กรุณา กุศลาสัย > ชีวประวัติ
 
  ชีวประวัติ
  งานหนังสือ
  บทความ
  ปาฐกถา
เกิด

เกิดวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓ ณ ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง  จังหวัดนครสวรรค์  มีพี่สาวหนึ่งคน  บิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำกินที่ นครสวรรค์ มีอาชีพเดินเรือค้าขาย ตั้งแต่รุ่นปู่ จนมีฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าสัว แต่ด้วยความอยุติธรรมในสังคมและความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม บิดาถูกจับกุมเรื่องใช้ธนบัตรปลอม ซึ่งได้รับมาจากเจ้าโรงสีที่มาซื้อข้าวเปลือก  บิดาต้องติดคุกและตายในคุก  ขณะออกไปทำงานโยธา  จนเป็นไข้ป่า  หลังจากบิดาติดคุกไม่นาน มารดาก็ตายวัณโรค กรุณาเป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ ๗-๘ ขวบ

เรียน

ลูกกำพร้าดิ้นรนช่วยตนเองได้เรียนถึงชั้นมัธยมสาม ระหว่างนั้นอยู่ในความอุปถัมภ์ของญาติ เรียนดีถึงขนาดข้ามชั้นเรียนแต่ก็ไม่จบมัธยมสาม เพราะทนการกดขี่ขูดรีดของนายจ้างผู้อุปถัมภ์ไม่ไหว ประกอบกับอุบัติเหตุทำให้ของใช้นายจ้างเสียหาย จึงถูกไล่ออกจากบ้าน

เมื่อมีอายุราว ๑๑ - ๑๒ ปี ได้พบกับพระโลกนาถ Salvatore Cioffi พระสงฆ์ชาวอิตาเลียน ซึ่งมีโครงการนำภิกษุสามเณรจากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ไปศึกษาอบรมที่อินเดีย กรุณาบังเกิดความเลื่อมไส จึงบวชเป็นสามเณร ร่วมเดินทางกับคณะของพระโลกนาถ ด้วยการจาริกทางเท้าผ่านพม่าสู่อินเดีย ในปีพ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ศึกษาภาษาอินเดียสอบได้ที่หนึ่งของทั้งอินเดีย จนได้รับทุนจากองค์กรเผยแพร่ภาษาฮินดีเดือนละ ๑๕ รูปี เรียนที่สมาคมมหาโพธิ เมืองสารนาถอาศัยอยู่กับอาจารย์ที่เป็นพราหมณ์ กินนอนแบบคนอินเดียแท้ ๆ

จากนั้นก็ไปที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ของท่านรพินทรนารถ ฐากูร ได้รับทุนการศึกษาภารตวิทยา และได้รับกำลังใจจากพุทธทาสภิกขุ ในฐานะสหายธรรม เขียนจดหมายติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ

ขณะทำการศึกษาอยู่นั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ขณะนั้นอังกฤษปกครองอินเดียอยู่ จึงถูกจับและส่งตัวเข้าค่ายกักกัน และต้องสึกจากความเป็นสามเณร อยู่ในเพศฆราวาส และกลับประเทศไทยเมื่อสงครามโลกสงบแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๘๙

 

งาน

เมื่อกลับถึงเมืองไทยก็ได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสอนภาษาอินเดียและสันสกฤตแก่ครูอาจารย์ในสถาบันต่าง ๆ และสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศที่อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ

เมื่ออินเดียเป็นเอกราชและเปิดความสัมพันธ์กับไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็เข้าทำงานในสถานกงสุลอินเดีย ซึ่งต่อมากลายเป็นสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ในตำแหน่งล่าม พนักงานแปล และประชาสัมพันธ์

จากนั้นก็ลาออกมาทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ของหนังสือพิมพ์ รายวัน "เสถียรภาพ" ซึ่งมีสังข์ พัธโนทัย เป็นบรรณาธิการ

ระหว่างทำงานอยู่สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย เคยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจลับ เป็นทูตใต้ดินของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และเมื่อทำงานหนังสือพิมพ์ก็ได้เดินทางไปกับคณะผู้แทนการค้าอีกครั้ง เมื่อกลับมายังประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ช่วงเวลาเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงถูกจับขังคุกลาดยาวข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ติดคุกอยู่ ๘ ปีเศษ

ระหว่างที่ถูกจำกัดอิสรภาพ ได้แปลหนังสือหลายเล่ม และเมื่อได้รับอิสรภาพก็ไปทำงานหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วิจารณ์

ส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับเรืองอุไร ผู้เป็นภรรยา ส่วนใหญ่เป็นงานด้านภารตวิทยา

ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข็มและใบประกาศเกียรติคุณจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และล่าสุดได้รับรางวัลศรีบูรพา


ครอบครัว

สมรสกับเรืองอุไร กุศลาสัย

อัตชีวประวัติ ชีวิตที่เลือกไม่ได้
 


หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคน(นั้น)
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๑
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗