999-pic.gif (4175 bytes)

Home ]

 

 

 

999.jpg (9759 bytes)

ประวัติวัดพนัญเชิง

ชั้นและตำบลที่ตั้งวัด

        วัดพนัญเชิง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร   ตั้งอยู่ตำบลคลองสวนพลู ริมลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ในเข อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เขตและอุปจารวัด

        เขตและอุปจารของวัด ทางทิศเหนือจดลำน้ำเจ้าพระยา ทิศใต้จดคันคู ซึ่งติดต่อกับวัดมณฑป (วัดร้าง) ทิศตะวันออกติดต่อกับที่ของนายเขียน มีเสาหินปักไว้เป็นเขต ทิศตะวันตกติดต่อกับวัดรอ (วัดร้าง) เนื้อที่วัดทั้งหมด 82 ไร่ 3 งาน 30 วา โดยรวมวัดรอ, วัดโคก, วัดมณฑป, วัดขอม (วัดร้าง) เข้าด้วยในปัจจุบัน

ผู้สร้างวัด

         วัดนี้เป็นวัดมีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และได้สร้างแต่ครั้งไร ในพระราชพงศวดารเหนือ กล่าวว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง(ตามศักราชซึ่งปรากฎในพระราชพงศวดารเหนือ   นับว่าก่อนพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างพระนครศรีอยุธยา 317 ปี อยู่ระหว่างสมัยศรีวิชัย กับสมัยลพบุรี) ทรงสร้าง และได้พระราชทานนามไว้แต่เดิมว่า "วัดเจ้าพระนางเชิง"ดัง ตำนานพระราชพงศวดารเหนือ (ฉบับของโรงพิมพ์วัชรินทร์บริษัท เมื่อรัตนโกสินทรศก 113) ตอนหนี่งว่า   "ขณะนั้นพระเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรม ในจั่นหมากเอามาเลี้ยงไว้ให้นามชื่อว่านาง สร้อยดอกหมาก ครั้นวัฒนาการจำเริญขึ้นจึงให้โหรมาทำนายว่า ลูกคนนี้จะคู่ควรด้วยกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูหาเห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกแห่งกรุงไทย    มีบุญญาภิสัง ขารมากนัก เห็นจะควรกับพระราชธิดา จึงกราบทูลว่า จะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเป็นแน่   พระเจ้ากรุงจีนให้แต่งพระราชสานส์เข้ามาจึงสั่งให้เบิกทูตานุทูตเข้าไปเฝ้า   ในพระราชสานส์นั้นว่าพระเจ้า กรุงจีนให้มาเป็นพระราชไมตรีถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว ครั้นได้แจ้งให้พระราชสานส์ดังนั้นก็ดีพระทัยจึงตรัสว่าเดือน 12 จะยกออกไป ให้ตอบแทนข้าวของไปเป็นอันมาก ทูตทูลลาออกไป จึงสั่งให้เรือเอกชัยเป็นกระบวนพยุหะ

        จุลศักราช 375 ปีมะเมีย เบญจศก ครั้น ณ วัน เดือน 12 แรม 11 ค่ำ ได้ศุภวารฤกษ์ดีจึงยกพยุหะไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดีเสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลองพอน้ำขึ้นจึงประทับพระที่นั่ง อยู่หน้าวัด จึงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน จึงทรงดำริว่าจะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากรเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เราจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ด้วยกัน เสร็จ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมากลั้วเอาเรือรีบขึ้นไปประทับบนกำแพงแก้วนั้นเถิด พอตกพระโอษฐ์ลงดังนั้น น้ำผึ้งก็ย้อยลงกลั้วเอาเรือพระที่นั่งขึ้นไปถึงที่ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นประจักษ์ แก่ตาแล้วเสด็จนมัสการ จึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้นเสร็จแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาที่เดิม พระสงฆ์สมภารลงมาถวายชัยมงคลว่า มหาบพิตรพระราช สมภารจะสำเร็จความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทิศ จึงถวายพระนามว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ครั้นน้ำหยุดจะลงพระองค์ก็สั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลายและเสนามนตรี กลับขึ้นไปรักษาพระนคร แต่พระองค์เสด็จไปทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยลำเดียว ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่หนหลัง ก็เสด็จไปสะดวกจนถึงเขาไฟ พอจีนทั้งหลายเที่ยวอยู่ในท้องทะเล นั้นเห็นเป็นอัศจรรย์นัก จึงนำเอาเนื้อความกราบทูลพระเจ้ากรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนก็สะดุ้งตกใจนัก จึงสั่งให้เสนาผู้ใหญ่ไปดูว่าจะมีบุญจริงหรือ หรือประการใดให้ประทับสองแห่งที่อ่าวนาคคืนหนึ่ง ครั้นเพลาค่ำจึงให้คนสอดแนมดูว่า จะเป็นประการใด ครั้นไปฟังดูได้ยินเสียงดุริยางค์ครึกครื้นไป จึงเอาเนื้อความนั้นกราบทูล จึงสั่งให้เชิญมาอยู่ที่อ่าวเสือคืนหนึ่ง จึงแต่งการรับครั้นเพลาราตรี กาลเทพยดาบันดาลดุริยางค์ดนตรี ครั้นรุ่งขึ้นจึงพระเจ้ากรุงจีนแต่งการกระบวนแห่รับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาในพระราชวัง จีนทั่วประเทศสรรเสริญบุญไปทั่ว พระเจ้ากรุงจีนให้ราชาภิเษก นางสร้อยดอกหมาก   เป็นพระอัครมเหสีพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระเจ้ากรุงจีนแต่งสำเภาห้าลำ พร้อมเครื่องอุปโภรบริโภคเป็นอันมากให้จีนมีชื่อห้าร้อยคนเข้ามาด้วย จึงพระเจ้ากรุงจีนให้เชิญพระเจ้า สายน้ำผึ้งไปเฝ้า ตรัสว่า บ้านเมืองหามีผู้รักษาไม่ และเกือบจะมีศึกมาย่ำยี ให้พากันกลับไปพระนครเถิดพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ถวายบังคมลา พามาลงเรือสำเภาสิบห้าวันก็ถึงแดนพระนคร ขุนนาง ผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะราษฎรเทพนิกร ก็โสมนัสยินดีทั่วไป จึงแต่งกายรับเสด็จพระราชาคณะฐานานุกรมร้อยห้าสิบไปรับที่เกาะ จึงเรียกว่าเกาะพระแต่นั้นมาและก็เชิญเสด็จมาท้ายเมือง ที่ปากน้ำแม่เบี้ยและเสนาบดี ราชาคณะ จึงเชิญเสด็จเข้าพระราชวัง สั่งให้จัดที่ตำหนักซ้ายขวาสำเร็จ แล้วจึงให้เถ้าแก่กับเรือพระที่นั่งลงมารับนาง นางจึงตอบว่า มาด้วยพระองค์โดยยากมาถึง พระราชวังแล้ว เป็นไฉนจึงไม่มารับถ้าพระองค์ไม่มารับแล้วไม่ไป เถ้าแก่เอาเนื้อความกราบทูลทุกประการ พระองค์แจ้งดังนั้นก็ว่าเป็นการหยอกเล่น มาถึงนี่แลัวจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิดนางรู้ความ ดังนั้นสำคัญว่าจริง ยิ่งเศร้าพระทัยนัก ครั้นรุ่งเช้าแต่งกระบวนแห่มารับ จึงเสด็จพระราชดำเนิน มาด้วย ครั้นถึงเสด็จไปบนสำเภารับนาง นางตัดพ้อว่าไม่ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสัพยอกว่า ไม่ไปแล้วก็อยู่ที่นี่ พอตกพระโอฐลงนางก็กลั้นใจตาย พวกจีนไทยร่ำรักแซ่ไป จุลศักราช 406 ปีมะโรง ฉอศก จึงเชิญศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะสถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อว่า วัดเจ้าพระนางเชิงตั้งแต่นั้นมา"