การเมืองภาคพลเมืองกับอธิปไตยของปวงชน
คำปราศรัยสาธารณะ
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
เนื่องในโอกาสการประชุมระดมปัญญาหาทางออกจากวิกฤตการเมือง
วันที่
30 กรกฎาคม 2543 หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มิตรสหายและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
การที่พวกเรามาประชุมกันในวันนี้
นับเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งสำหรับระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย....เป็นเวลานานเกินไปแล้วที่ประชาชนได้ปล่อยปละละเลยให้กิจการบ้านเมืองตกอยู่ในมือของนักการเมืองอาชีพเพียงไม่กี่พันคน....จนเกิดการผิดพลาดขึ้นหลายประการ
ทั้งในระดับนโยบายของรัฐ และการใช้อำนาจดูแลทุกข์สุขของสังคม
วิกฤตทางเศรษฐกิจ การเมือง
และวิกฤตทางปัญญาที่คลี่คลุมประเทศของเราอยู่ทุกวันนี้...ใช่หรือไม่ว่าเป็นผลมาจากการที่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมา...สังคมไทยมีควมเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงว่าลำพังการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวก็นับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว
กระทั่งเกิดอุปทานว่าอธิปไตยของปวงชนสามารถแสดงออกได้เพียงวิธีเดียว...คือการหย่อนบัตรลงคะแนน
แน่นอน
ความเข้าใจผิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความเฉื่อยเนือยทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น...หากยังเกิดจากความจงใจสร้างกระแสครอบงำให้ทั่วทั้งประเทศหลงคิดไปในทิศนี้โดยบรรดาผู้ที่อยู่ในวงจรอำนาจ...เพื่อว่าพวกเขาจะได้สามารถเล่นการเมืองกันได้โดยไม่มีพลังของประชาชนมาคอยตรวจสอบโต้แย้ง....สามารถจัดสรรพลผลประโยชน์ที่สำคัญต่างๆได้
โดยประชาชนไม่ต้องมีส่วนร่วมรู้เห็น อย่าว่าแต่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ท้ายที่สุดประชาชนก็กลายเป็นเพียงประโยคอ้างอิงของผู้ปกครองประเทศ...และถูกขับต้อนให้ตกอยู่ในสภาพทำอะไรไม่ได้โดยสิ้นเชิง...หากไม่ชอบรัฐบาลนี้ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่...และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือทางเลือกของประชาชนได้ถูกย่อส่วนลงมาให้เหลือแค่การเลือกพรรคการเมืองและหัวหน้าพรรคการเมืองสองสามคน...
ซึ่งโดยแก่นแท้แล้วแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย...
ท่านผู้มีเกียรติและมติรสหายทั้งหลายครับ
ผมเกรงว่าถ้าปล่อยให้สภาพเช่นนี้ดำเนินต่อไปอีก
ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยและรัฐไทยพร้อมด้วยกลไกการปกครองทั้งหลาย...ก็จะกลายเป็นสมบัติผลัดกันชมในหมู่คนแค่หยิบมือเดียว....
ที่ผ่านมาการเลือกตั้งแทบจะมิใช่การยืนยันสิทธิของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมของประเทศแม้แต่น้อย
หากเป็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ
ในการสนับสนุนให้หัวหน้าเครือข่ายก้าวขึ้นสู่อำนาจ
และเมื่อมีโอกาสได้กุมอำนาจแล้วก็ถือเป็นชัยชนะร่วมกัน
มีการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์กันตามฐานะใหญ่เล็กในเครือข่ายนั้นๆ
โดยแทบจะมิได้พิจารณาถึงสิทธิผลประโยชนของผู้คนที่อยู่นอกเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน
อย่าว่าแต่จะพิจารณาถึงความถูกต้องทางกฎหมายหรือความยุติธรรมในจินตภาพสมัยใหม่
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การดำเนินนโยบายที่เป็นผลดีต่อทั่วทั้งประเทศชาติและยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริงเป็นที่ตั้ง
จึงเป็นได้แค่คำกล่าวอ้างของสิ่งที่เรียกว่าผู้นำประเทศ
และยากยิ่งที่จะปรากฏเป็นจริง
หรือถ้าหากจะมีบ้างก็เพื่อรักษาความชอบธรรมทางการเมืองไว้
มิให้ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากผู้คนนอกเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน
ในเมื่อไม่ได้รับการดูแลในระดับโครงสร้างและนโยบาย
สิ่งเดียวที่ประชาชนผู้ยากไร้จะทำได้ก็คือพาตัวอองเข้าไปสู่เครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ
ที่แข่งขันกันอยู่ในเวทีเลือกตั้ง โดยทำตัวเป็น บ่าว เชียร์นาย
ขั้นต่ำสุดคือขายเสียง แปรสิทธิทางการเมืองที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นผลประโยชน์รูปธรรมเล็กๆน้อยๆ
สูงขึ้นมากว่านั้นก็อาจจะทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนเพื่อสิ่งตอบแทนที่มากขึ้น
ก็มักต้องเผชิญกับคำปฏิเสธและความรุนแรงที่เตรียมไว้แล้วราวมิได้อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ ถ้าจะว่าไป...
มันไม่เพียงเป็นภาพที่บิดเบือนของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
หากยังเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่ตรงข้าม และเป็นการกระทำที่หยามหยันแนวคิดว่า
ด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมือง ซึ่งพวกเราเคยเอาเลือดแลกให้ได้มา....
มิตรสหายและท่านผู้มีเกียรติ....
ปมเงื่อนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง...
ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่สามารถดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมได้
และที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังไม่ปรากฏเป็นจริง
ก็คือสภาพการยึดโครงสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางโดยผู้กุมอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางนั้นเป็นสถาบันที่เกิดก่อนประชาธิปไตย
แต่ก็ไม่ใช่สถาบันดั้งเดิมที่มีมาแต่ครั้งการปกครองแบบระบบไพร่
อันที่จริงมันเป็นโครงสร้างที่ถูกออกแบบให้มาแทนที่การปกครองโดยขุนนางโบราณ
ซึ่งถ้านับปี 2435 เป็นปีก่อเกิดโดยประมาณ โครงสร้างนี้ก็มีอายุราวหนึ่งร้อยปีเศษแล้ว
แม้เราจะยอมรับกันอยู่ว่ามันเป็นโครงสร้างที่ถูกออกแบบโดยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์สัมยนั้นเพื่อป้องกันสยามให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม
ทว่าในขณะเดียวกันตัวโครงสร้างก็ถูกหยิบยืมมาจากรูปแบบการปกครองอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเป็นโครงสร้างตอบสนองระบอบการเมืองแบบสัมบูรณ์สิทธิ์
เพราะฉะนั้นระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบที่เรามีอยู่จึงมีลักษณะควบคุมและบังคับบัญชาสูง
ทั้งควบคุมบังคับบัญชาตัวเจ้าหน้าที่ราชการจากบนลงล่าง
และเป็นกลไกของรัฐในการควบคุมบังคับบัญชาประชาชน
ผมคงไม่ต้องเอ่ยก็ได้ว่ามันเป็นเรื่องอันตรายแค่ไหน
ที่โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ดังกล่าวได้ตกทอดมาถึงยุคสมัยแห่งการเลือกตั้ง
ซึ่งมีนักการเมืองเป็นใหญ่
แต่ก็อีกนั่นแหละ
นี่เป็นประเด็นที่หลงหูหลงตานักคิดหรือนักวิชาการในประเทศไทยมากที่สุด
ที่ผ่านมาเรามักจะคิดแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้คนดีมาบริหารบ้านเมือง
จึงเน้นการไปในเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครชิงอำนาจ เน้นไปที่กระบวนการเลือกตั้ง
หรือการสร้างพรรคการเมืองที่ดี กระทั่งในระยะหลังๆ
ก็มีการสร้างองค์กรตรวจสอบนักการเมืองขึ้นมาอย่างเช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
หรือแม้แต่การกำหนดให้วุฒิสภาเป็นเขตปลอดพรรคการเมืองก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะถ่วงดุลย์นักการเมืองที่เข้ามากุมอำนาจตรงส่วนยอดของระบบบริหารราชการแผ่นดิน
แต่เราลืมไปว่าตราบใดที่โครงสร้างการปกครองยังเป็นแบบรวมศูนย์เช่นนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยอำนาจนิยม
เพียงแต่ว่าผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดในปัจจุบันคือนักเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง
แทนที่จะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือผู้นำกองทัพอย่างในอดีต
โดยตัวของมันเองแล้วการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งที่ไปกันได้กับการปกครองแบบรวมศูย์อำนาจและบัญชาสังคมจากบนลงล่าง
แต่สภาพที่เรากำลังเผชิญอยู่ยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นอีก
เพราะในขณะที่ระบบบริหารราชการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่ควบคุมจัดสรรและจัดการทรัพยากรของชาติไปจนถึงจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายของส่วนรวมปีละหลายแสนล้านบาท
ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการขจัดข้อพิพาทและรักษาความยุติธรรมทางกฎหมายและทางสังคม
ผู้คนที่ผลัดเวียนกันก้าวขึ้นไปบัญชาระบบนี้กลับเป็นแค่เครือข่ายอุปถัมภ์ของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น
ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าพวกเขาจะใช้อำนาจการปกครองที่รวมศูนย์ในทุกมิตินี้ไปเพื่อความผาสุกของชนทุกหมู่ในสังคม
ในทางตรงกันข้าม
สิ่งที่เราเห็นก็คือการเติบโตร่ำรวยอย่างรวดเร็วและมหาศาลของบรรดานักการเมืองที่เข้าไปควบคุมกระทรวงต่างๆ
ส่วนบรรดาเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ดำรงอยู่แล้วในระบบราชการก็โยงตัวเองเข้าหา
นายใหม่ อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะได้เห็นการปฏิรูประบบการปกครองโดยนักการเมืองที่ได้ชื่อว่ามาจากฉันทานุมัติของประชาชน
กลับกลายเป็นได้เห็นการ ล้วงลูก เข้าไปสู่ระบบราชการโดยคนที่มาจากการเลือกตั้ง
สร้างความสับสนอลหม่านในการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
ซึ่งเดิมก็มีปัญหาอยู่แล้ว....เป็นอย่างยิ่ง
ถามว่าเช่นนี้แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี
?
คำตอบที่ตรงไปตรงมามากที่สุดก็คือ
เราจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยเสียใหม่...โดยเพิ่มบทบาทของฝ่ายประชาชนเข้าไป....นี่ไม่ใช่เรื่องของการชุมนุมประท้วง
ไม่ใช่เรื่องของการต่อต้านรัฐบาลหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง....หากเป็นเรื่องที่ใหญ่โตกว่านั้นมากนัก
สิ่งที่เราปรารถนาก็คือ
สิทธิที่จะแสดงอธิปไตยของปวงชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
และเป็นองค์ประกอบที่ถาวรของระบอบการเมืองการปกครองในประเทศนี้...ไม่ใช่พอเลือกตั้งเสร็จ
อำนาจในการกำหนดชีวิตตนเองของประชาชนก็สูญสลายไปจนไม่มีอะไรเหลือ
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่า
เราจะต้องผลักดันให้มีการกระจายอำนาจจากรัฐไปสู่สังคมมากขึ้น
เพื่อไม่ให้นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยใช้กลไกการปกครองและวิธีการปกครองแบบเดียวกับระบอบอำนาจนิยม
เราจะต้องผลักดันให้อำนาจบริหารกิจการของแผ่นดินอยู่ในมือของประชาชนโดยตรงมากขึ้น
เพื่อพวกเขาจะได้ใช้อำนาจนี้ไปในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง
ทิศทางเช่นนี้มิได้หมายความว่าเราจะมุ่งแต่ผลักดันให้มีการเลือตั้งผู้บริหารประเทศทุกระดับชั้น
ตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงท้องถิ่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองในลักษณะเช่นนั้น
แม้ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจบริหารได้ในระดับหนึ่ง
แต่ก็เป็นการกระจายอยู่ในกรอบคิดเดิมและโครงสร้างอำนาจเดิม
คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น
และให้หน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นภายใต้การกำกับของหน่วยงานที่อยู่ในระดับสูงกว่า
แต่เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วอำนาจบริหารจัดการก็ไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้นสภาพที่เกิดขึ้นก็มิได้ต่างไปจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งรัฐบาลมากนัก
การเลือกตั้งยังคงเป็นแค่เกมการเมืองของเครือข่ายอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น ซึ่งนับวันยิ่งโยงใยกับเครือข่ายอุปถัมภ์ที่กุมอำนาจในระดับชาติ
และใช้ทุกวิธีการตั้งแต่ซื้อเสียงไปจนถึงใช้ความรุนแรงเพื่อชัยชนะของตน
การกระจายอำนาจตามแบบแผนเช่นนี้
มิใช่การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างแท้จริง
หากเป็นการนำอำนาจรัฐบางส่วนมาเปิดประมูลขายให้กับผู้มีอำนาจซื้อ
โดยผู้ที่ประมูลได้ก็จะได้ใช้อำนาจเท่าที่หน่วยบริหารนั้นๆ เคยมีมาแต่เดิม
ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็จะประกอบด้วยอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินและจัดการทรัพยากร
การปฏิรูปการปกครองในทิศทางดังกล่าวอาจจะมีความจำเป็นและเกิดประโยชน์อยู่ในระดับหนึ่ง
แต่สิ่งนี้ยังไม่พอและไม่จำเป็นเท่ากับการกระจายอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณแผ่นดิน
หรือแม้กระทั่งอำนาจในการออกกฎหมาย
รักษากฎหมายและผดุงความยุติธรรมให้อยู่ในมือประชาชนโดยตรง
พูดสั้นๆ
ก็คือทิศทางที่ถูกต้องกว่าได้แก่การกระจายอำนาจการปกครองโดยรัฐให้เป็นการปกครองตนเองโดยตรงของประชาชนมากขึ้น
หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับที่รัฐกำหนดฝ่ายเดียวไม่ได้...ทั้งประชาชนในระดับชุมชนท้องถิ่น
และประชาชนโดยรวมในระดับทั่วประเทศ
เพราะฉะนั้น
ประเด็นสำคัญของประชาธิปไตยในบริบทไทยจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามีการเลือกตั้งมากน้อยถี่ห่างเพียงใด
หากอยู่ที่การใช้อธิปไตยอย่างต่อเนื่องของปวงชนชาวไทย
และการแปรอำนาจในการให้ความเห็นชอบทางการเมืองของประชาชนให้กลายเป็นอำนาจที่สัมผัสได้อย่างแท้จริง
กล่าวเช่นนี้แล้ว
เราคงต้องยอมรับว่าจุดเน้นการปฏิรูปการเมืองและการปกครองของไทยจะต้องเปลี่ยนจากการขยายตัวทางโครงสร้างมาเป็นเน้นที่กระบวนการใช้อำนาจมากขึ้น
ไม่ว่าจะกระบวนการกำหนดนโยบาย หรือกระบวนการบริหารจัดการก็ตาม
นี่หมายถึงว่าจะต้องมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการเมือง
จากความคิดที่จะให้ประชาชนควบคุมรัฐบาลโดยผ่านการเลือกตั้งตัวแทนอย่างเดียว
มาเป็นประชาชนควบคุมและกำกับการใช้อำนาจของรัฐในทุกระดับด้วย
มีกฎหมายหลายฉบับที่จะต้องแก้ไขหรือกระทั่งยกเลิก
เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติโดยการตัดสินใจของรัฐฝ่ายเดียวไม่เกิดขึ้นอีก
เพราะเราไม่เชื่อว่าความเที่ยงธรรมของรัฐที่ถูกยึดกุมโดยเครือข่ายอุปถัมภ์ทางการเมือง
งบประมาณของชาติที่มาจากทรัพย์สินของประชาชนนั้น
ก็ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดหมายปลายทางของการใช้จ่าย
หรือแม้แต่มีส่วนควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน
นอกจากนี้
ในฐานะที่ประชาชนคือเจ้าของประเทศและเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย ตลอดจนเป็นองค์ประกอบใหญ่สุดของความเป็นชาติ
เราก็ไม่ควรอนุญาตให้ผู้บริหารประเทศ ซึ่งแม้จะมาจากการเลือกตั้ง
มีอำนาจแต่ฝ่ายเดียวในการให้สิทธิพิเศษแก่ทุนข้ามชาติในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์บนผืนแผ่นดินที่เราเป็นเจ้าของร่วมกัน
เพราะนอกจากเราจะไม่เชื่อในวิสัยทัศน์ของเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เข้ามากุมอำนาจรัฐแล้ว
เรายังไม่เชื่ออีกว่าทุนข้ามชาติจะยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนไทยเป็นสิ่งสำคัญ
ต่อจากนี้ไป
ผมเห็นว่าสิ่งที่รัฐหรือผู้กุมอำนาจรัฐทำได้เองโดยตรงควรจะต้องมีขอบเขตแคบลง
ในทางกลับกันสิ่งที่รัฐจะต้องปรึกษาหารือประชาชนก่อนมีมติดำเนินการใดๆจะต้องขยายรายการออกไปมากขึ้น
มันอาจจะออกมาในรูปของกระบวนการประชาพิจารณ์
ออกมาในรูปของกรรมการร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน
หรือองค์กรที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นปากเสียงของพวกเขา ฯลฯ
เราไม่รู้เรื่องรูปแบบอาจจะตกลงกันได้ แต่ที่แน่ๆ คือถ้าสภาพเช่นนี้ปรากฏเป็นจริง
ปัญหาต่างๆที่สั่งสมอยู่ในประเทศไทยจะได้รับการสะสางด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนเอง
มิตรสหายและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ
คำถามที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ
แล้วทำอย่างไรการกระจายอำนาจการปกครองในทิศทางนี้จึงจะปรากฏเป็นจริง?
จะมีพลังทางการเมืองใดเหลืออยู่ในสังคม
ที่จะกล้าออกมาผลักดันให้มีการปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น?
กล่าวในทางตรรกะแล้ว
ผู้ที่ควรจะเป็นพลังผลักดันการปฏิรูปการปกครองก้าวต่อไป
น่าจะเป็นผู้ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ทุกหนแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท
คนเหล่านี้นับวันยิ่งไม่มีทางออก และกลายเป็นเหยื่อของการพัฒนาแบบด้านเดียว
ที่ถูกทอดทิ้งราวกับชีวิตของพวกเขาไม่มีคุณค่าและความหมาย
อย่างไรก็ตามถ้าเราพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว
ก็จะพบว่าคนจนไม่ได้ผูกขาดความทุกข์อีกต่อไป
ผลพวงของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการครอบงำของทุนข้ามชาติได้ทำให้นักธุรกิจและผู้ผลิตรายย่อยจำนวนมหาศาลเกือบจะหมดหนทางทำมาหากินไปด้วยเช่นกัน
หลายคนต้องเปลี่ยนฐานะจากมีเป็นหมดในชั่วเวลาข้ามคืน
จำนวนไม่น้อยเข้านอนด้วยความวิตกกังวลและตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะกังวลมากขึ้น
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าจำนวนหนึ่งได้ลาโลกไปแล้ว
เพราะไม่อาจจะเผชิญกับความอับจนของชีวิตที่มาถึงทางตัน
ประเทศไทยทุกวันนี้
มีฐานะไม่ต่างอันใดกับดินแดนอาณานิคม
อิทธิพลของทุนข้ามชาติได้รุกล้ำเข้ามาในทุกขอบเขตทุกปริมณฑล
ตั้งแต่อุตสาหกรรมถึงเกษตรกรรม ตั้งแต่ส่งออกถึงนำเข้า ตั้งแต่ขายส่งถึงขายปลีก
และตั้งแต่การเมืองเศรษฐกิจไปจนถึงจิตวิญญาณ....
การที่ประเทศไทยต้องตกเป็นประเทศทุนนิยมหางแถว
ต้องเสียเปรียบและตกเป็นเบี้ยล่างของต่างชาติเช่นนี้...ใครเล่าจะบอกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับผู้นำทางการเมือง
ใครเล่าจะบอกได้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้รับผิดชอบประเทศ
เพราะฉะนั้น....ถ้าเราต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
สิ่งที่จะต้องทำเป็นอันดับแรก
คือไม่อนุญาตให้การติดสินใจในระดับโครงสร้างและนโยบายอยู่ในมือของผู้นำรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว
เราจะต้องช่วยกันผลักดันให้เสียงประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของประบวนการกำหนดนโยบายแห่งชาติ
เพราะประชาชนคือชาติ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้เดือดร้อนทุกหมู่เหล่าทุกข์ชั้นชน
จะต้องถือตนว่ามีฐานะเป็นเจ้าของประเทศ...และมีหน้าที่ร่วมกันในการกอบกู้บ้านเมืองที่ย่อยยับไปแล้ว
ให้กลับคืนเป็นดินแดนแห่งความผาสุขขึ้นมาอีก
นี่คือหน้าที่ของพลเมือง
นี่คือการเมืองภาคพลเมือง และนี่คือการแสดงออกซึ่งอธิปไตยของปวงชน...
แน่ละ
ผู้คนบนเวทีอำนาจจำนวนหนึ่งและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ยอมรับในสิ่งนี้และมองมันในแง่ร้ายในทุกมิติ
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะยอมศิโรราบ และปล่อยให้บ้านเมืองเสื่อมทรุดไปตามยถากรรม
บทบาททางการเมืองของประชาชนและการเคลื่อนไหวทางปัญญาของทั่วทั้งสังคมนั้น
จริงๆแล้วเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย
แต่ก็เป็นขั้นตอนที่เราถูกห้ามหวงมาตลอด แม้ครั้งหนึ่งมันจะเคยเกิดขึ้นในห้วง 14
ตุลาคม 2516 แต่ความทรวงจำในเรื่องนี้ก็ถูกลบล้างลงไปอย่างจงใจ
และไม่เคยได้รับอนุญาตให้ส่งทอดมาสู่คนรุ่นหลัง
หลายคนคิดเอาง่ายๆว่าแค่ออกแบบโครงสร้างทางการเมืองให้มีการเลือกตั้งและมีนักการเมืองอาชีพจำนวนหนึ่ง
เราก็สามารถเป็นประชาธิปไตยกันได้
แต่ความเป็นจริงที่คลี่คลายมาตลอด ก็บ่งชี้ว่าการเมืองที่เล่นกันอยู่ในหมู่ชนชั้นนำสองสามกลุ่ม
ไม่ได้ช่วยให้ประเทศชาติก้าวไปถึงไหน
ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเจริญรุ่งเรืองที่ควรกระจายให้ทั่วถึง
ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับชนทุกหมู่เหล่า
หรือสร้างศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาติไทย คนไทยในสังคมสากล
เพราะฉะนั้นถึงวันนี้
ประชาชนไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากจะต้องขึ้นเวทีการเมืองด้วยตนเอง....
ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ใช้สติปัญญาและสันติวิธี
ไม่ใช่ความวุ่นวายในสังคม และยิ่งไม่ใช่ภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ
หากเป็นรูปธรรมของสิทธิเสรีภาพ เป็นรูปธรรมของความรักที่บุตรแห่งแผ่นดินนี้มีต่อแผ่นดินแม่...และเป็นจังหวะเต้นของหัวใจแห่งระบอบประชา
ธิปไตย
ความตื่นรู้ของประชาชนในธุระส่วนรวม
เป็นลักษณาการของระบอบการเมืองที่มีชีวิต...และมีพลัง....
ขอบคุณครับ
รัฐไทยในศตวรรษที่21
ปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 46ปี สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
24 กันยายน 2543 โรงแรมรัตนโกสินทร์
ท่านผู้มีเกียรติและมิตรสหายทั้งหลาย
.
ก่อนอื่นคงต้องขอขอบคุณสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ที่มีศรัทธาเชิญผมมาแสดงความคิดเห็นในวันนี้
เรื่องที่เราจะ
คุยกันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และผมอยากจะกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าบทบาทของผมเป็นเพียงผู้จุดประเด็นให้บังเกิดความสนใจในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น
มิใช่ถือตนว่าเป็นผู้ยึดกุมสัจจธรรมในเรื่องของรัฐและอำนาจการเมืองแต่อย่างใด
การตั้งหัวข้อไว้ว่ารัฐไทยในศตวรรษที่21
แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่การตีเส้นแบ่งตายตัวว่าเราจะพูดกันแต่เรื่อง ของรัฐไทยในอนาคต
เพราะจะว่าไปก็ยังไม่มีใครเคยเห็นรัฐไทยในอนาคต
เนื่องจากอนาคตเป็นสภาพที่ยังมาไม่ถึง
เพียงแต่เราอยากจะพูดถึงรัฐไทยในอดีตและปัจจุบัน
แล้วอาศัยความเข้าใจอันนี้ไปคาดการณ์หรือไปตั้ง
ความหวังเกี่ยวกับลักษณะของรัฐไทย
กระทั่งไปชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง
เพื่อดัดแปลงรัฐให้เหมาะสมกับความเป็นจริงของยุคสมัย
ถามว่าแล้วทำไมจึงต้องพูดถึงรัฐ
ทำไมไม่พูดถึงอนาคตของสังคมไทยในด้านอื่นๆ
เช่นในด้าน เศรษฐกิจการทำมาหากิน ในด้านเทคโนโลยีข่าวสาร
หรือในด้านวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน? แน่ละ สิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญ
แต่ถ้าวัดกันในแง่อิทธิพลที่มีต่อชีวิตเราแล้ว รัฐยังคงเป็นองค์ประกอบ
ที่ใหญ่โตในประเทศไทย ซึ่งคอยควบคุมกำกับความเป็นไปในสังคม
ยิ่งถ้าเราพิจารณาในบริบทหรือสถานการณ์ปัจจุบัน
การที่รัฐไทยจะทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ล้วนมีบทบาทชี้เป็นชี้ตาย
สามารถทำให้สังคมฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆก็ได้ หรือโทรมทรุดหนักหน่วงลงไปอีกก็ได้
ท่านผู้มีเกียรติและมิตรสหายทั้งหลายครับ เมื่อเอ่ยถึงรัฐ
คนทั่วไปก็มักจะนึกถึงการเมืองและการใช้อำนาจก่อนสิ่งอื่นใด นอกจากนี้แล้วก็อาจจะ
นึกถึงประเทศชาติ
ซึ่งบางทีเราก็เรียกว่าสังคม
อันเป็นที่สถิตย์ของผลประโยชน์ส่วนรวม
การคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก
และคิดได้ถูกต้องตามความจริง เพียงแต่ว่าสำหรับคนทั่วไป บางทีการ
โยงใยความสัมพันธ์ระหว่าง การเมือง รัฐและสังคม
อาจจะไขว้เขวไปมาจนทำให้มองปัญหาผิดพลาด หรือ บางทีก็มองข้ามความเกี่ยวข้องระหว่างชีวิตของตนเองกับชีวิตของส่วนรวมไปจนหมดสิ้น
เพราะฉะนั้นในเบื้องแรก
ผมคิดว่าเราควรทำความเข้าใจจินตภาพพื้นฐานร่วมกันสัก2-3ประการ ประการที่หนึ่ง
เมื่อเราพูดถึงการเมือง
แม้จะมีแง่มุมให้คิดไปได้มากมายว่าการเมืองคืออะไร
แต่
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเมืองคือกระบวนการจัดสรรผลประโยชน์และสิ่งมีค่าทางสังคมโดยผ่านวิธีการที่ใช้อำนาจ
.ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ผลประโยชน์และสิ่งมีค่าทางสังคมดังกล่าว อาจจะมีตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ
ไปจนถึงยศฐาบรรดา ศักดิ์
กระทั่งกฏระเบียบและนโยบายที่เอื้อให้บางส่วนได้รับผลประโยชน์ และบางส่วนสูญเสียผลประโยชน์
ฯลฯ
สิ่งใดที่ได้มาหรือเสียไปโดยไม่ผ่านกระบวนการใช้อำนาจ
อาจจะไม่ถือเป็นเรื่องของการเมือง เช่น การได้ทรัพย์สินมาโดยความสิเนหาของผู้อื่น
หรือการมีชื่อเสียงมาจากคุณงามความดีและผลงานสร้างสรรค์ ต่างๆ เป็นต้น ประการต่อมา
ในเมื่อการเมืองคือกระบวนการเช่นนั้น การเมืองจึงแยกไม่ออกจาการดำรงอยู่รัฐ
ทั้งนี้เนื่องจากรัฐคือศูนย์รวมความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งปวง
ความสัมพันธ์ทางอำนาจอื่นๆที่มีอยู่ล้วนต้องขึ้นต่อการยอมรับของรัฐ
และจะไม่มีขอบเขตเทียบเท่า อย่าว่าแต่เกินไปกว่าอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเช่นอำนาจพ่อแม่ที่มีต่อบุตร
อำนาจของครูที่มีต่อนักเรียน อำนาจผู้บริหารบริษัทที่มีต่อ ลูกจ้าง พนักงาน
ดังนี้เป็นต้น ยิ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยแล้ว
ยิ่งมีขอบเขตตามที่รัฐกำหนดไว้ชัดเจน โดยพื้นฐานแล้ว
รัฐจะผูกขาดอำนาจอยู่สามประการคือ 1) อำนาจในการออกระเบียบกฏหมายที่ครอบคลุมคนทั้งสังคมและอำนาจในการตัดสินคดีความ
2) อำนาจในการจัดเก็บภาษีและนำเงินจากภาษีนั้นไปใช้จ่าย 3)
อำนาจในการจัดตั้งกองกำลังอาวุธ และใช้ความรุนแรง
อำนาจเหล่านี้เป็นอำนาจที่รัฐจะต้องมี โดยถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของความเป็นรัฐ
แต่ก็มีอำนาจอีก หลายอย่างที่รัฐสมัยใหม่อาจจะเสริมขยายให้มากขึ้นอีก
เช่นอำนาจในการแทรกแซงทางด้านเศรษฐกิจเป็นต้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม
โดยทั่วไปแล้ว อำนาจที่เพิ่มขึ้นมาของรัฐก็มักงอกเงยมาจากการมีอำนาจผูกขาดทั้ง
สามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น นอกเหนือไปจากการเป็นศูนย์รวมความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งปวงแล้ว
ตัวรัฐเองก็มีจะมีการจัดตั้ง เป็นลำดับชั้นต่างๆ
ซึ่งมีทั้งความเกี่ยวโยงและมีคุณสมบัติเฉพาะที่แยกออกจากกัน ในชั้นแรกสุด
รัฐจะต้องมีระบอบการเมือง( regime) ซึ่งเป็นกรอบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง
สถาบันการเมืองต่างๆ ในกรอบดังกล่าวมีทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการขึ้นสู่อำนาจ
กระบวนการใช้อำนาจ และกระบวนการส่งทอดอำนาจ
ตลอดจนการจัดสรรอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองด้วยกัน ส่วน
ความเรียบง่ายหรือความซับซ้อนของระบอบการเมือง ก็เป็นไปตามยุคสมัยที่แตกต่างกัน
ในลำดับต่อมา รัฐจะต้องมีรัฐบาลดำรงอยู่ในฐานะองค์กรนำ คอยดูแลกำกับให้กระบวนการใช้อำนาจ
ทั้งหมดของรัฐเป็นไปตามจุดหมายและกรอบกติกาที่วางไว้ ถ้าเทียบกับสภาพปัจจุบันแล้ว
ฐานะของรัฐบาล ก็คล้ายกรรมการผู้จัดการของบริษัทเอกชน อย่างไรก็ตาม
เราควรเข้าใจว่ารัฐบาลแบบที่เราเห็นในปัจจุบันค่อน ข้างเป็นประดิษฐกรรมสมัยใหม่ แต่ครั้งโบราณจริงๆ
เมื่อมีการใช้อำนาจโดยผ่านการนำของคนๆเดียว เช่น พระมหากษัตริย์
ก็ไม่ได้เรียกกันว่ารัฐบาล และไม่มีการจัดองค์กรแบบที่เราเห็นในระยะหลัง
แม้แต่คำศัพท์ที่ ใช้ก็ไม่มีคำนี้ คงเรียกศูนย์อำนาจส่วนนี้ว่าหลวงบ้าง
แผ่นดินบ้าง หากความเข้าใจที่ตรงกันก็คือนี่คือที่สถิตย์ ของอำนาจที่สูงสุดในสังคม
สุดท้าย รัฐจะต้องมีเครื่องมือ หรือกลไกการปกครอง
คอยดำเนินการให้การใช้อำนาจของตนปรากฏ เป็นจริง เช่นในสมัยใหม่ก็อาจจะมีกองทัพ
มีตำรวจ มีศาล และหน่วยราชการต่างๆ ส่วนในสมัยโบราณก็อาจจะ
มีแค่ขุนนางชั้นต่างๆคอยทำหน้าที่ทุกอย่าง
เหล่านี้เป็นส่วนของรัฐที่สังคมมองเห็นมากที่สุด และส่งผลกระทบ
มากที่สุดในการใช้ชีวิตประจำวัน ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของทั่วโลก
รวมทั้งของไทยเราด้วย ก็เคยมีเหมือนกันที่ทั้ง ระบอบการเมือง รัฐบาล
และกลไกการปกครองรวมศูนย์อยู่ในสถาบันเดียว เช่นกองทัพ แต่ในสังคมสมัยใหม่
โดยเฉพาะในยุคของประชาธิปไตย การแยกส่วนต่างๆขององค์กรจัดตั้งที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐ
จะมีลักษณะ หลากหลายขึ้นและชัดเจนขึ้น
จากนี้เรามาทำความเข้าใจจินตภาพเกี่ยวกับสังคม
หลังจากเราเข้าใจแล้วว่าการเมืองคือกระบวนการจัดสรรและจัดการผลประโยชน์ตลอดจนสิ่งมีค่า
ทางสังคมโดยผ่านการใช้อำนาจ
และเข้าใจด้วยว่าศูนย์รวมความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งปวงคือรัฐ
สิ่งที่เราจะต้องเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่องนี้ก็คือ
สังคมเป็นพื้นที่ที่ทั้งผลิตผลประโยชน์และสิ่งมีค่าต่างๆในทางวัฒนธรรมมาให้การเมืองจัดการและจัดสรร
ขณะเดียวกันสังคมก็เป็นพื้นที่รองรับผลอันเกิดจากกระบวนการดังกล่าว
.
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่าสังคมเป็นเป้าหมายการใช้อำนาจของรัฐ
ซึ่งจะออกมาดีชั่วประการใดย่อมขึ้นต่อลักษณะของรัฐและกระบวนการการเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ภายในรัฐเป็นสำคัญ
ผลประโยชน์ที่ดำรงอยู่ในสังคมนั้น อาจจะมีตั้งแต่เรื่องง่ายๆเช่นกำลังคนซึ่งรัฐโบราณของไทยถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาควบคุมกำกับ
จากนั้นอาศัยการควบคุมกำลังคนเป็นพื้นฐานไปสู่การควบคุมผลผลิต
ทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ โดยผ่านการเก็บภาษีเป็นสิ่งของ ดังนี้เป็นต้น
แต่ต่อมา เมื่อสังคมมีการแปรเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น
ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาก็ อาจจะอยู่ในรูปของมูลค่าแลกเปลี่ยนมากกว่ามูลค่าใช้สอย
หรือกล่าวได้ว่าเป็นเงินตรามากกว่าอย่างอื่น
ส่วนผลประโยชน์หรือสิ่งมีค่าทางวัฒนธรรมนั้น ก็อาจจะมีตั้งแต่การศึกษา ข่าวสาร
ความรับรู้ รางวัลและการยอมรับ ไปจนถึงบันทัดฐานเกี่ยวกับผิดถูกดีงาม ความต่ำต้อย
ความสูงส่ง อะไรทำนองนั้น สิ่งที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสังคมก็คือ
มันไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่
หากมีวิวัฒนาการจากระดับชุมชนเล็กๆมาสู่แว่นแคว้นและในที่สุดก็มาถึงหน่วยล่าสุดที่เราใช้กันอยู่
อันได้แก่ประเทศชาติ
เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน
.ที่เรากล่าวว่าสังคมเป็นทั้งพื้นที่ผลิตผลประโยชน์ต่างๆที่รัฐเข้ามาใช้อำนาจจัดสรรจัดการ
และเป็นผลพวงจากการจัดสรรจัดการผลประโยชน์โดยรัฐ
.แท้จริงแล้วเราก็กำลังพูดถึงความ
สัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาตินั่นเอง
.. ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ
ที่ผ่านมาทั้งหมด ผมเพียงแต่พยายามตีแผ่ลักษณะใจกลางของการเมือง รัฐและสังคมตลอดจน
ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้ โดยยังไม่ได้วิเคราะห์อะไรทั้งสิ้น
ผมไม่ได้บอกว่าอะไรดีอะไรเลว รวมทั้งไม่ได้
บอกว่าความสัมพันธ์ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร
ทั้งหมดเป็นเพียงการระบุยืนยันความเป็นจริงขั้นพื้นฐาน
เกี่ยวกับการใช้อำนาจและกระบวนการจัดสรรจัดการผลประโยชน์ของมนุษย์
ทว่าจากนี้เป็นต้นไป คือจุดที่ผู้คนมักจะมีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างกัน
และสาเหตุที่ทำให้คนเรามีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างกันมากที่สุด
อยู่ที่ทรรศนะของพวกเขาที่มีต่อรัฐ เท่าที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่
เราอาจจะแบ่งกระบวนทัศน์(paradigm)ที่ถูกนำมาใช้มองรัฐได้สามแบบคือ 1)
เห็นว่ารัฐเป็นสิ่ง'ศักดิ์สิทธิ์'อยู่เหนือสังคม
โดยมีทั้งหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและอบรมสั่งสอนคน ในสังคม
อันนี้เป็นกระบวนทัศน์ที่มีมาแต่โบราณ อาจจะถอยไปถึงยุคกรีก
หรือถอยไปถึงสมัยรัฐขุนนางตลอดจนรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ส่วนในสมัยใหม่ก็อาจจะเป็นกระบวนทัศน์ของระบอบอำนาจนิยมต่างๆ เช่นระบอบนาซี
ฟาสซิสต์ หรือระบอบเผด็จการทั้งปวง
ความคิดทางการเมืองที่ออกมาจากกระบวนทัศน์ดังกล่าวมักจะเห็นว่าประชาชนทั่วไปไม่ควรเข้าไปมีหน้าที่หรือบทบาททางการเมือง
.
ทั้งหมดเป็นเรื่องของผู้กุมอำนาจซึ่งประชาชนควรเคารพเชื่อฟัง 2)
เห็นว่ารัฐเป็นแค่เครื่องมือทำงานของสังคม
แม้จะมีฐานะสูงส่งกว่าภาคส่วนอื่นๆแต่ก็ไม่ใช่สิ่ง
ศักดิ์สิทธิ์อะไร
กระบวนทัศน์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยแนวคิดเสรีนิยมและแนวคิดประชาธิปไตย
ซึ่งถือว่ารัฐมีหน้าที่แค่รักษากติกาในการอยู่ร่วมกันและตัดสินกรณีพิพาทในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น
แนวคิดนี้
จะว่าไปแล้วก็เป็นแนวคิดที่ไม่ไว้ใจรัฐ
เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นสิทธิของฝ่ายสังคมที่จะส่งคนขึ้นไปควบคุมกำกับการทำงานของรัฐไว้ในชั้นแรก
เพื่อให้รัฐใช้อำนาจอย่างสอดคล้องกับจุดหมายและผลประโยชน์ของส่วนรวม ขณะเดียวกัน
กระบวนทัศน์แบบนี้ก็สร้างความเชื่อขึ้นมาว่ารัฐเป็นของกลาง ไม่เข้าใครออกใคร
ต่อให้เบี่ยงเบนอย่างไรสังคมก็สามารถควบคุมรัฐได้ 3)
เห็นว่ารัฐเป็นเครื่องมือทางชนชั้น หรือเป็นอุปกรณ์การควบคุมที่ชนชั้นผู้ได้เปรียบสร้างขึ้นและนำ
มาใช้กระทำต่อชนชั้นผู้เสียเปรียบ
กระบวนทัศน์ดังกล่าวจริงๆแล้วก็เป็นปฏิกริยาตอบโต้กระบวนทัศน์เสรีนิยม
โดยพวกสังคมนิยมสกุลต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่19มาถึงปลายศตวรรษที่20
ได้มีลัทธิมารกซ์หรือขบวนคอมมูนิสต์เป็นธงนำที่สำคัญ
ถามว่าทั้งสามกระบวนทัศน์นี้
อันไหนถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด ? ในความเห็นของผม
ทุกกระบวนทัศน์ต่างก็ดึงความจริงเข้ามาเพียงบางส่วนเท่านั้น
ที่เหลือเป็นจินตนาการที่รัฐอาศัยสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง
รวมทั้งปลูกฝังให้เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม
ยกตัวอย่างเช่นรัฐเผด็จการหรือรัฐอำนาจนิยมที่บอกว่าจะปกป้องคุ้มครองคนทั้งประเทศเหมือนพ่อ
ปกครองลูกนั้น เอาเข้าจริงๆกลับกลายเป็นรัฐที่ใช้ความรุนแรงกับสังคมมากที่สุด
พฤติกรรมของผู้ปกครอง เองแทนที่จะสูงส่ง ไร้ผลประโยชน์ส่วนตัวเหมือนชนชั้นผู้ปกครองในปรัชญาของเพลโต้
ก็มักกลายเป็นต่ำทราม เสเพล และโลภหลงไม่สิ้นสุด เป็นเช่นนี้เหมือนกันแทบทุกแห่ง
ทั้งในยุโรป เอเชีย อาฟริกาและลาตินอเมริกา กล่าวสำหรับรัฐเสรีประชาธิปไตย
แม้จะมีปรัชญาอยู่ที่เป็นกลางและให้ประโยชน์ต่อคนในสังคมอย่าง เสมอหน้า
แต่ในความเป็นจริงโอกาสในชีวิตที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ในสังคม
ก็ส่งผลให้โอกาสทางการเมืองของผู้คน หมู่เหล่าต่างๆแตกต่างกันไป
ทั้งในด้านที่จะขึ้นสู่เวทีการเมืองขึ้นไปกุมอำนาจรัฐ ในด้านของการมีส่วนร่วม
กำหนดนโยบาย และในระดับของผลประโยชน์ที่รัฐจัดสรรมาให้
.ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เพียงแต่ว่ากระบวนทัศน์เสรีประชาธิปไตยมีผลมากในการทำให้กระบวนการใช้อำนาจที่รัฐกระทำ
ต่อสังคมลดความรุนแรงลง
รวมทั้งมีการอนุญาตให้ผู้เสียเปรียบสามารถต่อรองผลประโยชน์ได้มากขึ้น เมื่อ
เทียบกับรัฐเผด็จการหรือรัฐอำนาจนิยม
ส่วนกระบวนทัศน์ที่ถือว่ารัฐเป็นเครื่องมือการกดขี่ทางชนชั้นนั้น
จริงๆแล้วก็ได้ข้อสรุปเกือบทั้งหมด
มาจากประสบการณ์ของยุโรปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่19
หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือเป็นประสบการณ์ จากระบบทุนนิยมยุคแรกๆ
และประชาธิปไตยยุคต้นๆ หลังจากนั้นมารัฐต่างๆในยุโรปตะวันตกก็มีลักษณะ
ทางชนชั้นลดลงกว่าเดิมมาก
แม้ว่าจะยังมีฉันทาคติลำเอียงเข้าข้างผู้ได้เปรียบอยู่บ้างก็ตาม แต่การปฏิเสธ
ประชาชนชั้นล่างโดยสิ้นเชิงนั้น ถึงวันนี้เกือบจะทำไม่ได้แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนทัศน์นี้ก็คือ เมื่อขบวนสังคมนิยมได้ชัยชนะในการปฏิวัติในบางประเทศและจัดตั้งรัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาตามจินตนาการของตน
ผลที่เกิดขึ้นแทนที่จะเป็นอำนาจรัฐซึ่งผู้ยากไร้ได้ยึดครองเป็นเครื่องมือของตน
กลับกลายเป็นอำนาจรัฐที่อยู่เหนือการควบคุมใดๆของคนในสังคม
รวมทั้งแทบจะมีฐานะเป็น'สิ่งศักดิ์สิทธิ์'ตามกระบวนทัศน์ของรัฐโบราณ
และรัฐอำนาจนิยมที่ฝ่ายซ้ายเคยชิงชังรังเกียจ เช่นนี้แล้ว
จึงมีคำถามหนึ่ง
ที่ผูกพ่วงตามมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ในเมื่อทั้งสามกระบวนทัศน์ที่เอ่ยมาล้วนมีข้อจำกัดในการอธิบายความเป็นจริงของรัฐ
แล้วอะไรเล่าคือ คำอธิบายที่ถูกต้อง ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ
ในความเห็นของผม กระบวนทัศน์ที่ถูกต้องกว่า
นอกจากจะต้องเก็บรับส่วนที่เป็นจริงจากสาม
กระบวนทัศน์ข้างต้นมาใช้ประโยชน์ในการมองปัญหาแล้ว
ยังต้องพิจารณาลักษณะความสัมพันธ์ที่สำคัญอีกสองประการ ประการแรก
เราจะต้องมองเห็นว่าในระดับที่แน่นอนหนึ่ง
รัฐก็เป็นหน่วยอิสระในเรื่องของผลประโยชน์
แม้ว่าจะอยู่ในฐานะจัดสรรจัดการผลประโยชน์และคุณค่าต่างๆให้สังคมก็ตาม
แต่รัฐก็ไม่เคยลืมผลประโยชน์ที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุ
ทางวัฒนธรรม หรือแม้แต่ในทางความคิดจิตใจ บางครั้ง ที่เราเห็นว่ารัฐใช้อำนาจเพื่อบางชนชั้น
บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องของการถูกกำหนดหรือมุ่งรับ ใช้อย่างจงรักภักดี
หากเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ที่รัฐคำนวนแล้วว่าตนเองจะได้อะไรบ้าง ในโลกมี
ตัวอย่างมากมายที่รัฐสนองผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน
เฉพาะในยามที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้วย และถอน ตัวออกจากการดูแลชนชั้นที่ได้เปรียบ
เมื่อเห็นว่าได้ประโยชน์ไม่มากนัก กระทั่งหันไปสนองผู้เสียเปรียบเป็นครั้ง คราว
เพื่อรักษาสถานภาพของรัฐเอง กล่าวในแง่นี้
การพิจารณาว่ารัฐรับใช้สังคมส่วนรวมโดยไม่มีผลประโยชน์เฉพาะของรัฐ
หรือรัฐเป็นแค่เครื่องมือทางชนชั้นโดยไม่มีผลประโยชน์แยกต่างหากจากชนชั้นที่ตัวเองรับใช้เลย
ล้วนเป็นทรรศนะที่ผิดทั้งสิ้น
หรือถ้าถูกก็ไม่ครบถ้วน ประการต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
มิใช่เรื่องที่ฝ่ายหนึ่งกำหนดอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอดเวลา หากเป็นปฏิสัมพันธ์
ที่ส่งผลต่อการดัดแปลงซึ่งกันและกันโดยผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
ยกตัวอย่างเช่น
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐย่อมมีผลต่อการเติบโตหรือทรุดต่ำของชีวิตความเป็นอยู่
ในปีกของสังคม ขณะเดียวกันความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจในปีกของสังคม
ก็ส่งผลต่อการเติบใหญ่ขยายตัวของรัฐด้วย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการศึกษาและวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนไป
ก็อาจจะมีผลขัดเกลาการใช้อำนาจของรัฐให้มีความประนีตถี่ถ้วนขึ้น และลดความรุนแรงลง
ผมไม่ทราบว่าจะเรียกกระบวนทัศน์นี้ว่าอย่างไร
แต่นี่คือกระบวนทัศน์ที่ผมอยากจะนำมาใช้
พิจารณารัฐไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่จะมาถึงในศตวรรษที่21 พูดถึงรัฐไทย
ถ้าเราพิจารณาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว
ก็จะพบว่ารัฐไทย เป็นรัฐที่มีผลประโยชน์อิสระแยกออกจากสังคมในระดับที่ค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกันก็ส่งผลสะเทือนต่อสังคม ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะเกิดจากเงื่อนไขใหญ่3 ประการ 1)
เพราะว่ารัฐไทยมีการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาจากรัฐโบราณ (premodern
state)เพียงแต่ว่าแปร
รูปมาทีละขั้นละตอนจนกระทั่งมีสภาพอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน 2)
รัฐไทยมีการปรับตัวและดัดแปลงตนเองสูง
รวมทั้งมีบทบาทมาตลอดในการดัดแปลงสังคมให้สอด คล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ 3)
เนื่องจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ และบทบาทต่อเนื่องของรัฐในการควบคุมสังคม
ทำให้การ เติบโตของสังคมไทยไม่ได้นำไปสู่ความเข้มแข็งของชนชั้นต่างๆ
โดยเฉพาะชนชั้นนายทุน นอกจากนี้แล้ว ด้วย เหตุผลเดียวกัน
ความเป็นชาติในความหมายสมัยใหม่ และในฐานะหน่วยใหญ่สุดของสังคมไทย ก็ตกอยู่ใน
สภาพอ่อนแอมาตลอด
ต้องขออภัยท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
.ที่ทั้งหมดนี้ผมคงต้องอธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย
การที่รัฐไทยเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต่อเนื่องยาวนานมาตลอด
จากโบราณสมัยจน ถึงปัจจุบันสมัย
นับว่ามีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้กระบวนทัศน์แบบที่ถือว่ารัฐมีฐานะพิเศษอยู่เหนือสังคม
ยังคงเหลืออยู่มากในประเทศไทย ยิ่งในช่วงหลังพ.ศ.2475เรื่อยมา
แม้ว่าจะมีการประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตยขึ้นแต่การที่รัฐได้ถือเป็นนโยบายของตนในการเข้ามาบริหารจัดการสังคมอย่างทั่วด้าน
ก็ยิ่งเสริมขยายแนวคิดพึ่งพารัฐมากขึ้น และเป็นเช่นนี้ทุกชั้นชน
ไม่ละเว้นแม้ผู้ที่ได้เปรียบอยู่แล้ว
รวมทั้งไม่ละเว้นแม้ในยามที่ตัวระบอบการเมืองได้ปรับกระบวนทัศน์ให้เป็นแบบเสรีประชาธิปไตยแล้ว
ทุกวันนี้ประชาชนทุกหมู่เหล่ายังคงถือว่ารัฐเป็นองค์กร
ที่มี ไว้สำหรับร้องทุกข์ และเรียกร้องให้รัฐเข้าแทรกแซงในปัญหาทั้งปวง
อย่างไรก็ตาม
การที่รัฐไทยมีฐานะค่อนข้างอยู่เหนือสังคมและเป็นภาคีที่ค่อนข้างเป็นอิสระ
ในเรื่อง ของผลประโยชน์
ทำให้การแปรรูปของรัฐหรือการดัดแปลงรัฐไม่ค่อยได้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงทางสังคม
หรือความเรียกร้องต้องการของประชาชนมากนัก หากเกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอด
หรือความสอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐเองเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อครั้งที่มีการปฏิรูปการปกครองในปีพ.ศ.2435เพื่อก่อตั้งกลไกการปครองสมัยใหม่
และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แรงกระตุ้นที่สำคัญที่สุดก็คือการคุกคามรัฐไทยโดยมหาอำนาจตะวันตก
ตามมาด้วยความจำเป็นของรัฐที่จะต้องรวมศูนย์ทางด้านการคลัง
ส่วนการเลิกไพร่เลิกทาสในปีพ.ศ.2448 ก็
เป็นการยกเลิกอำนาจขุนนางโบราณซึ่งขัดแย้งกับระบบรวมศูนย์อำนาจ
มากกว่าสนองปรารถนาเรื่องสิทธิ เสรีภาพของผู้อยู่ใต้การปกครอง
จริงๆแล้วในขณะนั้น
แนวคิดเรื่องอิสระภาพของปัจเจกบุคคลก็มิได้ก่อรูปขึ้น ในสังคมไทยแม้แต่น้อย
ต่อมาในห้วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475
ซึ่งยังผลให้มีการยกเลิกระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์
แรงส่งสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น
ก็ดูจะเป็นความขัดแย้งระหว่างข้าราชการสมัยใหม่กับ สถาบันพระมหากษัตริย์
มากกว่าความพร้อมในปีกของสังคมที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตย กล่าวอีกแบบหนึ่ง
ก็คือเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำใหม่กับชนชั้นนำเก่าซึ่งอยู่ในสถาบันของรัฐด้วยกัน
และเมื่อกล่าวถึงช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมอันยาวนาน
การเติบใหญ่ขยายตัว ของรัฐก็ยิ่งล้ำหน้าสังคมไปไกล ทั้งในด้านขอบเขตการใช้อำนาจ
และการจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ รัฐไทยกลายเป็นเวทีการเมืองที่เปิดให้เฉพาะ'สมาชิก'ภายใน
แต่ปิดสำหรับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
และมีอยู่บ่อยครั้งที่การก่อเกิดของหน่วยงานใหม่ตลอดจนอำนาจที่ติดตามมา ไม่ได้เป็นไปเพื่อสนองความต้องการของสังคมหากเป็นผลมาจากการเมืองในหมู่ผู้นำชั้นสูง
ที่ต้องการขยายฐานอำนาจของตนเอง แน่ละ
การที่รัฐไทยเติบใหญ่ขยายตัวและแปรรูปมาสู่เครือข่ายการใช้อำนาจที่กว้างขวางยิ่งขึ้นตั้ง
แต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่19จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่20 ย่อมทำให้สังคมไทยต้องเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำและ
ถูกดัดแปลงโดยรัฐมากกว่าที่จะย้อนศรกลับไปทำตรงกันข้าม
ส่วนรัฐก็คำนึงถึงผลประโยชน์ตนเองเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น
รัฐเป็นผู้ค้าฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นเวลานานถึงหนึ่งศตวรรษ คือ
ตั้งแต่กลางศตวรรษที่19 มาจนถึงกลางศตวรรษที่20
ทั้งๆที่ยาเสพย์ติดดังกล่าวมีผลกัดกร่อนพลังการผลิต ทั้งในปีกของทุนและแรงงาน
แต่รัฐไทยในทุกระบอบก็ได้ใช้การค้าฝิ่นเป็นแหล่งที่มาสำคัญของงบประมาณ
แผ่นดินอยู่เป็นเวลายาวนาน ในส่วนของการดัดแปลงสังคม
สิ่งที่ส่งผลสะเทือนมาสู่ปัจจุบันมากที่สุด คงได้แก่การก่อเกิดของชาติในความหมายสมัยใหม่
และการก่อเกิดของชนชั้นต่างๆในสังคมไทย ซึ่งล้วนก่อรูปขึ้นภายใต้การควบคุมกำกับ
ของรัฐทั้งสิ้น ตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แล้ว
การก่อเกิดของจินตภาพเรื่องชาติในโลกตะวันตก
เริ่มจากการแยกตัวออกมาจากอำนาจของศาสนจักรโดยอำนาจรัฐท้องถิ่น
ซึ่งต่อมาก็ได้รับการเสริมขยายให้มั่นคงยิ่งขึ้นโดย การปฏิวัติทุนนิยม
จนอาจกล่าวได้ว่าชนชั้นนายทุนตะวันตกมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างชาติของตน จากนั้น
จึงอาศัยชาติเป็นพื้นฐานในการสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา ส่วนในละแวกบ้านเรา
การก่อเกิดของชาติในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นผลมาจากการรุกรานของ
มหาอำนาจตะวันตก
ซึ่งเข้ามารวบรวมชนเผ่าต่างๆเข้าไว้เป็นหน่วยสังคมภายใต้อำนาจการปกครองของตน
เมื่อประชาชนในดินแดนเหล่านี้ รวมตัวกันขับไล่อำนาจฝรั่งออกไป
สายใยสัมพันธ์ในหมู่พวกเขาก็ได้รับการถักทอขึ้นจนกลายเป็นชาติในความหมายสมัยใหม่ได้เช่นกัน
รัฐสมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นแทนที่รัฐอาณานิคม จึง
เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของชาติอย่างชัดเจน กล่าวสำหรับประเทศไทยเรา
เงื่อนไขการก่อเกิดของชาติแบบในยุโรปตะวันตกและแบบในดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมล้วนไม่ดำรงอยู่
หากเป็นผลมาจากการตัดเฉือนดินแดนรอบๆข้างออกไปโดยมหาอำนาจตะวันตก
จนเหลือเดินแดนในส่วนที่เรียกว่าประเทศไทย
นอกจากนี้แล้วการที่ประเทศไทยไม่ได้ถูกปกครองจากมหาอำนาจตะวันตกโดยตรง
ลัทธิชาตินิยมในระดับรากหญ้าจึงไม่เกิดขึ้น
หากกลายเป็นลัทธิชาตินิยมที่แฝงไปด้วยรัฐนิยมในทุกอณูเนื้อของความคิด กระทั่งในบางกรณีก็กลายเป็นการต่อต้านสิ่งมีค่าและองค์ประกอบต่างๆในสังคมไทยเสียเอง
ยกตัวอย่างเช่นในบางช่วง รัฐไทยได้นิยามความเป็นชาติไทยด้วยการต่อต้านคนจีน
ซึ่งเข้ามาตั้งรกราก
ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์และเคยอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐมาเป็นเวลายาวนาน
แต่เนื่องจากในระยะต้น ศตวรรษที่20และก่อนสงครามโลกครั้งที่2
รัฐไทยมีความหวั่นเกรงแนวคิดปฏิวัติในเมืองจีน
และไม่แน่ใจในความภักดีทางการเมืองของคนไทยเชื้อสายจีน
จึงดำเนินการรณรงค์ต่อต้านเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้น
ด้วยความหวั่นเกรงอิทธิพลตะวันตกมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่19 รัฐไทยก็ได้กลาย
มาเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ดำรงอยู่ในท้องถิ่นต่างๆของสังคมไทย
ตั้งแต่ภาษา มาจนกระทั่ง การแต่งกาย และวิถีชีวิตในด้านต่างๆ
ทั้งนี้เพื่อรวมศูนย์วัฒนธรรมเข้าส่วนกลาง โดยรัฐเป็นผู้รับวัฒนธรรม
ตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ตามการตีความของตน และตามกรอบคิดในเรื่องผลประโยชน์ของรัฐ
ซึ่งแยกเป็นอิสระ จากสังคม ด้วยเหตุผลที่ก่อรูปมาในลักษณะดังกล่าว
ความเป็นชาติของคนในประเทศไทยจึงมีลักษณะอ่อนแอและผิวเผินมาโดยตลอด
นอกจากอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐด้วยกันแล้ว
คนในชาติหมู่เหล่าต่างๆแทบจะไม่เคยชินกับการประสานประโยชน์เข้าหากันอย่างแท้จริง
รวมทั้งตัวชาติเองก็ไม่แน่นักว่าเคยเป็นหน่วยผลประโยชน์ส่วนรวมที่ทั้งรัฐและสังคมเฝ้ายึดถืออย่างเป็นรูปธรรม
อย่างมากที่สุดเราก็อาจจะเชียร์นักมวยคนเดียวกัน
และชื่นชมหญิงสาวจากประเทศไทยที่ไปได้ตำแหน่งนางงามสากลมา แต่เราไม่ค่อยเดือดร้อนมากนักที่ป่าไม้กำลังจะหมดไปจากแผ่นดินไทย
หรือ80 เปอร์เซนต์ของที่ดินทำกินในประเทศตกอยู่ในมือคนเพียง10เปอร์เซ็นต์
ทุนข้ามชาติกำลังรุกเข้ามาครอบงำ ตั้งแต่สถาบันการเงินไปจนถึงการค้าปลีก
อะไรทำนองนั้น ในเรื่องของชนชั้นก็เช่นเดียวกัน การที่รัฐไทยได้อุปถัมภ์ชนชั้นพ่อค้ามาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่18
และมีบทบาทในการสร้างระบบทุนนิยมมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20
ย่อมมีผลอย่างยิ่งในการสลายจิตสำนึกอิสระของชนชั้นนายทุนในประเทศไทยมาตั้งแต่แรก
นอกจากนี้แล้วการวางตัวอยู่เหนือชนชั้นนายทุนของรัฐไทยก็ส่งผลให้สำนึกทางชนชั้นของชนชั้นอื่นๆที่เหลือถูกสกัดมาตั้งแต่ต้น
ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรชาวนาหรือคนชั้นกลางที่แยกกิ่งก้านสาขามาจากระบบทุนนิยมก็ตาม
ในสภาพดังกล่าว
องค์กรจัดตั้งทางการเมืองของคนไทยจึงมีลักษณะข้ามชนชั้นมากกว่าแยกชนชั้น
ดังจะเห็นได้จากพรรคการเมืองของไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ของคนทุกประเภท
แม้ว่าทุกพรรคจะมีนาย ทุนค้ำจุน แต่ก็เป็นการเข้าไปในฐานะปัจเจกบุคคล
ในฐานะผู้มีทรัพยากรทางการเมืองมากกว่าผู้อื่น และมี
ความปรารถนาเรื่องอำนาจเป็นการส่วนตัว
มากกว่าที่จะมีอุดมการณ์เข้าไปจัดสรรและจัดการผลประโยชน์ ให้กับชนชั้นของตน
กระทั่งมีอยู่ในหลายกรณีที่ผู้นำพรรคการเมืองและนักการเมืองของไทย
มิได้เป็นสมาชิกจากชนชั้นนายทุนแม้แต่น้อย หากเป็นบุคคลที่มีลักษณะเป็นนายหน้า
หรือคนกลางในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และระหว่างรัฐกับกลุ่มต่างๆซึ่งมีทั้งที่เป็นผู้ผลิตมูลค่าในสังคม
หรือประสงค์จะได้รับผลประโยชน์และสิ่งมีค่าบางอย่างที่รัฐเป็นผู้จัดสรร
ท่านผู้มีเกียรติและมิตรสหายทั้งหลายครับ
ความอ่อนแอของชาติในฐานะหน่วยใหญ่สุดทางสังคม
และความอ่อนแอทางการเมืองของชนชั้นต่างๆในประเทศไทย
เป็นสิ่งที่มีผลอย่างยิ่งในการทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน
ไม่ใช่ระบบที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาดังที่เราเคยฝันไว้
แน่นอน การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปัญญาชนไทยในปี2516
และการลุกขึ้นสู้ในชนบทของขบวนการเมืองฝ่ายซ้ายระหว่างปี2508ถึงประมาณปี2524
ได้ส่งผลให้รัฐไทยปรับตัวมายอมรับกระบวนทัศน์แบบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น
กระทั่งแปรระบอบการเมืองจากอำนาจนิยมมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของสังคมที่แปรเปลี่ยนไป
และเพื่อความอยู่รอดของรัฐเองด้วย
แต่หลังจากขบวนปัญญาชนแห่งเดือนตุลาคมและขบวนฝ่ายซ้ายในชนบทได้สูญสิ้นพลังไปเนื่องจาก
ขาดความเข้าใจทั้งลักษณะของรัฐและสังคมไทย
ก็ปรากฏว่าความอ่อนแอทั้งในลักษณะความเป็นชาติและ การรวมตัวทางชนชั้น
ทำให้สังคมไทยโดยรวมไม่มีพลังพอที่จะควบคุมรัฐได้ อย่าว่าแต่จะไปดัดแปลงรัฐให้มี
ลักษณะครอบงำน้อยลง ผมได้กล่าวมาแล้วในที่อื่นๆหลายครั้ง ถึงอันตรายที่พรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งเข้าไปคุมระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
อันมีมาแต่เดิม เพราะฉะนั้นในที่นี้จะไม่พูดถึง ประเด็นนี้อีกมากนัก
แต่ผมอยากจะย้ำยืนยันว่า
การที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้าไปใช้กลไกการปกครอง แบบอำนาจนิยมซึ่งเกิดก่อนสถาบันประชาธิปไตยนั้น
ไม่เพียงไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
หรือรัฐกับชาติเปลี่ยนแปลงไป
ในทางที่สมดุลมากขึ้น
หากยังมีส่วนเสริมขยายให้รัฐกลายเป็นภาคีที่มีผลประโยชน์แยกต่างหากมากขึ้น
ทั้งนี้โดยมีผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติม ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
คำตอบก็คือว่าการไม่มีทั้งลักษณะประชาชาติและลักษณะทางชนชั้น
ทำให้พรรคการเมืองในประเทศไทยกลายเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์โดยตัวเอง
เป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ของบุคคลจากชั้นชนต่างๆ
ที่มุ่งดูดถ่ายผลประโยชน์ที่รัฐเอามาจากสังคมมาสู่กลุ่มของตน ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรเลยที่พรรคการเมืองในประเทศไทยมักไม่มีนโยบายที่แตกต่างกันชัดเจน
ด้วยเหตุนี้
จึงไม่แปลกอะไรเลยที่นักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งมักเรียกตัวเองว่าข้าราชการการเมือง
เพื่อผนึกภาพลักษณ์เข้าเป็นส่วนเดียวกับรัฐที่มีมาแต่เดิม
(ทั้งที่โดยความจริงนักการเมืองไม่ใช่ข้าราชการ) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรเลย
ที่พรรคการเมืองต่างๆจึงไม่มีแนวคิดที่จะทำให้รัฐเล็กลง ทั้งในด้าน
ขอบเขตการใช้อำนาจ และในด้านการจัดตั้งองค์กร การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น
แท้จริงแล้วไม่ใช่การหดตัว ของอำนาจรัฐ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ของรัฐให้เครือข่ายอุปถัมภ์ทางการเมืองเข้าไปคุมได้มากขึ้น
และดึงผลประโยชน์มาสู่กลุ่มตนมากขึ้นโดยผ่านการใช้อำนาจรัฐ
ผมเคยเรียกกระบวนการแบบนี้ว่าเป็นการไปรเวไตซ์อำนาจรัฐ
ซึ่งจริงๆก็คล้ายกันกับกระแส
ไปรเวไตซ์รัฐวิสาหกิจ
คือผู้ที่จะเข้ามาแทนที่ข้าราชประจำหรือพนักงานประจำของรัฐไม่ใช่ประชาชน
หาก เป็นกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นในกรณีแรก และเป็นกลุ่มอิทธิพลข้ามชาติในกรณีหลัง
แน่ละ ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มองข้ามคนดีๆที่เข้าไปเล่นการเมือง
แต่เราก็ต้องรับว่าท่านเหล่านั้น ไม่ใช่กระแสหลักของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
สรุปในชั้นนี้ก็คือความโน้มเอียงของรัฐไทยในปัจจุบัน
ไม่ใช่รัฐที่เลือกบริการชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หากเป็นรัฐที่เอาประโยชน์จากทุกชนชั้น
รวมทั้งชนชั้นนายทุนด้วย เมื่อใครให้ได้มากก็บริการมาก
หากเป็นบริการที่ให้กับกลุ่มย่อยมากกว่าที่จะเป็นแนวนโยบายทั่วไป
ส่วนการยึดโยงระหว่างรัฐกับชาตินั้น อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีรูปธรรมใดๆมารองรับเลย
จะว่าไป นี่คือจุดอันตรายที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน
วิกฤตเศรษฐกิจที่เราเผชิญมาสามปีเต็มๆ
จริงๆแล้วในบริบทของประเทศไทยคงไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ อย่างเดียว
หากสะท้อนความล้มเหลวทั้งของรัฐ ระบอบการเมือง และรัฐบาลไทยด้วย
ยิ่งในช่วงที่พยายามจะแก้ปัญหากัน
เราก็ยิ่งค้นพบความผิดพลาดอ่อนแอในส่วนของรัฐและผู้บริหาร ประเทศมากขึ้น
สาเหตุความล้มเหลวเหล่านี้มีที่มาจากการที่รัฐไม่เคยได้พิจารณาภาพรวมในเรื่องผลประโยชน์ของ
ชาติ หรือแม้แต่ผลประโยชน์ระยะยาวของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคนไทย
หากรวมศูนย์ความสนใจอยู่แต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่รัฐและคนของรัฐมีส่วนแบ่ง
อย่างเช่นในกรณีเงินกู้จากต่างประเทศและการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดยักษ์ต่างๆเป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ความที่ถือตนเป็นภาคีอิสระจากสังคม
รัฐไทยยังไปต้อนรับ'ลูกค้า'รายใหม่ ซึ่งมี ลักษณะคุกคามความอยู่รอดของประเทศไทยในฐานะหน่วยสังคมอย่างยิ่ง
ลูกค้าดังกล่าวได้แก่กลุ่มทุน
ข้ามชาติ
เมื่อเราพิจารณาถึงเงื่อนไขไอเอ็มเอฟที่รัฐไทยเข้าไปยอมรับมาควบคุมกำกับสังคมไทย
และกฏหมายต่างๆที่รัฐผ่านออกมาเพื่อสนองความต้องการของทุนข้ามชาติ
ก็จะเห็นได้ชัดว่าความผูกพันระหว่างรัฐกับชาติไม่ได้แน่นแฟ้นอย่างที่กล่าวอ้างกันมานาน
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับนายทุนไทยก็ไม่ได้แน่นแฟ้นดังที่คิดกัน ในทางตรงข้าม
ทั้งประเทศชาติและทุนชาติ
ต่างถูกคุกคามความอยู่รอดกันอย่างทั่วหน้า
ในความเห็นของผม ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของบุคคลเพียงอย่างเดียว
หากเป็นจุดอ่อนที่กิน ลึกถึงขั้นโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
.
ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ ขณะนี้เรากำลังยืนอยู่ในปีสุดท้ายของศตวรรษที่20
มีคนบอกว่าในศตวรรษถัดไปความเป็นชาติจะหมดความสำคัญ และรัฐชาติหรือ Nation State
ก็จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย แต่เท่าที่ผมลำดับมาทั้งหมด
ท่านทั้งหลายคงจะเห็นว่าตลอดห้วงคริสต์ศตวรรษที่20 รัฐไทยยังไม่เคย
เป็นรัฐชาติที่ครบถ้วนแท้จริงเลย
แม้ว่าจะมีการย้ายกระบวนทัศน์มาเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยแล้ว แต่ริ้วรอย
ของความเป็นรัฐโบราณก็ยังเหลืออยู่มาก ทั้งในแง่วัฒนธรรมการเมืองและโครงสร้างการปกครอง
อันนี้ ทำให้เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐไทยและชาติไทยอาจจะเป็น'รัฐชาติ'แห่งแรกๆ
ที่ถูกกร่อนสลายด้วย กระแสโลกาภิวัตน์และอิทธิพลทุนข้ามชาติ
เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่เคยเป็นรัฐชาติที่แท้จริง
ถ้าเราเอาประเด็นดังกล่าวหวนกลับมาพิจารณาร่วมกับนิยามของการเมือง รัฐ
และสังคมที่ผมอธิบายไว้ในตอนต้น
ก็จะพบว่าเจ้าของผลประโยชน์หลักๆในสังคมไทยในอนาคตอาจจะไม่ใช่สมาชิกของชาติไทยอีกต่อไป
เช่นนี้แล้วการเมืองข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และรัฐไทยจะดำรงอยู่เพื่อใคร
ผมจะไม่รังเกียจเลย ถ้าการ'สิ้นสลาย'ของความเป็นชาติ
จะเป็นกระบวนการยกระดับคนไทยไปสู่ความเป็นพลเมืองโลกที่มีศักดิ์ศรีเท่าคนอื่น
และการลดอำนาจของรัฐไทยจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนของตนเองมากกว่ากลุ่มอิทธิพลนอกประเทศ
แต่เท่าที่เป็นอยู่ผมยังไม่เห็นว่าบ้านเมืองเราจะคลี่คลายในทิศทางดังกล่าว
สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองที่รัฐไทยยึดถืออยู่ในปัจจุบัน
ในอนาคตอีกไม่ไกลข้างหน้ารัฐบาลไทยก็จะกลายเป็นแค่ผู้จัดการผลประโยชน์ของทุนข้ามชาติ
และสังคมไทยก็จะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม
รวมทั้งเป็นเมืองขึ้นในทางปัญญา ที่ไม่อาจหวนฟื้นคืนกลับมาเหมือนเดิม
นอกจากนี้แล้ว ความเป็นชาติที่อ่อนแอมาแต่เดิมของคนไทย
ก็จะยิ่งถูกกัดกร่อนให้สูญสลาย ด้วย ผลประโยชน์และกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันสุดขั้ว
ระหว่างคนส่วนน้อยที่ได้รับการเจือจานส่วนแบ่งจากทุนข้ามชาติ
กับส่วนใหญ่ที่ถูกริบเครื่องมือและลู่ทางทำมาหากิน
พูดง่ายๆก็คือขณะที่สายใยระหว่างรัฐกับชาติถูกตัดเฉือนโดย'ลูกค้า'รายใหม่
ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติก็ย่อยยับจนรวมตัวกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม
ทั้งหมดนี้ผมพูดจากเงื่อนไขที่เราไม่ทำอะไรเลย
แต่ถ้าประชาชนทุกหมู่เหล่าในประเทศไทย สามารถใช้สถานการณ์ที่เป็นอยู่เชื่อมร้อยเข้าหากัน
และนิยามความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ ที่ไม่ใช่นามธรรมเลื่อนลอย
หากเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ส่วนรวมที่ผ่านการประสานสังเคราะห์แล้วอย่างเป็นรูปธรรม
บางทีการตั้ง'แนวรบ'ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านการรุกรานจากภายนอก
ก็อาจเป็นไปได้
และถ้าการรวมตัวของประชาชน ซึ่งเคลื่อนไหวในรูปของการเมืองภาคพลเมือง
สามารถส่งผลให้มีการนิยามระบอบประชาธิปไตยกันใหม่
โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมเท่ากับหรือมากกว่าการใช้ตัวแทน
บางทีเราก็อาจจะสามารถลดระดับการครอบงำของรัฐลง
กระทั่งสามารถอาศัยรัฐเป็นป้อมปราการปกป้องผลประโยชน์ของชาติในความหมายใหม่นี้ด้วย
กล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ถ้าอยากจะอยู่รอดร่วมกันในฐานะประชาชาติหนึ่ง
เราคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้
อีกแล้ว
.หากจะต้องเร่งกำลังปรับเปลี่ยนทั้งรัฐและสังคมไปพร้อมๆกัน
ในความเห็นของผม
การเป็นรัฐชาติที่ก่อเกิดขึ้นสำเร็จเป็นรายสุดท้ายในบริบทของศตวรรษที่21
ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าการเป็นรัฐแรกและชาติแรกที่ถูกศตวรรษที่21ทำลายลง
ต่อเรื่องนี้
.ผมคิดว่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่งหากมีการแลกเปลี่ยนอภิปรายกันอย่างกว้างขวางออกไป
ขอบพระคุณมากครับ
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปลุกไทยแก้วิกฤต สลัดทิ้งโซ่ทุนโลก
มติชนรายวัน, ๑๕ ต.ค. ๒๕๔๓, น. ๒, ๖
หมายเหตุ - คำปราศรัยสาธารณะของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
อดีตผู้นำในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในนาม ประธานกลุ่ม ปxป (กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน)
เรื่อง 'อำนาจการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ และทางออกของ ประชาชน' ที่หอประชุมใหญ่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวันครบรอบ 27 ปี '14 ตุลา'
พี่น้องทั้งหลายและมิตรสหายทั้งหลาย.....
ก่อนอื่น...ผมขอแสดงความยินดีต้อนรับทุกท่าน ที่ได้กลับมาเยือน 'สนามรบ' ดั้งเดิมของการต่อสู้เพื่อประชา
ธิปไตย...
ในเดือนตุลาคมของ 27 ปีก่อน ดอกไม้แห่งเสรีภาพผลิบานเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้
จากนั้นเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้ก็ได้หว่านเพาะไปทั่วแผ่นดินไทย...
ถามว่าแล้วทำไมในวันนี้เราจึงต้องกลับมาพบกันอีก...
แน่นอน ที่มิได้เป็นแค่พิธีกรรมรำลึกถึงวีรกรรมเก่าก่อนเท่านั้น...หากเป็นการชุมนุมกันเพื่อถามหาผลพวงการต่อสู้ที่ถูกแย่งชิงไป...ถามหาความหมายของชีวิตเลือดเนื้อที่เคยสละแลกกับความรุ่งเรืองของปิตุภูมิ
ถามหาอิสรภาพของชาติ...และอำนาจอธิปไตยของประชาชน
การต่อสู้ 14 ตุลาคม อันยิ่งใหญ่ เป็นต้นแบบของการเมืองภาคประชาชน ในบรรดาผู้คนเรือนแสนเรือนล้าน
ไม่มีแม้แต่วิญญาณเดียวที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ทุกคนเสี่ยงภัยอันตรายเพื่อร่วมกันสร้างชีวิตที่ดีกว่า...ร่วมกันสร้างระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ...โดยยอมเอาตัวเองเป็นอิฐหินดินทรายวางรากฐาน...
ในครั้งนั้น...จิตวิญญาณเฉกเช่น 'นักรบ' เดือนตุลา ไม่เพียงเปล่งประกายจุดความหวังให้กับคนทั้งชาติ
หากยังกอบกู้ประเทศไทยให้มีฐานะทัดเทียมอารยประเทศ...มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรีปรากฏก้องไปทั่วโลก...ว่านี่มิใช่ชาติพันธุ์ที่ต่ำต้อย
และไม่ใช่ดินแดนที่ใครจะมาข่มเหงครอบงำโดยง่าย...
แต่ 27 ปีผ่านไป...แม้สิทธิเสรีภาพยังคงอยู่...แต่บ้านเมืองกลับตกอยู่ในห้วงวิบากกรรมราวถูกสาป
ถึงวันนี้เราพูดไม่ได้เต็มปากอีกแล้วว่าบ้านเราเมืองเรามีฐานะอันใดในระดับสากล...เราพูดไม่ได้เลยว่าประเทศไทยในสภาพปัจจุบันคือประเทศในอุดมคติ...เราพูดไม่ได้ว่านี่คือแผ่นดินที่ร่มเย็นเป็นสุข
วิกฤตเศรษฐกิจที่แผ่คลุมประเทศชาติราวเมฆร้ายตลอดระยะสามปีที่ผ่านมา...ไม่เพียงสะท้อนความผิดพลาดของผู้รับผิดชอบประเทศ...ไม่เพียงสะท้อนการผิดทิศของแนวทางพัฒนา...หากยังสะท้อนสภาวะที่ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิงของประชาชน....
พี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลายครับ...
หลังจากผ่านการสำรวจปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว ผมเสียใจที่จะต้องเรียนตรงๆ ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้มีความหนักหน่วงที่สุดในระยะ
50 ปี นับจากสงครามโลกครั้งที่สอง...
และถ้าเราจะพูดกันตามความจริง ก็คงต้องบอกว่ามันมิได้เป็นแค่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเดียว
หากเป็นวิกฤตชาติ...ที่บวกรวมทั้งความล้มเหลวในการบริหารจัดการธุรกิจ ความล้มเหลวของระบบการเมืองและระบบบริหารราชการแผ่นดิน
ความล้มเหลวของระบบการศึกษาวัฒนธรรม การล่มสลายของภาคเกษตรกรรมและสังคมชนบท กระทั่งบวกรวมวิกฤตทางด้านจิตสำนึกและจิตวิญญาณ...
ถามว่าแล้วเราจะเริ่มต้นสะสางปัญหากันอย่างไร
คำตอบของผมอาจจะมีลักษณะกำปั้นทุบดินสักนิด...แต่เราก็ไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจสภาพของวิกฤตโดยองค์รวม...
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเรามาถึงวันคืนอันเลวร้ายเช่นนี้ อยู่ที่ฐานะของประเทศไทยในระบบทุนนิยมโลก...มันเป็นฐานะของประเทศทุนนิยมล้าหลัง
ซึ่งอ่อนแอทั้งในด้านพลังการผลิต ขาดแคลนทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ขาดอิสรภาพแท้จริงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และเป็นเพียงหุ้นส่วนรายย่อยในตลาดการค้าสากล
ในสถานภาพดังกล่าว...อันที่จริงเราก็จ่ายราคามามากแล้ว ด้วยการมุ่งผลิตสินค้าส่งออกราคาถูก
ยอมกดทั้งค่าแรงงานและราคาผลผลิตทางเกษตรเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดภายนอก ทำให้ประชากรไทยจำนวนมหาศาลตกอยู่ในสภาพด้อยพัฒนา
ขณะที่ประเทศกำลัง 'พัฒนา' ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแบบ
'หางเครื่อง' ที่แยกไม่ออกจากการพึ่งพิงบริษัทต่างชาติ
ทว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้...แม้จะมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง แต่ก็คงไม่ถึงกับทำให้เราตกอยู่ในวิกฤตหนักหน่วงอย่างในปัจจุบัน
ถ้าหากเราไม่ผลีผลามเข้าไปยอมรับสิ่งที่เรียกว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่
(Neo-liberalism) ซึ่งเป็นกระแสครอบงำของยุคโลกาภิวัตน์...
แนวคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญที่บรรดาบรรษัทข้ามชาติ
หรือทุนใหญ่ระดับโลก มีไว้หว่านล้อมประเทศที่อ่อนแอให้เปิดประตูค้าเสรี เปิดระบบการเงินเสรี
เพื่อว่าพวกเขาจะได้เข้ามาครอบงำโดยสะดวก...พวกเขาได้นำปรัชญาเสรี นิยมฉบับคลาสสิคมาดัดแปลงให้เข้ากับฐานะเหนือกว่าของตัวเอง...สร้างมายาภาพเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
เพื่อปกปิดการผูกขาดในระดับสากล...สร้างภาพลวงตาเรื่องโลกใหม่ไร้พรมแดน และความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ
เพื่อเป็นม่านควันอำพรางการขูดรีดเอาเปรียบชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วยอำนาจการเงินของตน...
องค์กรสำคัญของทุนข้ามชาติ อย่างเช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International
Monetary Fund:IMF) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) แท้จริงแล้วล้วนทำหน้าที่วางกรอบกฎเกณฑ์
กดดันให้ประเทศที่เสียเปรียบทั้งหมดยกเลิกมาตรการป้องกันตนเอง...
องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ทั้งควบคุมเงินกู้ระหว่างประเทศ ทั้งผลักดันให้ลดอัตราภาษีศุลกากรที่จะเก็บจากสินค้าของประเทศอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันก็กดดันให้ยกเลิกการคุ้มครองสินค้าจากภาคเกษตร ผลักดันเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์
และมาตรฐานไอเอสโอ (International Standard Organization:ISO) ต่างๆ ซึ่งมีแต่ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเสียเปรียบยิ่งขึ้น...
การเปิดเสรีทางด้านการค้าและทางด้านการเงินในกรณีของประเทศไทย ในเบื้องแรกได้ก่อให้เกิดภาพลวงของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่เหลือเชื่อ
เนื่องจากการไหลเข้ามาของเงินกู้จากต่างประเทศ ทั้งที่กู้โดยภาครัฐและภาคเอกชนในระยะหนึ่งเศรษฐกิจไทย
มีอัตราการขยายตัวถึง 13.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดในโลก และยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าสิบเปอร์เซ็นต์หลายปีต่อเนื่องกัน
สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนยังคงถูกทิ้งร้าง กระทั่งถูกแย่งชิงพื้นที่ทำกิน
ถูกเอารัดเอาเปรียบจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน...
แต่ผู้สังเกตเศรษฐกิจภาคเมืองกลับเกิดอุปาทานใหญ่โตในเรื่องความมั่งคั่งของตนเอง เงินกู้ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นปริมาณมหาศาล
แทนที่จะถูกนำไปพัฒนาพลังการผลิตหรือเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ตลอดจนบูรณะฟื้นฟูส่วนที่อ่อนด้อยของประเทศชาติ
กลับกลายเป็นบ่อเกิดของลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้ว เป็นก่อเกิดของการโกงกินทุจริตอย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
มีการปล่อยเงินกู้โดยสถาบันการเงินต่างๆ ในระดับร้อยล้านพันล้านโดยไม่มีหลักค้ำประกันที่แท้จริง
และปล่อยกู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะไม่ได้คืน...
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลย ที่สุดท้ายแล้ว แหล่งเงินกู้ในต่างประเทศจึงพากันทวงเงินของตนกลับไป
ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโดยฉับพลันขึ้นในประเทศไทย จู่ๆ เราก็พบว่าเงินทองที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองหายวับไปกับตา...
มิหนำซ้ำค่าของเงินบาทที่ทรุดฮวบลง ก็ยิ่งทำให้หนี้สินเพิ่มพูนขึ้นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์
ประเทศไทยกลายเป็นกรณีแรกๆ ของวิกฤตฟองสบู่แตก จนทั่วโลกพากันล้อเลียนเรา และเรียกวิกฤตแบบนี้ว่า
'โรคต้มยำกุ้ง'
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจฟองสบู่นั้น
ไม่ใช่เป็นเรื่องของทรัพย์สินเงินตราอย่างเดียว
หากมายาภาพของเศรษฐกิจฟองสบู่ยังได้ส่งผลกระทบกัดกร่อนจิตสำนึกและจิตวิญญาณของคนไทยจำนวนมาก...ในระดับที่เกือบจะเยียวยากู้กลับไม่ได้...
เงินกู้ที่เข้ามาท่วมท้นสังคมไทย ได้ก่อให้เกิดตำแหน่งงานปลอมๆ ขึ้นอย่างมากมาย
คนชงกาแฟถูกเรียกเลขานุการ อนุภรรยาถูกเรียกว่าพนักงานต้อนรับ
และที่เลวร้ายมากอย่างหนึ่งก็คือ งานหลอกลวงสร้างภาพลักษณ์ให้กับโครงการ
หรือสินค้าไร้สาระต่างๆ กลับถูกเรียกว่างานประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
กระนั้นก็ดี...แม้ว่าจะเกิดตำแหน่งงานที่ไร้ผลผลิตขึ้นมามากมายในสังคมไทยช่วงดังกล่าว
แต่รายได้ของผู้คนในเมืองกลับเป็นรายได้จริง และการจับจ่ายใช้สอย
บริโภคสรรพสิ่งก็เป็นเรื่องจริง
สภาพเช่นนี้ได้ส่งผลอย่างยิ่งต่อทรรศนะของเยาวชนในเรื่องของการศึกษา
ทุกคนอยากได้ปริญญา
แต่เกือบจะไม่มีใครอยากเรียนรู้อะไรอย่างเป็นระบบและมีคุณค่าความหมาย...การเรียนเร็ว
เรียนลัด กลายเป็นค่านิยมที่แตะต้องไม่ได้
เนื่องจากผู้คนอยากจะรีบไปรับส่วนแบ่งที่คิดว่าควรเป็นของตน...
ยิ่งไปกว่านั้น
ลัทธิบริโภคนิยมและเศรษฐกิจฟองสบู่ยังก่อให้เกิดความคิดแบบปัจเจกชนนิยมใหม่
ซึ่งไร้รากและไร้สารใยสัมพันธ์กับสังคมที่ตัวเองอยู่อาศัย
เงินกลายเป็นเครื่องวัดความสำเร็จเพียงอย่างเดียว
ไม่ว่าสิ่งที่สูญเสียไปจะเป็นศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ
หรือแม้แต่มิตรภาพกับเพื่อนมนุษย์...
เราอาจจะกล่าวได้ว่า คนในเมืองช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่
หายใจเข้าคิดถึงเงินหายใจออกก็คิดถึง ก่อนนอนยิ่งคิดถึงเงินก้อนโตกว่าเดิม...
สภาพดังกล่าวไม่เพียงทำให้ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทห่างไกลกันยิ่งขึ้นในทางรายได้และเงื่อนไขดำรงชีพเท่านั้น
หากยังเกิดการแยกตัวทางความคิดและวัฒนธรรมระหว่างคนในชาติ
ในระดับที่เกือบหาอะไรมาเชื่อมต่อไม่ได้ ชนบทที่ยากไร้นับวันยิ่งถูกมองข้ามดูแคลน
ความคิดเรื่องส่วนรวมถูกเย้ยหยัน ความกล้าหาญ
และความทระนงในศักดิ์ศรีของความเป็นคนกลายเป็นเรื่องตลกและเป็นหัวข้อซุบซิบนินทา
ถ้าจะให้ผมสรุปสภาพสังคมไทยก่อนเกิดวิกฤต ก็คงสามารถรวบรัดได้สั้นๆ ว่า
ในช่วงนั้นคนทำงานจริงมักไม่ค่อยมีรายได้ คนมีรายได้มักไม่ค่อยทำงานจริง
คนจริงถูกเหยียบย่ำ ส่วนคนลวงโลกกลับได้ดี
ผมเข้าใจว่านี่ไม่ใช่สังคมที่เราปรารถนา
เพราะฉะนั้นในการกอบกู้ประเทศชาติให้พื้นจากวิกฤต
สิ่งที่เราจะต้องจำไว้เป็นอันดับแรกก็คือ...สังคมก่อนวิกฤตไม่ใช่สังคมในอุดมคติ
ไม่ใช่สภาพที่เราอยากให้หวนคืนมา...
หากการกอบกู้ประเทศไทยในครั้งนี้หมายถึงการกอบกู้ส่วนทั้งหมดที่ประเทศกันขึ้นเป็นชาติของเรา
ให้ทุกคนมีที่อยู่ ที่ยืน
มีอิสรภาพในการทำมาหากิน...มีศักดิ์ศรีและฐานะความเป็นมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน...การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ควรเป็นการทบทวนสะสางความผิดพลาดทั้งหมดที่ผ่านมา
ไม่ใช่การชักรอกดึงสวรรค์ที่ล่มจมของคนส่วนน้อยให้โผล่กลับขึ้นมาจากก้นมหาสมุทร
แล้วปล่อยให้คนส่วนใหญ่จมปลักยากไร้ต่อไปอีก...
พี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลายครับ
การพาประเทศไทยเข้าไปสู่เงื้อมเงาของลัทธิเสรีนิยมใหม่...โดยเปิดเสรีทางการค้าและการเงินอย่างไม่มีเงื่อนไข
แท้จริงแล้วก็คือการตัดสินใจโดยใช้อำนาจการเมือง...เป็นการดำเนินนโยบายที่ทำไปโดยพลการ
ไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับประชาชนของรัฐบาล 4-5
ชุด...ที่ผลัดกันปกครองประเทศในระยะประมาณสิบปีที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น ในการใช้มาตรการต่างๆ มาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ
บรรดาผู้กุมอำนาจการเมืองก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่สามารถดิ้นหลุดออกจากกรอบคิดอันเป็นต้นตอของปัญหามาตั้งแต่แรก...ในทางตรงกันข้าม
ผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจระดับนโยบายเหล่านี้
กลับยิ่งพาประเทศชาติถลำลึกเข้าไปสู่การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ
หรือทุนใหญ่ระดับโลก จนเกือบจะหาทางออกไม่ได้
แน่ละ ในส่วนของประเทศไทยเอง
เราคงต้องยอมรับความผิดที่กู้เงินเขามาแล้วไม่ได้เอามาสร้างรากฐานการผลิตได้อย่างแท้จริง
เมื่อไม่มีอะไรงอกเงยขึ้นมา และไม่มีปัญญาชดใช้
พอเจ้าหนี้ทวงคืนทุกสิ่งทุกอย่างก็พังพินาศลง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มารู้เห็นอะไรกับสิ่งเหล่านี้
และไม่ได้มีส่วนแบ่งฉ้อฉลกับเงินกู้เหล่านั้นจะต้องมาแบกรับการใช้หนี้ที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ...
และไม่ได้หมายความว่าผู้กุมอำนาจการเมืองจะมีสิทธิเอาประเทศไทยทั้งประเทศ
และคนไทยทั้งชาติไปจำนองไว้กับบรรษัทข้ามชาติ เพื่อแลกกับการลดหย่อนผ่อนหนี้
หรือการให้กู้เพิ่ม...
อันที่จริงสิ่งที่ทุนใหญ่ระดับโลกต่อรองเอาจากประเทศไทยในระยะสามปีมานี้
ได้สะท้อนให้เห็นแล้วสิ่งที่พวกเขาต้องการเป็นแค่กำไรสูงสุด การได้เปรียบสูงสุด
โดยไม่คำนึงถึงทุกข์สุขใดๆ ของประชาชนไทยแม้แต่น้อย
คำถามจึงคงมีอยู่ว่า แล้วทำไมผู้กุมอำนาจการเมืองเหล่านี้จึงยินยอม...
เป็นเพราะพวกเขาไร้เดียงสา
ขาดวิสัยทัศน์หรือมีผลประโยชน์ของตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้อง...สิ่งเหล่านี้เราอาจจะยังสรุปไม่ได้...แต่สิ่งที่สรุปได้อย่างชัดเจนก็คือมาตรการต่างๆ
ที่ผู้กุมอำนาจการเมืองนำมาใช้และการยอมรับเงื่อนไขของ
ไอเอ็มเอฟไม่เพียงแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ได้เท่านั้น
หากยังซ้ำเติมให้วิกฤตของชาติทรุดหนักลงไปอีก...
จนอาจจะกล่าวได้ในวันนี้เราเกือบไม่มี 'อธิปไตย' ทางเศรษฐกิจเหลืออยู่เลย
ด้วยแรงกดดันจกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
รัฐบาลไทยได้สั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถึง เกือบ 60 แห่ง
กับยึดและปิดธนาคารไทยอีกสี่แห่ง
จากนั้นได้สร้างองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า
ปรส.ขึ้นมา...และนำสินทรัพย์ของบริษัทที่ถูกปิดมาเปิดประมูล
โดยให้รัฐเข้าไปแบกรับส่วนที่ขาดทุน...
สิ่งเหล่านี้คืออะไรเล่า ถ้าไม่ใช่การแปลงหนี้เอกชนให้กลายเป็นหนี้สาธารณะ
ซึ่งหมายถึงการปัดภาระการก่อกรรมทางเศรษฐกิจให้ตกอยู่บนบ่าของประชาชนทั้งชาติ...ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับอะไรจากเศรษฐกิจฟองสบู่เลย
เท่านั้นยังไม่พอ
การขายทรัพย์สินของชาติในระดับที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาหากำไรเพิ่มเติม
ซื้อวันนี้ขายพรุ่งนี้ ซื้อถูกขายแพง
ดูดซับเงินตราในประเทศไทยออกไปนอกประเทศอีก...ส่วนการทุจริตหาส่วนแบ่งโดยผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น
แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็เป็นที่ร่ำลือกล่าวขานกันทั่วไป
การขายธนาคารที่รัฐยึดมาให้ต่างชาติโดยรับประกันการทวงหนี้และการขาดทุนก็ดี
การยินยอมให้ทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ
ของไทยก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องคุกคามความอยู่รอดของเศรษฐกิจแห่งชาติทั้งสิ้น...
ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันการเงินเหล่านั้นเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับการประกอบธุรกิจภายในประเทศ
หากอยู่ในการควบคุมของต่างชาติแล้วก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรกับเศรษฐกิจไทยอีก
ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกก็เช่นเดียวกัน บัดนี้ห้างใหญ่ต่างๆ
ล้วนเป็นของทุนต่างชาติเกือบทั้งหมด และกำลังขยายตัวไปสู่หัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ
การได้เปรียบในการตั้งราคาสินค้า การให้บริการ ตลอดจนการบริหารจัดการที่เหนือกว่า
ได้ส่งผลกระทบให้ร้านค้าย่อยของไทยไม่สามารถอยู่ในฐานะจะแข่งขันกับห้างเหล่านี้ได้
และต้องล้มละลายลงไปเป็นทิวแถว ห้างใหญ่เมื่อผูกขาดตลาดท้องถิ่นได้ก็กดราคาสินค้าจากผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นคนไทย
หากำไรส่งกลับบ้านเดิมของตนได้อีก โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง
ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากการผูกขาดโดยรัฐไปสู่การผูกขาดโดยบริษัทเอกชน
ซึ่งเป็นเครือข่ายนายหน้าของบรรษัทข้ามชาติเช่นกัน
ต่อไปอนาคตอันใกล้...ภายใต้คำสัญญาในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letters of Intent)
ที่ผู้กุมอำนาจในประเทศไทยยื่นเสนอต่อไอเอ็มเอฟ และกฎหมาย 11 ฉบับ
ที่รัฐบาลผลักดันให้รัฐสภาผ่านออกมา...ไม่เพียงบรรษัทข้ามชาติจะควบคุมสถาบันการเงิน
กิจการสาธารณูปโภค และการค้าในประเทศไทยเท่านั้น
หากยังสามารถเข้าไปครอบงำได้ถึงภาคเกษตรกรรม
สามารถถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ
ตลอดจนสามารถนำคนของตนเข้ามาทำงานดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ในแทบทุกภาคส่วนของสังคมไทย
มิตรสหายทั้งหลายครับ...
รายละเอียดของวิกฤตเศรษฐกิจ และข้อเสียเปรียบต่างๆ
ที่ประเทศไทยถูกกดดันให้แบกรับนั้น ผมคงไม่สามารถนำมากล่าวทั้งหมดในที่นี้ได้...
แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าการยอมรับเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟก็ดี
และการตกลงอยู่ในกรอบกำหนดขององค์การการค้าโลกก็ดี...ล้วนเป็นการตัดสินใจโดยผ่านการใช้อำนาจการเมือง...เป็นการตัดสินในนามของประเทศชาติ
โดยผู้นำรัฐบาล
โดยส่วนบุคคลแล้ว
ไม่มีใครในประเทศไทยที่จะมีอำนาจและความชอบธรรมในการออกกำหนดกฎเกณฑ์ตลอดจนวางกรอบนโยบายในนามของประเทศชาติได้...เว้นไว้แต่ว่าคนผู้นั้นหรือคนกลุ่มนั้นได้เข้าไปรับผิดชอบตำแหน่งสาธารณะ
ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ในเมื่อพื้นฐานความเป็นมาของปัญหาและวิกฤตครั้งนี้
เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจการเมืองโดยตรงการแก้ไขปัญหาและกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากวิกฤต
ย่อมแยกไม่ออกจากการใช้อำนาจการเมืองเช่นกัน
คำถามที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้ก็คือ...ในเมื่อผู้กุมอำนาจมีวิธีคิดและวิธีการดำเนินนโยบายที่แยกออกจากผลประโยชน์ของประชาชนในชาติเสียแล้ว
ประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งปวงจะทำอย่างไรดี
ในปัจจุบันหนี้สินสาธารณะของประเทศไทยมีปริมาณสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท
เรามีคนตกงานมากกว่า 2.5 ล้านคน และโทรมทรุดอยู่ในความยากไร้อีกนับสิบล้าน
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามีโอกาสล้มละลายหรือตกงานเพิ่มอีกเป็นจำนวนมากมาย
อันที่จริงนี่ไม่ใช่กรณีพิเศษแต่อย่างใด
ตั้งแต่นานาประเทศตกอยู่ภายใต้การครอบงำของลัทธิเสรีนิยมใหม่
อัตราการว่างงานของประชากรในโลกที่ตกงานหรือทำงานได้ไม่พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพ
มีอยู่ถึงหนึ่งในสาม และในรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 20 กับศตวรรษที่ 21
ช่องว่างของรายได้ ระหว่างผู้มีรายได้สูงกับรายได้ต่ำได้ขยายห่างไปถึง 150 เท่า...
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาตามกรอบของลัทธิเสรีนิยมใหม่
จึงไม่มีทางที่จะพาประชาชนไทยผ่านพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้...ต่อให้เศรษฐกิจกลับฟื้นคืนสู่อัตราขยายตัวในอัตราสูง
ทุกอย่างก็จะเป็นแค่ตัวเลข เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ
ไม่ได้เป็นของคนไทยอีกต่อไป
ผลกำไรที่งอกเงยขึ้นมาสามารถถูกส่งออกไปที่อื่นได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์ขวางกั้น
การจ้างงานคนไทยโดยบรรษัทข้ามชาติก็จะมีขอบเขตจำกัด
เพราะพวกเขาไม่มีเพียงนำคนของตนเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เท่านั้น
หากระดับเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการแบบใช้ต้นทุนต่ำสุด
ก็จะไม่มีที่ว่างสำหรับคนไทยมากนัก...ประชาชนของเราไม่ต่ำกว่า 70-80
เปอร์เซ็นต์จะถูกทิ้งให้มีชีวิตอยู่ไปตามยถากรรม ไม่มีเงินเดือน ไม่มีรายได้
ไม่มีที่ดินหรือเครื่องมือการผลิตใดๆ...
กลายเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศของตัวเอง...
เพราะฉะนั้นในเวลานี้จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง
เราควรจะเดินหน้าต่อไปในกรอบผูกมัดของทุนนิยมโลก ซึ่งคนไทยไม่เคยมีส่วนได้กำหนด
หรือเราจะถอยกลับมาสักระยะหนึ่ง เพื่อปรับปรุงสะสางจุดอ่อนข้อบกพร่องภายในประเทศเสียก่อน
จากนั้นเมื่อเข้มแข็งเพียงพอแล้วจึงเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัว...
นี่เป็นเรื่องที่ประชาชนไทยจะต้องร่วมกันตัดสินใจ
ในความเห็นของผม
ทางเลือกที่ถูกต้องชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นข้อหลัง..คือถอยกลับจากการผูกมัดขององค์การการค้าโลก
ถอยกลับจากกรอบผูกมัดของไอเอ็มเอฟ ยกเลิกกฎหมาย 11
ฉบับที่ทำให้ประเทศไทยเสียอิสรภาพทางเศรษฐกิจ
ยกเลิกพันธสัญญาที่เสียเปรียบต่างชาติทั้งปวง
พักการใช้หนี้ต่างประเทศไปไม่ต่ำกว่าสิบปี..และใช้เวลาช่วงนี้ฟื้นฟูบูรณะระบบภายในของเรา
แน่ล่ะ...นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายดายแต่ประการใด
ในอันดับแรกสุด
เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้กุมอำนาจการเมืองหันมาเห็นด้วยกับแนวทางนี้
ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยวิธีเดียว คือแสดงความเรียกร้องต้องการออกมาอย่างชัดเจน
ทุกหนแห่งทุกหมู่เหล่าเราจะต้องแสดงให้ผู้รับผิดชอบตัดสินใจแทนประเทศไทย...เห็นชัดแจ้งว่าอำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน
นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ
...และพวกเขาเป็นเพียงกลุ่มบุคคลที่ประชาชนมอบหมายให้ไปทำงานแทน...
ในฤดูเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่จะมาถึงนี้
ประชาชนทุกกลุ่มควรจะช่วยกันเรียกร้องนโยบายสร้างอิสรภาพทางเศรษฐกิจ...เรียกร้องนโยบายถอนตัวออกจากข้อเสียเปรียบที่รัฐบาลหลายชุดไปผูกมัดบ้านเมืองของเราไว้...ผลักดันให้พรรคการเมืองทั้งปวงยอมรับพันธะในการกอบกู้ประเทศชาติ
ในอันดับต่อมา...ทางฝ่ายประชาชนเองก็ต้องมีการปรับตัว
เกี่ยวร้อยกันเป็นชาติขึ้นมาใหม่...จากนี้ไปชาติของเราไม่ควรเป็นนามธรรมที่ถูกนำไปใช้อ้างโดยผู้ใด
หากจะต้องเป็นรูปธรรมของผลประโยชน์ที่จับต้องได้ของประชาชนทุกชั้นชน
ในความเป็นชาติของเราจะต้องมีที่อยู่ที่ยืนให้กับคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ
ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยรายใหญ่ ข้าราชการและพนักงานของรัฐ ปัญญาชนและผู้ประกอบวิชาชีพระดับสูง
สื่อมวลชน ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรในชนบท ชาวประมงในท้องทะเล
หรือแม้แต่ชนส่วนน้อยตามภูดอยที่ถือกำเนิดและมีถิ่นฐานอยู่บนแผ่นดินนี้
ที่ผ่านมา การเมืองการปกครองแบบปิดแคบ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ปิดกั้น
และการศึกษาที่มุ่งสร้างแต่ชนชั้นนำ...ล้วนมีส่วนทำให้พวกเราแตกร้าวกันเอง
เอาเปรียบกันเอง เหยียดหยามกันเอง สิ่งเหล่านี้จะต้องยุติ
หากเราต้องการอยู่รอดร่วมกัน
สังคมที่มีพลังคือสังคมที่ยุติธรรม
สังคมที่ทุกคนเป็นสมาชิกได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี
แม้เราจะไม่อาจเท่าเทียมกันได้ในทุกเรื่องราว
แต่ฐานะความเป็นคนจะต้องเสมอภาคกัน...หากเราเคารพกันเองไม่ได้
ให้ความเป็นธรรมกันเองไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะสามารถไปทวงถามศักดิ์ศรี
ฐานะและความเป็นธรรมจากชาติอื่นๆ ที่เขาแข็งแรงกว่าเรา...
เหล่านี้หมายถึงว่าทุกคนจะต้องปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยได้เปรียบมาก่อน
เราไม่มีความปรารถนาที่จะนำสภาพก่อนวิกฤตกลับคืนมา....หากจะฝ่าไปสู่วิกฤตสภาพใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ถูกต้องกว่าเดิม และสร้างประเทศไทยที่เป็นของคนไทยทุกคน
หลายท่านเคยถามผมว่าทุกวันนี้
สังคมในอุดมคติของผมคืออะไร คำตอบของผมคือไม่มี สิ่งที่ผมอยากเห็นคือสังคมไทยที่เรารู้จัก
หากหักลบด้วยความชั่วสองสามประการ หักลบด้วยความไม่ถูกต้องสองสามประการ
จากนั้นเราน่าจะอยู่ร่วมกันได้
โดยพื้นฐานแล้ววิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตของสังคมเมือง เป็นวิกฤตเศรษฐกิจของคนชั้นกลาง แต่การกอบกู้จะทำโดยลำพังไม่ได้ หากจะต้องฟื้นฟูบูรณะชนบทไปพร้อมๆ กัน ทำให้ชนบทเข้มแข็ง กลายเป็นฐานการผลิตทั้งมูลค่าใช้สอยและมูลค่าแลกเปลี่ยนเป็นพื้นฐานสำหรับการค้าและอุตสาหกรรมแปรรูปในเมือง ซึ่งเติบโตมาจากภูมิปัญญาของพวกเราเองกล่าวอย่างสรุปรวบรัดก็คือ นโยบายกอบกู้เศรษฐกิจของชาติ ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกเท่านั้น หากยังต้องรองรับประชาชนไทยได้ทั้งในภาคเมืองและในภาคชนบท มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น จิตสำนึกเป็นเจ้าของชาติร่วมกันจึงจะสามารถสร้างขึ้นมาได้...อันดับสุดท้าย นอกเหนือไปจากการเรียกร้องให้ผู้กุมอำนาจเปลี่ยนนโยบาย และการเชื่อมร้อยผลประโยชน์เข้าหากันระหว่างคนในชาติแล้ว สิ่งที่จะต้องทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องมีการปรับปรุงระบบการใช้อำนาจให้ถูกต้อง บริสุทธิ์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการที่ประเทศไทยจะเว้นวรรค จากกรอบผูกมัดขององค์การทุนนิยมโลก หรือบรรษัทข้ามชาติ ย่อมมีความจำเป็นต้องอาศัยการปกป้องดูแลจากศูนย์อำนาจของฝ่ายเราอย่างเลี่ยงไม่พ้นหากกระบวนการใช้อำนาจยังเป็นไปตามเดิม ซึ่งมักเลือกปฏิบัติหรือบางทีก็ข่มเหงรังแก การฟื้นฟูบูรณะชาติคงเป็นไปได้ยาก และอิสรภาพที่ได้มาก็คงไม่มีประโยชน์อะไรสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ลัทธิชาตินิยมเก่าที่มีรัฐคอยบังคับบัญชาสังคมในทุกเรื่องราว...เราไม่ได้ต้องการความรักชาติที่เลื่อนลอยแบบระบบฟาสซิสต์ ไม่ต้องการระบบทุนนิยมแห่งรัฐ (State Capitalism) หรือการทำธุรกิจแบบอุปถัมภ์โดยอำนาจการเมืองเหมือนสมัยก่อน หากต้องการเสรีนิยม ภายในประเทศที่ให้โอกาสทุกฝ่ายอย่างเสมอหน้า"...การที่จะเอาระบบผูกขาดของทุนใหญ่มาแทนรัฐวิสาหกิจ และตีกรอบให้รัฐไทยวางเฉยในสภาพที่บรรษัทข้ามชาติเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจและสังคมไทย กระทั่งมีหน้าที่อย่างเดียว คือคอยอำนวยความสะดวกให้กับการ 'ข่มขืน' มาตุภูมิของเรา..."อันที่จริง ความไม่โปร่งใสของกระบวนการใช้อำนาจในประเทศไทย นับเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่บรรดาองค์กรทุนนิยมโลก ตลอดจนคนไทยที่เร่าร้อนต้อนรับกระแสโลกาภิวัตน์ถือเป็นเป้าโจมตี จากนั้นเรียกร้องให้รัฐไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด เรียกร้องให้รัฐไทยยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มากที่สุด เรียกร้องให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และปฏิรูประบบราชการ และอะไรอีกหลายๆ อย่างที่จะนำไปสู่ความโปร่งใสในการใช้อำนาจเราอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าหากข้อเรียกร้องดังกล่าวนำไปสู่ไปการลดอำนาจของรัฐที่ควบคุมสังคม และเพิ่มอำนาจในการดูแลตนเองโดยตรงให้กับประชาชนคนไทยจริงๆ แล้วก็ต้องการรัฐบาลที่โปร่งใสและระบบบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพแต่เราคงไม่สามารถเห็นพ้องกับทุนข้ามชาติได้ ในการที่จะเอาระบบผูกขาดของทุนใหญ่มาแทนรัฐวิสาหกิจ และตีกรอบให้รัฐไทยวางเฉยในสภาพที่บรรษัทข้ามชาติเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจและสังคมไทย กระทั่งมีหน้าที่อย่างเดียว คือคอยอำนวยความสะดวกให้กับการ 'ข่มขืน' มาตุภูมิของเราสิ่งที่เราอยากเห็นเกี่ยวกับกระบวนการใช้อำนาจในประเทศไทยก็คือ รัฐทำหน้าที่ปกป้องสังคมไทยจากการครอบงำของอิทธิพลภายนอก ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบและมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจการเมืองอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ กระบวนการใช้อำนาจที่จะฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติได้ จะต้องเป็นการขยายตัวของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถรองรับการเมืองภาคพลเมืองไว้ในกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย รัฐที่ทำเพื่อชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบอบเผด็จการ
พี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลายมีอีกประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องพูดกันไว้ให้ชัดเจนก็คือ การถอนตัวออกจากพันธะและกรอบกติกาที่กำหนดโดยทุนใหญ่ระดับโลกนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถกระทำได้อย่างถาวรตลอดไป หากเป็นการถอยกลับมาซ่อมแซมบ้านเมืองของเราให้อยู่ในฐานะแข่งขัน และมีศักดิ์ศรีเกียรติภูมิไม่แพ้ใครในระดับสากลการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ชาติพันธุ์ต่างๆ ในโลกนี้ เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ และไม่ควรปฏิเสธ ทั้งนี้เนื่องจากมนุษยชาติมีชะตากรรมร่วมกันหลายอย่าง มีทุกข์ร้อนที่ต้องการความช่วยเหลือร่วมมือซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีองค์ความรู้ที่จะส่งทอดถึงกันได้เช่นนี้แล้ว เราจึงไม่ควรคิดที่จะปิดประเทศโดยสิ้นเชิง หากควรเปิดประตูอย่างจำแนก รับในสิ่งที่นำมาสร้างสรรค์จรรโลงสังคมของเรา และให้ในสิ่งที่มีความหมายคุณค่า เพื่อเป็นการสมทบส่วนต่อสังคมโลก ซึ่งเรายังคงถือสังกัดเราคัดค้านการครอบงำของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ แต่นั่นมิได้หมายความว่าเราจะต้องรังเกียจชิงชังประชาชนในโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา คนเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ที่มิได้รู้เห็นกับการกระทำย่ำยีชาติอื่น โดยทุนใหญ่จากประเทศของพวกเรา กระทั่งมีจำนวนไม่น้อยที่คัดค้านนโยบายดังกล่าวและถือจุดยืนอยู่ข้างชาติเสียเปรียบอย่างพวกเราเราคัดค้านการเข้ามาฉกฉวยหากำไรในระยะสั้นของทุนต่างชาติ และการเข้ามาแย่งยึดพื้นที่ประกอบอาชีพอย่างถาวรของทุนใหญ่ระดับโลก แต่นั่นมิได้หมายความว่าเราจะคัดค้านการการลงทุนระยะยาวที่แบ่งผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรมระหว่างประชาชนคนไทยกับผู้ลงทุนจากภายนอก เราไม่ได้รังเกียจแนวคิดเสรีนิยมที่ฟรีและแฟร์ (Free & Fair) หากต้องขอปฏิเสธการผูกขาดในนามของการแข่งขันเสรีในส่วนของประเทศเราเอง หากการ 'เว้นวรรค' จากกรอบพันธะของทุนข้ามชาติปรากฏเป็นจริง การปฏิรูปสังคมไทยอย่างเร่งรัดและกว้างขวางก็เป็นเรื่องจำเป็น มิฉะนั้นแล้ว เราจะไม่มีทางสามารถยกระดับตัวเองเข้าสู่สนามแข่งขันระดับสากลได้อีกต่อไป จะปิดประเทศอย่างถาวรตายตัวก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ นั่นไม่ใช่ทิศทางของศตวรรษที่ 21 และไม่ควรเป็นทิศทางของประเทศไทย
นอกเหนือไปจากการปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจทางการเมืองแล้ว สิ่งที่เราจะต้องรีบทำอย่างยิ่งคือปรับปรุงระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่เน่าลึกถึงถึงฐานรากที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทย ไม่เพียงแต่ไม่สามารถบ่มเพาะเยาวชนให้ผูกพันกับประเทศชาติและเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันเท่านั้น หากยังล้มเหลวในการสร้างคุณภาพประชากรที่มีทักษะและความสามารถในมาตรฐานสากล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจริยธรรมในการทำงานที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าระบบการศึกษาไม่ได้เน้นที่การเรียนรู้อย่างแท้จริง หากมุ่งผลิตแต่ชนชั้นนำที่อาศัยประกาศนียบัตรปริญญาระดับต่างๆ เป็นใบเบิกทางไปสู่ลาภ ยศ สรรเสริญ ในสังคมการศึกษาเช่นนี้ไม่สามารถจะช่วยคนไทยให้กอบกู้ประเทศชาติได้ เพราะจุดเน้นเป็นเพียงความสำเร็จปลอมๆ ของปัจเจกบุคคล ซึ่งนำไปสู่การทำงานปลอมๆ และการเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติที่ด้อยโอกาสสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนให้เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือปรับความเหลื่อมล้ำในด้านการรับรู้และโอกาสของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่เป็นระบบตีเส้นแบ่งแยกคนในชาติสิ่งที่คนไทยควรจะได้จากระบบการศึกษาไทย ควรจะมีทั้งทักษะในการประกอบอาชีพและจริยธรรมในการทำงาน ตลอดจนสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นชาติและความเป็นคนแน่นอน ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบการศึกษา เราคงต้องคัดค้านวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยมสุดขั้วและหันมาเชิดชูความสมดุลทางวัตถุ ความสุขทางภูมิปัญญา ความสุขทางจิตวิญญาณ ความรื่นรมย์ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตลอดจนความปลื้มปีติในการร่วมมือสร้างสรรค์สังคมความหลากหลายทางวัฒนธรรมควรเป็นสิ่งที่ได้รับสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันความเชื่อมโยงผูกพันระหว่างวัฒนธรรมที่ต่างกันก็ควรได้รับการส่งเสริม หลากหลายแต่เชื่อมร้อย คือลักษณะทางวัฒนธรรมที่ควรประกอบขึ้นเป็นสังคมของเรา
สิ่งที่บรรดาบรรษัทข้ามชาติต้องการเห็นมากที่สุด คือการยอมรับวัฒนธรรมบริโภคแบบไม่จำแนกและการเพิกเฉยต่อเรื่องส่วนรวมในประเทศที่อ่อนแอ ในที่สุดก็จะนำไปสู่การสิ้นไร้เยื่อใยต่อแผ่นดินเกิดของตนเอง นำไปสู่ความคิดยอมศิโรราบต่อทุนใหญ่ในระดับโลก ยอมเปิดประตูโล่งให้พวกเขาเข้ามา เพียงเพื่อจะเสพรับสินค้าและบริการเพราะฉะนั้น ถ้าเรากอบกู้วัฒนธรรมของเรากลับมาไม่ได้ ถ้าเราค้นหาจิตวิญญาณของเราไม่พบก็อย่าได้หวังเลยว่าเราจะสามารถฟื้นฟูบ้านเมืองให้มีสันติสุขและร่มเย็น อาชญากรรมและความสิ้นคิดจะกลายเป็นบรรยากาศหลักในประเทศไทย ความขัดแย้งรุนแรงจะกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวังเอาไว้อย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราถอนตัวออกจากกรอบพันธะของทุนใหญ่ระดับโลก ก็อาจจะต้องเผชิญกับแรงต้านของบรรดาบรรษัทข้ามชาติที่สูญเสียผลประโยชน์ ประเทศของเราอาจจะถูกปิดล้อมในทางเศรษฐกิจ หรือถูกกลั่นกลั่นแกล้งในตลาดการค้าสากลบรรดาทุนข้ามชาติเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง ทั้งมีอิทธิพลต่อชาติที่อ่อนแอ มีอิทธิพลต่อรัฐบาลในซีกโลกตะวันตก มีอิทธิพลต่อสถาบันการเงินและการค้าระหว่างประเทศ มีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนในประเทศมหาอำนาจ และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของบุคคลชั้นจำนวนมาก ไม่ละเว้นแม้แต่ผู้คนในประเทศไทยอันที่จริงไม่ได้ต้องการเผชิญหน้าแตกหักกับพวกเขา เราเพียงต้องการถอยตั้งหลัก เพื่อปัดกวาดซ่อมแซมบ้านของเราเอง แต่กระนั้นก็ตาม ไม่มีหลักประกันอันใดที่ทำให้เชื่อได้ว่าพวกเขาจะไม่ข่มเหงรังแกเราเช่นนี้แล้ว ในการดำเนินการใดๆ ที่จะถอยออกจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ เราจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และวิถีที่รัดกุมยิ่ง สภาวะการนำของประเทศจะต้องเข้มแข็ง เอกภาพในหมู่ประชาชนก็ต้องแน่นแฟ้น และการเลือกสรรพันธมิตรในระดับสากลก็เป็นสิ่งจำเป็นเราอาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากบ้าง แต่ทางเลือกที่ดีกว่าดูจะไม่มีอย่างอื่น นี่เป็นทิศทางที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ในการกอบกู้วิกฤตชาติ และอิสรภาพในการดำรงชีพของประชาชนไทย"...'คนเดือนตุลา' เป็นสมบัติที่สำคัญยิ่งของแผ่นดิน ในชั่วโมงที่ประเทศชาติถูกคุกคาม และประชาชนต้องเผชิญกับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จะหาใครเล่าที่เคยมีบทเรียนในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม มากเท่ากับกับคนรุ่นนี้..."พี่น้องทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลายวันนี้เป็นวันครบรอบ 27 ปีของการต่อสู้ 14 ตุลาคมอันยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นมันคงจะใช่เรื่องเกินเลยนักที่ผมจะมีข้อเรียกร้องเป็นพิเศษต่อ 'คนเดือนตุลา'ด้วยความเคารพต่อประชาชนหมู่เหล่าอื่นๆ และด้วยความนับถือที่มีต่อผู้มาภายหลัง แต่ผมก็ยังต้องขอยืนยันว่า 'คนเดือนตุลา' เป็นสมบัติที่สำคัญยิ่งของแผ่นดิน ในชั่วโมงที่ประเทศชาติถูกคุกคาม และประชาชนต้องเผชิญกับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จะหาใครเล่าที่เคยมีบทเรียนในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม มากเท่ากับกับคนรุ่นนี้ผมขอเรียกร้องให้วีรชนที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกท่าน อดีต 'นักรบเดือนตุลา' ทุกคน จงรวบรวมความกล้าหาญยามสุดท้าย หยัดยืนขึ้นแบกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งครั้งนี้มันอาจจะไม่ใช่การชุมนุมเดินขบวน มันอาจจะไม่ใช่การจับปืนหลั่งเลือด หากสิ่งที่ประเทศชาติต้องการคือกองหน้าทางปัญญา ต้องการวุฒิภาวะของผู้มีบทเรียน มาจุดโคมประทีปแห่งอิสรภาพให้สว่างไสว เพื่อนำพาบ้านเมืองออกไปจากความมืดมิดที่คลี่คลุมขอให้ท่านทั้งหลายจงรวมตัวกัน ผนึกกำลังเข้ากับประชาชนที่เหลือทั้งประเทศ มีสามคนรวมสามคน มีห้าคนรวมห้าคน มีสิบคนรวมสิบคน มีร้อยคนรวมร้อยคน มีแสนมีล้าน มีทั้งประเทศ ก็จงรวมตัวเชื่อมร้อยเป็นหนึ่งเดียวผมขอเรียกร้องให้คนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเมืองหรือในชนบท ไม่ว่าท่านจะเป็นนักธุรกิจหรือผู้ใช้แรงงาน เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐหรือเป็นคนทำงานภาคเอกชน ไม่ว่าท่านจะเป็นชาวไร่ชาวนาหรือชาวประมง เป็นปัญญาชนหรือหัตถกร ตราบใดที่เราถือประเทศไทยเป็นแผ่นดินเกิด ขอให้ทุกท่านจงหันหน้าเข้าหากัน มอบศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้กัน เพื่อเราจะได้ร่วมกันถามหาสิ่งเหล่านี้ จากโลกภายนอกต่อไปขอให้จิตวิญญาณ 14 ตุลาคมจงเจริญ