ประเภท ลักษณะ ที่มา โทษ ภูมิคุ้มกัน แหล่งรักษา กฎหมาย หน้าแรก

ชื่อทั่วไป : มอร์ฟีน (Morphine)

ชื่ออื่น ๆ : Cobies , Cube , Miss Emma , White stuff

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : 3,6–dihydroxy-N-methyl-4,5-epoxy-morphinen-7

ลักษณะทางกายภาพ :
มอร์ฟีน เป็นผงสีขาวหรือเทาเกือบขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีฤทธิ์สูงกว่าฝิ่นประมาณ 8-10 เท่า เสพติดได้ง่าย มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นก้อน หรือละลายบรรจุหลอดสำหรับฉีด นำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีฉีดเป็นส่วนมาก มอร์ฟีนมีลักษณะ 2 รูป คือ รูปอิสระ (Free) และรูปเกลือ (Salt) สำหรับมอร์ฟีนที่มีลักษณะเป็นรูปของเกลือ ได้แก่ ซัลเฟท (Sulfate) ไฮโดรคลอไรด์ (Hydrochloride) อาซิเตท (Acetate) และทาร์เตรท (Tratrate) มอร์ฟีนรูปเกลือที่นิยมทำมาก คือ ซัลเฟท

ประวัติความเป็นมา :
มอร์ฟีน เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น ชาวเยอรมันชื่อ SERTURNER เป็นผู้สกัดจากฝิ่นเมื่อปี ค.ศ.1803 (พ.ศ.2346) ได้เป็นครั้งแรก แต่ในปัจจุบันนี้มอร์ฟีนสามารถทำขึ้นได้โดยการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางเคมีแล้ว มอร์ฟีนเป็นยาเสพติดให้โทษที่เสพติดได้ง่ายมาก และการงดเสพจะทำได้ยากต้องใช้เวลานานเท่าฝิ่นหรือนานกว่าฝิ่น ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของบุคคล ปริมาณในการเสพ และระยะเวลาในการเสพ มอร์ฟีนได้ถูกนำมาใช้เป็นยาระงับปวด ซึ่งวงการแพทย์ทั่วไปนำไปใช้ภายหลังการผ่าตัด กระดูกหัก ถูกไฟไหม้ และใช้ระงับปวดในระยะท้ายๆของโรคมะเร็ง แต่แพทย์เท่านั้นที่สามารถใช้ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย 
ส่วนบุคคลที่นำมาใช้เองโดยแพทย์มิได้สั่งถือว่าผิดกฎหมาย และผู้ใช้มอร์ฟีนโดยพละการเพื่อระงับปวดได้กลายเป็นผู้ติดมอร์ฟีนไป ทำให้ต้องใช้มอร์ฟีนเพื่อระงับปวดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประเภทของยา :
จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

แหล่งผลิต :
ไม่ปรากฏข่าวสารว่ามีการลักลอบตั้งแหล่งผลิตในพื้นที่ประเทศไทย

การออกฤทธิ์ :
ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้รู้สึกง่วงหลับไป และลดการทำงานของร่างกาย อาการข้างเคียงอื่นๆ ก็คือ อาจทำให้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันหน้า ตาแดงเพราะโลหิตฉีด ม่านตาดำหดตีบ และหายใจลำบาก โดยมอร์ฟีนจะไปกดศูนย์ประสาท ดังนี้

1. ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ซีรเบริล คอร์เทค (Cerebral Cortex) ทำให้กดศูนย์ประสาทสมองส่วนที่รับความรู้สึกมึนชา ความตั้งใจเสื่อมทรามลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ทำให้เกิดอาการทางจิตใจเปลี่ยนแปลงไป

2. ออกฤทธิ์ต่อประสาทสมองส่วนเมดัลลารี่ (Medullary Centers) ทำให้กดศูนย์ประสาทสมองส่วนการหายใจ ทำให้หายใจช้า ทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง

3. ออกฤทธิ์ต่อประสาทไขสันหลัง (Spinal Cord) ทำให้เกิดปฏิกิริยามีอาการกระตุกต่างๆเกิดขึ้น

ผลต่อร่างกาย :
 

มอร์ฟีนทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆ ของร่างกายผู้เสพ ดังต่อไปนี้

1. ระบบทางเดินอาหาร โดยทำให้กล้ามเนื้อเกี่ยวกับทางเดินอาหารทำงานสูงขึ้นเพื่อที่จะบังคับให้อุจจาระผ่านออก และถ้าแรงขับของกล้ามเนื้อทางเดินอาหารยิ่งสูงมากอาจจะทำให้มีการเคลื่อนไหวใน ทางตรงข้ามทำให้มี อาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นได้

2. ระบบปัสสาวะ โดยทำให้กล้ามเนื้อหูรูดเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะหดตัวทั้งๆที่กล้ามเนื้อกระเพาะ ปัสสาวะทำงานสูงขึ้นก็ตาม ทำให้ผู้ติดยาเสพติดถ่ายปัสสาวะยาก หรือไม่แรงเท่ากับปกติ

3. ระบบการไหลเวียนของโลหิต โดยทำให้เส้นเลือดในช่องท้องหดตัว ทำให้การไหลเวียนของโลหิตในร่างกายไม่เป็นไปตามปกติจะเห็นได้ว่าผู้ติดยา เสพติดประเภทนี้ตัวเหลืองอันเนื่องมา จากโลหิตไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกายไม่ปกติ ส่วนเส้นโลหิตฝอยส่วนปลายทั่วไปขยายตัว
นอกจากมอร์ฟีนจะมีโทษแล้ว ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยสำหรับลดความเจ็บปวดด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ 

1. ช่วยยกระดับความอดกลั้นต่อความรู้สึกเจ็บปวดให้สูงขึ้น จึงทำให้ช่วยรับความรู้สึกด้านความเจ็บปวดน้อยลงหรือหายไปได้ เพราะฤทธิ์มอร์ฟีนไปกดประสาทส่วนรับความรู้สึก 

2. ช่วยยกระดับอารมณ์ของผู้ป่วยให้สูงขึ้น เนื่องจากมอร์ฟีนทำให้เกิดความรู้สึกมึนชาลดความเจ็บปวดลงได้เป็นเหตุทำให้  เกิดความสบายอารมณ์ขึ้นบ้าง 

3. ช่วยขจัดความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้หมดไป เนื่องจากฤทธิ์ของมอร์ฟีนเข้าไปกดประสาทส่วนต่างๆของร่างกายทำให้อวัยวะต่างๆทำงาน น้อยลงเท่ากับเป็นการพักผ่อน ของร่างกายช่วยให้เกิดความผาสุกทางด้านจิตใจ จึงขจัดความวิตกกังวลและหวาดกลัวลงได้
 

การบำบัด
ขั้นตอนการบำบัดรักษามอร์ฟีนมี 4 ขั้นตอนดังนี้

1. ขั้นเตรียมการ เป็นการเตรียมตัวผู้ติดยาเสพติดให้พร้อมที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาให้เกิดความเชื่อมั่นและ มีความตั้งใจจริงที่จะเลิกยาเสพติด นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมญาติพี่น้องและครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดให้เข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

2. ขั้นถอนพิษยา ในขั้นตอนนี้ผู้ติดมอร์ฟีนที่มีความตั้งใจที่จะเลิก โดยการหยุดเสพแล้วจะมีความอยากและความต้องการยาเสพติดอยู่เหมือนเช่นเคย ดังนั้น การบำบัดรักษาจะเลือกใช้วิธีการใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ ปริมาณการใช้และความตั้งใจของผู้เสพ หากเสพในปริมาณมากและเป็นเวลานานหลายปี จะมีอาการถอนพิษยา (Withdrawal Symptoms) เช่น หาวนอน น้ำมูก น้ำตาไหล เหงื่อออกมาก มีอาการทุรนทุราย หงุดหงิด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน รายที่รุนแรงอาจถ่ายเป็นเลือดที่ชาวบ้าน เรียกว่า “ลงแดง” หรือมีอาการชักเกิดขึ้น เพราะอาการต่างๆ อาจรุนแรง ถึงชีวิตได้ แต่หากเริ่มเสพมาไม่นานนักและมีความตั้งใจที่จะเลิกจริงๆ วิธีที่ดีที่สุด คือ การหยุดใช้ยาเองหรือที่เรียกว่า “หักดิบ” พักผ่อนให้เต็มที่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงก็จะสามารถถอนพิษยาออกจาก ร่างกายได้ในที่สุด  โดยจะใช้เวลาไม่นานกว่า 15 วัน

3. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการปรับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เลิกยาเสพติดให้มีความเข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปกติ โดยการให้คำปรึกษา การฟื้นฟูสมรรถภาพแบบชุมชนบำบัด เป็นต้น ซึ่งผู้ติดยาเสพติดสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา เสพติดที่มีอยู่ทั่วประเทศ

4. ขั้นติดตามดูแลหลังรักษา เป็นการติดตามดูแลผู้เลิกยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา ทั้ง 3 ขั้นตอน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษา ให้กำลังใจ ทั้งนี้เพื่อมิให้หวนกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ
 

โทษทางกฎหมาย
จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

ข้อหา ยาเสพติดให้โทษประเภท 2
ผลิต นำเข้า ส่งออก - จำคุก 20 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับ 200,000 - 500,000 บาท (ม.68)
จำหน่าย ครอบครองเพื่อจำหน่าย - ถ้าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 กรัม จำคุก 3-20 ปี และปรับ 30,000–200,000 บาท ถ้าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่า 100 กรัม จำคุก 5 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับ 50,000-500,000 บาท (ม.69 ว.3 ว.4)
ครอบครอง - คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 100 กรัม จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท (ม.69 ว.1) 
- คำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ 100 กรัมขึ้นไป ถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย (ม.17)
เสพ - จำคุก 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ 5,000– 100,000 บาท (ม.91)
ใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายฯให้ผู้อื่นเสพ - จำคุก 1ปี 6 เดือน -15 ปี และปรับ 15,000-150,000 บาท 
- ถ้ากระทำโดยมีอาวุธหรือร่วมกัน 2 คนขึ้นไป จำคุก 3 ปี – 22 ปี 6 เดือน และปรับ 30,000-225,000 บาท
- ถ้ากระทำต่อหญิงหรือต่อบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท
ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพ จำคุก 1-5 ปี และปรับ 10,000 – 50,000 บาท (ม.93 ทวิ)

 

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

จัดทำโดย...นายไชยา  เฉลียวพงษ์  อาจารย์ 1 โรงเรียนปากคาดพิทยาคม อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย