HeaVy – HardRocK มันส์โคตรรุ่นป๋า

ผ่าหัวให้ดู (คำนำ)

ถ้าเอ็งหยิบมาอ่านเพื่ออยากรู้ว่า HeaVy-HardRocK รุ่นป๋าเขาฟังเพลงวงไหนกันฟ่ะ ? และมีดีอะไร รับรองว่าไม่ผิดหวัง แต่ถ้าพลิกไปดูหน้าในแล้วไม่โดน ก็ช่วยไม่ได้ เพราะป๋า(ขอโทษนะที่เรียกสรรพนามตัวเองอย่างนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นป๋าใครหรอก) มาจากบังกะโลข้างสนามบินอุดรธานี นักดนตรีกับวัยรุ่นหัวก้าวหน้าสมัยไอ้กันมารบเวียดนามเขาฟังเพลงอย่างนี้ แต่ไม่ทั้งนั้นนะ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ก็ฟังเพลงกระป๋องกะลาไปตามเรื่องตามราว

ที่บ้านมีบังกะโลให้ฝรั่งเช่า 6-7 หลัง ส่วนใหญ่เป็นนักบิน พวกไอ้เณรเขาไม่ค่อยให้มาเช่าอยู่นอกฐานบินกันหรอก เวลาเลิกเรียนป๋าก็ชอบไปสังคมกับพวกนี้ ตอนนั้นก็เป็นวัยรุ่น แต่ไม่ค่อยเหมือนวัยรุ่นส่วนใหญ่ เพราะชอบฟังเพลงสากลแบบมันส์ๆ ไม่สนติ๊ดชึ่ง ๆ เพลงที่สถานีวิทยุมันเปิดบ่อยกว่าเพลงชาติก็คือเพลง “Venus” ของวง The Shocking Blue ความจริงมีหลายเพลงแต่ค่อยไปเล่ากันในเล่ม

Jimi Hendrix

วันหนึ่งไอ้ฝรั่ง 3-4 คนที่เช่าอยู่บ้านหลังในๆ ขึ้นป้ายหน้าบ้านว่า “77 Sunset Strip” มันขนเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาวางที่ห้องนั่งเล่น ไอ้เรามันวัยรุ่นใจร้อนอยู่แล้วและอยากโชว์ ข้าก็ใช่ย่อยนะเฟ่ย “ จอร์จ ” ขอเวลานอกแป๊บหนึ่ง ไม่นานก็กลับมาพร้อมกับแผ่น Single ของวง The Shocking Blue ไอ้กันเพื่อนต่างวัยขอหยิบไปดู แล้วก็ส่ายหัว ทำนอง......ไม่ช่ายยย ! “ เดี๋ยวเอ็งฟังของข้าล่ะกัน ” !

พอเข็มตกถึงร่องเท่านั้นหละ ม่าง มันส์ฉิบ.. ! สมัยนี้ต้องบอกว่า “ มันส์โคตร ” ในใจนึกอยู่ว่าเพลงของใครฟ่ะเยี่ยมจริงๆ (สมัยนั้นยังไม่รู้จักคำว่า “ แจ๋ว ”) หยิบปกแผ่นมาดูก็ไม่รู้จัก พลิกไปดูแผ่นอื่นๆ ก็ไม่รู้จัก แต่จิตวิญญาณสัมผัสได้ว่า นี่หล่ะ.... เพลงของคนดนตรี เพลงของคนเล่นกีตาร์ เราต้องฟังเพลงมันส์ๆ เสียงกีต้าร์เร้าใจ ๆ อย่างนี้

ต่อมาค่อยรู้จักว่ามันคือ Grandfunk Railroad, Black Sabbath, Led Zeppelin, Iron Butterfly, Deep purple, Uriah Heep, James Gang, UFO และอีกหลายวงมาเป็นขบวน

เนื้อหาในเล่มจะครอบคลุมเพลงรุ่นเก๋าส์ เพลงเก่า และเพลงใหม่ กะให้ “ เพื่อนป๋า ” จะได้ระลึกถึงวันเก่าๆ เพราะเพลงมันมีความลึกลับในตัวเอง พอได้ยินเพลงเก่าๆ จะนึกออกทันทีว่าตอนฟังเพลงนี้กำลังทำอะไรกันที่ไหน อย่างนี้ไม่ได้สัปดนนะ หมายถึงจะทำให้นึกถึงวันเก่าๆ ได้ บางทีอยากฟังเพลงเก่า หรืออยากเอาเพลงเก่าให้ลูกฟังแต่นึกชื่อเพลงไม่ออก จำชื่อวงไม่ได้ คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยได้ แต่น้ำหนักมาทางเพลง Heavy, Hard rock, Blues Rock, Rock ‘n' Roll, Phychederic, Prog มากกว่าเพลง Pop แบบตลาดๆ

ป๋าลุกขึ้นมาเขียนเล่าเรื่องเก่าให้ฟังก็เพราะ สมัยนี้คอมพิวเตอร์ เก่งเกินไป เก่งจนไม่ค่อยมีใครสนใจฟังวิทยุ เก่งจนไม่มีใครอยากดูทีวี เก่งจนไม่มีใครอยากควักเงินซื้อเทปซื้อซีดีไปฟังกัน “ โหลดม่าง.....มันโลด ” ทำให้วัฒนธรรมเก่าๆ พังทลายจนจะไม่เหลือแล้ว เปิดวิทยุ(กรุงเทพฯ)ก็ไม่ค่อยมีเพลงสากลให้ฟัง ไอ้ที่มีก็มีแต่เพลงใหม่ๆ เพลงเก่าๆ ก็มีให้ฟังอยู่พักนึง เดี๋ยวนี้ก็หายไปแล้ว

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ฟังเพลงใหม่นะ ป๋าฟังไปเรื่อยแหละ ป๋าไม่ยอมให้ “ วัย ” เป็นพรมแดนในการฟังหรอก จะพลาดฟังเสียงครืดคราด ๆ ของ Slipknot ไอ้ “ ปมเชือกคลาย ” ไปได้อย่างไง ในเล่มก็จะแนะนำด้วยว่า รุ่นป๋าควรจะฟังเพลงของเด็กรุ่นใหม่วงไหน เพราะถ้าไม่แนะนำ ไม่สะกิดกัน Rock & Roll “ ถึงตายแน่ ” ไม่ตายได้ยังไง วิทยุไม่ยอมเปิด ทีวีไม่ยอมเล่น แล้วคนมันจะไปรู้จักกับเพลงได้ยังไง ก็ไม่รู้นี่แหละทำให้ร้านขายเทปขายซีดีต้องหายใจระทดระทวยอยู่ทุกวันนี้ ชั้นวางของเขียนอักษรแยกเอาไว้แท้ ๆ เด็กขายมันยังหาไม่เจอเลย เพราะไม่ค่อยจะมีคนเข้าร้าน ร้านขายของไม่ได้ แล้วค่ายเพลงจะอยู่ได้ยังไง ค่ายเพลงอยู่ไม่ได้ ก็คงเหลือแต่ฮิปฮอปกับอินดี้แบบดาวน์โหลด Loop มาปรุงเองหลังบ้านเท่านั้น

สรุปแล้วเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ก็เผื่อ ถ้าเกิด Rock มันตายเข้าจริงๆ
Carlos Santana
ลูกหลานในอนาคตจะได้ค้นเจอหลักฐานง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยคนแบบหมอพรทิพย์มาพิสูจน์นิติวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องให้นักโบราณคดีเอาแปรงมาปัดฝุ่นเขี่ยข้างกระดูก แค่เข้าหอสมุดแห่งชาติที่เทเวศร์ก็หาเจอแล้ว

“ เปิดสมอง ” ให้ดูแค่นี้ก่อน ถ้าอยาก “ เบิ่ง ” ชัดๆ ลึกๆ ก็ควักสตางค์ออกมาซื้อซะดีๆ ซื้อไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เขาเป็นคนพันธุ์เดียวกัน หรือถ้า “ เรา ” เป็นคนรุ่นเดียวกัน ชอบฟังเพลงแบบเดียวกัน และอยากให้สายพันธุ์ Rock ยืน ยง อย่างที่ร้อง “Rock ‘N' Roll Will Never Die” ก็จงซื้อไปฝากบุตรหลานเสียดีๆ (เกี่ยวหรือเปล่าเนี่ย ? ) หนังสือแบบนี้ในรอบศตวรรษไม่มีใครเขียนให้อ่านนะ จะบอกให้

 

NEXT

(HOME)