โครงการลูกพระดาบส
สนองพระราชดำริ ให้โอกาสที่สอง สร้างคนดี มีวิชาชีพ กลับคืนสู่สังคม

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ได้ทรงมีกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับวิธีแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ในรูปแบบต่าง ๆ พระราชดำริดังกล่าว มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโครงการลูกพระดาบสโดยพระองค์ ท่านทรงมีพระราชดำริ ให้มูลนิธิพระดาบสผ่านทาง พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการมูลนิธิพระดาบส เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544 เป็นการส่วนพระองค์ว่า “ให้มุ่งหน้าไปด้านเกษตรกรรมอย่างจริงจัง”

ทั้งนี้ต้องการให้นักเรียน มีความรู้ในวิชาชีพเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นอีกแขนงหนึ่ง นอกจากหลักสูตรช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิก และเครื่องยนต์ ที่เปิดอยู่เดิม ซึ่งนักเรียนจะได้นำความรู้ทางด้านการเกษตร ไปใช้ประโยชน์
์ในการ ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองครอบครัว และช่วยเหลือสังคมในชนบทได้
ต่อมามูลนิธิพระดาบสได้สนองแนวกระแสพระราชดำริ ดังกล่าว โดยได้จัดตั้งโรงเรียนลูกพระดาบสเกษตรขึ้น โดยท่านเลขาธิการพระราชวัง คุณ แก้วขวัญ วัชโรทัย ได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ออกแบบ
โครงสร้างหลักสูตรขึ้นใช้ ชื่อว่าหลักสูตรพืช อาหาร สัตว์ และ การเลี้ยงโคนม

และได้มอบหมายให้ คุณเอกสิทธิ์ วัฒนปรีชานนท์ ผู้อำนวยการกองบำรุงรักษาราชอุทยาน สำนักพระราชวัง เป็นประธานคณะทำงาน จัดตั้งโรงเรียนลูกพระดาบสเกษตร  โดยมีว่าที่ ร.ต.สมานมิตร พัฒนา นักวิชาการสาธารณสุข ๕ ข้าราชการสังกัด กระทรวง สาธารณสุข  ช่วยราชการกองบำรุงรักษาราชอุทยาน สำนักพระราชวัง เป็นเลขานุการคณะทำงานโครงการ ฯ ทำหน้าที่ติดต่อ ประสานงาน เชิญ อาจารย์/วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตรในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากสถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ และองค์กรเอกชนต่าง ๆ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียน

โดยได้ใช้ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารออมสินเฉลิมพระเกียรติ สวนจิตรลดา เป็นสำนักงานเลขานุการโครงการ ฯ     และห้องเรียนชั่วคราว โดยในอนาคตโรงเรียนพระดาบสเกษตร จะตั้งอยู่อย่างถาวร ณ โครงการลูกพระดาบส จังหวัดสมุทรปราการ ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งได้เปิดทำการเรียนการสอนประจำปี การศึกษา  2544  เป็นปีการศึกษาแรก โดยเริ่มเรียนตั้งแต่  วันที่ 2 มกราคม 2544   มีนักเรียนลูกพระดาบสเกษตรรุ่นที่ 1 จำนวน 6 คน ใช้ระยะเวลาเรียนตลอดหลักสูตร 10 เดือน ซึ่งมีการจัดการเรียนการ สอนภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ดังนี้

ภาคทฤษฎี จำนวน 29 สัปดาห์ (7 เดือน) ประกอบไปด้วยหมวดวิชา

  • หมวดวิชาพื้นฐานเตรียมช่าง ( เครื่องยนต์การเกษตร) จำนวน 8 สัปดาห์
  • หมวดวิชาพื้นฐานการเกษตร                       จำนวน 4 สัปดาห์
  • หมวดวิชาพืชอาหารสัตว์                            จำนวน 7 สัปดาห์
  • หมวดวิชาการเลี้ยงโคนม                            จำนวน 3 สัปดาห์
  • หมวดวิชาเกษตรเพิ่มมูลค่า                         จำนวน 7 สัปดาห์

โดยมีการนำนักเรียนไปศึกษาภาคทฤษฎี และศึกษาดูงานนอกสถานที่ ดังนี้
     1 . คณะประมง, สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร, ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, ศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

     2 . สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงาม และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ กรมประมง บางเขน และสถาบันวิจัย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยานอกจากนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรมพิเศษ นำนักเรียน ลูกพระดาบสเกษตรไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ ตามสถานที่ราชการและ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่นักเรียนดังนี้

  • สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
  • สถานีอนามัยตำบลมหาสวัสดิ์ ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
  • พิพิธภัณฑ์ปลา (วังปลา) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
  • โครงการศิลปาชีพพิเศษ กลุ่มทำตุ๊กตาชาววัง จ.อ่างทอง
  • โครงการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า และศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
  • โครงการหลวงบ้านหนองหอย โครงการหลวงดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
  • โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ภาคปฏิบัติ  จำนวน 11 สัปดาห์ (3 เดือน) ดังนี้

  • ฝึกอบรมหลักสูตร “การเลี้ยงโคนม” (หลักสูตร 16 วัน) ณ ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทยเดนมาร์ค องค์การส่งเสริมกิจการ โคนมแห่งประเทศไทยอ.มวกเหล็ก  จ.สระบุรี  2 สัปดาห์
  • ฝึกปฏิบัติงานเรื่องรูปแบบการทำเกษตรกรรมในรูปแบบฟาร์มและการจัดการฟาร์ม ณโครงการฟาร์ม ตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านหนองเหียง ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  2 สัปดาห์
  • ฝึกปฏิบัติงานเรื่อง การเพาะขยายพันธ์ไม้ผลเมืองร้อน ณ สถานีวิจัยปากช่อง
    สถาบันอินทรี จันทรสถิตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา1 สัปดาห์
  • ฝึกปฏิบัติงานด้านพืชไร่เศรษฐกิจ ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ต.กลางดง อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา 2 สัปดาห์

สถานที่ติดต่อ ว่าที่ ร.ต.สมานมิตร พัฒนา

นายกรุง บุญอินทร์
สำนักงานเลขานุการ โครงการจัดตั้งโรงเรียนลูกพระดาบสเกษตร
ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร ออมสินเฉลิมพระเกียรติ สวนจิตรลดา
โทร 0–2668–4440, 0–2282–3504 โทรสาร 0–2282 –3504
E-mail Address: SAMARNMITR 1@HOT.MAIL.COM

น.ส. รุจิรา คงรุ่งโรจน์
มูลนิธิพระดาบส
โทร 0–2282–7000, 0–2280–0155 โทรสาร 0–2280 0155