[ HOME ]
[ สารบัญ ]
อิลา...ชายาพระพุธ มัธยมบท
กล่าวถึงนางอิลาผู้เป็นเชษฐภคินี
ให้เป็นห่วงอนุชาที่จากไปนานผิดปกติยิ่งนัก
ทั้งกระวนกระวายใจ
เพราะมิได้รับข่าวสารจากอิลราชแม้แต่นิดเดียว
เมื่อนานวันเข้า
นางอิลาจึงตัดสินใจเข้าป่าเพื่อตามอิลราชด้วยตัวเอง
แม้ใครๆจะทัดทาน นางก็หาฟังไม่
สุดท้ายพระเจ้ากรรทมพรหมบุตรก็อ่อนใจจึงประชดนางว่า
"หากเจ้าอยากไป ก็ไปเถิด แต่อย่าได้นำบริวาร ข้าใต้พระบาทพ่อไปแม้แต่คนเดียว!!!"
นางอิลาใจคอเด็กเดี่ยว ในใจมีเพียงเรื่องตามหาน้องชายจึงรับคำ
"หม่อมฉันจักไปตามหาอิลราช
และจะไม่นำบริวารตามไปแม้แต่คนเดียว"
นางอิลาทูลบิดา แม้มารดาอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่ฟัง
สุดท้ายนางอิลาออกเดินทางไปเพียงลำพังตามเส้นทางที่อิลราชเดินทางไป
นางจ้างพรานป่านอกนครเป็นผู้นำทาง
พรานป่าพานางแกะรอยไปหาอนุชา
จนกระทั้งเข้าสู่ป่าลึกไปเรื่อยๆ
ใกล้เข้าสู่อาณาบริเวณของพระพุธ ที่อยู่ในส่วนของป่าลึก
ฝ่ายพรานป่าทราบว่า
ป่าในช่วงนี้ สัตว์ป่าดุร้ายชุกชุม
ไข้ป่าก็มาก
จึงไม่ยินยอมพาดรุณีอิลาเข้าไป
เมื่อนางอิลาดึงดันจะเข้าไป
เพราะเห็นว่าเป็นทางเดียวของอนุชา
พรานป่าระอาจึงกล่าวตัดพ้อ
"สิงสาราสัตว์มากมี ทรงเข้าไป อาจมิได้ออกมา"
"เราไม่หวั่น"
อิลาตอบอย่างหนักแน่น
"แม้น้องเราตายในเถื่อน เขาย่อมเป็นผีเฝ้าป่า"
"อย่างน้อยที่เราจะทำให้น้อง ก็นำศพเขากลับไปทำพิธีให้สู่สุขคติก็ยังดี"
"ถ้าอย่างนั้น องค์ก็เข้าเองเถิด กระหม่อมยังมีลูกเมียต้องเลี้ยงดู"
พรานกล่าวขอถอนตัว
นางอิลาก็มิว่าสิ่งใด ทรงให้พรานป่ากลับไป
ส่วนตัวนางก็ตรงเข้าไพร ตามยถากรรมตน
ด้วยนางมิเคยเข้าป่า
ทั้งอาหารก็หาเคยหากินเองไม่
ทั้งลำบากกาย ทำให้นางแสนทรมาน
แต่ก็ไม่เคยคิดจะถอยกลับ
เหล่าเทพารักษ์ และนางไม้
เห็นใจในความเพียรพยายาม
ทั้งชอบใจในความงามของนางอิลา
จึงคิดให้นางได้พบกับพระพุธผู้อ่อนโยน
จึงพากันช่วยเหลือนาง
ยามอิลาจะเด็ดผลไม้ กิ่งก็โน้มลงมาให้
จะดื่มน้ำที่ใด น้ำก็จะใสขึ้นทันตา
ยามเจ้าหญิงจะทรงบรรทม กิ่งไม้ก็โน้มบังตัวนาง ไม่ให้เป็นเหยื่อของสัตว์ร้าย
ยามอิลาเดินทาง นั่งลงพักทีใด แมกไม้พึงโน้มลงบังแสงสุรีให้
เป็นเช่นนี้หลายวันคืนผ่านไป จนนางอิลามาถึงอาศรมของพระพุธ
ดรุณีผู้รักอนุชาปานดวงใจ หวังถามทางจากเจ้าของอาศรม
นางร้องเรียกเจ้าของอาศรมด้วยถ้อยคำสุภาพ
ไม่ถือวิสาสะนั่งบนชานเรือนหากเจ้าของไม่อนุญาต
หญิงสูงศักดิ์นั่งบนพื้นกรวดแข็ง
รอจนเจ้าของอาศรมออกมา
.
พระพุธที่กำลังนั่งบำเพ็ญญาณอยู่นั้นได้ยินเสียงเรียก
ทรงเสด็จเดินออกมาหน้าอาศรม
.
เพียงทั้งสองสบตากัน
ความผูกพันธ์อุปมาเหมือนเส้นใยบางๆก็บังเกิดขึ้น
ใจในอกทั้งสองเต้นระรัวอย่างมิเคยเป็นมาก่อน
พระพุธผู้เคยเห็นนางไม้ที่ว่างามในป่ามามาก
แต่ยังไม่เคยเห็นหญิงใดงามด้วยจริตอ่อนหวานเช่นนี้มาก่อน
ฝ่ายนางอิลาเคยเห็นบุรุษมามาก
แต่ยังมิเคยเห็นบุรุษใดสง่าด้วยความเมตตา และอ่อนโยนเช่นนี้มาก่อนเช่นกัน
สาวแรกแย้มประหม่าเพียงครู่ ก่อนจะจรดปลายนิ้วเรียวดังลำเทียนก้มลงกราบบรรพชิตหนุ่ม
"ท่านผู้ทรงศีล" อิลากล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนเพลียหากแต่กังวานดังระฆังแก้ว
"ผู้น้อย นามว่าอิลา เป็นเจ้าหญิงแห่งพลหิรกา เดินทางรอนแรมมาไกล เพื่อตามหาน้องชาย
"เขานามว่า อิลราช เป็นรัชทายาทแห่งพลหิรกา
น้องชายของผู้น้อยผู้นี้ได้เดินทางออกล่าสัตว์ใหญ่ตามธรรมเนียมของนครเรา
แต่อนิจจา
เขาได้หายตัวไป โดยไม่ได้ส่งข่าวคราวใดๆมาเลย
เป็นตายร้ายดีเช่นใดไม่รู้
ผู้น้อยจึงขอรบกวนผู้ทรงศีล
ว่าท่านได้พบบุรุษหนุ่ม ทรงอาภรณ์ดี พร้อมหมู่บริวารติดตามบ้างหรือไม่?"
สิ้นคำสตรีอิลาแล้ว
พระพุธได้แต่ก้มพระพักตร์สีมรกตนิ่ง ก่อนตรัสตอบกลับ
"เราจักเก็บร่างคนผู้หนึ่งได้
ในป่า
จงขึ้นมาบนอาศรมเถิด นางอิลา
มาดูว่าร่างนี้ใช่น้องชายของเจ้าหรือไม่?"
ว่ากระนั้นนางอิลา ด้วยความเป็นห่วงน้องชาย
นางก้าวขึ้นอาศรมและเสด็จตามคนเพศฤาษีไป
พระพุธได้เปิดให้ดูร่างของอิลราชให้นางผู้เป็นพี่สาวเห็น
เพียงอิลาเห็นร่างอนุชา
ก็รู้ว่าน้องอันเป็นที่รักได้จากนางไปเสียแล้ว
นางตรงเข้าโอบกอดร่างน้องชาย
ร่ำไห้ กันแสง เพียงจะขาดใจ
รำพันถึงกาลเก่าที่เคยเล่าหัว หยอกล้อกันมา
จนสลบ สิ้นสติไป
ร้อนถึงพระพุธ
ตรงเข้าช่วยเหลือนารีที่หมดสติไป
องค์พระพุธเสกเป่ามนต์ให้นางฟื้นคืน
เมื่อดรุณีอิลาได้สติ
นางก็อ้อนวอนให้พระพุธช่วยชุบชีวิตอนุชาแห่งนาง
ด้วยเมตตาแห่งพระพุธ
พระองค์ทรงยอมช่วยเหลือโดยดี
โดยบอกแก่นางอิลาว่า
การที่จะให้อิลราชกลับมาชีวิตถาวรนั้น
ต้องให้อนุชาบำเพ็ญบุญ
แต่หากต้องการให้มีชีวิตชั่วคราวนั้น
นางต้องยอมสละอายุขัยให้
อิลราชฟื้นคืน
โดยมีเงื่อนไขว่า
นางจะมีชีวิต 1 เดือน
และอิลราชจะมีชีวิตอีก 1 เดือนพลัดกันไป
เมื่อยามอิลราชมีชีวิต นางจะเหมือนตาย
แต่หากเมื่อนางมีชีวิต อนุชาแห่งนางจะเหมือนสิ้นลมหายใจ
โดยพระพุธจะทำพิธีสานกายเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทั้งคู่จะไม่รู้ความนึกคิดของทั้งคู่
นางอิลาตกลงในเงื่อนไข
และขอร้องให้นางได้เขียนสารบอกเล่าน้องชายเสียก่อน
พระพุธยินยอม
เมื่อนางเขียนสารเสร็จ
พระพุธได้ทำพิธีให้แก่ทั้งสอง
สานกายของอิลาและอิลราชเป็นหนึ่งเดียวกัน
เพื่อให้อิลราชมีสติบำเพ็ญพรตให้ตนเองมีชีวิตอยู่
ยามเมื่ออิลราชฟื้นคืน
พระพุธก็บอกกล่าวคำของนางอิลา และให้อิลราชอ่านสารแห่งนาง
เรื่องที่นางยอมสละอายุขัย ให้ได้มีสติ
ให้อิลราชบำเพ็ญพรต เพื่อมีชีวิตอยู่ถาวร
พระอิลราชทราบดังนั้น ให้ซาบซึ้งในน้ำใจของเชษฐภคินียิ่งนัก
ตั้งใจบำเพ็ญพรตตามความตั้งใจที่นางอิลามีให้แก่ตน
ครั้นครบ 1 เดือน
อิลราชก็กลายเป็นอิลา
ยามเป็นนางอิลา นางได้ หุงหาอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู ปรนนิบัติพัดวีให้แก่พระพุธที่กรุณาอนุชานาง
งานใดที่นางมิเคยทำมาแต่กาลก่อน
นางฝึกฝนหัดทำเสียจนเป็นทั้งสิ้น
เป็นเช่นนี้เดือนแล้วเดือนเล่า
.
ยามที่เป็นอิลราชก็ตั้งใจบำเพ็ญธรรม
เมื่อเป็นอิลาก็ปรนนิบัติผู้ทรงศีล
พระพุธนั้น
ในใจชมชอบนางอิลาเป็นยิ่งนัก
ที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวทำเพื่ออนุชา
ฝ่ายนางอิลา ก็ชื่นชมพระพุธ
ที่สง่างามและยังอ่อนโยน มีเมตตากรุณา อยู่เป็นนิจ
ต่างฝ่ายต่างชมชอบกันอย่างไม่รู้ตัว
สุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นความรัก
ยามตักน้ำผ่าฟืน พระพุธไม่เคยให้นางทำ
เห็นว่าเป็นงานต่ำไม่ควรแก่นางผู้สูงศักดิ์
งานใดเสี่ยงภัยนัก พระองค์จักหลีกให้ไกลเนตรนาง
พระพุธรักถนอมอิลาดังแก้ววิเศษ
อารีเกื้อกูลทุกที่ไป
ความรู้สึกในใจถูกเผยออกมาด้วยการกระทำ
ไม่นานทั้งสองก็มีจิตผูกพันธ์กันลึกซึ้ง
เรื่องนี้มิได้ระคายถึงอิลราชเลย
ยังคงมุ่งมั่นบำเพ็ญพรตต่อไป
กาลเวลาต่อมาไม่นาน
สององค์ก็ลอบสารภาพความในใจให้ทราบแก่กัน
และได้เสียเป็นสามีภรรยา
พระพุธเกรงอิลาจะอับอาย
จึงเก็บเป็นการลับมิให้อิลราชรู้
ต่อมาอิลาตั้งครรภ์
ครั้นจวนเจียนใกล้คลอด
ก็คลอดบุตรเป็นชาย
นามว่า ปุรูรพ
ยามอิลากลายเป็นอิลราช
พระพุธจำต้องซ่อนเด็กเอาไว้ไม่ให้อิลราชจับผิดได้
วันคืนผ่านไปจนได้หลายปี
ปุรูรพเด็กน้อยเริ่มรู้ภาษา
พระพุธจึงจำต้องส่งโอรสไปอยู่กับเทพารักษ์ทุก 1 เดือน
ยามอิลากลายเป็นอิลราช
โดยอ้างว่า
ให้ศึกษาวิชาหลากแขนง
แท้จริงเพื่อหลบอิลราช
..
อยู่มาวันหนึ่ง เกิดเหตุมิคาดฝัน
วันนั้นพระพุธออกธุดงค์ในพนาสัณฑ์
อิลราชบำเพ็ญพรตเฝ้าอาศรมแต่เพียงผู้เดียว
เวลานั้นปุรูรพเด็กน้อย
กลับสู่อาศรมกะทันหัน
ด้วยสำเร็จวิชาใหม่
ร้อนใจอยากอวดมารดา
ครั้นกลับถึงอาศรมเห็นบุรุษแปลกหน้า ก็แปลกใจ
ใคร่ครวญพิศรูปโฉม นิ่งงันไป
พระอิลราชเห็นเด็กน้อยรูปตาหน้าเอ็นดู
ซ้ำโครงพักตร์จักคล้ายพี่ตน
จึงร้องถามทุกข์ไปว่า
"เจ้าเป็นใคร? ไฉนมาเดินแต่เพียงผู้เดียว"
ปุรูรพมิได้ประหม่า อัญชลีตอบอย่างฉะฉานว่า
"ตัวเรานามว่า ปุรูรพ"
"เจ้าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เหตุใดเดินป่าเพียงผู้เดียว หรือเจ้าเที่ยวหนีมารดามา"
"มารดาข้าพเจ้านามว่า นางอิลา บิดานั่นหนา ชื่อพระพุธ"
อิลราชนิ่งตะลึงไป แต่เด็กชายยังเอ่ยต่อ
"ท่านเล่านามว่าอะไร?"
"ตัวเราชื่อ อิลราช"
ปุรูรพบุรุษน้อยแย้มโอษฐ์ยิ้มร่า
"ท่านหรือคือ อิลราช ผู้เป็นน้าเรา
มารดาเราเล่าให้ฟังบ่อยนัก
บุรุษทรงสง่า ขอให้หลานได้กราบท่านสักที"
ว่ากระนั้นปุรูรพบุตรพระพุธก็ก้มลงกราบเพียงบาทอิลราช
แล้วก็จากไป
ทายาทแห่งเมืองพลหิรกาให้รู้สึกระแคะระคายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ก็เก็บสิ่งนั้นไว้ มิบอกกล่าวให้ใครรู้
จนกระทั้งล่วงเลยไปหลายปี
พระอิลราชบำเพ็ญบุญสำเร็จ
สามารถขอพรจากพระอุมาให้มีวิญญาถาวร
กายอิลาและอิลราชก็แยกได้จากกัน
เมื่อนั่นพี่น้องได้พบหน้า
ทั้งสองถวิลหาอาลัยรักกันยิ่ง
ครั้นพระอิลราชชวนเชษฐภคินีกลับบ้านเมือง
นางอิลาก็หน่วงเหนี่ยว อ้างว่า
พบอาจารย์ดีควรเรียนวิชาให้เจนจบ
ค่อยกลับเมืองไปหาบิดา
ท่านจะยินดีนัก
อีกทั้งพระพุธช่วยน้องมามาก
สมควรอยู่ทดแทนบุญคุณ
พระอิลราชก็คล้อยตาม
ยอมอยู่ร่ำเรียนวิชาโดยดี
ต่อมาอิลราชเรียนวิชา
ทั้งเหาะเหินเดินฟ้า ล่องหน ลอดช่อง
ทั้งชุบชีพ ทำเวทย์
ทั้งยังช่วยตักน้ำหาบฟืน หาอาหารช่วยจุนเจือ
เจนจบทุกคาถา ชำนาญทุกมนต์
จนวันหนึ่ง
เมื่ออิลราชท่องไปในไพร
ใช้ล่องหนเที่ยวไปในป่า
พบภาพเฉือนดวงจิตยิ่งนัก
พระอิลราชพบเห็นพระพุธอาจารย์
หัตถ์หนึ่งอุ้มปุรูรพเด็กน้อย
อีกหัตถ์โอบกอดนางอิลาผู้เป็นพี่ตน
ภาพตรงหน้าบอกกล่าวเรื่องราวจนรู้เจนจบ
พระอิลราชนัยน์พระเนตรร้อนผ่าวด้วยความโกรธเกรียว
นึกในใจซ้ำแล้ว ซ้ำอีก
'เราปรนนิบัติมันในฐานะอาจารย์ด้วยความเคารพ
ตักน้ำหาบฟืน ทำงานสารพัด เยี่ยงทาสมัน
แต่มันกลับทรยศหักหลัง
ลอบได้เสียกับพี่เรา เสียจนมีลูกโตจนรู้ความ
ไฉนเรามิเอาเรื่องมันตั้งแต่เด็กน้อยเรียกเราเป็นผู้น้า
.
เห็นทีจะนิ่งนอนใจมิได้
ต้องพลาดมันจากพี่เรา
'
คิดดังนั้น อิลราชตรงเข้าไปฉุดนางอิลาออกจากอ้อมแขนสามี
แล้วเหาะเหินกลับนครพลหิรกาในทันที
พระปุรูรพเด็กน้อยเห็นมารดาถูกมาตุลา(น้า)เอาตัวไปต่อหน้าต่อตา
ก็ลงกันแสงร่ำไห้อย่างโศกสลดปิ่มว่า สิ้นแม่สิ้นชีวาวาย
กล่าวถึงพระพุธเมื่อตั้งสติได้
ให้ละอายต่อสิ่งที่ตนกระทำจนมิคิดตาม
จูงโอรสกลับอาศรม
เข้าป่าบำเพ็ญบุญและไม่คิดจะออกมาอีกเลย
นำเรื่อง - -
อรัมภบท - -
ปัจฉิมบท < NEXT THIS PAGE >