โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
|
|
อุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการแก้ไข อุปสรรคที่แท้จริงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือการขาดแคลนเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากรายได้แผ่นดินเพิ่มได้จำกัด และแม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างรอบคอบ แต่ความจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้นเป็นระยะก็ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ และนำไปสู่ปัญหางบประมาณแผ่นดินขาดดุลในที่สุด เนื่องจากความพยายามอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหางบประมาณรายรับไม่พอกับรายจ่ายเช่นการตัดทอนงบประมาณรายจ่ายลง หรือชะลอการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศไปก่อนนั้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น การจะแก้ปัญหาที่แท้จริงจำเป็นต้องแก้ตรงมูลเหตุที่ทำให้รายได้แผ่นดินเพิ่มได้จำกัด ซึ่งได้แก่ข้อผูกมัดตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยต้องจำยอมทำกับนานาประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นถ้าหากสามารถเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาได้สำเร็จ ประเทศไทยก็จะมีอิสระในการเพิ่มอัตราภาษีซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของรายได้ และช่วยให้ปัญหาการขาดแคลนเงินใช้จ่ายของรัฐบาลบรรเทาลงหรือหมดไปได้ ตลอดรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างจริงจังเรื่อยมา แต่ก็ยากที่จะประสบผลได้ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น การตัดสินพระทัยที่ถูกต้องในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ปรากฏว่าส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการเจรจา และนำไปสู่การตกลงแก้ไขให้ประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนอัตราภาษีได้โดยอิสระโดยไม่ต้องขึ้นกับความยินยอมของต่างประเทศ อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประชวรสวรรคตเสียก่อนที่จะมีการดำเนินการเพิ่มภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการคลัง ผลสำเร็จในการแก้ปัญหาจึงไปปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรากฏว่าในช่วงเวลา 4 ปีก่อนจะเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกนั้น รายได้แผ่นดินเพิ่มสูงกว่ารายจ่ายมากจนถึงกับสามารถกันเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ต่างประเทศได้ก่อนกำหนด * หมายเหตุ อ้างจากบทความโดย รองศาสตราจารย์อสัมภินพงศ์ ฉัตราคม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง |