การโปรแกรมมัลติมีเดียบนอินเตอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ตในอนาคตจะแตกต่างกับอินเตอร์เน็ตที่เราเห็นทุกวันนี้มาก ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จะเกี่ยวกับการทำงานแบบโต้ตอบหรือปฏิมัมพันธ์ ( interactivity ) และมัลติมีเดีย เว็บเพจจะไม่เป็นเอกสารแบน ๆ ที่ใช้สำหรับดูและอ่านเท่านั้น หากแต่จะเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีทั้งเพลงและเสียงต่าง ๆ ออกมาให้ อีกทั้งจะนำเสนอข่าวสารข้อมูลในวิธีการแบบใหม่ ๆ ที่ต่างจากเดิมไปอย่างมาก และยังจะทำให้คุณสามารถโต้ตอบกับอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย

แนวโน้มนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วอย่างขนานใหญ่ มีการสร้างภาษาและเครื่องมือใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อช่วยในการพัฒนาโปรแกรมแบบโต้ตอบได้สำหรับ World Wide Web ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นโปรแกรมอ่านข่าวด่วนซึ่งจะปรากฏแทรกมาที่โฮมเพจที่คุณกำลังดูอยู่ เกมส์แบบ interactive ประเภทต่าง ๆ และการนำเสนอแบบมัลติมีเดียซึ่งจะรวมเอาทั้งภาพเคลื่อนไหว ดนตรี และกราฟิกที่เหมือนกับรายการโชว์ทางโทรทัศน์หรือ CD-ROM ของคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน

ความหลากหลายของเครื่องมือเหล่านี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าให้กับอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง World Wide Web ตัวอย่างเช่น Shockwave ซึ่งเป็น plug-in ที่จะเพิ่มเข้าไปยัง Web browser เพื่อให้คุณดูการนำเสนอที่ถูกสร้างโดยโปรแกรมสร้างมัลติมีเดีย ( multimedia authoring ) ที่ชื่อว่า Director จากบริษัท Macromedia ถ้าคุณติดตั้ง Shockwave แบบ plug-in จะทำให้เมื่อใดก็ตามที่คุณเข้าไปเยี่ยมชมเว็บเพจซึ่งมีไฟล์ Shockwave อยู่นั้นก็จะมีการดาวน์โหลดไฟล์มายังคอมพิวเตอร์ของคุณแล้วเล่นโดย plug-in ของคุณต่อไป

สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น และเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อกันว่าจะเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ Web อย่างขนานใหญ่ นั่นก็คือภาษาคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Sun Microsystems ซึ่งเรียกว่า Java โดยที่ Java จะมีความสามารถในการทำโปรแกรมที่ซับซ้อนกว่า Shockwave มาก ขณะที่ Shockwave เป็นการนำเสนอแบบมัลติมีเดียเท่านั้น แต่โปรแกรม Java จะเป็นแอพลิเคชันที่แท้จริง เช่นเดียวกับโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสซิงหรือสเปรดชีตที่ใช้กันบนคอมพิวเตอร์ของคุณ

ถ้าคุณมี browser แบบที่ใช้กับภาษา Java ได้หรือ Java-enabled อย่าง Netscape หรือ Internet Explorer โปรแกรม Java จะรันอยู่ภายใต้ Web browser ของคุณ เมื่อโปรแกรม Java รันอยู่ภายใต้ browser จะเรียกว่าเป็น Java applet ถ้าคุณมี browser แบบที่เป็น Java-enabled อยู่แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรในการที่จะรัน Java applet นั้น โดยที่เมื่อคุณเข้าไปเยี่ยมชม Web site ที่มี Java applet อยู่ภายใน ตัว applet ก็จะถูกดาวน์โหลดจาก Web server มายังคอมพิวเตอร์ของคุณโดยทันที เมื่อ applet มาอยู่บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้วมันก็จะรันโดยอัตโนมัติ ทุกวันนี้มีการใช้ Java applet ในการทำเป็นตัวตรวจรับข่าวที่รันอยู่บน Web เพจหลายแห่ง และยังใช้ในการสร้างภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ด้วย

Java และ Shockwave นับเป็นภาษาและเครื่องมือสองตัวที่ทำให้เราสร้างโปรแกรมแบบปฏิสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ตได้ มีหลายคนเชื่อว่าโปรแกรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Java จะกลายเป็นสิ่งที่นิยมกันแพร่หลายและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งไม่เฉพาะกับอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนโฉมการทำงานของคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปด้วย พวกเขาเชื่อว่าคอมพิวเตอร์ราคาถูก ๆ ที่เรียกว่า Internet appliances หรือ Network Computer ( NC ) ซึ่งอาจจะขายในราคาถูก ๆ แค่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มีความสามารถในการทำงานเทียบเท่ากับคอมพิวเตอร์ที่มีราคามากกว่ามันหลายเท่าตัว เพราะว่าไม่จำเป็นต้องใส่ฮาร์ดดิสก์และไม่จำเป็นต้องใช้ CPU ที่มีกำลังมาก ๆ ถ้า Java applet หรือโปรแกรมแบบปฏิสัมพันธ์กับอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ สามารถรันบนเครื่องเหล่านี้ได้

ไม่ว่าความเชื่อดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม การโปรแกรมมัลติมีเดียก็ได้เปลี่ยนโฉมของอินเตอร์เน็ตไปแล้ว และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต

Java ทำงานอย่างไร ?

Java เป็นภาษาในการสร้างโปรแกรมที่พัฒนาโดยบริษัท Sun Microsystems ซึ่งจะทำให้บรรดาโปรแกรมเมอร์ บรรณาธิการ และศิลปิน สามารถสร้างโปรแกรมแบบปฏิสัมพันธ์ และเพิ่มความสามารถด้านมัลติมีเดียบน World Wide Web ของอินเตอร์เน็ตได้ Java มีลักษณะคล้ายกับภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ C++ และยังเป็นภาษาเชิงวัตถุ ( object-orient ) ซึ่งหมายความว่าเราสามารถสร้างโปรแกรมจากชิ้นส่วนที่สร้างมาแล้วหรือมีอยู่เดิม ( เรียกว่าเป็น วัตถุ ) ได้แทนที่จะต้องมานั่งเขียนโปรแกรมใหม่ทั้งหมดทุกครั้ง

1. Java เป็นภาษาแบบ compiled language ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่เขียนโปรแกรมด้วยภาษา Java เสร็จแล้วจะต้องนำไปรันผ่าน compiler เพื่อแปลงโปรแกรมนั้นไปเป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ภาษา Java จะต่างจากภาษา compiled language อื่น ๆ ตรงที่ภาษา compiled language อื่น ๆ นั้นจะต้องใช้ compiler เฉพาะของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็นไฟล์ไบนารีสำหรับคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ หรือแบบนั้น ๆ โดยเฉพาะเท่านั้น แต่สำหรับ Java แล้วจะต่างกันเพราะมันจะให้โปรแกรมที่ผ่านการคอมไพล์ออกมาเป็นตัวเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า Java bytecode ซึ่งตัวแปล ( interpreter ) ภาษา Java บนคอมพิวเตอร์แต่ละประเภท อย่างเช่นพีซี แมคอินทอช หรือ SPARC workstation ( ของ Sun Microsystems เอง ) จะสามารถเข้าใจ Java bytecode และรันโปรแกรมนั้น ๆ ได้เหมือนกัน ด้วยวิธีการเช่นนี้เราสามารถสร้างโปรแกรม Java เพียงครั้งเดียว แล้วนำไปใช้บนคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันได้ โปรแกรม Java ได้ถูกออกแบบให้รันภายใต้ Web browser บน World Wide Web ได้โดยจะเรียกว่าเป็น applet ซึ่ง browser ที่เป็นแบบ Java-enabled นี้จะมีตัวแปล Java bytecode อยู่ภายในด้วย

2. หลังจากโปรแกรม Java ถูกคอมไพล์ให้อยู่ในรูป bytecode แล้วมันก็จะถูกเก็บลงใน Web server

3. เมื่อคุณเข้าไปเยี่ยมชมยังเว็บเพจที่มี Java applet อยู่ภายใน ตัว applet นั้นก็จะถูกดาวน์โหลดมายังคอมพิวเตอร์ของคุณ ในการที่จะรัน Java applet ได้นั้นคุณจะต้องมี Web browser ที่มีตัวแปล bytecode อยู่ภายในซึ่งจะสามารถรัน Java applet ได้ด้วย browser หลาย ๆ ตัวอย่างเช่น Netscape หรือ Internet Expolrer จะมีตัวแปลนี้อยู่ภายในแล้ว

4. เมื่อ Java applet เป็นโปรแกรมซึ่งรันบนคอมพิวเตอร์ของคุณ มันก็สามารถนำพาไวรัสมาได้เช่นเดียวกับโปรแกรมอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีไวรัสมาติดที่คอมพิวเตอร์ของคุณ เมื่อ Java applet ถูกดาวน์โหลดมายังคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ในตอนแรก applet นั้นจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ( verification ) เสียก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะรับประกันว่าคอมพิวเตอร์จะรัน bytecode ได้อย่างปลอดภัยโดยปราศจากไวรัส

5. หลังจาก bytecode ถูกตรวจสอบแล้ว ก็จะถูกใส่ลงไปในพื้นที่หน่วยความจำที่จัดไว้โดยเฉพาะบนคอมพิวเตอร์ของคุณ แล้วก็เริ่มทำงานตามนั้น การจัดเก็บโปรแกรมที่ดาวน์โหลดมาเอาไว้ในเนื้อที่เฉพาะบนคอมพิวเตอร์นั้นก็เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้ไวรัสที่อาจติดเข้ามา สามารถเล็ดรอดเข้าไปในหน่วยความจำส่วนอื่น ๆ และอาจไปทำลายคอมพิวเตอร์ของคุณได้

6. Java applet จะถูกรันและทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหวหรือการทำงานอื่น ๆ ในลักษณะที่ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับมันได้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการใช้ความสามารถด้านมัลติมีเดียในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีกมาก

5 มีนาคม 2541




[ home ] [ menu ] [ Internet ]