Home
เตาแก๊ส(กระป๋อง)สนามขนาดพกพาของตาเกิ้น
" พี่ ตกลงผมเปลี่ยนไปใช้เตาและตะเกียงสนามแบบแก๊สกระป๋องแล้วหล่ะ " ตาเกิ้นบอกผม บนแค้มป์ บ้านกร่าง กม.15 แก่งกระจาน ในระหว่างที่เราจะเริ่มอุ่นกับข้าวมื้อกลางวันที่ซื้อมาจากร้านข้าวแกงเขาย้อย ผมหันไปดูก็เห็นตาเกิ้นกำลังรูดซิปเปิดถุงผ้าใบขนาดโตกว่าฝ่ามือเล็กน้อย เมื่อหยิบออกมาก็เป็นหัวเตา แก๊สขนาดย่อมพร้อมกับสายต่อยาวสัก 8 นิ้ว ที่ปลายสายมีหัวต่อแก๊สกระป๋องและวาล์วเปิด-ปิด
เมื่อประกอบร่างเสร็จในเวลาเพียงไม่ถึงอึดใจ
ผมหรี่ตามองเจ้าเตาแก๊สรุ่นพกพาของตาเกิ้น พร้อมกับพูดทำนองเข่นว่า "โอ๊ย แก๊สกระป๋อง...แพง...สู้ใช้ น้ำมันเบนซินไร้สารไม่ได้ แถมขนถังน้ำมันมาใบเดียวเติมได้ ทั้ง รถ - เตา -ตะเกียง เลย มาตรฐานเดียว พลังไทย ทั่วไทยอีกต่างหาก" แน่นอนว่าในตอนนั้นผมไม่มีความคิดแม้แต่น้อยที่จะยอมลงทุนกับเตาสนาม ใหม่ ผมยังภูมิใจกับเจ้าเตาลูนาร์ฯ ซึ่งใช้พลังงานเชื้อเพลิงชนิดเดียวกับ "หนูเล" - Suzuki Sporty 4 ล้อ 2 เพลา พาหนะคู่ทุกข์คู่ยาก แถมยังเพิ่งถอยตะเกียงเจ้าพายุ Coleman รุ่น Duel Fuel ที่ใช้น้ำมัน White Gas ก็ได้ เบนซินไร้สารก็ดี มาเสริมบารมี เป็นชุดอุปกรณ์สนามคู่กาย ไหนเลยจะเปลี่ยนใจไปใช้แก๊สได้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเตาลูนาร์ฯนั้นคู่ควรแก่การเป็นเตาสนาม ผมก็รีบหยิบเตาออกมาจากลัง กางขาเตา แล้วก็เริ่มทำการปั๊มลม ระหว่างทำการอัดลมอยู่นั้นก็เหลือบตามองตาเกิ้นกางขาเตาออก พร้อมต่อกระป๋อง แก๊สเข้ากับสายเตา เปิดวาล์ว พร้อมกับกดปุ่ม magneto เท่านั้น เตาก็จุดติดในทันที...และขั้นตอนทั้งหมด ที่พูดมานั้นเกิดขึ้นในขณะที่ผมยังปั๊มลมเข้าเตาไปได้เพียงครึ่งเดียว!!!!!! และกว่าผมจะปั๊มลมจนเต็ม เริ่มจุดไฟ และปั๊มลมเพิ่มจนความดันในเตาคงที่และมากพอที่ทำให้เจ้าเตาลูนาร์ฯ เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ไม่มีเขม่าแล้ว ตาเกิ้นก็อุ่นไข่พะโล้แสนอร่อยของข้าวแกงแม่ตุ๊เสร็จไป 1 อย่าง.. การปิดฝาโลงตอกย้ำชัยชนะในเรื่องความสะดวกสุดๆ คือตอนหัวค่ำเมื่อ ตาเกิ้นหยิบตะเกียงขนาดจิ๋วที่เก็บ อยู่ในกล่องพลาสติกมาต่อเข้ากับแก๊สกระป๋อง..กระป๋องเดียวกับที่ใช้กับเตานั่นแหล่ะครับ เปิดวาล์ว แล้วกดปุ่ม magneto ว้าว แสงจากตะเกียงอันสว่างไสวจากตะเกียงแก๊สของตาเกิ้นขับไล่ความมืดออกไปฉายให้เห็น ภาพของผมกำลังปั๊มลมเพื่อเริ่มจุดเจ้าตะเกียงเจ้าพายุ Coleman ตัวใหม่อยู่ ...
เตาแก๊สสนาม เจ้าพ่อแห่งความสะดวกสบาย เป็นเรื่องปรกติที่เราจะขนเตาแก๊สถังปิคนิค ใส่ท้ายรถไปทำกับข้าวกินอยู่ข้างเต๊นท์นอนบนยอดดอย หรือ ริมชายหาด ที่เราสามารถขับเจ้าพาหนะคู่ใจเข้าไปถึง...แก๊สเป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่พกพาสะดวก ใช้งานง่าย ราคาถูก และมีมลภาวะต่ำกว่าพลังงานประเภทอื่น แต่ถ้าเราพูดถึงเตาสนามที่ต้องมีขนาด กระทัดรัดขนใส่เป้แบกเดินนั้น เตาแก๊สสนาม(ในเมืองไทยเมื่อก่อนนี้)ยังมีข้อจำกัดในเรื่องราคาแก๊สกระป๋อง อันแสนจะแพง ผมยังจำได้ว่าราคาแก๊สบิวเทนรุ่นกระป๋องสเปรย์ตอนออกมาขายใหม่ๆนั้นราคากระป๋อง ละเกือบร้อยบาท และหากเป็นรุ่นกระป๋องโดมที่ใช้สำหรับเตาสนามอย่างดีนั้น ราคากระป๋องละไม่ต่ำกว่า สามร้อยบาท หากเทียบกับน้ำมันเบนซินลิตรละ 10 บาทเศษแล้ว ผมยอมรับว่าทำใจซื้อมาใช้ไม่ลงเลยครับ แต่เมื่อเตาแก๊สสนามเดี๋ยวนี้มีอะแดปเตอร์ต่อใช้แก๊สรุ่นกระป๋องสเปรย์ได้ และราคาแก๊สเหลือ 3 กระป๋องร้อย การลงทุนหาเตาแก๊สสนามมาเป็นเตาคู่ครัวในป่าก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากเลยทีเดียวครับ แก๊สกระป๋องแก๊สกระป๋องที่ใช้กับเตา/ตะเกียงสนาม 2 ประเภทคือ แก๊สบิวเทน (Butane)และ โปรเพน (Propane) ซึ่ง แก๊สทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกเรียกรวมๆกันว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG (Liquid Petroleum Gas) ที่บรรจุถัง แก๊สหรือถังเตาปิคนิคให้เราใช้ตามบ้านนั่นเองครับโดยที่มาของก๊าซปริโตเลียมเหลวนั้นได้มาจาก 2 วิธีคือ จากขบวนการกลั่นน้ำมัน และจากกระบวนแยกก๊าชธรรมชาติ คุณสมบัติโดยทั่วไปของแก๊สทั้ง 2 คล้ายกันมากครับ แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างเจ้าแก๊สบิวเทน กับ โพรเพนคือจุดเดือดของบิวเทนอยู่ที่ 0 องศาเซลเชียส ในขณะที่โพรเพนอยู่ที่ลบ 42 องศา ดังนั้นถ้านักเดิน ทางท่านใดกะจะไปแค้มปิ้งบนยอดเขาหิมาลัย หรือขั้วโลกด้วยแก๊สบิวเทนกระป๋องแล้วละก้อ ท่านอาจจะ อดหม่ำข้าวได้เพราะจุดไฟม่ายติด.. โพรเพนมีความถ่วงจำเพาะ 0.51 ซึ่งต่ำกว่าบิวเทนที่มีค่า 0.69 ถ้า พูดง่ายๆคือแก๊สที่อยู่ในสภาพของเหลว 1 ลิตรนั้นหนักแค่ 5-7ขีด (ในขณะที่น้ำ 1 ลิตรหนัก 1 กิโลกรัม) สัดส่วนผสมกับอากาศที่ทำให้ติดไฟของแก๊สทั้ง 2 ชนิดก็มีค่าพอกันโดยอยู่ที่ 2-9% คือถ้าแก๊สน้อยกว่า 2% ก็จุดไม่ติด หรือถ้ามากกว่า 9% แก๊สมากไปก็จุดไม่ติดเหมือนกัน และเนื่องจากสัดส่วนผสมที่เท่าๆ กันนี่เองทำให้เตาแก๊สสนามสามารถใช้ได้กับทั้งแก๊สโพรเพน หรือ บิวเทนครับ ดังที่กล่าวมาแล้วครับว่าแก๊สกระป๋องโพรเพน นั้นแจ๋วตรงที่ใช้กับที่อากาศเย็นต่ำกว่าศูนย์องศาได้ ส่วน แก๊สบิวเทนนั้นมีจุดเด่นที่สำคัญคือถูกดีครับ อย่างเช่นแก๊สบิวเทนรุ่นกระป๋องสเปรย์ ราคาตามห้างแม็คโคร /โลตัสก็แค่ 3 กระป๋องร้อย แต่ถ้าอากาศเย็นถึงจุดเยือกแข็งเมื่อไร ก็เรียบร้อย ดังนั้นพวกผู้ผลิตอุปกรณ์เตา แก๊สสนามมือโปรฯเช่น Campingaz หรือ Primus จึงผลิตแก๊สกระป๋องยี่ห้อตัวเองออกจำหน่าย ซึ่งโดยส่วน ใหญ่ข้างในกระป๋องจะถูกบรรจุแก๊สไอโซโพรเพน ที่เป็นแก๊สผสมระหว่างแก๊ส บิวเทน 80% และ โพรเพน 20% เจ้าไอโซโพรเพนนี้ แก้ปัญหาเรื่องหัวเทียนบอด..เอ๊ย..แก๊สไม่ยอมเป็นไอที่อากาศหนาวได้ แถมยัง คุยว่าให้พลังงานความร้อนที่สูงกว่าแก๊สบิวเทนหรือโพรเพนเสียอีก ผมเองก็ยังไม่เคยมีวาสนาลองใช้เจ้า เตา+แก๊สกระป๋องสนามยี่ห้อโปรฯเหล่านั้นเสียด้วยซิครับเลยไม่กล้ายืนยัน หากท่านผู้อ่านมีแล้วอยากจะ ให้ผมยืมมาทดสอบดูก็จะยินดีครับ เตาแก๊สสนามของผมหลังจากที่ตาสว่างประจักษ์ถึงความสะดวกสบายในการใช้เตาแก๊สกระป๋องแล้ว ผมก็ไม่ยอมน้อยหน้า ตาเกิ้นหาเตาแก๊สสนามมาพกติดตัวไว้ชงกาแฟ หุงข้าว ต้มถั่วเขียวกินยามเป็นหนูน้อยตุหลัดตุเหล่ไว้ถึง 2 เตาอันได้แก่ เตาTurbora และเตาจิ๋วเตา Turbora เตา Turbora ตัวนี้ผมซื้อมาจากห้างแมคโคร ตอนลดราคากระหน่ำ ตัวละ 400 กว่าบาท เป็นเตาแก๊ส ขนาดกระทัดรัดที่ออกแบบได้ลงตัว มีกระเป๋าพลาสติกใส่ทำให้หิ้วไปมาง่าย การติดแก๊สกระป๋องก็สะดวก แถมรวมระบบ Magneto เข้ากับปุ่มเปิด-ปิดแก๊ส พอบิดปุ่มปุ๊บไฟก็ติดปั๊บ เรียกได้ว่าเป็นเตารุ่น Foolproof อย่างแท้จริงครับ ผมตัดสินใจซื้อเตาตัวนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆคือถูกและดี แถมมีข้ออ้างว่าเอามาใช้ เป็นเตา สำรองที่บ้านเพื่อเตรียมรับ Y2K อีกตัวหนึ่งครับ
เตาแก๊สสนามระดับครัวเคลื่อนที่
คราวนี้ผมลองทำการทดสอบความร้อนแรงของเตา Turbora ดู โดยใช้สูตรเดิมเหมือนกับที่ทดสอบสนาม อื่นๆ พบว่าเตา Turbora สามรถต้มน้ำ 1 ลิตรเดือดในเวลา 4 นาที 30 วินาที ดังนั้นเตา Turbora เลยได้ ตำแหน่งแชมป์เป็นเตาสนามร้อนแรงเบอร์หนึ่งไปครองอย่างขาวสะอาดครับ เพราะพลังงานความร้อนที่ สะอาดจากแก๊ส ไร้เขม่าและเสียงฟู่ ทำให้ก้นหม้อข้าวไม่ดำ สำหรับเตาTurbora ตัวนี้ผมคงไม่มีบรรยายใดเพิ่มเติมครับ ผมยังไม่จัดเตาตัวนี้เป็นเตาสนามขนาดพก พาที่จะแบกไปไหนมาไหน เตาตัวนี้เหมาะกับทริปที่ขับรถไปถึงที่ผูกเปลนอน และไปกันหลายคน เป็นเตา สนามที่หุงข้าวง่ายสุด เพราะหรี่ไฟตอนดงข้าวได้ ข้าวไม่ไหม้ก้นหม้อเนื่องจาก Hot spot เรียกว่าเสมือน ขนเตา Magic chef ไปเที่ยวเลยทีเดียว "เตาจิ๋ว" Kovea ผมได้เห็นฤทธิ์เดชของเจ้าเตาจิ๋วเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีก่อน ตอนที่แบกของเดินลงไปนอนเล่นที่ต้นน้ำ เพชรบุรี ในทริปนั้นผมไม่ได้พกเอาเตาสนามไปเพราะรู้ว่าตาเกิ้นได้พกเตาแก๊สสนามไปด้วย แต่เมื่อถึง ที่พักริมน้ำ ผมก็แปลกใจเมื่อเห็นพี่เดชเพื่อนร่วมเดินทางอีกท่านควักเอากล่องพลาสติกใบจิ๋วออกมา เมื่อเปิดฝาออก ก็ปรากฎหัวเตาขนาดจิ๋วยี่ห้อ Kovea สัญชาติเกาหลีที่มีพร้อมทั้ง Magneto จุดเตา, ขา รองหม้อและปุ่มวาล์วเปิด-ปิดแก๊สซึ่งกางออกมาได้ เมื่อถือเตาขึ้นมาพบว่าเบามากเพราะน้ำหนักตาม สเป็คไม่เกิน 200 กรัม!! ซึ่งถือว่าเป็นเตาสนามที่มีน้ำหนักเบาสุดเลยครับ เตาอื่นที่เบากว่าคงเห็นจะแค่ เตาแก๊สสนามที่ทำจากไททาเนียมเท่านั้น
เตาจิ๋ว Kovea พร้อมกล่องใส่ ขนาดจิ๋ว สมชื่อเมื่อเทียบกับแก๊สกระป๋อง
อย่างไรก็ตามเจ้าเตาจิ๋วได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับแก๊สกระป๋องรุ่นโดม ดังนั้นถ้าต้องการใช้แก๊สรุ่นกระป๋อง สเปรย์จะต้องมีขาตั้งเตาพร้อมอะแดปเตอร์ มาต่อดังรูปครับ การประกอบร่างเตาจิ๋วนั้นก็ทำได้ง่ายมาก ใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาทีเท่านั้น เตาจิ๋วก็จุดติดพร้อมหุงข้าวหรือต้มถั่วเขียวกิน ขั้นตอนต่อมาคือการทดสอบเตาจิ๋วด้วยการต้มน้ำ 1 ลิตรในการ้องได้ พบว่าด้วยเวลาเพียง 4 นาที 40 วินาที น้ำในกาก็เดือดจนการ้องออกมา เมื่อดูจากประสิทธิภาพการพ่นไฟแล้วก็ไม่ได้ด้อยกว่าเตา Turbora แต่ประการใดครับ
เตาจิ๋วเมื่อประกอบร่างเรียบร้อยพร้อมใช้งาน
ข้อเสียของเตาจิ๋วก็คือหัวเตาที่มีขนาดเล็กทำให้เกิด Hotspot ขึ้นที่ตรงกลางเตา ผมเคยหุงข้าวแล้วข้าว ไหม้เฉพาะจุดตรงกลางหม้อมาแล้วเนื่องจากครั้งนั้นอารามหิวข้าวจัด ก็เลยเอาหม้อข้าวขึ้นตั้งและเปิดไฟ เตาจิ๋วเต็มที่ พอน้ำเริ่มเดือดเอาทัพพีลงคนข้าวก็พบว่าเม็ดข้าวติดก้นหม้อตรงกลางเสียแล้ว ผมก็เลยใช้ เป็นข้ออ้างทุกครั้งที่หุงข้าวไหม้ว่า "เตาไม่ดี" หรือพอหุงข้าวไม่สุกก็อ้างว่า "กลัวไฟมันแรง เลยตั้งไฟอ่อน ทำให้ข้าวไม่สุก" นับว่าเป็นความโชคร้ายของเตาจิ๋วที่โดนปรับปรำแท้ๆ อย่างไรก็ตามเคยได้ยินว่าเตาจิ๋ว รุ่นหลังๆได้มีแผ่นเซรามิกวางอยู่เหนือหัวเตาแก๊สเพื่อแก้ปัญหา Hotspot ครับ ถ้าอีกหน่อยหนูเลเปลี่ยน ไปใช้เตารุ่นนั้นก็คงจะโทษปี่โทษเตาไม่ได้แล้วหล่ะ
แชมป์เตาแก๊สที่เบาที่สุดในโลก PocketRocket จาก MSR แดนมะกัน
ข้อดีของเตาแก๊สกระป๋องข้อดี * ไม่ต้องห่วงว่าน้ำมันจะหก (เพราะไม่มีน้ำมันจะหก..ฮา) ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน * ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แชมป์เตาแก๊สสนามน้ำหนักเบาสุดมีน้ำหนัก 86 กรัมซึ่งได้แก่ หัวเตา PocketRocket ของ MSR (ไม่แน่ใจว่าเสียแชมป์ไปหรือยังครับ) หัวเตาทำด้วยไททาเนียม ในขณะที่เตาน้ำมันสนามขนาดพกพา จะมีน้ำหนัก 550 กรัม (เตา Svea123) * จุดไฟง่าย หรี่ไฟก็ได้...ไม่ใช่ว่าเตาน้ำมันสนามจะหรี่ไฟไม่ได้นะครับ แต่ถ้าต้องการจะหรี่ไฟมากๆประเภทต้อง การไปตุ๋นไก่ทำซุปบนยอดดอยแล้วละก้อ เตาแก๊สกระป๋องกินขาด * ปลอดภัยกว่า (ข้อนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ผมว่าเราคงไม่ลืมโศกนาฎกรรม อานุภาพการทำลายล้างของ รถแก๊สที่แยกเพชรบุรีนะครับ) * ราคาอุปกรณ์ถูกกว่า ราคาหัวเตาแก๊สสนามของจีนแดงอยู่ราวๆ 3-400 บาทครับ แต่ถ้าต้องการเตาน้ำมัน สนาม คงต้องมีมากกว่าแบงค์หนึ่งพัน ข้อเสีย* ไม่รู้ว่าแก๊สในกระป๋องเหลือเท่าไร จะหมดหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เอาไว้หนูเลจะลองวัดดูครับว่าแก๊สกระป๋อง นึงใช้ได้นานเท่าไร * หมดแล้วหมดเลย หาเติมไม่ได้ เบนซินยังหาเติมได้ตามปั้มหลอด แต่แก๊สกระป๋องต้องห้างสรรพสินค้า สถานเดียวครับ * ระเบิดได้ถ้าไปทำตกหรือกระแทกแรงๆ น้องๆระเบิดน้อยหน่าเลยละครับ * ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาขยะมีพิษครับ กระป๋องแก๊สที่ใช้หมดแล้ว(แต่ภายในยังหลงเหลือแก๊สอยู่บ้าง) ยากในการกำจัด/แปรรูป
Primus ชุดนี้ของดีแน่นอน แต่ราคาก็สูงดีด้วย ของทั้งถูกทั้งดี ไม่มีในโลก
หากท่านผู้อ่านสนใจจะหาเตาสนามไว้ใช้งาน หลังจากทนติดตามอ่านเตาแคมปิ้งมาทั้ง 3 ภาคแล้วก็คง จะเห็นข้อเด่น-ข้อด้อยของเตาแต่ละประเภทนะครับ ส่วนท่านผู้อ่านที่สนใจว่าจะซื้อเตาแบบไหน และ ยี่ห้อ/สัญชาติใดนั้น ผมว่า "You get what you pay for.." น่าจะเป็นวลีที่พอใช้ได้ในโลกของอุปกรณ์แคมปิ้ง ครับ ทุกวันนี้ผมหนีบเจ้าเตาจิ๋ว และตะเกียงแก๊สสัญชาติเกาหลีเป็นเตา/ตะเกียง คู่ใจร่วมเดินทางไปนอนผูก เปลแช่ห้วย ที่ซื้อใช้ก็เพราะมันก็"สมราคา"ดีครับ...แปลง่ายๆก็คือถูกดี ใช้งานมาก็ไม่เคยมีปัญหาแต่ ประการใด แต่ความทนทานนั้นก็ไม่แน่ใจเพราะเพียงแค่ขวบปีฝาบนของตะเกียงที่เคลือบโครเมียม ก็เริ่ม กระดำกระด่างขึ้นมา ขาเตาจิ๋วพอเผลอทิ้งตากน้ำค้างไปคืนเดียวกลับมาพวกสนิมก็แอบมาตีสนิทด้วย ต้องรีบทำการขัดและพ่นสเปรย์สีใสป้องกันเป็นการใหญ่ สำหรับท่านที่ใช้เตาสนามน้ำมันเบนซินรุ่นลอก เลียนเตา Coleman (หน้าตาเหมือนเตาลูนาร์ฯของผม) พี่เจ้าของร้านขายอุปกรณ์แคมปิ้งฝากเตือนว่า เมื่อใช้เสร็จแล้วให้รีบถ่ายน้ำมันออกโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นน้ำมันเบนซินจะกัดถังเตาทะลุเอาได้ ก็ซึ่งเหตุ การณ์พวกนี้ไม่เคยเกิดกับเตา/ตะเกียงสนาม Coleman ของผมเลย...ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านไม่ติดขัดเรื่อง ทุนทรัพย์แล้วละก้อ ผมขอแนะนำให้ลงทุนกับเตาสนามคุณภาพดีๆครับ
เตาสนาม Himalaya OminFuel Stove จาก Primus ที่เป็นจอม สารพัดเขมือบทั้ง แก๊ส และ น้ำมัน
เลือกแบบไหนดีสุดท้ายนี้สำหรับท่านอ่านที่ยังฟันธงเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกซื้อเตาประเภทใดแล้ว โปรฯหนูเล(แอบอ้างเป็น โปรฯเสียเลย..อิ อิ) ขอให้ความเห็นว่า ถ้าเทียบกันด้านความคลาสสิกแล้ว เตาน้ำมันสนามดูมีมนต์ขลัง กว่าเตาแก๊สกระป๋องอยู่เยอะมาก...แบบว่าถ้าจะต้องการดื่มด่ำกับบรรยากาศการต้มน้ำแล้วละก้อเตา น้ำมันก๊าดกินขาดครับ... แต่ถ้าเปรียบเทียบความสะดวกแล้ว เตาแก๊สกระป๋องชนะมาตั้งแต่ในมุ้ง ส่วน ถ้าจะเลือกเตาที่ออกทริปยาวๆแล้ว เตาน้ำมันสนามจะดีกว่าครับ เพราะไปหาน้ำมันเอาดาบหน้าได้ แต่ ถ้าท่านผู้อ่านที่ยังรักพี่เสียดายน้องแล้วละก้อ..นี่เลย..ขอแนะนำเตารุ่นแยกถัง Himalaya Omni-Fuel ของ Primus เขมือบน้ำมันทุกชนิดตั้งแต่น้ำมัน ก๊าด-ดีเซล-Jet-เบนซินขาว-เบนซินเติมรถยนต์ (ว่ากันว่าน้ำมัน พืชบางชนิดก็เอามาใช้ได้) หรือจะมาใช้กับแก๊สกระป๋องทั้งแบบกระป๋องสเปรย์ และแบบกระป๋องโดม และ แก๊สผสม Butane-Propane ก็ได้ด้วย รับรองเตาเดียว อยู่หมัด สำหรับสนนราคาค่าตัวก็แพงตามความ เก่งละครับ ส่วนว่ามันจะแจ๋วสมราคาหรือไม่หนูเลก็ยังไม่เคยลองนะ แต่ถ้าท่านใดซื้อมาแล้วขอให้หนูเล ขอยืมใช้เป็นบุญหม้อข้าว ซักทริปนึงก็จะเป็นพระคุณหลายครับ...
หนูเล, พค. 45
คุยกันรอบกองไฟ
เซ็นสมุดเยี่ยม
สมัครสมาชิก Thailand Outdoor ฟรี