Newsgroup ทำให้ครูอาจารย์และนักศึกษา ถามและตอบคำถาม ขอคำแนะนำ และแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างกันได้ เทคโนโลยีการประชุมทางวิดีโอทำให้ชั้นเรียนหลายชั้นทำโครงการร่วมกันได้ และเทคโนโลยีด้านความจริงเสมือน ( virtual reality ) สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง เช่น ให้นักศึกษามีประสบการณ์เสมือนได้ขับยานกระสวยอวกาศ หรือให้นักชีวเคมีสร้างแบบจำลองโมเลกุลแบบสามมิติ แล้วให้คนทั่วไปล็อกเข้าไปใน Web site นั้นเพื่อดูสิ่งที่พวกเขาได้สร้างไว้ได้
ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับการศึกษา แต่โรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษาก็ใช้อินเตอร์เน็ตในการศึกษาค้นคว้า รวบรวมผลงานเพื่อทำโครงการ และนำเสนอผลงานของพวกเขาไว้บนอินเตอร์เน็ตเพื่อให้คนทั่วโลกได้เข้าไปดูผ่านทาง Worls Wide Web ด้วยเช่นกัน
ห้องสมุดก็เป็นหนึ่งในแนวหน้าของการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ ขณะนี้มีห้องสมุดในอเมริกาหลาย ๆ แห่งได้สร้างบัตรรายการหนังสือไว้บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถใช้ Telnet เรียกเข้ามาเพื่อค้นหารายชื่อหนังสือที่ต้องการได้ และห้องสมุดบางแห่งสามารถให้บริการได้มากกว่าการค้นรายชื่อหนังสือ โดยถ้าคุณเป็นสมาชิกของห้องสมุดนั้นคุณสามารถจองหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ด้วย นอกจากนี้ห้องสมุดบางแห่งจะเก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ไว้บน World Wide Web ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ( Libraty of Congress ) ซึ่งเก็บรวบรวมตั้งแต่วารสารและรูปภาพของอเมริกาในยุคสงครามกลางเมือง ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ตลอดจนถึงภาพและแผนที่ต่าง ๆ ในยุคของการปฏิวัติเพื่อประกาศอิสรภาพและยุคบุกเบิกชายแดนตะวันตก และขณะนี้ก็ได้มีการเพิ่มการให้บริการอินเตอร์เน็ตมากขึ้นในห้องสมุดหลาย ๆ แห่ง ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดที่เคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเซท ที่คุณหรือใคร ๆ ก็ตามสามารถเดินเข้าไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชของห้องสมุดที่ต่อเชื่อมกับอินเตอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงมากผ่านทางเคเบิลโมเด็ม ในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ได้แสดงผลงานที่แต่ละแห่งเก็บรวบรวมไว้บนอินเตอร์เน็ตเช่นกัน ไม่ว่าคุณต้องการจะดูผลงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ( Louvre ) ในปารีส หรือไปดูงานแสดงของ Exploratorium ในซานฟรานซิสโก หรือจากพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลายแห่งในโลกนี้ คุณก็สามารถทำได้โดยเข้าไปใน World Wide Web เช่นกัน
การศึกษาและการค้นคว้าวิจัยแบบเสมือนบนอินเตอร์เน็ต
ห้องสมุดหลาย ๆ แห่งได้สร้างบัตรรายการต่าง ๆ ไว้บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้ Telnet เพื่อล็อกเข้าไปที่เซิร์ฟเวอร์ของห้องสมุดนั้น ซึ่งจะมีบัตรรายการต่าง ๆ ของห้องสมุดเก็บไว้ทั้งหมด โดยทั่วไปลักษณะการใช้งานก็จะเหมือนกับบัตรรายการที่เราใช้กันอยู่โดยทั่วไป และบางห้องสมุดก็สามารถให้ผู้ใช้ซึ่งเป็นสมาชิกของห้องสมุดนั้นทำการจองหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้เลย
1. มีการเก็บรวบรวมหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับโลกเอาไว้ ซึ่งเราสามารถดาวน์โหลดมาที่เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านหรือพิมพ์ออกมาได้ ปกติข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในรูปของไฟล์ตัวอักษรล้วน ๆ ซึ่ง โครงการ Gutenberg เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านนี้ โครงการนี้จะเก็บรวบรวมหนังสือต่าง ๆ ที่เผยแพร่เป็นสาธารณะ คือไม่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้งวรรณกรรมเก่าแก่ต่าง ๆ พจนานุกรม อภิธานศัพท์ และเอกสารอื่น ๆ ที่เก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-texts อีกมากมาย โครงการนี้ไม่เพียงแต่เก็บข้อมูลในรูปตัวอักษรธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีเวอร์ชันที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับการเรียกดูผ่าน World Wide Web ด้วย โดยใช้ markup language แบบของ Web หรือที่เรียกว่า HTML โครงการ Gutenberg นี้คาดว่าจะมี e-texts ให้บริการทั้งหมด 10,000 รายการภายในสิ้นปี 2001 เราสามารถเรียกดู e-texts ของโครงการ Gutenberg ได้โดยใช้ Gopher, WAIS, FTP, หรือ World Wide Web ก็ได้
2. พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกใช้ World Wide Web เพื่อแสดงนิทรรศการแบบออนไลน์ให้คนทั่วโลกได้ชม ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในฝรั่งเศสได้แสดงภาพวาดเป็นร้อย ๆ ภาพบนอินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีข้อมูล ความเป็นมา คำวิจารณ์ และประวัติของทั้งศิลปินและภาพวาดเหล่านั้นเก็บไว้ด้วย ซึ่งผู้ชมทั่วไปสามารถทำสำเนารูปภาพและข้อมูลต่าง ๆ นั้นไปไว้ในคอมพิวเตอร์ของตนเองได้
3. อินเตอร์เน็ตสามารถทำให้ชั้นเรียนในระดับประถมหรือมัธยมศึกษา ร่วมมือกันทำโครงการต่าง ๆ ข้ามเมืองหรือข้ามประเทศได้ ตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถทำการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ แล้วนำผลการวิจัยเหล่านั้นไปเก็บไว้บน Web พร้อมทั้งส่งไปให้ชั้นเรียนอื่น ๆ โดยผ่านทางอีเมล์ หรือ FTP ได้ด้วย โครงการที่เรียกว่า Jason Project เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นักเรียนจากทั่วโลกได้ร่วมมือกันทำโครงการในการติดตามว่าเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่นั้น มีแมงมุมอยู่กี่ชนิดและอะไรบ้าง หลังจากที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้แล้ว โครงการ Jason ก็ได้เก็บข้อมูลทั้งหมดนี้ลงใน Web นอกจากนี้ชั้นเรียนต่าง ๆ ยังสามารถทำการประชุมผ่านทางวิดีโอบนอินเตอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ได้ด้วย
4. นักวิจัยในด้านชีววิทยา เคมี ดาราศาสตร์ และในสาขาวิชาอื่น ๆ ใช้ระบบความจริงเสมือนในการแสดงผลงานของพวกเขา นักวิจัยทางการแพทย์ได้สร้างภาพสามมิติของสมอง ซึ่งผู้สนใจสามารถเปิดดูได้บนอินเตอร์เน็ต นักเคมีได้สร้างโมเลกุลสามมิติ และนักดาราศาสตร์ได้สร้างภาพตัดสามมิติต่าง ๆ ของจักรวาล และข้อมูลทั้งหมดนี้พร้อมที่จะให้ผู้สนใจเปิดดูได้ในอินเตอร์เน็ต นักวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งปันข้อมูลกัน โดยการแลกเปลี่ยนไฟล์กันไปมา และสามารถใช้ Telnet เพื่อล็อกอินเข้าไปในซูเปอร์คอมพิวเตอร์และใช้บริการต่าง ๆ ของซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเองได้
5. เราสามารถค้นหาข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมายบนอินเตอร์เน็ตโดยใช้ Telnet, Gopher, WAIS และเทคโนโลยี Web นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย สามารถเข้าไปค้นฐานข้อมูลซึ่งจะเก็บข้อมูลสารพัดอย่างตั้งแต่เรื่องทางการแพทย์จนถึงข้อมูลทางด้านดาราศาสตร์ได้
5 มีนาคม 2541