บทที่
3
การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เด็กกำพร้า
: นิยามและความหมาย
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายของกำพร้าไว้ว่า ไร้บิดาหรือมารดาเลี้ยงดูแต่เด็ก
เด็กกำพร้าตามหลักศาสนาอิสลามคือ
เด็กที่มีอายุก่อนบรรลุศาสนภาวะ (ศาสนภาวะ ตามหลักการศาสนาอิสลาม คือ ผู้ชายต้องอยู่ในช่วงก่อนแตกหนุ่ม
ผู้หญิงถือจากก่อนการมาประจำเดือน และถือว่า เด็กกำพร้าเป็นภาระหน้าที่ของสังคมที่ต้องดูแลรับผิดชอบ
เมื่อพ่อตายต้องมีคนมาช่วยดูแล
ฉะนั้นในทัศนะของอิสลาม
เด็กกำพร้า คือ ผู้ที่กำพร้าพ่อ แม้ว่าจะมีแม่ก็ถือว่าเป็นเด็กกำพร้า เพราะในหลักการของศาสนาอิสลาม
พ่อจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในเรื่องอาหารการกิน เป็นคนหารายได้เข้าสู่ครอบครัว
ส่วนแม่จะเป็นผู้ดูแลภายในบ้าน ในเรื่องความอบอุ่นชาวบ้านจะช่วยกันดูแลโดยส่งมา
ในลักษณะการไม่รังแกเด็ก กล่าวคือถ้ามีเด็กรุ่นเดียวกัน พ่อแม่จะสอนไม่ให้รังแกเด็กกำพร้าเหล่านี้
เด็กกำพร้า
: ศาสนบัญญัติในอัล-กุรอาน
ตามหลักการศาสนาอิสลามได้มีบทบัญญัติตามอัล-กุรอาน
ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และให้หลักการปฏิบัติตนของผู้ที่มีความศรัทธาต่อองค์อัลลอฮฺ
ได้ดำเนินตามหนทางที่อัลลอฮฺได้วางไว้ที่ ซึ่งในข้อบัญญัติเหล่านี้ ได้ให้ความสำคัญกับเด็กกำพร้าไว้ด้วย
ดังปรากฏในคำสอนต่อไปนี้
ซูเราะ อัล กาบอเราะฮฺ
อายะฮฺที่ 83 จงนึกถึงเมื่อตอนที่เราได้ทำสัญญาไว้กับวงศ์วานของ อิสราอีลว่า
จงอย่าเคารพภักดีผู้ใดเว้นแต่อัลลอฮฺ จงทำดีต่อบิดา มารดา ต่อญาติสนิท เด็กกำพร้า
ผู้ขัดสน และจงสนทนากับผู้คนโดยดี จงดำรงละหมาดและจ่ายซะกาต (ทานบริจาค)
ซูเราะ อัล
กาบอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 220 ทั้งในโลกนี้และปรโลก พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับ
เด็กกำพร้า จงกล่าวเถิดว่าการแก้ไขปรับปรุงใดๆ ให้แก่พวกเขานั้น เป็นสิ่งดียิ่ง
และถ้าหากพวกเจ้าจะร่วมอยู่กับพวกเขา พวกเขาก็คือพี่น้องของพวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดี
ถึงผู้ที่ก่อความเสียหายจากผู้ที่ ปรับปรุงแก้ไข และหากอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้ว แน่นอนว่าทรงให้พวกเจ้าได้ลำบากไปแล้ว
แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพและทรงปรีชาญาณ
ซูเราะ อัล
กาบอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 177 คุณธรรมนั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ วันปรโลก
ศรัทธาต่อมลาอิกะฮฺ บรรดาคัมภีร์ และนบีทั้งหลาย บริจาคทรัพย์ทั้งๆ ที่มีความรักในทรัพย์นั้นแก่บรรดาญาติที่สนิท
บรรดาเด็กกำพร้า บรรดาผู้ยากจน ผู้ที่อยู่ในการเดินทาง บรรดาผู้ที่มาหา บริจาคในการไถ่ทาส
ดำรงไว้ ซึ่งการละหมาดและการชำระซะกาต อันเป็นคุณธรรมของผู้รักษาสัญญาโดยครบถ้วน
ซูเราะ อัล
กาบอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 215 ผู้คนทั้งหลายถามว่า อะไรที่เราควรจะใช้จ่าย
จงบอกพวกเขาว่า อะไรก็ตามที่สูเจ้าใช้จ่าย จงใช้จ่ายมันสำหรับพ่อแม่และญาติสนิท
เด็กกำพร้า ผู้ขัดสนและคน เดินทาง ความดีอันใดที่สูเจ้าได้กระทำไป อัลลอฮฺทรงรู้ดี
ซูเราะ อัล
นิซาฮฺ อายะฮฺที่ 2 จงให้บรรดาทรัพย์สินของพวกเขาแก่บรรดาเด็กกำพร้า
และ จงอย่าเปลี่ยนเอาของเลวแทนของดี จงอย่ากินทรัพย์สินของพวกเขา (เด็กกำพร้า)
ร่วมกับทรัพย์ของพวกเจ้า แท้จริงมันเป็นบาปอันยิ่งใหญ่
ซูเราะ อัล
นิซาฮฺ อายะฮฺที่ 6 จงทดสอบบรรดาเด็กกำพร้าดู จนกระทั่งพวกเขาบรรลุวัยสมรส
ถ้าพวกเจ้าเห็นว่าในหมู่ของพวกเขานั้นมีไหวพริบรู้ถูกรู้ผิดแล้ว ก็จงมอบทรัพย์ของพวกเจ้าให้แก่พวกเขาไป
และจงอย่ากินทรัพย์นั้นโดยฟุ่มเฟือยและรีบเร่งก่อนที่พวกเขาจะเติบโต และผู้ใดเป็นผู้มั่งมีก็จงงดเว้นเสีย
และผู้ใดเป็นผู้ยากจนก็จงกินโดยชอบธรรม ครั้งเมื่อพวกเจ้าได้มอบทรัพย์แก่พวกเขาไปแล้ว
ก็จงให้มีพยานยืนยันแก่พวกเขา และเพียงพอแล้วที่อัลลฮฺเป็นผู้ทรงสอบสวน
ซูเราะ อัล นิซาฮฺ
อายะฮฺที่ 8 บรรดาญาติที่ใกล้ชิดและบรรดาเด็กกำพร้า บรรดาผู้ที่ขัดสน
มาร่วมอยู่ด้วยในการแบ่งมรดก ก็จงปันส่วนหนึ่งจากส่วนนั้น ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา
และจงกล่าว แก่พวกเขาอย่างดี
ซูเราะ อัล นิซาฮฺ
อายะฮฺที่ 10 แท้จริงบรรดาผู้ที่กินทรัพย์ของเด็กกำพร้าด้วยความอธรรม
คือการที่พวกเขากินไฟเข้าไปในท้องของพวกเขาต่างหาก และพวกเขาก็จะเข้าไปสู่เปลวเพลิง
ซูเราะ อัล นิซาฮฺ
อายะฮฺที่ 3 หากพวกเจ้าเกรงว่า จะไม่สามารถให้ความยุติธรรมในบรรดาเด็กกำพร้าได้
ก็จงแต่งงานกับผู้ที่ดีแก่พวกเจ้า ในหมู่สตรีสองคน สามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้
ก็จงมีแต่หญิงเดียว หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกเจ้าครอบครองอยู่ นั่นเป็นสิ่งที่ใกล้ยิ่งกว่าในการที่พวกเจ้าจะไม่ลำเอียง
บทบาทของสังคมมุสลิมที่มีต่อเด็กกำพร้า
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสังคม
การเป็นมุสลิมที่ดีนั้นคือ มุสลิมที่ใช้ชีวิตให้สังคมยอมรับและ ให้ความดีแก่สังคมสร้างประโยชน์ให้สังคม
แล้วก็รับประโยชน์จากสังคมและมุสลิมแต่ละคนนั้นมีสิทธิ เหนือสังคม และสังคมก็มีสิทธิเหนือมุสลิม
หนึ่งในบรรดาสิทธิของสังคมเหนือมุสลิมนั้นคือซะกาตหรือ การบริจาคทาน ซึ่งซะกาตนั้นเป็นสิทธิของสังคมที่พึงได้รับจากคนรวย
เพื่อประกันความจำเป็นพื้นฐานของคนกลุ่มหนึ่งในสังคม เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าวให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
สำหรับศาสนาอิสลามแล้ว
การดูแลและให้สวัสดิการแก่สังคมนั้นเป็นศีลธรรมประการหนึ่ง โดยอัลลอฮฺได้กำหนดให้มีการจ่ายซะกาต
ซึ่งผู้มีสิทธิรับซะกาตประกอบด้วยด้วยบุคคล 8 ประเภทตามลำดับก่อน-หลัง คือ
1. ยากจน (ฟากรี)
คือ รายได้แต่ละวันไม่พอกับรายจ่าย เช่นรายได้ 40 บาท แต่ว่าค่าใช้จ่าย มากกว่าวันละ
40 บาท เช่น ข้าวสารกับกับข้าวคือ 50 บาทแสดงว่าเป็นฟากรี
2. อนาถา (มีสกิน)
คือ ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีผู้เลี้ยงดู เด็กกำพร้าจึงรวมอยู่ในบุคคลประเภทนี้
3. คนที่มีใจโน้มมาสู่อิสลาม
(มุอัลลัฟ) คือ ผู้ที่หัวใจของเขาต้องการความอบอุ่น เปลี่ยนจากการ นับถือศาสนาอื่น
ๆ เพื่อต้องการเข้ารับศาสนาอิสลาม
4. ผู้ทำหน้าที่จัดการซะกาต
(อามิล) คือ ผู้ที่คณะกรรมการอิสลามมอบอำนาจให้สามารถจัดการ เรื่องซะกาตได้
5. ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(อัลฆอริมีน) คือ ผู้ที่มีหนี้สินตามหลักการของศาสนาอิสลาม
6. ทาส (อัรริกอบ)
คือ ทางที่ต้องการไถ่ตัวเองเป็นอิสระ
7. ในหนทางของอัลลอฮฺ
(ฟีสะบีลิลลาฮ ) คือ กิจการตามหลักศาสนาอิสลาม
8. ผู้ที่เดินทาง
(อิบนุสะบีล) คือ ผู้ที่พลัดถิ่นหลงทาง
ในสังคมมุสลิมวัดความรวยความจนแบบง่ายๆ
ว่า หากใครซื้อของหวานได้ ซื้อของเล่นได้ ซื้อเสื้อผ้ามากๆ ได้ ก็ถือว่าร่ำรวย
ในศาสนาอิสลามแบ่งฐานะทางเศรษฐกิจเป็นคนจนกับคนรวยเท่านั้น ในขณะที่สังคมอื่นจัดให้มีคนฐานะปานกลาง
แต่อิสลามถือว่าคนฐานะปานกลางคือคนรวย และเมื่อรวยแล้วต้องดูแลคนอื่น อิสลามจะดำรงอยู่บนวิถีความพอเพียง
ส่วนที่เกินมาก็คือซะกาตที่ต้องจ่ายเพื่อสังคม
สังคมมุสลิมกับบทบาทการดูแลเด็กกำพร้า
ก่อนที่จะมีศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
เด็กกำพร้าในชุมชนจะมอบให้ญาติของเด็กเป็นผู้เลี้ยง แต่ถ้าเด็กกำพร้าไม่มีญาติพี่น้องเลย
คณะกรรมการมัสยิดจะเข้าไปดูแลในเรื่องอาหาร การกินและการเรียน เพราะฉะนั้นแต่ละมัสยิดจะมีรายชื่อของเด็กกำพร้าในหมู่บ้าน
ชาวบ้านเองก็จะรู้ว่า บ้านไหนมีเด็กกำพร้าหรือยากจน และสิ้นปีจะมีการจ่ายซะกาตให้กับเด็กกำพร้าและยากจนในหมู่บ้าน
สังคมต้องช่วยดูแลเด็กกำพร้าโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำจะมีหน้าที่โดยตรง
อย่างโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะคอยสอดส่องดูแลว่าครอบครัวเหล่านั้นมีกินหรือไม่
เด็กได้เรียนหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เรียน จะปรึกษากับกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้มีการช่วยเหลือคนยากจน
งานของมัสยิดที่เอื้อต่อการดูแลเด็กกำพร้า
การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กรู้หลักการศาสนา
โรงเรียนตาดีกาที่สังกัดกับมัสยิดนั้นๆ จะมี บทบาทที่สำคัญยิ่ง ตลอดจนปอเนาะ (โรงเรียนประจำที่สอนศาสนาอิสลามแบบอัธยาศัย
ไม่มีข้อจำกัด เกี่ยวกับอายุหรือเพศของผู้เรียน) ก็ต้องมาจากความร่วมมือของชาวบ้าน
และโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด มาร่วมกันสร้างปอเนาะ
นอกเหนือจากมัสยิดที่มีการจัดสรรสวัสดิการให้เด็กกำพร้า
ยังมีปอเนาะบางปอเนาะที่มีการจัดสรร สวัสดิการอย่างเป็นระบบทั้งส่วนของที่อยู่หลับนอนของเด็กและทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง
โดยไม่มีแบ่งแยกเด็กกำพร้าหรือเด็กมีฐานะร่ำรวยแต่อย่างใด เด็กทุกคนมีเกียรติเท่าเทียมกัน
เด็กกำพร้า จะได้ละเว้นการเก็บค่าเทอม แต่บางปอเนาะอาจมีรูปแบบต่างไปจากนี้ได้
ขึ้นอยู่กับผู้บริหารปอเนาะ
การสงเคราะห์เด็กกำพร้าในเชิงเปรียบเทียบ
สถานที่สงเคราะห์และรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของประเทศไทย
ปัจจุบันมีอยู่ทั่วไป ทั้งที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในส่วนของภาคใต้เอง
ได้มีศูนย์สงเคราะห์เด็ก และศูนย์รับเลี้ยง เด็กกำพร้าที่น่าจะนำมาศึกษาในเชิงเปรียบเทียบได้
ดังนี้
สถานสงเคราะห์เด็กจังหวัดปัตตานี
จากการสัมภาษณ์คุณซารา
บินเลาะ นักสังคมสงเคราะห์ 7 ว. ซึ่งทำงานในสถานเด็กสงเคราะห์เด็กจังหวัดปัตตานี
ได้ให้ข้อมูลว่า สถานสงเคราะห์เด็กฯ แห่งนี้ ไม่ใช่สถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นหลัก
เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรับสงเคราะห์เด็กที่มีปัญหาทางสังคมหลากหลายรูปแบบ ปัญหาที่ทำให้เด็ก
ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ อาทิ เด็กที่พ่อแม่เลิกกัน หรือช่วงที่เด็กเกิดวิกฤติจากการกำพร้า
ยากจน เร่รอน พลัดหลง พ่อแม่เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ผู้ปกครองต้องโทษ เด็กโดนล่วงละเมิดทางเพศ
และถูกทารุณ ร่างกาย ฯลฯ
แนวทางการสงเคราะห์เด็ก
จะพยายามทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเด็กให้อยู่กับสังคมภายนอก สถานสงเคราะห์ด้วย พยายามส่งเสริมให้ครอบครัวรับกลับไปอุปการะดังเดิม
หากติดขัดเรื่องการเลี้ยงดู ทางสถานสงเคราะห์จะช่วยเหลือเงินทุนการศึกษา เงินทุนประกอบอาชีพ
ตลอดจนคำแนะนำต่างๆ โดยใช้วิธีประสานเครือข่ายและออกเยี่ยมเยียนช่วยเหลือ และดึงองค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม
และสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้จัดสวัสดิการเด็กที่มีปัญหาได้เอง
งานที่ผ่านมาของสถานสงเคราะห์ฯ
ตั้งแต่ ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน
(2547) สถานสงเคราะห์ฯ รับเด็กมาอุปการะแล้วกว่า 1,000 คน ซึ่งเด็กจะมาจากจังหวัดต่างๆ
ทั่วทั้งภาคใต้ รวมไปถึงจังหวัดทางภาคอีสานที่ติดตามพ่อแม่มาทำงานที่ภาคใต้ เป็นเด็กที่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ
80 และเด็กที่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 20
ลักษณะของเด็กที่เข้ามาส่วนใหญ่
จะเป็นเด็กที่ยังมีครอบครัวอยู่ ไม่ได้กำพร้าโดยสิ้นเชิง บ้างมีพ่อ บ้างมีแม่ บ้างมีญาติที่พอจะนำกลับไปเลี้ยงดูต่อที่บ้านได้
เว้นแต่เด็กที่ถูกทอดทิ้งโดยไม่สามารถสืบรู้ได้ว่า พ่อแม่ของเด็กเป็นใคร
สวัสดิการของเด็กที่ได้จากรัฐบาล
เด็กจะได้เงินสำหรับเป็นค่าอาหารวันละ
40 บาท แต่เด็กเล็กๆ (ประถมศึกษาปีที่ 16 ) ไม่จำเป็นต้องใช้มาก ทางสถานสงเคราะห์ฯ
จะให้เงินเด็กไปโรงเรียนวันละ 11 บาท ที่เหลืออีก 29 บาท จะฝากธนาคารให้เด็ก ส่วนเด็กมัธยมศึกษาปีที่
1 - 3 จะได้วันละ 25 บาท ที่เหลือจะฝากธนาคาร และเด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยจะได้วันละ
40 บาทเต็ม เพิ่มค่ารถให้อีกวันละ 14 บาท รวมแล้วจะได้เงินวันละ 54 บาทต่อวัน สำหรับค่าเทอม
รัฐจะเป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด
การคัดสรรเด็กที่จะเข้ามายังสถานสงเคราะห์ฯ
เมื่อก่อน สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดจะเป็นผู้คัดสรรเด็กให้
โดยผ่านกระบวนการเยี่ยมบ้าน ดูสภาพครอบครัวของเด็ก ก่อนจะส่งมาให้สถานสงเคราะห์ฯ
เป็นหน่วยรับเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบัน สถานสงเคราะห์สามารถออกไปตรวจเยี่ยมบ้านได้เอง
คัดสรรเด็กได้เอง
ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กในสถานสงเคราะห์ฯ
สภาพความเป็นอยู่ของเด็กในสถานสงเคราะห์
หากมองเพียงด้านกายภาพแล้ว จะคิดว่าเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เนื่องจากมีอาหารการกินพร้อม
มีเงินไปโรงเรียน มีสิ่งต่างๆ เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป แต่หากมองด้านจิตใจ พื้นฐานของเด็กที่มาจากหลากหลายปัญหา
พฤติกรรมที่หล่อหลอมจากเบ้าที่คนละแบบ ประกอบกับการที่เด็กมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่
และจะมีแม่บ้านเพียงคนเดียว จึงไม่สามารถดูแลไม่ทั่วถึง การปรับแก้ด้านจิตใจของเด็กเพื่อให้อยู่ร่วมกันให้ได้นั้น
เป็นเรื่องที่สถานสงเคราะห์ต้องแก้ไขกันต่อไป โดยเฉพาะหลังๆ มานี้ พยายามคัดสรรเด็กด้วยกิจกรรมทดสอบทางจิต
มีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยดูแลมากขึ้น
การปรับตัวในปัจจุบันของสถานสงเคราะห์ฯ
เองก็พยายามส่งเสริมให้เด็กกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง ให้เด็กได้รับความรักแบบธรรมชาติ
อยู่แบบพ่อ แม่ ลูก เพราะสถานสงเคราะห์ฯ ทราบดีว่า ไม่สามารถดูแลเด็กในทุกด้านได้อย่างทั่วถึง
หากครอบครัวใดที่ยากจน ทางสถานสงเคราะห์จะดูแลเรื่อง ค่าใช้จ่ายให้เท่าที่ทำได้
เดิมทีภายในสถานสงเคราะห์ฯ
มีโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 แต่ด้วย การสอนที่ไม่มีบุคลากรที่ผ่านวิชาชีพครูโดยตรง
ใช้นักสังคมสงเคราะห์มาสอนหนังสือบ้าง ให้เจ้าหน้าที่ ธุรการมาช่วยกันสอนบ้าง มาตรฐานจะสู้สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะไม่ได้
ปัจจุบันจึงให้เด็กออกไปเรียน ข้างนอกทั้งหมด เพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง
กิจวัตรประจำวันของเด็กในสถานสงเคราะห์ฯ
เวลา 05.00 น. | เด็กจะตื่นนอนเพื่อทำกิจกรรมออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิค 45 นาที บางส่วนแยกไปทำกับข้าว (จัดเด็กตามหอพัก ซึ่งมีทั้งหมด 5 หอ แต่ละหอทำกับข้าวกินเอง) หลังจากออกกำลังกาย ก็กลับหอไปทำความสะอาดหอ ล้างห้องน้ำ ตามเวรที่จัดไว้ ทำภารกิจอาบน้ำแต่งตัว |
เวลา 06.30 น. | รับประทานอาหารเช้า |
เวลา 07.00 น. | เด็กทุกคนพร้อมกันที่กองอำนวยการเพื่อไปโรงเรียน ช่วงกลางวันจึงไม่มีเด็กอยู่ ในสถานสงเคราะห์ฯ เด็กเล็กจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะมีรถรับส่งไปโรงเรียน แต่ถ้าเป็นเด็กอาชีวศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัยก็จะให้เดินทางไปเอง |
เวลา 16.00 น. | สมาชิกจะทยอยกันกลับมายังสถานสงเคราะห์ เมื่อกลับมาถึงจะทำภารกิจส่วนตัว เช่น ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดหอ ทำการบ้าน |
เวลา 18.00 | รับประทานอาหารเย็น บางหออาจมีการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้ผล ไม้ประดับ ไว้บริเวณที่ว่าง |
เวลา 20.00 น. | จะเข้านอน |
สำหรับวันเสาร์ - อาทิตย์ที่ไม่ต้องไปเรียนหนังสือ | หลังจากตื่นนอนตอนเช้า และออกกำลังกายแล้ว ก็จะทำความสะอาดหอ ทำกิจกรรมพัฒนาสถานสงเคราะห์ฯ บางสัปดาห์อาจมีกิจกรรมเป็นพิเศษที่สถานสงเคราะห์จัดขึ้น เช่น การอบรมจริยธรรม ซึ่งจัดให้เดือนละครั้ง |
ปัญหาในสถานสงเคราะห์ฯ
ปัญหาที่พบมักเกิดกับเด็กในช่วงวัยรุ่น
คือ การแสดงออกแบบก้าวร้าว ออกไปเรียนนอกสถานสงเคราะห์แล้วไม่กลับเข้ามายังสถานสงเคราะห์ตามกำหนด
บ้างก็หนีเรียนจนต้องติดตาม เด็กเล็กจะพยายามดูแลให้กลับมาในสถานสงเคราะห์ เพราะถ้าเลยเวลา
16.30 น. จะไม่อนุญาตให้ออกไปข้างนอกแล้ว ส่วนเด็กที่โตแล้ว เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว
ก็อนุญาตให้ออกไปข้างนอกได้ แต่ต้องบอกให้ทราบล่วงหน้า
การลงโทษเด็กในสถานสงเคราะห์ฯ
การลงโทษเด็กที่ทำผิดระเบียบของสถานสงเคราะห์เริ่มจาก
การว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ทำโทษโดยการทำสาธารณประโยชน์ เช่น ล้างห้องน้ำ ดายหญ้า
โดยจะไม่ใช้วิธีการเฆี่ยนตี
การติดตามเด็กที่ออกจากสถานสงเคราะห์ฯ
ไปแล้ว
เด็กหลายคนที่เรียนจบออกไปแล้วมีงานทำ
มีชีวิตที่ดีขึ้น ก็กลับมาเยี่ยมน้องๆ บริจาคเงินให้น้อง วิธีติดตามทำโดยการส่งหนังสือไปยังที่อยู่ซึ่งเด็กแจ้งไว้
แต่เด็กบางคนออกไปจากสถานสงเคราะห์แล้วก็หายไปเลย ติดต่อไม่ได้ก็มี
บ้านดารุลไอตาม
บ้านดารุลไอตาม จังหวัดนราธิวาส
เป็นที่รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้าไว้ในอุปการะของเอกชน โดยให้เด็กพักอาศัย ซึ่งมีพี่เลี้ยง
(มูรอบบี) เป็นผู้ดูแลจัดหาทุนการศึกษาให้แก่เด็กกำพร้า ส่งเสริมและสนับสนุนให้
เด็กกำพร้าได้รับการศึกษาด้านวิชาสามัญ ศาสนา และฝึกวิชาชีพ
ศูนย์เด็กกำพร้าอมมุลมูฮัมมัด
กือดือแป
ศูนย์เด็กกำพร้าอมมุลมูฮัมมัด
กือดือแป เป็นศูนย์เด็กกำพร้าของเอกชน ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบล ละหาร อำเภอยี่งอ
จังหวัดนราธิวาส มีเกณฑ์กำหนดคุณสมบัติของเด็กกำพร้าที่จะอยู่ในความอุปการะ คือ
เป็นมุสลิมที่กำพร้าพ่อ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ไม่พิการหรือทุพพลภาพ
ปัจจุบันมีจำนวนเด็กกำพร้าที่อยู่ในความอุปการะ 790 คน จำแนกตามระดับการศึกษาได้ดังนี้
1. เด็กก่อนประถมศึกษา จำนวน 70 คน แบ่งเป็น ชาย 33 คน หญิง 37 คน
2. ประถมศึกษา จำนวน 486 คน แบ่งเป็น ชาย 249 คน หญิง 237 คน
3. มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 179 คน แบ่งเป็น ชาย 92 คน หญิง 77 คน
4. มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 47 คน แบ่งเป็น ชาย 15 คน หญิง 32 คน
5. ปริญญาตรี จำนวน 8 คน แบ่งเป็น ชาย 3 คน หญิง 5 คน
บริการที่จัดให้สำหรับเด็กกำพร้าที่พักอยู่ประจำ
คือ อาหารวันละ 3 มื้อ ชุดนักเรียนปีละ 2 ชุด สมุด หนังสือและอุปกรณ์การเรียน จ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺปีละครั้ง
(อาหารประจำในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งซึ่งอิสลามกำหนดให้มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องนำไปให้คนยากจนหรือคนอนาถาภายในเดือนรอมฎอน)
จ่ายค่ารถกลับบ้านปีละ 2 ครั้ง จัดสวัสดิการพยาบาลให้ตลอดทั้งปี
ศูนย์สาธิตเพื่อพัฒนายุวชนมุสลิม
จังหวัดยะลา
จากการสัมภาษณ์คุณซอและห์
ตอลิบ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 ได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เกี่ยวกับศูนย์สาธิตเพื่อพัฒนายุวชนมุสลิม
จังหวัดยะลา ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากมูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการกุศล ที่เริ่มตั้งจากคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งอันประกอบไปด้วยนักวิชาการ
นักการศาสนา นักธุรกิจ ข้าราชการ และประชาชนในจังหวัดยะลา เพื่ออาสาเป็นสื่อกลางที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาสังคม
โดยเฉพาะปัญหาเด็กกำพร้าและเด็กยากจนอนาถา ต่อมามีประชาชนบริจาคที่ดินให้ 10 ไร่
จึงมีการสร้างอาคาร บ้านพักเด็ก 2 ชั้น ประมาณ 16 ห้อง แบ่งเป็นห้องเรียนเด็ก ห้องพยาบาล
ห้องอ่านหนังสือ ห้องอาบน้ำ ห้องครัว ห้องนักการ บ้านพักอาจารย์ นอกจากนี้ยังมีมัสยิดภายในศูนย์ฯ
อีกด้วย
เมื่อปี 2536 ที่เริ่มตั้งมูลนิธิฯ
นั้น แรกๆ การบริหารจัดการยังไม่มีระบบ แค่รวบรวมเงินจากการบริจาคมาจุนเจือกิจกรรมของเด็กกำพร้าเป็นรายปี
จนกระทั่งปี 2542 ก็เริ่มทำเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น เริ่มมีคนภายนอกเข้ามาอาสาทำงานในศูนย์ฯ
บางครั้งศูนย์ฯ เองก็พอมีค่าตอบแทนให้อาสาสมัครได้บ้าง การอุปการะเด็กกำพร้าของศูนย์ฯ
จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. เด็กกำพร้าที่ยังอยู่กับแม่หรือผู้ปกครองที่บ้าน
เด็กกำพร้าประเภทนี้มีเกือบ 200 คน โดยศูนย์ฯ จะให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาเดือนละ
900 บาท และมีระบบติดตามความประพฤติ สุขภาพ และการเรียน อย่างสม่ำเสมอ
2. เด็กกำพร้าที่มีความสามารถ
หรือพิจารณาแล้วว่าต่อไปจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม ต่อไป เด็กกำพร้าประเภทนี้จะขอนำมาเลี้ยงดูในศูนย์ฯ
โดยคณะกรรมการมูลนิธิ จะสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้พัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่ายังขาดแคลนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในขณะนี้
การสร้างศูนย์สาธิตเพื่อพัฒนายุวชนมุสลิม
เป็นการเตรียมเด็กให้มาเรียนทางสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
ฯลฯ เป็นการเปิดโอกาสแก่เด็กยากจนที่มีความฉลาด ค่าใช้จ่ายของศูนย์ฯ สำหรับเด็กกลุ่มนี้
จะอยู่ที่ประมาณคนละ 2,300 บาท ต่อเดือน สมทบด้วยค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า จ้างสอนพิเศษโดยส่งไปเรียนข้างนอกศูนย์
ค่าจ้างคนทำครัว
ปัจจุบันเด็กในศูนย์ฯ
มีทั้งหมด 42 คน องค์กรที่ให้การสนับสนุนคือองค์กรจากรัฐบาลไทย (สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคม)
และองค์การจากประเทศซาอุดิอาระเบีย มีการทำแบบฟอร์มและส่งหลักฐานการดำเนินงานไปยังต่างประเทศ
ซึ่งจะมีองค์กรที่ช่วยหาคนมาอุปการะ แล้วแต่ผู้บริจาค ส่วนมูลนิธิจะเป็นผู้ประสานอนุมัติจ่ายเงินและติดตามการใช้เงิน
การปฏิบัติของศูนย์ ด้วยมีเป้าหมาย เพื่ออบรมศาสนาและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กจากการคุกคามทางวัฒนธรรมสังคมแบบตะวันตก
ซึ่งตอนนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็สับสนระหว่างคำพูดและการกระทำ บางครั้งผิดหลักศาสนา
แต่รัฐบาลมองว่าสามารถ ทำให้ถูกได้ เช่น คนที่รวยทางลัดด้วยการคดโกงคนอื่น ร่ำรวยด้วยการเสี่ยงโชคกับการพนัน
ซึ่งแบบแผนนี้ อิสลามจะไม่ทำตามกระแสแน่นอน ความชั่วเกิดขึ้นในสังคมในนานๆ จนกลายเป็นความเคยชิน
สังคมนั้น ก็จะมองการทำความชั่วเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าทำงานกับเด็กต้องปลูกฝังเด็กให้เกลียดความอยุติธรรม
การละเมิดสิทธิ ความชั่วร้ายต่างๆ ในสังคม ต้องแก้ไขด้วยการใช้สมอง ไม่ใช่มองด้วยการเกลียดแล้วเข้าไปทำลาย
หรือใช้กำลัง อย่างมากให้เพียงรังเกียจเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น
วิธีการที่เปลี่ยนแปลงให้เด็กอยู่ในหลักการของศาสนา
ในศาสนาอิสลาม บอกว่าเมื่อเห็น ความชั่วร้ายจะต้องเปลี่ยนแปลงมัน ไม่ว่าจะด้วยปาก
หัวใจ และสิ่งนี้ต้องมีการเรียนรู้ในปัจจุบัน ความชั่วร้ายถ้าเปรียบกับศาสนาพุทธ
คือการไม่ประพฤติผิดในศีล 5 ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เด็กละจากความชั่วได้ นั่นคือ
ประการแรก เด็กต้องเกลียดความชั่วร้ายก่อน ในศาสนาอิสลามถือว่าการเกลียดความชั่วร้ายเป็นศรัทธา
อย่างหนึ่งที่ทำให้ใจไม่อ่อนแอ ถ้ามุสลิมไม่เกลียดความชั่วร้าย ความมึนเมา การพนัน
ฯลฯ จะเข้ามาหา ตัวเอง และถือว่ามุสลิมคนนั้นไม่มีศรัทธา
การบริหารจัดการของศูนย์ฯ
เด็กที่อยู่กับบ้าน จะมีคนในหมู่บ้านช่วยดูแล เช่น
ครูสอนศาสนา คนดีที่ไว้ใจได้ ที่ไม่สอนเด็ก ไปในทางที่ผิด ต้องเป็นคนที่เข้าใจ
และปฏิบัติได้จริง เป็นบุคคลที่ทางศูนย์ฯ มั่นใจให้ติดตามเป็นรายวัน รายสัปดาห์
รายเดือน และรายปี
กิจกรรมประจำวันของศูนย์ฯ
เวลา 05.00 น. ตื่นนอนเพื่อละหมาดซุบฮีย์ อ่านอัล-กุรอาน ฟังการบรรยายว่าอัลเลาะฮฺได้บอก
อะไรบ้างในอัล-กุรอาน
เวลา 06.00 น. ทำภารกิจส่วนตัว รับประทานอาหารเช้าร่วมกัน
เวลา 07.30 น. มีรถมารับส่งไปโรงเรียน เด็กระดับประถมศึกษา จะเข้าแถวไปเรียนในหมู่บ้าน
แต่เด็กระดับมัธยมศึกษาจะไปโรงเรียนพัฒนาวิทยา จังหวัดยะลา หรืออาจไปเรียนพิเศษข้างนอกด้วย
ซึ่งทั้งวันเด็กจะทำกิจกรรมที่โรงเรียน
ช่วงเย็นจะให้เด็กออกกำลังกายบ้าง เข้าชมรมทำการเกษตร การเลี้ยงปลาบ้าง
เวลา 18.00 น. รับประทานอาหารเย็น
เวลา 18.30 น. ละหมาด อ่านอัลกุรอ่าน เข้ากลุ่มทำกิจกรรม เล่าประวัติท่านนบีมุฮำหมีด
ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม
เวลา 20.00 น. ละหมาดอีชา รับประทานอาหารว่าง ทบทวนบทเรียน โดยมีพี่เลี้ยง 3-4
คน มาคอยดูแล
เวลา 21.30 เข้านอน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ศูนย์ฯ
สนับสนุนให้เด็ก คือ มีสภา มีคณะกรรมการบริหาร นำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขเดือนละ
2 ครั้ง โดยมีฝ่ายปกครองเป็นพี่เลี้ยง เพื่อฝึกให้เด็กทำงานแบบมีส่วนร่วม สร้างภาวะความเป็นผู้นำของเด็ก
มีกิจกรรมสันทนาการ ในแต่ละปีจะมีค่ายอบรมภาคฤดูร้อน จัดกิจกรรมทัศนศึกษา และมีการเยี่ยมเยียนบ้านของนักศึกษาที่อยู่ในศูนย์แต่ละคน
ปีละ 2 ครั้งๆ ละ 3 วัน
ที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ
ได้จัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ใช้เวลา 2 เดือน โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาให้ความรู้
เปิดโอกาสให้เด็กภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรม ถือเป็นการกวดวิชาให้เด็กมีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น
ความคิดเห็นของเด็กในศูนย์ฯ
เด็กรายหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า
อยู่ในศูนย์ฯ แล้วสบายใจ มีอิสระในการทำกิจกรรมทุกอย่างที่อยู่ ในครรลองครองธรรมของมุสลิม
ซึ่งเด็กที่นี่ไม่มีการติดบุหรี่ ติดเหล้า ไม่เล่นการพนัน และอยากเสนอให้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดอบายมุข
อยากจะให้ที่ศูนย์ฯ นี้เป็นบ้านของเด็กที่อยู่ในศูนย์ฯ และเด็ก ที่เคยอยู่ในศูนย์ฯ
ตอนนี้มีชมรมศิษย์เก่าที่พร้อมทำงานให้ศูนย์เด็กกำพร้าด้วยหัวใจ
มุมมองต่อศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแน
ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแน
มีระบบการศึกษาวิชาสามัญที่ศูนย์การศึกษา นอกโรงเรียนเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนให้
ดูว่าชีวิตความเป็นอยู่เป็นระบบครอบครัวดี แต่วัตถุประสงค์อาจแตกต่างกัน ทางมูลนิธิจะส่งเสริมให้เด็กที่เรียนดีได้เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะ
ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
บ้านสุไหงปาแนมีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน จุดแข็ง คือไม่ได้มีงบประมาณมาจาก ต่างประเทศ
เพราะฉะนั้นจึงพิสูจน์ได้ว่ามีความแข็งด้านการบริหารจัดการ แต่จุดอ่อนคือความสม่ำเสมอ
ของงบประมาณ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบแล้ว เด็กจะเห็นคุณค่าของเงิน
ความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งศูนย์เด็กพร้าในมุมมองของมุสลิม
ถึงแม้ว่าในภาคใต้จะมีสถานสงเคราะห์เด็ก
และศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้า ทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล
แต่การรับบริการจากมุสลิมกลับมีจำนวนน้อย ทั้งที่มีเด็กกำพร้า อยู่จำนวนมาก ทั้งนี้อาจเนื่องจากความกังวลเรื่องการเลี้ยงดูว่าการกิน
การอยู่ การดำรงชีวิตของแต่ละวัน จะทำให้เด็กผิดแผกไปทางหลักการอิสลามหรือไม่ โดยเฉพาะสถานสงเคราะห์เด็ก
หรือศูนย์เด็กกำพร้า ของรัฐบาล ญาติบางคนไม่สบายใจ เพราะการเลี้ยงดูจะไม่ค่อยเน้นเรื่องศาสนาตามที่ญาติต้องการและ
มั่นใจว่าถ้าคนเรามีศาสนาต้องดีแน่นอน
เงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่ไม่อยากจะรับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล
เนื่องจากการบริหารที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน ไม่สามารถคิดหรือออกแบบให้ถูกหลักการได้
ถ้าจะใช้คำพูดเปรียบเปรยให้เห็นภาพที่ชัดเจนคือ เหมือนอยู่บ้านเรา อยู่กระท่อมเรา
ก็มีความสุข แต่ถ้าอยู่บ้านเขา เขาจะเจ้ากี้เจ้าการ เราก็จะไม่สบายใจ การทำงานอะไรก็แล้วแต่
ถ้าไม่สบายใจ งานจะไม่เดิน ความสบายใจเป็นสิ่งสำคัญมาก จะทำอย่างไร ให้ทุกฝ่ายสบายใจ
เหนื่อยไม่เป็นไร ขอให้สบายใจ เราก็ทำงานได้อย่างมีความสุข สนุกกับงาน ถ้าเป็นไปได้ต้องการให้มีการแยกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
คือ มีการหนุนเสริมจากรัฐได้ แต่การบริหารจัดการขอให้ มีความเป็นอิสระ และสอดคล้องกับหลักอิสลามเราก็สบายใจ
มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส ทำงานเต็มที่ ทั้งใจ ทั้งกาย
ถ้าเลี้ยงดูเด็กให้ไปในทางศาสนาอิสลาม
ญาติๆ จะสบายใจ แต่ถ้ามาส่งแล้วไม่มั่นใจในแนวทาง การเลี้ยงดู ญาติก็ไม่สบายใจ
กังวล ความสบายใจสามารถดูได้จากบางครอบครัวเป็นคนมีฐานะ แต่ก็นำ ลูกหลานมาฝากไว้ที่ศูนย์ฯ
เพราะความเชื่อมั่นว่าลูกหลานจะเดินไปตามแนวทางอิสลามที่ดีได้