ประวัติและปฏิปทา

หน้าแรก ประวัติและปฏิปทา ธรรมและคำสอน รูปภาพ

โอ้ โพธิ์พฤกษ์เย็น คุณะเด่นเกษมสรรพ์ บัดนี้ พระดับขันธ์ ดุจะ โพธิหักลาญ

๑๗. อริยสัจแห่งจิต

ในการออกจาริกธุดงค์ จากวัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ในครั้งนั้น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่ และ พระภิกษุฝั้น อาจาโร ได้เดินทางรอนแรมไปตามป่าเขาลำเนาไพรไปเรื่อยๆ เพื่อติดตามค้นหา พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต

การเดินทางของหลวงปู่ และสานุศิษย์ไม่มีกำหนดการที่แน่นอน เดินทางด้วยเท้าไปตลอด บางแห่งก็หยุดพัก ๕ วัน บางแห่งก็ ๗ วัน ตามแต่สัปปายะ และความเหมาะสมในการปรารภความเพียรของสถานที่แต่ละแห่ง

การจาริกธุดงค์ครั้งนั้น ถือว่าเป็นครั้งสำคัญของหลวงปู่ เนื่องจากท่านได้ดำรงตนมาสู่การเป็นผู้นำทางการปฏิบัติในกลุ่มพระเณรที่ติดตาม โดยหลวงปู่ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ เหมือนกับที่ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง

คณะของหลวงปู่ได้จาริกไปถึง ถ้ำพระเวสฯ (ถ้ำพระเวสสันดร) ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ในท้องที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แล้วได้พำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ สถานที่นั้นเป็นเวลาค่อนข้างนาน จนตลอดฤดูแล้งนั้น

คณะพระภิกษุสามเณร ลูกศิษย์ลูกหาที่ติดตามหลวงปู่ทุกองค์ ต่างบำเพ็ญเพียรกันอย่างเอาจริงเอาจัง และด้วยใจมุ่งมั่น จนกล่าวได้ว่าทุกองค์ได้รับผลแห่งการปฏิบัติโดยทั่วกัน

ในการบำเพ็ญภาวนาของหลวงปู่เอง ณ ถ้ำพระเวสฯ แห่งนี้ หลวงปู่ได้เล่าให้สานุศิษย์ใกล้ชิดฟัง ดังนี้

"เราได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อหลักของกัมมัฏฐานที่ได้รับจาก พระอาจารย์ใหญ่ ที่ว่า สพฺเพสงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งตลอดว่า

เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และสภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร"

ดังได้เคยเล่าถึงในตอนต้นแล้วว่า ความรู้ในธรรมะดังกล่าวก็คือ ความรู้แจ้งในหลัก ปฏิจฺจสมุปฺบาท คือ เหตุและผลของการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

นอกจากนี้ หลวงปู่ยังได้ค้นพบธรรมะที่เป็นหัวใจ คำสอนในพระพุทธศาสนา และได้รู้ซึ้งถึงแก่นในเหล่าธรรมทั้งหลาย แล้วสรุปลงเป็น อริยสัจแห่งจิต ด้วยถ้อยคำของหลวงปู่เอง ว่า

จิตส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

หลวงปู่เล่าว่า "เมื่อพิจารณาตามหลัก อริยสัจ ๔ โดยเห็นแจ้งดังนี้แล้ว ย่อมหมายถึงการผ่านเลยแห่งความรู้ใน ปฏิจฺจสมุปฺบาท ไปแล้ว เนื่องเพราะความรู้ในเหตุแห่งทุกข์ การดำรงอยู่แห่งทุกข์ และวิธีดับทุกข์นั้น คือ แก่นกลางแท้จริงของปฏิจจสมุปบาท"

ที่สำคัญยิ่งก็คือ ธรรมะใน อริยสัจ ๔ นี้ เป็นธรรมะหมวดแรก ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์ตถาคต ผู้หนึ่งที่สามารถให้ อรรถาธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง

หน้าต่อไป