เมื่อคุณส่งข้อมูลชิ้นหนึ่งเข้าไปในอินเตอร์เน็ตมันจะเดินทางไปสู่ปลายทางที่ต้องการได้เสมอตามความคาดหมาย แต่กระบวนการในการส่งข้อมูลนั้นจริง ๆ แล้วจะยุ่งยากซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
เมื่อคุณส่งข้อมูลเข้าไปในอินเตอร์เน็ต ในขั้นแรกมันจะถูกแตกออกเป็นชิ้นส่วนย่อย ๆ ที่เรียกว่าแพ็กเก็ต ( Packet ) โดยโปรโตคอลที่เรียกว่า Transmission Control Protocol ( TCP ) แพ็กเก็ตเหล่านี้ถูกส่งจากคอมพิวเตอร์ของคุณไปยังเน็ตเวิร์กที่คุณเชื่อมต่ออยู่ แล้วผ่านต่อไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือผู้ให้บริการออนไลน์ จากที่นั่นมันก็จะถูกส่งข้ามไปในระบบเน็ตเวิร์กของคอมพิวเตอร์และสายการสื่อสารที่เชื่อมต่อกันหลายลำดับชั้น ก่อนที่จะไปถึงปลายทางซึ่งอยู่ต่างเมืองออกไปหรืออยู่ห่างออกไปอีกซีกโลกหนึ่ง อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์หลายชิ้นจะทำหน้าที่จัดการกับแพ็กเก็ตเหล่านี้และนำพวกมันไปสู่ปลายทางที่ถูกต้อง ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับส่งข้อมูลระหว่างเน็ตเวิร์กและทำหน้าที่หลักในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเข้าด้วยกัน อุปกรณ์ที่สำคัญมากที่สุดห้าตัวก็คือ hub, birdge, gateway,repeater และ router
hub นั้นสำคัญเพราะว่ามันจะเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องเข้าด้วยกันในระบบ Local Area Network ( LAN ) วงหนึ่ง ๆ โดยทำให้คอมพิวเตอร์ติดต่อซึ่งกันและกันได้ ส่วน bridge นั้นจะเชื่อมโยงระบบ LAN หลาย ๆ วงเข้าด้วยกัน โดยยอมให้ข้อมูลที่จะส่งข้ามไปยัง LAN วงอื่นทะลุผ่านไปได้ ในขณะเดียวกันก็จะจำกัดข้อมูลที่ส่งอยู่ใน LAN วงเดียวกันไม่ให้วิ่งออกไปเกะกะข้างนอกด้วย ส่วน gateway นั้นก็มีลักษณะใกล้เคียงกับ bridge แต่ยังทำหน้าที่เพิ่มเติม คือแปลงข้อมูลจากเน็ตเวิร์กประเภทหนึ่งให้อยู่ในรูปที่สามารถส่งไปยังเน็ตเวิร์กอีกประเภทหนึ่งด้วย
เมื่อข้อมูลเดินทางข้ามเน็ตเวิร์ก มักจะต้องถูกส่งผ่านระยะทางที่ไกลมาก ๆ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาได้เพราะว่าสัญญาณที่ส่งออกไปอาจจะอ่อนลงตามระยะทาง วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ การใช้อุปกรณ์ repeater ซึ่งจะทำการขยายสัญญาณข้อมูลเป็นระยะ ๆ ก่อนที่จะส่งต่อไป
router นั้นมีบทบาทหลักในการจัดการจราจรของอินเตอร์เน็ต งานของพวกมันก็คือการทำให้แน่ใจว่าแพ็กเก็ตจะส่งไปถึงปลายทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ถ้าข้อมูลถูกส่งผ่านไปมาระหว่างคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในเน็ตเวิร์กอันเดียวกัน ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ router เพราะว่าเน็ตเวิร์กก็จะสามารถจัดการจราจรภายในตัวเองได้ แต่ถ้าข้อมูลถูกส่งข้ามกันระหว่างเน็ตเวิร์กที่ต่างกันละก็ ต้องมีการใช้ router ซึ่งจะทำการตรวจสอบแพ็กเก็ตเพื่อดูว่าปลายทางของมันคือที่ไหน และจะส่งแพ็กเก็ตต่อไปยัง router ตัวอื่นซึ่งอยู่ใกล้กับปลายทางของแพ็กเก็ตนั้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพิจารณาถึงสภาพความหนาแน่นของการจราจรบนอินเตอร์เน็ตในขณะนั้นประกอบด้วย
เน็ตเวิร์กระดับกลาง ( mid-levet network ) เป็นตัวที่เชื่อม LAN ต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยใช้สายโทรศัพท์ความเร็วสูง Ethernet และการเชื่อมต่อทางไมโครเวฟ เน็ตเวิร์กระดับกลางนี้ในเขตพื้นที่หนึ่งจะเรียกว่าเน็ตเวิร์กภูมิภาค ( regional network) ขณะที่องค์กรที่มีเน็ตเวิร์กหลาย ๆ เน็ตเวิร์กซึ่งอยู่ต่างที่กันถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นเน็ตเวิร์กระดับกลางอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่มักจะเรียกกันว่า WAN ( Wide Area Network )
เมื่อแพ็กเก็ตเดินทางจากคอมพิวเตอร์บน LAN ในเน็ตเวิร์กระดับกลางแห่งหนึ่งไปยังคอมพิยเตอร์ที่อื่น ๆ ในเน็ตเวิร์กระดับกลางด้วยกัน router ตัวหนึ่ง ( หรือหลายตัว ) จะส่งแพ็กเก็ตไปยังปลายทางที่ถูกต้องของมัน ถ้าปลายทางอยู่นอกเน็ตเวิร์กระดับกลางนั้น ๆ ออกไปมันก็จะส่งข้อมูลนั้นไปที่ NAP ( Network Access Point ) แทน NAP นี้คือจุดที่เชื่อมต่อระหว่างเน็ตเวิร์กระดับกลางกับแบ็คโบนความเร็วสูง ซึ่งปลายทางที่ข้อมูลจะถูกส่งข้ามไปทั่วประเทศและทั่วโลกต่อไป แบ็คโบนความเร็วสูงอย่างเช่น vBNS ( very high speed Backbone Network Service ) สามารถส่งผ่านข้อมูลจำนวนมาก ๆ ด้วยความเร็วถึง 155 เมกะบิต ต่อวินาที
การเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กไปยังอินเตอร์เน็ต
1. อินเตอร์เน็ตประกอบไปด้วยเน็ตเวิร์กที่ต่อเชื่อมซึ่งกันและกันโดยผ่านเส้นทางที่ช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนกันได้ทั้งสารสนเทศ ข้อมูล และไฟล์ การต่อเชื่อมเข้ากับอินเตอร์เน็ตจะทำให้คอมพิวเตอร์ของคุณสามรถส่งแพ็กเก็ตของข้อมูลผ่านเส้นทางเหล่านี้ไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใด ๆ ที่ต่อเชื่อมอยู่กับอินเตอร์เน็ตได้
2. คุณเชื่อมเข้ากับอินเตอร์เน็ตโดยผ่านทาง Local Area Network จากที่ทำงานของคุณหรือหมุนโทรศัพท์ติดต่อเข้าไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ที่ต่อเชื่อมอยู่กับอินเตอร์ ผ่านทางการบริการออนไลน์หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ( ISP ) เน็ตเวิร์กที่แตกต่างกันหลายชนิดสามารถต่อเข้าไปในอินเตอร์เน็ตได้ อย่างเช่นเน็ตเวิร์กแบบ Ethernet, Token-ring, และอื่น ๆ ในเน็ตเวิร์กแบบ Token-ring ข้อมูลจะส่งไปในรูปของ tokens จากคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังอีกคอมพิวเตอร์หนึ่งในเน็ตเวิร์กผ่านเส้นทางซึ่งมีการจัดแบบวงแหวน ( ring ) หรือดาวกระจาย ( star ) ส่วนใน Ethernet ข้อมูลจะออกจากเซิร์ฟเวอร์ ( Server ) ไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งในเน็ตเวิร์กโดยตรง
3. router ซึ่งเป็นตัวต่อเชื่อมระหว่างเน็ตเวิร์ก จะทำงานส่วนใหญ่ในการควบคุมการจราจรบนอินเตอร์เน็ต router จะตรวจสอบแพ็กเก็ตของข้อมูลที่เดินทางข้ามอินเตอร์เน็ตว่ามันจะไปที่ใด และจัดส่งข้อมูลนั้นไปตามเส้นทางที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะส่งต่อไปยัง router ตัวอื่น ซึ่งก็จะส่งต่อไปยัง router ตัวอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงปลายทาง
4. เน็ตเวิร์กอาจเชื่อมต่อด้วยวิธีการที่แตกต่างกันหลายวิธี ตั้งแต่การต่อด้วยสายโทรศัพท์แบบเฉพาะซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้เร็วถึง 56 กิโลบิตต่อวินาที ( kbps ) การใช้คู่สายเช่า ( leased line ) แบบที่เรียกว่า T1 ซึ่งเริ่มใช้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเชื่อมต่อระหว่างเน็ตเวิร์ก การเชื่อมต่อแบบ T1 นี้สามารถส่งข้อมูลได้ถึง 1.544 เมกะบิตต่อวินาที และการเชื่อมต่อที่มีความเร็วสูงกว่านี้ก็คือ T3 ซึ่งสามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วถึง 44.746 เมกะบิตต่อวินาที ก็มีการนำมาใช้งานเช่นกัน
5. ดาวเทียมสามารถเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กได้เช่นเดียวกับสายไฟเบอร์ออพติก ( fiber optic ) หรือสายโทรศัพท์แบบพิเศษที่เรียกว่า ISDN ( Intergrated Services Gigital Network )
6. เน็ตเวิร์กในพื้นที่ใกล้เคียงกันสามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นเน็ตเวิร์กระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ข้อมูลที่รับส่งกันระหว่างเน็ตเวิร์กในพื้นที่นั้นจะส่งจากเน็ตเวิร์กหนึ่งไปยังอีกเน็ตเวิร์กหนึ่งโดยผ่านทาง router
7. เน็ตเวิร์กระดับภูมิภาคจะถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันด้วยแบ็คโบนซึ่งสามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงมาก เมื่อข้อมูลถูกส่งจากเน็ตเวิร์กระดับภูมิภาคแห่งหนึ่งไปยังภูมิภาคอื่น ตอนแรกมันจะถูกส่งไปยัง Network Access Point ( NAP ) จากนั้น NAPs ก็จะนำข้อมูลส่งไปในแบ็คโบนความเร็วสูง อย่างเช่น very high speed Backbone Network Service ( vBNS ) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงถึง 155 เมกะบิตต่อวินาที ไปจนกระทั่งถึงเน็ตเวิร์กระดับภูมิภาคที่ปลายทาง แล้วก็แยกไปยังเน็ตเวิร์กและคอมพิวเตอร์ที่ต้องการภายในเน็ตเวิร์กระดับภูมิภาคนั้นอีกทีหนึ่ง
15 กุมภาพันธ์ 2541