษ หนังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามที่ตกเป็นผู้ต้องหาด้วยการแบน จึงนับว่าล่อแหลมหวาดเสียวยิ่ง
โดยเฉพาะหากทรรศนะของคณะบุคคลนั้น
ๆ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรม เดชา นุภาพคับแคบตายตัว แตกต่างจากทรรศนะของบุคคลและกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม
เช่นเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
เห็นว่าความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ
หรือกบฎ ไม่มีในราชสำนัก
เห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงพิโรธโกรธกริ้วปึงปัง
ฯลฯลฯลฯ
แล้วตั้งข้อหาและตัดสินเสร็จสรรพว่าหนังเรื่องไหนเสนอภาพพระมหากษัตริย์ต่างจากนี้ถือว่า หมิ่นฯ
ความจริงท่านทั้งหลายเหล่านั้นจะคิดเห็นส่วนตัวอย่างไร
ก็เป็นเรื่องของท่าน ไม่เดือดร้อน หนักหนาผมหรือใครอื่นแต่อย่างใด เพราะนี่ก็เป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย
แต่เผอิญเรื่องที่ท่านคิดเห็นนี้เป็นเรื่องสำคัญเอกอุในสังคมไทย
และพวกท่านก็ดันมีอำนาจเสียด้วย
มีอำนาจเหนือเรื่องที่ละเอียดอ่อนเปราะบาง แต่ขณะเดียวกันก็คลุมเครือลื่นไหล
จนไม่ควรที่ใครจะมีอำนาจกล่าวหาใครง่าย
ๆ ในเรื่องนี้ในสังคมนี้
ผมจะได้ดูหนังดูลครเรื่อง แอนนา
หรือไม่ - ไม่สำคัญนักดอกครับ ที่สำคัญคือสังคม ไทยได้ตระหนักตื่นและย้อนดูตัวในเรื่องอำนาจและวิธีคิดของผู้ใช้อำนาจหรือไม่ต่างหาก