ถ้าคุณเป็นหนึ่งในบรรดานักโต้คลื่นบนอินเตอร์เน็ต คุณคงเจอกับเหตุการณ์คล้าย ๆ กับผมในขณะนี้ก็คือ ต้องพยายามหาอะไรทำไปด้วยในขณะที่กำลังรอดูรูปต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จิตใจจะได้ไม่ฟุ้งซ่านเพราะปัญหาคอขวดจากโมเด็มที่เป็นเหมือนกับการจราจรในบ้านเรานั่นเอง แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดทางแก้เสียทีเดียว ยังพอมีความหวังอยู่ ISDN ยังไงละครับ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้ ISDN ก็คืออุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายดังกล่าว นักโต้คลื่นคุ้นเคยกันดีก็คือโมเด็มนั่นเอง แต่ไม่ใช่โมเด็ม 28.8 kbps ธรรมดานะครับ แต่มันเป็น ISDN โมเด็ม ( ถ้าจะให้ถูกต้องเรียกว่า Terminal Adaptor TA ) แต่ก่อนที่เราจะไปดู ISDN โมเด็ม เราน่าจะมาทำความรู้จักกับคำว่า ISDN กันก่อนดีกว่า มันคืออะไร น่าสนใจอย่างไร และสามารถแก้ปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างไร
ISDN ( Integrated Services Digital Network ) คือเครือข่ายสำหรับการสื่อสารแบบใหม่ ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลระหว่างอินเตอร์เน็ต กับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี ที่บ้านของผู้ใช้ได้ด้วยความเร็วถึง 128 กิโลบิท/วินาที ซึ่งจะเพิ่มรสชาดในการโต้คลื่นบน Internet ได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันความเร็วที่ใช้ในการใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 28.8 kbps ( เร็วกว่า 4 เท่ากว่า ๆ ) บน ISDN เป็นการสื่อสารแบบดิจิตอลอยู่แล้ว ตัว TA จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณให้อยู่ในรูปแบบที่คอบพิวเตอร์รับได้ ไม่ได้มีการ Modulate/Demodulate ( ผสมและถอดรหัสสัญญาณ ) จึงไม่น่าจะเรียกมันว่าโมเด็ม
เมื่อพูดถึง TA หรือ โมเด็มทั่ว ๆ ไปแล้วก่อนที่คุณจะเลือกซื้อ คุณต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง Internal หรือ External TA เสียก่อนว่าคุณจะเลือกอย่างไหน ถ้าคุณเลือก External TA นั่นหมายความว่า การเคลื่อนย้ายและติดตั้งจะสะดวกสบายกว่า เพราะคุณเพียงแต่ต่อสาย Serial ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ กับ TA ก็เท่านั้นเอง ตัวเครื่องทำงานได้เหมือนเป็น External Modem ธรรมดา ติดต่อกับ Windows 95 ผ่านทาง Dialup Networking ได้ แต่ถ้าคุณเลือก TA แบบ Internal ตอนติดตั้ง คุณจะต้องเปิดฝาเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณออกมา แล้วยังจะต้องตรวจสอบดู IRQ หรือ IO address ว่ามันไปซ้ำกับอุปกรณ์อื่นในเครื่องหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้น Internal AT นั้นจะมีปัญหาในการติดตั้งบน Windows 95 อีกด้วย มันต้องการให้คุณติดตั้งโปรแกรมชุด ISDN Accelerator Pack จึงสามารถใช้ Internal AT ร่วมกับ Windows 95 ได้ หรือคุณอาจต้องหลีกเลี่ยงไปใช้โปรแกรมติดต่อ TA ของบริษัทอื่นอย่าง Netmanage หรือ Chamelon ( ส่วนใหญ่เป็น 16 bit และไม่ได้ออกแบบมาสำหรับ Windows 95 โดยเฉพาะ ) และถ้าเกิด Internal TA คุณมีปัญหา เช่น Hang คุณต้อง Reboot เครื่องคุณใหม่ทั้งหมดเพื่อ Reset TA แต่ถ้าเป็น External Modem นั้นคุณเพียงแค่ปิดและเปิด TA ใหม่ก็เป็นอันเรียบร้อย
แต่ใน ISDN MODEM ที่เป็น Internal นั้นจะมีข้อดีตรงที่ความเร็วของ ISDN MODEM นั้นจะเร็วกว่า External Modem ถึง 25 % เพราะว่า External Modem นั้นรับข้อมูลจากสาย ISDN มาอย่างซิงโครนัส (ข้อมูลจะไหลอย่างสม่ำเสมอเป็นจังหวะ ) ทำให้ต้องเสียเวลาแปลงเป็นแบบอะซิงโครนัส ( ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่อง ) เพื่อส่งให้กับ Serial Port ต่อไป แต่ใน ISDN TA ที่เป็นแบบ Internal นั้นไม่ต้องติดต่อผ่านทาง Serial Port ดังนั้นในการส่งข้อมูลจึงสามารถส่งข้อมูลตรงเข้าไปยังบัสของ PC ได้ โดยตรงทำให้สามารถทำความเร็วได้ดีกว่าโดยเฉพาะสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ รุ่นเก่า ๆ ( ส่วนใหญ่จะตั้งแต่ 486 ลงไป ) ที่มี Serial Port Controller ไม่ใช่เป็นแบบ 16550 UART
นอกจากลักษณะของ TA แล้วยังมีส่วนที่คุณยังต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งส่วนคือใน TA แต่ละตัวนั้นต้องมี Interface ที่ใช้เชื่อมต่อ TA ของคุณเข้าสู่เครือข่าย ISDN ในปัจจุบันมีอยู่ 2 มาตรฐานใช้ในทางอเมริกา คือ U Interface ( 2 สาย ใช้ Jack RJ-11 เหมือนโทรศัพท์เมืองไทย ) กับอีกแบบเรียกว่า S/T Interface ใช้ในแถบยุโรป ( 4 สาย ใช้ Jack RJ-45 เหมือนสาย LAN) ซึ่งถ้าคุณมี TA ที่ใช้ Interface แบบ S/T คุณต้องซื้ออุปกรณที่เรียกกันว่า NT ( Network Terminator ) ราคาก็ตกประมาณ $150 เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างสาย ISDN กับตัว TA ซึ่งถ้าจะให้ชัวร์น่าจะเลือกใช้ Interface แบบ U type Interface จะดีกว่า
I S D N ใช้ยากไหม ?
ถึงแม้ว่าการให้บริการ ISDN นั้นจะส่งข้อมูลผ่านสายทองแดงธรรมดาชนิดเดียวกันกับที่ใช้เป็นสายโทรศัพท์ในปัจจุบัน แต่การทำการเชื่อมต่อเข้าสู่ ISDN นั้นไม่ง่ายอย่างการติดตั้งสายโทรศัพท์ธรรมดา หลาย ๆ อุปกรณ์ก็ต้องทำมาเพื่อ ISDN โดยเฉพาะ และส่วนของบริษัทให้บริการคู่สายต้องเป็นคู่สาย ISDN ( ในเมืองไทยมีเพียงองค์การโทรศัพท์เท่านั้น ทาง Telecom Asia ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ) สุดท้ายก็เป้นส่วนของ ISP ( Internet Service Provider ) ก็ต้องให้รับการผ่านทาง ISDN ด้วยเช่นกัน
ISP ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่าน ISDN กับสมาชิกนั้น จะต้องเตรียม Bandwidth ของ Network ที่กว้างกว่าปกติมาก เพื่อจะได้เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกแต่ละราย ปกติเมื่อคุณติดต่อผ่าน ISDN ข้อมูลจะผ่านสาย ISDN ไปยังศูนย์กลาง ( องค์การโทรศัพท์ ) และวิ่งผ่าน Router ( คล้ายสวิตช์สลับคู่สายในโทรศัพท์ธรรมดา ) วิ่งต่อไปยังสาย ISDN ที่จะเชื่อมต่อไปยัง ISP ต่อไป ส่วนตัว TA นั้นจะมีหน้าที่แปลงข้อมูล จากสายไปในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ และแสดงผลออกมาบนจอภาพ คราวนี้เราจะมาดูถึงส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการใช้งานกัน
1. เครื่องคอมพิวเตอร์ ในที่นี้หมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Sorf อินเตอร์เน็ตนั่นเอง โดยคุณควรจะมีทั้ง Hardware และ Software ที่เหมาะสม ถ้าคุณต้องการใช้ External Modem ก็ต้องติดต่อผ่าน Serial Port ของ PC ต้องตรวจดูให้แน่ใจนะครับว่าคอมพิวเตอร์ของคุณได้ใช้ชิป UART 16550 ส่วนใหญ่เครื่องระดับ Pentium ขึ้นไปจะใช้ชิปตัวมากับเครื่อง แต่ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณสูงอายุกว่านั้นก็อาจมีทางแก้ โดยซื้อการ์ด Enhanced Multi I/O ( มักจะมาพร้อมกับ Disk Controller ) คุณสามารถตรวจสอบว่า UART เป็นเบอร์อะไรได้จาก MSD.EXE ที่มากับ DOS หรือในกรณีที่คุณต้องการหลีกเลี่ยงความลำบากในส่วนนี้คุณก็ควรที่จะเลือกที่ Modem แบบ Internal จะเป็นการดีกว่า แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า Internal TA นั้นเมื่อทำงานบน Windows 95 คุณจะต้องทำการบ้านมากกว่าชาว External เล็กน้อย โดยคุณจะต้อง Download ตัว ISDN Accelerator Pack ( ความจริงไม่ได้เร่งอะไรให้เร็วขึ้นหรอกครับ แต่ไม่ใช้ไม่ได้ ) มาจาก Microsoft ซึ่งจะทำให้ Dialup Networking สามารถทำงานร่วมกับ Internal TA ได้อย่างไม่มีปัญหา อย่างไรก็ดี ชุดโปรแกรม Accelerator Pack นี้เพิ่งจะเสร็จจากโรงงานมาใหม่ ๆ ดังนั้นคุณอาจจะต้องเสี่ยงเล็กน้อย เป็นนักผจญบั๊กชุดแรกของโลก
2. ISDN TA ในการติดต่อสื่อสารแบบ ISDN นั้นคุณจะต้องมีอุปกรณ์ที่จะแปลงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ของคุณให้อยู่ในรูปที่จะส่งไปตามสายได้ ( ด้วยมาตรฐานของ ISDN ) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเราจะเรียกมันว่า Terminal Adapters หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ISDN Modem ซึ่งทำหน้าที่แปลงข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณซึ่งเป็นดิจิตอลอยู่แล้วให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอลอีกแบบที่ใช้ ISDN ใช้ ได้ แต่จริง ๆ แล้วคำว่า MODEM นั้นมาจากคำว่า Modulation DEModulation ซึ่งถือว่าในกรณีของ ISDN นั้นมันแค่คล้ายกันกับ Modem แบบอนาล็อกที่สื่อสารผ่านสายอนุกรมเท่านั้นเอง แต่ความจริงไม่ได้มีการแปลงจาก Analog เป็นดิจิตอลเหมือนในโมเด็มจริง ๆ ตัว ISDN นั้นก็มีข้อด้อยอยู่เหมือนกัน ตรงที่มันต้องแปลงข้อมูลที่เข้ามาจากสายแบบ ISDN ซึ่งเป็นแบบ Synchronous และเข้าคอมพิวเตอร์ในแบบ Asynchronous ซึ่งสามารถส่งข้อมูลทีละ byte ทำให้ความเร็วลดลงจากการส่งข้อมูลแบบ Synchronous ซึ่งส่งข้อมูลเป็นกลุ่มข้อมูลต่อเนื่องกันไป ถ้าเกิดคุณให้ความสำคัญกับความเร็วในการรับส่งข้อมูลเป็นอย่างมากนั้นคุณก็น่าจะเลือก Internal ISDN TA ถึงแม้ว่ามันจะติดตั้งยากสักนิดแต่มันก็คุ้มกับความเร็วที่เพิ่มขึ้นเกือบ 30% เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาแปลงไปแปลงมาระหว่าง Sync กับ Async ตัว ISDN Modem นั้นจะมีการเชื่อมต่อผ่าน Jack แบบ U และ แบบ S/T ถ้าแบบ U นั้นคุณสามารถเชื่อมต่อโดยตรงเข้ากับ Jack ตามผนังได้เลย เพราะเป็นแบบเดียวกับที่โทรศัพท์บ้านเราใช้อยู่ ( RJ-11 ) เป็นแบบเดียวกับที่อเมริกาใช้แต่ถ้าเป็นมาตรฐานทางยุโรปจะใช้ S/T Interface ( RJ-45 ) ซึ่งต้องใช้ NT1 ( Network Terminal ) เข้ามาแปลงชนิดของ Jack จาก TA และที่ผนังของคุณโดย Modem ที่เราเอามาทดสอบส่วนใหญ่จะใช้การเชื่อมต่อแบบ U ทั้งหมด
จัดการเชื่อมต่อแบบ ISDN ด้วยความเร็วของ ISDN อาจจะทำให้คุณเกิดอยากใช้ขึ้นมาแล้ว ISDN ที่บ้านเราให้บริการอยู่นั้น เป็นบริการมาตรฐานที่จะทำให้คุณสามารถรับส่งข้อมูลได้ที่ความเร็ว 128 kbps โดยประมาณ ปกติสายที่จะใช้กับ ISDN จะเป็น 3 สาย คือจะแบ่งเป็น 2B + D โดย B ( Bearer ) จะมี 2 ช่องสัญญาณ แต่ละช่องจะมีความเร็วสูงถึง 64 kbps ปกติการสื่อสารทั่วไปจะใช้ 2 ช่องนี้เป็นแกนหลัก และสายเส้นที่สาม เราจะเรียกว่า D ( Data ) จะไว้ใช้สำหรับส่งสัญญาณควบคุมการสื่อสาร เช่นพวกสัญญาณ Handshaking โดยช่องนี้จะมี Bandwidth 16 kbps ปกติช่องสัญญาณ B ทั้ง 2 ช่องจะใช้รับส่งข้อมูลพร้อม ๆ กันทั้ง 2 ช่อง แต่ถ้าในกรณีที่มีโทรศัพท์ หรือ FAX เข้ามา ก็จะใช้รับส่งข้อมูลเพียงช่องเดียว อีกช่องก็ใช้สำหรับโทรศัพท์หรือ FAX โดยในการจัดสรร Bandwidth ดังกล่าว เราจะเรียกว่า การจัดสรรความถี่แบบ Dynamic เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ถ้าเกิด ISDN TA ของคุณสนับสนุนแค่ช่องสัญญาณ B และรับได้เพียงช่องเดียว คุณจะสามารถรับส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วเพียง 64 kbps สามารถต่ออุปกรณ์พร้อมกันได้ 8 อุปกรณ์ แต่ถ้าใช้ได้ 2 ช่องสัญญาณก็สามารถต่ออุปกรณ์ได้ความเร็วถึง 128 kbps โดยใช้หมายเลขเดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่ามันจะใช้สายโทรศัพท์ตามบ้านปกติได้เลย แต่ว่าในอาคารที่ตั้งมานานแล้วก็ควรจะเดินสายใหม่ เพื่อใช้งาน ISDN ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีสัญญาณรบกวนมาทำให้ความเร็วลดลง
ISDN เพื่ออะไร ? ระบบ ISND นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อรวมเอาบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น โทรศัพท์, ระบบ FAX , ระบบโทรสารโทรเลข, ระบบ Teletex ระบบสื่อสารข้อมูลเข้าด้วยกัน แต่เดิมนั้นจะแยกระบบสายตามการใช้งาน แต่ในระบบ ISDN จะเป็นการยุบรวมเอาระบบชุมสายของระบบการสื่อสารชนิดต่าง ๆ เป็นระบบเดียวกัน โดยใช้เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด นอกจากนี้ยังทำให้การใช้บริการมีลักษณะที่เอนกประสงค์มากขึ้น คือมีลักษณะเหมือนปลั๊กมหัศจรรย์ที่เมื่อเสียบแล้วใช้ได้ทันที โดยทางชุมสายจะเป็นผู้จัดการในรายละเอียดต่าง ๆ ว่าบริการแบบไหนต้องต่อเชื่อมแบบใด ๆ ปัจจุบันนอกจากบริการข้างต้นแล้วยังได้พัฒนาระบบใหม่ ๆ ออกมา อย่างเช่นระบบ Video Conference, การเชื่อมโยงระหว่าง LAN โดยใช้ ISDN, Video Telephone, การส่งโทรทัศน์ที่มีความคมชัดสูง ( HDTV ) , ระบบ Vido on Demand เป็นต้น
ดิจิตอลดีกว่า การส่งสัญญาณในรูปแบบเดิมนั้นใช้รูปแบบการส่งที่เป็นอนาล๊อก กล่าวคือข้อมูลต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วยความถี่ การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้า ปัญหาที่อยู่คู่กันมาก็คือเมื่อมีสัญญาณรบกวนจะทำให้รูปแบบของคลื่นหรือความถี่เปลี่ยนไป การแก้ไขทำให้กลับมาเป็นรูปเดิมนั้นทำได้ยาก จึงคิดมีการใช้การส่งสัญญาณในรูปแบบใหม่ เป็นแบบดิจิตอลแทน เพราะรูปแบบของดิจิตอลมีเพียง 1 และ 1 เท่านั้น เมื่อมีความผิดพลาดสามารถแก้ไขกลับมาได้ง่ายกว่า และนอกจากนี้ระบบดิจิตอลมีความสามารถที่จะตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดได้ นอกจากนี้ระบบคู่สายเดิมที่ใช้อยู่นั้นมีขีดจำกัดทางการใช้งานการส่งข้อมูลผ่านโมเด็มนั้น ปัจจุบันโมเด็มมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 33.6 kbps ซึ่งในการใช้งานจริงบางครั้งก็ไม่สามารถทำความเร็วที่จุดสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของระบบอนาล๊อก เมื่อเปรียบเทียบกับระบบ ISDN แล้วจะเห็นได้ว่าสามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงถึง 64 kbps ส่วนในการส่ง Fax ก็เช่นเดียวกัน ในระบบดิจิตอล ( G4 ) จะทำให้คุณสามารถส่ง Fax ได้ที่ความเร็วสูงกว่า ความละเอียดของภาพก็สูงกว่ามาก
ลักษณะบริการ โดยทั่ว ๆ ไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีบริการ ISDN จะแบ่งชนิดบริการเป็นพวกใหญ่ดังนี้
1. Narrow Band ISDN ( ISDN-N ) เป็นโครงข่ายที่พัฒนาเพิ่มเติมจากระบบโทรศัพท์เดิม โดยใช้คู่สายที่มีอยู่เดิม โดยใช้สัญญาณดิจิตอลในการสื่อสารแทนสัญญาณเดิมเลย ทำให้เป็นระบบที่มีแบนด์วิทธ์ไม่กว้างมากนักสามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น
- Basic Rate Interface ( BRI ) : เป็นการเชื่อมต่อขั้นพื้นฐานของ ISDN ภายในหนึ่งคู่สาย ( หนึ่งคู่สายจะเท่ากับหนึ่งหมายเลข ) จะมีช่องสัญญาณอยู่ 3 ช่อง ประกอบด้วย
ช่องสัญญาณแบบ B ( Bearer ) 2 ช่องสัญญาณโดยแต่ละช่องจะมีความเร็ว 64 kbps โดยปกติช่องแบบ B จะเป็นช่องที่ใช้ในการส่งข้อมูลทั้งที่เป็นเสียงและข้อมูลต่าง ๆ และยังสามารถที่จะใช้งานพร้อมกันได้ 2 ช่อง
ช่องสัญญาณแบบ D ( Data ) 1 ช่องสัญญาณความเร็วของช่องแบบนี้ถูกกำหนดไว้ที่ 16 kbps ปกติช่องแบบนี้จะใช้ในการควบคุมการสื่อสารช่องแบบ B แต่ในบางกรณีก็อาจใช้ส่งข้อมูลได้ด้วย
- Primary Rate Interface ( PRI ) เป็นการสื่อสารขนาดใหญ่ ปกติจะใช้สำหรับองค์กรหรือบริษัทที่ต้องการความเร็วสูง ในบริการระดับนี้ปกติจะแบ่งเป็น 2 ชนิดด้วยกันคือ 1.544 Mbps ซึ่งใช้กันในระบบการสื่อสารของอเมริกาและญี่ปุ่น มีช่องสัญญาณทั้งหมด 24 ช่อง ประกอบด้วยแบบ B ทั้งหมด 23 ช่อง และแบบ D อีก 1 ช่อง ( ช่อง D ของแบบนี้จะมีความเร็ว 64 kbps ) และ 2.048 Mbps ซึ่งใช้กันในระบบสื่อสารของยุโรป มีช่องสัญญาณทั้งหมด 31 ช่อง ประกอบด้วยแบบ B ทั้งหมด 30 ช่อง และแบบ D อีก 1 ช่อง ( ที่มีความเร็ว 64 kbps เช่นกัน )
นอกจากนี้ ใน PRI ยังมีช่องการสื่อสารแบบพิเศษที่เรียกว่า H Channel สามารถนำมาใช้ร่วมในระบบช่องสัญญาณของ PRI ได้อีกด้วย ซึ่ง H Channel นี้จะมีค่าความเร็วเป็นเท่า ๆ ของ B Channel เช่น 2 เท่าหรือ 3 เท่า เป็นต้น
2. Broadband ISDN ( ISDN-B ) ในระบบ ISDN-D นั้นมีความเร็วสูงสุดเพียงประมาณ 2 Mbps เท่านั้น ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถสังสัญญาณภาพที่มีคุณภาพสูงได้ ISDN-B นี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อขยายขีดความสามารถของโครงข่ายเพิ่มขึ้นไปอีกให้ถึง 100 Mbps ขึ้นไป โดยใช้ตั้งชื่อระบบใหม่นี้ให้คล้ายตู้กดเงินและชนิดฟอนด์ว่า ATM ( Asyncronous Transfer Mode ) ซึ่งออกแบบไว้ให้สามารถรองรับความเร็วได้ตั้งแต่ 45 Mbps จนถึง 1 Gbps เลยทีเดียว แตกต่างกันใน ISDN-N ซึ่งใช้ระบบ Syncronous Transfer Mode แนวโน้มในการใช้ ATM ในปัจจุบันจะใช้ในลักษณะที่เป็น Back Bone หรือสายการสื่อสารหลักของ LAN เท่านั้น แต่ในอนาคตคาดว่าจะสามารถครอบคลุมถึงการใช้งานในระดับ WAN หรือเครือข่ายที่กว้างกว่าได้
3. Universal ISDN ( ISDN - U ) เป็นระบบออกแบบไว้ให้มีลักษณะความยืดหยุ่นสูง คือจะทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อมีเพียงแบบเดียวเท่านั้น ช่องสัญญาณสามารถเรียกใช้ได้อย่างอิสระในการเรียกใช้แต่ละครั้ง เช่นครั้งนี้ใช้ BIR ครั้งต่อไปใช้ PRI บริการต่าง ๆ ผู้ใช้สามารถกำหนดและเรียกใช้ได้เป็นครั้ง ๆ ไปไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว
รูปแบบทั้ง 3 ที่ได้มีการใช้งานจริง ๆ แล้วนั้น และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมก็คือ แบบ NARROW Band ISDN ซึ่งมีใช้งานในเมืองไทยแล้วในขณะนี้ ส่วน Broad Band ISDN นั้นเพิ่งจะเริ่มมีการทดลองใช้ในเยอรมันเมื่อไม่นานมานี้ ในการส่งสัญญาณภาพ อันสุดท้ายคือ Universal ปัจจุบันเป็นเพียงภาพวาดในนวนิยาย แต่คาดว่าอีกไม่นานก็จะได้เห็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง ดังนั้นสิ่งที่เป็นจริงเป็นจังที่สุดและสามารถใช้งานได้แล้วก็คืออันแรกสุดหรือ Narroe Band ISDN นั่นเอง
รูปร่างหน้าตาของ ISDN-N ตัว ISDN จะใช้งานได้ก็ต้องประกอบด้วยอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างด้วยกัน ประกอบกันใช้งาน แต่อุปกรณ์หลัก ๆ ที่จำเป็นต้องใช้และขาดไม่ได้ก็มี
TA ( Terminal Adapter ) มีหน้าที่ทำให้อุปกรณ์ที่ไม่ใช่ ISDN ( รวมทั้งโทรศัพท์ FAX และเครื่องคอมพิวเตอร์ ) สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ ISDN ได้ โดยต่อผ่านตัวแปลง NT1 และเชื่อมต่อสายของ ISDN ได้โดยตรง โดย NT1 ( Network Termination 1 ) จะมีหน้าที่ในการแปลงระบบจากสายที่มาจกศูนย์ ISDN ( Central Office ) กับระบบที่เป็นอุปกรณ์ ISDN ( รวมทั้ง TA ) ให้สามารถต่อกันได้ โดยจริง ๆ แล้วจะทำหน้าที่แปลงจากระบบ 2 สายเป็นระบบ 4 สาย ระบบ ISDN จะสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อม ๆ กันได้ถึง 8 อุปกรณ์ แต่สามารถใช้งานได้จริง ๆ พร้อมกัน 2 อุปกรณ์ ( ตามจำนวนของช่องสัญญาณแบบ B )
NT2 ( Network Termination 2 ) นั้นจะเป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถมากกว่า NT1 แต่จะใช้ใน PRI เท่านั้น คือจะทำหน้าที่สลับสายการสื่อสารได้ด้วย และสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ ตัวอย่างในที่นี้คือ PABX
ศัพท์ลึก ISDN ในโลก ISDN นั้นประกอบด้วยอุปกรณ์ใหม่ ๆ หลาย ๆ ชิ้น แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีหน้าที่คล้ายกับที่ใช้ในระบบอนาล๊อก แต่ตั้งชื่อใหม่เท่านั้น อย่างเช่นระบบสายของ ISDN แบ่งได้ 2 แบบ คือ U-interface และ S/T-interface ระบบ U-interface จริง ๆ แล้วรูปร่างหน้าตาก็เป็นสายโทรศัพท์ธรรมดาที่มีสายภายใน 2 เส้นนั่นเอง และใช้ Jack ที่เรียกว่าแบบ RJ-11 ( ซึ่งเป็น Jack ที่ใช้ในโทรศัพท์บ้าน) ส่วน S/T-interface นั้นก็คือ การต่อสายจากอุปกรณ์ NT1 ไปยังอุปกรณ์ ISDN โดยจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับสายโทรศัพท์ เพียงแต่ว่ามีจำนวนสายมากกว่าคือมี 8 สายและ Jack ที่ใช้จะมีชื่อว่า RJ-45 ( แบบเดียวกับที่ระบบ LAN ใช้ )
TE1 ( Terminal Equipment 1) หมายถึงอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานในระบบ ISDN ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดทันทีโดยไม่ต้องแปลงอะไรทั้งสิ้น
TE2 ( Terminal Equipment 2) หมายถึงอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ในระบบ ISDN เช่น โทรศัพท์ทั่ว ๆ ไป เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่มี ISDN Card
TA ( Terminal Adapter ) หมายถึงอุปกรณ์ที่ทำให้อุปกรณ์ TE2 สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ ISDN ได้
LT ( Line Terminal ) และ ET ( Exchange Terminal ) เป็นอุปกรณ์ที่อยู่ที่ชุมสาย ISDN
นับเหตุผลได้
5 ข้อ แล้วเลือก ISDN