ธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต แนะนำอินทราเน็ต ( Intranets )
อินเตอร์เน็ตอาจจะมีพื้นฐานมาจากการใช้งานด้านการทหารและการศึกษา แต่มันถูกนำมาใช้จนแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้นในเวลาต่อมา โดยภาคธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป ในอนาคตอินเตอร์เน็ตอาจจะเป็นสถานที่หลักในการทำธุรกิจ ซึ่งจะมีการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นเงินนับพัน ๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี

จะมีการใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับธุรกิจกันมากขึ้นในสองด้านด้วยกัน หนึ่งคือการซื้อขายสินค้าและบริการโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยจะมีการยอมรับการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสองคือจะมีการสร้างระบบเน็ตเวิร์กส่วนตัวภายในองค์กรหรือที่เรียกว่า อินทราเน็ต ( Intranets ) มากขึ้น ซึ่งมันอาจจะถูกนำมาใช้แทนระบบ LAN ( Local Area Network ) เดิมที่ใช้กันในปัจจุบัน และอินทราเน็ตจะกลายเป็นแหล่งประมวลผลข้อมูลหลักขององค์กรในอนาคต

การทำตลาดและขายสินค้าโดยใช้อินเตอร์เน็ตนั้น ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าในขณะที่เขาอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงานได้ แทนที่จะต้องเดินทางไปที่ร้านค้านั้น โดยผู้บริโภคสามารถเรียกดูรายการสินค้าต่าง ๆ แล้วสั่งซื้อมันได้จากอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตามลักษณะเดิมของอินเตอร์เน็ตนั้นยังเป็นเน็ตเวิร์กที่ไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก เพราะขณะที่แพ็กเก็ตข้อมูลถูกส่งออกไปนั้น อาจจะมีคนดักเอาแพ็กเก็ตไปดูได้ เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย ถ้าจะทำธุรกิจแบบออนไลน์ ถ้าคุณจ่ายเงินด้ายบัตรเครดิตผ่านทางอินเตอร์เน็ต อาจมีคนคอยดักข้อมูลและนำเอาหมายเลขบัตรเครดิตและข้อมูลเฉพาะอื่น ๆ ของคุณ เพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบได้

ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตโดยปลอดภัยขึ้นมาหลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่อาจนิยมใช้กันมากที่สุดวิธีหนึ่งในขณะนี้ก็คือการใช้ Secure Electronic Transaction Protocol ( SET ) ซึ่งเป็นชุดของกระบวนการและโปรโตคอลที่ออกแบบสำหรับการชำระเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ตให้มีความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ SET จะใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส ( encryption ) เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าไม่มีใครสามารถขโมยหมายเลขบัตรเครดิตของคุณได้ ซึ่งจะมีแต่ผู้ส่งและผู้รับเท่านั้นที่สามารถถอดรหัสเหล่านี้ได้ บริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ ๆ เช่น Visa, MasterCard และ Ameircan Express ต่างก็สนับสนุน SET รวมทั้งบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น Microsoft และ Netscape ก็สนับสนุน SET เช่นกัน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าในขณะนี้ SET เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการป้องกันข้อมูลของบัตรเครดิตที่ส่งไปบนอินเตอร์เน็ต

องค์กรต่าง ๆ ได้ติดตั้งระบบอินทราเน็ตด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน เช่น อาจจะใช้เพื่อการส่งอีเมล์ การระดมความคิดภายในองค์กร การจัดตารางนัดหมายภายในองค์กร การดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลและเอกสารขององค์กร ประชุมทางวิดีโอ และอื่น ๆ อีกมาก

อินทราเน็ตใช้เน็ตเวิร์กและเทคโนโลยี TCP/IP และเครื่องมือตลอดจนการบริการต่าง ๆ ของอินเตอร์เน็ต อาทิเช่น World Wide Web, E-mail, Telnet และ FTP แต่เน็ตเวิร์กและการบริการเหล่านี้จะใช้ได้เฉพาะภายในองค์กรนั้นเท่านั้น อินทราเน็ตจะถูกแยกออกจากระบบอินเตอร์เน็ตด้วย firewall ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตผ่านเข้าสู่ระบบอินทราเน็ตได้ พนักงานซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทนั้นสามารถเข้าใช้งานอินทราเน็ตและใช้บริการต่าง ๆ ได้ แต่ผู้บุกรุกจะถูกกันออกไปโดย fierwall นี้

อินทราเน็ตนั้นจะมีทั้งที่ใช้ซอฟต์แวร์ ต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องตลาดทั่วไป อย่างเช่น Web browser ร่วมกับซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ เช่น เครื่องมือในการสืบค้นฐานข้อมูลต่าง ๆ และเนื่องจากอินทราเน็ตใช้โปรโตคอลมาตรฐานแบบเดียวกับอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงสามารถปรับปรุงให้ทันสมัยตามเทคโนโลยีล่าสุดของเน็ตเวิร์กได้ตลอดเวลา

ระบบการชำระเงินทำงานอย่างไรบนอินเตอร์เน็ต ?

อินเตอร์เน็ตกำลังจะกลายเป็นแหล่งที่ผู้คนสามารถเข้ามาซื้อหาสินค้าและการบริการได้ แต่ก่อนหน้าที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ก็จะต้องมีวิธีการที่ปลอดภัยในการส่งข้อมูลของบัตรเครดิตผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ( ซึ่งมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีนักในเรื่องความปลอดภัย ) เสียก่อน และก็ได้มีการคิดค้นวิธีการป้องกันหลายวิธี แต่วิธีมาตรฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุดในขณะนี้คือ Secure Electornic Transaction Protocol ( SET ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งเช่น VISA, MasterCard, American Express, Microsoft และ Netscape ด้วยระบบนี้จะทำให้คนทั่วไปสามารถทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยขึ้น

1. กาเบรียลได้ดูรายการสินค้าบน Web และตัดสินใจที่จะเลือกซื้อกล้องวิดีโอ ซึ่งการที่จะใช้ SET ในการชำระเงินได้นั้น กาเบรียลจะต้องมีบัตรเครดิตซึ่งได้รับการอนุมัติจากธนาคาร และมี ลายเซ็นดิจิตอล ( Digital signature ) ที่ไม่ซ้ำใครสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขา ซึ่งจะใช้ในการแสดงว่าเขากำลังจะทำการซื้อจริง ๆ ไม่ใช่จากผู้หลอกซื้อ ( ในระบบ SET ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นการแสดงตนเอง ) ระบบ SET ยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบ public-key เพื่อที่จะเข้ารหัสข้อมูลของทรานแซคชันทั้งหมดที่ส่งระหว่างผู้เกี่ยวข้อง

2. กาเบรียลกรอกรายละเอียดใบสั่งซื้อสินค้า ซึ่งจะมีรายละเอียดของสินค้า ราคา วิธีการจัดส่งสินค้า และภาษี แล้วเขาจะเลือกวิธีการชำระเงินด้วย กาเบรียลเลือกที่จะจ่ายเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ณ จุดนี้ กาเบรียลจะไม่บอกหมายเลขบัตรเครดิต แต่เขาเพียงแค่ระบุว่าต้องการใช้บัตรเครดิตใบไหนในการจ่ายสินค้าเท่านั้น เขาจะส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปให้ผู้ขาย รวมทั้งลายเซ็นดิจิตอลของเขาด้วย ดังนั้นผู้ขายก็สามารถตรวจสอบได้ว่ากาเบรียลเป็นคนที่สั่งสินค้านี้จริง ๆ

3. หลังจากที่ผู้ขายได้รับคำสั่งซื้อจากกาเบรียล ซอฟต์แวร์ทางด้านผู้ขายจะสร้างหมายเลขเฉพาะของการซื้อขายครั้งนั้นขึ้นมา เพื่อที่ว่าผู้ขายจะได้สามารถแยกแยะและติดตามการซื้อขายครั้งนั้นได้ ผู้ขายจะส่งรหัสเฉพาะนี้กลับมาให้กาเบรียลพร้อมกับ ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ( Electornic cerfificates ) อีก 2 ใบ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการปิดทรานแซคชันนั้น ใบรับรองใบหนึ่งจะระบุถึงผู้ขาย และอีกใบหนึ่งจะระบุถึง payment gateway ซึ่งเป็นเกตเวย์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังระบบธนาคารซึ่งใช้ประมวลผลการชำระเงินแบบออนไลน์นั้น

4. หลังจากที่ซอฟต์แวร์ของกาเบรียลได้รับใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และใช้มันสร้างคำสั่งซื้อ ( Order Information : OI ) และคำสั่งจ่าย ( Payment Instruction : PI ) ขึ้นมา โดยจะเข้ารหัสคำสั่งซื้อและคำสั่งจ่ายเหล่านี้ และรวมลายเซ็นดิจิตอลของกาเบรียลเข้าไปด้วย ทั้ง OI และ PI จะถูกส่งกลับไปยังผู้ขาย

5. ซอฟต์แวร์ของผู้ขายจะถอดรหัสคำสั่งซื้อ และใช้ลายเซ็นดิจิตอลที่กาเบรียลส่งมาในการพิสูจน์ว่าคำสั่งซื้อนั้นมาจากกาเบรียลจริง จากนั้นผู้ขายจะส่งคำยืนยันไปให้กาเบรียลเพื่อให้รับรู้ว่าการสั่งซื้อนั้นสมบูรณ์แล้ว

6. ซอฟต์แวร์ของผู้ขายจะสร้างคำร้องขออนุมัติวงเงินโดยจะมีลายเซ็นดิจิตอลของผู้ขายซึ่งเป็นตัวแสดงทรานแซคชันนั้น และคำสั่งจ่ายที่รับจากกาเบรียล โดยจะทำการเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดนี้ แล้วส่งคำร้องขอที่เข้ารหัสนี้ไปยัง Payment Gateway

7. Payment Gateway จะถอดรหัสข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดโดยใช้ลายเซ็นดิจิตอลของผู้ขายเพื่อพิสูจน์ว่าข้อมูลเหล่านี้ส่งมาจากผู้ขายจริง ๆ และจะตรวจดูคำสั่งซื้อ เมื่อรู้ว่ามาจากกาเบรียลแล้ว Payment Gateway ก็จะเรียกใช้ระบบสั่งจ่ายแบบ bank card เพื่อทำการส่งคำร้องขออนุมัติวงเงินไปยังธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ออก bank card ให้กาเบรียล แล้วถามว่ากาเบรียลสามารถทำการจ่ายเงินซื้อสินค้าครั้งนี้ได้หรือไม่

8. เมื่อธนาคารตอบกลับมาว่ากาเบรียลสามารถที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้านั้นได้ Payment Gateway ก็จะสร้างข้อมูล โดยมีการใส่ลายเซ็นแบบดิจิตอล แล้วเข้ารหัสคำสั่งอนุมัติวงเงิน ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะถูกส่งไปยังผู้ขาย จากนั้นซอฟต์แวร์ของผู้ขายก็จะทำการถอดรหัสและใช้ลายเซ็นในการตรวจสอบว่ามันมาจาก Payment Gateway จริง เมื่อผู้ขายได้รับคำสั่งอนุมัติวงเงินแล้ว ก็จะทำการส่งสินค้าซึ่งก็คือกล้องวิดีโอไปให้กาเบรียลได้

9. ระยะเวลาหนึ่งหลังจากทรานแซคชันสมบูรณ์แล้ว ผู้ขายจะเรียกเก็บเงินจากธนาคาร โดยซอฟต์แวร์ของผู้ขายจะสร้าง capture request ซึ่งระบุจำนวนทรานแซคชันต่าง ๆ ของลูกค้า รหัสแสดงทรานแซคชัน ลายเซ็นดิจิตอล และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับทรานแซคชันนั้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและส่งไปที่ Payment Gateway

10. Payment Gateway จะถอดรหัส capture request นี้ และใช้ลายเซ็นดิจิตอล เพื่อพิสูจน์ว่ามาจากผู้ขายจริง ๆ จากนั้นจะส่งคำร้องขอให้ชำระเงินไปยังธนาคาร โดยใช้ระบบการชำระเงินแบบ bank card ซึ่งจะรับข้อความบอกอนุมัติการจ่ายเงิน เข้ารหัสข้อความ แล้วส่งการอนุมัตินั้นไปยังผู้ขาย

11. ซอฟต์แวร์ของผู้ขายจะถอดรหัสคำอนุมัตินั้น พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามันมาจาก Payment Gateway จริง แล้วเก็บคำอนุมัตินั้นไว้เพื่อจะใช้ยืนยันการชำระเงินเหมือนกับกรณีเมื่อได้รับทรานแซคชันของบัตรเครดิตจากธนาคารตามปกติ

อินทราเน็ต ( Intranet ) : การใช้อินเตอร์เน็ตภายในองค์กร

ได้มีองค์กรหลายแห่งกำลังนำเอาอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น พวกเขาได้สร้างอินทราเน็ต ซึ่งเป็นเน็ตเวิร์กภายในองค์กร โดยมีการทำงานและหน้าตาเหมือนกับอินเตอร์เน็ตทุกประการ ยกเว้นแต่ว่าอินทราเน็ตนั้นจะใช้กันเฉพาะภายในองค์กรเท่านั้น บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาใช้ได้

1. อินทราเน็ตถูกแยกจากอินเตอร์เน็ตภายนอกองค์กรโดย firewall ซึ่งเป็นทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อป้องกันบุคคลภายนอกเข้ามาเจาะข้อมูลภายในองค์กร แต่ firewall จะยอมให้พนักงานขององค์กรสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ และบางครั้งก็ยอมให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาดูข้อมูลบางส่วนของอินทราเน็ตได้เท่าที่กำหนด อย่างเช่น รายการสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น

2. ส่วนประกอบที่สำคัญของอินทราเน็ตคือระบบอีเมล์ ซึ่งจะมีการทำงานเหมือนกับอีเมล์ของอินเตอร์เน็ต โดยที่มันจะใช้โปรแกรม E-mail client เหมือนปกติ เพียงแต่มันถูกออกแบบมาเพื่อส่งข้อมูลกันภายในองค์กรเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งอีเมล์ออกไปข้างนอก เราท์เตอร์และเมล์เซิร์ฟเวอร์ภายในจะเป็นตัวช่วยในการส่งอีเมล์ไปยังพนักงานคนอื่น ๆ ขององค์กรผ่านทางอินทราเน็ต ส่วนอีเมล์ที่รับส่งกันไปมาระหว่างอินเตอร์เน็ตกับอินเตอร์เน็ตนั้นจะต้องผ่าน firewall เพื่อตรวจสอบก่อน

3. ฐานข้อมูลขององค์กรซึ่งเก็บข้อมูลที่สำคัญ ๆ จะถูกเตรียมไว้เพื่อเรียกใช้จากอินทราเน็ตโดยผ่านทาง Web ในรูปแบบของเอกสาร HTML และโดยการใช้เครื่องมือในการสืบค้นต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วการสืบค้นข้อมูลจะต้องมีการสร้างชุดคำสั่งที่เรียกว่า CGI script หรือโปรแกรมในภาษา Java ขึ้นมาก่อน ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้จะใช้ได้เฉพาะพนักงานภายในองค์กรเท่านั้น และอินทราเน็ตทั้งหมดจะถูกป้องกันโดย firewall อีกทีหนึ่ง

4. อินทราเน็ตจะทำให้คนสามารถทำงานร่วมกันทางอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ groupware ซึ่งจะทำให้สามารถระดมความคิดจากหลาย ๆ คนได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำตารางนัดหมายการประชุม การวางแผนร่วมกัน สร้างฐานข้อมูลร่วม หรืองานชนิดอื่น ๆ ที่ต้องการความร่วมมือกันได้

5. อินทราเน็ตทำให้พนักงานเข้าร่วมประชุมทางวิดีโอเป็นประจำได้ ซึ่งจะทำให้สามารถประชุมกับพนักงานจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศหรือของโลกก็ได้ โดยจะเห็นภาพและพูดคุยกันได้ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ของแต่ละคน และเนื่องจากองค์กรสามารถควบคุมการเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของตนเองได้ ดังนั้นจึงสามารถสร้างการเชื่อมต่อความเร็วสูงขึ้นมาใช้เองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างเพื่อใช้สำหรับการประชุมทางวิดีโอ ซึ่งถ้าเป็นอินเตอร์เน็ตตามปกตินั้นจะทำอย่างนี้ได้ยากมาก

6. อินทราเน็ตจะช่วยให้การทำงานที่ต้องการความร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ ทำได้ง่ายขึ้น เช่นการทำงานร่วมกับผู้รับเหมาช่วง ( subcontractor ) ซึ่งผู้รับเหมาช่วงจะสามารถใช้การเชื่อมต่อแบบ Web ที่มีการรักษาความปลอดภัยเพื่อส่งใบประกวดราคาในการทำโครงการ ส่งใบส่งของ หรือแม้แต่รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และพนักงานก็สามารถที่จะสั่งของหรือบริการจากธุรกิจอื่น ๆ ผ่าน World Wide Web ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้โดยการส่งคำสั่งซื้อผ่าน firewall ออกไปยังอินเตอร์เน็ต

7. องค์กรสามรถที่จะให้บริการลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้โดยเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเข้ากับระบบการขายของบริษัทซึ่งเป็นอินทราเน็ต ลูกค้าสามารถเลือกดูรายการสินค้าจาก Web site ส่วนที่เปิดทั่วไปของบริษัท สั่งสินค้าแล้วจ่ายเงินได้อย่างปลอดภัย ทรานแซคชันจะผ่าน firewall ไปมาทั้งสองทาง และจะมีการใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อทำให้มันมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

5 มีนาคม 2541




[ home ] [ menu ] [ Internet ]