ทักวันนี้หลังจากสองทศวรรษที่อินเตอร์เน็ตได้ถูกสร้างขึ้นมา จุดประสงค์หลักของมันก็ยังคงเหมือนเดิมคือเพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ประชาชนนับล้าน ๆ คนจากทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนความคิด ความหวัง การทำงาน การนินทากัน และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ ผ่านทางสายสื่อสารและคอมพิวเตอร์ซึ่งประกอบกันขึ้นมาเป็นอินเตอร์เน็ต วิธีการติดต่อสื่อสารหลาย ๆ แบบ ตัวอย่างเช่นอิเล็กทรอนิกส์เมล์ได้เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในเวลา 20 ปี ที่ผ่านไป แต่ก็มีวิธีการติดต่อสื่อสารแบบใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากเดิมไปโดยสิ้นเชิงเกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการที่คุณสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าโทรศัพท์ทางไกลไปได้แทบทั้งหมด แม้ว่าคุณจะโทรไปยังอีกฟากหนึ่งของโลกก็ตาม มีเทคโนโลยีหลายแบบที่ทำให้คุณติดต่อเป็นการส่วนตัวสองต่อสองได้ และก็มีแบบที่คุยกันเป็นกลุ่มได้ แล้วก็ยังมีแบบที่ทำได้ทั้งสองอย่างอีกด้วย
E-Mail ทำงานอย่างไร ?
อิเล็กทรอนิกส์เมล์ หรือ อีเมล์ ( E-Mail ) อาจจะเป็นสิ่งที่มีการใช้งานกันมากที่สุดของอินเตอร์เน็ต ด้วยอีเมล์นี้คุณสามารถส่งข้อความไปให้ใครก็ได้ที่เชื่อมต่ออยู่กับอินเตอร์เน็ตหรือต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กที่มีการต่อเชื่อมกับอินเตอร์เน็ต รวมทั้งบริการออนไลน์ทั้งหลาย เช่น America Online หรือ CompuServe เป็นต้น ผู้คนนับล้าน ๆ คนส่งและรับ อีเมล์ทุก ๆ วัน อีเมล์นั้นเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการติดต่อกับญาติมิตร เพื่อนฝูงที่อยู่ห่างไกลกัน และเพื่อนร่วมงานที่อยู่ที่สำนักงานต่างสาขา และเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน
ข้อมูลของอีเมล์จะถูกส่งด้วยวิธีการเดียวกับข้อมูลของอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ โปรโตคอล TCP จะแตกข้อความออกเป็นแพ็กเก็ตย่อย ๆ ก่อน จากนั้นโปรโตคอล IP บนทั้งสองฝั่งจะประสานงานกันในการส่งแพ็กเก็ตไปยังผู้รับที่ถูกต้อง แล้วโปรโตคอล TCP บนเครื่องปลายทางก็จะประกอบแพ็กเก็ตกลับขึ้นมาใหม่เพื่อให้ผู้รับสามารถอ่านข้อความนั้นได้
คุณยังสามารถแนบ ( attach ) ไฟล์แบบไบนารี อย่างเช่นรูปภาพ วิดีโอ เสียง และไฟล์เก็บโปรแกรมหรือเอ็กซีคิวเตเบิลไฟล์ ( executable file ) ไปกับอีเมล์ของคุณ ซึ่งในขั้นแรกไฟล์นั้นจะต้องมีการเข้ารหัสเสียก่อน ซึ่งวิธีเข้ารหัสที่นิยมกันก็คือ MIME ( Multipurpose Internet Mail Extension ) และ Uuencode ส่วนผู้รับไฟล์แบบไบนารีที่แนบไป ( ซึ่งในอีเมล์จะเรียกว่า attachment ) ก็จะต้องถอดรหัสไฟล์นั้นออกด้วยวิธีการเดียวกับที่ใช้เข้ารหัส ซึ่งซอฟต์แวร์สำหรับรับส่งอีเมล์หลาย ๆ ตัวจะจัดการเรื่องนี้ให้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
เมื่อคุณส่งอีเมล์ไปยังใครคนหนึ่งบนอินเตอร์เน็ต ข้อความนั้นก็จะถูกส่งผ่านไปยังเน็นเวิร์กสารพัดรูปแบบก่อนที่มันจะไปถึงเน็ตเวิร์กของผู้รับ ซึ่งเน็ตเวิร์กนั้นอาจจะมีรูปแบบอีเมล์ที่ต่างกันออกไป เกตเวย์ ( gateway ) จะทำการแปลรูปแบบของอีเมล์จากแบบของเน็ตเวิร์กหนึ่งไปเป็นแบบของอีกเน็ตเวิร์กหนึ่ง ดังนั้นข้อความจึงถูกส่งผ่านเน็ตเวิร์กทั้งหมดบนอินเตอร์เน็ตได้อย่างราบรื่น
วิธีใช้อีเมล์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ mailing list หรือรายชื่อผู้รับเมล์ ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกลุ่มคนซึ่งมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน อย่างเช่น การ์ตูนญี่ปุ่น หรือการเรียนด้วยตนเองที่บ้าน เป็นต้น เมื่อบุคคลหนึ่งส่งอีเมล์ไปยัง mailing list อันหนึ่ง ข้อความก็จะถูกส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ ที่อยู่ในรายชื่อของ mailing list นั้นทั้งหมดอย่างอัตโนมัติ คุณสามารถที่จะพบปะกับคนอื่น ๆ และคุยกับพวกเขาเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องที่คุณสนใจเป็นพิเศษ งานอดิเรก หรืองานอาชีพของคุณ การเข้าไปร่วมใน mailing list เริ่มโดยการส่งอีเมล์สั้น ๆ แจ้งไปยังผู้ดูแลระบบ mailing list นั้น ๆ และให้อีเมล์แอดเดรสของคุณไปด้วย การยกเลิกก็ทำโดยวิธีเดียวนี้ ก็คือส่งเมล์แจ้งไปยังผู้ดูแลระบบ mailing list เช่นเดียวกัน
mailing list อาจเป็นแบบถูกควบคุม ( moderated ) หรือไม่ถูกควบคุม ( unmoderated ) ก็ได้ ถ้าเป็น mailing list ที่มีการควบคุม ผู้ควบคุมระบบก็จะเป็นผู้ตรวจสอบเมล์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีการลบข้อความที่ซ้ำ ๆ กัน หรือข้อความที่ไม่ตรงประเด็นกับหัวข้อของ mailing list นั้น ๆ ส่วน mailing list ที่ไม่มีการควบคุมนั้นจะเป็นการเปิดกว้าง เมล์ทั้งหมดที่ส่งเข้ามาก็จะถูกส่งไปยังทุก ๆ คนในรายชื่อนั้นอย่างอัตโนมัติ
บ่อยครั้งที่เมื่อคุณต้องการสมัครเข้าไปใน mailing list คุณจะต้องเริ่มโดยส่งอีเมล์ไปหาคอมพิวเตอร์แทนที่จะเป็นคน คอมพิวเตอร์นั้นมีชื่อว่า list server ( หรือเรียกย่อว่า listserv ) ซึ่งจะอ่านเมล์ของคุณและทำการเพิ่มชื่อของคุณเข้าไปในรายชื่อให้อย่างอัตโนมัติ และคุณก็สามารถยกเลิกได้โดยวิธีเดียวกัน เมื่อใช้ list server คุณจะต้องระวังการใช้คำให้ดี ๆ เพราะข้อความจะถูกอ่านด้วยคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการใช้คำและขั้นตอนต่าง ๆ ต้องทำให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ว่าจะสมัครหรือยกเลิกจะต้องทำอย่างไร ใช้คำสั่งอย่างไร
โครงสร้างของ E-Mail หนึ่งฉบับ
1. อีเมล์แต่ละฉบับจะประกอบขึ้นด้วยข้อมูลซึ่งปกติแล้วจะอยู่ในรูปแบบของรหัส ASCII ที่แทนตัวอักษร รหัส ASCII นี้จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้คอมพิวเตอร์อ่านข้อความนั้นได้โดยไม่ขึ้นกับประเภทของเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ หรือฮาร์ดแวร์ใด ๆ รหัส ASCII จะถูกแปลงเป็นตัวอักษรอย่างที่คุณเห็นบนจอภาพ
2. คุณยังสามารถแนบรูปภาพ โปรแกรม เสียง วิดีโอ และไฟล์แบบไบนารีอื่น ๆ เข้ากับอีเมล์ของคุณ ในการจะทำเช่นนี้ คุณต้องเข้ารหัสไฟล์ในรูปแบบที่ยอมให้ส่งผ่านอินเตอร์เน็ตได้ และตัวรับก็จะต้องสามารถถอดรหัสดังกล่าวได้ด้วย มีวิธีเข้ารหัสอยุ่หลายวิธีที่แตกต่างกัน ซอฟต์แวร์อีเมล์บางตัวจะทำการเข้ารหัสให้คุณอย่างอัตโนมัติ และทำการถอดรหัสที่ปลายด้านรับให้ด้วย
3. ในบรรทัด To ให้พิมพ์อีเมล์แอดเดรสของคนที่คุณจะส่งถึง ซึ่งแอดเดรสนี้จะต้องพิมพ์ให้ถูกต้องตามกฎอย่างเคร่งครัด ถ้าพิมพ์ผิดไปแม้แต่เพียงตัวเดียวก็ทำให้ส่งไปไม่ถึงผู้รับที่ต้องการได้
4. อีเมล์แอดเดรสของคุณจะปรากฏในบรรทัด From การใส่ไว้ตรงนี้ก็เพื่อช่วยทำให้ผู้รับตอบจดหมายของคุณได้ถูก
5. ในบรรทัด Subject ให้พิมพ์หัวเรื่องของจดหมายอย่างย่อ ๆ
6. ด้านล่างของข้อความ คือพื้นที่ ลายเซ็น หรือ signature ที่คุณสามรถใส่ข้อมูลต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษหรือเป็นข้อมูลเฉพาะตัวของคุณได้ ข้อมูลที่ว่านี้ไม่ใช่ลายเซ็นหรือรูปภาพของลายเซ็นจริง ๆ แต่จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้รับที่คุ้นเคยกับคุณรู้ว่านี่เป็นจดหมายจากคุณจริง ๆ ไม่ใช่คนอื่นแอบอ้างส่งมา เช่นคำพังเพย คำคม คำทักทาย หรือสแลงที่ใช้กันเฉพาะในกลุ่ม เป็นต้น หรืออาจเป็นข้อมูลเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับหน่วยงานหรือบริษัทของคุณก็ได้ตามแต่จะกำหนดไว้ก่อน โปรแกรมอีเมล์บางตัวก็จะใส่ข้อความที่เป็นเสมือนลายเซ็นของคุณนี้ได้โดยอัตโนมัติที่ท้ายข้อความเวลาคุณส่งออกไป พื้นที่ลายเซ็นนี้อาจไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลอะไรเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ส่งอีเมล์นั้น ซึ่งถ้ามีก็ไม่ควรเกินห้าบรรทัด
E-Mail ทำงานอย่างไร ?
1. เมื่อคุณสร้างและส่งอีเมล์ฉบับหนึ่งออกไป มันก็จะถูกส่งไปเป็นสาย ( stream ) ของแพ็กเก็ต โดยใช้โปรโตคอล TCP/IP ของอินเตอร์เน็ต แต่ละแพ็กเก็ตจะมีแอดเดรสของปลายทางกำกับอยู่
2. เราท์เตอร์ ( router ) บนอินเตอร์เน็ตจะดูที่แอดเดรสปลายทางของแต่ละแพ็กเก็ต และส่งแพ็กเก็ตนั้นไปตามเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับจะไปถึงที่หมายนั้น มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะกำหนดว่าแพ็กเก็ตจะวิ่งไปทางไหน รวมทั้งความคับคั่งหรือปริมาณข้อมูลในแต่ละเครือข่ายหลักหรือแบ็คโบนที่ต้องผ่านด้วย แต่ละแพ็กเก็ตของข้อมูลที่ต่อเนื่องกันอาจจะใช้เส้นทางที่แตกต่างกัน ดังนั้นแพ็กเก็ตทั้งหมดจึงอาจไปถึงปลายทางโดยไม่เรียงลำดับกันก็ได้
3. เมื่อแพ็กเก็ตทั้งหมดมาถึงที่แอดเดรสปลายทาง มันก็จะถูกประกอบกลับขึ้นเป็นอีเมล์ทั้งฉบับที่ผู้รับสามารถอ่านได้
4. การใช้ mailing list คุณสามารถส่งจดหมายเพียงฉบับเดียวไปยังคนทั้งกลุ่มได้ โดยตัว mail reflector จะเป็นโปรแกรมที่วิ่งบนคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ตและกำหนดเส้นทาง ( สะท้อน หรือ reflect ) ให้เมล์วิ่งไปยังสมาชิกทั้งหมดของ mailing list ส่วนในระบบ mailing list อีกแบบหนึ่งคือ listserv คุณสามารถสมัครเข้าไปอยู่ในรายชื่อหรือลิสต์นั้นโดยการส่งอีเมล์แอดเดรสของคุณไปยัง listserv แล้วคุณก็จะได้รับทุก ๆ ข้อความที่คนอื่น ๆ ทุก ๆ คนส่งไปยังลิสต์นั้นได้ ซึ่งวิธีนี้ปกติจะใช้ในการกระจายจดหมายข่าว ( newsletter ) ต่าง ๆ
5. คุณสามารถเข้าใช้บริการของอินเตอร์เน็ตหลาย ๆ อย่าง เช่น FTP server ผ่านอีเมล์ได้ด้วย การใช้งานผ่านอีเมล์นั้นจะช้ากว่าการใช้งานโดยตรงมาก แต่ก็ช่วยได้มากในกรณีที่คุณไม่มีการเชื่อมต่อโดยตรงกับอินเตอร์เน็ต
6. คุณสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนอีเมล์ระหว่างผู้ใช้บริการออนไลน์รายใหญ่ ๆ ระบบ bulletin boards ( BBS ) และเน็ตเวิร์กแบบอื่น ๆ ได้ คุณสามารถส่งเมล์จากอินเตอร์เน็ตไปยังเน็ตเวิร์กต่าง ๆ เหล่านั้น และในทางกลับกันก็สามารถส่งอีเมล์จากเน็ตเวิร์กเหล่านั้นมายังอินเตอร์เน็ตได้ด้วย นอกจากนั้นเมื่ออีเมล์ถูกส่งจากเน็ตเวิร์กหนึ่งไปยังอีกเน็ตเวิร์กหนึ่ง ๆ ก็มักใช้อินเตอร์เน็ตเป็นทางผ่านด้วย
ซอฟต์แวร์อีเมล์ทำงานอย่างไร ?
1. เมื่ออินเตอร์เน็ตส่งจดหมายมายังตู้อีเมล์ของคุณ คุณต้องมีวิธีการที่จะอ่านจดหมายนั้นและร่างจดหมายตอบกลับไป ในการทำเช่นนี้จะต้องใช้ซอฟต์แวร์อีเมล์ หรือบางครั้งเรียกว่า mailer หรือ reader
2. เมื่อมีคนส่งจดหมายเป็นอีเมล์มาถึง โดยปกติจดหมายนั้นจะไม่ได้ส่งมายังคอมพิวเตอร์ของคุณโดยตรง แต่จะถูกส่งไปยัง เมล์เซิร์ฟเวอร์ ( mail server ) วอฟต์แวร์อีเมล์ของคุณจะเข้าไปดูในเมล์เซิร์ฟเวอร์ว่ามีจดหมายฉบับใหม่มาถึงคุณหรือไม่
3. ถ้ามีจดหมายใหม่มาถึงคุณ เมื่อคุณเชื่อมต่อเข้าไปที่เซิร์ฟเวอร์ก็จะมีรายชื่อของจดหมายนั้นให้เห็นทันที ซึ่งมักจะแสดงข้อมูลทั่วไป เช่นชื่อของผู้ส่ง หัวข้อของจดหมาย และวันเวลาที่จดหมายนั้นถูกส่งมา
4. เมื่อคุณต้องการอ่านจดหมาย ก็สั่งซอฟต์แวร์อีเมล์ของคุณให้ดาวน์โหลดมันมายังคอมพิวเตอร์ของคุณ และใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าวในการอ่านข้อความข้างใน นอกจากนี้คุณยังสามารถจัดการต่าง ๆ เช่น เก็บจดหมายนั้นลงไฟล์ ลบทิ้ง หรือตอบกลับก็ได้
5. ซอฟต์แวร์อีเมล์มักจะมีความสามารถต่าง ๆ เพิ่มเติม อย่างเช่น สร้างแฟ้ม ( folder ) เพื่อจะจัดเก็บเมล์ออกเป็นเรื่อง ๆ แยกจากกัน ค้นหาข้อความจากในจดหมายได้ เก็บรายชื่อคนที่คุณจะส่งอีเมล์ติดต่อด้วยบ่อย ๆ ได้ สร้างกลุ่ม mailing list ได้ สร้างและเพิ่มแฟ้มข้อมูลลายเซ็นได้ และอื่น ๆ อีกมากมาย
Mailing list ทำงานอย่างไร ?
Mailing list เป็นวิธีการที่กลุ่มคนจะแลกเปลี่ยนความคิดกันในที่สาธารณะได้โดยผ่านทางอีเมล์ เมื่อคุณเข้าไปร่วมใน mailing list แล้ว จดหมายทุก ๆ ฉบับที่คุณเขียนส่งไปยังลิสต์ดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปให้ใครก็ได้ที่อยู่ในลิสต์นั้น ๆ ได้อ่านกัน
1. ในการเข้าร่วม mailing list คุณต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน โดยการส่งอีเมล์ไปยังผู้ดูแลระบบ mailing list เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่ม และการขอยกเลิกก็ส่งอีเมล์ไปบอกผู้ดูและระบบ list นั้น ๆ เช่นเดียวกัน
2. ตัว mailing list เองคือฐานข้อมูลที่เก็บอีเมล์แอดเดรสของคนที่สมัครเข้ามาทั้งหมด เมื่อคุณขอสมัครเข้าไปแอดเดรสของคุณก็จะถูกเพิ่มเข้าไปยังฐานข้อมูล
3. เมื่อคอมพิวเตอร์ที่มีฐานข้อมูลเก็บอยู่ได้รับจดหมายที่ส่งมาถึง mailing list มันก็จะส่งจดหมายนั้นต่อไปยังทุก ๆ อีเมล์แอดเดรสคือถึงผู้รับทุก ๆ คนที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูล mailing list นั้นโดยอัตโนมัติ mailing list บางกลุ่มก็มีการส่งจดหมายถึงกันอยู่ตลอดเวลา และคนที่อยู่ในกลุ่มอาจจะได้รับอีเมล์เป็นโหล ๆ ในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้คุณจึงควรตรวจสอบตู้อีเมล์ของคุณบ่อย ๆ เผื่อว่ามีจดหมายเข้ามามาก และลบจดหมายที่ไม่ใช้แล้วทิ้งเป็นระยะ ๆ ไม่อย่างนั้นคุณก็อาจจะทำให้เมล์เซิร์ฟเวอร์ทำงานอืดไปได้ และก็จะทำให้คุณอ่านอีเมล์ได้ยากด้วยเพราะมีเยอะเกินไป
E-mail ถูกส่งข้ามเน็ตเวิร์กต่าง ๆ กันได้อย่างไร ?
อีเมล์ของอินเตอร์เน็ตอาจจะถูกส่งระหว่างเน็ตเวิร์กย่อยบนอินเตอร์เน็ต หรือระหว่างบริการออนไลน์ อย่างเช่น CompuServe และ America Online ได้โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต ต่อไปนี้จะเป็นขั้นตอนในการส่งผ่านที่อีเมล์ทั่ว ๆ ไปจากเน็ตเวิร์กหนึ่งไปยังอีกเน็ตเวิร์กหนึ่ง
1. เมื่อคุณส่งอีเมล์ฉบับหนึ่ง มันจะถูกแตกเป็นแพ็กเก็ตด้วยโปรโตคอล TCP ของอินเตอร์เน็ต โดยแตกออกเป็นแพ็กเก็ต IP แพ็กเก็ตเหล่านั้นก็จะถูกส่งไปยังเราต์เตอร์ที่อยู่ภายในเน็ตเวิร์กของคุณ ซึ่งจะตรวจดูแอดเดรสของปลายทางที่จะส่งไปจากแอดเดรสนั้น เราต์เตอร์จะตัดสินใจว่าเมล์ฉบับนั้นจะถูกส่งไปทางไหน ถึงคนที่อยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกันหรือคนที่อยู่ภายนอกเน็ตเวิร์ก ถ้าเป็นเมล์ที่ไปยังคนที่อยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกันเมล์ก็จะถูกส่งต่อไปยังผู้รับโดยตรง
2. ถ้าเมล์ฉบับนั้นต้องส่งไปยังคนที่อยู่นอกเน็ตเวิร์ก ก็อาจจะต้องผ่าน firewall ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการรุกล้ำเน็ตเวิร์กของคุณจากอินเตอร์เน็ตภายนอก ดังนั้นผู้บุกรุกจึงไม่สามารถเจาะเข้ามายังเน็ตเวิร์กภายในได้ firewall จะคอยตรวจสอบข้อมูลที่รับส่งเข้าและออกจากเน็ตเวิร์กของ และมันยังสามารถป้องกันไม่ให้แพ็กเก็ตบางชนิดผ่านไปได้ด้วย
3. เมื่ออีเมล์ของคุณทะลุผ่านออกมาสู่อินเตอร์เน็ตได้แล้วก็จะถูกส่งต่อไปยังเราต์เตอร์ของอินเตอร์เน็ต เราต์เตอร์นี้ก็จะตรวจสอบแอดเดรสและพิจารณาว่าควรจะส่งไปทางไหนต่อ แลัวจึงจัดการส่งแพ็กเก็ตไปตามเส้นทางนั้น
4. เกตเวย์ ( gateway ) ที่ปลายทางด้านรับจะได้รับแพ็กเก็ต และจะใช้โปรโตคอล TCP ในการประกอบแพ็กเก็ต IP ที่รับมาทั้งหมาดขึ้นใหม่ให้อยู่ในรูปอีเมล์ทั้งฉบับตามเดิม แล้วเกตเวย์ก็จะทำการแปลงอีเมล์ฉบับนั้นไปเป็นรูปแบบตามโปรโตคอลที่เน็ตเวิร์กปลายทางใช้อยู่ แล้วส่งมันไปตามเส้นทางที่ถูกต้อง ซึ่งอีเมล์ฉบับนี้อาจจะต้องไปผ่าน firewall ของเน็ตเวิร์กที่เป็นตัวรับด้วย
5. เน็ตเวิร์กด้านรับจะตรวจสอบดูอีเมล์แอดเดรสที่ระบุมา และส่งมันไปยังตู้อีเมล์ที่ถูกต้องในที่สุด
28 กุมภาพันธ์ 2541