วิดีโอบนอินเตอร์เน็ต
แรกเริ่มเดิมทีนั้น อินเตอร์เน็ตเป็นวิธีการที่จะใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศที่เป็นตัวอักษรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์เมล์ กลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการโอนย้ายไฟล์ ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าจากการที่เป็นแค่ตัวอักษรธรรมดาไปมากมาย ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตสามารถทำการประชุมทางวิดีโอโดยคุณสามารถพูดคุยและมองเห็นภาพคู่สนทนาแบบสด ๆ ได้จากจอคอมพิวเตอร์ของคุณ คุณสามารถใช้แอพลิเคชันที่เรียกว่า white board ซึ่งคุณจะเห็นภาพและพูดโต้ตอบกัน รวมทั้งร่วมทำงานบนข้อมูลไฟล์เดียวกันได้แบบสด ๆ จากจอคอมพิวเตอร์ของคุณ คุณสามารถดูภาพวิดีโอสด ๆ ของนักบินอวกาศจากภายนอกโลกได้ และคุณสามารถดูเทปวิดีโอจากหลาย ๆ แหล่งเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่คุณต้องการ โดยไม่ต้องคอยฟังว่าเขาจะออกอากาศเมื่อไหร่

ในการที่จะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ทำงานอย่างไร คุณจะต้องเข้าใจเทคโนโลยีสามชนิดด้วยกัน เทคโนโลยีแรกก็คือ Mbone ( Multicast Backbone ) ซึ่งเป็นแบ็คโบนความเร็วสูงของอินเตอร์เน็ตที่สามารถส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลผ่านไปได้ มีการส่งวิดีโอโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดสดผ่านไปบน Mbone เพราะว่ามันมีความเร็วเพียงพอสำหรับงานลักษณะนี้ เทคโนโลยีที่สองเรียกว่า สตรีมมิงวิดีโอ ( streaming video ) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในการส่งสัญญาณวิดีโอไปบนอินเตอร์เน็ต ที่ประสบกันมานานแล้ว ด้วยเหตุที่ไฟล์วิดีโอนั้นมักจะมีขนาดใหญ่มาก ๆ เพราะมีข้อมูลที่จะต้องเก็บในปริมาณมหาศาล และด้วยเหตุนี้การส่งข้อมูลวิดีโอจึงไม่เคยเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวกเลย มันอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ ในการส่งไฟล์วิดีโอเพียงหนึ่งไฟล์ไปยังคอมพิวเตอร์ของใครสักคน และเขาจะต้องรอจนกระทั่งไฟล์ได้ถูกดาวน์โหลดมาทั้งหมดแล้วจึงจะเล่นมันได้ ซึ่งอาจจะเล่นได้แค่ไม่กี่นาทีด้วยซ้ำ

สตรีมมิงวิดีโอจะมาช่วยแก้ปัญหานี้โดยสองวิธีการด้วยกันคือ ประการแรก มันจะทำการบีบอัดไฟล์วิดีโอให้เล็กลงอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงใช้เวลาน้อยลงในการส่งผ่านไปในอินเตอร์เน็ต ประการที่สอง มันจะยอมให้คอมพิวเตอร์เครื่องรับเล่นวิดีโอได้ในขณะที่ไฟล์กำลังถูกส่งไป ดังนั้นถ้าคุณรับไฟล์สตริมมิงวิดีโอ คุณก็สามารถดูวิดีโอนั้นขณะกำลังรับได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ดาวน์โหลดไฟล์นั้นหมดก่อน ไฟล์สตรีมมิงวิดีโอมักไม่ใช้เป็นการถ่ายทอดสด แต่จะถูกสร้างขึ้นมาก่อนแล้วจึงจะส่งออกไปยังอินเตอร์เน็ต เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการดูวิดีโอคุณก็เพียงแต่คลิกตรงลิงก์ที่เป็นไฮเปอร์เท็กซ์บนเว็บเพจเท่านั้น แต่ทั้งนี้คุณจะต้องมีโปรแกรมที่เป็นตัวเล่นแบบพิเศษในการที่จะดูวิดีโอในแบบดังกล่าวได้ มีวิธีการที่ใช้ส่งสตรีมมิงวิดีโอไปบนอินเตอร์เน็ตอยู่หลายวิธี ในตอนนี้เราจะไปดูตัวที่นิยมกันมากที่สุดอันหนึ่งนั่นก็คือ VDOLive

เทคโนโลยที่สาม ก็คือ การประชุมทางวิดีโอ ( video conferencing ) ซึ่งจะทำให้คุณประชุมแบบสด ๆ ทางวิดีโอข้ามอินเตอร์เน็ตโดยใช้คอมพิวเตอร์ของคุณได้ การประชุมทางวิดีโอนั้นสามารถทำได้แบบสด ๆ หรืออาจจะใช้เทคโนโลยีในการอัดเทปแล้วออกอากาศก็ได้เหมือนกัน บางครั้งองค์การการบินและอวกาศของสหรัฐหรือ NASA ( National Aeronautics and Space Administration ) จะใช้เทคโนโลยีนี้ในการถ่ายทอดสดจากยานกระสวยอวกาศ และการออกอากาศวิดีโอเทปเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ ในบทนี้เราจะได้ดูวิธีการที่เก่าที่สุดแต่เป็นที่นิยมมากที่สุดในการประชุมทางวิดีโอ นั่นคือ CU-SeeMe ว่ามีการทำงานอย่างไร

Mbone ทำงานอย่างไร ?

1. Mbone ( Multicast Backbone ) เป็นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งสามารถส่งสัญญาณถ่ายทอดสดทั้งภาพและเสียงได้ Mbone เป็นเน็ตเวิร์กของโฮสต์คอมพิวเตอร์ที่ติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า IP ( Internet Protocol ) multicast การทำงานจะเริ่มจากสัญญาณวิดีโอถูกแปลงเป็นรูปแบบดิจิตอลและถูกบีบอัด แล้วจึงส่งออกไปบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งถ้าไม่มีการบีบอัดแล้วข้อมูลที่ต้องส่งก็จะมีขนาดใหญ่เกินไปและใช้เวลานานเกินไปในการส่ง

2. สัญญาณดิจิตอลที่ถูกบีบอัดจะถูกส่งออกไปในรูปแพ็กเก็ตโดยใช้โปรโตคอล IP multicast แทนที่จะเป็น TCP ของอินเตอร์เน็ตตามปกติ โปรโตคอล IP multicast จะยอมให้สัญญาณถูกส่งไปยังหลาย ๆ ที่บนอินเตอร์เน็ตได้พร้อม ๆ กัน ต่างจากสัญญาณโดยปกติในอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นแบบ unicast หมายความว่าแต่ละสัญญาณจะถูกส่งไปยังปลายทางได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

3. ประโยชน์ประการสำคัญของโปรโตคล multicast ก็คือเมื่อแพ็กเก็ตของสัญญาณภาพถูกส่งออกไป เช่น จากยุโรปไปยังสหรัฐ มันจะถูกส่งเพียงครั้งเดียว แม้ว่าจะต้องส่งไปยังปลายทางหลาย ๆ แห่งด้วยกันก็ตาม โดยปกติแล้วถ้าเป็น TCP จะต้องส่งแพ็กเก็ตนั้นซ้ำ ๆ กันไปให้ปลายทางแต่ละแห่ง แต่โปรโตคอล multicast จะแก้ปัญหานี้โดยการใส่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ปลายทางหลาย ๆ แห่งบนอินเตอร์เน็ตไว้ในแพ็กเก็ตของมัน ดังนั้นสัญญาณวิดีโอจึงถูกส่งต่อไปยังปลายทางต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างถูกต้องครบทุกแห่ง

4. เน็ตเวิร์กในส่วนของ Mbone จะเข้าใจโปรโตคอล multicast แต่เน็ตเวิร์กและเราท์เตอร์ส่วนใหญ่ในอินเตอร์เน็ตจะไม่เข้าใจโปรโตคอลนี้ อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่เน็ตเวิร์ก Mbone ต้องให้ข้อมูลวิ่งไปตามเส้นทางปกติของอินเตอร์เน็ต เพื่อแก้ไขปัญหานี้ข้อมูลของ Mbone จะเดินทางผ่าน อุโมงค์ ( tunnel ) ของเน็ตเวิร์กและเราท์เตอร์ในอินเตอร์เน็ต โดยที่ด้านต้นทางของอุโมงค์ก็คือเวิร์กสเตชันที่ใช้ UNIX ซึ่งจะต้องรันซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า mrouted ( multicast routing deamon ) ซอฟต์แวร์นี้จะทำการผนึกแพ็กเก็ตของโปรโตคอล multicast เอาไว้ภายแพ็กเก็ต TCP ของอินเตอร์เน็ตปกติอีกทีหนึ่ง ดังนั้นอินเตอร์เน็ตจึงมองข้อมูลนี้เป็นเหมือนแพ็กเก็ต TCP ตามปกติ ข้อมูลจึงถูกส่งต่อไปยังปลายอุโมงค์อีกด้านหนึ่งอย่างถูกต้อง

5. โปรแกรม mrouted อีกตัวหนึ่ง จะรันอยู่อีกปลายด้านหนึ่งของอุโมงค์ และจะทำการแตกแพ็กเก็ต IP ที่ผนึกเอาแพ็กเก็ตของโปรโตคอล multicast เข้าไว้จากต้นทางให้เป็นรูปแบบเดิมแล้วส่งผ่านไปยังเน็ตเวิร์กส่วนที่เป็น Mbone ซึ่งจะเข้าใจโปรโตคอล multicast นั้นต่อไป

6. ด้วยข้อมูลแอดเดรสที่อยู่ภายในแพ็กเก็ตนั้น ทำให้ข้อมูลวิดีโอถูกส่งไปยังโฮสต์บนอินเตอร์เน็ตที่อยู่ในที่ต่าง ๆ กันได้อย่างถูกต้อง ผู้ที่เชื่อมต่อไปยังโฮสต์คอมพิวเตอร์แต่ละรายจึงสามารถดูวิดีโอและฟังเสียงได้ ในแอพลิเคชันบางตัวอย่างเช่นการประชุมทางไกลหรือแอพลิเคชัน white board ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนสามารถทำงานร่วมกันได้บนไฟล์ ๆ เดียวกัน จากจอภาพของแต่ละคน ผู้ใช้จะสามารถโต้ตอบกันผ่านวิดีโอและออดิโอได้ด้วย

Streaming Video ทำงานอย่างไร ?

1. สตรีมมิงวิดีโอหมายถึงวิดีโอที่คุณสามรถเล่นได้ทันทีบนอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องคอยจนกระทั่งดาวน์โหลดไฟล์เสร็จก่อนถึงจะดูได้ คุณสามารถเล่นวิดีโอได้เลยในขณะที่มันกำลังส่งมายังคอมพิวเตอร์ของคุณ ตัวอย่างของสตรีมมิงวิดีโอก็เช่น VDOLive เป็นต้น

2. ก่อนที่ไฟล์วิดีโอจะถูส่งไปยังอินเตอร์เน็ต มันจะถูกบีบอัดและเข้ารหัสก่อนด้วย codec ( coder/decoder ) ซึ่งเป็นอัลกอริทึม ( สูตรทางคณิตศาสตร์ ) ในการทำให้คอมพิวเตอร์บีบอัดข้อมูลวิดีโอให้มีขนาดเล็กลง การที่ต้องใช้อัลกอริทึมนี้ก็เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วจะทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานมากในการส่งข้ามอินเตอร์เน็ต

3. เมื่อคุณส่งคำร้องขอการดูวิดีโอโดยคลิกไปที่ไอคอนหรือลิงก์บน World Wide Web จะเป็นการส่งคำสั่งจากคอมพิวเตอร์ของคุณไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อร้องขอไฟล์วิดีโอเซิร์ฟเวอร์ก็จะส่งไฟล์ข้ามอินเตอร์เน็ตมาให้คุณ โดยจะส่งไฟล์มาในรูปแพ็กเก็ตด้วยการใช้โปรโตคอล IP แต่ไม่ได้ใช้โปรโตคอล TCP ของอินเตอร์เน็ตตามปกติ แต่จะใช้ UDP ( User Datagram Protocol ) แทน ซึ่ง UDP จะต่างกับ TCP ตรงที่มันจะไม่ทำการตรวจสอบว่าข้อมูลที่ส่งไปถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการส่งจะไม่ถูกรบกวนจากการที่ต้องส่งแพ็กเก็ตใหม่ไปให้อยู่บ่อย ๆ

4. แพ็กเก็ตวิดีโอถูกส่งไปยังบัฟเฟอร์ในคอมพิวเตอร์ของคุณ ซึ่งจะกันพื้นที่หน่วยความจำเอาไว้ขนาด 5k ถึง 30k เซิร์ฟเวอร์สามารถบอกถึงความเร็วในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตของคุณได้จากการที่บัฟเฟอร์ถูกทำให้เต็มได้เร็วแค่ใหน ถ้าเป็นการเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงมันจะส่งข้อมูลวิดีโอให้ในประมาณที่มากกว่า ซึ่งจะได้ภาพที่นิ่มนวลและมีวิตชีวามากกว่า แต่ถ้าความเร็วต่ำก็จะส่งข้อมูลให้น้อยกว่า ดังนั้นคุณภาพของภาพก็จะด้อยลงไป

5. ใช้เวลาไม่กี่วินาทีบัฟเฟอร์ก็จะเต็ม ตัวเล่นวิดีโอก็จะถูกเรียกมารันบนคอมพิวเตอร์ของคุณ ตอนนี้คุณก็สามารถดูวิดีโอได้แล้ว ในขณะที่คุณดูวิดีโออยู่นั้นแพ็กเก็ตวิดีโอก็ยังคงถูกส่งมาที่บัฟเฟอร์ของคุณอยู่ตลอดเวลา โดยที่บัฟเฟอร์ก็จะส่งข้อมูลออกมาให้ตัวเล่นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ดังนั้นคุณจึงสามารถดูวิดีโอได้จนจบ เมื่อข้อมูลวิดีโอได้ถูกส่งไปหมดแล้ววิดีโอก็จะหยุด ไฟล์วิดีโอจะไม่ถูกเก็บบนคอมพิวเตอร์ของคุณแต่ละส่วนของไฟล์จะถูกทิ้งไปหลังจากส่วนนั้นได้ถูกเล่นไปแล้ว

การประชุมวิดีโอแบบ CU-SeeMe ทำงานอย่างไร ?

1. การประชุมทางวิดีโอบนอินเตอร์เน็ตทำได้หลายวิธีการด้วยกัน แต่ที่ออกมาเป็นตัวแรกและยังเป็นที่นิยมอยู่ก็คือ CU-SeeMe ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือเดสก์ท๊อปทำการประชุมทางวิดีโอได้ทั้งแบบส่วนตัวและแบบเป็นกลุ่มจากที่ไหนก็ได้บนอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้เพียงแค่ใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ราคาถูกทั่ว ๆ ไปก็สามารถทำการประชุมทางวิดีโอได้แล้ว

2. เมื่อใครคนหนึ่งต้องการที่จะประชุมทางวิดีโอกับคนอื่น ก็จะใช้ซอฟต์แวร์ CU-SeeMe เพื่อทำการล็อกอินเข้าไปยัง reflector ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ตที่จะเป็นตัวจัดการประชุมทางวิดีโอขึ้นได้พร้อม ๆ กันหลาย ๆ กลุ่ม โดยเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าไปร่วมได้ เมื่อคุณล็อกเข้าไปยัง reflector แล้วคุณก็จะสามารถเข้าร่วมการประชุมไหนก็ได้ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยจะมีการส่งสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ของคนนั้นไปยัง reflector เป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการบอกคนอื่น ๆ ที่ต่อเชื่อมอยู่กับ reflector ว่าผู้ใช้คนนั้นล็อกอินอยู่และพร้อมที่จะทำการประชุมทางวิดีโอกับคนอื่น ๆ แล้ว

3. ในการที่จะร่วมการประชุมทางวิดีโอ คุณจะต้องมีกล้องวิดีโอและไมโครโฟนต่อกับคอมพิวเตอร์ของคุณ กล้องจะแปลงภาพวิดีโอเป็นข้อมูลในรูปดิจิตอล แล้วซอฟต์แวร์ CU-SeeMe ก็จะทำการบีบอัดและเข้ารหัสข้อมูลเพื่อให้ส่งผ่านเข้าไปในอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งถ้าไม่ทำการบีบอัดข้อมูลและเข้ารหัสผ่านก่อนแล้วละก็ มันอาจจะมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับการส่ง

4. และอีกวิธีการหนึ่งที่ CU-SeeMe จะลดข้อมูลบางส่วนที่ต้องส่งผ่านอินเตอร์เน็ตลงได้ โดยเพียงแต่ส่งข้อมูลบางส่วนของจอภาพตรงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ไม่ต้องส่งหมดทั้งภาพ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเขาหรือเธอทำการเคลื่อนย้ายศรีษะไปมา โดยไม่ต้องส่งภาพพื้นหลังซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไปด้วย

5. ข้อมูลวิดีโอได้ถูกส่งข้ามอินเตอร์เน็ตไปโดยการใช้ UDP ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ TCP ในการส่ง

6. คนที่ต้องการเห็นภาพของคุณจะต้องมีซอฟต์แวร์ CU-SeeMe ด้วยเช่นกัน โดยซอฟต์แวร์จะถอดรหัสภาพวิดีโอของคุณและแสดงออกมาบนจอภาพของผู้ใช้คนนั้น

หมายเหตุ มีทางที่จะใช้ CU-SeeMe ได้โดยไม่ต้องผ่าน reflector ถ้าคุณรู้ IP แอดเดรสของคนที่ต้องการประชุมทางวิดีโอด้วย คุณสามารถติดต่อกับพวกเขาได้โดยตรงโดยไม่ต้องวิ่งผ่าน reflector แต่ในกรณีนี้คุณสามารถร่วมประชุมได้เพียงแบบหนึ่งต่อหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทำการประชุมแบบกลุ่มได้

4 มีนาคม 2541




[ home ] [ menu ] [ Internet ]