World Wide Web นับเป็นส่วนเจริญเติบโตเร็วที่สุด อีกทั้งน่าตื่นเต้นท้าทายที่สุดของอินเตอร์เน็ต ผู้คนมักจะพูดกันโดยใช้สำนวนว่า โต้คลื่นบนเน็ต ( surfing the Net ) มากกว่าที่จะพูดว่าพวกเขาใช้ World Wide Web อยู่
World Wide Web มีความหมายว่าเป็นเน็ตเวิร์กที่ต่อเชื่อมกันไปทั่วโลก ใน Web จะมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากก็คือการแสดงผลเป็นหน้า ๆ ( page ) เหมือนกับเอกสารที่เราอ่านกันบนกระดาษ โดยเรียกว่าเป็น เว็บเพจ ( web page ) ซึ่งอาจประกอบไปด้วย ตัวอักษร กราฟิก เสียง ภาพเคลื่อนไหว และข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ และที่สำคัญก็คือแต่ละเว็บเพจจะเป็นสื่อแบบมัลติมีเดียที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ และถ้าเป็นเพจหรือหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือหน้าแรกของเว็บเพจทั้งหมดที่จะแสดงก็จะเรียกว่าเป็น โฮมเพจ ( home page )
เว็บเพจทั้งหลายจะเชื่อมต่อซึ่งกันและกันโดยใช้ ไฮเปอร์เท็กซ์ ( hypertext ) ซึ่งจะช่วยให้คุณย้ายจากเว็บเพจหนึ่งไปยังเว็บเพจอื่น ๆ ได้ หรือจะไปยังไฟล์กราฟิก ไฟล์ไบนารี ไฟล์มัลติมีเดีย และบริการอื่น ๆ ในอินเตอร์เน็ต ได้อย่างรวดเร็ว วิธีในการกระโดดจากเว็บเพจหนึ่งไปยังอีกเว็บเพจหนึ่งนั้น ก็เพียงแต่คุณคลิกไปที่ลิงค์ ( link ) แบบไฮเปอร์เท็กซ์เท่านั้น ( คล้าย ๆ กับการคลิกที่จุดเชื่อมหรือ link ที่พบได้ในไฟล์ข้อความช่วยเหลือหรือ help ของระบบ Windows นั่นเอง ) นอกจากนี้การเรียกใช้บริการอื่น ๆ ในอินเตอร์เน็ต ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกัน อย่างเช่น ไฟล์มัลติมีเดีย newgroup และบริการอื่น ๆ วิธีเรียกดูคุณก็เพียงแค่คลิกไปที่ลิงค์เว็บเพจเช่นกัน
World Wide Web ทำงานในรูปแบบ client/server โดยคุณจะต้องรับโปรแกรมที่เป็น ลูกข่าย หรือ Web client ที่เรียกว่า Web browser บนคอมพิวเตอร์ของคุณ อย่างเช่น Mosaic, Netscape หรือ Internet Expolere แล้ว client เหล่านี้ก็จะต่อไปที่เครื่องที่เป็นแม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ที่เรียกว่า Web server เพื่อเรียกดูข้อมูลหรือบริการต่าง ๆ จากนั้น Web server จะเป็นตัวค้นหาแล้วส่งข้อมูลกลับไปยัง Web browser ซึ่งจะเป็นตัวแสดงผลออกมาอีกทีหนึ่ง
เว็บเพจบน World Wide Web นั้นถูกสร้างโดยใช้ ภาษาสำหรับทำเครื่องหมาย markup language ที่เรียกว่า HTML ( Hypertext Markup Language ) ภาษานี้จะมีคำสั่งที่บอก Web browser ของคุณว่าจะให้แสดงตัวอักษร กราฟิก และไฟล์มัลติมีเดียอย่างไร นอกจากนี้ยังมีคำสั่งสำหรับเชื่อมโยงเว็บเพจหนึ่งไปยังเว็บเพจอื่น ๆ และไปยังบริการอื่น ๆ ในอินเตอร์เน็ตอีกด้วย
ในบางครั้งเว็บเพจจะเก็บลิงค์ที่ชี้ไปยังไฟล์ซึ่ง Web browser ไม่สามารถเล่นหรือแสดงออกมาได้ อย่างเช่นไฟล์เสียงหรือไฟล์ภาพเคลื่อนไหว ดังนั้นในกรณีนี้คุณจะต้องใช้แอพลิเคชันเสริม ( helper application ) เข้ามาเพื่อช่วยจัดการกับไฟล์เหล่านั้น โดยการติดตั้งแอพลิเคชันประเภทนี้เข้าทำงานเสริมในตัว Web browser อีกทีหนึ่ง
มี Web page หลาย ๆ อันที่ค่อนข้างจะซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วถ้ารู้จักวิธีใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องก็สามารถสร้างขึ้นเองได้อย่างง่าย ๆ บริการออนไลน์รายใหญ่ ๆ ได้รวมเอาเครื่องมือที่ช่วยให้คุณสร้างเว็บเพจของคุณเองได้เข้าไว้ด้วย นอกจากนั้นยังมีซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัวที่ยอมให้คุณสร้างเว็บเพจของคุณเองได้ โดยคุณสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์หรือสร้างสรรผลงานระดับโลกได้โดยใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย และยังสามารถเข้าไปร่วมในเครือข่าย Web ได้ แทนที่จะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
World Wide Web ทำงานอย่างไร ?
1. World Wide Web เป็นส่วนที่เจริญเติบโตเร็วที่สุด และการมีริเริ่มสร้างสรรค์ที่สุดในอินเตอร์เน็ต เมื่อคุณเรียกดูข้อมูลจาก Web คุณจะได้เห็นเว็บเพจแบบมัลติมีเดีย ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลซึ่งเป็นทั้งตัวอักษร กราฟิก และมัลติมีเดีย อย่างเช่น เสียง และวิดีโอ โดยใน Web จะใช้การเชื่อมโยงหรือลิงค์ ( link ) แบบไฮเปอร์เท็กซ์ที่ยอมให้คุณกระโดดจากที่ไหน ๆ ใน Web ไปยังที่อื่น ๆ บน Web ได้ ภาษาที่ทำให้คุณใช้ลิงค์แบบไฮเปอร์เท็กซ์และเรียกดูเว็บเพจได้นั้นเรียกว่า Hypertext Markup Language หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า HTML
2. Web ทำงานในรูปแบบ client/server ซอฟต์แวร์ client หรือที่รู้จักกันในนาม Web browser จะรันบนคอมพิวเตอร์ด้านผู้ใช้ ในขณะที่ซอฟต์แวร์ server รันบนโฮสต์หรือเครื่องที่เป็น Web server ดังนั้นในการใช้ Web คุณจะต้องสร้างการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเสียก่อน แล้วจึงค่อยรัน Web browser ของคุณตามหลัง
3. จากใน Web browser คุณสามารถพิมพ์ URL เพื่อระบุสถานที่ที่จะเข้าไปดู หรือคลิกตรงที่เป็นลิงค์เพื่อที่จะไปยังตำแหน่งนั้น ตำแหน่งที่อยู่ในรูปแบบของ World Wide Web นั้นมีชื่อเรียกว่า URL ( Universal Resource Location ) จากนั้น Web browser ของคุณจะส่ง URL นั้นต่อไปยัง Web server โดยใช้ HTTP ( Hypertext Transfer Protocol ) ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดถึงวิธีที่ Web browser และ Web server จะติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน
4. URL จะประกอบไปด้วยหลาย ๆ ส่วน ส่วนแรกคือ " http " บอกรายละเอียดว่าจะใช้โปรโตคอลของอินเตอร์เน็ตแบบไหน ส่วนที่สองโดยปกติจะเป็น " www " เป็นตัวบอกว่ามีการต่อเชื่อมโยงกับบริการอินเตอร์เน็ตแบบไหน หรือบางทีก็ใช้ระบุตัวเครื่องที่เป็น Web server ว่าจะอ้างถึงเครื่องใดที่อยู่ในกลุ่ม ส่วนที่สามอย่างเช่น " mcp.com " มีหลายขนาดแตกต่างกันได้ และเป็นส่วนที่บ่งบอกถึงกลุ่ม ( หรือโดเมน ) ของ Web server ที่ต่ออยู่ด้วย ส่วนสุดท้ายจะบ่งบอกไดเร็คทอรีบนเซิร์ฟเวอร์นั้น แล้วจึงต่อด้วยชื่อของเว็บเพจ เอกสาร หรือออปเจ็กอื่น ๆ ของอินเตอร์เน็ต เช่น zdpress.catalog หรือแม้แต่ music.wav
5. คำร้องขอได้ถูกส่งไปยังอินเตอร์เน็ต โดยเราท์เตอร์จะตรวจสอบการร้องของดัวกล่าวว่าจะส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ตัวไหน ซึ่งข้อมูลที่อยู่ด้านขวาของ " http:// " ใน URL จะบอกอินเตอร์เน็ตว่า Web server ไหนมีข้อมูลที่ต้องการ จากนั้นเราท์เตอร์ก็จะส่งคำร้องขอต่อไปยัง Web server นั้น
6. Web server รับคำร้องโดยใช้โปรโตคอล HTTP ซึ่งจะระบุว่าจะขอเอกสารอันไหน
7. เมื่อเซิร์ฟเวอร์พบเว็บเพจ เอกสาร หรือออปเจ็กที่ถูกร้องขอมาแล้วก็จะส่งเว็บเพจ เอกสาร หรือออปเจ็กนั้น ๆ กลับไปยัง client ซึ่งก็คือ Web browser ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะไปแสดงที่จอของคอมพิวเตอร์ใน Web browser ได้ เมื่อเพจนั้นถูกส่งไปแล้วการเชื่อมต่อโดย HTTP ก็ปิดลง แต่ก็สามารถเปิดใหม่ได้เมื่อต้องการเรียกดูเพจอื่น ๆ ใหม่
Web browser ทำงานอย่างไร ?
1. Web browser เป็นซอฟต์แวร์ client ซึ่งจะรันบนคอมพิวเตอร์ของคุณพร้อมทั้งแสดงเว็บเพจไปด้วย ตัว client เองมักจะมีทั้งแบบที่ใช้กับคอมพิวเตอร์แบบพีซี แมคอินทอช และ UNIX ด้วย
2. Web browser จะแสดงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ของคุณโดยแปลงจากภาษา HTTP ( Hypertext Transfer Protocol ) ที่ใช้ในการสร้างเว็บเพจบน World Wide Web ปกติแล้วเว็บเพจจะแสดงภาพกราฟิก ไฟล์เสียง และไฟล์มัลติมีเดีย ทั้งนี้ยังรวมถึงการลิงค์ไปยังเพจอื่น ๆ หรือไฟล์ที่สามารถดาวน์โหลดได้ รวมถึงบริการอื่น ๆ ในอินเตอร์เน็ตด้วย
3. คำสั่งที่อยู่ในไฟล์ HTML จะเป็นตัวบอก browser ว่าจะให้แสดงตัวอักษร กราฟิก ลิงค์ และไฟล์มัลติมีเดียบนเว็บเพจได้อย่างไร ไฟล์ HTML ที่ browser ของคุณโหลดเข้ามาเพื่อแสดงบนเว็บเพจนั้น ไม่ได้เก็บเสียง ภาพ และไฟล์มัลติมีเดีย หรือกราฟิกและไฟล์เหล่านั้น ซึ่ง browser ของคุณจะใช้ตัวอ้างอิงเหล่านั้นในการค้นหาไฟล์บนเซิร์ฟเวอร์เพื่อนำมาแสดงบนเว็บเพจอีกทีหนึ่ง
4. ตัว Web browser ยังอาจแปลคำสั่งหรือเครื่องหมายแบบ HTML ( HTML tag ) ให้เป็นลิงค์ไปยัง Web site อื่น ๆ หรือบริการ Web อื่น ๆ อย่างเช่น กราฟิก ไฟล์มัลติมีเดีย newsgroups หรือไฟล์ที่ดาวน์โหลดได้ การทำงานจะขึ้นอยู่กับว่าลิงค์จะชี้ไปที่ไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าคำสั่งใน HTML กำหนดว่าลิงค์นั้นเป็นเว็บเพจหนึ่ง เมื่อผู้ใช้คลิกไปบนลิงค์ซึ่งขีดเส้นใต้บนหน้านั้น browser ก็จะไปดึงข้อมูลจาก URL ตามที่กำหนดในไฟล์ HTML นั้น ๆ ถ้าคำสั่ง HTML กำหนดว่าเป็นไฟล์ที่จะดาวน์โหลด browser ก็จะดาวน์โหลดไฟล์นั้นมายังคอมพิวเตอร์ของคุณให้
หมายเหตุ มีไฟล์อยู่หลายชนิดบนอินเตอร์เน็ตซึ่ง Web browser เองไม่สามารถเรียกออกมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟล์มัลติมีเดีย อย่างเช่น ไฟล์เสียง วิดีโอ และภาพเคลื่อนไหว และหลายครั้งที่บนเว็บเพจมีการอ้างอิงมาถึงไฟล์เหล่านี้ ซึ่งในการที่คุณจะดูหรือเล่นไฟล์เหล่านี้ได้ก็จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า แอพลิเคชันตัวช่วย ( helper application ) โดยคุณต้องติดตั้ง browser ของคุณให้รับแอพลิเคชันเหล่านี้ได้ก่อน จากนั้นจึงคลิกไปบนวัตถุหรือลิงค์ที่ต้องการ ก็จะมีการอ่านไฟล์เหล่านั้น พร้อมกับไปเรียกแอพลิเคชันตัวช่วยมาทำงานโดยอัตโนมัติ แอพลิเคชันตัวช่วยเหล่านี้ยังสามารถใช้ในการแสดงผลแบบ virtual reality, การคุยกัน ( chat ) บนอินเตอร์เน็ตและงานอื่น ๆ บนอินเตอร์เน็ตได้อีกมากด้วย
HTML tag นั้นสามารถตีความออกมาได้อย่างง่าย ๆ โดยทุก ๆ HTML tag หรือคำสั่งจะถูกปิดด้วยเครื่องหมาย " < " ( น้อยกว่า ) และ " > " ( มากกว่า ) เช่น <p> บ่อยครั้งที่ tag จะมีให้เห็นเป็นคู่คือมีทั้ง tag เริ่มต้นและ tag ปิดท้าย ซึ่งจะมีหน้าตาเหมือนกัน ยกเว้นแต่จะมีเครื่องหมาย / เพิ่มขึ้น สำหรับ tag ปิดท้ายเท่านั้น เช่นข้อความหนึ่งย่อหน้าก็มักจะมี tag ครอบอยู่ อย่างเช่น <p>Paragraph of text. </p> และ tag นี้จะเป็นอักษรตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็ได้ มีค่าเท่ากัน เช่น <P> จะเท่ากับ <p>
2 มีนาคม 2541