Telnet ทำงานอย่างไร ?
คุณสมบัติที่สำคัญอันหนึ่งของอินเตอร์เน็ตก็คือการยอมให้คุณเข้าไปใช้บริการของคอมพิวเตอร์ที่ใด ๆ ในโลกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากที่บ้านหรือที่ทำงานของคุณ โดยคุณสามารถล็อกอินเข้าไปในคอมพิวเตอร์อื่น และป้อนคำสั่งต่าง ๆ เข้าไปได้เหมือนกับว่าคุณนั่งอยู่หน้าคีย์บอร์ดนั้น แล้วเข้าไปใช้บริการทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์นั้นได้

บริการอินเตอร์เน็ตอย่างนี้เรียกว่า Telnet ซึ่งจะทำงานในรูปแบบ client/server อีกเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าคุณต้องรันซอฟต์แวร์ที่พีซีของคุณเป็น client เพื่อจะใช้บริการบนคอมพิวเตอร์อื่นที่เป็นเซิร์ฟเวอร์หรือโฮสต์ได้ โฮสต์จะยอมให้ client หลาย ๆ ตัวติดต่อเข้าใช้บริการได้พร้อม ๆ กัน ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ใช้คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในการที่จะใช้ Telnet และบริการต่าง ๆ ของโฮสต์ได้นั้น คุณจะต้องรู้อินเตอร์เน็ตแอดเดรสของโฮสต์ซึ่งมีบริการที่ต้องการใช้นั้นด้วย

เมื่อคุณใช้ Telnet ก่อนที่คุณจะเข้าไปใช้บริการของโฮสต์คอมพิวเตอร์ได้ ปกติคุณจะต้องล็อกอินเข้าไปยังโฮสต์นั้นก่อน ในบางครั้งคุณสามารถใช้ชื่อ " guest " ในการล็อกอินเข้าไปได้ แต่ในบางระบบจะให้คุณใส่รายละเอียดของตัวคุณเองไปด้วย เช่นชื่อและที่อยู่จริง ๆ ของคุณ และบางแห่งก็ต้องให้คุณตั้งชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านขึ้นมาสำหรับที่คุณจะใช้เวลาล็อกอินครั้งต่อไป

มีโฮสต์อยู่หลายแห่งบนอินเตอร์เน็ตซึ่งคุณสามารถใช้ Telnet ล็อกอินเข้าไปได้ โฮสต์เหล่านี้เป็นคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันหลากหลายชนิด ดังนั้นมันจะมีการทำงานและมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน มีโฮสต์หลาย ๆ ตัวพยายามทำให้การใช้งานง่ายขึ้น ด้วยการทำเป็นระบบเมนูสำหรับการเลือกติดต่อเข้าไปยังบริการต่าง ๆ และเมื่อคุณต่อเชื่อมเข้าไปโดยใช้ Telnet คุณจะต้องตั้งโปรแกรมบนเครื่องของคุณให้ใช้การจำลองเทอร์มินัล ( terminal emulation ) ตามแบบที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าคีย์บอร์ดและการแสดงผลบนจอมอนิเตอร์ของคุณทำงานได้ถูกต้องและตรงกันกับที่โฮสต์เข้าใจ การจำลองเทอร์มินัลที่นิยมกันมากที่สุดก็คือแบบของจอ VT-100 ซึ่งซอฟต์แวร์ Telnet ทุกตัวสามารถทำได้

มีโปรแกรม Telnet client ให้ใช้สำหรับเครื่องทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็น UNIX, Macintosh และ Windows ทุกเวอร์ชัน ถ้าคุณมีบัญชีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตแบบใช้ตัวอักษรล้วน ๆ ( text mode หรือบางทีก็เรียกว่า shell account ) โดยไม่มีการเชื่อมต่อแบบ SLIP/PPP คุณก็จะใช้ Telnet client โดยเพียงแต่พิมพ์คำว่า Telnet ตามด้วยอินเตอร์เน็ตแอดเดรสของคอมพิวเตอร์ที่คุณจะต้องการติดต่อเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ที่รันโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐที่เรียกว่า Fed World ( Fed = Federal ) ซึ่งจะสามารถค้นหาข้อมูลอันมากมายของรัฐบาลสหรัฐได้ คุณก็เพียงแต่พิมพ์คำว่า Telnet fedworld.gov เท่านั้น ถ้าคุณใช้ Telnet client สำหรับ Windows หรือ Macintost ก็จะใช้ง่ายขึ้นไปอีก โดยโปรแกรม client ดังกล่าวจะช่วยจำชื่อโฮสต์ไว้ให้ ซึ่งทำให้คุณสามารถเก็บชื่อโฮสต์ต่าง ๆ ที่เคยติดต่อเอาไว้เพื่อจะล็อกอินเข้าไปในภายหลังสะดวก

Telnet ทำงานอย่างไร ?

Telnet ยอมให้คุณเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของคุณเข้าไปใช้บริการของเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นที่อยู่ห่างออกไปบนอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ที่คุณสามารถต่อเข้าไปได้ อย่างเช่น ห้องสมุดต่าง ๆ เป็นต้น คุณสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์นั้นได้ด้วยคีย์บอร์ด และเห็นผลของสิ่งที่ทำได้บนจอคอมพิวเตอร์ของคุณ Telnet ทำงานในรูปแบบ client/server ดังนั้นคุณต้องใช้ซอฟต์แวร์ client บนคอมพิวเตอร์ของคุณเพื่อที่จะเข้าใช้บริการของคอมพิวเตอร์อื่น ซึ่งเรียกว่าโฮสต์นั้นได้

1. ก่อนจะใช้ Telnet คุณต้องรู้ถึงอินเตอร์เน็ตแอดเดรสของโฮสต์ที่ต้องการเข้าไปใช้บริการเสียก่อน จากนั้น Telnet client จะเริ่มติดต่อกับโฮสต์โดยใช้อินเตอร์เน็ตแอดเดรส

2. เมื่อคุณติดต่อกับโฮสต์ได้แล้ว สิ่งแรกที่คอมพิวเตอร์ของคุณและโฮสต์จะต้องทำก็คือตกลงว่าจะสื่อสารกันอย่างไร และเลือกว่าควรจะใช้การจำลองเทอร์มินัลอย่างไร โปรแกรมจำลองเทอร์มินัลนี้จะทำการแปลงข้อมูลจากคีย์บอร์ดของคุณว่าจะส่งไปให้โฮสต์อย่างไร และข้อมูลที่รับกลับมานั้นจะแสดงที่จอคอมพิวเตอร์ของคุณอย่างไร ตัวอย่างเช่น การกำหนดว่าคีย์บอร์ด เช่น backspace จะทำงานอย่างไรจึงจะถูกต้อง การจำลองเทอร์มินัลที่นิยมใช้กันทั่วไปก็คือ VT-100

3. client และ server จะสื่อสารกันโดยใช้โปรโตคอล Telnet ซึ่งจะมองแต่ละปลายของการเชื่อมต่อทั้งของตัว client และ server ว่าเป็น จุดปลาย ( เสมือน ) ของเน็ตเวิร์ก หรือ Network Virtual Terminal ( NVT ) โดยแต่ละ NVT จะมีเครื่องพิมพ์เสมือน และ คีย์บอร์ดเสมือน ตัวอย่างเช่น คีย์บอร์ดจะส่งข้อมูลจาก NVT หนึ่งไปยังอีกปลายหนึ่ง ในขณะที่คุณป้อนตัวอักษรบนคีย์บอร์ดที่คอมพิวเตอร์ของคุณอยู่ ก็เหมือนกับว่าคุณกำลังใช้คีย์บอร์ดของ NVT พร้อมกันไปด้วย สำหรับเครื่องพิมพ์นั้นจะไม่ใช่เครื่องพิมพ์จริง ๆ แต่จะเป็นการรับและแสดงข้อมูลบนจอคอมพิวเตอร์ของคุณแทน โดยในขณะที่โฮสต์ส่งข้อมูลมาให้คุณ จะถือเสมือนเป็นการ สั่งพิมพ์ แต่จริง ๆ แล้วจะแสดงผลที่จอภาพของคุณนั่นเอง

4. ในระหว่างการใช้งาน Telnet ขณะที่คุณพิมพ์ตัวอักษร ตัวอักษรเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้ที่บัฟเฟอร์บนคอมพิวเตอร์ของคุณ เมื่อข้อมูลทั้งบรรทัดพร้อมที่จะส่ง หรือเมื่อคุณใช้คำสั่งให้ส่งข้อมูล ( อย่างเช่น กดคีย์ Enter ลงไป ) ข้อมูลจะถูกส่งจากคีย์บอร์ดของ NVT เข้าสู่อินเตอร์เน็ต ซึ่งจะมีแอดเดรส IP ของโฮสต์กำกับไปด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าแพ็กเก็ตจะถึงปลายทางที่ถูกต้อง

5. เนื่องจากแอดเดรส IP ของคุณได้ถูกส่งไปด้วย ดังนั้นข้อมูลที่ตอบกลับจึงสามารถส่งกลับมาหาคุณได้ถูกต้อง นอกเหนือจากนั้นในคำตอบที่ส่งกลับมาจะมีคำสั่งพิเศษของ Telnet กำกับมาด้วย เพื่อใช้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับคำตอบนั้น หรือจะตอบสนองต่อคำตอบนั้นอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อข้อมูลส่งจาก NVT หนึ่ง เช่นจากเครื่องของคุณไปยังโฮสต์ แล้วคาดหวังว่าจะต้องมีข้อมูลตอบกลับมายัง NVT ต้นกำเนิดด้วยเพื่อให้กระบวนการทำงานดำเนินต่อไปได้ ในกรณีเครื่องของคุณนี้ก็จะส่งคำสั่ง Go Ahead ( GA ) ของ Telnet กำกับไปด้วย

6. เมื่อโฮสต์ของ Telnet ได้รับข้อมูลที่คุณส่งไป แล้วทำการประมวลผลข้อมูลเพื่อส่งคำตอบกลับมายังจอภาพของคุณ ซึ่งก็คือ เครื่องพิมพ์ ของ NVT ที่โฮสต์นั้นมองเห็นนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณพิมพ์ตัวอักษร dir ลงบนคีย์บอร์ดแล้วกด Enter โฮสต์จะนำคำสั่ง dir นั้นไปทำงานแล้วส่งผลของคำสั่ง dir กลับมาแสดงยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ

7. เนื่องจากแพ็กเก็ตของข้อมูลต้องผ่านเข้าไปในเราท์เตอร์หลาย ๆ ตัวในการรับส่งแต่ละครั้งระหว่างคอมพิวเตอร์ของคุณและโฮสต์ ดังนั้นจึงอาจมีการทิ้งช่วงห่างระหว่างเวลาที่คุณส่งคำสั่งกับเวลาที่คุณไดัรับผลของคำสั่งนั้นมาแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ของคุณมากพอสมควร

2 มีนาคม 2541




[ home ] [ menu ] [ Internet ]