HeaVy – HardRocK มันส์โคตรรุ่นป๋า
- 3 -
x

 

ข้ามมาอีกปีนึง รั้วหรือกำแพงสาธารณะหลายที่รวมทั้งกระดานดำในห้องเรียน จะถูกพ่นถูกเขียนเป็นรูปสัญลักษณ์งานมหกรรมดนตรี(ฮิปปี้)โลก Wood Stock “ ดนตรีและสันติภาพ ” ( Woodstock : Three days of peace and music) จัดที่สหรัฐอเมริกา งาน 3 วัน 3 คืน เอาเข้าจริงๆ ข้ามมาเกือบ 4 วันเพราะอีตา Jimi Hendrix เทพเจ้ากีตาร์ มันหารถเข้างานไม่ได้(ไม่รู้เทพแบบไหนเหาะไม่ได้) เสียเวลาไปหลายชั่วโมงจนคนส่วนใหญ่แยกย้ายกันกลับนึกว่างานเลิกแล้ว มาถึงงานเลยกำหนดเล่นไป 3 ชั่วโมง คนคุมงานเลยสั่งเลื่อนเวลาไปเล่นพรุ่งนี้เช้า

ตรงนี้กำลังบอกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อของแนวเพลงกำลังเปลี่ยนไปอย่างสังเกตได้ ดนตรีในอังกฤษยังไม่หนีแนวไปจากท่วงทำนองบลูส์สำหรับคอดนตรี ส่วนคอเพลงตลาดทั่วๆ ไป ก็สนุกกับจังหวะดนตรีใหม่ๆ จากฝีมือนักดนตรีวัยรุ่น แต่ฟังๆ ดูก็ไม่ทิ้งกันไกล เพราะยังไงก็หนีจังหวะร็อคไม่พ้น

อเมริกาก็ไม่แตกต่างกัน แม้ Jimi Hendrix จะผ่าเหล่าไปดังในกลุ่มคนขาว ขณะที่คนผิวสีส่วนใหญ่เต็มไปด้วยคติทางการเมือง เพลงก็ออกมาทางการเมือง คอดนตรีช่วงนั้นยังติดสไตล์ The Beatles อยู่ แม้จะค้นพบจังหวะ Surf …. วินเซิร์ฟนะว่อย ! ไม่ใช่จังหวะเซิ้ง !! ก็ไม่สามารถหนีรูปแบบเก่าๆ ออกมาได้ แต่คนฟังดนตรีบางกลุ่มก็ง่วนอยู่กับเพลงแนว Phychederic (ไซคีเดริค) ที่กำลังฮิตติดใจวัยรุ่นอยู่ ส่วนแหล่งผลิตเพลงระดับโลกย่านยุโรปนอกเกาะอังกฤษ แม้จะเป็นวงสตริงเหมือนกัน ก็เป็นสตริงที่กลิ่นแนวเพลงบลูส์ออกมาชัด หรือเพลง Pop ตามยุคสมัย

เพลงนุ่มๆ ที่ร้องกันทั่วไม่ว่า “ ขาโจ๋ ” หรือ “ ขาจ๋อย ” คือ เพลง “Love is Blue” ของปู่ Paul Mauriat ชาวฝรั่งเศสแต่ไปดังในสหรัฐอเมริกา มีคน Cover เพลงนี้เยอะมากรวมทั้งทำเพลงบรรเลงด้วย และน่าสนใจพิเศษรองจากเจ้าของต้นฉบับ คือ Al Martino เจ้าของเสียง “ แบริโทนโรแมนติค ” สมัยนั้นถ้าเล่นกีต้าร์เพลงนี้ไม่ได้ เอ็งอย่าได้แบกมันออกไปเล่นนอกบ้านก็แล้วกัน เพลงไพเราะมาก ใครๆ ก็ขอให้เล่นกีต้าร์ให้ฟัง เพลงนี้ดังมาก่อน 2-3 ปีแล้ว เล่นเพลงนี้จบต้องตามด้วยเพลง “Words” และ “Massachusetts” ของ The Bee Gees เพลงของ C.C.R แล้วตบท้ายด้วย “Simon Says” ของ Fruitgum เป็นเพลงร็อคแบบเด็กอนุบาลแต่สนุกและฮิตมาก ฮิตต่อเนื่องมา 2-3 ปีเช่นกัน

ส่วนเพลงจาก ซาวด์ แทรค หนังเรื่อง “ พิษรักแรงสวาท ” The Graduate” ของ Simon & Garfunkel อย่าพยายามเลย มันเล่นยากเกินไป ต้องให้พวกเรียนโน๊ตถึงจะเล่นได้เพราะ เสียงก็ด้วย ต้องเสียงดีร้องเนี๊ยบ คนฟังถึงจะไม่รำคาญ Dr.No พี่ชายป๋า อุตส่าห์ให้แม่หาไก่ชนไปเซ่นไหว้ฟิลิปิโนเพื่อให้สอนโน๊ตกีต้าร์ให้ แก่ยังเล่นตะกุกตะกัก แล้วเราจะไปเล่นได้ยังไง ไม่เชื่อลองฟังดูสิ เพลง “Mrs. Robinson” ท่วงทำนองกีตาร์คึกดีออก

สู้เพลง “Green Tambourine” ของ Lemon Pipers ไม่ได้ ตีคอร์ดลงถี่ แล้วกระตุกสองสามที เสียงออกมาเหมือนแผ่นเดี๊ย ! หัดกีต้าร์ใหม่ๆ โชว์เพลงนี้ได้สบาย ร้องง่าย ! ไอ้ที่ว่าเหมือนนั้นคิดแบบประสาเด็กนะ ความจริงเล่นยากจะตายเพราะเพลงนี้เปรียบเสมือนต้นตระกูลไซคีเดลิกผสมกับโพรเกสซีฟ ร็อคเสียด้วยซ้ำ

ความจริงแล้วไล่มาตั้งแต่ต้นปี 1960 – 1968 มีเพลงดีๆ น่าฟังเยอะมาก มีหลายต่อหลายวงที่มีเพลงฮิตข้ามทศวรรษ และข้ามจนถึงสมัยนี้ด้วยซ้ำ

ยุคสมัยนั้นถ้าคณะปฏิวัติเข้ายึดอายัดทรัพย์สินของนักดนตรี รับรองคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะต้องเจอแผ่นเสียงสึกๆ ของวง The Ventures, The Shadow, The Beatles, Elvis Presley , Chuck Berry,Bo Diddley, B.B. King, Muddy Waters, Buddy Guy,Ray Charles,The Crikets(Buddy Holly), Herman's Hermits, James Brown, Jefferson Airplane, John Mayall & the Bluesbreakers, The Yardbirds, Cream, Manfred Mann, The Animals, Buffalo Springfield, the Grateful Dead ,Crosby, Stills, Nash, & Young ( CSNY ) , The Byrds, The Rolling Stones, The Monkees, The Mamas & the Papas, The Kinks, The Beach Boys, The Brothers Four, The Doors, Bee Gees, Blood, Sweat & Tears , The Three Dog Night อันนี้เป็นอย่างน้อยนะ เพราะยังมีวงและนักร้องเดี่ยวอีกเยอะที่เป็นเพลงที่ชอบฟังกัน

ประสบการณ์ของป๋ามันระบุชัดเลยว่า มือกีต้าร์ต้องฟังเพลงบลูส์และหัดเล่นเพลงบลูส์แม้ว่าจะเล่นยังไงก็ไม่เหมือน ก็ต้องแกล้งว่าเหมือน ! เว้นแต่จะไปเรียนมาตั้งแต่ “ หัวเท่ากำปั้น ” สังเกตดูก็ได้ คำสัมภาษณ์มือกีต้าร์ดังๆ ร้อยทั้งร้อยจะแกะเพลงบลูส์ทั้งนั้น เพลงบลูส์นี้ไม่จำกัดว่าเป็นแบบเก่าหรือแบบใหม่ที่ใช้เครื่องไฟฟ้า ลองไปฟังเพลงของ Chuck Berry,Bo Diddley, B.B. King, Muddy Waters อีกแนวหนึ่งที่ต้องหัดฟังหัดเล่นคือท่วงทำนอง Rock ‘n' Roll มีต้นแบบที่พัฒนาต่อจากรุ่นปู่ Elvis Presley ก็ผลงานของ Buddy Holly และแน่นอนต้องฟังและเล่นเพลงแนว Folk Rock รุ่นบุกเบิกอย่าง Crosby, Stills, Nash, & Young ( CSNY ) ตามด้วย Creedence Clearwater Revival ( C.C.R.) รายหลังนี้ลองฟังดูเถอะแม้จะเป็นผลงานเก่าหลายสิบปี ทุกอย่างยังลงตัวกับทุกยุคทุกสมัย เด่นทุกตัวไม่ว่าลีดกีต้าร์ เบสส์ กลอง คอร์ด เสียงร้อง จังหวะและทำนองเพลง

เวลาฟังก็อย่าไปฟังแต่เพลงฮิต ฟังให้หมดแผ่น แล้วจะเข้าใจและได้ไอเดียชัวๆ จะว่าไปแล้ว C.C.R. เป็นวงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว บ้านไหนบ้านนั้นต้องมีเพลงวงนี้ติดบ้านเหมือนยาสามัญ เพลงเขาเล่นไม่ยาก มีกีต้าร์โปร่งตัวเดียวก็สนุกได้แล้ว

อย่าเพิ่งส่ายหัว.... “ ไอ้หนู ” ! ป๋ารู้ว่ามีเจ๋งๆ เยอะกว่านี้ นั่นเอาไว้ทีหลังค่อยพูดถึง นี่ว่ากันย้อนยุคไปก่อน เอาพื้นฐานที่ควรไปคุ้ยหา CD มาฟัง

C.C.R.

วง Creedence Clearwater Revival ( C.C.R.) ตั้งเมื่อปี 1968 โดย John Fogerty มือลีดกีต้าร์และร้องนำ สมาชิกมี Tom Fogerty รีธึมกีต้าร์ Stu Cook เบส และ Doug Clifford กลอง นี่ไม่ย้อนไปถึงสมัย John เล่นอยู่กับวง Blues Velvets นะ อัลบั้มแรกติดหูคนฟังคือ เพลง “Suzie Q” แกเอาเพลงของ Dale Hawkins (Jame Burton กีต้าร์) มาทำใหม่ กับเพลง “I Put a Spell on You” สองเพลงนี้เล่นกันทุกบาร์ที่อุดรฯ เพลง “Suzie Q” ผ่านมาเป็น 10 ปีก็ยังนิยมเล่นกันอยู่

ปีถัดมาเพลง “Cotton field” กับ “Proud Mary” ติดตลาดนักดนตรีและนักฟังเพลงบ้านเรา มาชุดที่ 3 ดูเหมือนว่าจะพัฒนาไปอีกขั้นในการทำดนตรี เพิ่มโน่นเพิ่มนี้ จับกีต้าร์โปร่งมาใส่ เอาเครื่องดนตรีอื่นมาเสริม การบันทึกเสียงก็เยี่ยมทำให้เพลง “Have You Ever Seen The Rain” ติดตลาด รวมทั้ง “Molina” และ “Hey Tonight” ด้วย จากนั้นทะลักล้นเพลงดัง อาทิ Bad Moon Rising, Down on the Corner, Travelin'Band, Who'll Stop the Rain, Up Around the Bend, Lookin' Out My Back Door, Born On The Bayou

วงนี้ก็มีอารมณ์ต่อต้านสงครามเวียดนามเหมือนกัน และถือว่า C.C.R. เป็นวงดนตรีที่ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมอเมริกันมากที่สุดในช่วงนั้น ลองฟังและพิจารณาเนื้อหาเพลง "Fortunate Son" ดูได้ เพลงจากอัลบั้ม “ Willy and the Poor Boys ” ออกในเดือนกันยายน 1969 แรงบันดาลใจที่แต่งเพลงนี้ขึ้นมาก็เพราะเห็น GIs ไปรบเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกรรมาชีพ และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนพวกนี้ไม่มีเส้น ไม่มีใครจะไปดึงให้หลุดจากบัญชีรายชื่อทหารที่ต้องออกรบได้ ไม่เหมือนพวก "Fortunate Son" หรือ “ เด็กคาบช้อนเงินช้อนทอง ” หรือไม่ใช่ "Senator's son" หรือลูกวุฒิสมาชิก

Next

Home