บทที่ 4
กระบวนการดำเนินงานวิจัย
โครงการวิจัยนี้เกิดขึ้นจากความรู้จักคุ้นเคยระหว่างอาจารย์ปิยะ
กิจถาวร ผู้ประสานงาน หน่วยประสานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง และอาจารย์มัรยัม
สาเมาะ ประธานศูนย์เด็กกำพร้าและ ยากจนบ้านสุไหงปาแน ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาสังคม
ทำงานร่วมกับประชาคม โดยมีอาจารย์บงกช ณ สงขลา หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการชุมชน สำนักส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้แนะนำให้รู้จัก จากนั้นมา จึงประชุมร่วมกันเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับแกนนำ
เครือข่ายมุสลิมะฮฺในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พยายามอธิบายความต่างระหว่างงานพัฒนา
กับงานหาความรู้ด้วยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สุดท้ายจึงเห็นร่วมกันว่าควรเริ่มทำวิจัยกับกลุ่มคนเล็กๆ
ที่ทำงานในศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแนก่อน แล้วค่อยขยายผลต่อไป
เมื่อได้ระดมปัญหาและสถานภาพของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
พบประเด็นสนใจร่วมกันคือ เครือข่ายมุสลิมะฮฺที่ได้สลายกันไป ไม่ค่อยเข้าประชุมกันเหมือนเดิม
จึงได้ชักชวนให้ลองใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แรกๆ
ยังไม่ได้รับการยอมรับความคิดนี้ เนื่องจากยังรู้สึกหนักใจ ไม่มั่นใจ กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยาก แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องประมาณ 10 เดือน
ก็ได้ ข้อเสนอโครงการและได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการในเดือนตุลาคม 2544
เวทีชี้แจงสัญญาโครงการวิจัย
หลังจากได้รับการอนุมัติโครงการแล้ว
สิ่งแรกที่จำเป็นคือการชี้แจงโครงการวิจัย ตั้งแต่โจทย์วิจัย วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
เป้าหมายของโครงการ รายละเอียดกิจกรรมของงานวิจัย การสรุปงานวิจัย และการจัดการบริหารการเงิน
โดยมีพี่เลี้ยงหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง มาช่วย ทำความเข้าใจร่วมกัน
ทบทวนทิศทางของงานทั้งหมด ก่อนดำเนินงานโครงการวิจัย
ทีมนักวิจัยได้แบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน ดังนี้
อาจารย์มัรยัม สาเมาะ
หัวหน้าโครงการ จะมีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก และ ภายในศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ดำเนินงานวิจัยให้เป็นไปตามกิจกรรม ควบคู่ไปกับกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
คุณฮาลูมา อิแอ รับผิดชอบด้านการเงิน
รวมทั้งเป็นเลขาของโครงการในการจดบันทึกข้อมูล ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง
คุณฮาซีบ๊ะ กริยา
รับผิดชอบด้าน การเงิน และบัญชี โดยมีการเบิกจ่ายเงินเป็นรายกิจกรรม
ส่วนทีมงานวิจัยอื่นๆ
มีหน้าที่ช่วยกันร่วมคิดร่วมทำในทุกกระบวนการงานวิจัย
การประชุมประจำเดือนของทีมวิจัย
กลไกการดำเนินงานวิจัยที่ตกลงร่วมกันคือจัดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน
ที่ผ่านมามีการ แจ้งคณะครูและทีมวิจัย เพื่อให้ได้รับทราบเกี่ยวกับการจัดทำกิจกรรมถอดบทเรียนเครือข่ายมุสลิมะฮฺ
ศึกษากรณีศูนย์เด็กกำพร้าฯ ด้วยวัตถุประสงค์ในการทบทวนบทบาทหน้าที่และการทำงานของกลุ่มมุสสิมะฮฺที่มีต่อศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแน
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และแสวงหาแนวทางในการพัฒนาศูนย์กำพร้าฯ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านไหงปาแน
ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีองค์ประกอบผู้เข้าร่วมการประชุมคือ ทีมวิจัยจำนวน
5 คน คณะครูประจำศูนย์เด็กกำพร้าฯ จำนวน 7 คน ต่างคนต่างร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานวิจัย
ในมุมมองต่างๆ ของกลุ่มมุสลิมะฮฺ
ขั้นตอนการประชุมในครั้งนี้ ได้ลำดับการพูดคุย คือ
1. ทีมวิจัยแจ้งให้ครูประจำศูนย์เด็กกำพร้าฯ ให้ทราบถึงการทำวิจัยอย่างเท่าเทียมกัน
2. ดำเนินการประชุมโดยใช้กระบวนการพูดคุยและปรึกษาหารือ
3. สรุปแนวทางการดำเนินงานวิจัยระยะต่อไป
4. ปิดการประชุมด้วยการขอพร
กิจกรรมการประชุมในแต่ละเดือนของคณะกรรมการศูนย์กำพร้าฯ
ก่อนที่จะมีโครงการวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น
การประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการศูนย์ เด็กกำพร้าฯ ได้ดำเนินการประชุมเป็นปกติอยู่แล้ว
ซึ่งจะจัดขึ้นทุกวันที่ 2 ของเดือนอาหรับ โดยส่วนใหญ่ จะใช้ห้องธุรการ ศูนย์เด็กกำพร้ายากจนและอนาถาบ้านสุไหงปาแน
เป็นสถานที่ประชุม เมื่อมีโครงการวิจัยเข้ามา จึงได้ผนวกเข้าเป็นเนื้องานเดียวกัน
ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมตามลำดับดังนี้
ครั้งที่
1 วันที่ 25 มกราคม 2545 มีจำนวนผู้เข้าประชุม 11 คนองค์ประกอบในการประชุม
ได้แก่ ครูในศูนย์เด็กกำพร้าฯ จำนวน 9 คน ผู้บริหาร จำนวน 1 คน มุสลิมใหม่ จำนวน
1 คน
ขั้นเตรียมการประชุม
ฝ่ายปกครองของศูนย์เด็กกำพร้าฯ คือคุณฟาตือเมาะ สตาปอ ได้แจ้ง กำหนดการประชุมถอดบทเรียนให้คณะครูทุกคนได้ทราบล่วงหน้าโดยพร้อมเพรียงกัน
ในวันที่ประชุมปกติของศูนย์เด็กกำพร้าฯ เพื่อเตือนความจำของทุกคน จากนั้นฝ่ายวิชาการและคณะครูจะจัดเตรียมสถานที่
เพื่อประชุม คณะครูได้บอกเกริ่นเตือนๆ กันในคณะกรรมการว่าถ้าหากใครมีประเด็นอะไรก็เขียนตั้งไว้เผื่อลืม
และถ้าหากมาประชุมไม่ได้ก็อาจฝากประเด็นไว้กับผู้ดำเนินการประชุมคือ คุณฟาตือเมาะ
สตาปอ
กระบวนการในการประชุมทุกครั้งจะมีการปฏิบัติ
3 อย่างในที่ประชุม คือ จะต้องละหมาด ซูนัตตัสแบะห์ (การละหมาดขอบคุณอัลลอฮซึ่งจะมีการกล่าวสรรเสริญพระองค์
300 ครั้งใน 4 รอกาอัต) ก่อนการประชุมจะต้องมีการถามข่าวคราวของอุสเราะห์ (เด็กที่อยู่ในศูนย์ด็กกำพร้าฯ
แต่ละคนจะมีครูที่อยู่ในศูนย์เด็กกำพร้าฯ ทำหน้าที่เป็นแม่ โดยครูคนหนึ่งจะรับผิดชอบเด็กประมาณ
13 - 15 คน) ต้องถามทุกข์สุขตลอดที่เด็กอยู่ที่นี่
ทุกครั้งที่มีการประชุมจะมีการตักเตือนซึ่งกันและกัน
ซึ่งแต่ละคนจะต้องเตรียมตัวไว้ ไม่ว่า การเตือนนั้นจะออกมาในลักษณะใดก็ตาม เพราะการเตือนนี้จะทำให้เกิดความตระหนักในการปรับปรุงตัวเอง
(ประเด็นการตักเตือนจะไม่มีการบันทึกไว้ เนื่องจากเป็นการพาดพิงส่วนตัว จะบันทึกไว้ก็เฉพาะวาระ
การประชุมและมติการประชุมเท่านั้น)
ในนแต่ละเดือนนั้นต้องรายงานความก้าวหน้าของแต่ละฝ่ายของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ว่าทำไปถึงไหนและจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะต้องแก้ไขบ้าง ตลอดจนรายงานการมาสอนของครูแต่ละคนว่าขาดกี่วัน
มาสาย กี่วัน แต่ละวันสายไปกี่นาที ซึ่งเปิดโอกาสให้ชี้แจงสาเหตุของการขาดสอน และการมาสอนไม่ตรงเวลา
เพื่อจะได้นำมาแก้ไข
เมื่อที่ประชุมได้นำเสนอรายงานตามปกติแล้ว
ที่ประชุมจึงเสนอวาระการประชุมอื่นๆ แล้วร่วมกันปรึกษาหารือก่อนลงมติการประชุมโดยใช้เสียงข้างมากตัดสินใจ
ประกอบความเห็นของผู้บริหารในประเด็นต่างๆ เช่น การเงิน อาคาร ปัญหาของเด็กที่ครูไม่สามารถแก้ไขได้เอง
ก่อนที่จะแต่งตั้งผู้ดำเนินการประชุม ในเดือนต่อไป และปิดการประชุมด้วยการดุอาร์
(ขอพรจากพระเจ้า) โดยอาจารย์มัรยัม สาเมาะ
ครั้งที่
2 วันที่ 27 มีนาคม 2545 เวลา 10.00 - 15.00 น. โดยใช้ที่ประชุมคือบริเวณใต้ต้นไม้
ใกล้สวนศาสน์อิสลาม ศูนย์เด็กกำพร้าฯ มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน ประกอบไปด้วยผู้บริหาร
1 คน และครู อีก 6 คน
ขั้นเตรียมการ มีแบ่งภาระหน้าที่กันให้รับผิดชอบ
เช่น สถานที่ อาหาร และผู้ดำเนินการประชุม โดยฝ่ายสถานที่ประชุมมีผู้รับผิดชอบคือ
คุณนูรีดา ยานยา ฝ่ายอาหาร คือคุณมารียัม สอและ ฝ่ายดำเนินการประชุม คือ คุณรอสเมาะ
อะหมัด ซึ่งเป็นการเตรียมประชุมเหมือนกับทุกเดือนที่ผ่านมา
การประชุมเครือข่ายมุสลิมะฮฺที่สนับสนุนศูนย์กำพร้าฯ
ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่าย 23 ชุมชน ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการจัดประชุมแกนนำและกลุ่มมุสลิมะฮฺจำนวน
3 ครั้ง โดยนัดหมายดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 10 คน
ครั้งที่ 2 วันที่ 3 มีนาคม 2545 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 12 คน
ครั้งที่ 3 วันที่ 3 เมษายน 2545 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 15 คน
ในการประชุมแต่ละครั้งมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับโครงการก่อน
เพื่อความเข้าใจพร้อมเพรียงกัน และตามด้วยประเด็นอื่นๆ ซึ่งแต่ละทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและถอดบทเรียน
หลักการในการ จัดประชุมของกลุ่มมุสลิมะฮฺ จะมีการสร้างบรรยากาศในการประชุมคือจะเปลี่ยนสถานที่ประชุม
บางครั้งประชุมที่จังหวัดปัตตานี โดยใช้ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
หรือศูนย์เด็กกำพร้าของสมาชิกเครือข่ายในจังหวัดยะลาบ้าง การประชุมแต่ละครั้งจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อกระชับ
สัมพันธภาพ ก่อนมีการประชุมต้องมีการเกริ่นการประชุม 3 อย่างก่อนเข้าการประชุมทุกครั้งเหมือนกับเดือนที่ผ่านมา
ตักเตือนซึ่งกันและกันในที่ประชุม รายงานความก้าวหน้าของแต่ละฝ่ายในรอบเดือน รายงานการมาสอนในแต่ละเดือนว่าขาดกี่วันและสายกี่วัน
ตั้งวาระในที่ประชุม ปรึกษาหารือ ลงมติ และสรุปการประชุม แล้วแต่งตั้งผู้ดำเนินการประชุมในเดือนต่อไป
ปิดประชุมด้วยดุอาร์โดยอาจารย์มัรยัม สาเมาะ
การศึกษาบริบทชุมชน
ทีมนักวิจัยได้มีการสำรวจข้อมูลในชุมชน
เพื่อทราบข้อมูลชุมชน และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแก่ชุมชนไปพร้อมๆ
กัน การศึกษาชุมชนครั้งนี้ ได้กำหนดรูปแบบการหาข้อมูล 2 วิธี คือ ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิจากหน่วยงานต่างๆ
ในพื้นที่ และจัดเวทีชาวบ้านเพื่อทบทวนความเป็นมาของชุมชน ด้วยกระบวนการ ดังนี้
1. ทีมวิจัยเตรียมการประชุมเพื่อศึกษาชุมชน
2. ทีมวิจัยได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการหาข้อมูลชุมชน
3. นำเสนอบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน
4. ทีมวิจัยลงพื้นที่หาข้อมูลทุติยภูมิและข้อมูลจากผู้รู้ในหมู่บ้าน
การดำเนินการศึกษาข้อมูล ทำให้ทีมวิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลบานาในข้อมูลทุติยภูมิ ข้อมูลก็ได้มาระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ละเอียดมากนัก เนื่องจากทีมวิจัยไม่ค่อยได้เข้าหา อบต. เท่าใดนัก จากนั้นได้ศึกษาข้อมูลจากชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ก่อนจะนำมาสรุปผล และนำข้อมูล มาเรียบเรียงและวิเคราะห์ให้เป็นระบบ
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น
ทีมวิจัยได้ดำเนินการตามลำดับดังนี้
วันที่ 20
มีนาคม 2545 ได้มีการเตรียมการของนักวิจัยและพี่เลี้ยง เพื่อการกำหนดคำถาม
การสัมภาษณ์ชุมชน ให้รู้ว่าชุมชนรอบๆ ศูนย์เด็กกำพร้าฯ นั้น มีความคิดเห็นอย่างไร
อีกทั้งยังเป็นการ ทบทวนการทำงานในวันที่ผ่านมา ณ ห้องธุรการศูนย์เด็กกำพร้ายากจนและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
วันที่ 27
มีนาคม 2545 เสริมเทคนิคการตั้งคำถามการสัมภาษณ์ ซึ่งกำหนดกรอบในการสัมภาษณ์อยู่บนฐานของปัญหาหลักของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
4 ประการ คือ ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาด้านการจัดการ ปัญหาเกี่ยวกับเด็ก และปัญหาจากมุมมองของชุมชน
ข้อสรุปจากการหารือ
ตกลงกันว่าทีมวิจัยทุกคนจะออกสัมภาษณ์ตามหมู่บ้านต่างๆ 7 หมู่บ้าน โดยกำหนดนัดหมายระยะเวลาการเดินทางออกไปสัมภาษณ์
ในวันที่ 22-23 มีนาคม 2545 โดยให้ผู้สัมภาษณ์นั้นมีคำถามที่เชิญชวนให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้พูดคุยอย่างเป็นกันเอง
และเปิดใจที่จะบอกความจริงได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับระหว่างการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะต้องสังเกตท่าที
ทัศนคติ ความเป็นอยู่ และแนวโน้มของ ชุมชนในการให้ความร่วมมือกับศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สัมภาษณ์จะมีวิธีและโอกาสต่างๆ กัน
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำหรือตัวแทนชุมชน ผู้ปกครองของเด็กที่มาเรียนในศูนย์
เด็กกำพร้าฯ โดยการสัมภาษณ์จะเริ่มจากผู้สัมภาษณ์แนะนำตัวเอง และขอให้ผู้ถูกสัมภาษณ์แนะนำตัวด้วย
ก่อนจะบอกวัตถุประสงค์ของการมาสัมภาษณ์ แล้วเริ่มพูดคุยซักถามประเด็นที่เตรียมไว้
ซึ่งใช้เวลากลางและตอนเย็น ที่กลุ่มเป้าหมายในการให้สัมภาษณ์กลับมาจากที่ทำงาน
หรือเสร็จภารกิจจากหน้าที่การงานแล้ว
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นศิษย์เก่าของศูนย์เด็กกำพร้าฯ จะใช้เวทีพบปะศิษย์เก่าในวันประชุม
ประจำปี โดยให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นในเรื่องสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบัน และความหวังในอนาคตที่อยากให้ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
เป็น ด้วยกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยและใช้เทคนิคเขียนแผนที่ความคิด (Mind map) ผสมผสานกับการสัมภาษณ์ในประเด็นที่เตรียมไว้
ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นศิษย์ปัจจุบัน จะใช้ช่วงพบปะในการรวมกลุ่มของนักเรียนกับครูพี่เลี้ยง
ที่รับผิดชอบ (ครูคนหนึ่ง ต่อนักเรียน 9 10 คน) ทุกๆ สัปดาห์ ที่เรียกว่า Weekly
Family Meeting ด้วยการพูดคุยและสัมภาษณ์ตามประเด็นที่เตรียมไว้
ขั้นตอนการดำเนินงาน ได้ให้ทีมวิจัย 5 คน ใช้เวลา 7 วัน ในการออกไปสัมภาษณ์โดยกระจายไป
แต่ละหมู่บ้าน ในเขตตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้แก่ บ้านบางปูเหนือ
(ยีโอะ) , บ้านบางปูใต้(ตือลอ), บ้านบางปูกลาง (ตะอาวุน), บ้านบาลาดูวอ, บ้านจือโระ,
บ้านอาเนาะเยาะ, บ้านสุไหงปาแน, บ้านศูนย์เด็กกำพร้าฯ และบ้านหวายคม รวมจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ถึง
410 คน จำแนกตามกลุ่มเป้าหมายได้ดังนี้
1. กลุ่มผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนในพื้นที่ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
จำนวน 200 คน
2. ผู้ปกครองในพื้นที่บ้านสุไหงปาแน และนอกพื้นที่ใน 6 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน
3. ศิษย์เก่าของศูนย์เด็กกำพร้าฯ จำนวน 50 คน
4. ศิษย์ปัจจุบันของศูนย์เด็กกำพร้าฯ จำนวน 100 คน
5. ผู้นำชุมชน ได้แก่ โต๊ะอิหม่าม คอเต็บ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 กำนันตำบลบานา ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบานา
และผู้นำตามธรรมชาติที่ได้รับความนับถือจากชาวบ้าน โดยไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในราชการ
จำนวน 10 คน
เมื่อทำการสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว
จึงจัดเวทีสรุปข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ในวันที่ 13 เมษายน 2545 ณ ห้องประชุมศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองปัตตานี
มีผู้เข้าร่วมประชุม 9 คน ประกอบด้วยทีมวิจัยจำนวน 5 คน คณะครูจำนวน 2 คน และ สกว.ภาคใต้ตอนล่างจำนวน
2 คน โดยมี วัตถุประสงค์ของเวทีคือ
1. เพื่อสังเคราะห์และประเมินผลจากการออกสัมภาษณ์ทั้ง 7 วัน
2. เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น
3. เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา
4. เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าฯ
5. เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้การเคลื่อนไหว การบริหารจัดการศูนย์เด็กกำพร้าฯ
การถอดบทเรียนการทำงานของศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
ความมุ่งมั่นที่ก้มหน้าก้มตาพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าฯ
เพียงอย่างเดียว อาจก่อให้เกิดช่องว่าง ในการมองคนรอบๆ ข้างว่าคิดอย่างไรกับการดำเนินงานของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
สิ่งที่ทำมา ทางที่เดินไป หลงทิศผิดทางหรือไม่ การถอดบทเรียนการทำงานของศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง หากไม่รีบย้อนกลับมามองตัวเองแล้ว สักวันหนึ่งอาจต้องเสียใจว่าปล่อยเวลาล่วงเลย
ผ่านไปจนสายเกินแก้ ทีมวิจัยจึงได้กำหนดกิจกรรมการถอดบทเรียนกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
กันดังนี้
ถอดบทเรียนจากศิษย์เก่า
ได้รับความร่วมมือจำนวน
50 คน ทุกครั้งที่มีการพบปะศิษย์เก่าเป็นประจำทุกปีมีฝ่ายประสานงาน คือ คุณไซตูน
แวอาแซ ซึ่งเป็นประธานศิษย์เก่าของศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแน โดยครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่
15 มีนาคม 2545 ณ ศูนย์เด็กกำพร้ายากจนและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ คือ คุณฮาลูมา อิแอ ฝ่ายชี้แจงในการทำวิจัย และ ได้แบ่งฝ่ายพี่เลี้ยงในการจัดเป็น
4 กลุ่ม เป็นทีมงานช่วยในแต่ละกลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 คุณฮาซีบะ กริยา
กลุ่มที่ 2 คุณนูรียะ เจ๊ะฮูเซ็ง
กลุ่มที่ 3 คุณฟาตือเมาะ สตาปอ
กลุ่มที่ 4 คุณฮาลูมา อิแอ
เมื่อแบ่งกลุ่มแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ เด็กกำพร้าฯ ในแต่ละด้าน ดังนี้ ด้านเด็ก ด้านการเรียนการสอน ด้านความสะอาด ด้านการเงิน และด้านอื่นๆ จากนั้นให้สรุปร่วมกัน รวมถึงเสนอแนวทางแก้ไข ทบทวนว่าการถอดบทเรียนการบริหารจัดการของศูนย์ เด็กกำพร้าฯ ในครั้งนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ก่อนที่จะปิดการถอดบทเรียนโดยอาจารย์มัรยัม สาเมาะ
ถอดบทเรียนจากเครือข่ายมุสลิมะฮฺ
หลังจากได้ความคิดเห็นที่สะท้อนจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์เด็กกำพร้าแล้ว
ข้อมูลทั้งหมด ที่ประมวลได้มาเป็นข้อพิจารณาในการถอดบทเรียนการทำงานของเครือข่ายมุสลิมะฮฺ
ทบทวนการบริหาร จัดการศูนย์เด็กกำพร้าฯ โดยมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมตามลำดับคือ
ครั้งที่ 1 จัดเตรียมประชุม ณ ศูนย์เด็กกำพร้าฯ วางกรอบในการถอดบทเรียนด้วยการทบทวน
ความเหมาะสมของจำนวนเด็กกำพร้าที่จะใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์เด็กกำพร้าฯ ทบทวนการทำงานของกลุ่มมุสลิมะฮฺ
จากนั้นได้ช่วยกันจัดทำเอกสารประกอบการถอดบทเรียน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบในกลุ่มของนักวิจัยและกลุ่มมุสลิมะฮฺในเวทีถอดบทเรียน
ครั้งที่ 2 จัดประชุมเตรียมความพร้อมที่ศูนย์บริการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง
ซึ่งมี ผู้เข้าร่วมประชุม 9 คน ประกอบด้วยทีมวิจัยจำนวน 5 คน และคณะครูจำนวน 4
คน เป็นการประชุมเกี่ยวกับการคัดรายชื่อผู้ที่ควรจะเชื้อเชิญมาร่วมถอดบทเรียนจำนวน
100 คน ร่างกำหนดการ วางแผนการ ถอดบทเรียนอย่างละเอียด ซึ่งตกลงว่าจะจัดเวทีถอดบทเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี โดยตั้งชื่อเวทีถอดบทเรียนว่า ร้อยใจรวมความคิดพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าฯ
มีการแบ่งฝ่ายหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมด 7 ฝ่ายด้วยกัน คือ
1. ฝ่ายลงทะเบียน มีผู้รับผิดชอบ 2 คนคือ กะนะ กรงปินัง และ กะนะ บือติง
2. ฝ่ายอาหาร มีผู้รับผิดชอบ 2 คน คือ อาจารย์มัรยัม สาเมาะ และ กะซง บูดี
3. ฝ่ายอาคารสถานที่และเวทีมีผู้รับผิดชอบ 2 คน คือ คุณฮาลูมา อิแอ และคุณฮาซีบะ
4. ฝ่ายดำเนินรายการ มีผู้รับผิดชอบทั้ง 4 กลุ่มโดยเจ้าหน้าที่ สกว.ภาคใต้ตอนล่าง
เป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม
5. ฝ่ายพิธีกร อธิบายความเป็นมาของโครงการวิจัย และที่มาของการจัดเวที มีผู้รับผิดชอบ
2 คน คือ อาจารย์บงกช ณ สงขลา และอาจารย์ปิยะ กิจถาวร
6. ฝ่ายต้อนรับ มีผู้รับผิดชอบ 2 คน คือ อาจารย์รอยะ (ชาวบานา) และเจ้าหน้าที่
สกว. ภาคใต้ ตอนล่าง
7. ฝ่ายเปิด ปิดพิธี มีผู้รับผิดชอบ 2 คนด้วยกันคือ คุณอุสตัสกอซิม และอุสตัสกามิล
เมื่อตระเตรียมเวทีและกำหนดบทบาทชัดเจนแล้ว
จึงดำเนินการถอดบทเรียนเครือข่ายมมุสลิมะฮฺ กรณีศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแนขึ้น
ในวันที่ 7 มิถุนายน 2545 หลังจากคณะนักวิจัยแนะนำตัวและแนะนำจุดประสงค์พร้อมกับเกริ่นนำปัญหาต่างๆที่ประสบมา
ก็ให้ผู้มาร่วมถอดบทเรียน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มเด็ก (2) กลุ่มมุสลิมะฮฺและชุมชน
(3) กลุ่มบริหารการจัดการ และ (4) กลุ่มการเงิน
ข้อสรุปที่ได้จากเวที
ทีมวิจัยเห็นว่าควรนำเสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อขอคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้า
ในวันที่ 20 มีนาคม 2545 ได้ประชุมทีมวิจัย ณ ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 6 คน ประกอบด้วยทีมวิจัย 5 คน และ สกว. ภาคใต้ตอนล่าง 1
คน ด้วยวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อทบทวนความก้าวหน้าการทำงานวิจัย
2. เพื่อหาทางแก้ไขท่าทีใหม่ของศูนย์เด็กกำพร้าฯ ที่มีต่อชุมชน
3. เพื่อทบทวนการทำงานของกลุ่มมุสลิมะฮฺ
4. เพื่อทบทวนการเงินของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
5. เพื่อแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้แน่ชัดในทีมวิจัยอีกครั้ง รวมทั้งการบริหารงบประมาณของโครงการ
วิจัย
การประชุมเพื่อสรุปผลงานวิจัย
ได้พูดคุยต่อเนื่องอีก 2 ครั้งคือ
ครั้งที่ 1 วันที่ 25 เมษายน 2545 ณ ศูนย์เด็กกำพร้ายากจนและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
โดยมีผู้เข้าประชุม 7 คน ประกอบด้วยทีมวิจัย 5 คน ครูประจำศูนย์เด็กกำพร้าฯ 1 คน
และ สกว.ภาคใต้ตอนล่าง 1 คน เพื่อจัดทำใบเสร็จรับเงิน และร่างจดหมายเชิญผู้เข้ามาร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มิถุนายน 2545 ณ ศูนย์เด็กกำพร้ายากจนและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแนโดยมีผู้เข้าร่วมประชุม
6 คน ประกอบด้วยทีมวิจัย 5 คน และ สกว.ภาคใต้ตอนล่าง 1 คน เพื่อร่วมกันดูแลเรื่องใบเสร็จรับเงิน
การรวบรวมใบเสร็จรับเงินจากการใช้จ่ายในโอกาสต่างๆ ร่วมกัน ตรวจสอบ ความถูกต้องของการใช้จ่ายงบประมาณโครงการวิจัย
การถอดบทเรียนจากศิษย์ปัจจุบัน
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ได้มีการถอดบทเรียนศิษย์ปัจจุบัน ของศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
เพื่อได้ทราบความรู้สึกของเด็กที่อาศัยอยู่ในศูนย์เด็กกำพร้าฯ ซึ่งจะนำมาเป็น ทางเลือกในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้า
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กให้คิดเป็น ทำเป็น และ แก้ปัญหาเป็น
ก่อนจะมีการถอดบทเรียน ได้มีการเตรียมการโดยคณะครูมีการปรึกษาหารือและแบ่งภารกิจร่วมกัน
และจัดแบ่งกลุ่มประเด็นที่จะถอดบทเรียนออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1. การเรียนการสอนวิชาสามัญ
2. การเรียนการสอนศาสนา
3. การเรียนการสอนอาชีพ
ในการจัดเวทีถอดบทเรียนศิษย์ปัจจุบันในครั้งนี้
ได้มีการเตรียมตัวของคณะครู และเด็กนักเรียน ภายในศูนย์เด็กกำพร้า ดังนี้
1. คณะครู มีการเตรียมการและแบ่งหน้าที่ คือ บอกเล่าสถานการณ์ของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ในปัจจุบัน แจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในวันนี้ ทำหน้าที่สนับสนุนอุปกรณ์ในการจัดเวที
ควบคุมการเดินเวทีตามกระบวนการที่กำหนด ตั้งแต่ แบ่งบทบาทหน้าที่ให้เด็ก 10 นาที
กำหนดประเด็นและเปิดโอกาสให้เด็ก ได้ระดมความคิดเห็น 1 ชั่วโมง ให้เด็กมานำเสนอผลการพูดคุย
1 ชั่วโมง และสรุปปิดท้ายรวมทั้ง หาทางเลือกทางออกในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าอีก
10 นาที
2. เด็กนักเรียน ได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ตั้งแต่แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 7 กลุ่ม
โดยแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกประมาณ 12 - 13 คน จากนั้นให้เด็กตกลงกันเองว่าในกลุ่มของตัวเอง
ใครจะทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งมีบทบาทสำคัญๆ ดังนี้
ประธาน ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการพูดภายในกลุ่ม
เลขานุการ ทำหน้าที่บันทึกการนำเสนอภายในกลุ่ม
ผู้นำเสนอ ทำหน้าที่รายงานผลที่ได้จากกลุ่ม
ประเด็นที่ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันระดมความคิดเห็น
ได้กำหนดตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1. ด้านที่อยู่อาศัย
2. ด้านการกิน
3. ด้านเพื่อน
4. ด้านการเรียน
5. ด้านกฎกติกาและกริยามารยาท
6. ด้านการแต่งกาย
7. ด้านครู
การศึกษาดูงานศูนย์เด็กกำพร้า
เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ
การศึกษาศูนย์เด็กกำพร้าในที่อื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการนำมาพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
ให้ดียิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เดินทางไปศึกษาดูงานศูนย์เด็กกำพร้า 2 แห่ง
ศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐอาหรับเอมิเรต
จังหวัดสตูล
กำหนดให้วันที่ 17
กันยายน 2545 เป็นวันที่ออกเดินทางไปศึกษาดูงานศูนย์เด็กกำพร้า สหรัฐอาหรับเอมิเรต
จังหวัดสตูล โดยมีองค์ประกอบของคณะผู้เข้าร่วมครั้งนี้ 7 คน ได้แก่ ทีมวิจัย 1
คน สกว. ภาคใต้ตอนล่าง 1 คน ตัวแทนชุมชน 2 คน ครูประจำศูนย์เด็กกำพร้าฯ 2 คน ศิษย์ปัจจุบัน
2 คน และคนขับรถ 1 คน
การศึกษาดูงานในครั้งนี้
ทีมวิจัยมุ่งเน้นในการแสวงหาความรู้เรื่องการบริการศูนย์เด็กกำพร้าฯ รูปแบบการจัดห้องเรียน
การเลี้ยงดูเด็ก และการบริหารงบประมาณ ส่วนการเตรียมงานได้จัดแบ่งฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ซักถามข้อมูลระหว่างการศึกษาดูงาน
ดังนี้
1 . ฝ่ายการเงิน อาจารย์มัรยัม สาเมาะ
2. ฝ่ายวิชาการ คุณฮาลูมา อิแอ
3. ฝ่ายการจัดการ คุณฟาตีเมาะ สะตาปอ
4. ด้านการดูแลเด็ก คุณนูรียะห์ อูเซ็ง
เมื่อเดินทางไปถึง
คณะดูงานได้จัดกลุ่มเข้าทักทายระหว่างศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถา บ้านสุไหงปาแน
กับศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐอาหรับเอมิเรต เริ่มต้นด้วยชี้แจงวัตถุประสงค์การมาเยี่ยมเยียน
โดยอาจารย์มัรยัม สาเมาะ รวมทั้งชี้แจงความเป็นมาของโครงการวิจัย ตั้งแต่ความเป็นมาของการทำวิจัย
กิจกรรมของโครงการ การดำเนินงาน ผลที่คาดว่าจะได้รับ เมื่อได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จนได้เวลา
อันสมควรแล้ว ก็ได้อำลาศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐอาหรับเอมิเรต จังหวัดสตูล ด้วยความเสียดายยิ่งที่มีเวลาจำกัด
ศูนย์เด็กกำพร้าเปอร์กายอ
รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
กำหนดให้วันที่ 4 8 กันยายน
2545 เป็นวันศึกษาดูงานศูนย์เด็กกำพร้าเปอร์กายอ รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย โดยมีคณะผู้เดินทาง
6 คน คือ อาจารย์มัรยัม สาเมาะ คุณฮาซีบะ กริยา คุณเจ๊ะไซตูน แวอาแซ คุณมูญาฮีดะห์
สาเมาะ คุณเจ๊ะมารีแย เจ๊ะอูเซ็ง และคุณอิสมาแอล แมะตีเมาะ
ก่อนออกเดินทางไปศึกษาดูงาน ได้จัดแบ่งหน้าที่ในแต่ละฝ่ายคือ
1. ฝ่ายการเงิน ผู้รับผิดชอบ คือ นางสาวนูรียะห์ เจ๊ะอูเซ็ง
2. ฝ่ายวิชาการ ผู้รับผิดชอบ คือ นางมัรยัม สาเมาะ
3. ฝ่ายวิชาการ ผู้รับผิดชอบ คือ นางสาวเจ๊ะไซตูน แวอาแซ
4. ฝ่ายศึกษาข้อมูล ผู้รับผิดชอบ คือ นางฮาซีบะ กริยา
การเดินทางในครั้งนี้
อาจารย์มัรยัม สาเมาะ ได้ช่วยประสานงานกับทางศูนย์เด็กกำพร้าเปอร์กายอ รัฐตรังกานู
ประเทศมาเลเซีย ได้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาศึกษาดูงานทั้ง 5 วัน เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ายิ่งต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน