บิลล์ เกตส์… กับมรสุมเวบบราวเซอร์
จากจุดเริ่มต้นของเด็กวัยรุ่นอายุ 19 ปี

พลิกผันสู่โลกธุรกิจซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาประสพความสำเร็จ

และเหตุการณ์ทำท่าจะไปด้วยดี หากไม่มี

เน็ตสเคป เกิดขึ้นมาท่ามกลางกระแสเวบบูม

สงครามเวบบราวเซอร์กำลังระอุขึ้นมาแล้ว…


 
 
 

            ในทุกวันนี้กล่าวได้ว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกแทบทุกคนไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟต์ แต่ถ้าหากเอ่ยถึงผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ที่ชื่อนายบิลล์ เกตส์ บางคนอาจจะรู้จักเป็นอย่างดี บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำ บางทีอาจจะนึกไปถึงบิลล์ คลินตันโน่นเลยก็ได้ เอายังนี้ก็แล้วกัน สมมติว่าคุณไม่เคยรู้จักอะไรเกี่ยวกับบิลล์ เกตส์เลย ถ้าหากจะให้คุณลองหลับตานึกภาพของประธานบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์ โดยส่วนตัวของผู้เขียนเอง เคยคิดว่าประธานบริษัทไมโครซอฟต์คงจะเป็นชายหนุ่มร่างใหญ่ อ้วนพลุ้ย พูดเสียงดังน่าเกรงขาม ดูภูมิฐาน มาดนักธุรกิจเต็มตัว อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ประมาณว่าอาจจะใส่แว่นตาและหัวล้านนิดหน่อย
        แต่ที่พูดมาผิดถนัด เพราะบิลล์ เกตส์ ผู้กุมไมโครซอฟต์ไว้ในมือ เป็นเพียงผู้ชายวัยกลางคน ที่มีอายุเพียง 40 ปี ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว หน้าตาเป็นมิตร ท่าทางอารมณ์ดีทีเดียว ก็จะไม่ให้อารมณ์ดีอย่างไร ในเมื่อเขาถูกจัดให้เป็นคนที่รวยที่สุดในอเมริกาติดต่อกันถึง 3 ปีแล้ว ด้วยตัวเลขทรัพย์สินที่เขามีอยู่ถึง 18,500 ล้านดอลลาร์ หรือเทียบเป็นเงินไทยก็กว่า 5 แสนล้านบาท ( 25 บาทต่อดอลลาร์ โดยประมาณ ) ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาลที่ฟังแล้วน่าอิจฉา และจะอิจฉามากยิ่งขึ้น เมื่อคุณรู้ว่าเขาเริ่มต้นธุรกิจที่ก่อให้เกิดกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ด้วยเงินไม่กี่ดอลลาร์ และล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ ราคาหุ้นของไมโครซอฟต์พุ่งขึ้น 3 ล้านดอลลาร์ ไปหยุดที่ 144.50 ดอลลาร์ ต่อหุ้น ทำให้มูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวของบิลล์ เกตส์ เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว ในปัจจุบันเขามีหุ้นอยู่ในไมโครซอฟต์อยู่ถึง 141 ล้านหุ้น คิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปีก่อนมูลค่าหุ้นในมือบิลล์ เกตส์ มีเพียง 13,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น จากหนังสือที่ บิลล์ เกตส์ เขียนเอาไว้ชื่อ " BILL GATES THE ROAD AHEAD " หรือ " เส้นทางสู่อนาคต โดยบิลล์ เกตส์ " ที่เขาได้รวบรวมเอาแนวความคิด การทำนายถึงอนคตของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งในนั้นได้มีประวัติเกี่ยวกับตัวเขา และไมโครซอฟต์..

บิลล์ เกตส เกิดและเติบโตที่เมืองซีแอตเติล มนรัฐวอชิงตัน จุดเริ่มต้นการชอบคอมพิวเตอร์ของเขาคงเหมือนกับเด็กชายคนอื่น ๆ ที่มาจากเล่นเกม ในสมัยที่เขาเรียนหนังสือมัธยม เขาเล่นเกมเสือตกถังร่วมกับเพื่อนสนิท พอล แอลเลน ซึ่งพอลในปัจจุบันก็คือผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์ ร่วมกับบิลล์ และพอลยังเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 3 รองลงมาจากบิลล์ เกตส์ แถมพอลยังมีอายุแก่กว่าบิลล์ เกตส์ 3 ปี ปัจจุบันเขาอายุ 43 ปี ทั้งคู่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน และสนใจที่จะเล่นคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ในสมัยนั้นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของนักเรียนมัธยม ถือเป็นเรื่องลำบากมาก เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์มีราคาสูง การจะเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนมีอยู่เครื่องเดียว จะต้องจ่ายเงิน 40 เหรียญต่อชั่วโมง จึงทำให้บิลล์ เกตส์ และพอลต้องหารายได้พิเศษเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการที่จะทำให้เขาทั้งคู่มีโอกาสเข้าไปใช้เครื่องที่โรงเรียน และจุดนี้เองที่ทำให้เขาเข้าไปสู่โลกของธุรกิจซอฟต์แวร์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยเขาได้งานเขียนโปรแกรมที่ทำให้มีรายได้ถึง 5,000 เหรียญต่อหนี่งช่วงปิดเทอมฤดูร้อน หนึ่งในโปรแกรมนั้น บิลล์ได้มีโอกาสเขียนโปรแกรมคัดเลือกนักเรียนบรรจุในแต่ละห้อง และด้วยความเจ้าเล่ห์ของบิลล์ ที่เขาแอบป้อนคำสั่งพิเศษเข้าไป ทำให้เขาเกือบจะเป็นผู้ชายคนเดียวในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยสาว ๆ
            ในช่วงเวลานั้น เมื่อเทียบกันแล้วพอลค่อนข้างจะรู้จักฮาร์ดแวร์ดีกว่าบิลล์ และทั้งคู่ก็ยังคงติดตามความเป็นไปของคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง และในปี ค.ศ. 1973 ( พ.ศ.2516 ) บิลล์ เกตส์ ก็ได้เข้าเรียนในฮาร์ดวาร์ด และพอล แอลเลนไปทำงานในบอสตัน เป็นเจ้าหน้าที่เขียนโปรแกรม มินิคอมพิวเตอร์ให้บริษัทฮันนีเวลล์ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะสร้างบริษัทใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของตนเองขึ้นมา และด้วยความเชื่อมั่นในลางสังหรณ์ของตนที่มองการปฏิวัติการสื่อสารนั้น ถูกต้อง ในปี 1975 ( พ.ศ.2518 ) บิลล์ เกตส์ และพอลได้เปิดบริษัทขึ้น จากเงินออมที่มีอยู่ เงินที่มาจากการทำงานของพอล และรายได้พิเศษจากการเล่นโป๊กเกอร์ของบิลล์ ( บิลล์ เกตส์ในสมัยเป็นนักเรียนเป็นนักเล่นโป๊กเกอร์ตัวยง ) โดยพอลได้ลาออกจากงานเขียนโปรแกรม และเขาก็ตัดสินใจพักการเรียนที่ฮาร์ดวาร์ด… และโชคก็เข้าข้างบิลล์ เกตส์ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานบริษัทไมโครซอฟต์ ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก มีพนักงานกว่า 19,000 คน มียอดขายต่อปีเกินกว่า 8.7 พันล้านเหรียญ ซึ่งบิลล์บอกว่าการประสพความสำเร็จของเขามาจากปัจจัยสำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์แรกเริ่ม
            ไมโครซอฟต์ตั้งสำนักงานแห่งแรกในเมืองอัลบูเคิร์ก มลรัฐเม็กซิโก ด้วยหน้าที่จัดหาซอฟต์แวร์ภาษาเบสิก ให้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคก่อตั้งเกือบทุกยี่ห้อ โดยลบิลล์ เกตส์ รับหน้าที่ทางด้านการขาย การเงินและการตลาด รวมทั้งการเขียนรหัสในช่วงปีแรก ๆ ของซอฟต์แวร์ของเขามียอดขายต่ำกว่าคิด ในขณะที่ซอฟต์แวร์ของเขาได้รับความนิยมใช้ในวงกว้าง ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาที่เปรียบเสมือนหนามทิ่มตำใจบิลล์มาตลอด นั่นก็คือการก๊อปปี้ซอฟต์แวร์ไปใช้ฟรี ๆ เวลาผ่านไปหลายปี บิลล์ได้บุกบั่นฝ่าฟันจนประสพความสำเร็จในการขายซอฟต์แวร์ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ในสหรัฐ และต้นปี 1979 นั่นเอง บิลล์ได้พาไมโครซอฟต์และพนักงานเกือบโหล ย้ายจากอัลบูเคิร์กไปตั้งสำนักงานใหม่ที่แถบชานเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน บ้านเกิดของเขา ในยุคนั้น เป้าหมายของไมโครซอฟต์อยู่ที่การเขียนซอฟต์แวร์ ซึ่ง ณ วันนี้ บิลล์ เกตส์ ยังคงยืนยันที่จะทำธุรกิจเช่นนี้ตลอดไป ในวันนี้ธุรกิจหลักของไมโครซอฟต์แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก ๆ นั่นก็คือ ระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์ โปรแกรมช่วยต่าง ๆ โปรแกรมเซอร์ฟเวอร์ และสื่อโต้ตอบ

สงครามเวบบราวเซอร จากประวัติโดยคร่าว ๆ ของบิลล์ เกตส์ เข้าสู่เรื่องราวของอินเทอร์เน็ตกันบ้าง ถ้าหากคุณติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในตอนนี้ จะเห็นได้ว่าตอนนี้ไมโครซอฟต์กำลังทุ่มสุดตัวเพื่อจะแบ่งก้อนเค้กจากตลาดเวบบราวเซอร์มาจาก เน็ตสเคปให้ได้ โดยทั้งนี้และทั้งนั้น บิลล์ เกตส์ เองได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในทัศนะของเขาว่า อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นทางด่วนข้อมูลตามที่เขาใฝ่ฝัน น่าจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของทางด่วนข้อมูล เขากล่าวต่อไปอีกว่า อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีวิวัฒนาการที่รวดเร็วมากเสียจนการนิยามผ่านไปเพียงปีเดียวหรือครึ่งปี กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ยิ่งจะทำให้สับสนและยากที่จะตามให้ทันสถานการณ์อันแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งหลายบริษัทรวมทั้งไมโครซอฟต์ได้ร่วมมือกันเพื่อจะกำหนดมาตรฐานในอันที่จะขยายขอบข่ายอินเทอร์เน็ต และเอาชนะข้อจำกัดที่มีอยู่
            แน่นอนที่สุดว่าความฝันของบิลล์ เกตส์ คือทางด่วนข้อมูล และอินเทอร์เน็ตคือจุดเริ่มต้นในการพาเข้าไปสู่ความฝัน ดังนั้นสงครามแย่งชิงความเป็นเจ้าผู้ครองตลาดเวบบราวเซอร์จึงเริ่มขึ้น เมื่อไมโครซอฟต์มีนโยบายในปี 1997 สำหรับทุ่มงบวิจัยซอฟต์แวร์มากถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์ โดยกำหนดว่า Internet Explorer เวอร์ชัน 4.0 จะออกมาให้ดาวน์โหลดกันได้ในปลายปีนี้ ซึ่งแต่เดิมที่มีทีมโปรแกรมเมอร์พัฒนาซอฟต์แวร์ตรงนี้ 8 คน ถูกเพิ่มเป็น 30 คน โดยมีความหวังว่าจะครอบครองตลาดซอฟต์แวร์เวบบราวเซอร์แทนเน็ตสเคปน้องใหม่ตัวจ้อยที่มีพนักงานประจำแค่ 600 คน ที่หลังจากตั้งมาได้เพียง 2 ปีกว่า เน็ตสเคปกลับมีมูลค่าตลาดถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์ หุ้นของเน็ตสเคปพุ่งขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นประวัติการณ์ ซอฟต์แวร์เน็ตสเคป เนวิเกเตอร์สามารถพบได้ในคอมพิวเตอร์ถึง 40 ล้านเครื่อง และจากการสำรวจของบริษัทโซนา รีเสิร์ซ ได้เผยแพร่ผลวิจัยล่าสุดพบว่า เน็ตสเคปยังครองความเป็นผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ เวบบราวเซอร์ ด้วยอัตราสูงถึง 59 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อินเทอร์เน็ต เอ๊กซ์พลอเรอร์ของไมโครซอฟต์ กระเตื้องขึ้นมาครองตลาดเพิ่มเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเวบบราวเซอร์ของค่ายอื่น ซึ่งคาดการณ์กันว่า ต่อไปในอนาคตเวบบราวเซอร์น่าจะเหลือเพียงแค่เน็ตสเคปกันอินเทอร์เน็ตเอ๊กซ์พลอเรอร์เท่านั้น
            บิลล์ เกตส์ เองหาได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ โปรเจ๊กต์นับสิบ ๆ รายการที่ไม่เกี่ยวข้องกันอินเทอร์เน็ตถูกสั่งยกเลิกกลางคัน ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นถูกปรับให้สนับสนุนการใช้งานอินเทอร์เน็ต และเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ถูกสั่งถอนออกมาจากกองทุนฉุกเฉิน 6 พันล้านดอลลาร์ เพื่อมาใช้ในส่วนของงบวิจัยและพัฒนา ดู ๆ เหตุการณ์ในตอนนี้แล้ว ทำให้นึกย้อนหลังไปถึงเมื่อครั้งที่โปรแกรมสำเร็จรูปบนวินโดวส์เป็นที่ฮือฮา และฮือฮามากยิ่งขึ้นกับชุดไมโครซอฟต์ออฟฟิศ ที่ไมโครซอฟต์สามารถครองความเป็นหนึ่งในตลาดของซอฟต์แวร์ด้วยโปรแกรมจัดการด้านเอกสาร และโดยเฉพาะโปรแกรมสเปรดซีตในชื่อเอ็กเซล ที่มาทีหลังแต่ทำเอาโลตัสเจ้าสังเวียนหงายเก๋งมาแล้ว ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นมักจะเริ่มเป็นที่สอง แต่ไมโครซอฟต์จากอดีตจนถึงปัจจุบันมักจะสร้างโปรดักส์ได้เหนือกว่าใคร ทั้งนี้เพราะไมโครซอฟต์มีทีมโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถพิเศษในการออกแบบโปรแกรมให้ครอบคลุมการทำงานตามความต้องการของผู้ใช้ แถมยังมีลูกเล่นลูกชนแพรวพราว และในการออกแบบอินเทอร์เน็ต เอ๊กซ์พลอเรอร์ ก็คงจะใช้กลยุทธ์แบบดั้งเดิม นั่นก็คือ ยืนพื้นบนมาตรฐานเดิมของโปรแกรมเวบบราวเซอร์ ที่ผู้ใช้เคยใช้มาทุกอย่าง และนำมาเพิ่มเติมปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป แค่นี้ไมโครซอฟต์ก็สามารถเป็นหนึ่งในตลาดผู้ค้าซอฟต์แวร์ได้ทุกคราไป
            ย้อนดูถึงเน็ตสเคปที่อยู่ในสภาวะลำบากที่จะต้องต่อสู้กับไมโครซอฟต์ หลังจากได้เปรียบนำแต้มด้วยการเป็นเจ้าแรกที่ลุยตลาดซอฟต์แวร์เวบบราวเซอร์ เน็ตสเคปให้ผู้ใช้ทุกรายสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ฟรีจากอินเทอร์เน็ต ในขณะที่บริษัทเองมีรายได้มาจากซอฟต์แวร์เครื่องเซอร์ฟเวอร์ แต่เมื่อจะหันมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ลงทุนลงแรงไป ไมโครซอฟต์ก็ดอดเข้ามาเป็นก้างขวางคอชะนี่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเน็ตสเคปก็ยังได้เปรียบอยู่ ที่มีฐานผู้ใช้เยอะกว่า และมีชั่วโมงบินสูงกว่าเพราะเริ่มจับงานด้านนี้มาก่อน ในสายตาของจิม บาร์กเดล ผู้นำเน็ตสเคป คงไม่หยุดเน็ตสเคปให้เป็นแค่การเป็นซอฟต์แวร์เนวิเกเตอร์ หากแต่เขามองเห็นขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาแทนที่ระบบปฏิบัติการได้ในอนาคต ซอฟต์แวร์เนวิเกเตอร์ของเขาจะไม่เพียงแค่เปิดดูข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่มันจะยังสามารถเปิดดูข้อมูลจากเครือข่ายภายในบริษัท หรือแม้กระทั่งข้อมูลในฮาร์ดดิสค์ ที่มีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นได้ด้วย
            เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้การฟาดฟันในยุทธภูมิซอฟต์แวร์เวบบราวเซอร์เริ่มขึ้น และดุเดือดยิ่งขึ้นเมื่อไมโครซอฟต์ประกาศให้อินเทอร์เน็ต เอ๊กซ์พลอเรอร์เป็นซอฟต์แวร์แจกฟรี และจะแจกฟรีตลอดไปอีกด้วย เพราะเมื่อเวอร์ชัน 4.0 ออกมาเยือน ผู้ใช้จะเห็นว่ามันเป็นโปรแกรมที่ฝังลงไปเป็นเวบบราวเซอร์ที่อยู่ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แทนที่จะเป็นซอฟต์แวร์แยกขายเดี่ยว ( Stand-alone ) อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน แน่นอนว่าผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้บริโภค เราท่านทั้งหลายก็จะได้ใช้ซอฟต์แวร์ดี ๆ และฟรีด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนกำลังเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ว่า ถ้าหากไมโครซอฟต์สามารถควบคุมผูกขาดการเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์แต่เพียงผู้เดียว หากไม่มีผู้ใดที่จะไปต่อกรกับยักษ์ใหญ่รายนี้และการผูกขาดจะต้องเกิดขึ้น เมื่อมีการผูกขาด นั่นก็หมายความว่าผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ที่แพงขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไมโครซอฟต์เองคงไม่ทำแบบนี้แน่ ถึงแม้ว่าไมโครซอฟต์เองจะสามารถซื้อกิจการของเน็ตสเคป หรือมาเป็นของตนซะเองก็ย่อมได้ แต่เหตุผลหนึ่งที่เราวางใจได้ว่าไมโครซอฟต์จะไม่ผูกขากตลาดซอฟต์แวร์ นั่นก็คือ ไมโครซอฟต์ยังคงยอมเปิดเผยระบบปฏิบัติการของตน ให้แอพพลิเคชันของคู่แข่งรายอื่น ๆ สามารถรับบนระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์ได้อย่างสะดวกราบรื่น
            ก่อนที่จะจบเรื่องราวของอินเทอร์เน็ต เอ๊กซ์พลอเรอร์ของไมโครซอฟต์กับเน็ตสเคป อยากจะสรุปถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบของทั้งสองในแง่มุมต่าง ๆ เอาไว้ดังนี้ หากพูดถึงในข้อได้เปรียบของไมโครซอฟต์เห็นทีจะอยู่ที่ไมโครซอฟต์ มีระบบปฏิบัติการวินโดวส์อยู่ในมือ มีพลพรรคมากกว่า และมีตัวโปรดักส์หลากหลายเป็นฐานรองรับที่กว้างกว่าเน็ตสเคป ส่วนเน็ตสเคปเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แอบวางแผนผูกพันธมิตรกับบริษัทใหญ่ ๆ อีกหลายบริษัทที่ไม่ต้องการให้ไมโครซอฟต์โตไปกว่านี้ ตั้งแต่ไอบีเอ็มไปจนถึงออราเคิล ด้วยการหันไปสนใจอุปกรณ์เวบทีวีกับอินเทอร์เน็ตที่ไมโครซอฟต์ไม่ถนัดนัก แต่ก็อย่าชะล่าใจ เพราะล่าสุดบิลล์ เกตส์ ได้แย้ม ๆ ออกมาว่าได้ทุ่มงบวิจัยไปกับการสร้างคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่สามารถสนทนากับผู้ใช้ มองเห็น และเดาคำสั่งมือได้ และทางด่วนข้อมูลในฝันของบิลล์ เกตส์ ใกล้เข้ามาแล้ว ข้อได้เปรียบทางด้านการเชื่อมระบบด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล ทางไมโครซอฟต์หันไปลงทุนกับบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ UUNET ส่วนเน็ตสเคปหันไปพัฒนาระบบกระจายข้อมูลความเร็วสูงผ่านอินเทอร์เน็ตกับบริษัท TCI, Hearst และบริษัทอื่น ๆ งานนี้ถ้าสำเร็จเห็นทีเน็ตสเคปมีโอกาสเป็นต่อ ไม่เป็นมวยรองอีกต่อไป และในส่วนของเซอร์ฟเวอร์สำหรับไมโครซอฟต์ มีวินโดวส์เอ็นที เป็นระบบปฏิบัติการชูโรงล่าสุด ที่มีโปรแกรม Microsoft ( Internet Information Server ) ที่จะทำเครื่องเดสค์ท้อป ธรรมดากลายเป็นเซอร์ฟเวอร์สำหรับเวบที่ทรงพลังไปเลย และในส่วนของเน็ตสเคปมีโปรแกรม Fast Trak ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับไมโครซอฟต์ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงกับการโจรกรรมข้อมูลจากแฮกเกอร์มือดี

สถานการณ์ของไมโครซอฟต์ในเอเชีย พูดถึงซอฟต์แวร์เวบบราวเซอร์มามากแล้ว อยากจะย้อนมาดูสถานการณ์ใกล้ตัวเราในภาคพื้นเอเซีย กับข่าวคราวของไมโครซอฟต์ เริ่มจากข่าวร้ายที่ผ่านมาหมาด ๆ เมื่อไมโครซอฟต์ได้จัดจำหน่ายวินโดวส์ 95 เวอร์ชันภาษาจีน และทางการของจีนต้องออกคำสั่งยุติการจำหน่าย เมื่อพบว่ามีข้อความที่ละเมิดทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า โจรคอมมิวนิสต์ ไต้หวัน รัฐอิสระ รวมไปถึงภาพกราฟิก แสดงแผนที่ประเทศจีนที่ไม่มีเกาะไต้หวัน และนอกจากนั้น ทางการจีนยังให้ทางไมโครซอฟต์ตัดข้อความดังกล่าวออกอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วที่เม็กซิโก เกี่ยวกับการใช้ข้อความแบบนี้แหละ แต่ในประเทศไทยกลับเป็นข่าวดีสำหรับบิลล์ เกตส์ เมื่อไมโครซอฟต์ ( ประเทศไทย ) มั่นใจว่าปีหน้าตลาดซอฟต์แวร์จะขยายตัวมีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท จึงเตรียมลงทุนในไทยเพิ่มถึง 250 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพนักงานอีก 70 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 40 คน และยังหันมาให้ความสนใจกับพฤติกรรมการใช้ซอฟต์แวร์ฟรีว่าจัดเพิ่มกิจกรรมเข้ามารณรงค์ให้ผู้ใช้ เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง โดยปีหน้าไมโครซอฟต์เล็งเป้าหมายไปที่การกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะยอดขายเกมชุดใหม่ ที่จะจัดโปรโมชันพิเศษร่วมกับสินค้าตัวอื่น ๆ ส่วนเรื่องจะลดปัญหาการก๊อปซอฟต์แวร์ได้แค่ไหน นิสัยของคนไทยในการใช้ซอฟต์แวร์มีลิขสิทธิ์ ส่วนใหญ่เรายังคงเคยชินกับการใช้ซอฟต์แวร์ฟรี จนเป็นค่านิยมที่ว่า ซอฟต์แวร์คือของฟรีที่สามารถก๊อปปี้มาใช้เมื่อไหร่ก็ได้
            ส่งท้าย ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเมื่อถึงที่สุดเชื่อว่าจะมีทางออกให้เสมอ ตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เทคโนโลยีวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรสุดแต่ใครจะคาดเดา แต่หากในวันนี้ กับบทความที่นำเสนอ เราเพียงต้องการให้บิลล์ เกตส์ คือตัวอย่างแห่งความอุตสาหะพยายาม เขาไม่เคยหยุดนิ่ง ใฝ่หาและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่อยากจะเห็น คืออยากให้คนไทยที่มีโอกาส ได้พยายามตั้งใจเรียนรู้เทคโนโลยี และเลือกนำสิ่งดี ๆ มาพัฒนาเทคโนโลยีในบ้านเรา เพื่อให้เราทัดเทียมอารยประเทศต่อไปในวันข้างหน้า ไม่แน่ ! คุณอาจเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้านดอลลาร์เหมือนเจ้าพ่อบิลล์ เกตส์ก้ได้ ใครจะไปรู้…



30 กย.40

| home | menu | เทคโนโลยี |

1 : 08 : 2541