โดย : โอฬาร สุขเกษม(4/2/2001)
นกกระทา : สัตว์ปีกมงคลที่คนไทยลืม

ผมย้ายบ้านจากกลางกรุงมาอยู่แถวๆริมคลองรังสิตเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ก็เพื่อให้ชีวิตในวันหยุดหายใจหายคอได้สะดวกกว่าเดิม และที่นี่จะมีตลาดนัดเป็นประจำทุกจันทร์ พุธ ศุกร์ เพราะย่านรังสิต หาตลาดยากกว่าหาเงินหลายเท่าตัว ตั้งแต่รังสิตคลองหนึ่งไปถึงคลองเจ็ด จะมีตลาดเล็กๆ หนึ่งแห่ง ห่างกันราว 14 - 15 กิโลฯ

วันหนึ่งที่ตลาดนัดริมคลองสี่ ผมเห็นไข่นกกระทาดิบกองขายเคียงข้างกับไข่ไก่ เลยแวะไปหยิบมาดู ก็เพราะไม่ได้เห็นไข่นกกระทาพร้อมเปลือกอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเห็นลอยอยู่ในถ้วยกระเพาะปลา ผมเป็นคนกินไข่ แต่เลี่ยงจะไม่กินไข่นก(ความจริงไก่กับนกก็เผ่าพันธุ์เดียวกัน) รวมไปจนถึงซากนกทอด หรือไม่ว่าจะต้มจะแกง ดูเหมือนนกจะเป็นเพื่อนสนิทในครอบครัวของผม มากกว่าจะเป็นอาหารให้รับประทาน

ผมพยายามนึกย้อนหลังไปถึงสมัยชั้นประถม แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เคยเห็นขายไข่นกกระทากันบ้างหรือเปล่า แต่สมัยมัธยมจำได้แม่นยำว่า บ้านเรากำลังเริ่มนิยมเลี้ยงนกกระทาเพื่อเอาไข่ไว้ขายไว้บริโภค และด้วยความที่ไม่ได้เห็นนกกระทามา 20 -30 ปี ทำให้นึกภาพไม่ออกว่า ภาพชัดๆของนกกระทาเป็นอย่างไร จำได้เลาๆว่า คล้ายไก่แต่หางด้วน ดัวก็ไม่โต อกตั้งเล็กน้อย สีพอจะจำได้ แต่จำลวดลายไม่ได้เลย

ผมมีเพื่อนรุ่นน้องที่โรงพิมพ์ อาชีพประจำคือทำข่าว อาชีพเสริมเปิดท้ายขายของ วันเสาร์อาทิตย์จะยึดพื้นที่ริมห้างสรรพสินค้าชานกรุง เปิดตลาดสินค้าพระเครื่องและนกเขา ฝีมือเลี้ยงนกเขา กับพระเครื่อง ระดับเซียนในตองอูเหมือนกัน น้องคนนี้ทำอาชีพเสริมมานาน จนกลายเป็นอาชีพประจำไปแล้ว วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมถามเขาว่า เดี๋ยวนี้มีคนเลี้ยงนกกระทาไหม ? เขาก็ตอบตามซื่อว่า ยังนิยมเลี้ยงกันอยู่ ไข่ยังขายได้ ผมบอกว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เขายังนิยมเลี้ยงนกกระทา แบบศรัทธา เป็นสัตว์มงคลประจำบ้านหรือเปล่า เพื่อนรุ่นน้องตอบแบบตั้งคำถามกลับว่า "เขาเลี้ยงอย่างพี่ว่าด้วยเหรอ ?"!!

ครับ ! คนไทยคงจะขึ้นเครื่องหมาย "EX"(Extinct/สูญพันธุ์) ให้กับการเลี้ยงนกกระทาเชิงสัตว์มงคลไปแล้ว ทั้งๆที่น่าจะช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ ในฐานะวัฒนธรรมประจำชาติอย่างหนึ่งของคนไทยโบราณ

นกเอกที่ชื่ออ้าง กันภัย
ขนเล็บปากเดือยใส ดั่งแก้ว
มีอักษรขอมไทย กันเสนียด
ฝูงคนต่อมาแล้ว ไม่แคล้วมีบุญ

บทร้อยกรองข้างบน "ถ.ศรีจินดา" นักเลงนกรุ่นโบราณ รวบรวมเอาไว้มาหลายสิบปีแล้ว (หนังสือตีพิมพ์เมื่อ ปี 2503) และนกที่กล่าวถึงก็คือ นกกระทานั่นเอง และเพื่อให้ทราบความนัยชัดเจน และให้ทราบทัศนคติของไทยเดิม อยากจะหยิบยกถ้อยคำบางที่ ถ.ศรีจินดา เขียนไว้ใน "คำนำ"ตำราดูนกเขาชวา นกกระทา ตำราแมว ดังนี้

......"การที่ข้าพเจ้ารวบรวม และจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นก็เพราะ ข้าพเจ้ามั่นใจเห็นว่า เป็นตำราที่ถูกต้อง และเป็นของโบราณที่เชื่อถือได้ว่าเป็นของจริง ซึ่งท่านนักปราชญ์ผู้ชำนาญแต่ก่อนได้พิจารณาไว้ว่า สรรพสัตว์ย่อมมีลักษณะดีแลชั่ว ....... เพื่อจะพบปะสัตว์ดังที่กล่าวไว้ในตำรานั้น ท่านจะได้พิจารณาลักษณะของสัตว์นั้น ว่าจะดีหรือชั่วได้แน่นอนแล้ว ท่านจะได้นำเอาสัตว์นั้นๆ มาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวท่าน และครอบครัวของท่าน เพื่อป้องกันสรรพภัยพิบัติได้ทุกประการ แล้วท่านจะได้มีความสุขความเจริญ สวัสดีตลอดการ"........

(คลิ๊กอ่านต่อ >