Proud to be Ex-Pys

Ex-Pys Article : 100 Questions you want to know more about SSEAYP (6)

100 คำถามที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ 
โดย กมลธรรม  วาสบุญมา (SSEAYP 1991)
อดีตอุปนายกสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย(ฝ่ายบริหาร)

-สงวนลิขสิทธิ์-

  Question 77         ประวัติความเป็นมาของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย
 
สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย (Association of the Ship for Southeast Asian Youth of Thailand) ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการเมื่อคณะเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่งจากรุ่นที่ 1 และ 2 (ค.ศ.1974-1975) ได้มารวมตัวกันด้วยประสบการณ์อันทรงคุณค่าในการเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ตลอดจนมิตรภาพและความเข้าใจอันดีในระหว่างเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละประเทศที่เหมือนกัน  เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานและข้อมูลข่าวสารในกลุ่มสมาชิกผู้ผ่านโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน และประชาสัมพันธ์แก่ผู้สนใจทั่วไปให้ทราบถึงคุณค่า และประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติอันจะพึงได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้
 
หลังจากเยาวชนผู้ผ่านโครงการรุ่นที่ 3 ได้กลับจากการเข้าร่วมโครงการในปี ค.ศ.1976 การรวมตัวก็เป็นไปในทางรูปธรรมมากขึ้น โดยสมาชิกได้รวมตัวกันและจัดประชุมเพื่อก่อตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการที่โรงแรมปริ๊นซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. มีการตั้งคณะกรรมการบริหารจากผู้แทนจากอดีตเยาวชนทั้ง 3 รุ่น รุ่นละ 3 คน รวมจำนวน 9 คน เพื่อดำเนินกระบวนการจัดตั้งสมาคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย จนสามารถจดทะเบียนเป็นสมาคมได้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2525 โดยใช้ชื่อเป็นทางการว่า “สมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย” (Association of the Ship for Southeast Asian Youth of Thailand) มีชื่อย่อมา “ส.ร.ย.ท.” (ASSEAY Thailand)

สมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนหน่วยงานของทางราชการ ที่รับผิดชอบโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์เป็นอย่างยิ่ง (แต่เดิมคือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือ สยช. ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ด้วยโอกาสและผู้สูงอายุ หรือ ส.ท.) ด้วยความคาดหวังที่จะส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจอันดี ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาเยาวชนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน และญี่ปุ่นต่อไป

ปัจจุบัน สมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ได้พัฒนาไปสู่ระบบสากล มีการติดต่อประสานงานในเครือข่ายสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์นานาชาติเพื่อกิจกรรมในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แต่ละปี ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆที่เป็นการพัฒนาเยาวชนและพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ทุกประเทศ  นอกจากนี้ยังได้ขยายออกไปสู่กิจกรรมเยาวชนระดับนานาชาติอื่นๆนอกเหนือจากภูมิภาคอาเซียนอีกเป็นอันมาก
 

 Question 78        สมาชิกของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย

ตามข้อบังคับของสมาคมฯ สมาชิกของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย มี 4 ประเภท คือ

  1. สมาชิกสามัญ (Ordinary member) ได้แก่ อดีตเยาวชนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์โดยครบถ้วนทุกคน  เมื่อกลับจากการเข้าร่วมโครงการจะได้รับสมาชิกภาพโดยอัตโนมัติ ปัจจุบันสมาคมฯมีสมาชิกประเภทสามัญอยู่ทั่วประเทศประมาณ 1,000 คนเศษ
  2. สมาชิกวิสามัญ (Extra-ordinary members) ได้แก่ YL หรือ Youth Leader ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่ National Leader ในโครงการแต่ละปี
  3. สมาชิกสมทบ (Joint members) ได้แก่เยาวชน หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจกิจกรรมของสมาคม และสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม
  4. สมาชิกกิติมศักดิ์ (Honorary members ) ได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิก

สมาชิกของสมาคมฯจะมีสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯ ซึ่งมีมากมายในแต่ละปี รวมไปถึงสิทธิในการเลือกตั้งนายกสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้น 2 ปีต่อครั้ง และสิทธิในการได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามวาระด้วย

นอกจากนี้ สมาชิกยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกจากสมาคมให้เป็นผู้แทนสมาคมฯ เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ หรือ Post-Program อีกหลายโครงการ เช่น The 21st Century Renaissance Youth Leader Invitation program , SSEAYP International General Assembly (SIGA) , OBSC (On Board the Ship Conference) ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆในต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก (ผู้สนใจสามารถตรวจดูได้จากเว็บไซต์ของสมาคม ที่ www.oocities.org/asseay_thai )

อย่างไรก็ดี สมาชิกก็มีหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมของสมาคม ทั้งในส่วนของการอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม เป็นคณะทำงาน ฯลฯ รวมไปถึงการชำระค่าสมาชิกในอัตราที่ย่อมเยาว์

สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย มีข้อบังคับสมาคมเช่นกัน ซึ่งเป็นการวางหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจกรรมสมาคม สมาชิกภาพ คณะกรรมการบริหาร และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สมาชิกและผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สมาคมโดยตรง
 

 Question 79        การบริหารกิจการของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย

สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยบริหารกิจการของสมาคมในรูปแบบคณะกรรมการ โดยการที่สมาชิกจะเลือกตั้งนายกสมาคมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีบนเรือนิปปอนมารู (Reunion on board the ship) แล้วนายกสมาคมจะไปแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมจากสมาชิกของสมาคม นายกสมาคมจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ส่วนคณะกรรมการจะมีวาระตามวาระของนายกสมาคมที่แต่งตั้งตนเองเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคม

ตำแหน่งคณะกรรมการบริหารสมาคม จึงประกอบด้วย

  1. นายกสมาคม (President)
  2. อุปนายกสมาคม ฝ่ายบริหาร (Vice president in Administrative affairs)
  3. อุปนายกสมาคม ฝ่ายวิชาการ (Vice president in Technical affairs)
  4. อุปนายกสมาคม ฝ่ายกิจกรรม (Vice president in Activity affairs)
  5. อุปนายกสมาคม ฝ่ายกิจการต่างประเทศ (Vice president in Foreign affairs)
  6. อุปนายกสมาคม ฝ่ายกิจการพิเศษ (Vice president in Special affairs)
  7. เลขาธิการ (Secretary General)
  8. รองเลขาธิการ 2 คน (Deputy Secretary Generals)
  9. นายทะเบียน (Registrar)
  10. เหรัญญิก (Treasurer)
  11. ประชาสัมพันธ์ (Public relation)
  12. เลขานุการสมาคม (Secretary)
  13. คณะกรรมการบริหารอื่นๆ อีกประมาณ 10 คน

การแต่งตั้งคณะกรรมการตำแหน่งต่างๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
 

 Question 80       กิจกรรมที่สำคัญและน่าสนใจของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย

กิจกรรมที่สำคัญของสมาคมฯ ได้แก่

  1. โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แต่ละปี   สมาคมฯจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ และคณะอนุกรรมการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุกรรมการคัดเลือก อนุกรรมการครอบครัวเจ้าภาพ อนุกรรมการต้อนรับ อนุกรรมการฝึกอบรม รวมไปถึงการเป็นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ ฯลฯ ซึ่งสมาคมฯจะมีส่วนร่วมในทุกช่วงกิจกรรม ตั้งแต่เรือนิปปอนมารูเข้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ จนกระทั่งเดินทางออกจากประเทศไทย ด้วยการประสานงานอย่างดียิ่งกับสำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน คนพิการ คนด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ หรือ ส.ท. (เดิมคือ สยช.)
  2. Reunion on board the ship สมาคมฯจะรับผิดชอบในการจัดงานคืนสู่เหย้าชาวเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ บนเรือนิปปอนมารู เป็นประจำทุกปี  ในคืนซึ่งเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการไปร่วมกิจกรรม Homestay โดยในงาน Reunion นี้ จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  ซึ่งคณะกรรมการบริหารจะรายงานให้สมาชิกทราบถึงผลการดำเนินกิจกรรมในรอบปีที่ผ่านมา นโยบายและแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ในทุกรอบ 2 ปีก็จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่อีกด้วย หลังจากการประชุมใหญ่สามัญ ก็จะเป็นกิจกรรมพัฒนาสัมพันธ์และงานเลี้ยงที่อดีตเยาวชนทุกรุ่นจะได้พบปะสังสรรค์และทำความรู้จักกันในบรรยากาศแห่งมิตรภาพอันอบอุ่น
  3. โครงการเรือเยาวชนสร้างสรรค์ไทย (The Junior Thai Youth Ship-JTYS)  เป็นโครงการพัฒนาเยาวชนไทยโครงการหนึ่งที่สมาคมฯมีความภาคภูมิใจ JTYS จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1994 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเยาวชนไทยให้พร้อมต่อการก้าวไปสู่กิจกรรมระดับนานาชาติ  จนถึงบัดนี้ (พ.ศ.2546) ได้จัดมาแล้วจำนวน 5 รุ่น มีเยาวชนไทยอายุ 15-18 ปีจากทั่วประเทศ ผ่านการเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,000 คน โดยในรุ่นหลังๆ สมาคมฯได้ร่วมกับ สยช.ดำเนินโครงการดังกล่าว รูปแบบของกิจกรรมในโครงการ JTYS จะเป็นการจำลองกิจกรรมในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์เพื่อให้เยาวชนไทย ได้มีความคุ้นเคยและพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมต่อโครงการระดับนานาชาติ เยาวชนที่ผ่านโครงการจะได้รับสมาชิกภาพใน The Junior Thai Youth Ship Club ซึ่งส่วนใหญ่จะกลับมาเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย และมีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าที่จะสืบสานกิจกรรม JTYS ต่อไปให้ยาวนาน เยาวชนหลายรายประสบความสำเร็จในการสอบคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ในปีต่อๆมา
  4. The 21st Century Renaissance Youth Leaders Invitation Program เป็นโครงการที่จัดโดยรัฐบาลญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2001 โดยเชิญผู้แทนจากอดีตผู้เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ (SSEAYP) และโครงการเรือเยาวชนโลก (The Ship for World Youth) ประเทศละ 4 คน รวมประมาณปีละ 40 คน เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมโครงการประเทศละ 4 คน จะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ Leadership , Economy , Mass communication ( ในปี 2001 กลุ่มนี้ชื่อว่า Information Technology) และ Development and Environment รูปแบบกิจกรรมจะเป็นการประชุมสัมมนา ทัศนศึกษา ดูงาน และ Homestay ในส่วนภูมิภาคของญี่ปุ่น โครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการแลกเปลี่ยนโครงการแรกที่สามารถนำผู้ผ่านโครงการ SSEAYP และ SWY มาพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนคติ วิสัยทัศน์ ตลอดจนทำกิจกรรมร่วมกัน
  5. SSEAYP International General Assembly (SIGA) คือการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขอโครงการเรือเยาวชนนานาชาติ โดยแต่ละสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ของแต่ละประเทศจะส่งสมาชิกเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ดังกล่าวซึ่งจัดเป็นประจำทุกป ี และเวียนสถานที่ไปในแต่ละประเทศสมาชิก รูปแบบของ SIGA จะเป็นการประชุมใหญ่สามัญ Discussion ในหัวข้อเกี่ยวกับ Network ของชาวเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์รูปแบบต่างๆ การศึกษาดูงาน ทัศนศึกษา ร่วมกัน และที่สำคัญที่สุดคือการได้พบปะเพื่อนเก่าจากชาติต่างๆอีกครั้ง เพื่อระลึกถึงความทรงจำที่ทรงคุณค่าในอดีตของการเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ สำหรับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัด SIGA ครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ.2001 มีการประชุมใหญ่ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า กทม.และล่องเรืออันดามัน ปริ๊นเซส สู่เกาะเสม็ด จ.ระยองเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน
  6. The Ship for World Youth Program in Thailand แม้ว่าตามปกติเส้นทางเดินเรือของโครงการ SWY จะไม่ผ่านประเทศไทย แต่เมื่อปี ค.ศ.2001 SWY ได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนและทำกิจกรรมในประเทศไทย ทำให้สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ได้มีบทบาทสำคัญในการต้อนรับคณะเยาวชนจาก SWY ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2544
  7. Evening Forum เป็นอีกกิจกรรมที่สมาคมฯภาคภูมิใจ รูปแบบกิจกรรมคือการเชิญอดีตผู้เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ที่มีความรู้ และประสบการณ์ในเรื่องที่น่าสนใจมาสนทนาและบรรยายในประเด็นที่น่าสนใจนั้นให้สมาชิกของสมาคมฯฟังระหว่างการรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นมาแล้ว 3-4 ครั้ง ซึงเป็นที่สนใจของเหล่าสมาชิกเป็นอย่างยิ่ง
  8. For Hopeful Children project หรือโครงการแด่น้องผู้มีความหวัง สมาคมฯได้ร่วมกับกองทุนเพื่อเพื่อน(Fund for Friends) จัดกิจกรรมในโครงการแด่น้องผู้มีความหวังขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเยาวชนผู้ด้อยโอกาส กำพร้า และเด็กพิการ จากทั่วประเทศ ให้มาเข้าค่าย ทำกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกัน ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาแล้ว 10 กว่าครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนสถานที่จาก พัน ร.7 ค่ายมหาสุรสิงหนาท กองทัพเรือ จ.ระยอง และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ อาหาร สิ่งของ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากทั่วประเทศ โดยทีมงานในโครงการส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครจากสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์และ The Junior Thai Youth Ship Club ผู้สนใจกิจกรรมสามารถแวะชมได้ที่เว็บไซต์ของสมาคม www.oocities.org/asseay_thai และเว็บไซต์ของกองทุนเพื่อเพื่อน (Fund for Friends) ที่ www.oocities.org/fff_thai
  9. การต้อนรับเพื่อนจากต่างแดน หลังจากโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ได้ดำเนินผ่านมา 30 ปี ทำให้เหล่าสมาชิกสมาคมมีเพื่อนต่างชาติมากมาย ซึ่งมักแวะมาเยือนประเทศไทยอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมของเจ้าบ้านที่ดี ที่สมาคมฯจะให้การต้อนรับเพื่อนต่างแดนเหล่านั้นอย่สงอบอุ่นมาโดยตลอด ซึ่งบางครั้งก็จะเป็นแขกพิเศษ เช่น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2544 สมาคมฯได้ให้การต้อนรับเจ้าชายและเจ้าหญิงอากิชิโน ซึ่งเสด็จมาเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ นอกจากนี้ สมาคมและสมาชิกของสมาคมยังได้ต้อนรับเพื่อนเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์จากต่างชาติอีกเป็นอันมากในแต่ละปี โดยไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าเป็นรุ่นใด ค.ศ.ใด แต่ทุกคนต่างเป็นเพื่อน “ชาวเรือ” เสมอกัน และเป็นแขกพิเศษของสมาคมเสมอ
  10. นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมสำคัญๆในแต่ละปีอีกมากมาย ซึ่งผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของสมาคม
     
 Question 81        การติดต่อประสานงานระหว่างสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย กับสมาคมของประเทศอื่นๆ

สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แต่ละชาติ มีการติดต่อประสานงานเป็นเครือข่ายอยู่ตลอดเวลา ทั้งในส่วนของประเทศที่มีสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ของตนเองแล้ว เช่น มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น หรือประเทศที่ยังไม่มีสมาคมของตนเอง เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม (เนื่องจากบางประเทศยังติดขัดที่กฎหมายภายในในการก่อตั้งสมาคม หรือบางประเทศยังกำหนดให้กิจกรรมเยาวชนอยู่ในสังกัดของหน่วยงานราชการ) แต่สมาคมฯของไทยก็ได้มีกี่ติดต่ออย่างใกล้ชิดเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอยู่ตลอดเวลา
 

 Question 82        เว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย

สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศ มีเว็บไซต์ของตนเองเพื่อรายงานข่าวสาร และเป็นศูนย์กลางการประสานงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตระหว่างสมาคมและสมาคมชาติอื่นๆ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปโดยตั้งอยู่ที่ www.oocities.org/asseay_thai โดยมีทีมงานเว็บมาสเตอร์อาสาสมัครที่อุทิศทุ่มเทให้กับการรายงานข่าวสารที่ทันสมัย  มีการปรับปรุงแทบทุกวัน จนเว็บไซต์ของสมาคมฯได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัล SSEAYP International Award ประจำปี ค.ศ.2002
 

 Question 83     ที่ทำการสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย

จากหลักฐานการจดทะเบียน สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) แต่ในการปฏิบัติงานจริง ที่ทำการในทางปฏิบัติจะเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมและตามการพิจารณาของเลขาธิการสมาคม ซึ่งในปัจจุบันที่ทำการของสมาคมตั้งอยู่ที่ ชั้น M อาคารเกียรติธานี ซิตี้แมนชั่น ถ.สุขุมวิท 31 เขตวัฒนา กทม. 10110 หมายเลขโทรศัพท์/แฟกซ์ 02-260-4769, 02-258-4468 ต่อ 769 แฟกซ์ 02-258-4458 ต่อสมาคมเรือฯ หรือสามารถติดต่อทาง E-mail ได้ที่ asseay_thai@yahoo.com มีเลขาธิการสมาคมคนปัจจุบัน คือ คุณกัมปนาท บริบูรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการดำเนินงานของสมาคมฯ


 กลับไปบทความหน้าแรก

-สงวนลิขสิทธิ์-