โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


เศรษฐกิจในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


การดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

  • การพัฒนาด้านการเงินการธนาคาร

การที่ประเทศใด ๆ จะเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประสบผลได้สำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางพื้นฐานด้านตลาดเงินและตลาดทุนให้มั่นคงเสียก่อน เพราะความสามารถของระบบเศรษฐกิจที่จะสะสมเงินออมเพื่อนำมาลงทุนต่อไปนั้น เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะชักนำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการออมและการลงทุนนี้มาตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร และได้ฝึกหัดให้มหาดเล็กของพระองค์รู้จักการเก็บออมในธนาคารจำลองชื่อ “ลีฟอเทีย”ที่ทรงตั้งขึ้น ครั้นเมื่อทรงครองราชย์แล้วและพบว่าราษฎรมีความไม่ไว้วางใจในธนาคารพาณิชย์เนื่องจากการฉ้อโกงและการล้มละลายของธนาคารที่เกิดขึ้นเสมอ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคลังออมสินขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบของสถาบันการเงินที่มั่นคงเพราะรัฐบาลค้ำประกัน และยังได้ใช้คลังออมสินนี้เป็นแหล่งฝึกฝนให้เยาวชนรู้จักเก็บออมและมีความเชื่อถือ เข้าใจในระบบธนาคารอีกด้วย อันจะเป็นรากฐานต่อการพัฒนาสถาบันการเงินที่มั่นคงต่อไป

ในการจัดตั้งคลังออมสินขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนสำหรับเริ่มต้นการดำเนินงานจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินการของเสถาบันการเงินตัวอย่างนี้สามารถดำเนินไปได้โดยราบรื่น และกิจการของคลังออมสินก็เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับตั้งแต่นั้นมาจนเป็นธนาคารออมสินในปัจจุบัน

นอกจากการจัดตั้งคลังออมสินแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยอุดหนุนเข้าซื้อหุ้นเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของคนไทยคือธนาคารสยามกัมมาจลที่ฐานะกำลังซวดเซเพราะการฉ้อโกงและการบริหารงานที่ผิดพลาด สามารถยืนหยัดต่อมาได้จนเป็นธนาคารที่มีฐานะมั่นคงแห่งหนึ่งมาจนปัจจุบัน และยังเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ระบบธนาคารพาณิชย์อีกด้วย

  • การพัฒนาด้านการศึกษา

ปัจจัยพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นก็คือการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ความสำคัญต่อการศึกษาของอาณาประชาราษฎร์เป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากพระราชดำรัสต่อไปนี้

“การศึกษาย่อมเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญของชาติบ้านเมือง ผู้ใดอุดหนุนการศึกษา ผู้นั้นก็ชื่อว่าอุดหนุนชาติบ้านเมืองด้วย เราตั้งใจที่จะบำรุงการศึกษาของบ้านเมืองเราอยู่เสมอ ประเทศทั้งหลายย่อมเจริญได้ด้วยการศึกษา ประเทศใดปราศจากการศึกษา ประเทศนั้นต้องเป็นป่าเถื่อน”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชบายที่จะส่งเสริมการศึกษาในทุกด้านและทุกระดับ โดยในเบื้องต้นนั้นเนื่องจากการจัดการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลโดยกรมศึกษาธิการ ซึ่งสังกัดกระทรวงธรรมการ ยังขยายไปได้ช้ามาก ในปีพ.ศ.2454 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงนครบาล ซึ่งมีเจ้าพนักงานในบังคับบัญชากระจายอยู่ทุกท้องที่อยู่แล้ว จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ราษฎรมีความรู้อย่างต่ำขั้นอ่านออกเขียนได้ให้จำนวนมากที่สุด และเพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการจัดการศึกษาภาคบังคับต่อไป นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงชักชวนให้ประชาชนสนับสนุนการศึกษาด้วยการสร้างโรงเรียนให้มากขึ้นด้วย

“เมื่อได้กล่าวถึงการศึกษา ขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ และขอบใจข้าราชการตลอดจนราษฎรทั้งในกรุงและหัวเมือง ที่ได้ช่วยกันจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นสาธารณประโยชน์ในปีนี้อีกหลายโรงหลายแห่ง ที่เป็นโรงเรียนที่ช่วยกันตั้งขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศและอุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนารถของเรา”

ในปีพ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้โครงการศึกษา พ.ศ.2456 ซึ่งกำหนดการศึกษาเป็น 2 ประเภทคือสามัญ(ประถม 3 ปี)กับวิสามัญ(ประถมอาชีพ 2 ปี) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนส่วนใหญ่มีความรู้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และต่อมาในปีพ.ศ.2464 ก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการจัดการศึกษาภาคบังคับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร และอื่น ๆ ทำให้ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ครบทุกตำบลในทันที ดังนั้นก่อนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้ให้อุปราชและสมุหเทศาภิบาลทั้งหลายส่งบัญชีรายชื่อตำบลและอำเภอที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติได้มาให้ทราบก่อน ซึ่งปรากฏว่าในปี 2464 นั้นสามารถประกาศใช้ได้ 2,311 ตำบล และในปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยสามารถประกาศใช้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,492 ตำบล คิดเป็นประมาณร้อยละ 76.83 ของตำบลทั้งหมดทั่วประเทศในปีนั้น

ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กที่ตั้งในรัชสมัยพระบรมชนกนารถขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.2453 และได้ขยายสาขาวิชาที่สอนเป็น 8 แผนกในปี 2457 คือแผนกครู แผนกแพทย์ แผนกกฎหมาย แผนกรัฐประสาสนศาสตร์ แผนกการฑูต แผนกพาณิชยการ แผนกการกสิกรรม และแผนกยันตรศึกษา(วิศวกรรม) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าสมควรจะขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น จึงได้มีการปรับสถานะและเปลี่ยนนามของโรงเรียนแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยคือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในปีพ.ศ.2459 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนารถ

    หน้า 8   

    หน้า 10