การรบที่เมืองคาร์คอฟ

Battle of Kharkov
พลประจำรถของรถถัง Panzer Mark III ของเยอรมัน นั่งพักผ่อนระหว่างการรบที่เมือง ฺBelgorod ทางตะวันออกของ Kharkov ความสำเร็จของเยอรมันในการยึดเมือง Kharkov คืนมาจากรัสเซีย ทำให้ฮิตเล่อร์มีเวลาปรับแผนการรบ ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ที่สตาลินกราด (Stalingrad) แต่ก็เป็นช่วงพักร้อนสั้นๆ ของฝันร้ายของกองทัพเยอรมันเท่านั้น เพราะความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่ Kursk กำลังจะตามมาในไม่ช้า
กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ สามารถยึดรถถัง T 34 ของรัสเซัยได้ จนสามารถจัดตั้งเป็นกองพันยานเกราะที่ 3 กรมยานเกราะที่ 2 ของกองพลดาส ไรซ์ได้ แล้วนำกลับไปใช้ต่อสู้กับเจ้าของเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เยอรมันไม่สามารถใช้ยานเกราะที่ยึดมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาการซ่อมบำรุง และอะหลั่ยที่ไม่สามารถทดแทนกันได้
                                                      

      ในช่วงต้นปี 1943 กองทัพเยอรมันประสบกับความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด กองทัพที่ 6 ของนายพล ฟอน เปารุส ถูกทำลายย่อยยับ ทหารเยอรมันกว่า 90,000 คนตกเป็นเชลย นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

     นับตั้งแต่เปิดยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ในปี 1941 ทัพเยอรมันรุกเข้าสู่รัสเซียทุกทิศทุกทาง ขณะนั้นเยอรมันมีรถถังอยู่กว่า 3,300 คัน แต่ในเดือนมีนาคม 1943 เยอรมันเหลือรถถังในแนวหน้าเพียง 495 คัน เกือบทั้งหมด เป็นรถถังรุ่นเก่า ที่ไม่สามารถเทีบได้กับรถถัง T 34 ของรัสเซีย ที่เหนือกว่าทั้งความเร็ว ความหนาของเกราะ และอำนาจการยิง

     เยอรมันต้องร่นถอยมาปรับแนวตั้งรับใหม่ เพื่อหวังยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายรัสเซีย ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1943 รัสเซียเปิดยุทธการ Star เพื่อยึดเมืองคาร์คอฟ โดยใช้กองพลน้อยรถถังถึง 4 กองพล ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโท Markian Popov และสามารถยึดเมืองคาร์คอฟ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของเยอรมันมาได้ แม้ว่าอดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน จะออกคำสั่งให้จอมพล อีริค ฟอน แมนสไตน์ (Eric Von Manstein) รักษาเมืองเอาไว้จนทหารคนสุดท้าย แต่แมนสไตน์ ก็ปฏิเสธคำสั่งของฮิตเล่อร์ ด้วยหวังที่จะรักษากำลังส่วนใหญ่เอาไว้ เพื่อการรุกในโอกาสต่อไป

     ฮิตเล่อร์โกรธมาก เมื่อต้องสูญเสียเมืองคาร์คอฟไป เขาลงทุนบินไปหาแมนสไตน์ถึงกองบัญชาการของกองทัพกลุ่มใต้ (Army Group South) ที่เมือง Zaparizhia ทันทีที่พบกับฮิตเล่อร์ แมนสไตน์ก็เสนอแผนการรุกเพื่อยึดเมืองคาร์คอฟให้กับฮิตเล่อร์ โดยมุ่งโจมตีปีกของรัสเซียที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเกินกำลังที่มีอยู่ จะดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแมนสไตน์วางแผนใช้กำลังยานเกราะจำนวน 5 กองพลน้อย และกำลังยานเกราะของหน่วยเอส เอส เป็นหลัก

    19 กุมภาพันธ์ 1943 ยานเกราะของรัสเซียบุกทะลวงผ่านแนวตั้งรับของเยอรมันเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะที่อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์บินออกจากสนามบิน ทหารรัสเซียอยู่ห่างจากสนามบินเพียงแค่ 30 กิโลเมตร แต่ก่อนออกเดินทาง ฮิตเล่อร์ก็ได้มอบอำนาจการตัดสินใจในการรบที่คาร์คอฟแก่นายพลแมนสไตน์ แต่เพียงผู้เดียว

     ขณะเดียวกันกองทัพรถถังที่ 2 ของรัสเซีย (2nd Tank Army) และกองทัพที่ 70 (70th Army) ก็รุกเข้าโอบล้อมกองทัพกลุ่มกลาง (Army Group Center) ของเยอรมันที่อยู่ไม่ไกลนัก แต่กองทัพ Panzer ที่ 2 และกองทัพที่ 2 ของเยอรมันก็ต้านทานไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ทำให้การรุกของรัสเซียมีความคืบหน้าน้อยมาก แม้ว่ากองทัพรถถังที่ 2 ของรัสเซียจะสามารถรุกเข้าสู่แนวหลังของเยอรมันได้เป็นระยะทางถึง 190 กิโลเมตรก็ตาม

    ทางด้านนายพลแมนสไตน์ ก็วางแผนตอบโต้การรุกของรัสเซียด้วยกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับกำลังเสริมจาก กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS Panzer Division Totenkopf) โดยอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของกองทัพยานเกราะที่ 4

    ขณะเดียวกันกองทัพอากาศเยอรมัน ภาคพื้นที่ 4 (the 4th Air Fleet) ก็ทุ่มเททุกอย่างที่มีอยู่ ในการเพิ่มเที่ยวบิน และการสนับสนุนทางอากาศจากแต่เดิมที่มีอยู่วันละ 250 เที่ยวบิน เป็น 1000 เที่ยวบินต่อวัน ส่งผลให้กองทัพอากาศเยอรมัน กลายเป็นผู้ครองความได้เปรียบเหนือน่านฟ้าคาร์คอฟอีกครั้งหนึ่ง

     เมื่อทุกอย่างตระเตรียมไว้อย่างพร้อมสรรพแล้ว นายพลแมนสไตน์ ก็เปิดยุทธการ Donets เพื่อยึดเมืองคาร์คอฟคืนจากการครอบครองของเยอรมันทันที

     ณ ขณะนี้ เยอรมันมีกำลังทั้งหมด 70,000 นาย รัสเซียมีกำลังทหารประมาณ 210,000 คน เป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังของฝ่ายเยอรมัน มีการฝึกฝนที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะกำลังของกองพลยานเกราะ เอส เอส ทั้ง่ 3 กองพลที่เข้าร่วมยุทธการ อีกทั้ง กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ที่ได้รับมอบรถถังแบบ Tiger อันทรงประสิทธิภาพมาเต็มอัตรา

    19 กุมภาพันธ์ 1943 เยอรมันเปิดฉากรุกครั้งใหญ่ กองพลน้อยยานเกราะ เอส เอส เปิดฉากรุกลงใต้ กองทัพยานเกราะที่ 1 รุกขึ้นเหนือ หวังใช้ความเร็วโอบล้อมกำลังฝ่ายรัสเซีย การรุกของเยอรมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรวบรวมข้อมูลข่าวสารของฝ่ายรัสเซียก่อนการรุก ทำให้ทราบถึงจุดอ่อนของฝ่ายรัสเซียเป็นอย่างดี ทำให้ยานเกราะสามารถเจาะช่องแนวตั้งรับของรัสเซียได้อย่างรวดเร็ว

    ในการรุกดังกล่าวกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สแตนดาร์ท สามารถบดขยี้กองทัพแดงได้ที่แม่น้ำ Samara ขณะเดียวกัน กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ และกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ ก็รุกเคียงข้างกันบดขยี้หัวหอกของรัสเซีย และตัดเส้นทางลำเลียงหลักของรัสเซียออกจากกำลังส่วนหลัง 

    

    

    

การรบที่คาร์คอฟ  หน้า 1     
หน้า 2        หน้า 3       หน้า 4       หน้า 5    
   
    กลับหน้าหลัก    บันทึกจากชายแดนใต้   รู้จักผู้เขียน