ศรีทะนนไชย เป็นชื่อที่ไม่ต้องการคำอธิบายขยายความมากนักสำหรับคนไทยเรา
ผู้คนมักรู้จัก เคยฟัง หรือเคยอ่านเรื่องศรีทะนนไชยกันมาแล้วนั้นมักมีผู้กล่าวถึงศรีทะนนไชย
ในแง่มุมที่ว่า เขาเป็นผู้มีปัญญา มีปฏิภาณไหวพริบดีและมีเล่ห์เหลี่ยม หรือฉลาดแกมโกงอยู่
พอตัว ความนิยมชมชอบนิทานศริทะนนไชยก็ดี ความนิยมในบุคลิกของศรีทะนนไชยก็ดี การ
ที่นิทานถูกเล่าซ้ำและถูกดัดแปลงเสริมแต่งมากเหลือเกินในแง่มุมต่างๆ ก็ดี เป็นภาพสะท้อน
กลับที่น่าสนใจยิ่งว่า คนไทยมีความนิยมชมชอบ มีความยอมรับหรือมีความต้องใจอยู่กับ
บุคลิกภาพของศรีทะนนไชยอยู่ไม่น้อย
ศรีทะนนไชยเซียงเหมี้ยง ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือนั้น มีเนื้อ
เรื่องโดยย่อว่า ในอดีตกาลนานมา พญาทวาละครองเมืองทวาลี มีลูกสืบตระกูลคนหนึ่ง แต่
ทำนายว่า กุมารน้อยจะเลี้ยงยากนัก ด้วยเหตุนั้นควรจะหาเด็กที่เกิดวันเวลาเดียวกัน มาเลี้ยง
คู่กันไปเป็นการแก้เคล็ด เด็กน้อยที่มีบุญ จะได้มาเป็นลูกเลี้ยงของพญา ก็คือ เซียงเหมี้ยง
ผู้เป็นชาวนาสามัญชน เซียงเหมี้ยง เมื่อเติบโตขึ้นได้ (ผญา) ปัญญามาจากการกินข้ออ้อย
๗ ลำที่ปลุกเสกจากป่าช้า
เมื่อลูกของพญาเจ้าเมืองขึ้นครองเมืองต่อจากพ่อแล้ว เซียง เหมี้ยงจึงกลาย
เป็นน้องของพญา ตลอดเวลาที่อยู่ในวังกับพี่พญา ซึ่งเป็นพญาทวาละองค์ใหม่ เซียงเหมี้ยง
เป็นเสมือนผู้ใกล้ชิด เซียงเหมี้ยงก็ได้ใช้สติปัญญาของเขา ทำให้พญารู้สึกสนุกครึกครื้น หรือ
บันเทิงใจอยู่ไม่น้อยคล้ายกับเซียงเหมี้ยงเป็นตลกหลวง แต่หลายครั้ง เซียงเหมี้ยงเล่นแรง
โดยไม่สนใจเขตแดนแห่งความเหมาะสม และบรรดาผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต่างพากันโกรธเคือง หรือ
เอือมระอา ด้วยว่าการเล่นแรงของเซียงเหมี้ยงทุกครั้งมีจุดมุ่งหมายจะทำให้ผู้อื่นต้องเสียหน้า
เสียรู้ และเสียทีอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เสียหน้าและเสียรู้อยู่เสมอก็คือ ตัวพญา
เจ้าเมืองนั่นเอง
การแสดงออกทางสติปัญญาของเซียงเหมี้ยงนั้น มักสะท้อนให้เห็นถึงความ
สามารถในการเล่นกับความจริงของโลกโดยพลิกแพลงเล่นคำตีโวหาร บิดผันความหมายหรือ
แบบแผนภาษาที่ใช้กันอยู่แบบหนึ่งให้เป็นไปในอีกแบบหนึ่ง เซียงเหมี้ยงนั้นรู้อยู่เต็มอกว่าคน
ทั่วไปในสังคม มีวิธีการสื่อสารกันแบบไหน และใช้แบบรูปภาษาอย่างไร ในสถานการณ์อะไร
แต่เขาสามารถเล่นตลก พลิกความคาดหมายของผู้ฟัง โดยใช้คำหรือภาษาชุดเดียวกันนั้นไป
ในความหมายอื่น
ครั้งหนึ่งพวกพ่อค้าเมี่ยงพนักกับเซียงเหมี้ยงว่าพวกตนสามารถข้ามคลองที่
ขวางอยู่ได้ แต่เซี่ยงเหมี้ยงว่าไม่มีทาง ครั้นพ่อค้าเมี่ยงลุยน้ำข้ามมาได้แล้ว เซียงเหมี้ยงกลับ
บอกว่า พ่อค้าไม่ได้ข้ามแต่ลุยน้ำว่ายมาต่างหาก ในที่สุดพ่อค้าเมี่ยงต้องยอมแพ้ยกเมี่ยงให้
เซียงเหมี้ยง "สี่ซ้าห้าบาท" ตามคำตัดสินของพญา ซึ่งเซียงเหมี้ยงกลับตีความว่าหมายถึง ๔
ซ้า (ตะกร้า) กับอีก ๕ บาทต่างหาก
เซียงเหมี้ยงเล่นตลกภาษากับพญา พญาให้พวกขุนนางไปหาผ้าซิ่นตีนแต้ม ซึ่ง
ตีนแต้ม หมายถึง ลวดลายที่ชายผ้าถุง แต่เซียงเหมี้ยงบอกว่าหาไม่ได้หรอก ใครเล่าจะเอา
"ตีน" มาทำงานอย่างนั้นได้
ครั้นพญาบอกให้เซี้ยงเหมี้ยงมาเฝ้าแต่เช้าโดยให้มาก่อนไก่ (หมายความว่าก่อน
ไก่ขัน) แต่เซียงเหมี้ยงทำเฉไฉตีความหมายมาก่อนไก่ ตามแบบของเขานั้น คือเขามาเมื่อ
เวลาสายโด่ง และลากเอาไก่ตามหลังมาด้วย
ครั้นพญาโกรธเซียงเหมี้ยงมากเข้า จึงไล่ตะเพิดไม่ให้เซียงเหมี้ยงมาให้เห็นหน้า
อีกเลยเซียงเหมี้ยงก็มายืนเฝ้าอยู่ริมทางในวันหนึ่งพร้อมกับหันก้น ให้แก่พญาแทนที่จะหัน
หน้า
พญาบอกแก่เซียงเหมี้ยงว่า หากยังไม่กลับแผ่นดิน (หมายถึงเปลี่ยนกษัตริย์)
ก็อย่าให้เห็นกันอีกเลย เซียงเหมี้ยงรอจนถึงฤดูกาลที่ชาวนาไถคราด เตรียมทำนา ก็มาเฝ้า
พญา และบอกแก่พญาว่าบัดนี้แผ่นดินกลับแล้ว เพราะชาวนาต้องพลิกหน้าดินขึ้นเพื่อการไถ
หว่าน เล่นเอาพญาถึงกับอึ้งไป
ความฉลาดมีไหวพริบแกมโกงของเซียงเหมี้ยงเช่นนี้ น่าจะถูกอกถูกใจคนไทย
ส่วนมาก เพราะคนไทยเป็นชนชาติที่ชอบการเล่นคำหรือการตีโวหารมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งการ
ตีโวหารทำต่อกษัตริย์หรือสถาบันที่ชาวบ้านอยากจะได้สิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์เป็นพื้นอยู่แล้วเช่น
นี้ ก็ยิ่งทำให้ศรีทะนนไชยกลายเป็นทหารเอกในใจของคนไทยอยู่สืบมา
มองย้อนไปในอดีต เป็นสิ่งอันเข้าใจได้ดีทีเดียวว่า ปัญญาของเซี้ยงเหมี้ยงใน
การเล่นภาษานี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีรากฐานที่มาชนชาติไท-ลาว (บางที่อาจรวมชุมชนกสิกรรมยุค
แรกๆ ทั่วไปไว้ด้วย) ต่างก็มักมีความสามารถในการเล่นกับภาษาในหลายรูปแบบอยู่ก่อน
แล้ว อาทิ เราจะเห็นได้ว่า ผญา ของชาวอีสานก็ดี ปริศนาคำทายต่างๆ ของชาวบ้านภาค
ต่างๆ ก็ดี การเล่นกับภาษาด้วยกลบทอันแยบคายในเพลงพื้นบ้านก็ดี เป็นมรดกวัฒนธรรม
ซึ่งยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ศรีทะนนไชยเซียงเหมี้ยงเองก็เป็นผลผลิตหรือภาพสะท้อนของวัฒนธรรมใน
การเล่นกับความคิดและภาษาของคนไทยนั่นเอง คำถามห้าข้อที่เซียงเหมี้ยงใช้ถามพระผู้
บวชมาก่อนเพื่อลองภูมิรู้ว่า "ดังวา ซาโต ครุชรา สิงคาวา และแปะๆ ซ้อนๆ แปะๆ ยายหยาด
คืออะไร" นั้น เซียงเหมี้ยงเฉลยว่า
ดังวา คือ งวงช้าง (ดัง = จมูก / วา = ๑ วา)
ซาโต คือ คางคก (ซาโตเป็นคำกล่าว แปลว่า ขรุขระ คือหนังคางคก)
ครุชรา คือ ภาชนะตักน้ำเก่า (ครุ = ภาชนะบรรจุน้ำ / ชรา =แก่)
สิงคาวา คือ งูสิงยาวราววาหนึ่ง (สิง =งูชนิดหนึ่ง / คา = ประมาณ / วา = ๑ วา)
แปะๆ ซ้อนๆ แปะๆ ยายหยาด คือ ควายขี้ไปตามทางเดิน
(แปะๆ - ควายขี้ลงดิน / ยายหยาด = หยดกระจัดกระจาย)
ปริศนาคำทายของเซียงเหมี้ยงก็เหมือนกับปริศนาคำทายพื้นบ้านทั่วไปที่เรารู้จัก
อย่างเช่น ปริศนาคำทายของภาคเหนือ ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ้งโหน่ง ซึ่งหมายถึงขนุน
แต๊บแป๊บเต้าห่อเกลือ ไปเมืองเหนือก็ฮอด คือ เท้าของคนเราตกบ่ดัง ก็คือ ลักษณะของ
ตะวันตกดิน เป็นต้น
ถ้าการเล่นพลิกแพลงกับภาษาสะท้อนให้เห็นถึงความช่างสังเกต ความเอาใจใส่
ต่อรายละเอียดและการปรากฎตัวของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติและชีวิตต่างกรรมต่างวาระ
เซียงเหมี้ยงก็ได้รวมเอาบุคลิกภาพเช่นนั้นไว้ในตัวของเขา จนสามารถนำเอาความรู้ ความเข้า
ใจเช่นนั้นมาเล่นพลิกแพลงในสถานการณ์ต่างๆ ได้
เซียงเหมี้ยงไม่ได้ใช้แต่ภาษาอย่างเดียว เป็นเครื่องมือในการแยกตัวของเขา
ออกมาเป็นคนประเภทพิเศษกว่าผู้อื่น แต่เขามีความสามารถในการหยั่งรู้ ความคิดของผู้คน
รู้จักคิดวางแผนในสิ่งที่คนคิดไปได้ไม่ถึงถนัดรู้เรื่องหญ้าปากคอก ที่ผู้คนมักจะมองผ่านไป
เขาสนใจสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ และรู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เขาเผชิญอย่างมีชั้น
เชิง หลังจากไตร่ตรองแล้ว เซียงเหมี้ยงมักใช้วิธีการกลับหัวเป็นหางเสีย ในการจัดการปัญหา
นั้นๆ เมื่อพญาบอกเซียงเหมี้ยงว่า อยากจะได้ยากินข้าวแซบ เซียงเหมี้ยงทำทีไปหายาปล่อย
ให้พญารอจนหิว ทนไม่ไหวก็ต้องกินข้าวเองโดยไม่ต้องกินยาขนานใด หรือเมื่อพญาสั่งว่าให้
ข้าราชบริพารเล่นเป็นไก่ออกไข่ เซียงเหมี้ยงก็เล่นเป็นไก่ตัวผู้และบอกพญาว่าเป็นไปไม่ได้ที่
ตัวผู้จะออกไข่ ดังนั้นตนจึงไม่ออกไข่ แต่ไล่ปล้ำไก่ตัวเมียแทน
การเล่นตลกพนันให้คนอื่นพ่ายแพ้ และเสียรู้โดยตัวเราไม่ต้องเสียทีแบบนี้เป็นการ
เล่นกันด้วยปัญญาและเพราะว่าปัญญา ที่เซียงเหมี้ยงใช้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย และดูเหมือนเข้า
ถึงได้ง่ายจึงทำให้ผู้อ่านและผู้ฟังเรื่องเซียงเหมี้ยงอาจรู้สึกว่าตนเองก็พอจะเข้าถึงสิ่งนั้นได้
เหมือนกัน คล้ายๆ กับที่คนไทยชอบเล่นปริศนาคำทาย เราชอบแก้แม้จะทายไม่ถูก ก็เพราะว่า
คำตอบของคำทายนั้นโดยมากมักเป็นสิ่งที่เรารู้แล้วแต่คิดไม่ถึงหรือลืมไป ลองนึกดูว่าถ้าเซียง
เหมี้ยงต้องแก้โจทย์อันยากและซับซ้อน มิหนำซ้ำตำตอบที่เฉลยออกมายากหนักขึ้นไปอีก เราก็
คงไม่นึกอยากจะเล่นทายปัญหานั้นเลย เพราะเรื่องแบบนั้นมีไว้สำหรับพวก นักปราชญ์มาก
กว่า และถ้าเป็นนิทานของพวกปราชญ์ เซียงเหมี้ยงคงจะน่าเบื่อไปถนัดใจสำหรับคนธรรมดา
ตลกของเซียงเหมี้ยงหลายตอนมักเล่นกับเรื่องขี้ เรื่องเยี่ยว หรือเรื่องตด เป็น
ต้น เช่น เมื่อพญาหลอกให้เซียงเหมี้ยงกินแกงอีแร้ง เซียงเหมี้ยงก็หลอกให้พญากินขี้อีแร้ง
เมื่อพญาบอกว่าอยากจะได้สิ่งของที่เซียงเหมี้ยงนำมาถวายบ้าง เซียงเหมี้ยงตดใส่หม้อมา
ถวายให้พญา และเมื่อพญาบอกให้พวกนางสนมพากันเยี่ยวรดธาตุของเซียงเหมี้ยงเมื่อเผา
แล้ว เซียงเหมี้ยงรู้แล้วจึงวางแผนล่วงหน้าให้ใช้ไม้ลังเผาศพของเขา เพื่อว่าเถ้าไม้ลังจะได้
กระเด็นขึ้น เป็นผลให้ต้องของสงวนของนางสนมจนฟกบวม เป็นการสั่งลา ตลกชนิดนี้เป็น
ตลกที่ถึงอกถึงใจ เป็นตลกธรรมดาสำหรับนิทานไทยโบราณ แต่ไหนแต่ไรมาในชีวิตจริงเรื่อง
เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสามานย์ นิทานไทยเล่นกับเรื่อง ขี้ เยี่ยวหรือเรื่องเพศ อย่างเปิดเผย คล้าย
กับเป็นการเล่นกับส่วนต่ำ หรือส่วนลึกของมนุษย์ด้วยท่าทีปกติธรรมดา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป
แล้วต่างหาก เรื่องราวแบบนี้กลับเป็นของสกปรกหรือต้องห้าม จนกระทั่งนิทานศรีทะนนไชย
บางเล่มถึงกับตัดทอนตอนเหล่านี้ออกทำให้เสียอรรถรสไปมาก
การใช้ปัญญาของเซียงเหมี้ยง มีรสชาติกว่าคำสอนประเภทปริศนาคำทายหรือ
ผญา และบทเพลงพื้นบ้าน ก็เพราะว่า เซียงเหมี้ยง ใช้ปัญญาในบริบทที่ท้าทายนั่นคือใช้
ปัญญากับคนชั้นสูงที่เป็นตัวแทนของสถาบัน เช่น กษัตริย์และพระสงฆ์และยังก้าวไปถึงขั้น
ทำให้กษัตริย์ และพระสงฆ์กลายเป็นตัวตลกต้องยอมแพ้เขาอีกด้วย
แม้ว่ากษัตริย์ และพระสงฆ์จะเป็นสถาบันอันสูงส่งที่ชนชาติไท-ลาว ยอมรับนับถือ
มาช้านาน แต่ก็มิใช่ว่าสถาบันจะเป็นสิ่งที่ขาวสะอาด นิทานเซียงเหมี้ยงชี้ให้เห็นเรื่องราวอย่าง
ธรรมดาของกษัตริย์และพระสงฆ์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง และเพราะเหตุที่เป็นนิทาน ไม่ใช่เรื่อง
จริง ผู้เล่าจึงมีสิทธิจะวิจารณ์หรือล้อเล่นกับความรัก โลภ โกรธหลง เหล่านั้นโดยไม่มีความ
ผิด นี่เป็นช่องระบายออกที่สังคมมีไว้ให้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินผู้ที่คุ้นเคยกับนิทานพื้นบ้านล้านนา
และล้านช้าง จะสังเกต ว่า ทั้งกษัตริย์และพระนั่นแหละที่จะถูกนำมาเป็นตัวละครที่ถูกวิพากษ์
วิจารณ์มากที่สุดในอันดับต้นๆ ค่าที่เป็นสถาบันอันมาจากนอกหมู่บ้าน
อ่านหน้าต่อไป คลิกที่นี่
|