ประวัติหาดใหญ่ ตอน Battle of Songkhla
เมื่อญี่ปุ่นยึด"ตังกวน"
หลายต่อหลายครั้งที่ฉันได้มาสัมผัสบรรยากาศบนยอดเขาตังกวน แต่นั่นเป็นเขาตังกวนแบบที่เป็นธรรมชาติมาก สถาปัตยกรรมต่างๆ ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เหมือนเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น การเดินทางขึ้นเขาตังกวนในครั้งนี้ สิ่งที่ดึงดูดฉันไม่ใช่แค่เพียงธรรมชาติบนยอดเขาเท่านั้น หากแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงของเขาตัวกวนที่ชวนให้ฉันอยากที่จะขึ้นไปพิสูจน์ด้วยตาของตัวเอง ในลิฟท์ที่ดูแข็งแรงและหนาทึบ เด็กชายหญิงกำลังพูดคุยกันด้วยความตื่นเต้นถึงการขึ้นไปเที่ยวบนเขาตังกวนด้วยลิฟท์เป็นครั้งแรก ผู้เป็นพ่อกำลังชี้มือให้เด็กๆ มองดูก้อนหินขนาดใหญ่ที่เรียงรายอยู่ใต้รางสำหรับขับเคลื่อนลิฟท์ มันคงจะสามารถสร้างบรรยากาศที่ตื่นเต้นได้มากกว่านี้ หากลิฟท์ดังกล่าวสามารถเปิดโล่งให้เห็นถึงภูมิทัศน์ภายนอกได้ ชายหนุ่มในเสื้อกั๊กสีน้ำตาลอ่อนเดินนำหน้านักท่องเที่ยว พลางชี้มือไปยังกระจกใสที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามในเบื้องหน้า ท้องฟ้าสีอ่อนในยามเย็น ถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกจางๆ พื้นทางเดินที่ปูด้วยอิฐบล็อกสีส้มยังคงเปียกอยู่ อุณหภูมิเริ่มต่ำลงพอให้หนาวกายเล็กน้อย เขาตังกวน...เป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.4) ได้พระราชทานเงินหลวงให้เป็นทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน(ร.9) ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์ หากมองลงไปเบื้องล่างจากยอดเขาตังกวนนี้ จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ ซึ่งหากใครชอบการท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คละก็สามารถขึ้นไปเที่ยวชมได้โดยขึ้นบันไดที่อยู่ทางถนนราชดำเนินใน ซึ่งในเดือนตุลาคมของทุกๆ ปี จะมีงานพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ และประเพณีตักบาตรเทโวและลากพระของสงขลา ก่อนจะถึงยอดเขายังมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ามหาราช(ร.5) โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี(ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น(2432) ในครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสแหลมมาลายู และได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชดำริของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสร้างเสร็จในปี 2440 สำหรับใครที่ไม่อยากเดินขึ้นเขาและต้องการสัมผัสบรรยากาศใหม่กับการขึ้นไปสู่ยอดเขาตังกวน ก็สามารถใช้บริการลิฟท์ที่คิดค่าบริการเพียงคนละ 20 บาทเท่านั้น ซึ่งลิฟท์บริการขึ้นสู่ยอดเขานั้น เปิดบริการเวลา 10.00-19.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ และ 8.00-19.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถหาโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศบนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 ฟุตได้ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะมาเดี่ยว มาคู่ มาเป็นครอบครัว หรือเป็นกรุ๊ปทัวร์ก็แล้วแต่จะสะดวกกัน หากคุณได้มาเที่ยวที่เขาตังกวนละก็ อย่าลืมซื้อกรอบรูปของที่ระลึกเพื่อยืนยันความเป็นผู้พิชิตเขาตังกวนไว้อวดใครๆ และอย่าลืมซื้อของฝากเมืองสงขลาติดไม่ติดมือกลับไปด้วย พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า เป็นสัญญาณของการสิ้นสุดไปของวันหนึ่งๆ หากแต่ภาพความประทับใจในสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณได้ไปสัมผัสนั้น จะยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคุณตลอดไป
-------------------- ก้านกล้า...รายงาน ------------------------
เมื่อญี่ปุ่นยึด"ตังกวน"

ประวัติศาสตร์บนเขาตังกวน มักพูดถึงสิ่งก่อสร้างที่เห็นอยู่ เช่น เจดีย์ กระโจมไฟ พลับพลา และมาถึงยุคการปรับภูมิทัศน์ พร้อมสิ่งก่อสร้างรุ่นใหม่ และ การขึ้นเขาด้วยลิฟท์
มีประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งบนเขาตังกวนแห่งนี้ที่ไม่ค่อยมีใครนำมาพูดนัก กล่าวคือ ทหารญี่ปุ่นได้เคยใช้เป็นฐาน เพื่อเฝ้าระวังฝ่ายตรงข้าม ระหว่างที่ยกพลขึ้นบกและเข้ายึดครองสงขลา โดยเมื่อมีเหตุโจมตีทางอากาศ จะมีการชักธงให้สัญญาณ คนสงขลาจะมองเห็นได้เพราะเป็นเขาที่อยู่กลางเมือง
ราว 2-3 ปีก่อน "โฟกัสภาคใต้" ได้รับการประสานงานจากเทศบาลนครสงขลา หลังจากได้พบหลักฐานป้ายหลุมศพของทหารญี่ปุ่นบริเวณเขาน้อย ใกล้เขาตังกวน โดยผู้ที่มาพบเป็นทหารญี่ปุ่น ที่เดินทางมาจากแดนอาทิตย์อุทัย เป็นนายทหารที่ร่วมรบในสงครามครั้งนั้นซึ่งอาวุโสมากแล้ว และก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่เขาลงเครื่องบินแล้วพาคณะมาถึงป้ายหลุมศพตรงเผง โดยไม่หลงลืมแต่อย่างไร
ก่อนหน้านั้น ไม่มีใครรู้(หรือสนใจ) มาก่อนว่ามีป้ายหินสลักภาษาญี่ปุ่นอยู่ตรงนั้น เห็นว่าจะมีการตรวจสอบหลักฐานชิ้นนั้น แต่ภายหลังเรื่องดังกล่าวก็เงียบไป ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ?
ย้อนไปเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 สงครามหาเอเซียบูรพา (The Greater East Asia War) เริ่มขึ้น ปัจจุบันกำลังจะก้าวถึง 8 ธันวาคม 2548
64 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลา เพื่อผ่านเข้ามาเลเซียมีจุดหมายที่สิงคโปร์ ในเที่ยงคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 สายลับญี่ปุ่นที่มาแฝงตัวมาทำงานอยู่ในเมืองสงขลา ไปรวมตัวกันที่กงสุลญี่ปุ่น และโกนหัวสวมเครื่องแบบทหาร ขณะที่ทหารญี่ปุ่นที่ยกกำลั งมาทางเรือมาลอยลำอยู่นอกฝั่งไม่ไกลนัก ก็จู่โจมสถานที่สำคัญทางราชการพร้อมกัน
หลังจากนั้นมีการต่อสู้ จนกระทั่งยุติลงเมื่อ 10.00 น. โดยรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านได้
9 ธันวาคม 2484 มีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตร ครั้งแรกที่ดอนรักในสงขลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
หลังจากนั้น ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกและมีชัย จึงไม่ค่อยมีระเบิด กระทั่งช่วงปลายสงครามคือ ปี 2488 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรรุก สงขลาถูกบอมบ์หนักอีกหลายครั้ง เฉพาะ 15 กรกฎาคม 2488 นั้นได้รับความเสียหายและคนตายมากอีกครั้ง
หลังปี พ.ศ. 2584 เป็นต้นมา ทหารญี่ปุ่นเต็มบ้านเต็มเมืองสงขลา มองออกไปทีทะเลจากหาดสมิหลา ที่เกาะหนู เห็นเรือลำเลียงจอดอยู่ 30-40 ลำ ที่ริมทะเลก่อนถึงหัวเขาแดงราว 3-4 กิโลเมตร เห็นการตัดต้นมะพร้าวหลายต้น เพื่อเป็นเครื่องหมายเดินเรือ ชายทะเลทางหัวสนอ่อนหรือป่าสน มียุทธสัมภาระกองเต็มไปหมด ทั้งลูกระบิด กระสุนปืน รางรถไฟ ลวดหนาม รวมทั้งเบียงอาหารของคนและม้า
ทหารญี่ปุ่นเข้าไปอยู่ในบ้านเรือนของประชาชน ขณะที่ชาวบ้านอพยพ ไปอยู่ที่อื่นคนสงขลาไม่น้อยไปอยู่เกาะยอ มีเรื่องเล่าว่า พอทหารญี่ปุ่นเข้าไปรื้อค้นข้าวของ และยึดสิ่งของผู้คน ชาวบ้านทนไม่ได้จะตวาดทหารญี่ปุ่นว่า "เฮ้ย" แต่ทหารญี่ปุ่น ฟังภาษาไทยไม่ออกคิดว่าคนไทยพูดว่า "ไฮ้" ซึ่งหมายความถึงว่า "ยินดี" ในตลาดสงขลา เวลานั้น ใช้เงินเยนของญี่ปุ่นเป็นเงินตราซื้อขาย ซึ่งต่อมา ราว 4-5 เดือน ทางรัฐบาลเอาเงินไทยแลกและเอาเงินเยนเหล่านั้นเก็บหมด สงครามทำให้ความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นลำบาก อัตคัด ขัดสน ไปเสียทุกอย่าง คนส่วนมากคิดว่าทำอย่างไรจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ โดยไม่อดตาย ก็เท่านั้นเอง
สงครามยุติเมื่อฝ่ายญี่ปุ่นยอมแพ้ ในปี พ.ศ. 2488 เมืองสงขลาจึงค่อยกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา :
www.focuspaktai.com
บริษัท พีรพัฒน์ เคมี อุตสาหกรรม จำกัด Laemthong Hotel Hadyai
Search Now:
In Association with Amazon.com
 Use OpenOffice.org
Counter

June 28, 2008