ประเภท ลักษณะ ที่มา โทษ ภูมิคุ้มกัน แหล่งรักษา กฎหมาย หน้าแรก

 

 

 

สุราคืออะไร
 สุรา หมายถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ETHYL ALCOHOL) ผสมอยู่ในปริมาณไม่เกิน 60 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่คนสามารถใช้ดื่มได้ (เป็นเกณฑ์กำหนดของสากลทั่วไป แต่ของคนไทยครอบคลุมถึงปริมาณไม่เกิน 80 %) เอทิลแอลกอฮอล์เป็นสารที่เสพติดได้
สุรากับสุขภาพ
สุราเมื่อเข้าสู่ร่างกาย เอทิลแอลกอฮอล์ จะถูกดูดซึมและกระจายไปได้ทุกส่วนของร่างกาย  มีผลทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆที่สำคัญคือ
1.พิษของแอลกอฮอล์ต่อสมอง
1.1 พิษแบบเฉียบพลัน ได้แก่ Alcoholic  intoxication แบ่งออกเป็นพิษในระดับมากน้อยแตกต่างกันไป  ถ้าระดับแอลกอฮอล์ ในเลือดเท่ากับ
30 mg %  จะทำให้เกิดการสนุกสนานร่าเริง
50 mg %  เสียการควบคุมการเคลื่อนไหว
100 mg %  แสดงอาการเมาให้เห็น เดินไม่ตรงทาง
200 mg %  จะเกิดอาการสับสน
300 mg %  จะ เกิดอาการง่วง ซึม
400 mg %  จะเกิดอาการสลบ และอาจถึงตายได้
1.2 พิษต่อสมองเรื้อรัง (โรคสมองพิการ)
แอลกอฮอล์มีพิษโดยตรงต่อสมอง   ทำให้เซลล์สมองเสื่อม  ในผู้ติดสุราพบว่ามีการฝ่อลีบของ
สมองส่วนคอร์เทกซ์ซึ่งจะมีผลต่อการเสื่อมทางจิตด้วยหลายประการ  เช่น  ขาดความรับผิดชอบ  ความจำเสื่อม  เมื่อเป็นมากเกิดประสาทหลอน  หูแว่ว  หลงผิด  หวาดระแวง  คลุ้มคลั่ง  และแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท  โดยกดศูนย์ควบคุมระบบต่าง ๆ เช่น  กดศูนย์หายใจและศูนย์ควบคุมการไหลเวียนของโลหิตในสมอง  ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
2. พิษของแอลกอฮอล์ต่อระบบทางเดินอาหาร
2.1 พิษต่อกระเพาะ  แอลกอฮอล์จะกระตุ้นน้ำย่อยของกระเพาะและฮอร์โมนแกสตริน  ซึ่งมีโทษอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะและลำไส้  ถ้าแอลกอฮอล์มีปริมาณความเข้มข้นสูง  จำทำให้เยื่อบุกระเพาะอักเสบ  ถ่ายอุจจาระดำ  บางรายอาจมีการฉีกขาดของเยื่อหลอดอาหารตอนปลายต่อกระเพาะซึ่งเกิดจาก การอาเจียนหรือขย้อนอย่างรุนแรง  และอาจจะรู้สึกเจ็บบริเวณยอดอก
2.2 พิษต่อลำไส้เล็กส่วนต้น  ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น  และทำให้ความดันของหูรูดของท่อน้ำดีที่มาเปิดเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นสูงขึ้น  เป็นเหตุให้น้ำดีจากตับและน้ำย่อยจากตับอ่อนออกมาช่วยในการย่อิยอาหารได้ลำบาก  ทำให้เกิดอาการท้องอืด
2.3 พิษต่อลำไส้เล็กส่วนอื่น  ทำให้การดูดซึมอาหารลดลง
2.4 พิษต่อตับอ่อน  แอลกอฮอล์มีผลทำให้น้ำย่อยของตับอ่อนและเอนไซม์ของตับอ่อนเพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการกระตุ้ยฮอร์โมนแกสตรินในกระเพาะทำให้ตับอ่อนอักเสบ
2.5 พิษต่อตับ  ทำให้เกิดไขมันในตับและเซลล์ของตับจะตาย  ถ้าเป็นเรื้อรังจะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
3. พิษของแอลกอฮอล์ต่อระบบหัวใจและเลือด
แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยาย  หน้าแดง  รู้สึกอบอุ่น  ทำให้ตับแข็งตายได้  ถ้าอยู่ในที่มีอากาศ
เย็นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวเพื่อเก็บความร้อนได้  และแอลกอฮอล์มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ  ทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง
4. พิษของแอลกอฮอล์ต่อระบบเผาผลาญและต่อมไร้ท่อ
แอลกอฮอล์  ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูงหรือมีอาการของเบาหวานได้  เนื่องจากมีการทำลายเซลล์
ของตับอ่อน  หรือในทางตรงข้ามทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำหากดื่มติดต่อกันโดย ไม่รับประทานอาหาร 2 - 3 วัน
  นอกจากนั้นแอลกอฮอล์ทำให้มีอาการข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  โรคเก๊าท์   (Gout ) ได้
5. พิษของแอลกอฮอล์ต่อระบบต้านเชื้อโรค
แอลกอฮอล์ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบต่อต้านของร่างกายต่อเชื้อโรค  ทำให้ร่างกายติดเชื้อ
ได้ง่าย
6. พิษของสุราต่อทารกในครรภ์
มารดาที่ดื่มสุราในระยะก่อนหรือระยะตั้งครรภ์  จะทำให้มีการส่งผ่านแอลกอฮอล์ไปยังลูกใน
ครรภ์ได้โดยผ่านรก  จะทำให้ทารกเกิดความพิการทางร่างกายและสมอง
การตรวจหาแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด
  แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึทส่วนใหญ่ในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือดในเวลาเพียง 5 นาที  และถูกนำไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอย่างรวดเร็วภายใน  10 - 30 นาที  จึงใช้หลักการนี้ในการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด
อาการขาดสุรา
  การติดสุรา  ผู้ที่ติดสุรา  หมายถึง  ผู้ที่ดื่มสุราติดต่อกันมาเรื้อรังเป็นเวลาหลาย ๆ ปี  โดยไม่สามารถหยุดดื่มได้  จนเกิดอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางทรุดโทรมทั้งร่างกายและจิตใจ  ความประพฤติและสังคม  จะหยุดดื่มไม่ได้ ถ้าหยุดดื่ม  จะมีอาการไม่สบายต่าง ๆ เกิดขึ้น  ได้แก่  หงุดหงิด  กระวนกระวาย  นอนไม่หลับ  อาจมีอาการชักกระตุก คลุ้มคลั่ง  หัวใจเต้นผิดปกติ  และอาจตายได้
การรักษา
  สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยให้การรักษาผู้ติดสุราให้ประสบผลสำเร็จก็คือ  ความจริงใจที่จะรับการบำบัดของตัวผู้ติดสุราเอง  ซึ่งจะต้องรับการบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ  โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น  การรักษาด้วยยา  การใช้เครื่องมือกระตุ้นไฟฟ้า  และการใช้จิตบำบัด
ทางเลือกของบุคคลเพื่อป้องกันปัญหาจากสุรา
1. ปรับแนวคิดต่อความสุข  และความต้องการของชีวิตให้อยู่ในทางสายกลาง
2. หากิจกรรมส่งเสริมความสุขที่มีผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ
3. เล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรกเป็นประจำ
4. ถ้าไม่เป็นผู้ดื่ม  ก็ไม่ควรพยายามลองดื่มและควรปฏิเสธอย่างนุ่มนวล
5. ถ้าติดสุราหรือมีปัญหาโรคจากสุรา  ควรรีบขอเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง
สถานบริการบำบัดรักษาและให้คำปรึกษา

  • โรงพยาบาลเลิดสิน
  • โรงพยาบาลนิติจิตเวช
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฯ
  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลตำรวจ

 

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

จัดทำโดย...นายไชยา  เฉลียวพงษ์  อาจารย์ 1 โรงเรียนปากคาดพิทยาคม อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย