บทสรุป
ผลการศึกษากรณีเขื่อนปากมูลโดยคณะกรรมการเขื่อนโลก
(World Commission on Dams)
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ถอดความและเรียบเรียงจาก Executive
Summary, Pak Mun Case Study
World
Commission on Dams: Summary for Forum 22 March 2000
13 เมษายน 2543
เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 25/5 ม.2 ซ.สุขาภิบาล 27 ถ.ช่างเคี่ยน-เจ็ดยอด ต.ช้างเผือก อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50300 โทร/โทรสาร 053-221157 Email: searin@chmai.loxinfo.co.th
เอกสารรณรงค์ที่ searin
no.2/2000
ความเป็นมาการศึกษากรณีเขื่อนปากมูลของคณะกรรมการเขื่อนโลก
คณะกรรมการเขื่อนโลก (WCD)
เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาในปี
2540 ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างธนาคารโลกและสหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติสากล
(IUCN) ซึ่งจัดขึ้นที่แกลนด์ สวิทเซอร์แลนด์
คณะกรรมการเขื่อนโลกมีสมัชชาที่ประกอบด้วยองค์กรต่าง ๆ 56 องค์กร จาก 34 ประเทศ ที่สำคัญได้แก่
· องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB)
องค์การอาหารและเกษตรโลก
(FAO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
(UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
(UNEP)
· องค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจากประเทศต่าง
ๆ เช่น ขบวนการคัดค้านเขื่อนนาร์มาดา-อินเดีย สหพันธ์ชนพื้นถิ่น-เวเนซูเอล่า องค์การความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซเนกัล-เซเนกัล สภาใหญ่ชนเผ่าครี-แคนาดา ขบวนการคัดค้านเขื่อนแห่งบราซิล สหพันธ์เพื่อการพัฒนาซังกิ-ปากีสถาน
· สมาคมสร้างเขื่อน เช่น
สมาคมเขื่อนใหญ่นานาชาติ (ICOLD)
คณะกรรมการนานาชาติเพื่อการชลประทานและการระบายน้ำ
(ICID) องค์การพลังงานนานาชาติ
(IEA)
· สถาบันการเงินพหุภาคีและค้ำประกันเพื่อการส่งออก
เช่น กองทุนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (OECF) ธนาคารนำเข้าและส่งออกแห่งสหรัฐอเมริกา
องค์การเพื่อความร่วมมือนานาชาติแห่งนอรเวย์ (Norad) องค์การเพื่อการพัฒนานานาชาติแห่งสวีเดน
(Sida)
· องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น
สหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติสากล (IUCN) กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF)
เครือข่ายแม่น้ำนานาชาติ
(IRN)
· หน่วยงานของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ
เช่น
องค์การพัฒนาแหล่งน้ำและที่ดินแห่งสหรัฐอเมริกา (USBR)
กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศต่าง ๆ
·
สถาบันเพื่อการวิจัยเช่น สถาบันทรัพยากรโลก (WRI) FOCUS
·
บริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจเขื่อน
·
องค์การพัฒนาแหล่งน้ำต่าง
ๆ
คณะกรรมการเขื่อนโลกมีคณะกรรมการ (commissioner)
ประกอบด้วยตัวแทนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนจำนวน
12 คน
มีทั้งนักพัฒนาแหล่งน้ำ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน
ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน นักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ
โดยมีสำนักเลขาธิการที่เมืองเคปทาวน์
ประเทศอาฟริกาใต้
คณะกรรมการเขื่อนโลกมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาประสิทธิภาพของเขื่อนในระดับโลกและประเมินทางเลือก
การจัดทำกรอบเพื่อประเมินข้อจำกัดและกระบวนการตัดสินใจในการสร้างเขื่อนและแหล่งน้ำ
การวางกฎเกณฑ์และแนวนโยบายในการวางแผน ออกแบบ
ก่อสร้าง ติดตามผล และการยกเลิกการใช้เขื่อน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ คณะกรรมการเขื่อนโลกได้จัดให้มีการศึกษา 10
เขื่อน/ลุ่มน้ำที่เลือกจากทั่วโลกเพื่อเป็นเขื่อน/ลุ่มน้ำหลักในการศึกษา (focal
dam/river basin study) การสำรวจข้อมูลเขื่อน
150 เขื่อนทั่วโลก
(cross-check survey) การเปิดให้มีการส่งบทความและรายงานต่าง ๆ (submission)
ผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกจะสรุปในเดือนกันยายนปีนี้
จากการประชุมคณะกรรมการในเดือนธันวาคมปี 2541 ที่กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา
คณะกรรมการได้เลือกเขื่อนปากมูล/ลุ่มน้ำมูลเป็น 1 ใน 10 เขื่อน/ลุ่มน้ำ
จากทั่วโลกเพื่อเป็นเขื่อน/ลุ่มน้ำหลักในการศึกษา
เนื่องจากเขื่อนปากมูลสร้างกั้นแม่น้ำมูลสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง
แม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์
และเขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนไฟฟ้าแห่งแรกที่มีการสร้างบันไดปลาโจนและเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน
(run-of the river)แห่งแรกของลุ่มน้ำโขง
คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ดำเนินการศึกษาเขื่อนปากมูลภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เริ่มจากการเตรียมร่างขอบเขตการศึกษา (Scoping
paper) โดยนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายและจัดให้ทุกฝ่ายให้ความเห็นก่อนทำการศึกษา
จากนั้นคณะกรรมการเขื่อนโลกก็ได้มอบหมายให้นักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทำการศึกษาในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล คณะผู้ศึกษาหลักในแต่ละประเด็นมีดังนี้
· Dr.
Philippe Annez บริษัท Griffon
จำกัด (อดีตผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย)
ศึกษาด้านผลประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้า
·
ดร.สุพัฒน์ วงวิเศษสมใจ
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ศึกษาด้านอุทกวิทยาและคุณภาพน้ำ
· ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ ผศ.ประสิทธิ์
คุณุรัตน์ ผศ.จารุวรรณ นิภานนท์ และ ผศ.เอก วัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาด้านนิเวศวิทยา
·
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษามิติทางสังคม
·
ดร.ศันสนีย์ ชูแวว มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษามิติทางสังคมด้านการประมง
·
Dr.Roel Schouten บริษัท ซีเทค จำกัด และ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ศึกษาด้านการประมง
·
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(TDRI) ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์
คณะกรรมการเขื่อนโลกยังได้จัดให้มีการประชุมเพื่อให้นักวิชาการ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชาวบ้านปากมูล องค์กรพัฒนาเอกชน
และข้าราชการจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อร่างรายงานก่อนที่จะสรุป
รายงานสรุปสำหรับผู้บริหารนี้ ถอดความและเรียบเรียงจาก Executive
Summary, Pak Mun Case Study ซึ่งคณะกรรมการเขื่อนโลกจัดทำขึ้นจากผลการศึกษาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาเมื่อวันที่
22 มีนาคมที่ผ่านมา
เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หวังว่ารายงานนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมไทยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแง่มุมสำคัญของเขื่อนปากมูล
เขื่อนที่ถือได้ว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยมากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
13 เมษายน 2543
บทสรุป
ผลการศึกษากรณีเขื่อนปากมูลของคณะกรรมการเขื่อนโลก(WCD)
1.บทนำ
เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากมูลเปิดดำเนินการในปี 2537
โครงการนี้เริ่มศึกษาครั้งแรกในปลายทศวรรษ 1960
ระหว่างการวางแผนขั้นสุดท้ายได้มีการลดระดับเก็บกักน้ำของเขื่อนลงจาก 112
เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
(ม.รทก.)
เหลือ 108 ม.รทก.
เพื่อจำกัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและลดจำนวนผู้ที่จะถูกอพยพจาก
4,000
ครอบครัว เหลือ 250 ครอบครัว
เขื่อนปากมูลสร้างกั้นแม่น้ำมูลตอนล่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณเหนือจุดที่แม่น้ำมูลบรรจบกับแม่น้ำโขง
(ปากมูล)
5.5
กิโลเมตร
หากเปรียบเทียบกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำล่าสุดที่ถูกสร้างขึ้นในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
(ไทย ลาว เวียตนาม
และกัมพูชา) เขื่อนปากมูลแตกต่างกับเขื่อนอื่น ๆ ดังนี้
· เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน
(run-of the river) เขื่อนแรกในประเทศไทย
ขณะที่เขื่อนอื่นๆ เป็นเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำ (storage
reservoir) โดยทั่วไปแล้ว เขื่อนแบบน้ำไหลผ่านนั้น
ในแต่ละวันจะมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเท่ากับที่ไหลออกจากอ่าง
และอ่างเก็บน้ำมีการเปลี่ยนแปลงในรอบปีน้อยมาก
·
เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกในลุ่มน้ำโขงที่มีการสร้างบันไดปลาโจน
· เขื่อนปากมูลสร้างขึ้นทางตอนล่างของลุ่มน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง มีพื้นที่รับน้ำที่ใหญ่มาก
โดยการรวมเอาลุ่มน้ำชีและมูลเข้าด้วยกันแล้วลุ่มน้ำนี้มีขนาดถึง 117,000 ตารางกิโลเมตร
วัตถุประสงค์หลักของเขื่อนปากมูลที่ได้ตั้งเอาไว้ก็คือ เพื่อการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาระบบชลประทาน รวมไปถึงการประมงในอ่างเก็บน้ำ การควบคุมน้ำท่วม การเดินเรือ และการท่องเที่ยว
แต่ผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
คือ ผลประโยชน์ด้านไฟฟ้า ชลประทาน และการประมง
ธนาคารโลกได้ให้เงินกู้แก่เขื่อนปากมูลภายใต้โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าขั้นที่สาม โครงการเงินกู้หมายเลข 3423-TH
ด้วยเหตุที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ
ประเทศไทยจึงได้แจ้งแก่ประเทศอื่น ๆ
ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่อยู่ทางตอนล่างของเขื่อนปากมูล จึงไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนานาชาติ
2.ผลการศึกษาที่ค้นพบ
2.1 ผลประโยชน์ ต้นทุน และผลกระทบที่ขัดแย้งกับที่คาดการณ์ไว้
ต้นทุนโครงการ
เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดแน่น (RCC)
สูง 17 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 136 เมกกะวัตต์ ต้นทุนที่ได้ประเมินไว้ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการตัดสินใจสร้างเขื่อนและก่อนที่ธนาคารโลกจะอนุมัติเงินกู้คือ
135 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งรวม 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ
สำหรับการลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ระหว่างที่ธนาคารโลกอนุมัติโครงการในปี 2533
ต้นทุนโครงการทั้งหมดได้เพิ่มเป็น
169 ล้านเหรียญสหรัฐ
ฯ ซึ่งรวมเอา 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ
สำหรับการลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ต้นทุนการก่อสร้างที่แท้จริงได้เพิ่มขึ้นเป็น 233
ล้านเหรียญสหรัฐ
ฯ ซึ่งรวมเอา 32 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ สำหรับการลดผลกระทบ ต้นทุนที่แสดงทั้งหมดในปี 2537 ได้สมมติให้เพิ่มขึ้น 2
% ต่อปี
ขณะที่ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างก็ไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ด้วย
การผลิตพลังงานไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าขนาด 136
เมกะวัตต์ของเขื่อนปากมูลได้ออกแบบให้เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด
(peaking plant) โดยการใช้น้ำที่กักเก็บในอ่างสำหรับการเดินเครื่องในแต่ละวัน ในฤดูฝน
เขื่อนปากมูลไม่สามารถเดินเครื่องได้ตลอดทั้ง 4 ชั่วโมงที่เป็นช่วงที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวันและต้องผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลานอกเหนือที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุดอยู่เป็นประจำ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นขึ้นอยู่กับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำท้ายเขื่อน เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขั้นมาก ๆ
โรงไฟฟ้าก็ต้องหยุดเดินเครื่องเนื่องจากระดับน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนไม่แตกต่างกันจนไม่สามารถใช้หมุนกังหันได้
จากการตรวจสอบกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลผลิตได้ในแต่ละเดือน
พบว่าในเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตเนื่องจากความต้องการกระแสไฟฟ้าของระบบสูงสุดและปริมาณน้ำมีความเหมาะสม ปรากฏว่าเขื่อนปากมูลผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน
5 จิกะวัตต์/ชั่วโมง
หากให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้นี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอด 4
ชั่วโมงของช่วงเวลาที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุดและนำไปเทียบเป็นกำลังผลิตติดตั้งที่มีการเดินเครื่องแล้ว
ก็จะเท่ากับว่าเขื่อนปากมูลมีการเดินเครื่องประมาณ 40 เมกกะวัตต์
แน่นอนว่าอาจจะมีการเดินเครื่องมากกว่านี้ได้แต่ช่วงเวลาการเดินเครื่องก็จะต่ำกว่า
4 ชั่วโมง กำลังผลิต 40
เมกกะวัตต์นี้
กฟผ.ได้นำไปชดเชยกับการที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ซึ่งค่าของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซที่ กฟผ.อ้างว่าเขื่อนปากมูลจะทดแทนได้และค่านี้ก็ได้รับการอนุญาตให้ใช้จากธนาคารโลกก็คือ
150
เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ามีการคาดการณ์ผลได้ไว้สูงเกินจริงมาก[1]
รายงานโครงการล่าสุดของ กฟผ.
ระบุว่า
ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงชั่วโมงที่ไม่มีความต้องการสูงสุด
สามารถทดแทนโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 2
ใน 3
ของกำลังการผลิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะโรงไฟฟ้าสำรองสำหรับชั่วโมงที่ไม่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุดเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งใช้น้ำมันและลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงถูกกว่าน้ำมันมาก
การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าปากมูลแตกต่างกับที่ได้คาดการณ์ไว้ในรายงานโครงการเสมอ ตรงกันข้ามกับที่ว่าโรงไฟฟ้าปากมูลจะเดินเครื่องในช่วง
4 ชั่วโมง
ผลที่ได้ก็คือการเดินเครื่องสะเปะสะปะ 10-15 ชั่วโมง
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่มีความต้องการสูงสุดของระบบไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศนั้นมีความราบเรียบมากกว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากพิจารณาในแง่ของการช่วยเสริมระบบ (เช่น
การควบคุมความถี่และกระแสไฟ และควบคุมการแปรปรวน) การเดินเครื่องแบบนี้อาจจะมีประโยชน์
แต่ผลประโยชน์ที่ได้จะต่ำกว่าที่วางเอาไว้
การคำนวณต้นทุน/กำไรของเขื่อนปากมูลสามารถสรุปได้ดังตาราง
กรณี |
ผลประโยชน์ที่ได้ |
อัตราตอบแทนทางเศรษฐกิจภายในโครงการ(%ปี) |
รายงานธนาคารโลกปี 2539 |
ชดเชยโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 150 เมกกะวัตต์,
พลังงานที่ผลิตได้โดยกังหันก๊าซ |
12.1 |
การศึกษานี้ |
ชดเชยการสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 40 เมกกะวัตต์,
คิดเป็น
2 ใน 3
ของการผลิตในช่วงไม่มีความต้องการสูงสุด |
4.2 |
การศึกษานี้,และรวมประโยชน์ของการเสริมระบบเข้าไปด้วย |
เหมือนกับข้างต้น, รวมเอาประโยชน์ในการเสริมระบบ
20เหรียญ/กิโลวัตต์ |
4.6 |
การศึกษานี้, รวมประโยชน์การช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ |
เหมือนกับข้างต้น, แต่รวมเอาประโยชน์ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
7
เหรียญ/ตัน |
5.5 |
ไม่แน่ว่า
เขื่อนปากมูลจะถูกสร้างขึ้นมาได้หรือไม่
ถ้าหากผลประโยชน์ที่แท้จริงนี้ถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์
ผลประโยชน์ด้านชลประทาน
ชื่อของเขื่อนปากมูลที่เรียกว่าโครงการเอนกประสงค์นั้นเป็นการชี้นำที่ผิด เอกสารโครงการของ กฟผ.ได้อ้างว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพการชลประทาน
64,000
เอเคอร์(160,000 ไร่) เหนือเขื่อนขึ้นไป 50
กิโลเมตร กฟผ.อ้างว่า
ผลประโยชน์ด้านชลประทานไม่เป็นจริงเพราะมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขทางอุทกวิทยา สภาพของพื้นที่ การควบคุมการเก็บน้ำ
และโดยเฉพาะข้อจำกัดของการบริหารอ่างเก็บน้ำในฤดูแล้งซึ่งไม่เอื้อให้มีการสูบน้ำส่งไปยังพื้นที่เมื่อมีความต้องการได้
ผลประโยชน์ทางด้านชลประทานที่จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการลงทุนเพิ่มในโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบชลประทานแบบสูบน้ำ
แต่ต้นทุนโครงการนำร่องสำหรับระบบชลประทานไม่ได้ถูกรวมเป็นต้นทุนเมื่อคราวที่มีการพิจารณาอนุมัติโครงการ อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาล่าสุดของ
กฟผ.ได้อ้างว่า
3%
ของผลประโยชน์ของเขื่อนนั้นมาจากการชลประทาน แต่ในความเป็นจริงผลประโยชน์นี้มีค่าเท่ากับศูนย์
แม้แต่รายงานการประเมินของเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก(SAR)ในปี 2534 เอง
ก็ไม่ได้นับรวมเอาผลประโยชน์ด้านชลประทานเข้าวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ไว้ด้วย
ปลาและการประมง
ได้คาดการณ์ไว้ว่า
ผลประโยชน์ด้านการประมงของเขื่อนปากมูลคิดเป็น 7% ของผลประโยชน์โครงการทั้งหมด อ่างเก็บน้ำ 60
ตารางกิโลเมตรถูกคาดหวังว่าจะให้ผลผลิตปลา 100 กิโลกรัม/แฮคแตร์(6.25 ไร่)/ปี
ถ้าหากไม่มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงไป
และถ้าหากมีโครงการปล่อยพันธุ์ปลาจะให้ผลผลิตปลาเป็น 220
กิโลกรัม/แฮคแตร์/ปี แต่ผลผลิตปลาที่ได้จริง ๆ
มีเพียง 10 กิโลกรัม/แฮคแตร์
อ่างเก็บน้ำอื่น ๆ
ในเขตลุ่มน้ำเดียวกันกับเขื่อนปากมูลจะมีผลผลิตปลาสูงกว่าคือมีผลผลิตปลา 19-38
กิโลกรัม/แฮคแตร์/ปี แต่ 70%
ของปลาที่พบเป็นปลาผิวน้ำ
ซึ่งไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าปลาที่มีเป็นปลาที่อาศัยในน้ำไหล
ขณะที่เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน
การจับปลาที่ได้จริงจากอ่างของเขื่อนปากมูลและบริเวณตอนปลายของอ่างน้อยกว่าช่วงก่อนการสร้างเขื่อน
60% และ 80%
ตามลำดับ
ปริมาณปลาที่จับได้ทางตอนล่างของเขื่อนนั้น ก็สูงกว่าทางด้านเหนือเขื่อน
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้คาดว่า
วิธีการพัฒนาการประมงที่ใช้กับเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำอย่างเขื่อนสิรินธรและเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มน้ำชี/มูลเช่นกันไม่มีผลกับอ่างเก็บน้ำแบบน้ำไหลผ่าน การที่มีปลาชนิดปลาผิวน้ำถึง 70%
ของผลผลิตปลาในอ่างเก็บน้ำของประเทศไม่สามารถทำให้เกิดประชากรปลาจำนวนมากในอ่างเก็บน้ำแบบน้ำไหลผ่าน
การอพยพ
ได้คาดไว้ว่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน
31
หมู่บ้าน แต่ได้รับผลกระทบโดยตรง 241 ครอบครัวใน 11 หมู่บ้าน
ในความเป็นจริงมีชาวบ้านถึง 1,700 ครอบครัวที่สูญเสียบ้าน ที่ดิน หรือ
ทั้งสองอย่าง
ชาวบ้านเหล่านี้ยังได้เรียกร้องค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการสูญเสียรายได้จากการประมงซึ่งไม่มีการคาดการณ์ถึงผลกระทบของเขื่อนต่อเรื่องนี้มาก่อน
2.2 ผลกระทบที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้
การลดลงของพันธุ์ปลา
ผลกระทบของเขื่อนปากมูลต่อพันธุ์ปลาที่ไม่ได้คาดการณ์ก็คือ
ความอุดมสมบูรณ์ของปลาและผลผลิตปลาลดลงอย่างน่าตกใจ รายได้ในครอบครัวชาวประมงลดลง
และการที่ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพ
รูปแบบการประมงที่เปลี่ยนไป
ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ
และการเมืองตามมา เขื่อนปากมูลได้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำและสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของประชากรปลาทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูลได้ท่วมและทำลายแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลา
ได้แก่ แก่งต่าง ๆ
ปัจจุบัน
เป็นที่ชัดเจนว่าบันไดปลาโจนไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพตามฤดูกาลจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำชี/มูลได้
เขื่อนปากมูลที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเพียง 136 เมกกะวัตต์ได้ปิดตายระบบลุ่มน้ำที่มีขนาดถึง
117,000 ตารางกิโลเมตรโดยปริยาย
(เทียบเท่ากับ
3 เท่าของประเทศเนเธอร์แลนด์)
ปลาสามารถเดินทางผ่านเขื่อนไปได้ก็ในช่วงน้ำท่วมในเดือนสิงหาคมและกันยายนเนื่องจากในบางครั้งได้มีการยกบานประตูเขื่อนขึ้น
ขณะที่ช่วงที่ปลามีการอพยพสูงสุดคือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน จากพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลที่มีการบันทึกไว้ในปี
2537 จำนวน 265 ชนิดนั้น มีพันธุ์ปลา 77
ชนิดที่เป็นปลาอพยพ ยิ่งไปกว่านั้นพันธุ์ปลา 35
ชนิดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่ง
แต่ตอนนี้แก่งต่าง ๆ ได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล
การสำรวจล่าสุดหลังการสร้างเขื่อนพบว่าเหนือเขื่อนมีปลาเพียง 96
ชนิด เป็นที่ชัดเจนว่ามีพันธุ์ปลาถึง 169
ชนิดที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
และมีพันธุ์ปลาถึง 56 ชนิดที่ไม่ปรากฏว่าจับได้อีกเลยภายหลังการสร้างเขื่อน
โครงการปากมูลได้จัดตั้งหน่วยอนุรักษ์และพัฒนาประมง
ได้มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสม่ำเสมอรวมทั้งกุ้งก้ามกราม
แต่กุ้งก้ามกรามวางไข่ในน้ำเค็มหลังจากนั้นก็อพยพมายังเขตน้ำจืด ดังนั้นกุ้งก้ามกรามจึงไม่สามารถขยายพันธุ์ในอ่างเก็บน้ำได้และจำเป็นที่จะต้องปล่อยกุ้งสม่ำเสมอ ผลผลิตกุ้งในแต่ละปีระหว่างปี 2538-2541 อยู่ในช่วง 6-15 ตัน
แต่ผลผลิตนี้รวมถึงกุ้งอื่นๆ ที่เติบโตตามธรรมชาติด้วย
แรกสุด มีชาวบ้าน 241
ครอบครัวที่ถูกจัดว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและต้องจ่ายค่าชดเชย
ผลกระทบของเขื่อนต่อการประมงได้เกิดขึ้นเต็มที่เมื่อเขื่อนสร้างใกล้เสร็จ
รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อหาจำนวนชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้จากการประมง ผลสำรวจของคณะกรรมการทำให้ ในปี 2538 กฟผ.ต้องจ่ายค่าชดเชย 90,000 บาทต่อครอบครัวให้แก่ชาวประมง 3,955 ครอบครัว และในเดือนมีนาคม 2543
ได้มีการอนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้ชาวประมงอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 2,200 ครอบครัว ครอบครัวละ 60,000 บาท[2] ทุกวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่เหนือเขื่อนก็ยังคงรอรับค่าชดเชยอาชีพประมง
ต้นทุนที่ไม่คาดคิดของโครงการได้รวมถึงค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพประมง (จนถึงเดือนมีนาคมได้จ่ายไปแล้ว 488.5 ล้านบาท)
ต้นทุนนี้ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งด้วย
รัฐบาลได้ยอมจ่ายค่าชดเชย 60,000-90,000
บาท
ต่อครอบครัวซึ่งเป็นค่าชดเชยการสูญเสียรายได้จากการประมงในช่วง 3
ปีระหว่างการสร้างเขื่อน
การแก้ปัญหาล่าสุดสำหรับการสูญเสียรายได้จากการประมงในระยะยาวเกิดจากผลของการเจรจากันในปี
2538
วันที่ 25
มกราคม 2540
ชาวบ้านปากมูลได้ร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา
99 วัน
เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับการสูญเสียวิถีชีวิตชาวประมงอย่างถาวร ต่อมา
ข้อตกลงที่ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยซึ่งได้สัญญาไว้ในเดือนเมษายนปีเดียวกันก็ถูกยกเลิกหลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี
2541 ในเดือนมีนาคม 2542 ชาวบ้านประมาณ 5,000
ครอบครัวได้ยึดหัวงานเขื่อนปากมูลอย่างถาวรประท้วงให้มีการจ่ายค่าชดเชยจากรัฐบาลและธนาคารโลกซึ่งไม่ยอมรับว่ามีการสูญเสียอาชีพประมงอย่างถาวร
ความเสื่อมโทรมของแก่งธรรมชาติ
ความเสื่อมโทรมของแก่งธรรมชาติ เป็นผลกระทบด้านลบที่สำคัญประการหนึ่งของเขื่อนปากมูล แก่งธรรมชาติกว่า 50
แก่งได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำอย่างถาวร
แก่งเหล่านี้เป็นที่รู้กันว่าเป็นถิ่นอาศัยของปลากว่า 20
ชนิด
เพราะไม่มีฐานข้อมูลก่อนการสร้างเขื่อนที่เพียงพอจึงไม่สามารถที่จะระบุมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
แต่อย่างไรก็ตามการลดลงของประชากรปลาก็มีสาเหตุมาจากการสูญเสียแก่งเหล่านี้
ผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียแก่งเหล่านี้ไม่ได้มีการประเมินไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การสูญเสียแก่งธรรมชาติยังได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศน์ด้านอื่น
ๆ รวมถึงผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันธ์กับแก่งในฐานะที่เป็นสถานที่สำคัญในเชิงนิเวศวิทยาสังคม ผลกระทบด้านนิเวศน์ที่สำคัญก็คือ
การสูญเสียถิ่นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์น้ำ
การเกิดตะกอนทับถมแก่ง
และการเกิดวัชพืชตามแก่ง
คุณค่าของคุณภาพชีวิตดูได้จากการสูญเสียสิ่งที่สัมพันธ์กับความงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแก่งธรรมชาติต่างๆ
ความเสื่อมโทรมของคุณค่าทางสุนทรียภาพสำหรับการท่องเที่ยว และการสูญเสียกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งใช้แก่งธรรมชาติต่าง
ๆ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรม[3]
ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ :
การสูญเสียพืชผักริมน้ำ ป่าธรรมชาติและป่าชุมชน
อย่างน้อยที่สุดพืชอาหาร 40 ชนิด ไผ่ 10 ชนิด และเห็ด 50 ชนิดที่ชาวบ้าน (ส่วนมากเป็นผู้หญิง)
หามาสำหรับการบริโภคในครัวเรือนโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้หญิงและแม่บ้านยังมีรายได้ประจำวันจากการขายพืชผักที่เก็บมาได้ที่ตลาดในท้องถิ่น
อย่างน้อยที่สุดก็วันละ 5-10 บาท หรือสูงถึง 50-60 บาท
แม้รายได้นี้จะเล็กน้อยแต่ก็เป็นรายได้ประจำวันที่มีความยั่งยืน ยังมีรายงานการพบพันธุ์พืชสมุนไพรมากกว่า
100 ชนิดตามบริเวณใกล้กับแม่น้ำมูล การสูญเสียพืชเหล่านี้จากการที่ถูกน้ำท่วมนั่นหมายถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
และการสูญเสียความมั่นคงทางด้านอาหารและอนามัยของชาวบ้านท้องถิ่น อาหาร โภชนาการ ยารักษาโรค
และพืชผักที่สำคัญทางเศรษฐกิจของชาวบ้านเหล่านี้ได้ถูกม้องข้ามและไม่ใส่ใจจากรายงานต่าง
ๆ ที่ได้มีการทำกัน
2.3
การกระจายของผลประโยชน์และต้นทุน: ใครได้-ใครเสีย?
ประสบการณ์อย่างต่อเนื่องของชาวประมงคือการจับปลาได้น้อยลงนับตั้งแต่สร้างเขื่อนเสร็จ
รัฐบาลไทยถูกโจมตีจากผลกระทบด้านลบของเขื่อนต่อวิถีชีวิตชาวประมงที่เกิดขึ้นจริงและได้หาวิธีการต่าง
ๆ ในการชดเชย (เช่น สร้างบันไดปลาโจน
ดำเนินโครงการปล่อยพันธุ์กุ้งและพันธุ์ปลา จ่ายค่าชดเชยการสูญเสียรายได้จากการประมงในช่วง 3 ปีระหว่างการก่อสร้างเขื่อน
และที่ยังไม่ตัดสินใจหาวิธีแก้ปัญหาคือการสูญเสียรายได้จากการประมงอย่างถาวร)
การชดเชยที่เป็นเงินนั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว
รายได้แต่ละปีจากการประมงทั้งหมดในระยะยาวคิดเป็นเงินที่มากกว่าการจ่ายค่าชดเชยในรูปเงินสดและหุ้นสหกรณ์ที่ชาวบ้านแต่ละครอบครัวได้รับจำนวน
90,000 บาท
ขณะที่รัฐบาลไทยต้องแบกรับภาระจากการเรียกร้องค่าชดเชยอย่างต่อเนื่องสำหรับการสูญเสียวิถีชีวิตของชาวประมง ในประเด็นนี้
ทุกฝ่ายจึงเป็นผู้ที่สูญเสีย
ประวัติศาสตร์ของโครงการเขื่อนปากมูลไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากการที่ชาวบ้านต้องถูกอพยพและสูญเสียรายได้จากการประมง
แต่การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลก็เพื่อปกป้องวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม
และเพื่อการมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการที่เข้ามากระทบต่อชีวิตของพวกเขา การต่อสู้นี้ไม่ใช่แค่ระหว่างชาวปากมูลกับ กฟผ. เท่านั้น
แต่ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกับหน่วยงานรัฐ รวมถึง กฟผ.ซึ่งได้กล่าวไปแล้วและธนาคารโลกซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
การที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีทัศนะที่ลบนั้นไม่ได้เป็นเพราะต้องการการจ่ายค่าชดเชยอย่าง
"เหลือเฟือ"
และให้ฐานะดีขึ้น ตรงกันข้าม ปฏิกิริยานี้ก็เนื่องมาจากการที่ชาวบ้านถูกบังคับให้ไปอยู่ที่จุดของการไร้ซึ่งอำนาจซึ่งเสียงของพวกเขาไม่เป็นที่ได้ยิน
พวกเขาถูกปิดกั้นโอกาสที่จะแสดงทัศนะเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากมูล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏว่ามีทัศนะที่หลากหลายเกี่ยวกับข้อดีและผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง
ๆ ที่เกิดจากโครงการ
พวกเขาถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
รวมไปถึงการระบุว่าใครบ้างที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ
สิ่งที่มีการกล่าวกันว่ามีการจ่ายค่าชดเชยอย่าง"เหลือเฟือ"นั้นคือผลของการเรียกร้อง ประท้วง เดินขบวน
และการเผชิญหน้านั่นเอง
หากว่าได้มีแผนและนโยบายที่มีการปฏิบัติที่ดีพออย่างตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมและมีวิธีการจัดการความขัดแย้ง
ชาวบ้านก็คงไม่ต้องเสียเวลาและต้องระกำลำบากในการเจรจาและประท้วงต่อต้านเขื่อน ไม่เพียงแต่ประเทศชาติส่วนรวมได้สูญเสียระบบนิเวศน์ที่สำคัญเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงโอกาสในการทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาการมีส่วนร่วมด้วย หากพิจารณาในประเด็นนี้
ทัศนะของชาวบ้านที่เป็นลบก็อาจจะเป็นปฏิกิริยาของการต่อต้านการที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้กับชาวบ้าน รวมถึงความล้มเหลวของรัฐบาลและธนาคารโลกในการจัดการโครงการปากมูลที่เหมาะสม
2.4
เขื่อนปากมูลมีการตัดสินใจอย่างไร?
การพลังงานแห่งชาติ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน-ผู้แปล) ได้ริเริ่มการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตลุ่มน้ำชี/มูล การศึกษาเบื้องต้นได้แล้วเสร็จในปี 2513
และได้เลือกบริเวณแก่งตะนะให้เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อน ต่อมา ความรับผิดชอบได้เปลี่ยนมาเป็น กฟผ.
ในปี
2325
ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมโดยบริษัทโซเกรซ (SOGRAH)[4]
ซึ่งได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมใหม่แล้วเสร็จและได้มีการตัดสินใจย้ายที่ตั้งเขื่อนขึ้นมาเหนือแก่งตะนะ
1.5
กิโลเมตร
กฟผ.ได้เดินเครื่องเขื่อนปากมูลแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่าน
ซึ่งมีการออกแบบระบบควบคุมการเดินเครื่องที่จำกัดเพื่อเป็นหลักประกันว่าระดับน้ำในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคมจะไม่สูงเกิน 106
ม.รทก.
ส่วนเดือนที่เหลือของปีก็จะเก็บกักสูงสุดไม่เกิน
108 ม.รทก. ด้วยระบบควบคุมที่กำหนดตัวเองเช่นนี้
การบริหารเขื่อนปากมูลก็จะไม่ทำให้แม่น้ำมูลมีระดับน้ำสูงเกินระดับที่เคยท่วมในฤดูน้ำหลาก ฉะนั้น
ความจุในการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูลจึงไม่เกินร่องน้ำเดิม ระบบการเดินเครื่องเพื่อประกันว่าแก่งสะพือที่อยู่เหนือเขื่อนซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักในฤดูแล้ง
เมื่อการไหลของน้ำไม่เกิน 200 ลูกบาศก์เมตรวินาทีก็จะไม่เกิดผลกระทบด้านลบ
ที่ตั้งของเขื่อนปากมูลที่ได้เลื่อนขึ้นมาทางตอนเหนือของลำน้ำ 1.5
กิโลเมตรจากจุดที่เคยออกแบบไว้เพื่อรักษาแก่งตะนะทางตอนล่างซึ่งถ้าหากสร้างที่นั่นก็จะได้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มอีก
2 เท่าตัวโดยกักเก็บน้ำที่
112 ม.รทก. และมีพื้นที่ผิวน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร
การย้ายที่ตั้งและทำให้ได้พลังงานต่ำกว่าก็เป็นการแลกกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ลดลงด้วย การตัดสินใจย้ายแกนเขื่อนขึ้นไปทางเหนือน้ำ
และการออกแบบเขื่อนใหม่โดยมีระบบการควบคุมตัวเองยังหมายถึงชาวบ้านที่ต้องอพยพและตั้งถิ่นฐานใหม่มีจำนวนลดน้อยลงด้วย การประเมินในตอนแรกเมื่อปี 2525 ต้องอพยพ 20,000 คน (4,000 ครอบครัว) และเมื่อมีการเลื่อนที่ตั้งและออกแบบเขื่อนใหม่ก็ได้ปรับเหลือเป็นจำนวนที่ยอมรับได้คือจำนวน
1,500 คน
(248
ครอบครัว)
สำหรับการออกแบบเบื้องต้นและดำเนินการโครงการเขื่อนปากมูลภายใต้ความรับผิดชอบของ
กฟผ.นั้น ในปี 2533 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการประเมินต้นทุนและการออกแบบเขื่อนปากมูลเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเอนกประสงค์ดำเนินการโดย
กฟผ. ดังที่ได้ระบุไว้ในเอกสารโครงการในเดือนมีนาคม
2521 ซึ่งอ้างถึงผลประโยชน์จากโครงการและผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่อง
ที่คาดการณ์จากมูลค่าของพลังงานที่กำหนดว่าจะได้ รวมถึงการชลประทาน
การประมง
การปรับปรุงการเดินเรือ
และเพื่อการท่องเที่ยว ต่อมา
เอกสารโครงการของ กฟผ. ก็ได้รับรองผลประโยชน์ของเขื่อนเฉพาะผลประโยชน์ด้านพลังงาน การชลประทาน และการประมง
ต่อมาโครงการก็ถูกเสนอต่อธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการเขื่อนปากมูลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบพลังงานขั้นที่สาม รายงานของเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก(SAR)
ได้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม
ปี 2534 และคณะกรรมการบริหารของธนาคารก็ได้อนุมัติเงินกู้แก่โครงการในเดือนธันวาคม
2534
คณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจขั้นสุดท้ายแก่
กฟผ.ในการดำเนินการต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยยึดหลักการและกระบวนการการจ่ายค่าชดเชย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อธิบดีกรมประมง
และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับกระบวนการจ่ายค่าชดเชย
เนื่องจากปัญหาหลักได้เปลี่ยนจากเรื่องของที่ดินและทรัพย์สินเป็นการสูญเสียวิถีชีวิตการประมงของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ
การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนในการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาอาชีพเกษตรกรประมงซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม
2538 โดยมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธาน
แม้ว่าความรับผิดชอบจะเปลี่ยนเป็นหน่วยงานอื่น แต่ กฟผ.ก็ยังคงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการและคณะทำงานต่าง
ๆ รวมถึงค่าชดเชยทั้งหมดที่ถูกจ่ายไป
2.5
โครงการได้ทำตามกฎเกณฑ์และนโยบายที่มีในปัจจุบันหรือไม่?
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูลที่มีปริมาตร
225 ล้านลูกบาศก์เมตร
มีพื้นที่ผิวอ่างที่ระดับเก็บกักสูงสุด 60 ตารางกิโลเมตร
เงื่อนไขทั้งสองประการนี้ทำให้โครงการจะต้องจัดให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2535 กฎหมายนี้ได้กำหนดให้ทุกโครงการที่มีอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ 100
ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำตั้งแต่
15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไปจะต้องจัดให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในกรณีของโครงการสาธารณะ
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับโครงการเอกชนให้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อกำหนดตามกฎหมายข้างต้นไม่มีผลบังคับต่อโครงการเขื่อนปากมูลเพราะคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤษภาคม
2533 อย่างไรก็ดี
ได้มีการทำรายงานการศึกษาสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี 2524
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมโครงการซึ่งมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติ
และในภายหลังมีการติดตามการดำเนินงานโดยคณะอนุกรรมการเพื่อประสานงานและวางแผนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2524 นั้น
จัดทำฐานข้อมูลที่ไม่ดีพอ
การศึกษาฐานข้อมูลด้านสัตว์น้ำจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมทุกฤดูกาลและจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด
2 ปี
และมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินการเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของประชากรปลา
รวมไปถึงผลกระทบที่ต่อเนื่องต่อสัตว์น้ำจากการพัฒนาอื่น ๆ การศึกษาด้านเศรษฐกิจ-สังคมอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อระบุให้เห็นถึงจำนวนชาวบ้านที่ต้องพึ่งพิงปลา ยิ่งไปกว่านั้น
โครงการเขื่อนปากมูลที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัตินั้นเป็นคนละจุดกับที่มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อปี
2524
ลักษณะ ขอบเขต และหัวงานของโครงการได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งใหญ่และก่อให้เกิดหลักประกันในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในปี 2533 กรมควบคุมมลพิษและสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ขยายกรอบ มาตรฐาน การจัดหมวดหมู่ และขั้นตอนในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
ธนาคารโลกเองก็ได้ขยายขั้นตอนและกรอบปฏิบัติในเรื่องของกรอบการศึกษา การปฏิบัติ และการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามเขื่อนปากมูลก็สร้างขึ้นมาโดยไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและวิธีการลดผลกระทบที่สามารถปฏิบัติได้
มาตรการลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่ถูกปฏิบัตินั้นก็เพราะผลพวงของการประท้วงที่เข้มแข็งของชาวบ้านหลังจากเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว
การสร้างบันไดปลาโจนเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ความล้มเหลวเนื่องจากการออกแบบบันไดปลาโจนที่ไม่เหมาะสม
มาตรการการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่บ้านและที่ดินถูกน้ำท่วมก็ถูกคิดและปฏิบัติในขั้นตอนสุดท้าย การติดตามเรื่องพันธุ์ปลาและกิจกรรมด้านการประมงหลังการสร้างเขื่อนเสร็จก็ไม่ได้มีการวางแผนและไม่เป็นระบบ ไม่เคยมีการประเมินผลของประสิทธิภาพบันไดปลาโจนที่ดีพอ
ไม่เคยมีการตัดสินใจดำเนินการแก้ไขโดยการย้ายที่ตั้งและปรับปรุงบันไดปลาโจน
กระบวนการจ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวชาวประมงนั้นยืดเยื้อ(และไม่จบสิ้น)และเป็นกระบวนการที่น่าเบื่อหน่าย
เนื่องจากการศึกษาขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับจำนวนและที่ตั้งของครอบครัวชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาการประมงรวมไปถึงรายได้จากการจับปลา
2.6
ทัศนะต่อโครงการภายใต้บริบทปัจจุบัน
หากพิจารณาในบริบทปัจจุบัน
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของเขื่อนปากมูลคือผลกระทบต่ออาชีพประมงและรายได้จากการจับปลาที่ถูกละเลยตั้งแต่แรก
ไม่ได้มีการประเมินจำนวนครอบครัวที่ประกอบอาชีพประมง รายได้จากการจับปลา และการดำรงชีวิตที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนไว้ตั้งแต่ต้น
มีเพียงการจ่ายค่าชดเชยบ้านและที่ดินเท่านั้นที่นำไปประกอบการตัดสินใจ จึงไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับครอบครัวชาวประมงที่ได้รับผลกระทบและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การจะเข้าถึงปัญหาเช่นนี้
จะต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ใหม่สุดสำหรับโครงการที่มีการออกแบบใหม่ซึ่งขอบเขตการศึกษาสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องรวมถึงลักษณะและขอบเขตของผลกระทบของโครงการต่อวิถีชีวิตชาวประมง
การศึกษาจะต้องมีหลักประกันว่าฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องนั้นถูกต้อง ครอบคลุมถึงการระบุจำนวนหมู่บ้านชาวประมง จำนวนของผู้ที่อาศัยและประชากร
ระดับของการพึ่งพาการประมงในแต่ละฤดูกาล
รายได้
และทางเลือกในการโยกย้ายถิ่นฐานที่ชาวบ้านจะสามารถเข้าถึงการใช้ทรัพยากรแม่น้ำ และทางเลือกที่เป็นไปได้อื่น ๆ
[1] ในการเสนอโครงการเขื่อน กฟผ.ใช้หลักการที่ว่าการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ในกรณีเขื่อนปากมูล กฟผ.ให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูลขนาด 136
เทียบเท่ากับการที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาด 150 เมกกะวัตต์(ผู้แปล)
[2]
ค่าชดเชยนี้รัฐบาลจ่ายให้กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่สนับสนุน กฟผ.และรัฐบาล โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ฯ
ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาอาชีพประมงสนับสนุนให้มีการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่ากลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ความร่วมมือกับรัฐมาโดยตลอดและไม่สร้างความวุ่นวาย
(ผู้แปล)
[3]
กิจกรรมทางสังคมที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแก่ง คือ การไหว้พระพือที่แก่งสะพือ และงานสงกรานต์วันเนา
ซึ่งงานสงกรานต์วันเนานี้ชาวบ้านที่ตั้งชุมชนตลอดสองฝั่งลำน้ำมูลตั้งแต่แก่งสะพือลงไปถึงโขงเจียมใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสรงน้ำพระ ทำบุญ และการสนุกสนานร่วมกันภายในชุมชน
มีการประกอบอาหารร่วมกันโดยการช่วยกันจับปลาตามแก่งและแม่น้ำมูล
หลังจากแก่งถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้อ่างชาวบ้านก็ไม่สามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกันได้
ต้องย้ายไปที่อื่นที่ไกลออกไป เช่น ตามป่าต่าง ๆ แต่ก็ยากลำบาก ขาดแคลนน้ำ ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม
ที่สำคัญก็คือคุณค่าของความหมายก็ลดลง แตกต่างกับการจัดที่แก่ง (ผู้แปล)
[4] บริษัท SOGREAH เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมจากฝรั่งเศสโดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยโดยส่งบริษัทดังกล่าวมาศึกษาให้ฟรี
(ผู้แปล)