หน้าที่ชายไทย ตามกฏหมายรับราชการทหาร

หน้าที่ชายไทย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การรักษาป้องกันเอกราช และอธิปไตยของชาวไทยเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหารตามที่กฏหมายบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗ บัญญัติว่า
" ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน "

เพื่อที่จะให้ชาวไทยทั้งหลาย เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย จึงขอชี้แจง ให้ทราบ ดังนี้

๑. วิธีนับอายุตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร ฯ
ให้เอา พ.ศ.ปัจจุบันตั้ง เอา พ.ศ.เกิดลบ ผลลัพธ์เท่าใด ถือว่ามีอายุเท่านั้น ปีบริบูรณ์
ตัวอย่าง เช่น คนเกิด พ.ศ.๒๕๐๖ เมื่อถึง พ.ศ.๒๕๒๓ ถือว่ามีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ และในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นผู้มีอายุ ย่างเข้า ๑๘ ปี

๒. การลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอ

๒.๑ ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย เมื่อมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี (๑๗ ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอภูมิลำเนาของ บิดา, มารดา หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี ภายใน พ.ศ. นั้น
ตัวอย่าง เช่น คนเกิด พ.ศ.๒๕๐๖ ต้องไปแสดงตนลงบัญชีทหารกองเกิน ใน พ.ศ.๒๕๒๓ คือ ตั้งแต่ ๑ ม.ค.-๓๑ ธ.ค.๒๓ และให้นำหลักฐาน คือ
๑.สูติบัตร
๒.บัตรประจำตัวประชาชน
๓.สำเนาทะเบียนบ้าน

ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอ เพื่อยื่นคำร้องขอลงบัญชีทหารกองเกิน
๒.๒ คำว่า " ภูมิลำเนาทหาร " หมายความว่า อำเภอภูมิลำเนาซึ่งได้ไปแสดงตน ขอลงบัญชีทหารกองเกินไว้
ภูมิลำเนาทหารมีได้แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
๒.๓ เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว นายอำเภอจะออกใบสำคัญ (แบบ สด.๙) ให้ไว้ เป็นหลักฐาน
แต่ถ้าใบสำคัญ (แบบ สด.๙) ไม่มี จะออกใบรับ (แบบ สด.๑๐) ให้แทนเป็นการ ชั่วคราว
ใบสำคัญ (แบบ สด.๙) ถ้าชำรุดหรือสูญหาย ให้ขอใบแทนจากอำเภอภูมิลำเนาทหารได้
๒.๔ บุคคลที่ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว จะถือว่าเป็นทหารกองเกิน ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ของพุทธศักราชถัดไป (ขึ้นปีใหม่)
๒.๕ บุคคลที่ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว เมื่อย้ายที่อยู่เปลี่ยนตำบล (อำเภอ, จังหวัด) จะต้องแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ทราบภายในกำหนด ๓๐ วัน เพื่อทางราชการจะได้แก้ไข ทะเบียน ฯ บัญชี ฯ ให้ถูกต้อง
๒.๕.๑ บุคคลตามที่กล่าวในข้อ ๒.๕
ถ้าได้รับการเปลี่ยนชื่อตัว และชื่อสกุล
หรือเปลี่ยนแต่ชื่อตัวหรือชื่อสกุล
ต้องนำหลักฐานไปแสดงต่อนายอำเภอภูมิลำเนาทหารภายในกำหนด ๓๐ วัน
เพื่อดำเนินการเช่นเดียวกับ ข้อ ๒.๕

โทษ ไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอภายในกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๓. การรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร

๓.๑ ทหารกองเกิน เมื่อมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี (๒๐ ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ.ใด
ต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร
ที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตน
ภายใน พ.ศ. นั้น (คือ ตั้งแต่ ๑ ม.ค. ถึง ๓๑ ธ.ค.)

หลักฐานในการรับหมายเรียก
๑. บัตรประจำตัวประชาชน
๒. ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.๙)
๓.๒ ถ้าไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้ผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และเชื่อถือได้ไปรับแทน โดยต้องนำหนังสือมอบฉันทะไปแสดงด้วย
๓.๓ ทหารกองเกินที่มีอายุเกินกว่า ๒๑ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก ด้วยเหตุใด ๆ ก็ให้ไปแสดงตนรับหมายเรียกที่อำเภอภูมิลำเนาทหารของตน แต่จะให้คนอื่นไปรับแทนไม่ได้

โทษ ไม่ไปรับหมายเรียกที่อำเภอภายในกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๔. การยกเว้น

๔.๑ การยกเว้นมี ๒ ประเภท คือ
๔.๑.๑ ยกเว้นให้ตลอดไป
๔.๑.๒ ยกเว้นในยามปกติ
๔.๒ บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการกองประจำการ ทั้งในยามปกติ และยามสงคราม (ยกเว้นให้ตลอดไป) ได้แก่
๔.๒.๑ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่ง นิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์
๔.๒.๒ คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้
๔.๒.๓ บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้ เฉพาะบางท้องที่ตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง
๔.๓ บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่เรียกมาตรวจเลือกในยามปกติ ได้แก่
๔.๓.๑ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพุทธศาสนาแห่งนิกายจีน หรือญวนซึ่ง เป็นนักธรรม
๔.๓.๒ นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนา
๔.๓.๓ บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรของ รด.
๔.๓.๔ นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม
๔.๓.๕ ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่าง ๆ ตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง
๔.๓.๖ นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
๔.๓.๗ นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือน ของกระทรวงคมนาคม
๔.๓.๘ บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติ
๔.๓.๙ บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกครั้งเดียวสิบปี ขึ้นไป หรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกหลายครั้งรวมกันตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน
๔.๔ ผู้มีสิทธิได้รับการยกเว้นบางประเภท ต้องแสดงความจำนงขอรับการยกเว้น ด้วยตนเอง รายละเอียดให้สอบถามเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอ
๔.๕ บุคคลซึ่งพ้นจากฐานะยกเว้น ให้แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอที่ตนอยู่หรือทำการประจำภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พ้นจากฐานการยกเว้นะ

โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๕. การผ่อนผัน

๕.๑ บุคคลที่มีสิทธิจะได้รับการผ่อนผัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๕.๑.๑ ผ่อนผันไม่ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือกเฉพาะคราว
๕.๑.๒ ผ่อนผันไม่ส่งคนเข้ากองประจำการในคราวที่มีคนพอ
๕.๒ ผ่อนผันไม่ต้องมาเข้ารับการตรวจเลือก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ดำเนิน การขอผ่อนผันให้ แต่ในบางกรณีผู้ที่จะได้รับการผ่อนผันควรทราบทางปฏิบัติไว้บ้าง คือ
๕.๒.๑ นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง สามารถขอผ่อนผันศึกษาต่อได้ตาม มาตรา ๒๗ (๒) คือ
ถ้าไปศึกษาโดยได้รับทุนของ ก.พ. ทางสำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ดำเนิน การขอผ่อนผันต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น

ถ้าไปศึกษาทุนส่วนตัว

- หากยังไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ
ให้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันก่อนเดินทางไปต่างประเทศ โดยแจ้งว่า เดินทางเมื่อใด พาหนะอะไร และรับรองด้วยว่า เมื่อเดินทางถึงต่างประเทศแล้ว จะรีบส่งหนังสือรับรองสถานทูต หรือสถานกงสุล หรือผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศนั้นๆ มาภายในสามเดือน
- หากเดินทางไปถึงต่างประเทศแล้ว
ให้นักเรียนเอง หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครอง ยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อนายอำเภอภูมิลำเนาทหาร โดยมีเอกสาร ดังนี้
๑. หนังสือรับรองสถานทูต หรือสถานกงสุล โดยมีรายละเอียดว่า ไปศึกษาวิชาอะไร สำนักศึกษาประเทศใด หลักสูตรกี่ปี ขอผ่อนผันกี่ปี
๒. หลักฐานทางทหาร คือ ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.๙) หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.๓๕)
๓. สำเนาทะเบียนบ้าน
รายละเอียดสอบถามสัสดีอำเภอ
๕.๒.๒ ผู้ที่ป่วยไม่สามารถจะมาเข้าตรวจเลือกได้ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก พร้อมด้วยหลักฐาน เช่น คำรับรองของแพทย์ผู้รักษา หรือคำรับรองของโรงพยาบาล เป็นต้น
๕.๓ บุคคลที่จะได้รับการผ่อนผัน ไม่ส่งเข้ากองประจำการในคราวที่มีคนพอ ได้แก่
๕.๓.๑ ผู้ที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดา
๕.๓.๒ ผู้ที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงดูบุตร ซึ่งมารดาตาย และผู้ที่จำเป็นต้องหาเลี้ยง พี่หรือน้อง ซึ่งบิดามารดาตาย
การขอผ่อนผันทั้ง ๒ ข้อนี้
ให้ขอต่อนายอำเภอภูมิลำเนาทหาร ก่อนวันตรวจเลือกไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน
และต้องร้องขอผ่อนผันต่อคณะกรรมการตรวจเลือก ในวันตรวจเลือกนั้นอีกครั้งหนึ่ง
เงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิให้สอบถามได้จากเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอ
๕.๓.๓ ผู้อยู่ในระหว่างการศึกษา เมื่อกรรมการตรวจเลือกได้คัดคนที่ยกเว้นด้วยเหตุต่างๆ ออกแล้ว ถ้ามีจำนวนทหารกองเกินที่จะรับราชการเป็นทหารกองประจำการ ได้มากกว่าจำนวนที่ฝ่ายทหารต้องการ ให้ผ่อนผันแก่บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ตามมาตรา ๒๗ (๓) ดังนี้
๕.๓.๓.๑ นิสิต หรือนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งอยู่ในระหว่าการศึกษาไม่สูงกว่าชั้นปริญญาโท และผ่อนผันให้จนถึงอายุยี่สิบหกปีบริบูรณ์ เว้นแต่ นิสิต หรือนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ผ่อนผันให้ในระหว่างที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือ สถาบันทางแพทย์ เพื่อขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฏหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมอีกหนึ่งปี
๕.๓.๓.๒ นักเรียน หรือนักศึกษาโรงเรียนวิชาชีพ หรือวิทยาลัย สังกัดหรืออยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง หรือองค์การของรัฐ ผ่อนผันให้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษา เพื่อรับประกาศนียบัตร หรือปริญญาตรี หรือวิทยฐานะซึ่งทางราชการ รับรองว่าเทียบเท่าได้ไม่สูงกว่าชั้นปริญญาตรี และผ่อนผันให้จนถึงอายุยี่สิบหกปีบริบูรณ์
๕.๓.๓.๓ นักเรียนโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ของสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัด หรือในความควบคุมของ กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัย โดยให้ได้รับการผ่อนผันจนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอยปลาย ทั้งนี้ผ่อนผันให้ไม่เกินอายุยี่สิบสองปีบริบูรณ์

การขอผ่อนผันประเภทนี้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย สถาบัน โรงพยาบาล หรือวิทยาลัยของรัฐ กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเทียบเท่า เป็นผู้ส่งรายชื่อบุคคลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีที่จะเข้าตรวจเลือก

สำหรับสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ต้องส่งรายชื่อต่อทบวงมหาวิทยาลัยก่อน จึงส่งรายชื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่

๕.๔ บุคคลซึ่งได้รับการผ่อนผัน ต้องไปแสดงตนรับหมายเรียก และไปเข้ารับการตรวจเลือกตามหมายเรียกทุก ๆ ปี หากไม่ไปก็มีความผิดเช่นบุคคลทั่วไป แต่เมื่อมีทหารกองเกินส่งเข้ากองประจำการ พอกับจำนวนที่ต้องการ ก็จะได้รับการ ผ่อนผัน
๕.๕ บุคคลที่พ้นฐานจากการผ่อนผัน ให้แจ้งด้วยตนเอง ต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนอยู่ หรือทำ การประจำ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่พ้นจากฐานะการผ่อนผัน

โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๕.๖ คนที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน หากมีความประสงค์สละสิทธิเข้ารับการตรวจ เลือก เช่นคนธรรมดาก็ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกได้

๖. สิทธิลดวันรับราชการกองประจำการ

ผู้มีสิทธิได้ลดวันรับราชการทหารกองประจำการ มีหลายประเภท กล่าวโดยสรุป ดังนี้
๖.๑ ข้าราชการ หรือพนักงาน ซึ่งรับเงินเดือนประจำตั้งแต่ชั้นตรี (ซี ๒) หรือเทียบ เท่าขึ้นไป
ถ้าสมัครเข้าเป็นทหารโดยไม่จับสลาก รับราชการ ๖ เดือน
ถ้าจับสลากถูกรับราชการ ๑ ปี
๖.๒ ผู้สำเร็จชั้นอุดมศึกษา หรือผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวง ศึกษาธิการ รับรองวิทยฐานะเทียบให้ไม่ต่ำกว่าชั้นอุดมศึกษา
ถ้าสมัครเข้าเป็นทหารโดยไม่จับสลาก รับราชการ ๖ เดือน
ถ้าจับสลากถูก รับราชการ ๑ ปี
๖.๓ ผู้สำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ หรือเทียบเท่า
สมัครเข้าเป็นทหารโดยไม่จับสลาก รับราชการ ๑ ปี
จับสลากถูก ไม่ได้ลดวันรับราชการ
๖.๔ ผู้สำเร็จราชการฝึกวิชาทหาร จาก รด.ชั้นปีที่ ๑
สมัครเข้าเป็นทหารโดยไม่จับสลาก รับราชการ ๑ ปี
จับสลากถูก รับราชการ ๑ ปี ๖ เดือน
ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร จาก รด. ชั้นปีที่ ๒
สมัครเข้าเป็นทหารโดยไม่จับสลากรับ ราชการ ๖ เดือน
จับสลากถูก รับราชการ ๑ ปี
รายละเอียดนอกจากนี้ ให้สอบถามเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอ หรือจังหวัด
๖.๕ ในวันตรวจเลือกให้ผู้มีสิทธิได้ลดวันรับราชการทหารกองประจำการ ยื่นคำร้อง ต่อคณะกรรมการตรวจเลือก พร้อมกับแนบหลักฐานการศึกษาหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ พร้อมด้วยคำรับรองของผู้บังคับบัญชา ที่โต๊ะรับคำร้องเจ้าหน้าที่รับคำร้องจะออกใบรับให้ไว้เป็นหลักฐาน
การปฏิบัติตามข้อนี้สำคัญมาก หากไม่ยื่นคำร้องในวันตรวจเลือก จะไม่ได้รับสิทธิลดวัน รับราชการกองประจำการ

๗. การเข้ารับการตรวจเลือก

๗.๑ ทหารกองเกินซึ่งรับหมายเรียกแล้ว ต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือก ทำการตรวจเลือกในเดือนเมษษยน ตามวัน เวลา และสถานที่ ตามที่กำหนดในหมายเรียก และให้นำหลักฐานไปด้วย ดังนี้
๗.๑.๑ ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.๙)
๗.๑.๒ บัตรประจำตัวประชาชน
๗.๑.๓ ประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษาหรือหลักฐานอื่นใด เพื่อประกอบ การขอสิทธิ
๗.๑.๔ หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.๓๕)
๗.๒ เมื่อถึงเวลาตรวจเลือกเจ้าหน้าที่จะเรียกชื่อทหารกองเกินที่อยู่ในกำหนดเรียกทุกคน เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ใดมาหรือไม่ ผู้ใดถูกเรียกชื่อ ให้เอาหมายเรียก ฯ และบัตรประชาชนแสดงต่อ เจ้าหน้าที่เพื่อบันทึกหลักฐานไว้ในใบรับรองผล ฯ (แบบ สด.๔๓) เสร็จแล้วจะให้ไปตรวจโรคเพื่อแบ่งเป็นจำพวก ดังนี้
๗.๒.๑ คนจำพวกที่ ๑ ได้แก่คนซึ่งมีร่ายกายสมบูรณ์ดี
๗.๒.๒ คนจำพวกที่ ๒ ได้แก่คนซึ่งมีร่างกายเห็นได้ชัดว่า ไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคน จำพวกที่ ๑ แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ
๗.๒.๓ คนจำพวกที่ ๓ ได้แก่คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอ ที่จะรับราชการ ทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยซึ่งจะบำบัดให้หายภายในกำหยด ๓๐ วันไม่ได้
๗.๒.๔ คนจำพวกที่ ๔ ได้แก่คนพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่ไม่สามารถจะรับ ราชการทหารได้ จะต้องปลดเป็นพ้นราชการทหาร
๗.๓ ต่อจากนั้นจะนำไปวัดขนาด คนที่สูงตั้งแต่ ๑๔๖ ซ.ม. และมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ ๗๖ ซ.ม. ขึ้นไป ถือว่าอยู่ในกำหนดที่จะส่งตัวเข้ารับราชการกองประจำการได้
คนที่สูง ๑๔๕ ซ.ม. ลงมา หรือมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ ๗๕ ซ.ม. ลงมา อย่างใด อย่างหนึ่งถือว่าเป็นคนไม่ได้ขนาด
๗.๔ ผู้ที่อยู่ในกำหนดจับสลากได้แก่ คนจำพวกที่ ๑ สูง ๑๖๐ ซ.ม.ขนาดรอบตัวตั้งแต่ ๗๖ ซ.ม. ขึ้นไป หากคนไม่พอจึงให้ผู้มีขนาดสูงต่ำกว่า ๑๖๐ ซ.ม. ลงมาตามลำดับ จับสลาก
๗.๕ เมื่อจับสลากถูกเข้ากองประจำการ ให้ไปรับหมายนัดจากเจ้าหน้าที่และต้องมา ตาม วันเวลา และสถานที่ ที่กำหนดไว้ในหมายนัด มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย
ท้องที่ใดซึ่งฝ่ายทหารต้องการรับคนในวันตรวจเลือก เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการส่งตัว ให้ฝ่ายทหารรับไปในวันนั้น
๗.๖ ผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกจะต้องได้รับใบรับรองผล ฯ (แบบ สด.๔๓) เพื่อเป็น หลักฐานแสดงว่าได้ผ่านการตรวจเลือกแล้วทุกคน และเป็นหลักฐานประกอบการสมัครเข้ารับราชการ หรือทำงานตามห้างร้านบริษัทอีกด้วย
สำหรับคนผ่อนผันที่ไปแสดงตัวในวันตรวจเลือกก็จะได้รับใบรับรองผล ฯ เช่นเดียวกัน ใบรับรองผล ฯ (แบบ สด.๔๓) ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี หากชำรุดหรือสูญหายให้ไปขอใบแทนที่อำเภอ
๗.๗ ถ้าผู้ที่ถูกเข้ากองประจำการเห็นว่า คณะกรรมการตรวจเลือกตัดสินไม่ถูก หรือ ไม่ยุติธรรม ก็ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการชั้นสูงได้
๗.๘ การเข้ารับราชการแทนกัน หรือหาอุบายใด ๆ หลอกลวงให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อ เพื่อให้พ้นการเป็นทหารกองประจำการ มีความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย

ความผิด ไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทหาร ทำการตรวจเลือก คือ

๑. ไม่มา
๒. มา แต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก
๓. ไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ
ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน ไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก ตาม มาตรา ๒๗

โทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี

สภาพบังคับ (SANCTION)

" ทหารกองเกินที่หลีกเลี่ยงขัดขืนตามมาตรา ๒๗ ถ้าไม่ขัดต่อการเป็นทหารกองประจำการ ก็ให้ส่งผู้นั้นเข้ารับราชการทหารกองประจำการในปีนั้น หรือปีถัดไปโดยไม่ให้จับสลาก "

๘. ถ้ามีข้อข้องใจ หรือสงสัยประการใด ขอได้โปรดสอบถามเจ้าหน้าที่สัสดีทุกระดับ

หรือที่

Post  
แผนกสัสดีจังหวัดฉะเชิงเทรา
ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา
อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

[หน้าที่ชายไทย] [หน้าที่ในการตรวจเลือกฯ] [วิธีการ] [สิทธิ จะได้รับ] [สิทธิ ลดวันรับราชการ] [โรค] [หลักฐาน] [คำเตือน]
[โรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร]