เข้าใจเรื่องอินเตอร์เน็ตแอดเดรสและโดเมน

การทำอะไรก็ตามบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งอิเล็คทรอนิกส์เมล์ คุณจะต้องเข้าใจเรื่องอินเตอร์เน็ตแอดเดรสให้ดีก่อน Internet Protocol ( IP ) ใช้ข้อมูลอินเตอร์เน็ตแอดเดรส ( หรือบางทีเรียกว่า IP Address ) นี้ในการส่งเมล์และข้อมูลอื่น ๆ จากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง IP Address นั้นที่จริงแล้วก็คือชุดของตัวเลขสี่ตัวที่แยกกันด้วยจุด เช่น 163.52.128.72 การใช้ที่อยู่หรือแอดเดรสเป็นตัวเลขล้วน ๆ นี้จำยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการจำแอดเดรสของใครบางคนที่ติดต่อด้วยบ่อย ๆ ให้ได้ และบางครั้ง IP Address นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์ โดยไม่เกี่ยวกับคนที่เป็นเจ้าของแอดเดรสนั้น ๆ โดยตรงเลย ทำให้ยากที่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขแอดเดรสนี้ในแต่ละครั้ง และทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ จึงมีการพัฒนาวิธีที่ง่ายกว่าขึ้นใช้อ้างอิง IP Address นั่นคือ ระบบที่เรียกว่า Domain Name System ( DNS )

Domain Name System จะสร้างลำดับชั้นของกลุ่มของคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า โดเมน ( Domain ) ในอินเตอร์เน็ต และจะกำหนดชื่อโดเมน ( Domain Name ) ให้แก่หน่วยงานแต่ละแห่ง ซึ่งอาจรวมไปถึงคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องในอินเตอร์เน็ต ( ซึ่งมีชื่อเครื่องหรือ host name กำกับ ) ด้วย ชื่อทั้งหมดนี้เรียกอีกอย่างโดยรวมว่า Internet Address การกำหนดในชื่อแบบนี้จะใช้ตัวอักษรและคำซึ่งจะจำได้ง่ายกว่าแบบตัวเลขล้วน ๆ โดยโดเมนที่อยู่ระดับบนสุดของโครงสร้างจะเก็บรายชื่อและแอดเดรสของโดเมนที่อยู่ภายใต้มันทั้งหมด และโดเมนที่อยู่ภายใต้มันเหล่านี้ก็จะมีหน้าที่คล้าย ๆ กันคือดูแลโดเมนที่อยู่ใต้มันอีกที เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และด้วยวิธีนี้ก็ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในอินเตอร์เน็ตมีชื่อโดเมนประจำตัว ทั้งนี้ DNS จะช่วยในการส่งเมล์ไปยังปลายทางที่ถูกต้อง โดยทำการแปลงชื่อโดเมนหรืออินเตอร์เน็ตแอดเดรสที่อ้างถึงกันในรูปตัวอักษรให้อยู่ในรูป IP Address ที่เป็นตัวเลขซึ่งตรงกันแทนโดยอัตโนมัติ

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่า DNS ทำงานอย่างไร ขอยกตัวอย่างอินเตอร์เน็ตแอดเดรสของคอมพิวเตอร์ในระบบ SPACElink ของ NASA ( องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ ) ก็คือ Spacelink.msfc.nasa.gov โดเมนชั้นบนสุดก็คือ gov ซึ่งย่อมาจาก government, โดเมนที่อยู่ภายใต้มันหนึ่งชั้นก็คือ nasa ซึ่งก็คือโดเมนขององค์การ NASA และที่อยู่ภายใต้มันถัดลงมาก็คือ msfc ( Marshall Space Flight Center คอมพิวเตอร์ที่ศูนย์อวกาศ Marshall ) และสุดท้ายคือ spacelink ซึ่งก็เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งในเน็ตเวิร์กของ NASA ที่รันโปรแกรม SPACElink อยู่ IP Address ของ SPACElink ได้มีการเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้งตามเวลาที่ผ่านไปหลาย ๆ ปี แต่ชื่อโดเมนที่คนรู้จักและใช้อ้างถึงยังคงเหมือนเดิม ระบบ DNS จะคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง IP Address แต่ถ้าอ้างถึงโดยใช้ชื่อโดเมนแทนเมล์ก็จะถูกส่งไปยังสถานที่ที่ถูกต้องได้ โดยจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า name server คอยทำหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แล้วทำการแปลงระหว่าง IP Address และชื่อโดเมนให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ที่สอบถามเข้ามา

ตอนนี้ลองมาพิจารณาดูรายละเอียดต่าง ๆ ของชื่อโดเมน ลองดูที่อีเมล์แอดเดรส ซึ่งจะใช้เครื่องหมาย @ ซึ่งอ่านว่า แอท ( at ) ในการบ่งบอกถึงแอดเดรสของผู้ใช้แต่ละคนซึ่งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ใด ๆ บนอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ spacelink.msfc.nasa.gov อาจจะมีหลายคนใช้งานมันอยู่เพื่อเก็บตู้จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ของตนเอง ซึ่งจะแยกแยะตู้แต่ละตู้ออกจากกันด้วยชื่อผู้ใช้ ( User Name ) ของแต่ละคน ( ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรก็แล้วแต่ผู้ควบคุมระบบจะตั้งให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ ) ตามด้วยเครื่องหมาย @ แล้วปิดท้ายด้วยชื่อโดเมนของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น เช่น ในการที่จะส่งอีเมล์ไปให้นาย Fred Pfizer ซึ่งมีตู้อีเมล์บนระบบนั้น คุณจะต้องส่งไปยัง fpfizer@spacelink.msfc.nasa.gov หรือที่ ferd_pfizer@spacelink.msfc.nasa.gov ขึ้นกับว่าผู้ควบคุมระบบจะตั้งชื่อไหน ( fpfizer หรือ ferd_pfizer ) ให้กับนาย Ferd Pfizer เมื่อคุณส่งอีเมล์ไปยังชื่อดังกล่าว อีเมล์ของคุณก็จะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ spacelink.msfc.nasa.gov และเขาก็จะได้รับแจ้งว่ามีอีเมล์มาถึงตอนที่เขาทำการเข้าสู่ระบบ ( login ) ใหม่แต่ละครั้ง

เข้าใจเรื่องอินเตอร์เน็ตแอดเดรสและโดเมน

  1. Protocol ( IP ) ทำการส่งเมล์โดยดูตามแอดเดรสเฉพาะของอีเมล์นั้น ๆ แอดเดรสนี้จะกำหนดเป็นกลุ่มตัวเลขสี่ชุด แยกกันด้วยจุด ( เรียกว่า dot ) อย่างเช่น 163.52.128.72 แต่เนื่องจากเป็นการยากที่จะจดจำตัวเลขที่ซับซ้อนเหล่านี้ คุณก็สามารถอ้างถึงผู้รับโดยใช้อินเตอร์เน็ตแอดเดรสซึ่งประกอบไปด้วยตัวอักษรและคำแทนได้ คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า name server จะเป็นตัวแปลงแอดเดรสที่เป็นคำไปสู่แอดเดรสที่เป็นตัวเลข ดังนั้นอีเมล์จึงสามารถส่งไปยังสถานที่ที่ถูกต้องได้
  2. อินเตอร์เน็ตแอดเดรสประกอบไปด้วยส่วนใหญ่ ๆ สองส่วนด้วยกัน ซึ่งถูกคั่นด้วย @ ( อ่านว่า at ) ซึ่งอินเตอร์เน็ตแอดเดรสนี้จะบอกคุณถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของบุคคลที่เป็นเจ้าของแอดเดรสนั้น ๆ ได้ ส่วนแรกของแอดเดรสที่อยู่ด้านซ้ายของ @ นั้นจะเป็นชื่อผู้ใช้ ( User Name ) ซึ่งมักจะอ้างอิงถึงผู้ใช้คนหนึ่ง ๆ ที่มีสิทธิใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น และโดยปกติจะเป็นตัวเดียวกับชื่อที่ผู้ใช้ต้องป้อนเวลาขอเข้าใช้ระบบหรือทำการ login ( หรือเรียกว่า login name ) นั่นเอง ส่วนที่สองของแอดเดรสซึ่งอยู่ทางด้านขวาของ @ จะเป็นชื่อคอมพิวเตอร์ที่เป็นโฮสหรือเซิร์ฟเวอร์ให้กับผู้ใช้รายนั้น ๆ ( host name ) แล้วตามด้วยชื่อโดเมนที่เครื่องนั้นอยู่ ซึ่งถ้ารวมกันแล้วก็สามารถบ่งบอกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บุคคลนั้น ๆ มีชื่อบัญชีของระบบอินเตอร์เน็ตอยู่ได้
  3. เมื่อคุณส่งเมล์จะมีการถามไปที่ name server ก่อน ทั้งนี้ในการที่จะส่งเมล์ไปบนอินเตอร์เน็ตได้นั้น จะต้องรู้ IP Address ที่เป็นตัวเลขก่อน ซึ่ง name server จะดูอินเตอร์เน็ตแอดเดรสที่เป็นตัวอักษรและแทนที่ด้วย IP Address ที่เป็นตัวเลขให้ก่อน ดังนั้นเมล์ก็จะสามารถส่งไปได้ถูกต้อง
  4. Domain Name System เป็นวิธีการที่จะจัดแบ่งอินเตอร์เน็ตแอดเดรสให้แยกเป็นกลุ่ม ๆ ที่ดูรู้เรื่อง หรือที่เรียกว่า โดเมน ส่วนที่อยู่ขวามือสุดของส่วนที่เป็นชื่อโดเมนในแอดเดรส จะบ่งบอกถึงโดเมนที่ใหญ่ที่สุดและมักจะแสดงประเภทขององค์กรที่เป็นเจ้าของโดเมนนั้น ๆ หรือประเทศที่โดเมนนั้น ๆ ตั้งอยู่
  5. ชื่อถัดจากโดเมนที่ใหญ่ที่สุดมาทางซ้ายมือ จะเป็นชื่อที่ให้ข้อมูลเฉพาะขององค์กรนั้น ๆ และเป็นตัวที่จะบอกอุปกรณ์ router ว่าควรส่งข้อมูลไปยังเน็ตเวิร์กไหน ซึ่งอาจจะเป็นชื่อโดเมนเพียงชื่อเดียวโดด ๆ เดียว เช่น zd ( สำหรับ Ziff-Davis ) หรืออาจจะเป็นกลุ่มที่มีทั้งโดเมนและโดเมนย่อย ( Sub domain ) อีกมากกว่า 1 ชั้น เช่น mfsc.nasa เป็นต้น
  6. ด้านซ้ายสุดของชื่อโดเมนที่ติดกับ @ ก็คือชื่อโฮสต์ ( host name ) ซึ่งจะเป็นตัวบอก router ว่าเมล์ควรจะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องไหนที่อยู่ภายใต้โดเมนนั้น
  7. ชื่อโดเมนและชื่อโฮสต์รวมกันแล้วก็จะบอกอินเตอร์เน็ตว่าคอมพิวเตอร์เครื่องไหนที่เมล์จะถูกส่งไป คอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวรับก็จะดูที่ชื่อผู้ใช้ ( user name ) แล้วส่งเมล์นั้นไปยังตู้อีเมล์ที่ถูกต้องได้
หมายเหตุ โดเมนที่ใช้กันทั่วไปในอเมริกาก็คือ com สำหรับ commercial
edu สำหรับ education
net สำหรับ network ( บริษัทหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต )
org สำหรับองค์กรหรือ organization
แต่ถ้าเป็นนอกประเทศสหรัฐ มักใช้ตัวอักษรแค่สองตัวในการบ่งบอกโดเมนของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับชื่อประเทศในแบบที่เราคุ้นเคยกันก็ได้ ตัวอย่างเช่น
au สำหรับ Australia
ca สำหรับ Canada
uk สำหรับ United Kingdom ( อังกฤษ )
fr สำหรับ France หรือ
th สำหรับประเทศไทย ( Thailand ) เป็นต้น

17 กุมภาพันธ์ 2541



[ home ] [ menu ] [ Internet ]