โนเอิล มัลคอม[1]
ในขณะที่ซามูเอล ฮันติงคิดว่าปัญหาการปะทะทางอารยธรรมจะเป็นปัญหาสำคัญที่ปรากฏขึ้นหลังการล่มสลายของสงครามเย็น ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่แตกกระจายกลายสภาพเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจำนวนมากถึง 15 รัฐ คือรัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กิซ มอลโดวา ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ยูเครน อุซเบกิสถาน เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เตอร์ติชสถาน คาซักสถาน จอร์เจีย เป็นต้น. คำพยากรณ์นี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างแพร่หลายในกระบวนการชาตินิยมใหม่ที่มีรากฐานมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม-อารยธรรม อาทิ ปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศอินโดนีเซีย, รัสเซีย, บอสเนีย, และยูโกสลาเวีย เป็นต้น. อย่างไรก็ตาม มีบางคนสงสัยว่า วิกฤตการณ์ในโคโซโวเมื่อปี ค.ศ. 1999 ที่ผ่านมานั้นเกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมจริงหรือ?
คนมักชอบพูดกันว่า วิกฤตการณ์ในยูโกสลาเวียมีจุดเริ่มต้นในโคโซโวและจะจบลงในโคโซโว นี่เป็นเรื่องหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันในช่วงทศวรรษ 1990 เห็นพ้องต้องกัน เพียงแต่ว่าไม่มีใครล่วงรู้แน่ชัดว่าเรื่องราวความขัดแย้งในโคโซโวจะจบลงอย่างไร. จุดหมายปลายทางสุดท้ายที่เป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการปกครองตัวเอง (Autonomy) หรือการแยกดินแดนเป็นรัฐเอกราชและมีอิสรภาพ, โดยที่วิถีทางที่จะบรรลุถึงเป้าหมายเหล่านั้นได้ก็มีตั้งแต่การเจรจาโดยสันติหรือการใช้การดื้อแพ่งของพลเรือน (civil disobedience) ในเวทีนานาชาติ, การต่อสู้ของพลเมืองด้วยความรุนแรง, หรือแม้กระทั่งการทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบ. อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายเห็นลงรอยกันว่า ปัญหาเรื่องโคโซโวเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่สุดในบรรดาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดในแหลมบอลข่าน. กล่าวได้ว่าพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงที่สุดในยุโรป และแน่นอนว่าจะเป็นที่ซึ่งถ้าหากมีสงครามปะทุขึ้นมาแล้ว การฆ่ากันและการทำลายล้างจะรุนแรงยิ่งกว่าที่อื่นใดในภูมิภาคนี้.
โดยทั่วไปในประเทศตะวันตก มีทัศนะที่แพร่หลายอันหนึ่งเกี่ยวกับสงครามในโครเอเชียและบอสเนีย ว่าเป็นปัญหาของความขัดแย้งในทางชาติพันธุ์ (ethnic conflict) ซึ่งถูกสร้างสมขึ้นมาโดยความเกลียดชังระหว่างชาติพันธุ์ในหมู่ผู้คนในพื้นที่ ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่คลุมเครือแต่ก็มีผลกระทบที่รุนแรง. แต่กล่าวได้ว่า วิธีการมองปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมาโดยแก่นแท้แล้วผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง (essentially false) เนื่องจากละเลยบทบาทของนักการเมือง อันเป็นเชื้อมูลรากเบื้องต้นของปัญหาความขัดแย้ง เพราะเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดก็คือ นักชาตินิยม-คอมมิวนิสต์ สัญชาติเซอร์เบีย ผู้มีนามว่า สโลโบดัน มิโลเซวิซ เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาในระดับทางการเมือง. นอกจากนี้ แท้จริงแล้ววิธีคิดที่ว่าปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดเป็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์นั้นได้เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า สงครามทั้งหมดไม่ได้ดำเนินไปโดยพลเรือนธรรมดาทั่วไป แต่ดำเนินไปโดยกองกำลังติดอาวุธที่มีการบังคับบัญชาจากเบื้องบน. ถ้าว่ากันตามบุคลิกลักษณะทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคแล้ว การพูดเกี่ยวกับเรื่องความเกลียดชังในทางชาติพันธุ์แต่อดีตโบราณกาล (Ancient ethnic hatred) เป็นเรื่องที่ หลงประเด็น อย่างมากๆ เนื่องจากมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสงครามทางชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์ยุคโบราณของบอสเนียหรือโครเอเชีย. ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างเกี่ยวกับชาติพันธุ์เป็นเรื่องซึ่งใหม่มากสำหรับคนในภูมิภาคนี้ และถูกผลิตขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ทางการเมือง (geopolitical condition) โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2. บางแง่มุมของความไร้เดียงสาในวิธีการมองปัญหาเหล่านี้สัมพันธ์อยู่กับประเด็นทางศาสนา ในขณะที่บางแง่มุมอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2; แต่กว่าที่รากฐานของอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาจะดำเนินไปสู่ความขัดแย้งในทางการทหาร, ค่ายกักกันนักโทษ, และการสังหารผู้คนพลเรือนจำนวนมากนั้นมันมีหนทางยาวไกล. การที่มีผู้นำทางการเมืองจะสามารถผลักไสให้ประชาชนต้องเดินไปบนหนทางนั้นก็ไม่ได้มีรากจากความแตกต่างและความเกลียดชังในหมู่ประชาชนเป็นตัวหลักที่ทำให้ผู้นำทางการเมืองของตนดำเนินนโยบายที่มุ่งประหัตประหารซึ่งกันและกัน.
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติเซิร์บกับอัลบาเนียนในโคโซโวตอนแรกสุดนั้นดูเหมือนกับว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อย่างแท้จริง, เพราะการแบ่งในระดับที่พื้นฐานที่สุดนั้นเป็นเรื่องชาติพันธุ์โดยตรง ซึ่งในเรื่องนี้แตกต่างกับปัญหาในบอสเนีย กล่าวคือ ชาวบอสเนียเป็นชนชาติสลาฟเหมือนกัน และพูดภาษาเดียวกัน แต่นับถือคนละศาสนาคือ คริสต์กับอิสลาม, ในขณะที่ชาวเซิร์บกับอัลบาเนียนมีความแตกต่างกันมากในเรื่องภาษา แล้วยังมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องความแตกต่างในทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องศาสนา. การแบ่งแยกระหว่างชาวเซิร์บกับอัลบาเนียนพอจะเทียบเคียงได้กับการแบ่งแยกระหว่างชาวคริสต์นิกายออโธดอกซ์ (Eastern Orthodox Christian) กับชาวมุสลิม, แต่ข้อยกเว้นในเรื่องนี้นั้นก็มีอยู่บ้างเหมือนกันในส่วนของชนกลุ่มน้อยกลุ่มเล็กๆ ชาวอัลบาเนียที่นับถือศาสนาคริตส์นิกายโรมันแคทธอริกกับชาวสลาฟที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มากก็น้อยที่จะสัมพันธ์อยู่กับชาวบอสเนียที่นับถือศาสนาอิสลาม. ด้วยความแตกต่างในเรื่องภาษาและศาสนานี้เองที่แบ่งผู้คน 2 กลุ่ม คือชาวเซิร์บกับชาวอัลบาเนียน ออกจากกัน ทำให้เงื่อนไขทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าจะดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความขัดแย้งระหว่างผู้คนสองเชื้อชาติ.
แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มตรวจสอบทั้งในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้และประวัติศาตร์ของโคโซโว, ความคิดที่ว่าความเกลียดชังในศาสนาและชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งในจิตวิญญาณของผู้คนก็เริ่มที่จะดูเหมือนว่าน่าเชื่อถือน้อยลงทุกที. ชาวอัลบาเนียนในโคโซโวในปัจจุบันเมื่อมองจากหลายๆ แง่มุมแล้วคือผู้คนซึ่งถูกปลุกเร้าในทางการเมือง โดยที่ศาสนาแทบจะไม่มีบทบาทแม้แต่น้อยในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว, เนื่องจากไม่มีกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของศาสนาอิสลามในหมู่ชาวอัลบาเนียน. ความตึงเครียดบางอย่างที่ปรากฏขึ้นระหว่างชาวอัลบาเนียนที่นับถือศาสนาคริตส์นิกายโรมันแคทธอริกกับชาวอัลบาเนียนที่นับถือศาสนาอิสลาม แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะถูกซ่อนเร้นจากการรับรู้ของสาธารณชน แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นความขัดแย้งในกลุ่มชาวอัลบาเนียนด้วยกันเอง แต่ก็ไม่เป็นเรื่องที่รุนแรงมากพอที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีหรือการร่วมมือทางการเมืองในหมู่ชาวอัลบาเนียน. ปัญหาของการที่ศาสนากลายเป็นตัวแปรสำคัญในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันนั้นกลับอยู่ที่ฝ่ายชาวคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ซึ่งมักจะใช้ถ้อยคำและวาทะศิลป์ทางศาสนามาสร้างความชอบธรรมในการปกป้องผลประโยชน์ อันศักดิ์สิทธิ์ ของชาวเซิร์บ ซึ่งถือได้ว่าตัวอย่างที่ดีของการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปลุกเร้าและระดมมวลชนเพื่อเป้าหมายทางอุดมการณ์บางอย่าง, เพราะถ้ามองกลับไปในอดีตของโคโซโวแล้วจะสามารถพบตัวอย่างจำนวนมากของการใช้ชีวิตอยู่ผสมร่วมกันมานานนมในชุมชนต่างศาสนาของชาวคริสต์นิกายออโธดอกซ์, นิกายโรมันคาทอริก, และชาวมุสลิม ตัวอย่างเช่น จารีตธรรมเนียมประเพณีของชาวมุสลิมอัลบาเนียนในการเป็น ผู้พิทักษ์รักษา ศาสนสถานที่สำคัญของศาสนาคริตส์นิกายออโธดอกซ์. อย่างไรก็ตาม ได้มีตัวอย่างจำนวนมากของการกดขี่ข่มเหงชาวคริสต์โดยเจ้าผู้ครองชาวอัลบาเนียนที่เป็นมุสลิมและบรรดาสาวก และความยึดมั่นถือมั่นในทางศาสนาจึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้ง, แต่กล่าวโดยทั่วไปแล้วปัญหาของความขัดแย้งเป็นเรื่องของความขัดแย้งในทางสังคมการเมือง รวมทั้งการใช้และบิดเบือนอำนาจของผู้มีอำนาจในทางการเมืองระดับท้องถิ่นเพื่อผลประโยชน์ด้านเงินทองของตน.
ในฐานะที่กล่าวกันว่าเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานของความขัดแย้งในทางชาติพันธุ์ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด, เนื่องจากสงครามและการต่อสู้จำนวนมากในโคโซโวในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งในทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวอัลบาเนียนกับชาวเซิร์บมาก่อนจนกระทั่งในช่วงราวร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง. ย่อมแน่นอนว่า ชนชาติทั้ง 2 กลุ่มเคยต่อสู้ประหัตประหารซึ่งกันและกันในฐานะที่เป็นพันธมิตรของแต่ละฝ่ายในศึกโคโซโวเมื่อปี ค.ศ. 1389 ซึ่งเป็นสงครามระหว่างเจ้าชายราซาร์ (Prince Lazar) กับกลุ่มของสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน (มุสลิม), แต่ประมาณอีก 300 ปีหลังจากนั้นเมื่อกองทัพของอาณาจักรออสเตรียบุกโคโซโวนั้น ทั้งชาวเซิร์บและชาวอัลบาเนียน (รวมทั้งพวกอัลบาเนียนที่เป็นมุสลิมด้วย) ก็ได้พากันร่วมมือต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองของอาณาจักรออตโตมัน, และความร่วมมือกันต่อสู้ศัตรูครั้งนี้ได้สร้างปัญหาอันยุ่งยากแก่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในการที่จะแบ่งแยกระหว่างชาวเซิร์บกับชาวอัลบาเนียนเมื่อต้องมานั่งวิเคราะห์เอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้. นอกจากนี้ การกบฎในเวลาต่อมาเพื่อที่จะสนับสนุนการบุกเข้ามาของชาวออสเตรียนในปี ค.ศ. 1737 ก็เป็นผลงานความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาวอัลบาเนียนและชาวสลาฟที่มาจากแถบเทือกเขาตอนเหนือของอัลบาเนียและมอนเตเนโกรในปัจจุบัน, เนื่องจากชาวสลาฟและอัลบาเนียแถบเทือกเขาเหล่านั้นได้มีธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานในเรื่องความร่วมมือและแต่งงานระหว่างกัน และแม้กระทั่งมีตำนานเกี่ยวกับบรรพบุรุษร่วมกัน. ในเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาในโคโซโว การแบ่งแยกในทางชาติพันธุ์ระหว่างเซิร์บกับอัลบาเนียนไม่เคยมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน และมีการผสมผสานกันทั้งในเรื่องชาติพันธุ์และทางภาษา รวมทั้งการมีวิถีชีวิตร่วมกัน, จนกระทั่งเมื่อนักล่าอาณานิคมชาวเซอร์เบียเข้ามาในโคโซโวเมื่อทศวรรษ 1920 ก็ยังรู้สึกว่าชาวเซิร์บที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในโคโซโวมานานนั้นแทบจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขาชาวเซิร์บในเซอร์เบียในเรื่องวิถีการปฏิบัติต่างๆ พอกันกับความแตกต่างระหว่างพวกต่างด้าวชาวอัลบาเนียนแตกต่างกับชาวเซิร์บ.
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าโคโซโวจะเคยเป็น wonderland ดินแดนในฝันแห่งขันติธรรมระหว่างกลุ่มคนสองเชื้อชาติ, เนื่องจากมีเงื่อนไขหลายประการของประวัติศาสตร์โคโซโวที่ทำให้แดนดินแห่งนี้ห่างไกลจากยุคพระศรีอาริย์ (utopian). ปัญหาความผิดพลาดและคนที่จะถูกประณามมากที่สุดคือพวกผู้ปกครองท้องถิ่นชาวอัลบาเนียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งมักจะเห็นว่าทรัพย์สินของชาวนาที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นสิ่งที่พวกเขาจะหยิบฉวยไปเมื่อไรก็ได้, แต่การขูดรีดแบบนี้ไม่ได้มีรากฐานมาจากความแตกต่างทางศาสนาหรือชาติพันธุ์ เพราะแม้กระทั่งชาวนาอัลบาเนียนที่เป็นมุสลิมก็ประสบชะตากรรมที่น่าเศร้าสลดที่ไม่ได้แตกต่างกัน. สิ่งที่ผลักดันให้การแบ่งแยกระหว่างชาวเซิร์บที่นับถือคริสต์นิกายออโธดอกซ์กับชาวอัลบาเนียนมุสลิมไปสู่ความขัดแย้งกันทั่วไปและเป็นระบบขึ้นก็คือการทำให้เรื่องศาสนาและชาติพันธุ์กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา อันเป็นปัญหาที่เกิดในช่วงแห่งการเติบโตและขยายอำนาจของรัฐชาวสลาฟที่นับถือศาสนาคริสต์ในแหลมบอลข่าน.
กล่าวได้ว่าเป็นอุดมการณ์ของชาวเซอร์เบียในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่างหากที่สร้างความเชื่อเกี่ยวกับสงครามโคโซโวในยุคกลางในฐานะที่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณที่ช่วยกำหนดความเป็นชาติของตน (nationally-defining historical and spiritual event) ให้กลับฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งต่างหาก, และบทบาทในทางการเมืองของมหาอำนาจอย่างรัสเซียผ่านทางกงสุลของตนในเมืองพริสตินาหรือเมืองมิโตรวิคาต่างหากที่สร้างบรรยากาศใหม่ๆ ของความระแวงสงสัยและความเป็นศัตรูต่อกันให้แก่ชาวอัลบาเนียน. นอกจากนี้ สงครามไครเมีย (ค.ศ. 1853-1856) ระหว่างจักรวรรดิออตโตมันกับรัสเซียต่างหากที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัสเซีย และต่อต้านศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ขึ้นมาในโคโซโว และสร้างความร้าวฉานให้กับความสัมพันธ์ระหว่างอัลบาเนียนกับเซิร์บในโคโซโว. นอกจากนี้ การขับไล่ชาวอัลบาเนียนและชาวมุสลิมอื่นๆ ออกไปจากพื้นที่ซึ่งถูกพิชิตโดยเซอร์เบียและมอนเตรเนโกรในปี ค.ศ. 1877-1878 ทำให้ชาวอัลบาเนียนในโคโซโวเชื่อว่าประเทศเซอร์เบียและชาวเซิร์บในโคโซโว ซึ่งถูกอ้างว่าเป็น พลเมืองของเซอร์เบียที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย (unredeemed) กำลังรุกล้ำต่อการดำรงอยู่ของตน. เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด นโยบายที่กำหนดลงมาจากเบื้องบนของรัฐบาลเซอร์เบียและมอนเตนิโกรตั้งแต่ช่วงแรกของการพิชิตโคโซโวในปี ค.ศ. 1912 ต่างหากที่ได้สร้างความเกลียดชังและความเป็นศัตรูขึ้นอย่างเป็นระบบในระดับที่ภูมิภาคนี้ไม่เคยมีมาก่อน. ถ้ามองจากมุมของชาวอัลเบอร์เนียนแล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับจากการกำหนดกฎเกณฑ์โดยชาวเซอร์เบียและมอนเตรเนโกร (ซึ่งต่อมาถูกทำให้กลายเป็นกฎเกณฑ์ของชนชาวยูโกสลาฟในปี ค.ศ. 1918) ก็คือสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่คนอื่นๆ ที่ถูกพิชิตและถูกล่าเป็นอาณานิคมเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์ ในลักษณะเดียวกับที่ชาวอัลจีเรียนมุสลิมต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส, หรือชาวเชเชนมุสลิมในเอเชียกลางต้องตกอยู่ภายใต้อุ้งอำนาจของชาวรัสเซีย. กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์ของโคโซโวในช่วงนี้เปรียบได้อย่างเหมาะสมกับแบบแผนของประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม เพราะมีแผนการที่ชัดเจนในการส่งผู้ปกครองอาณานิคม (Colonialists) ชาวเซิร์บเข้าไปปกครองโคโซโวตลอดช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กับสงครามโลกครั้งที่ 2.
แต่ถ้ามองจากสายตาของชาวเซอร์เบีย สิ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1912 จำเป็นจะต้องเข้าใจด้วยความคิดที่แตกต่างออกไป, เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้คือ ยอดตัวอย่าง ของสงครามปลดปล่อยประชาชนที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองและตกเป็นเชลย (คือชาวเซิร์บในโคโซโว) ของมหาอำนาจจักรวรรดิต่างด้าวชาวเติร์กมุสลิม. แน่นอนว่า มันมีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกรณีของโคโซโวกับกรณีของดินแดนแบบอัลจีเรีย เพราะในกรณีอัลจีเรียนั้นไม่มีประวัติศาสตร์อันสืบเนื่องใดๆ ว่าเคยมีชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในอัลจีเรียที่พอจะทำให้ฝรั่งเศสสามารถสืบค้นถอยหลังขึ้นไปค้นหาอาณาจักรฝรั่งเศสในยุคกลางในดินแดนอัลจีเรียได้. ปัญหาของโคโซโวก็คือ คำอธิบายทางประวัติศาสตร์ทั้งสองวิธีที่เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งนี้นั้นต่างก็จริงพอๆ กัน ระหว่างประวัติศาสตร์แห่งการล่าอาณานิคมโดยชาวเซิร์บในทัศนะของชาวอัลบาเนียน และคือประวัติศาสตร์แห่งการปลดปล่อยจากมหาอำนาจต่างศาสนาในมุมมองของชาวเซิร์บ. แต่ความจริงอันโหดร้ายที่ชาวอัลบาเนียนกำลังประสบกับการไล่ล่าประหัตประหารโดยชาวเซิร์บนั้นมีฐานะเป็นจริงพื้นๆ ที่สำคัญมากกว่าความจริงที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าทั้งสองข้างต้นนี้บนพื้นฐานความจริงง่ายๆ ที่ว่าชาวอัลบาเนียนคือประชากรส่วนใหญ่ของโคโซโวในเวลาที่โคโซโวถูกพิชิตโดยเซอร์เบียและมอนเตรเนโกรเมื่อปี ค.ศ. 1912, แต่การที่จะลดฐานะคำอธิบายของชาวเซิร์บว่าคือนี่เป็นสงครามแห่งการปลดปล่อยให้มีน้ำหนักเป็นรองลงมานั้นก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการปฏิเสธคำอธิบายนี้ไปโดยสิ้นเชิง.
ช่วงนั้นรัฐบาลเซอร์เบียพยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการเขียนประวัติศาสตร์แห่งการปลดปล่อยจนทำให้กลายเป็นการตีความประวัติศาสตร์กระแสหลัก. ในบันทึกช่วยจำที่รัฐบาลกรุงเบลเกรดแห่งเซอร์เบียส่งไปให้กับประเทศมหาอำนาจในช่วงต้นปี ค.ศ. 1913 ได้อ้างความชอบธรรม 3 ประการที่ทำให้ชาวเซอร์เบียควรจะเข้าไปครอบครองโคโซโว คือ 1)สิทธิทางศีลธรรมของคนที่เจริญกว่า (The moral right of a more civilized people), 2)สิทธิตามประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของสังฆบิดร (Patriarchate buildings) ของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ของชาวเซิร์บ และสิทธิเหนือพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเซอร์เบียในยุคกลาง, และ 3)สิทธิทางชาติพันธุ์ซึ่งวางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอดีตนั้นโคโซโวเคยมีพลเมืองชาวเซิร์บเป็นประชากรโดยส่วนใหญ่ อันเป็นสิทธิซึ่งไม่มีผลกระทบจากการเพิ่งบุกเข้ามาหมาดๆ ไม่นานนัก (recent invasion) ของชาวอัลบาเนียน.
ข้ออ้างทั้ง 3 ประการนั้น ข้อแรกถูกทำให้ไร้ความหมายไปอย่างรวดเร็วโดยพฤติกรรมแห่งอำนาจการปกครองของชาวเซอร์เบียในโคโซโว, ส่วนข้อที่ 2 แบ่งออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนแรกสัมพันธ์อยู่กับคริสต์ศาสนาจักรนิกายออโธดอกซ์ของชาวเซอร์เบีย และอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับอาณาจักรในยุคกลางที่ยังคงเป็นที่อ้างกันอยู่ในทุกวันนี้ว่าโคโซโวคือ เยรูซาเล็มของชาวเซิร์บ. แต่คำกล่าวอ้างข้อที่ 2 ในส่วนแรกนั้นเป็นสิ่งซึ่งโอ้อวดเกินจริงอยู่สักหน่อย เพราะในทางเทววิทยาของศาสนาคริสต์นั้นไม่มีสิ่งซึ่งเรียกว่า ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ (holy place) ที่จะมีบทบาทเทียบเคียงได้เท่ากับกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็น ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ในทางเทววิทยาของศาสนายิว. ยิ่งกว่านั้น สถานที่ตั้งของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ของชาวเซอร์เบียก็ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในโคโซโว เพียงแต่ถูกย้ายเข้ามาในโคโซโวหลังจากที่ที่ตั้งเดิมซึ่งอยู่ในตอนกลางของเซอร์เบียถูกเผาผลาญลง. นอกจากนี้องค์สังฆบิดรก็ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ความเป็นสถาบันที่ต่อเนื่อง แต่เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยรัฐยูโกสลาฟยุคใหม่ในปี ค.ศ. 1920 ภายหลังจากที่สิ้นสูญไปเป็นเวลานานถึง 154 ปี, และภายหลังจากที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่แล้วในปี ค.ศ. 1920 องค์สังฆบิดรก็มักจะพำนักอยู่ในกรุงเบลเกรดเป็นส่วนใหญ่. ส่วนเรื่องอาณาจักรเซอร์เบียที่เป็นรัฐในยุคกลางนั้นก็ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดอยู่ในดินแดนโคโซโว หากแต่ตั้งอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าราสซิอา (Rascia) อันเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่เลยจากพรมแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโคโซโว, นอกจากนี้วัดและโบสถ์ที่สำคัญในช่วงต้นยุคกลางของอาณาจักรเซอร์เบียส่วนใหญ่ก็ถูกสร้างขึ้นนอกพื้นที่ของโคโซโว. อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิเสธหลักในที่นี้ก็คือว่ามันเป็นเรื่องที่ ไร้สติ ที่จะกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของในทางการเมืองยุคใหม่บนพื้นฐานของราชอาณาจักรหรือจักรวรรดิที่ล่มสลายไปในอดีตกาลเหมือนอยู่ในตำนานที่นานมาแล้ว. ข้อปฏิเสธนี้เป็นประเด็นที่พื้นๆ มาก แต่ก็เป็นเหตุผลซึ่งผู้คนในแหลมบอลข่านบางครั้งพบว่ามันสะดวกใจที่จะหลงลืมและละเลยเสีย.
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวอ้างในข้อที่ 3 ที่เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์นั้นเป็นข้อซึ่งถูกทำให้มีความซับซ้อนยุ่งเหยิงมากที่สุดในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโคโซโว. เพราะเมื่อกลับไปมองงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่ผลิตขึ้นภูมิภาคนี้แล้ว เราอาจจะคิดว่างานเขียนเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์คือหัวข้อและประเด็นที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวของประวัติศาสตร์โคโซโว. นักเขียนนักประวัติศาสตร์ชาวอัลบาเนียนรุ่นใหม่ๆ บางคนกล่าวอ้างอย่างไม่ค่อยน่าเชื่อถือว่า ชาวอัลบาเนียนคือประชากรส่วนใหญ่ในโคโซโวมาโดยตลอด แม้กระทั่งในสมัยของราชอาณาจักรเซอร์เบียยุคกลาง, ส่วนชาวเซิร์บจำนวนมากเชื่ออย่างผิดๆ พอกันว่าไม่เคยมีชาวอัลบาเนียนอาศัยอยู่ในโคโซโวเลยก่อนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อนการเข้ามาของจักรรวรรดิออตโตมัน และถึงมีตำนาน (Myth) อันหนึ่งเกี่ยวกับผู้คนในประวัติศาสตร์ซึ่งเคยมีอิทธิพลอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ว่าชาวอัลบาเนียนส่วนใหญ่ในโคโซโวนั้นแท้ที่จริงเป็นชาวสลาฟ บนพื้นฐานความจริงรองรับที่ว่าตัวตนและเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์มักจะเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้ระดับหนึ่ง. แต่การกล่าวอ้างตำนานเพื่อบอกว่า ชาวอัลบาเนียนคือชาวสลาฟมาแต่เดิมจึงเป็นสิ่งซึ่งปราศจากหลักฐานในทางประวัติศาสตร์มารองรับ. ตำนานอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการอพยพครั้งใหญ่ (Great migration) ของชาวเซิร์บในปี ค.ศ.1690 นั้นก่อให้เกิดช่องว่างของประชากร (คือดินแดนโคโซโวถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าปราศจากผู้คน) พร้อมกับในจังหวะเดียวกันพื้นที่ว่างเปล่าก็ถูกเติมเต็มจากการท่วมทะลักเข้ามาของกระแสคนต่างด้าวชาวอัลบาเนียนที่อพยพมาจากนอกโคโซโวอย่างทันทีทันใด. หากศึกษาหลักฐานเหล่านี้อย่างพินิจพิเคราะห์ขึ้นจะทำให้ทราบว่า แม้ว่าจะเกิดความหายนะจากสงครามร้ายแรงในปี ค.ศ. 1690 อันส่งผลสะเทือนต่อผู้คนทุกหมู่เหล่าก็จริง แต่เรื่องการอพยพครั้งใหญ่เป็นเพียงเรื่องที่เพ้อฝันมีสีสันเกินจริง (fanciful), เนื่องจากเอกสารทางประวัติศาสตร์บอกว่าในขณะที่มีการไหลทะลักอย่างสม่ำเสมอของชาวอัลบาเนียนจากภาคเหนือของอัลบาเนียในปัจจุบันเข้ามาในโคโซโว แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรชาวอัลบาเนียนขึ้นเป็นจำนวนมากในโคโซโวนั้นเกิดจากการขยายตัวของประชากรชาวอัลบาเนียนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในโคโซโวเองต่างหาก.
ในขณะที่บอสเนียมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ และมีตัวตนในทางการเมืองที่ดำรงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคกลาง คือ ในฐานะที่เป็นหน่วยการปกครองหนึ่งในจักรวรรดิออตโตมัน, อาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี, และในรัฐยูโกสลาเวีย แต่โคโซโวกลับไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนั้น. แม้ว่าจะมีเขตเก็บภาษีแห่ง Prizren มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1868 และเขตเก็บภาษีโคโซโวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 เป็นต้นมา, แต่ในเขตเก็บภาษีมีรูปร่างบนแผนที่ที่แตกต่างจากโคโซโวในปัจจุบันอย่างมาก. นอกจากนี้ ก่อนจะถึงยุคที่ถูกจัดตั้งให้เป็นเขตเก็บภาษีนั้นโคโซโวก็เคยถูกแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยในการบริหารควบคุมของจักรวรรดิออตโตมันหลายแห่ง. ข้อเท็จจริงนี้บางครั้งก็ถูกนำเสนออย่างผิดๆ โดยผู้แทนของชาวอัลบาเนียนในกรณีบันทึกช่วยจำของตัวแทนชาวโคซาวา (คำที่ใช้เรียก ชาวอัลบาเนียนในโคโซโว) ที่เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยยูโกสลาเวียในเดือนกันยายน ค.ศ. 1992 ที่ย้ำเน้นว่าโคโซโว ได้ดำรงตนเป็นอิสระมาตั้งแต่อดีตกาล (has been an autonomous entity since ancient times).
ในอีกด้านหนึ่ง เซอร์เบียเองก็ไม่ได้มีประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องด้วยเหมือนกัน, เพราะเป็นเวลาหลายร้อยปีที่โคโซโวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย เหตุผลหลักนั้นเนื่องมาจากการที่ไม่มีรัฐเซอร์เบียที่จะให้เป็นส่วนหนึ่ง เพราะเกือบตลอดช่วงการรุ่งเรืองอำนาจของอาณาจักรออกโตมันอันยาวนาน รัฐเซอร์เบียไม่ได้ปรากฏและดำรงอยู่อย่างมีตัวตนในทางการเมืองเลย. ในความเป็นจริง (de facto) แล้วโคโซโวถูกผนวกเข้ากับรัฐเซอร์เบียในปี ค.ศ.1912 ก็โดยอาศัยเรี่ยวแรงจากความทรงจำที่ยังเต้นเร่ามีชีวิตชีวาอยู่เท่านั้น, แต่ในทางกฎหมาย (de jure) แล้วโคโซโวก็ไม่เคยถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรเซอร์เบียอีกเลย เพราะไม่มีอาณาจักรเซอร์เบียให้ถูกผนวกอีกแล้ว จนกระทั่งการล่มสลายของยูโกสลาเวียในช่วงหลังสงครามเย็นมานี่เอง.
[1] เนื้อหาส่วนนี้ ทวีศักดิ์ เผือกสม แปลและเรียบเรียงเก็บความจากบทนำของ
Noel Malcolm, Kosovo: A Short
History (London:
Macmillan, 1998) ด้วยความช่วยเหลือของคุณรจเรศ ณรงค์ราช.