จ้ำจี้
ขี่ม้าส่งเมือง
งูกินหาง
รีรีข้าวสาร
ปลาหมอตกกะทะ
home

 

 

 


การละเล่นของเด็กไทย

จ้ำจี้

จ้ำจี้

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน

วัสดุอุปกรณ์การเล่น บทร้องเพลง

กติกาการเล่น ให้ผู้เล่น ทั้งหมดนั่งล้อมวงกัน แบมือทั้งสองข้างลงบนพื้น เลือกให้ผู้เล่นคนหนึ่งเป็นคนจี้ โดยใช้นิ้งจิ้มไปที่มือของผู้เล่นรอบ ๆ วง พร้อมทั้งร้องเพลงไปด้วย เมื่อจบบทเพลงนิ้วที่จิ้มอยู่กับมือใครคนนั้นต้องชักมือออกไป ผู้ใดถูกจิ้มแล้วหดมือทั้ง 2 มือ ก็ต้องออกจากการเล่น เล่นไปเรื่อย ๆ จนครบหมดทุกคน คนใด เหลือมือเป็นคนสุดท้ายจะต้องถูกรุมกินโต๊ะ โดยการ "นั่งหมอบ" สมมุติว่ามีอาหารวางอยู่บนโต๊ะ (บนหลัง) แล้วให้พวกที่เล่น ด้วยกันทำที่หยิบอาหารกิน

บทร้องเพลงประกอบการเล่น จ้ำจี้มะเขือเปราะ กระเทาะหน้าแว่น พายเรืออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม สาวสาวหนุ่มหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด เอาแป้งที่ไหนผัด เอากระจกที่ไหนส่อง เยี่ยมเยี่ยมมองมอง นกขุนทองร้องวู้


 

ขี่ม้าส่งเมือง

ขี่ม้าส่งเมือง

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เท่า ๆ กัน

วัสดุอุปกรณ์การเล่น เก้าอี้ 1 ตัว

กติกาการเล่น เลือกผู้เล่นคนหนึ่งให้เป็นเจ้าเมือง (ตามความสมัครใจ) เจ้าเมืองนี้จะต้องเป็นคนกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อได้เจ้าเมืองแล้วให้ทั้ง 2 ฝ่าย จับไม้สั้นไม้ยาวเพื่อเลือกว่าฝ่ายใดจะเริ่มเล่นก่อน เมื่อได้ฝ่ายชนะแล้วก็จะได้เริ่มเล่นก่อน โดยการจัดที่นั่งให้เจ้าเมืองนั่งไกล ๆ สักหน่อย แล้วฝ่ายชนะก็จะเดินไปกระซิบกับเจ้าเมือง(กำหนดวงจำกัดเกี่ยวกับเรื่องที่กระซิบ เช่น เกี่ยวกับ ดอกไม้ สัตว์ เครื่องใช้ ฯลฯ การเดินมากระซิบของฝ่ายแรกจะต้องปิดเป็นความลับและให้อีกฝ่ายหนึ่งมากระซิบบ้าง ถ้ากระซิบชื่อตรงกับฝ่ายแรก เจ้าเมืองก็จะพูดคำว่า "โป้ง" ฝ่ายแรกก็จะเป็นเชลยของอีกฝ่ายหนึ่ง(เชลยคือคนที่ถูกกระซิบตรง) แต่ถ้าฝ่ายที่สองกระซิบไม่ตรงกับฝ่ายแรก ฝ่ายที่ 2 (คนกระซิบ) ก็จะเป็นเชลยของฝ่ายแรก ทำเช่นนี้จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดคนเล่นก็ให้ฝ่ายชนะขึ้นขี่หลังไปส่งยังตัวเจ้าเมือง


 

งูกินหาง

งูกินหาง

จำนวนผู้เล่น มี 8-10 คน

วัสดุอุปกรณ์การเล่น บทร้องเพลง

กติกาการเล่น แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ 1 จะต้องเป็น "พ่องู" 1 คน ฝ่ายที่ 2 มี "แม่งู" 1 คน ที่เหลือเป็น"ลูกงู" ซึ่งผู้ที่เล่นเป็นลูกงูจะเกาะเอวของแม่งู จากนั้นพ่องูก็จะถามว่า "แม่งูเอ๋ย" แม่งูและลูกงูก็จะร้องตอบว่า "เอ๋ย" พอช่วงสุดท้ายพ่องูก็จะถามว่า "กินหัว หรือ กินหาง" แม่งูตอบว่า "กินกลางตลอดตัว" ผู้เป็นพ่องูก็จะไล่จับลูกงูจากปลายแถว แม่งูจะกางมือเพื่อป้องกันลูก หากลูกตัวใดโดนพ่องูดึงหลุดออกจากแถวไป ก็จะต้องออกจากการเล่น ผู้เล่นที่เหลือก็เริ่มเล่นกันอีกจนกว่าลูกงูจะถูกจับจนหมด

บทร้องเพลงประกอบการเล่น แม่งูเอ๋ย(เอ๋ย) กินน้ำบ่อไหน กินน้ำบ่อโศก (โยกไปก็โยกมา) กินน้ำบ่อทราย (ย้ายไปก็ย้ายมา) กินน้ำบ่อหิน (บินไปก็บินมา) กินหัว หรือ กินหาง (กินกลางตลอดตัว)


รีรีข้าวสาร

รีรีข้าวสาร

จำนวนผู้เล่น อย่างน้อย 8 คน

วัสดุอุปกรณ์การเล่น บทร้องเพลง

กติกาการเล่น ให้ผู้เล่น 2 คนเอามือประสานกันเหนือศรีษะทำเป็นซุ้มลอดให้พวกที่เล่นที่เหลือลอด ให้คนหนึ่งเป็นพ่ออีกคนหนึ่งเป็นแม่ ผู้เล่นที่เหลือกอดเอวเป็นแถวยาวลอดใต้ซุ้มพร้อมทั้งร้องเพลง พอจบเพลงผู้ที่เป็นซุ้มจะครอบคนสุดท้ายของแถวเอาไว้แล้วจะถามว่าอยู่กับใคร "พ่อหรือแม่" เมื่อเลือกพ่อจะบอกว่า "หักคอ จิ้มน้ำพริก" เมื่อเลือกแม่ "ลอยแพไป" แล้วให้ไปกอดหลังพ่อหรือแม่ไว้ เมื่อเล่นเสร็จจนหมดทุกคนก็จะทำการชักคะเย่อ ระหว่างพ่อกับแม่และลูก ๆ ที่กอดเอวกันไว้

บทเพลงประกอบการเล่น รีรี ข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้


ปลาหมอตกกะทะ

ปลาหมอตกกะทะ

จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน

วัสดุอุปกรณ์การเล่น ไม่มี

กติกาการเล่น แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายเท่า ๆ กัน จับไม้สั้นไม้ยาวว่าใครจะเป็นผู้เล่นก่อนกัน ผู้ชนะเป็นฝ่ายปลาหมอ ผู้แพ้จะเป็นกะทะ ผู้เล่นเป็นกะทะให้นั่งลงจับมือกันเป็นวงกลม ฝ่ายปลาหมอต้องพยายามกระโดดเข้ากะทะให้ได้ ถ้าเข้าได้ 1 คน ก็สามารถนำพวกเข้ากะทะได้หมด เมื่อเข้าได้หมดแล้วก็เตรียมตัวออกเช่นกัน เมื่อออกไปได้ 1 คน ก็สามารถออกได้หมด ฝ่ายกะทะก็ต้องคอยตวัดมือให้ถูกปลาหมอที่กระโดดถ้าตวัดถูกใครผู้นั้นก็ "ตาย" จะกลายมาเป็นฝ่ายกะทะบ้าง

home