“ชาติ”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, ๒๔ พ.ย. ๒๕๔๓, น.๖

ถ้าจะ "กู้วิกฤตชาติ" ก็ต้องนึกถึง "ชาติ" ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียง "กู" หรือ "พวกกู"

ในสามสถาบันหลัก คนไทยเคยชินกับสถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์ เพราะเคยอยู่ร่วมกับสถาบันทั้งสองนี้มายาวนานในประวัติศาสตร์ ฉะนั้นจึงสามารถใส่เนื้อหาของสถาบันทั้งสองนี้ได้มากมาย แต่ "ชาติ" เป็นสถาบันที่เพิ่งเกิดหลังสุด (และมีอายุไม่นานมานี้เอง)

เนื้อหาของสถาบัน "ชาติ" ในทรรศนะของคนไทยจึงออกจะกลวง เป็นสถาบันที่ต้องยกย่องเชิดชู แต่ไม่มีเนื้อหาให้ยกย่องเชิดชู นอกจากสัญลักษณ์ เช่น ธงชาติ เพลงชาติ หรือแผนที่รูปขวานโบราณ ร้ายไปกว่านั้นหากพยายามใส่เนื้อหาทางวัฒนธรรมลงไปให้มากกว่านี้ กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งก็ได้

เช่นชุดแต่งกายประจำชาติกีดกันชาวเขาออกไปจาก "ชาติ" ทันทีหลายแสนคน สำเนียงภาษา "มาตรฐาน" ของชาติ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่พูดไม่ชัดโดยอัตโนมัติ หรือถ้าเพลงไทย "เดิม" คือดนตรีประจำชาติก็ทำให้คนเหนือและคนอีสานกลายเป็นอนารยชนไปในทันที ฯลฯ

อาจเป็นด้วยความกลวงหรือความเบลอของ "ชาติ" เช่นนี้ก็ได้ "ชาติ" จึงถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่มมากที่สุด

ในยามวิกฤตของชาติ เป็นโอกาสอันดีที่เราจะบรรจุความกลางของชาติลงด้วยเนื้อหาที่ชัดเจน ไม่แต่เพียงชัดเจนเท่านั้น ยังต้องเป็นเนื้อหาที่รวมคนในชาติเข้าหากันอย่างเท่าเทียม และไม่มีลักษณะกีดกันแบ่งแยกหรือเอียงข้างเข้าหาคนกลุ่มใดเป็นพิเศษด้วย

อันที่จริง ยามวิกฤตของชาติไม่ใช่เป็นโอกาสอันดีเท่านั้นที่จะทำเช่นนี้ แต่เป็นความจำเป็นเลยทีเดียว มิฉะนั้นแล้ว การกู้วิกฤตก็จะกลายเป็นการแก้ปัญหาให้เฉพาะคนบางกลุ่มซึ่งได้เปรียบอยู่แล้ว และการขับเคลื่อนสังคมทั้งหมดให้เข้ามาร่วมกันในการกู้วิกฤตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าสังคมทั้งหมดไม่เคลื่อนเข้ามากู้วิกฤตด้วยตนเอง ในที่สุดการกู้วิกฤตก็ตกเป็นภาระของเทวดาในทีมเศรษฐกิจชื่อประหลาดต่างๆ ซึ่งพิสูจน์มาหลายทีมแล้วว่าล้มเหลว

จะเป็นชาติได้ ต้องมีทั้งรัฐและสังคมอยู่ด้วยกัน มีแต่รัฐอย่างเดียว ชาติก็เป็นเพียงข้ออ้างสำหรับให้ความชอบธรรมแก่กลุ่มคนที่ยึดอำนาจรัฐ (ด้วยอาวุธหรือหีบบัตรเลือกตั้ง) เพื่อเอาเปรียบผู้อื่นเท่านั้น

เนื้อหาของชาติ ที่จะทำให้ชาติเป็นสมบัติของทุกคนได้จริง ย่อมประกอบด้วยสามส่วน คือประชาชน เสรีภาพ และความยุติธรรม การยกย่องเชิดชูชาติคือการยกย่องเชิดชูประชาชน เสรีภาพ และความยุติธรรม

สื่อเน้นมาตรการทางเศรษฐกิจของ "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" เพียงด้านเดียว กล่าวคือในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" เสนอให้ถอยกลับไปสู่สถานะความสัมพันธ์ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ในด้านการเปิดเสรีทางการค้า "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤติชาติ" เสนอให้ถอยกลับไปสู่จุดที่เรายังไม่เปิดเสรีในภาคบริการเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพื่อกลับมาตั้งตัว ทำความเข้มแข็งภายในให้เกิดขึ้นเสียก่อน

ในกระบวนการทำความเข้มแข็งภายในนั้น "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" ไม่ได้หมายความแต่เพียง การรื้อระบบการจัดการด้านการเงินการคลังเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการรื้อระบบการจัดการด้านทรัพยากร การแก้ปัญหาความยากจน การสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสใช้ความสามารถของตนจนถึงขีดสุดที่มีอยู่จริง ดังที่ท่านประธานแถลงข่าวในวันนั้น คือท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ได้ยกตัวอย่างความสามารถของประชาชนในท้องถิ่นที่สามารถต้มเหล้าได้เอง แต่ความสามารถนี้กลับถูกริบเอาไปสังเวยผลประโยชน์ของรัฐและเศรษฐีเพียงสองสามคน เป็นต้น ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้สื่อเกือบไม่พูดถึงเลย ทั้งนี้เพราะ "วิกฤต" ที่เกิดขึ้นในชาติขณะนี้ ถูกรัฐและสื่อบิดเบือนให้เห็นว่าเป็นวิกฤตของค่าเงิน ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และภาวะชะงักงันของความจำเริญทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ "ยุทธศาสตร์วิกฤตชาติ" ได้ชี้ให้เห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า อันที่จริงคนอื่นๆ นอกจากกลุ่มนักธุรกิจและคนชั้นกลางในเมือง ได้เผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจมานานก่อนหน้านี้เป็นสิบปีแล้ว โดยเฉพาะคนจนและคนไร้อำนาจ

แต่ถ้าความหมายของ "ชาติ" ไม่รวมประชาชนในระดับล่างเหล่านั้นเอาไว้ "ชาติ" ก็ไม่มีวิกฤต และเมื่อมีวิกฤตก็อาจแก้ได้ด้วยการรับเงื่อนไขที่ทุนโลกบังคับลงอย่างใดก็ได้ เพียงเพื่อจะทำให้คนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นเจ้าของชาติได้รอดพ้นจากวิกฤตในชีวิตของ "กู" ไปเท่านั้น

เหตุดังนั้น ข้อเสนอให้ถอยกลับของ "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" จึงจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ถ้าไม่รวมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของชาติคือประชาชน เสรีภาพและความยุติธรรมไว้ด้วย

ถ้าความจำเริญของชาติหมายถึงการจัดการทรัพยากรที่ริบและแย่งเอาทรัพยากรที่คนส่วนใหญ่ใช้อยู่ เพื่อนำมาบำเรออุตสาหกรรมและธุรกิจส่งออก ชาติจะไม่มีความหมายถึงประชาชนได้อย่างไร เสรีภาพที่ผู้คนจะเลือกดำเนินวิถีชีวิตของตนตามที่ตัวถนัดและเข้มแข็งที่สุดอยู่ที่ไหน และการเบียดเบียนคนเล็กคนน้อยเพียงเพราะเขาไม่มีอำนาจต่อรองจะหมายถึงความยุติธรรมได้อย่างไร

คนที่ปากมูลถูกลิดรอนเสรีภาพในการเลือกวิถีตนเองมานับสิบปี ไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐด้วยประการทั้งปวงสืบเนื่องมายาวนาน นี่คือวิกฤตของชาติซึ่งทำให้เราอ่อนแอจนไร้อำนาจต่อรองในเวทีโลก "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" จึงหมายถึงการปรับเปลี่ยนภายในเพื่อประชาชน เสรีภาพ และความยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การถอยกลับมาอยู่ในจุดที่เราไม่เสียเปรียบแก่ทุนโลก ไม่ได้มีความหมายจำกัดแต่เพียงการลดทอนกำลังของธนาคารต่างชาติ บริษัทเทสโก้ และทุนต่างชาติอื่นๆ เท่านั้น แม้ในจุดที่เราถอยกลับมาตรงนั้นก็มีความไม่ยุติธรรมซึ่งบั่นทอนพลังภายในสังคมเราเองอย่างไพศาล จำเป็นปรับแก้ระบบภายในของเราเพื่อเสริมสร้างพลังงานชาติหรือประชาชน เพื่อเผชิญกับโลกาภิวัตน์กันได้อย่างเข้มแข็งโดยทั่วหน้ากัน

การถอยกลับไม่ได้หมายถึง การแย่งเอาโลตัสกลับคืนให้แก่ซีพีหรือบิ๊กซีให้แก่ เซ็นทรัล แต่ต้องหมายถึงการเปิดโอกาสให้ร้านชำซิ่งเป็นช่องทางทำมาหากินของคนไทยหลายแสนครอบครัวอยู่ได้ตามควรแก่อัตภาพด้วย

การปฏิเสธทุนโลกาภิวัตน์ไม่ได้หมายถึงการยอมรับทุนอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นทุนประเภทใดในสองประเภทนี้ ล้วนแต่กดขี่ขูดรีดคนส่วนใหญ่ รอนเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ และซื้อเอาความยุติธรรมไปเป็นของตนแต่ผู้เดียวเหมือนกันหมด ความแตกต่างระหว่างนายทุนภายในกับนายทุนต่างชาติในแง่สวัสดิภาพของประชาชน เสรีภาพ และความยุติธรรมนั้นเท่ากับศูนย์ คือไม่มีเหมือนกัน

ในแง่นี้ต่างหากที่เราต้องการรัฐที่เข้มแข็ง แต่ไม่ใช่รัฐที่จะเข้าไปเก็บค่าต๋งจากธุรกิจเอกชน หากเป็นรัฐที่เข้มแข็งเพื่อจุดมุ่งหมายสองประการ คือหนึ่งประกันว่าการแข่งขันของภาคเอกชนภายในจะเป็นไปโดยเปิดเผยและเท่าเทียมกัน และสองประกันว่าคนอ่อนแอจะมีโอกาสได้แข่งขันโดยมีพลังเท่ากับคนอื่น โดยการให้แต้มต่อ หรือโดยปกป้องเขาจากการคุกคามของพลังตลาดเสรี

นี่คือเหตุผลที่ "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" ย้ำแล้วย้ำอีกว่า รัฐที่ไม่มีสังคมก็กู้วิกฤตไม่ได้ และสังคมที่ไม่มีรัฐก็กู้วิกฤตไม่ได้เช่นกัน ชาติจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการกู้วิกฤต เพราะชาติที่แท้จริงต้องเป็นทั้งรัฐและเป็นทั้งสังคม

สื่อให้ความสำคัญแก่ส่วนนี้ของ "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ" น้อยเกินไป จึงยิ่งไปตอกย้ำการกู้วิกฤตในเชิงเทคนิค อย่างที่ได้ทำกันมาและล้มเหลวกันไป

ปราศจากข้อคิดและข้อเสนอจำนวนมาก จากภาคประชาชนหลายๆ กลุ่ม ในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งภายใน เพื่อประชาชน เสรีภาพ และความยุติธรรมแล้ว การปรับความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับทุนโลกเพียงอย่างเดียวจะไม่อาจกู้วิกฤตของชาติได้ และสังคมทั้งหมดก็จะไม่รวมพลังเข้ามาร่วมแก้วิกฤตซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของ "ยุทธศาสตร์กู้วิกฤตชาติ"

 

Back