จากการศึกษาวิจัย
แนวทางการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิงบ้านสุไหงปาแน จังหวัดปัตตานี โดยชุมชนมีส่วนร่วมของชุมชนและกลุ่มมุสลิมะฮฺ
เพื่อทบทวนการทำงาน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างจิตสำนึกร่วมของกลุ่มมุสลิมะฮฺ
และชุมชนที่หลากหลายและ ต่างศาสนิก ทำให้คนทำงานได้ทราบทางเลือกในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ที่มุ่งเน้นให้เด็กมีสุขภาพ ทางกาย สุขภาพจิตใจ และสุขภาพทางสังคมที่ดี สามารถนำไปขยายผลในรูปแบบการจัดสวัสดิการของ
ชุมชน เป็นองค์ความรู้การเลี้ยงดูเด็กกำพร้าและยากจนหญิงมุสลิมในบริบทของพื้นที่จังหวัดปัตตานี
ยะลา และนราธิวาส
ด้วยความมุ่งมั่นของทีมวิจัยที่ได้ทำการดำเนินงานตามกิจกรรมเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ชี้แจงโครงการวิจัย
การแบ่งบทบาทหน้าที่ในกระบวนการงานวิจัย การประชุมเครือข่ายมุสลิมะฮฺ การศึกษาชุมชน
ถอดบทเรียนจากศิษย์เก่า ประชุมทบทวนการทำงานของทีมวิจัย สัมภาษณ์ชุมชน ถอดบทเรียนเครือข่ายมุสลิมะฮฺ
ทบทวนผลการดำเนินงาน การบริหารงบประมาณ ถอดบทเรียนศิษย์ปัจจุบัน ถอดบทเรียน การประชุมของคณะกรรมการศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ในแต่ละเดือน การศึกษาดูงานศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐอาหรับ เอมิเรต จังหวัดสตูล และศูนย์เด็กกำพร้าเปอร์กายา
รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ทำให้เกิดข้อค้นพบ มากมาย ดังนี้
ทบทวนการทำงาน : ยอมรับ
เข้าใจ พร้อมแก้ไข
การรู้จักตนเองและชุมชน
และค้นพบตัวตนของทีมวิจัยและทางศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนหญิง บ้านสุไหงปาแนโดยการมองทั้งภายในและภายนอก
รู้สาเหตุของการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบข้างที่ให้ ความร่วมมือน้อยลง อาทิเช่น ศูนย์เด็กกำพร้าสร้างกำแพงปิดกั้นตัวเองทั้งทางกายและทางใจจากบุคคล
ภายนอก ความเคลือบแคลงสงสัยในการบริหารงานของศูนย์เด็กกำพร้าฯ ทั้งด้านเป้าหมาย
กิจกรรม และ งบประมาณ คำถามที่เกิดขึ้นสามารถอธิบายด้วยการมองวิธีการทำงานของศูนย์เด็กกำพร้า
ซึ่งมี อยู่ 2 ระดับ คือ
1. มุมมองจากภายใน ที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง ตั้งแต่การเรียนการสอน ความเป็นอยู่ของเด็ก
ประสิทธิภาพของครูพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถหาแนวทางแก้ไขได้
2. มุมมองจากภายนอก อันที่เป็นมาของสาเหตุความห่างเหินของชุมชนนั้น เกิดจากชุมชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง
ทำให้เข้าใจผิดว่าศูนย์เด็กกำพร้าฯ ปิดกั้นตัวเอง หลังจากการทำความเข้าใจร่วมกันสามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจนขึ้น
2.1 ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ขาดการติดต่อกับชุมชน บางกิจกรรม ทำงานเพียงลำพังโดยเฉพาะการเรียนการสอน และการบริหารภายในศูนย์เด็กกำพร้า
โดยไม่ได้ดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาช่วยกันจัดการ
2.2 ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ขาดการประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่การบริหารงาน และการจัดการให้ทุกคนได้ทราบโดยทั่วหน้ากัน
ซึ่งเรื่องนี้ทางหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง ได้จัดสรรงบประมาณจัดทำแผ่นพับเพื่อแจกจ่ายแล้ว
แต่ทีมวิจัยยังไม่ได้ดำเนินการ
2.3 กำแพงล้อมรอบศูนย์เด็กกำพร้าเป็นความจำเป็นที่ต้องมี
เนื่องจากศูนย์เด็กกำพร้าฯ แห่งนี้รับอุปการะเด็กที่อยู่ประจำเป็นหญิงล้วน จึงไม่อนุญาตให้ผู้ชายเข้าออกโดยไม่มีธุระจำเป็น
เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งจากเพศตรงข้าม ทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่ากำแพงที่มีขึ้นเป็นการกีดกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ
ผลที่เกิดขึ้นคือหลายครั้งที่ศูนย์เด็กกำพร้าฯ เชิญบรรดาแม่บ้านของผู้นำชุมชนเข้ามาร่วม
ในกิจกรรมด้วยกัน แต่ทว่าไม่มีใครเข้ามาเลย ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เด็กกำพร้าฯ จึงปรับตัวด้วยการไปเยี่ยมชุมชนทันทีที่ทราบว่าแห่งใดกำลังประสบปัญหา
ต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนให้บุคลากรของศูนย์เด็กกำพร้าฯ ไปร่วมกิจกรรมที่มัสยิด
เช่น ส่งคณะครูและเด็กไปช่วยสอนอัล-กุรอ่านที่ตาดีกาและตามหมู่บ้าน อันเป็น ข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า
ศูนย์เด็กกำพร้าฯ ต้องให้ชุมชนก่อน แล้วชุมชนจะให้ตอบ
2.4 อคติที่ผู้นำชุมชนมองว่าบทบาทการดูแลเด็กกำพร้าควรเป็นของชุมชน
ไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง บ้างก็พูดประชดประชันว่าคนในชุมชนไม่มีความสามารถใดๆ
ที่จะรับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดู ในเมื่ออาจารย์มัรยัม สาเมาะ มีความสามารถ ก็ให้อาจารย์เขาทำไป
2.5 ชื่อที่ตั้งว่า
ศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน แต่เมื่อเปิดดำเนินการแล้วกลับมีเด็กส่วนหนึ่งที่ยังมีพ่อมีแม่ปะปนอยู่ด้วย
การทำงานที่ไม่ชัดเจนนี้เอง ส่งผลถึงการจ่ายซะกาต (ทานบริจาค) ตามหลักของศาสนาอิสลาม
ด้วยเหตุที่เด็กทั่วไปจะแบ่งเอาเงินซะกาตของเด็กกำพร้าไปใช้ไม่ได้ แต่อาจารย์มัรยัม
สาเมาะ ก็ได้พยายามอธิบายถึงการจัดสรรเงินว่าได้ทำอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง รวมทั้ง
ได้ปรึกษาผู้รู้อยู่ตลอดเวลา และต่อไปนี้ อาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เด็กกำพร้าฯ
มาจากตัวแทน ชุมชนที่อยู่รอบข้าง
2.6 ความโปร่งใสในการบริหารเงิน
หลายคนเข้าใจว่าอาจารย์มัรยัม สาเมาะ เอาเด็ก บังหน้าเพื่อหาเงินทำเป็นธุรกิจ แต่ความจริงแล้วการดูแลเงินมอบหมายให้ฝ่ายการเงินจัดการ
อาจารย์มัรยัม เป็นเพียงผู้นำเงินไปฝากธนาคารเท่านั้น นอกจากนี้ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ยังจัดระบบบัญชีที่สามารถตรวจสอบ ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้คำติเตียนก็เป็นข้อเตือนใจ
และให้ดูตัวอย่างในหลายองค์กรที่ล้มไป เหตุส่วนหนึ่งก็เนื่อง มาจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์
ดังนั้น ศูนย์เด็กกำพร้าฯ จึงปรับปรุงการทำงานเสียใหม่ โดยปิดประกาศและ แสดงผลการทำงาน
เมื่อมีวิทยากรมาสอนตัดเย็บเสื้อผ้า ก็บอกให้ชาวบ้านที่สนใจเข้ามาเรียนด้วย เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่สงสัยการทำงานของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ได้เข้ามาสัมผัสโดยตรง
กิจกรรมสำรวจความเห็น
นอกจากจะสามารถทบทวนการทำงานของตนเองได้แล้ว ยังสร้าง กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายมุสลิมะฮฺ
ถ่ายเทข้อมูลที่ขาดๆ หายๆ กลายเป็นภาพต่อที่สมบูรณ์ ความสงสัยเปลี่ยนมาเป็นความเข้าใจ
ความข้องใจเปลี่ยนมาเป็นการให้กำลังใจ จิตสำนึกร่วมของเครือข่ายมุสลิมะฮฺในการทำงานเพื่อสังคมได้ฟื้นกลับมาแล้ว
การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง
การจัดประชุม การจัดกิจกรรม
ไม่ควรกำหนดรูปแบบไปจากคนใดคนหนึ่ง
แต่ควรมากำหนดร่วมกัน ทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าภาพ ร่วมกัน เพราะเป้าหมายที่สำคัญคืออยากให้ทุกคนมาร่วมรับรู้
เรียนรู้ และเติมเต็ม ตลอดจนธรรมชาติ ของมนุษย์ไม่ชอบมีใครมาสั่งให้ทำ
การบริหารจัดการศูนย์เด็กกำพร้าของที่อื่นๆ
จากกิจกรรมการศึกษาดูงานที่ศูนย์เด็กกำพร้าสหรัฐอาหรับเอมิเรต
จังหวัดสตูล และศูนย์เด็กกำพร้าเปอร์กายา รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย มีข้อแตกต่างที่ไม่เหมือนกับศูนย์เด็กกำพร้าสุไหงปาแนหลายอย่าง
ด้านการเงิน ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
บ้านสุไหงปาแนจะดีกว่า เพราะเติบโตด้วยความสามารถของ คณะกรรมการบริหารที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพึ่งตัวเองให้ได้
ไม่ได้รอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว และ หากในอนาคตไม่มีงบประมาณจัดสรรมาให้ ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
จะอยู่รอดได้หรือไม่ อย่างไร
การดูแลเด็ก ศูนย์เด็กกำพร้าฯ
บ้านสุไหงปาแนด้อยกว่า เพราะต้องดูแลเด็กในจำนวนมาก พี่เลี้ยงคนหนึ่งต้องทำหน้าที่สอนหนังสือด้วย
ดูแลงานด้านอื่นด้วย การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ประสิทธิภาพ จะถดถอยลง ต่างกับศูนย์เด็กกำพร้าที่ไปดูงานมา
เพราะเป็นศูนย์เด็กกำพร้าที่ดูแลเรื่องการพำนักของเด็กอย่างเดียว การเรียนการสอนจะให้เด็กไปเรียนในโรงเรียน
มีงบประมาณจ้างบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้
จากการดูงานนี้เอง ทำให้ได้ข้อคิดดีๆ
มาปรับใช้กับศูนย์เด็กกำพร้าฯ เช่น วิธีแก้ปัญหาเด็กดื้อรั้น ด้วยการเชิญผู้ปกครองมาร่วมรับรู้สาเหตุการลงโทษเด็ก
จากเดิมที่ใช้วิธีการเรียกเด็กมาคุย เมื่อทำผิด ครบ 3 ครั้งแล้วยังทำผิดอีกก็จะทำการตีเด็ก
เปลี่ยนมาเป็นการถามเด็กว่าเมื่อทำผิดครบแล้วจะให้ทำอย่างไร ถ้าตกลงว่าอนุญาตให้ตีได้
ก็จะให้เด็กหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทิศทางเดียวกับการละหมาด แล้วให้เด็กรำลึกถึงสิ่งที่ได้ทำผิดไป
เด็กจะไม่มีอคติกับการลงโทษ และนิสัยของเด็กจะค่อยๆ อ่อนโยนลง
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นช่วยให้การปฏิบัติ
หรือการแก้ปัญหาของตัวเอง พึ่งตัวเอง ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน การทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการเรียนรู้ที่หาอ่านจากหนังสือไม่ได้
แต่เป็นการเรียนรู้จาก ประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้จากการหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบหรือวัตถุประสงค์ ของการวิจัย
มาถึงจุดนี้ นักวิจัยทุกคนเริ่มมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการวิจัย
ตระหนักว่า การทำงานคนเดียวเป็นเรื่องยากที่จะสำเร็จ ทำได้ไม่รวดเร็วเท่ากับการทำงานร่วมกันหลายๆ
คน เห็นประโยชน์ในหลายความคิดย่อมดีกว่าหนึ่งความคิดแน่นอน ดังนั้น การประชุมเครือข่ายมุสลีมะฮฺ
ก็ได้รู้จักวิธีการระดมความคิดตามกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
การที่ได้สัมภาษณ์ผู้นำชุมชนหลายๆ
พื้นที่ สัมภาษณ์ผู้ปกครองเด็ก สัมภาษณ์ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ทำให้ทีมวิจัยได้รู้ตัวตนมากขึ้น
เป็นประโยชน์ต่อการปรับภาพพจน์ใหม่ของศูนย์เด็กกำพร้าฯ ในหลายๆ เรื่อง บางเรื่องเป็นสิ่งที่เคยมองข้าม
ไม่ได้นำมาคิด ฉะนั้น การรวบรวมความคิด ความต้องการของหลายๆ คน โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณที่มีการสงสัยกันมาก
ทำให้ศูนย์เด็กกำพร้าฯ ปรับตัว จนพร้อมแสดงความโปร่งใสในการทำงาน
ผลของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ดังนี้
คนทำวิจัย
1. เกิดความสามัคคีในกลุ่มด้วยการนำประเด็นปัญหาร่วมกันมาแก้ไขด้วยกัน เรียนรู้ด้วยกัน
2. ได้รู้ว่าการแก้ปัญหานั้นต้องทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุทั้งหมดเสียก่อน
เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
3. ความเข้าใจผิดนั้นจะโทษใครไม่ได้ต้องสำรวจตัวเองเสียก่อน
4. ความพร้อมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากเราไม่ลงมือทำก่อน
5. ความสามัคคีมีพลัง
6. การที่ไม่มีทางออกในเรื่องต่างๆ นั้น อาจเป็นเพราะไม่รู้จักคนที่มีความรู้และสามารถแก้ไขได้
ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาลองถามคนอื่นๆ ดู
7. การทำงานด้วยใจที่ไม่บริสุทธิ์นั้น ไม่สามารถเจริญเติบโตได้นาน
8. รู้ถึงความสามารถของตัวเอง และอย่าให้ทำงานที่เกินความสามารถจนเกินไป
9. แลกเปลี่ยนกับผู้รู้บ่อยๆ จะทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ง่ายขึ้น และได้เพิ่มทักษะมากขึ้น
10. กระบวนการถ่ายทอดความรู้ เปิดใจในความคิด ความรู้สึกระหว่างผู้บริหารและสมาชิกในศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ทำให้เข้าใจผู้บริหารมากขึ้น
11. ได้รับรู้เรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสร้างเข้าใจระหว่างทีมวิจัยด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง
12. ได้เรียนรู้เรื่องระบบบัญชีและการเงินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
และ ได้นำมาเป็นแบบอย่าง
13. เกิดทักษะการแบ่งภาระหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน และพอใจการประชุมที่จัดขึ้นอย่างสร้างสรรค์มากกว่าเดิม
14. ได้เรียนรู้วิธีการรายงานผลการศึกษาดูงาน
เครือข่ายมุสลิมมะฮฺ
เครือข่ายมุสลิมะฮฺได้เห็นความสำคัญของงานวิจัยและพร้อมที่จะร่วมมือ
มีความเข้มแข็งขึ้นกว่า ที่ผ่านๆ มา แต่ละคนเข้าใจและยอมรับในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นอย่างดี
อย่างน้อยก็เกิดกิจกรรมที่จะได้มาพบปะกันบ่อยครั้งขึ้น ได้ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อหาทางเลือกในการพัฒนาศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
และตระหนักว่าจำเป็นต้องทำอะไรต่อไปหลังจากนี้เพื่อแก้ปัญหาสังคมและเยาวชน ที่ต้องการคำปรึกษาเยียวยาด้านจิตใจ
ต้องการความอบอุ่นที่ขาดหายไป
จากที่เมื่อก่อนที่องค์ประชุมของคนที่เข้าร่วมประชุมน้อย
ต่อมาระยะหลัง มาร่วมประชุมกันมากขึ้น ทำให้ความเป็นเครือข่ายมุสลิมะฮฺคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง
ทุกคนได้เข้าใจกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมี สกว. หนุนเสริม สัมพันธภาพใหม่ๆ
มาพร้อมกับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ คำพูดที่หยอกล้อกัน รู้นิสัยกันและกัน กล้าพูดมากขึ้น
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือทุกคนได้ทราบทางเลือกทางออกในการพัฒนาศูนย์ เด็กกำพร้าฯ
เข้าใจถึงภาพรวมและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร พบคุณค่าในความคิดเห็นที่เป็นสัจธรรมซึ่งสำคัญมากต่อการพบปะแลกเปลี่ยนกัน
ทั้งสมาชิกใหม่ สมาชิกเก่า และหน่วยงานที่เข้ามา ประสานงาน โลกทัศน์ใหม่ๆ จากการดูงานหลายที่
มีข้อสรุปที่ตรงกันว่าการทำงานนั้นต้องเปิดอก เปิดใจ กอดคอกันทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา
และจงแข่งขันกันทำความดี เมื่อนั้น มุสลิมะฮฺจึงจะเกิดความสามัคคีและมีพลัง
ชุมชน
จากเดิมที่ชุมชนเหินห่างจากศูนย์เด็กกำพร้าฯ
สุไหงปาแน หลังจากใช้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเปิดใจ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
องค์การบริหารส่วนตำบลบานา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการบริจาคข้าวสารให้
ชาวบ้านบางคนเริ่มมีความรู้สึกดีแก่ศูนย์กำพร้าฯ เพิ่มขึ้น
อุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
การทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนับแรมปี
นอกจากทีมวิจัยได้องค์ความรู้ การจัดการโครงการวิจัยแล้ว สิ่งที่ได้อีกอย่างคือการเรียนรู้จากปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง
และความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ปัญหาการดำเนินกิจกรรม
1. การสัมภาษณ์กลุ่มบุคคลต่างๆ
เพื่อสะท้อนมุมมองที่มีต่อศูนย์เด็กกำพร้าฯ สุไหงปาแน ตามกำหนดการแล้วคาดว่าจะใช้เวลาเพียง
2 วัน (22 23 มีนาคม 2545) แต่พอลงมือทำจริงๆ แล้ว กลับใช้เวลามากกว่า 7 วัน
เนื่องจากต้องรอบุคคลที่จะให้สัมภาษณ์มีเวลาว่างพอที่จะนั่งคุยซักถาม ความร่วมมือ
ในการสัมภาษณ์ก็น้อยมาก เพราะมีความรู้สึกว่าทางศูนย์เด็กกำพร้าฯ สุไหงปาแนมีผลประโยชน์เข้ามา
เหลือเฟือ แต่ทำเพื่อตนเอง ไม่มีการแบ่งปันให้ชุมชน การทำงานของศูนย์เด็กกำพร้าฯ
ก็ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการบริหารด้านการเงิน
2. การศึกษาบริบทชุมชน
ทีมวิจัยเฟ้นหาคนที่จะให้ความรู้ในความเป็นมาของชุมชนได้ยากมาก ส่วนหน่วยงานที่มีข้อมูลอยู่ก็ไม่ค่อยอยากให้
เพราะเดิมทีไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากนัก ต้องใช้หลักจิตวิทยากระตุ้นหน่วยงานให้กระตือรือร้นที่จะเสนอข้อมูลแก่ทีมวิจัย
3. การประชุมเพื่อถอดบทเรียนเครือข่ายมุสลิมะฮฺซึ่งเป็นผู้ที่มาจากชุมชนต่างๆ
บางพื้นที่จะอยู่ไกลจากศูนย์เด็กกำพร้าฯ สุไหงปาแนมาก ดังนั้น การระดมข้อมูลจึงอาจไม่ครอบคลุมทุกด้าน
ปัญหาการบริหารจัดการงานวิจัย
1. ทีมวิจัยยังไม่ได้มีการกระจายบทบาทการทำงานเท่าที่ควร เพราะยังไม่มั่นใจ คิดว่าตัวเอง
ยังขาดประสบการณ์ที่จะทำงานวิจัยได้
2. ทีมวิจัยไม่ถนัดในการเขียนสรุปการประชุมแต่ละครั้ง ไม่คุ้นเคยกับภาษาเขียนที่เป็นทางการ
ทำให้บางครั้งสื่อไปแล้วเข้าใจผิด
3. ไม่มียานพาหนะ จึงไม่ค่อยคล่องตัวในการประสานงานและทำกิจกรรมงานวิจัย
4. ไม่สามารถกำหนดแผนการทำงานให้ตรงตามเวลาได้ บางเรื่องต้องใช้เวลานาน
5. การเลือกสถานที่ในการทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ไม่ค่อยมีสมาธิ
ความคาดหวังในบทบาทของศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
1. อยากให้มีศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนในชุมชนอื่นๆ ซึ่งยื่นความช่วยเหลือไปถึงเด็กด้อยโอกาส
ทั้งหญิงและชายด้วย
2. ต้องการให้สอนการอ่านอัล-กุรอานตามหมู่บ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กกำพร้าและยากจน
ซึ่งบางแห่งกำลังดำเนินการอยู่แล้ว เช่น จังหวัดยะลา
3. ต้องการให้มีระบบครอบครัวอุปการะ เด็ก 1 คน ต่อ 1 ครอบครัวที่มีความสมารถจะให้
ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องจนเด็กเรียนจบ
4. ประสานกับองค์กรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือศูนย์เด็กกำพร้าฯ เพื่อให้การดำเนินงานก้าวไป
ข้างหน้า และคิดแผนพัฒนาด้านอื่นๆ ได้ ซึ่งบางแห่งได้มีกลุ่มที่จัดการด้านซะกาตสำหรับช่วยเหลือสังคมอยู่
เช่น กลุ่มที่ตำบลเจาะกือแย อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
5. คาดหวังว่าเครือข่ายมุสลิมะฮฺยังตระหนักศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแน
เป็นของทุนคน ซึ่งต้องช่วยกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
6. อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการประชุมมากขึ้น มีองค์ประกอบของบุคคลเข้ามา ร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานอย่างรอบด้านยิ่งขึ้น
7. อยากให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้มีพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยไม่จมปรัก
อยู่กับปมด้อยของตนเอง
ความคาดหวังเหล่านี้ นับเป็นทิศทางที่เครือข่ายมุสลิมะฮฺ และศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาบ้านสุไหงปาแนต้องทบทวน
ต้องมุ่งมั่น เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางร่วมกัน .....