แหล่งความรู้
เส้นทางสว่างไสวของผู้แสวงหา

10 พฤษภาคม 2551

หนังสือพิมพ์มติชน / ทางเลือกทางรอด: ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

เส้นทางสว่างไสวของ “ ผู้แสวงหา”

 
"...ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง
มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบ
ปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะ
เข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆ ได้
หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคลลเหล่านี้ให้มีความรู้วิชาชีพ
ที่เขาปรารถนาย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ
ชาติ.." เป็นกระแสกระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้า
อยู่หัว

 

 

 

 

 

 

จึงเป็นที่มาของโครงการพระดาบส ในความดูแลรับผิดชอบของมูลนิธิพระดาบส ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2518 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นรองประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ และมีคุณหมอเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นกรรมการและเลขาธิการ

ที่ผ่านมาเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของโครงการนี้มาบ้าง แต่ไม่เคยรู้รายละเอียดหรือไปเห็นของจริงกระทั่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ชักชวนให้ไปดูการเรียนการสอนในภาคสนามของ "อาจารย์บุญเลิศ ไทยทัตกุล" ครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้ไปถ่ายทอดวิชาการเกี่ยวกับสารพัดเห็ดให้กับลูกศิษย์ลูกหาในโครงการลูกพระดาบส ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ของที่ดินราชพัสดุ ใน ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และได้รับบริจาคเพิ่มเติมอีก 300 ไร่


อาจารย์บุญเลิศอธิบายว่า การเพาะเห็ดแบบครบวงจรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเห็ดมีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้น การเจริญเติบโตของเห็ดประมาณ 30 วัน หลังจากนั้นสามารถเก็บดอกนำไปขายได้ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในครอบครัว
การเพาะเลี้ยงเห็ดแบ่งเป็น 6 กระบวนการด้วยกัน กระบวนการที่ 1 คือ ทำวุ้นพีเค 2.ทำหัวเชื้อข้าวฟ่าง 3.ทำก้อนเห็ด 4.การเปิดดอกเห็ด 5.การแปรรูปเห็ด และ 6.การรีไซเคิล คือ นำก้อนเห็ดมาทำประโยชน์ต่ออีก

ทั้งนี้ จะไม่แนะนำให้เกษตรกรทำกระบวนการที่ 1-2 เพราะสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ จะแนะนำให้ผู้ไม่เคยปลูกเห็ดเลยทำในกระบวนการที่ 4 ก่อน คือ การเปิดดอกเห็ด และถ้าตัดสินใจจะทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม จะต้องมาศึกษากระบวนการแปรรูปเห็ด เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ทำเป็นเห็ดสวรรค์ ข้าวเกรียบเห็ด น้ำพริกเผาเห็ด หรือไวน์เห็ดก็ได้ ส่วนกระบวนการรีไซเคิล หลังจากเก็บดอกครบ 6 เดือน จะนำก้อนเห็ดตรงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำมาเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดอุตสาหกรรม และทำเป็นอาหารสัตว์ก็ได้

ในส่วนของโครงการลูกพระดาบส จะมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ด้อยโอกาสจากทั่วประเทศเข้ารับทุนการศึกษา ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจะทรงออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดจนจบหลักสูตร แล้วแต่ใครเลือกเรียนอะไร มีทั้งหลักสูตรการเกษตรพอเพียงและหลักสูตรช่างไม้เครื่องเรือน ใช้เวลาเรียน 1 ปี ไม่จำกัดเพศและไม่จำกัดวัย


ส่วนหลักสูตรที่สองเป็นการฝึกอบรม 5 วัน เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะมาเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ด ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการบริการให้กับประชาชน สิ่งที่เกษตรกรจะต้องจ่ายคือค่ากินอยู่ของตัวเอง ส่วนอีกหลักสูตรหนึ่งคือศึกษาดูงาน 3 ชั่วโมง เป็นหลักสูตรแบบเร่งรัดนำหัวใจสำคัญมาสอน และสามารถนำไปศึกษาด้วยตัวเองถ้ามีปัญหาก็สามารถกลับมาที่ศูนย์ได้

อาจารย์บุญเลิศพานักข่าวไปดูโรงเรือน ซึ่งปลูกเห็ดตระกูลนางรม เห็ดยานากิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว และเห็ดหลินจือ โดยเห็ดนางรมส่งขายกิโลกรัม (กก.) ละ 50 บาท เห็ดเป๋าหื้อ 80 บาท เห็ดยานากิ 300 บาท

ที่ผ่านมามีกลุ่มแม่บ้านในตำบลบางปลาม้ามาศึกษาและนำไปเป็นอาชีพเสริม อย่างเช่นทำแหนมเห็ด และทำเห็ดสวรรค์ สำหรับการทำแหนมเห็ดจะใช้เห็ดตระกูลนางรมทั้งหลาย วิธีการคือฉีกเห็ดเป็นชิ้นๆ นำไปนึ่งให้สุก แล้วคั้นน้ำออก ส่วนผสมอื่นๆ มีข้าวเหนียว เกลือ กับถุงพลาสติกที่ใส่บรรจุ นำข้าวเหนียวกับเกลือคลุกกับเห็ดแล้วใส่ถุงพลาสติก พร้อมเติมพริกสด 1-2 เม็ด จากนั้นรัดให้แน่นทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน รสชาติจะเปรี้ยวพอดี

อาจารย์บุญเลิศรับประกันว่า เห็ดสามารถเพาะได้ทุกภาค อย่างภาคเหนือเพาะเห็ดเมืองหนาวได้ รวมทั้งตระกูลนางรม เห็ดขอนขาว ปลูกเห็ดยานากิภาคใต้ก็สามารถเพาะเห็ดโซนเมืองร้อนได้ ส่วนภาคอีสานเพาะได้ทั้งหมด และถ้าใครอยากได้แบบแปลนโรงเรือนเห็ดก็สามารถขอมาได้ที่มูลนิธิพระดาบส

ในฐานะผู้อยู่ในวงการเห็ดมานาน อาจารย์บุญเลิศมองว่า อาชีพเพาะเห็ดขายน่าจะไปได้ดีเพราะเมืองไทยยังต้องสั่งเห็ดจากเมืองจีนหลายแสนตันต่อปี ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และตอนนี้น่าจะเป็นโอกาสของผู้ขายมากกว่า เพราะปริมาณเห็ดที่เข้าสู่ตลาดค่อนข้างน้อย แต่ความต้องการค่อนข้างมาก

สนใจสมัครเป็นลูกศิษย์อาจารย์บุญเลิศ ติดต่อได้ที่ 08-9113-6389
หรือที่คุณปุ๋ย โทร. 08-4424-7993

* อาชีพที่เริ่มต้นที่ละน้อย แบบพอเพียง จนสามารถทำได้เองครบวงจรง *