fernSiam.com : หน้าแรก > Trip > 004 - ห้วยซองกาเรีย > สำรวจเฟินป่า || Go Back

Trip-004 : ห้วยซองกาเรีย ตอนสำรวจเฟินป่าในธรรมชาติ

จากหน้าที่แล้ว ในช่วงที่นักท่องเที่ยวลงแพล่องแก่งกันไปแล้ว วินัยและพวกเราจะมีเวลาว่างราว 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องออกรถไปรอรับนักท่องเที่ยวที่ปลายน้ำอีกครั้ง ในช่วงนี้พวกเราจึงเริ่มออกเดินไปตามริมลำห้วย เพื่อสำรวจเฟินป่า ลำห้วยตอนที่เดินสำรวจกันนั้น ฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ไร่ของชาวบ้าน บางส่วนปลูกข้าวโพด บางส่นเป็นสวนยางพารา ต้นยางพวกนี้ คาดว่าปลูกได้ไม่กี่ปี ลำต้นยังสูงใหญ่เท่าใดนัก ส่วนอีกฝั่งตรงข้าม เป็นพื้นที่เขตป่าสงวนทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งผมเคยใฝ่ฝันมานานที่อยากจะเข้าไปสำรวจสักครั้ง แต่โอกาสครั้งนี้ไม่อำนวย เพราะเราไม่ได้เตรียมอุบปกรณ์อะไรเลยสำหรับการเดินป่า จึงได้แต่เดินเลาะริมเขตทุ่งใหญ่ไปตามลำห้วยเท่านั้น เฟินในพื้นที่ลำห้วยซองกาเรียที่เราพบ มีเยอะมาก ทั้งเฟินดิน และเฟินเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ แต่คราวนี้เราพยายามเก็บภาพเฉพาะเฟินที่ยังไม่เคยมีรูปถ่ายมาก่อน กบเฟินแปลกที่ยังไม่เคยพบเห็น


ภาพที่ 1. กูดน้ำ หัสดำ Diplazium esculentum (Retz.) Sw


ภาพที่ 3 ใบของกูดน้ำ หรือหัสดำ ชนิดนี้ ถ้าต้นใหญ่จะเป็นใบประกอบขนนก 3 ชั้น

บริเวณลำห้วยนี้ เฟินที่พบมากที่สุด คือ กูดน้ำ หรือหัสดำ Diplazium esculentum (Retz.) Sw. มีลักษณะลำต้นเหง้าเป็นแท่งตั้งตรง ที่พบสูงที่สุดประมาณ 1 ม. มีรากสีดำคลุมเหง้าเต็มไปหมด หากดูในภาพที่ 1. ที่กลางภาพ จะเห็นเหง้าของเฟินชนิดนี้เป็นลำต้นตั้งตรง ใบมีก้านยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น ขึ้นอยู่กับขนาดต้น คือ ต้นที่ยังเล็ก เหง้าไม่สูงมาก ใบเป็นใบประกอบขนนกชั้นเดียว แต่ต้นที่สูงหน่อย ก็จะเป็นใบประกอบขนนก 3 ชั้น แต่หาต้นที่มีสปอร์ไม่เจอเลย

ภาพที่ 2. ลักษณะต้นและใบ

เฟินชนิดนี้ พบทั่วไปในภาคทุกภาคของไทย บริเวณที่เป็นที่ลุ่มชื้นแฉะ มีคนบอกว่า ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้

ภาพที่ 3. เฟินลิเภา Lygodium sp. ที่พบที่นี่ มีใบขนาดใหญ่มาก

ในบริเวณริมลำห้วย เรายังได้พบเฟินอีกหลายชนิด เช่น ย่านลิเภา (Lygodium sp.) กีบแรด (Angio evectum) ริบบิ้น เชือกผูกรองเท้า (Vittaria sp.) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ปกคลุมไปทั่วริมห้วย นอกจากนี้ บนต้นไม้ใหญ่ เราพบว่า มีกล้วยไม้อีกจำนวนมหาศาลที่ขึ้นเกาะอยู่เต็มไปหมด ไม้ใหญ่บางต้นปกคลุมทั้งต้นไปด้วยมอสและฟิล์มมี่เฟินข้างบน เสียดายที่ไม่ได้ปีนขึ้นไปถ่ายรูปมาฝากกัน

พวกเราเดินท่องน้ำในลำห้วยบ้าง เดินย่ำโคลนบ้าง เป็นช่วงๆ จนกระทั่งท้องเริ่มร้อง อาหารกลางวันเป็น ข้าวกล่องที่เตรียมมา แต่ปรากฏว่า ลืมเอาช้อนมาด้วย แต่ไม่เป็นปัญหา ล้างมือในลำห้วยพอสะอาด แล้วก็เปิบมือนี่แหละ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ข้าวที่เตรียมมา คนขายทำได้อร่อย หรือว่าเป็นเพราะใช้มือเปิป หรือไม่ก็เป็นเพราะหิวมาก แต่ที่แน่ๆ อาหารกลางวันนี้ รสชาดอร่อยมาก

ก่อนหน้า วินัย ไกด์จำเป็น ไม่เข้าใจว่า พวกเราสนใจต้นไม้ประเภทไหนกันแน่ เขาจึงพยายามชี้ให้เราดูแต่กล้วยไม้ป่า กับต้นไม้ประเภทอื่นๆ โดยที่เขายังไม่รู้ว่า ต้นไม้ชนิดไหนเป็นเฟิน แต่สักพัก เขาเริ่มรู้แล้วว่า เราสนใจเฟินมากกว่าชนิดอื่นๆ ตอนนี้วินัยเริ่มรู้แล้วและเริ่มเข้าใจแล้ว ต้นไม้ประเภทไหนที่เป็นเฟิน ทำให้เขานึกขึ้นได้ว่า หากต้องการจะดูเฟินเยอะๆ เขาจะพาไปที่ป่าข้างสวนยางที่เขาเคยขับรถผ่านไป มีต้นไม้ประเภทนี้ขึ้นเยอะมาก ทันที เราไม่รอช้า รีบเดินกลับไปที่รถและให้เขาพาไปดูบริเวณนั้น


ภาพที่ 4. หัสแดง Blechnum indicum Burm. f.


ภาพที่ 5. ก้านใบออกมาจากยอดเหง้า ในภาพเหง้าสูงจากพื้นดินเพียงเล็กน้อย เข้าใจว่าอายุยังไม่หลายปีนัก

และเมื่อวิ่งรถมาถึงบริเวณที่วินัยบอกไว้ ไม่ทำให้พวกเราผิดหวังจริงๆ เพราะบริเวณริมทางข้างสวนยางของชาวบ้านแถวนี้ มีเฟินป่าขึ้นเยอะมาก และที่ทำให้เราตื่นเต้นมากที่สุด เห็นจะเป็นเฟิน หัสแดง Blechnum indicum Burm. f. ซึ่งเยอะมาก แต่เข้าใจว่า คงอายุยังไม่มากนัก อาจจะเป็นเฟินรุ่นใหม่ที่เพิ่งมาขึ้นไม่กี่ปี หลังจากที่ชาวบ้านเริ่มถางทำทางเข้ามา

ลักษณะของหัสแดง มีลำต้นเป็นแท่งเหง้าตั้งตรง ไม่สูงมากนัก มีรากอยู่ข้างเหง้า เป็นสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมเหง้า ใบมีก้านยาวออกมาจากยอดเหง้า ตัวใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ออกมีสีแดงน้ำตาล ที่ก้านใบมีใบเล้กๆ ตลอดความยาวใบ เหง้าที่สูงที่สุดที่เราสูงเพียงคืบเดียว แต่เพินชนิดนี้ผมเคยเห็นเหง้าสูงราวๆ ศอกเห็นจะได้ ไม่ทราบว่ามีใครเคยเห็นสูงกว่านี้หรือเปล่า ช่วยบอกกันด้วยนะครับ


ภาพที่ 6. หัสแดง ต้นเล็กๆ ขึ้นเยอะมาก บริเวณเนินดินข้างทาง

บริเวณที่พบหัสแดงชนิดนี้ เป็นบริเวณที่พื้นดินร่วนซุย ห่างจากลำห้วยตั้งมาก แต่ดินยังคงเก็บความชื้นไว้ได้ดี ทั้งที่ผนไม่ตกมา 2 เดือนแล้ว อีกทั้งแดดสามารถส่องลงมาได้เต็มที่ในบางช่วงของวัน และพบว่าบางต้นอยู่กลางทุ่งโล่งแจ้ง ได้รับแสงแดดเต็มที่ทั้งวันด้วย

ภาพที่ 7. สามร้อยยอด (Lycopodiel ceranum) ขึ้นปะปนอยู่กับกอหญ้าทั่วไป พบที่เนินดินเป็นทุ่งโล่ง ข้างสวนยางพาราของชาวบ้าน บริเวณนี้ได้รับแสงแดดเต็มที่ แต่มีความชุ่มชื้นในดินสูง

ภาพที่ 8. เฟินชนิดนี้ พบอยู่ที่ปากถ้ำตื้นๆ ข้างหน้าผาหิน
ใบเป็นใบประกอบขนนก มีขนอ่อน จับดูนุ่มมือ

เฟินที่พบบริเวณมีมากมายหลายชนิด บางชนิดผมยังไม่รู้จักชื่อ บางชนิดก็เก็บเอากลับมาด้วย ก็ไม่ได้อยู่ในเขตป่าอุทยาน ก็เลยกล้าขุดเอามาด้วย ถึงตอนนี้ก็ราว เดือนกว่าแล้ว ก็ยังแตกใบอ่อนใหม่ เอาไว้ให้น้องๆ ทีมงาานที่มีกล้องว่างเมื่อไร จะรีบเอาไปให้เก็บภาพ จะได้เอามาให้ดูกันคราวต่อไปนะครับ

เป็นอันว่า จบ Trip ห้วยซองกาเรีย แต่เพียงเท่านี้นะครับ

fernSiam.com : หน้าแรก > Trip > 004 - ห้วยซองกาเรีย > สำรวจเฟินป่า || Go Back