อธิวาสนา

... คนเรานั้นเป็นคนเหมือนกันจริง
แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมดในด้านของพฤติกรรม
เพราะเหตุปัจจัยที่ผ่านเข้ามาสร้างเป็นจริตนิสัยนั้นต่างกัน
เมื่อทำอะไรบ่อยๆ เข้ารวมเป็น "นิสัย"
ทำซ้ำๆ บ่อยมากขึ้นกลายเป็น "อุปนิสัย" (นิสัยที่แน่นอนหรือสันดาน)
อุปนิสัยก็จะยิ่งพอกพูนขึ้น กลายเป็นเรื่อง "อธิวาสนา"
(พฤติกรรมประจำตัวที่แก้ไม่ได้)
ผู้ที่แก้อธิวาสนาได้มีเพียง้ "พระพุทธเจ้า" เท่านั้น
(... พระอรหันต์ของพระพุทธศาสนามีบุคคลิกที่แตกต่างกันไปแล้วแต่
"อธิวาสนา"
แต่ทุกองค์จะเหมือนกันที่ "ความบริสุทธิ์" ...)
... จริตนิสัยของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป
บางคน ค่อนข้างไปทาง "ราคจริต" ชอบของสวยของงาม
ชอบการประดิษฐ์ปรุงแต่ง
ก็จะต้องใช้ ความไม่สวยไม่งามไปแก้
บางคน มีจริตค่อนไปทาง "โทสจริตี" ทำอะไรรวดเร็ว
อยากได้อะไรต้องได้ดังใจอยาก
เช่นนี้ก็ต้องแก้โดยการทำให้ช้าลง
ส่วน "โมหจริต" นั้น เป็นพวกที่ไม่สามารถเข้าใจธรรมะขั้นละเอียดได้
"ศรัทธาจริต" ที่ค่อนข้างจะเป็นโมหะมากๆ ก็มักจะเชื่อง่าย
ชอบอภินิหาร
ชอบลองของ
"พุทธิจริต" (จิตมีปัญญา) จะชอบสอน พบใครเห็นเป็นเด็กนักเรียน
จะแนะนำด้วยความหวังดีเสมอ
จริตทั้งหลายนี้ แม้ผิวเผิน... คล้ายจะต่างกัน
แต่โดยสัจจธรรม... จะเหมือนกันใน "ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็น
อนัตตา..."
... เปรียบได้กับ มะนาว พริก อ้อย บอระเพ็ด ทุกอย่างเกิดจากดิน
แต่รสจะต่างกัน
มะนาวมีรสเปรี้ยว พริกมีรสเผ็ด อ้อยมีรสหวาน ส่วนบอระเพ็ดมีรสขมม
สิ่งเหล่านี้เหมือนกันคือ นอกจากจะเกิดจากดินแล้ว
มันยังต้องตายเหมือนกัน
เราจะหารสเผ็ดจากมะนาวก็ไม่ได้ จะหารสขมจากน้ำตาลอ้อยก็ไม่ได้า
กินเปรี้ยวมากเกินไปก็ถ่ายท้อง กินหวานเกินไปก็ปวดตามข้อ
กินบอระเพ็ดมากเกินไปก็มีลมออกหู...
... พระเซ็น ๒ รูป เถียงกันเรื่องธงไหว
องค์หนึ่งว่า ลมเป็นปัจจัยทำให้ธงไหว อีกองค์ว่า
ธงต่างหากทำให้เกิดความเคลื่อนไหว
เถียงกันไปเถียงกันมา ตกลงกันไม่ได้ต้องร้อนถึงอาจารย์ตัดสิน
อาจารย์กล่าวว่า จิตของท่านต่างหากที่ไหว
ไม่ใช่ลมหรือธงอย่างที่ท่านเถียงกัน
... พระอาทิตย์อยู่ใกล้โลกที่สุดตอนไหนของวัน
องค์หนึ่งว่า ตอนเช้าซิ เพราะดวงโตที่สุด อีกองค์ว่า ตอนกลางวัน
เพราะร้อนที่สุด
เถียงกันไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ต้องร้อนไปถึงอาจารย์ให้ช่วยตัดสินอีก
อาจารย์ถามว่า ท่านฉันหรือยัง ให้ไปฉันข้าวดีกว่า !!!
พวกเราก็เหมือนกัน อย่าพยายามตั้งเรื่องอะไรที่มันต้องลำบากใจตนเอง
ให้พอใจกับการปฏิบัติ พอใจกับธรรมะรื่อ
อย่าพอใจกับการสอดส่องดูความบกพร่องของผู้อื่น
นั่นเป็นเรื่องของกิเลส
อะไรเกิดก็ให้รู้ รู้แล้วละเสีย
ธรรมชาติก็เป็นเช่นนี้ อย่าคิดให้เกินเลย ต้องคิดให้พอดี ...