ปัญญาวิวัฒน์
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗

พันเอกสมัคร บุราวาศ
(พ.ศ.๒๔๕๙ - ๒๕๑๘)


	
		ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว Perry Anderson มาร์กซิสต์ชาวอังกฤษ ได้
	เคยกล่าวถึง Karl Kautsky นักคิด นักเขียนชาวเยอรมันในบทความ 'Arguments
	within English Marxism' ของเขาไว้ว่า Kautsky เขียนหนังสือเรื่อง The Materialist 
	Conception of History ตั้งแต่เรื่องราวของโปรโตซัว ไปตลอดกระทั่งถึงรูปแบบรัฐ
	ในอนาคต ซึ่งมีความหมายว่า Kautsky มีความเข้าใจดีเกี่ยวกับความเกี่ยวพันของ
	สรรพสิ่งในโลก คงจะมีผู้อ่านชาวไทยน้อยคนที่จะได้ทราบว่า ในบรรณพิภพของ
	เรามีหนังสือชนิดเดียวกันนี้ เขียนโดยนักคิดนักเขียนคนสำคัญ สมัคร บุราวาศ 
	โดยที่ใช้ทัศนะในการพิจารณาวิวัฒนาการสังคมมนุษย์จากพื้นฐานทฤษฎีเดียวกัน
	กับ Karl Kautsky นั่นเอง และเขาตั้งชื่อหนังสือชุดนี้ว่า ปัญญาวิวัฒน์

		สมัคร บุราวาศ ผู้เขียน ปัญญาวิวัฒน์ เป็นอัจฉริยบุคคลผู้หนึ่ง เมื่อ
	อายุ ๑๗ ปีเขาสอบได้ที่ ๑ ของประเทศ ในขณะเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
	และ ๑ ปีต่อมาเขาสอบชิงทุนการศึกษาต่างประเทศได้เป็นที่ ๑ อีก สุดท้ายได้รับ
	ปริญญา B.Sc. (First Class Hon. Lond) เป็นอันดับ ๑ ของราชวิทยาลัยการเมือง
	จากประเทศอังกฤษ  สมัคร บุราวาศ เขียนหนังสือ ๒ เล่มแรกในชีวิตของเขาในขณะ
	ที่อายุเพียง ๑๗-๑๘ ปี ได้แก่ พุทธปรัชญาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์  และเล่มที่สอง
	คือ วิทยาศาสตร์ของภาษาไทย จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หนังสือทั้งสองเล่มนี้
	แสดงให้เห็นองค์ความรู้อันลุ่มลึกและกว้างขวางของสมัคร บุราวาศ  สำหรับเล่ม
	หลัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้เขียนคำนำของหนังสือถึงกับกล่าวยกย่อง
	เขาไว้ว่า

		"บุคคลผู้นี้ในอนาคตจะเป็นนักปราชญ์"
	
		พื้นฐานความคิดของสมัคร บุราวาศ ได้รับการวางรากฐานและเติบโต
	ขึ้นมาด้วยทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษา และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในคริสต์
	ทศวรรษ ๑๙๓๐ ในเวลาดังกล่าวนั้นทั่วทั้งโลกก้าวพ้นจากอิทธิพลสำนักคิดจิตนิยม
	เข้าสู่สำนึกคิดใหม่ที่เชื่อว่า  สสารเป็นธาตุแท้ของจักรวาล  นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ 
	ของอังกฤษในเวลาที่สมัคร บุราวาศ ศึกษาอยู่ที่นั่น ล้วนแต่อยู่ในแนวโน้มของชาว
	มาร์กซิสต์ฝ่ายซ้าย เช่น นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงอย่าง A.B.S Halden J.D. Bernal 
	Sage และ Rodney Hilton เป็นต้น  ล้วนแต่กำลังผลิตงานด้านวิทยาศาสตร์บนพื้น
	ฐานทฤษฎีใหม่ของวัตถุนิยมวิภาษ  วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ทุกคนที่กล่าวมานี้อยู่ใน
	ขบวนการเคลื่อนไหวของมาร์กซิสม์ ซึ่งกำลังเฟื่องฟูยิ่งในเคมบริดจ์ และเช่นเดียวกัน   
	ในระยะนี้ในสายสังคมศาสตร์ก็มีผลงานของ  Christopher Hill, E.J.Hobsbawm, 
	E.P.Thomson และ Arnold Toynbee เป็นต้น ซึ่งอธิบายพัฒนาการสังคมมนุษย์ 
	ด้วยทฤษฎีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

		หัวใจของไดอะเลกติค และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ที่สมัคร บุราวาศใช้นั้น
	เชื่อว่า สรรพสิ่งในสังคมดำเนินไปด้วยเหตุที่มีความขัดแย้ง จึงมีการเปลี่ยนแปลง มี
	พัฒนาการ และมีวิวัฒนาการ  จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลง ทั้งในธรรมชาติ และใน
	สังคมมนุษย์ ทฤษฎีใหม่นี้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางปริมาณจะนำไปสู่ การเปลี่ยน
	แปลงทางคุณภาพ F. Engels ผู้บุกเบิกคนหนึ่งของทฤษฎีนี้กล่าวว่า มีสาเหตุทาง
	วัตถุเสมอในวิวัฒนาการทุกอย่างของสังคม  และเขาได้มองเห็นวิวัฒนาการของสสาร
	ดำเนินมาเป็นขั้นๆ จากสภาพหมอกธาตุไปสู่ดาวพระเคราะห์จากสารอนินทรีย์ ในดาว
	พระเคราะห์ไปเป็นพืช จากพืชไปเป็นสัตว์ และจากสัตว์ไปเป็นมนุษย์ ทีนี้มนุษย์ก็เข้า
	สัมพันธ์กันเป็นสังคม แบบต่างๆ ต้นเหตุแห่งความสัมพันธ์อยู่ที่แบบวิธีในการผลิต
	ของกินของใช้  ในขั้นเก็บหาอาหารจากธรรมชาติ มนุษย์มีเครื่องมือหินเพียงหยาบๆ 
	และอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กๆ ต่อมามนุษย์ร่วมกันผลิตและอยู่กันเป็นครัวเรือนใหญ่ๆ 
	ที่เรียกว่าชุมชนบุพกาล ถัดไปอีกก็เกิดความสัมพันธ์ในการผลิตแบบทาสและนายทาส  
	ก่อให้เกิดสังคมศักดินา ความสัมพันธ์ในการผลิตเป็นแบบเจ้าที่ดินกับชาวนา  แต่คน
	สองพวกนี้ขัดแย้งกันเป็นเหตุให้เกิดสังคมทุนนิยมและให้กำเนิดชนชั้นกรรมกรกับนาย
	ทุนขึ้น  และมีความขัดแย้งกัน  สมัคร บุราวาส มีความเห็นพ้องกับทฤษฎีนี้อย่างยิ่ง ใน
	งานค้นคว้าเรื่อง ปัญญาวิวัฒน์ นี้ เขาได้กล่าวถึงกำเนิดและวิวัฒนาการแห่งปัญญา
	ของมนุษยชาติในอดีตโดยอาศัยหลักการพื้นฐานของทฤษฎีที่กล่าวมานี้ หนังสืออ้างอิง
	ที่เป็นหลักสำคัญที่เขาใช้ศึกษาค้นคว้าสำหรับ 'ปัญญาวิวัฒน์' ก็บ่งชี้ว่าเขาเดินมาตาม
	แนวทางนี้ ได้แก่ หนังสือชื่อ 'Origin of Families' และ 'Dialactic of Nature' ของ 
	F. Engels และ 'Capitalism' ของ Karl Marx เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านจะไม่ได้พบ
	รายชื่อหนังสือทั้ง ๓ เล่มนี้ในรายการอ้างอิงท้ายเล่มของ "ปัญญาวิวัฒน์" แม้จะได้พบ
	ว่าเขาอ้างถึงมันเสมอขณะบรรยายวิวัฒนาการสังคมในเล่ม ก็เพราะว่าสภาพสังคมไทย
	ในเวลานั้นไม่เปิดโอกาสให้การเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของความคิดทางสังคมของ 
	"ฝ่ายซ้าย" และไม่เปิดโอกาสให้เขาได้อ้างอิงหนังสือของสำนักนี้อย่างเปิดเผยไว้ใน
	บรรณานุกรมอีกหลายเล่มอีกด้วย

		แม้ว่าจะมีหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการสังคมในแนวก้าวหน้าหลายเล่ม ถูก
	ผลิตออกมาในวงการหนังสือของไทยโดยเฉพาะในยุค ๒๕๐๐ เช่น งานของ  จิตร 
	ภูมิศักดิ์  กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคนอื่นๆ  แต่ ปัญญาวิวัฒน์ ตีวงการ ศึกษากว้าง
	กว่านั้นมาก เพราะสมัคร บุราวาศ มีความสนใจหรือมีพื้นทางความรู้วิทยาศาสตร์ดีมาก 
	ดังนั้นเขาไม่เพียงแต่อธิบายวิวัฒนาการทางปัญญาของมนุษย์ด้านสังคม แต่ยังขยาย
	ออกไปถึงวิทยาศาสตร์ทุกสาขา และชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องของวิวัฒนาการความรู้
	ทั้งสองด้านอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้แม้ผู้ที่สนใจการเมือง ไม่สนใจวัตถุนิยม 
	ประวัติศาสตร์ หรือวัตถุนิยม ก็ยังควรอ่านหนังสือเล่มนี้

		หนังสือชุด ปัญญาวิวัฒน์ ได้แสดงภาพวิวัฒนาการของมนุษย์นับจาก
	อดีตจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือราวคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ เริ่มต้นตั้ง
	แต่ยุคที่กำเนิดปฐมมนุษย์ในแอฟริกาและชวาไปจนถึงสมัยปรมาณู ซึ่งระบบทุนนิยม
	กับระบบสังคมนิยมกำลังขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรงทุกด้าน
	
		สมัคร บุราวาส เป็นผู้มีความเห็นว่าพัฒนาการของปัญญาเป็นผลิตผล
	ของมนุษยชาติทั้งมวล มิใช่เกิดมาจากจอมปราชญ์  ดังนั้น เขาจึงได้สร้างข้อตกลง
	ขึ้นก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในการบรรยาย "ปัญญาวิวัฒน์" ว่า  "ความรู้ทั้งปวงได้มาจาก
	การรับรู้โดยอาศัยผัสสะกับโลกภายนอก...ความรู้เกิดขึ้นระหว่างความจัดเจน ในการ
	ต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อชีวิตของมนุษย์โบราณ หาใช่เกิดจากความดลใจของพระเป็นเจ้า
	อย่างใดไม่" (หน้า ๑๑) จุดเน้นของเขาในข้อนี้ได้ถูกย้ำไว้ เพราะเขาต้องการจะ
	อธิบายว่า  วิวัฒนาการแห่งปัญญาของมนุษย์ในความหมายของเขาเกิดจากน้ำมือ
	ของมนุษย์เอง  จุดยืนเช่นนี้ยังได้ถูกประกาศไว้ด้วยในคำปรารภในการพิมพ์ครั้งที่ ๑
	ความว่า
		
		          "ประวัติศาสตร์นี้   หมายกล่าวถึงประวัติาสตร์ของสังคมของ
		ธรรมชาติของมหาบุรุษ ของเศรษฐกิจ ของการผลิตปัจจับแห่งชีวิต ไม่
		ได้ หมายถึงพงศาวดาร หรือนิยายปรัมปรา ซึ่งว่าด้วยพระมหากษัตริย์ 
		หรือประมุขของเผ่าชนเป็นส่วนใหญ่" (คำปรารภ)
		
		สมัคร บุราวาศ ได้ทำการศึกษาและอธิบายสังคมของคนป่า  ของพวก
	อารยชนในสังคม  บุพกาล ของมนุษย์ในสมัยที่อารยธรรมโบราณตามลุ่มน้ำสำคัญ
	ได้ลงรากฐานชัดเจน  จากนี้เจาะลึกลงไปวิเคราะห์สังคมสมัยอารยธรรมใหม่ของ
	กรีซ-โรมัน อินเดีย จีน  เขาวกกลับมาวิเคราะห์สังคมสมัยมืดมนทางปัญญา ระบบ
	ศักดินา  สมัยเรอเนสซองส์ จากนั้นก็เคลื่อนเข้าสู่ยุคสะสมทุน ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 
	แล้วเจาะลึกศึกษาวิวัฒนาการของความรู้ในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ ตามลำดับ
	
		ไม่ใช่หนังสือของสมัคร บุราวาศ เล่มเดียวที่กล่าวถึงพัฒนาการของยุค
	ต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ แต่ในเวลานั้นจะมีก็แต่งานของเขาเพียงเล่มเดียวนี้เองที่ได้
	ตอบคำถามสำคัญๆ ที่น่าสนใจที่เหลือเกินสำหรับผู้แสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบต่อ
	เนื่องบนพื้นฐานทฤษฎีเดียวกัน ต่อเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติ กับ
	โลกทางสังคม เข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว นอกจากนี้ยังมีแง่มุมของคำอธิบายที่อ่าน
	สนุก และฟังดูแปลกแทรกอยู่เสมอๆ อีกด้วย

		ดังเช่น สมัคร บุราวาศ ได้อธิบายที่มาของความคิดและความฝันไว้ว่า
				
		         "สาเหตุของปัญญานี้คือการมีเวลาว่างสำหรับฝันและคิด ภายในถ้ำ
		อันปลอดจากอันตรายของลมฟ้าอากาศ เราจะเห็นได้ง่ายๆ ว่ามนุษย์บน
		ต้นไม้จะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะต้องมีระวังลมพายุกับอันตรายนานับ
		ประการ ลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วในที่เปิดเผย จะทำให้จิตมนุษย์ 
		พะวักพะวงถึงร่างกายมากกว่าสิ่งอื่นใด แต่การพบเครื่องมือล่าสัตว์กับ
		วิธีทำไฟ ทำให้เขาเข้าไปอยู่ในถ้ำได้  ที่อยู่อาศัยใหม่นี้ทำให้เขาหลับและฝัน
		เป็นเรื่องเป็นราว ข้อนี้เองเป็นเหตุให้ชีวิตทางความคิดเกิดขึ้น" (หน้า ๒๓)
อ่านต่อ ไปหน้าที่ 2


กลับไปหนังสือประเภทศาสนา, ปรัชญา