อินเตอร์เน็ตคืออะไร ?
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โลกทั้งโลกจะถูกย่อลงมาจนมาอยู่แค่ปลายนิ้วของคุณเท่านั้น คุณสามารถจะค้นหาเกือบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณสามารถนึกถึงหรือจินตนาการถึงมันได้ โดยเพียงแค่อาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ คุณสามารถติดต่อกับผู้คนอีกฟากหนึ่งของโลก จัดการประชุมทางไกล หรือเจาะเข้าไปใช้แหล่งข้อมูลของคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้ในโลกตลอดจนเข้าไปค้นหาในห้องสมุดหรือเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่น่าตื่นตาที่สุดในโลก หรือจะดูวิดีโอ ฟังเพลง หรืออ่านนิตยสารแบบมัลติมีเดียก็ยังได้ คุณสามารถทำทุกอย่างทั้งหมดนี้ได้โดยเพียงแค่ต่อเข้าไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็คือ อินเตอร์เน็ต

อินเตอร์เน็ตไม่ใช่เน็ตเวิร์กเดี่ยว ๆ แต่เป็นเน็ตเวิร์กของเน็ตเวิร์กหรืออภิมหาเน็ตเวิร์ก ซึ่งแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก มีคนหลายกลุ่มหลายพวกที่ช่วยกันดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานของระบบอินเตอร์เน็ต และอาจถือได้ว่ามันเป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุดของระบบประชาธิปไตยแบบอิเล็กทรอนิคส์ ทั้งนี้เน็ตเวิร์กทั้งหลายในอินเตอร์เน็ตจะติดต่อกันโดยใช้โปรโตคอลที่กำหนดไว้ เช่น Transmission Control Protocol ( TCP ) และ Internet Protocol ( IP ) มีเน็ตเวิร์กที่ต่อเชื่อมเข้ากับอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน จนขณะนี้มีนับเป็นหมื่น แสน หรือนับล้านเน็ตเวิร์กแล้ว โดยมีตั้งแต่เน็ตเวิร์กของมหาวิทยาลัย ระบบ LAN ( Local Area Network ) ขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ ไปจนกระทั่งถึงเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ของผู้ให้บริการออนไลน์อย่างเช่น America Online และ CompuServe เป็นต้น ทุก ๆ ครั้งที่คุณต่อเข้าไปในอินเตอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณก็จะกลายเป็นส่วนขยายของเน็ตเวิร์กนั้นไปด้วย

หนึ่งในปัญหาที่มักถูกถามอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องอินเตอร์เน็ตก็คือ ใครเป็นคนดำเนินการอินเตอร์เน็ต ? และคำตอบที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้รับก็คือ ไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ที่ดำเนินการเน็ตเวิร์กระดับโลกนี้แต่เพียงลำพัง ความจริงก็คือมันไม่มีสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นการบริหารจากส่วนกลางสำหรับอินเตอร์เน็ต แต่ทว่าเป็นการรวบรวมเอาเน็ตเวิร์กและองค์กรย่อย ๆ นับเป็นพัน ๆ หน่วยเข้าด้วยกัน ซึ่งในแต่ละหน่วยงานก็จะมีการดำเนินการและเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง และแต่ละเน็ตเวิร์กก็จะร่วมมือกันกำหนดวิธีเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลของอินเตอร์เน็ต ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ก็จะสามารถส่งผ่านระหว่างกันได้ การร่วมมือกันระหว่างเน็ตเวิร์กและองค์กรเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดโลกแห่งการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ตขึ้นมา ซึ่งการที่เน็ตเวิร์กและคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะร่วมมือกันได้ก็จะต้องมีข้อตกลงทั่ว ๆ ไประหว่างกันเกี่ยวกับกระบวนและมาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนดในเอกสารที่เรียกว่า RFCs ( Request for comment ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้และองค์กรต่าง ๆ ของอินเตอร์เน็ตได้ทำความตกลงกันไว้แล้ว

มีกลุ่มต่าง ๆ หลายกลุ่มที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตของอินเตอร์เน็ตด้วยการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ และให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเหมาะสม และกลุ่มที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นหน่วยงานที่เรียกว่า สมาคมอินเตอร์เน็ต หรือ Internet Society ซึ่งสนับสนุนการทำงานการทำงานของคณะกรรมการชุดหนึ่งคือ Internet Activities Board ( IAB ) ซึ่งเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับเรื่องเบื้องหลังต่าง ๆ ในการวางแนวทางสถาปัตยกรรมของอินเตอร์เน็ต ซึ่งคณะทำงาน Internet Engineering Task Force ( IETF ) ของ IAB นี้จะเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับโปรโตคอล TCP/IP ของอินเตอร์เน็ตว่าจะต้องมีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง ส่วนคณะทำงานอีกชุดหนึ่งคือ Internet Research Task Force ( IRTF ) ของ IAB อีกเช่นกันนั้นจะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีของเน็ตเวิร์ก นอกจากนี้ IAB ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนด IP แอดเดรส โดยผ่านทาง Internet Assigned Numbers Authority และดำเนินการ Internet Registry ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง Domain Name System และจัดการเรื่องการเชื่องโยงชื่อโดเมนกับ IP แอดเดรสอีกด้วย

หน่วยงานอีกอันหนึ่งที่เรียกว่า World Wide Web Consortium ( W3 Consortium ) ซึ่งเป็นผู้พัฒนามาตรฐานสำหรับส่วนที่ถือได้ว่าโตเร็วที่สุดของอินเตอร์เน็ต นั่นคือ World Wide Web สมาคมหรือ Consortium แห่งนี้ ปัจจุบันดำเนินงานโดยห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซท ( MIT ) โดยจะร่วมือกับองค์กรทั่วโลก อย่างเช่นห้องทดลอง CERN ในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด Web สำหรับเหล่านักพัฒนาและผู้ใช้ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของ Web ตลอดจนสร้างต้นแบบและทดลองใช้แอพลิเคชันตัวอย่างเพื่อทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกด้วย

ในขณะที่องค์กรเหล่านี้มีความสำคัญในแง่ของการเป็นตัวเชื่อมระบบอินเตอร์เน็ตเข้าด้วยกัน สิ่งที่เป็นหัวใจของอินเตอร์เน็ตก็คือ เน็ตเวิร์กย่อยในแต่ละหน่วยงานนั่นเอง ซึ่งเน็ตเวิร์กเหล่านี้จะอยู่ตามบริษัทต่าง ๆ มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐบาล และผู้ให้บริการออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีการจัดหาค่าใช้จ่ายของตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ กันออกไป ตัวอย่างเช่น เก็บค่าสมาชิกจากผู้ใช้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เงินงบประมาณจากภาษีหรือเงินช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นต้น

เน็ตเวิร์กเหล่านี้เชื่อมต่อเข้าด้วยกันด้วยวิธีต่าง ๆ หลายวิธี และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เน็ตเวิร์กย่อย ๆ เหล่านี้ก็จะต่อเชื่อมกันเป็นกลุ่มจนกลายเป็นเน็ตเวิร์กระดับภูมิภาคหรือ Regional network โดยอาศัยคู่สายเช่า ( Leased Line ) หลาย ๆ แบบตั้งแต่สายโทรศัพท์แบบธรรมดาไปจนถึงสายใยแก้วนำแสงหรือ Fiber optic ตลอดจนระบบไมโครเวฟและดาวเทียม

โครงข่ายหลักหรือแบ็คโบน ( Backbone ) เป็นสายสัญญาณที่มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลสูงมาก ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลของอินเตอร์เน็ต แบ็คโบนเหล่านี้ออกค่าใช้จ่ายโดยหน่วยงานของรัฐอย่างเช่น องค์การอวกาศและการบินแห่งชาติ ( NASA ) และโดยองค์กรธุรกิจเอกชนต่าง ๆ แบ็คโบนบางแห่งก็ออกค่าใช้จ่ายโดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Science Foundation ( NSF )

อินเตอร์เน็ตดำเนินการอย่างไร ?

1. ในเมื่ออินเตอร์เน็ตเป็นเน็ตเวิร์กที่ปราศจากองค์กรที่เป็นรูปร่างชัดเจน จึงไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว แต่ทว่าองค์กรเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการหลาย ๆ แห่งด้วยกัน ต่างช่วยกันออกค่าใช้จ่ายและดำเนินการในแต่ละส่วน พวกเขาทำงานร่วมกันในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นพันธมิตรที่มีโครงสร้างอย่างหลวม ๆ องค์กรเอกชนที่เข้าร่วมมีตั้งแต่เน็ตเวิร์กขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเอง ไปจนถึงผู้ให้บริการออนไลน์ทางธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเช่น America Online และ CompuServe และรวมไปถึงผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ( Internet Service Provider หรือ ISP) ซึ่งจะขยายบริการในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตด้วย

2. รัฐบาลกลาง ( ของสหรัฐ ) ออกค่าใช้จ่ายสำหรับแบ็คโบนความเร็วสูงซึ่งเป็นตัวส่งผ่านข้อมูลของอินเตอร์เน็ตข้ามประเทศและทั่วโลก โดยออกค่าใช้จ่ายผ่านทางองค์กรอย่างเช่น National Science Foundation ตัวอย่างเช่นโครงข่าย vBNS ( very high-speed Backbone Network Services ) ซึ่งเป็นแบ็คโบนความเร็วสูงสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการวิจัยและการศึกษา โดยเริ่มจากการเชื่องโยงศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้บางครั้งองค์กรขนาดใหญ่ เช่น NASA หรือบริษัทใหญ่ ๆ ก็จะมีแบ็คโบนของตนเองต่างหากสำหรับการเชื่อมต่อสำนักงานสาขาต่าง ๆ ขององค์กรนั้นเข้าด้วยกันทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก

3. เน็ตเวิร์กระดับภูมิภาค ( Regional network ) เป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อและจัดการบำรุงรักษาระบบอินเตอร์เน็ตภายในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเน็ตเวิร์กเหล่านี้อาจประกอบไปด้วยเน็ตเวิร์กขององค์กรขนาดเล็กหลาย ๆ หน่วยภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งร่วมมือต่อเชื่อมเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้บริการที่ดีกว่า

4. Network Information Centers หรือ NICs จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ใช้ประโยชน์อินเตอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ ส่วน InterNIC เป็นองค์กรที่สนับสนุนโดย National Science Foundation ซึ่งช่วยเหลือการทำงานของ NICs

5. Internet Registry จะบันทึกแอดเดรสต่าง ๆ และติดตามการเชื่อมต่อระหว่างแอดเดรสกับชื่อโดเมนเหล่านั้น ชื่อโดเมน ที่ว่านี้คือชื่อที่ตั้งให้แก่เน็ตเวิร์กย่อยซึ่งมีการเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น zenet.com

6. Internet Society สมาคมอินเตอร์เน็ต เป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินการไม่หวังกำไรซึ่งจะเป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต อย่างเช่นว่า TCP/IP และอินเตอร์เน็ตโปรโตคอลอื่น ๆ ควรจะทำงานอย่างไร หน่วยงานนี้จะเป็นผู้ชี้แนะทิศทางและการเจริญเติบโนของอินเตอร์เน็ต

7. ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ( Internet Service Providers หรือ ISP ) จะขายบริการในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเป็นรายเดือนแก่ผู้ใช้ พวกเขาก็จะเป็นดำเนินการอินเตอร์เน็ตในส่วนของตนเอง และอาจจะมีแบ็คโบนเฉพาะของตนเองด้วย นอกจากนี้บริษัทโทรศัพท์ก็อาจจะเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อระหว่างเน็ตเวิร์กในระยะไกลได้อีกด้วย

15 กุมภาพันธ์ 2541



[ home ] [ menu ] [ Internet ]