ฝ่าตีนเหยียบโลก
โดย
เกษียร เตชะพีระ
เนชั่นสุดสัปดาห์, ๘: ๔๑๒ (๒๔-๓๐ เม.ย. ๔๓)
หากยึดมาตรฐานการบริโภคส่วนตัวของผมทุกวันนี้เป็นเกณฑ์ แล้วลองวัด รอยเท้านิเวศ
ของตัวเอง ดูตามสูตรคำนวณของ Jason Venetoulis (http://www.esb.utexas.edu/drnrm/EcoFtPrnt/Calculate.htm) ปรากฏว่า
เพื่อผลิตสินค้าและบริการมาป้อนตัวเองแบบที่บริโภคอยู่ในแต่ละปี ต้องกินเนื้อที่บนพื้นผิวโลกถึง
๑ ๑ ๕ ไ ร่
(หนึ่งร้อยสิบห้าไร่ถ้วน ๆ จ้า ! )
นั่นคิดเป็นกว่า
๘ เท่าของส่วนแบ่งเนื้อที่บนพื้นผิวโลกที่มนุษยชาติปัจจุบัน ๖,๐๐๐ ล้านคนแต่ละคน
พึงมีพึงได้โดยยุติธรรมเท่าเทียมกันในสัดส่วนคนละ ๑๓ ไร่ ๓ งาน
ซึ่งทำให้ผมเสมือนมีฝ่าตีนยักษ์เหยียบย่ำจับจองอยู่บนผืนโลกขนาดเท่ากับเจ้าที่ดินรายย่อยไป
ที่ รอยเท้านิเวศ ของผมใหญ่โตถึงเพียงนี้ทั้งที่เอาเข้าจริงผมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแม้เท่าฝ่ามือก็ด้วย
อภินิหาร อำนาจที่จะซื้อ กับ เสรีภาพที่จะบริโภค ของผมโดยแท้
จึงทำให้ผมเบียดเบียนโลกและเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยการบริโภคทรัพยากรเกินกว่าที่ควรถึง
๘ เท่า
ง่า ..... ว่าแต่ว่า (ฝ่าตีน) ท่านล่ะครับ ใหญ่แค่ไหน ?
....................................................................................................................
แนวคิด
รอยเท้านิเวศ (ecological footprints) นี้ริเริ่มนำเสนอเมื่อ ๔
ปีก่อนโดยนักวางแผนชุมชน ๒ คนแห่งมหา วิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ชื่อ Mathis
Wackernagel และ William Rees ในหนังสือ
เรื่อง Our Ecological Footprint : Reducing Human Impact on the Earth (Philadelphia and Gabriola Island,
BC, Canada: New Society Publishers, 1996)
ทั้งคู่เริ่มจากความจริงมูลฐานว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนต้องอาศัยทรัพยากรจากระบบนิเวศเพื่อดำรงอยู่
รอด
ซึ่งอาจสื่อสะท้อนออกมาได้ในรูปลักษณ์ขนาดเนื้อที่บนพื้นผิวโลกที่ต้องใช้เพื่อผลิตสรรหาทรัพยากรดัง
กล่าวมาสนองให้ในแต่ละปี
แล้วเรียกมันว่า รอยเท้านิเวศ ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ
ในกรณีคนเราก็เช่นกัน
เราอาจบันทึกข้อมูลการบริโภคของแต่ละคนแล้วแปรมันเป็นขนาดเนื้อที่บน
พื้นผิวโลกที่ต้องใช้เพื่อผลิตสรรหาทรัพยากรจากระบบนิเวศมาสนองให้บริโภคในแต่ละปี โดยประยุกต์แนว
คิดเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเรื่อง อุปสงค์ / อุปทาน (demand/supply) มามองว่า
อุปทานการบริโภคของมนุษย์เราได้มาจากชีวมณฑล
(biosphere) หรือนัยหนึ่งอาณาบริเวณจากเปลือก
โลกชั้นนอกถึงบรรยากาศห่อหุ้มโลกที่ซึ่งสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
ชีวมณฑลนี้พระเจ้าประทานมาให้ครั้งเดียว หมดแล้ว หมดเลย
ไม่อาจหาใหม่
และทุกวันนี้ก็มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงเพราะการตัดไม้ทำลายป่า การเกิดทะเลทราย ดินสึกกร่อน ดินเค็ม
ฯลฯ
ทำให้เนื้อที่ผิวดินที่ใช้ผลิตได้ของโลกลดลง
ในแง่อุปสงค์การบริโภค
ความอยากของมนุษย์เรานั้นแปรตามดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล
รสนิยมส่วนตัว
บริบททางวัฒนธรรม และทรัพย์สินหรือนัยหนึ่งกำลังซื้อ
รอยเท้านิเวศ
ก็คือการวิเคราะห์หาสัดส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ / อุปทานข้างต้นของมนุษย์
ในระดับสังคม
การวิเคราะห์ รอยเท้านิเวศ ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการบริโภค
ของเรากับการพึ่งพาระบบนิเวศ
ในระดับโลก มันช่วยเผยผลกระทบของแต่ละประเทศต่อทรัพยากรโลก
โดย เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรทางนิเวศที่ชุมชนหรือชาติหนึ่ง ๆ
บริโภค ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะ
หาได้เองในท้องถิ่นหรือนำเข้ามาโดยใช้การค้าและเทคโนโลยีจากแหล่งภายนอกที่ไหนในโลกก็ตาม
คำถามนำเวลาประเมินวัด
รอยเท้านิเวศ ของชุมชนใดชาติไหนก็แล้วแต่ ก็คือ
ต้องใช้ที่ดินขนาดเท่าไหร่ต่อหัวจึงจะค้ำจุนการอุปโภคบริโภคอาหาร บ้านเรือน การขนส่ง
สินค้าและ บริการของประชากรชาติหนึ่ง ๆ ได้ ?
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
ต้องสิ้นเปลืองพลังงานฟอสซิล (พลังงานอันเกิดจากเชื้อเพลิงธรรมชาติอาทิ
ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งก่อตัวจากซากสัตว์ซากพืชดึกดำบรรพ์) ต้องทำให้ดินเสื่อม ต้องใช้พื้นที่ทุ่งสวนนาไร่ป่าไม้ไปเท่า
ไร จึงจะสามารถผลิตทั้งหมดที่ผู้บริโภคซื้อ ?
จากนั้นก็จัดการแบ่งเนื้อที่พื้นผิวดินของระบบนิเวศที่ใช้ทำการผลิตได้
(รวมทั้งพื้นที่ป่าดงดิบ) ด้วยจำ
นวนประชากรโลก
เพื่อหาขนาดมัธยฐานของ รอยเท้านิเวศ ที่ เสมอภาคที่สุด โดยไม่เลือกชาติผิวเพศวรรณะ
ตระกูลหน้าอินทร์หน้าพรหม
สำหรับวิธีวัดการบริโภคนั้น
จะดูปัจจัยต่าง ๆ เช่นที่ดิน
พลังงาน น้ำที่ใช้ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
ที่ระบายออกมา
เท่าที่มีการสำรวจวิจัยไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น พบผลสรุปตามตารางข้างล่างนี้ว่า
การบริโภคต่อคนในปี ๒๕๓๔ อเมริกา แคนาดา อินเดีย โลก
แก๊ส CO2
ที่ระบายออก (เมตริกตัน/ปี) ๑๙.๕ ๑๕.๒ ๐.๘๑ ๔.๒
อำนาจซื้อ (ดอลล่าร์สหรัฐฯ) ๒๒,๑๓๐ ๑๙,๓๒๐ ๑,๑๕๐ ๓,๘๐๐
รถยนต์ (ต่อ ๑๐๐ คน) ๕๗ ๔๖ ๐.๒ ๑๐
ใช้กระดาษ (กิโลกรัม/ปี) ๓๑๗ ๒๔๗ ๒ ๔๔
ใช้พลังงานฟอสซิล
(จิ๊กกะจูลส์/ปี) ๒๘๗ ๒๕๐ ๕ ๕๖
ดึงน้ำสะอาดมาใช้
(ลูกบาศก์เมตร/ปี) ๑,๘๖๘ ๑,๖๘๘ ๖๑๒ ๖๔๔
รอยเท้านิเวศ (ไร่/คน
โดยประมาณ) ๓๑
ไร่ ๓ งาน ๒๖ ไร่ ๓
งาน ๒
ไร่ ๒ งาน ๑๑
ไร่ ๑ งาน
(ดัดแปลงจาก David Holtzman,
Ecological Footprints, Dollars and Sense, July/August 1999 ที่ http://www.igc.apc.org/dollars/1999/224holtzman.html
)
จากตารางข้างต้น พอสรุปได้ว่า :-
ชาติที่พัฒนาแล้วมีรอยเท้านิเวศใหญ่กว่าชาติที่ยากจนแม้จะมีประชากรน้อยกว่าก็ตาม
ทั้งนี้เพราะชาติที่พัฒนาแล้วใช้พื้นที่กับทรัพยากรของโลกอย่างมโหฬารเพื่อค้ำจุนความมั่งคั่งทางวัตถุ
ของคนชาติตน
จนเหลือเศษเดนให้ชาติยากจนที่อยากมีมาตรฐานการครองชีพแบบ พัฒนา
บ้างน้อยเหลือเกิน
รอยเท้านิเวศอันแตกต่างเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมเช่นนี้ดำรงอยู่ได้โดยอาศัยการขาดดุลนิเวศ
(ecological deficit) มหาศาลระหว่างชาติที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่เหลือของโลก
อาทินครแวนคูเว่อร์
รัฐบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดานั้นขาดดุลนิเวศกับโลกอย่างหนักเพราะ
ชาวเมืองนี้ดึงทรัพยากรจากระบบนิเวศมาใช้มากกว่าชาวโลกโดยเฉลี่ยถึง ๑๙ เท่า หมายความว่าเมืองแวนคูเว่อร์
ต้องใช้เนื้อที่พื้นผิวโลกราว ๑๙ เท่าของ ๔,๐๐๐
ตารางกิโลเมตรที่ตนมีอยู่จริงเพื่อค้ำจุนการผลิตอาหาร ผลิต ภัณฑ์ป่าไม้และพลังงานที่ตนบริโภคในหนึ่งปี ในทำนองเดียวกัน ชาวเนเธอร์แลนด์ก็ต้องใช้ที่ดิน ๑๕
เท่าของ ประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ป่าไม้และพลังงานของตน
พูดกันแบบขวานผ่าซากก็คือทุกวันนี้ใครก็ตามที่มีมาตรฐานการครองชีพดีพอควรแบบคนชั้นกลางล้วนกำลังหยิบเอาจากทรัพยากรโลกเกินสัดส่วนที่เป็นธรรมของตนทั้งนั้นไม่มากก็น้อย
- รวมทั้งกระผมด้วย
ต่อให้เราจ่ายราคา
ตลาด ที่ยุติธรรมเพื่อแลก อภิสิทธิ์
นั้นมาก็ตาม-มันก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงข้อนี้
ข้อน่าวิตกก็คือเมื่อชาติยากจนเริ่มมั่งมีขึ้น ก็จะบริโภคมากขึ้นและรอยเท้านิเวศใหญ่ขึ้น เมื่อมีเงินใช้
คล่องมือขึ้นก็ย่อมจะเกิดอุปสงค์มากขึ้นต่อบ้าน ถนนหนทาง
ศูนย์การค้า ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลผลักดันพื้นที่
ระบบนิเวศให้หลุดจากวงจรการผลิตโดยตรงมากขึ้นด้วย อาทิ แทนที่จะใช้ที่ดินปลูกข้าวเลี้ยงคนหรือธัญพืชเลี้ยง
สัตว์ ก็กลับเอาไปทำสนามกอล์ฟร่วม
๒๐๐ แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น
เกิดสภาพบรรดาไอ้ตีนโตเบ่งเบียดไอ้ตีนเล็ก
แถมรุมกันเหยียบโลกจนแหลกมุ่นไปหมด
จนกระทั่งว่าถ้าจะให้พลโลกทุกคนมีมาตรฐานรอยเท้านิเวศเท่าชาวอเมริกันหรือแคนาดาโดยเฉลี่ยทั่วไป
แล้ว ก็จะต้องไปหาโลกใหม่เพิ่มอีกใบสองใบถึงจะพอ
แล้วจะไปหาที่ไหน ?
ดวงจันทร์ ? ดาวอังคาร ?
อย่างไรก็ตาม
หากลองหยิบแนวคิด รอยเท้านิเวศ มามองประเด็นใกล้ตัวในบ้านเรา ก็อาจลองตั้งคำ ถามได้บ้างว่า
รอยเท้านิเวศของคนกรุงเทพฯ และหัวเมือง มีขนาดเท่าไหร่ ?
เทียบกับรอยเท้านิเวศของคนชนบท แล้ว
แตกต่างเหลื่อมล้ำกันหรือไม่เพียงใด ? กรุงเทพฯ
และเมืองทั่วประเทศขาดดุลนิเวศกับชนบทสักเท่าไร ?
สี่สิบปีของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ,
สิบปีของการวิ่งไล่กวดทางเศรษฐกิจในลู่แข่งโลกาภิวัตน์ , สามปีของวิกฤตเศรษฐกิจ การลดค่าเงินบาท
(หรือนัยหนึ่งการเพิ่มค่าดอลล่าร์ฯโดยเปรียบเทียบ) และการเลหลัง ประเทศไทยที่ผ่านมา
ได้ทำให้รอยเท้านิเวศและดุลทางนิเวศเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ ดีขึ้นหรือเลวลง
ระหว่างเมืองกับชนบทของไทย ?
และระหว่างเมืองไทยกับชาติที่พัฒนาแล้ว
?
โปรดลองไตร่ตรองดู