จิตทุกขณะเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ที่จะเข้าใจลักษณะซึ่งเป็นอนัตตาของจิตได้ยิ่งขึ้น
ก็โดยรู้ว่าจิตเป็นมนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุมและเป็นเหตุ
ถึงรูปจะมีก็จริง ถึงเสียงจะเกิดขึ้นก็จริง ถึงกลิ่นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นก็จริง
ถึงรสต่างๆ จะมีก็จริง
ถึงเย็นหรือร้อนอ่อนหรือแข็งต่างๆ
จะมีก็จริง แต่ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ถ้าไม่เป็นที่ประชุมของธรรมเหล่านั้น
สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ เสียงก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นก็ปรากฏไม่ได้
รสต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้ เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็ปรากฏไม่ได้
แต่เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้
จึงเป็นที่อาศัย เป็นที่ประชุม เป็นเหตุที่จะให้สภาพธรรมปรากฏ สีสันวัณณะข้างหลังไม่ปรากฏ
เพราะไม่ได้ประชุม คือ ไม่กระทบกับจักขุปสาท ไม่กระทบกับจิต จิตจึงไม่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหลัง
แม้ว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทเกิดขึ้นและดับไปๆ
สืบต่ออยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ตาบอด แต่จิตที่เห็นก็ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา
ฉะนั้นขณะใดที่สีสันวัณณะปรากฏ ขณะนั้นจิตเป็นมนายตนะ เป็นที่ประชุมของรูปที่กระทบกับจักขุปสาท
ขณะนั้นรูปที่กระทบจักขุปสาท ก็เป็นรูปายตนะ
จักขุปสาทที่กระทบรูปก็เป็นจักขายตนะ
สภาพธรรมใดที่ประชุมรวมกันในขณะนั้น เป็นอายตนะแต่ละอายตนะทั้งสิ้น
เสียงต้องกระทบกับโสตปสาทและกระทบกับจิต จิตจึงเกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏได้
ฉะนั้น จิตจึงเป็นมนายตนะ เป็นที่ประชุมของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ข้อความในอัฏฐสาลินีที่ว่า
แม้เพราะความหมายว่า (จิต) เป็นเหตุ คือ เพราะจิตเป็นเหตุแห่งผัสสะ
เป็นต้น
ผัสสะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งใน ๕๒ ประเภท ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์
ขณะที่รูปกระทบกับรูป เช่น
ต้นไม้ล้มกระทบพื้นดิน
การกระทบกันของต้นไม้และพื้นดินไม่ใช่ผัสสเจตสิก ขณะที่เสียงกระทบกับโสตปสาท
โสตปสาทเป็นรูป เสียงเป็นรูป ถ้าผัสสเจตสิกไม่เกิดขึ้นกระทบเสียงที่กระทบโสตปสาท
จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย
ผัสสเจตสิก
เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต
และเกิดที่เดียวกับจิต ฉะนั้นจิตจึงเป็นเหตุแห่งผัสสะ ในภูมิที่มีขันธ์
๕ จิตและเจตสิกต้องเกิดที่รูปใดรูปหนึ่งเสมอ
รูปใดเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก
รูปนั้นเป็นวัตถุรูป จักขุปสาทเป็นวัตถุรูป เพราะเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ
และเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยลำพังอย่างเดียวไม่ได้
แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น
สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน
สภาพธรรมนั้นเป็นสหชาตปัจจัย
สห
แปลว่า ร่วมกัน พร้อมกัน
ชาต
แปลว่า เกิด
ปัจจัย
คือ ธรรมซึ่งอุปการะอุดหนุนให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม
เพราะอาศัยธรรมอื่นเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากปัจจัย สภาพธรรมทั้งหลายก็เกิดไม่ได้
และสภาพธรรมซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยนั้น ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นพร้อมกับตน
แต่สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัย
โดยเกิดก่อนสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น
สภาพธรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยโดยเกิดภายหลังฉะนั้น
จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น และเจตสิกก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตที่เกิดพร้อมกับเจตสิกนั้น
เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใด จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้น
ก็รู้อารมณ์ที่ผัสสเจตสิกนั้นกระทบ
ไม่ใช่ว่าผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์หนึ่ง
แล้วจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกนั้นไปรู้อีกอารมณ์หนึ่ง ขณะใดที่ผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบเสียงใด
โสตวิญญาณจิตที่เกิดพร้อมกับผัสสเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น ก็มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์
ปรมัตถธรรมมี
๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างเป็นปัจจัยให้ ปรมัตถธรรมอื่นที่เป็นสังขตธรรมเกิดขึ้น
คือจิตเป็นปัจจัยให้เกิดเจตสิกและเป็นปัจจัยให้เกิดรูป (เว้นบางขณะ)
เจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดจิต
และเป็นปัจจัยให้เกิดรูป (เว้นบางขณะ) รูปเป็นปัจจัยให้เกิดรูป และเป็นปัจจัยให้เกิดจิตขณะที่รูปเป็นวัตถุ
คือเป็นที่เกิดของจิตและขณะที่รูปเป็นอารมณ์ของจิต ตามควรแก่สภาพของปรมัตถธรรมนั้นโดยปัจจัยต่าง
ๆ กัน เช่น สหชาตปัจจัย เป็นต้น
|