ขอบกรุง
ทยอยลงในนิตยสารชาวกรุง
ในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐-๒๕๑๐

ราช รังรอง (รัตนะ ยาวะประภาษ)
(พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๕๓๔)


			
		บทกวีร้อยแก้ว ของ ราช รังรอง ในขอบกรุง นี้ จับต้องหลักการที่สำคัญ
	ของชีวิต ข้อพิจารณาของเขาเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่ง ความยากจน ความสวยงาม ความ
	ขี้เหร่ ความแข็งแรง ความอ่อนแอ ความจริง ความเท็จ ความรัก ความดี ความเลว ความ
	เกลียด ความเปลี่ยนแปลง การให้ การรับ เป็นต้น  คำถามหรือหลักการเหล่านี้ ใช่ว่าจะ
	เป็นเรื่องใหม่เอี่ยมก็หาไม่ เป็นคำถามเก่าๆ ที่ได้มีผู้ถามและผู้ให้คำตอบมาแล้ว ซ้ำซาก
	หลายพันปี คำตอบก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป มีบ้างที่ดูเหมือนจะลงตัวดีแล้ว แต่บางทีอีกสัก
	พัก ก็โดนกระแสคลื่นของปรากฎการณ์ใหม่ ๆ สั่นคลอนจนล่าถอยไปอีก ความน่าสนใจ
	ของ ขอบกรุง จึงอาจมิได้อยู่ที่คำถามหรือคำตอบที่ได้มา แต่อยู่ที่วิธีการคิดหรือวิธีเข้าหา
	ความจริง

		บทกวีของ ราช รังรอง ในขอบกรุง นี้มีอยู่ ๕๒ บท ในจำนวน  นี้บทกวี ๒๗ 
	บทแรก สามารถสะท้อนจิตใจอันดิ้นรนอยู่ระหว่างอารมณ์รักใคร่กับการก้าวไปสู่ความสงบ
	นิ่ง และความสำนึกในดุลยภาพของธรรมชาติ นับแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๐๕ เป็นต้นไป 
	เริ่มต้นจากการตัดพ้อต่อว่าโชคชะตาของตนเองในฐานะยาจก ผู้หลงรักดอกฟ้าแล้ว บท
	กวีร้อยแก้วของราช รังรอง กลับลำหมุนเข้าสู่ โลกร้อน มากขึ้นเรื่อยๆ  มีหลายสิ่งที่ปลุก
	จิตวิญญาณของเขาให้กลายเป็นนักสู้ เขาวางอารมณ์อ่อนไหวลง และหันไปเลือกเอาความ
	เคลื่อนไหวทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการรุกของอิทธิพลอารยธรรมตะวันตก ปัญหา
	ความแตกแยกในสังคม  วัฒนธรรมป่าคอนกรีตหรือกระทั่งปัญหาชนชั้น  ในบทที่ว่าด้วย 
	ความปวดร้าว  ราช รังรอง เขียนไว้อย่างนี้
	
		"ตู้เย็นใบใหญ่จากอเมริกามีแต่ความแห้งแล้ง
		ฉันรู้ว่ามันจะเย็นไปอีกไม่ได้
		เมื่อไฟฟ้าแรงสูงจากเขื่อนยันฮีไม่ปล่อยลงมา
		นมสดจากสวิตเซอร์แลนด์เหลือแต่กระป๋องเปล่า
		เมื่อเรือบรรทุกสินค้าไม่มา 
		ฉันได้แต่ยื่นมืออันซีดเซียวออกไป
		เปิดทรานซิสเตอร์จากญี่ปุ่นที่เพิ่งซื้อถ่านมาใส่ใหม่เมื่อวานนี้
		ถ่านไฟฉายที่ทำในเมืองไทยโดยฝีมือคนจีน..."
	
		และบางทีอาจเป็นข้อสรุปนี้ของราช รังรอง ที่ยังเป็นอมตะมา จนถึงทุกวันนี้
	
		"จากหน้าต่างที่เปิดอ้า ฉันมองเห็น
		ความว่างเปล่ากำลังรุมล้อมตัวบ้าน
		อันว่างเปล่ายิ่งกว่าความว่างเปล่า
		เมื่อฉันทรุดตัวลงนั่ง
		ฉันก็รู้ว่าฉันกำลังทำความรู้จักกับความปวดร้าว
		ความปวดร้าวที่เกิดจากการเสพย์ติดอารยธรรมของตะวันตก" 
					(หน้า ๑๙๒-๑๙๓)
	
		ขอบกรุงบทสุดท้ายของเขามีชื่อว่า "พรุ่งนี้" เขียนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐   ราช 
	รังรอง ได้ก้าวเข้าสู่กระแสการต่อสู้ต่อต้านอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกอย่างจริงจัง
		
		"ฉันเห็นทางสายนั้นยาวเหยียดออกไป
		และเธอก็อาจมองเห็น หากขนตายาวของเธอไม่หรุบลงมาต่ำ
		ทางสายนั้นดูธรรมดา
		เป็นทางดินที่เพิ่งดายหญ้า และถอนตอไม้ใหญ่ออกไปอย่างทุลักทุเล
		ด้วยมือ ไม่ใช่เครื่องจักร
		และมันคดเคี้ยวไปมาเหมือนทางเดินของปู"

		"ทางสายนั้นไม่ได้ผ่าเข้าไปใจกลางอารยธรรม
		สองข้างของมันไม่ใช่ศูนย์การค้าอย่างราชประสงค์
		หรือย่านเมืองใหม่ของเพชรบุรีตัดใหม่
		ปลายทางของมันไม่ได้อยู่ที่บริเวณแสดงสินค้านานาชาติ
		หรือสนามบินขนาดหนัก
		และผู้คนที่อยู่กับมันก็มิได้มีเครื่องแต่งกายอันโอ่อ่า
		แต่กลิ่นของมันก็หอมตรลบ
		และมีดอกไม้บานสะพรั่งอยู่เป็นทิวทุ่ง"
	
		เขาได้แสดงความศรัทธาต่อภารกิจของคนหนุ่มสาวยุคต่อสู้กับ "จักรวรรดินิยม"
	ไว้ว่า
	
		"บนไหล่ที่หนาปึกของเพื่อนเรา
		บนดวงใจของเพื่อนหนุ่มเพื่อนสาว
		ที่รักอิสระและเสรี
		ที่รักความเป็นไทและสามัคคี
		บนทางสายธรรมดาสายนั้น
		บนทางของสยาม.....สยามของวันพรุ่งนี้" (หน้า ๒๓๐-๒๓๑)
	
		เมื่อพิจารณาในแง่ศิลปะในการเขียนกลอนเปล่า เป็นการสมควรแล้วที่ ขอบกรุง
	จะได้รับการยกย่องว่าเป็น กลอนเปล่าชั้นดี 


กลับไปหนังสือประเภทกวีนิพนธ์