การแพทย์กับอินเตอร์เน็ต
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบการสาธารณสุข ( ของอเมริกา ) อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่ามีการออกกฎหมายใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันชีวิตและสุขภาพที่เป็นอยู่ แต่เป็นเพราะว่าการนำระบบอินเตอร์เน็ตมาใช้นั่นเอง อินเตอร์เน็ตอาจช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ แง่มุมของระบบการแพทย์ นับตั้งแต่ขั้นตอนที่แพทย์ได้รับการฝึกฝนอบรม การเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ จนกระทั่งวิธีที่แพทย์ปฏิบัติและรักษาคนไข้ นักวิจัยทางการแพทย์มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตกันมานานแล้ว โดยใช้อีเมล์ การประกาศใน newsgroups ตลอดจนการแบ่งปันทรัพยากรคอมพิวเตอร์และไฟล์ซึ่งกันและกัน และด้วยความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตนี้เอง บรรดาแพทย์ทั้งหลายก็จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้

โรงพยาบาลเสมือน ( virtual hospitals ) ได้ถูกสร้างขึ้นมามากมายบนอินเตอร์เน็ต โรงพยาบาลเหล่านี้ไม่ได้รักษาคนไข้โดยตรง แต่ให้บริการผู้คนทั่วไปในการดึงข้อมูลทางการแพทย์บนอินเตอร์เน็ตมาใช้ ผู้ใช้ทั่วไปก็สามารถเรียกค้นฐานข้อมูลทางการแพทย์ด้วยตนเอง เพื่อที่จะหาคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาสุขภาพของตัวเองได้ บทความและการค้นพบทางการแพทย์ครั้งล่าสุดจะถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้พวกแพทย์ได้ติดตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ตลอดเวลา

มี Web site หลาย ๆ แห่งได้เน้นไปที่การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพเฉพาะด้าน ตัวอย่างเช่น Web site ที่เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมก็จะให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับโรคนี้ อาทิเช่นลักษณะของโรค วิธีการรักษา นอกจากนี้ยังสามารถทำให้กลุ่มคนไข้ที่เป็นและเคยเป็นมะเร็งเต้านมจัดตั้งกลุ่มของตนเองขึ้นมาเพื่อจะติดต่อและให้คำแนะนำซึ่งกันและกันได้

สิ่งที่ถือว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์มากที่สุดก็คือ การรักษาทางไกล ( telemedicine ) ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารมาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้แพทย์สามารถรักษาคนไข้จากระยะไกล ๆ ได้

ลักษณะที่น่าสนใจที่สุดของการรักษาทางไกลก็คือ การใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน ( virtual reality ) หรือการปรากฏจากระยะไกล ( telepresence ) ความจริงเสมือนที่ใช้ในวงการแพทย์บนอินเตอร์เน็ตนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยภาษา VRML ของอินเตอร์เน็ต แต่ทว่ามันทำให้แพทย์สามารถทำการวิเคราะห์และรักษาอาการของคนไข้ที่อยู่ระยะไกล ๆ ได้โดยใช้อินเตอร์เน็ต และแม้กระทั่งทำการผ่าตัดผ่านอินเตอร์เน็ตก็ได้ โดยใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ความจริงเสมือนแบบพิเศษ

จากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดจากระยะไกล ๆ นอกห้องผ่าตัดได้ โดยแพทย์ต้องสวมแว่นตาความจริงเสมือน ( virtual reality goggles ) แบบพิเศษที่เมื่อสวมแล้วสามารถเห็นภาพสามมิติภายในร่างกายของคนไข้ได้ และถุงมือพิเศษที่ใช้ควบคุมหุ่นยนต์หรือเครื่องมือพิเศษในการผ่าตัดจริง ๆ กับคนไข้ได้ ข้อมูลของระบบความจริงเสมือนและคำสั่งที่ใช้ควบคุมหุ่นยนต์จะวิ่งไปมาบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งการผ่าตัดเช่นนี้จะต้องมีช่างเทคนิคทางด้านคอมพิวเตอร์ควบคุมการผ่าตัดอยู่ทั้งสองด้านเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่มีปัญหารวมทั้งต้องมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือการผ่าตัดอยู่ที่นั่นด้วย เพื่อเตรียมคนไข้สำหรับการผ่าตัด และคอยช่วยเหลือคนไข้ด้วยในกรณีฉุกเฉิน คุณอาจจะคิดจ่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เพ้อฝัน แต่ที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากได้มีการประชุมหลายต่อหลายครั้งทุก ๆ ปี เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจด้านนี้ และนักวิจัยก็ได้ทำงานค้นคว้าเรื่องนี้กันอย่างเอาจริงเอาจัง ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเวลาเท่านั้นว่าเมื่อไหร่จะมีการใช้เทคโนโลยนี้กันอย่างแพร่หลาย

การแพทย์เสมือนทำงานอย่างไรบนอินเตอร์เน็ต ?

การแพทย์เสมือน ( virtual medicine ) บนอินเตอร์เน็ตทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดคนไข้ที่อยู่ห่างไกลออกไปคนละแห่งได้ วิวัฒนาการนี้ทำให้ศัลยแพทย์มือหนึ่งในเมืองใหญ่ ๆ สามารถทำการผ่าตัดคนไข้ที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกลออกไปได้ ซึ่งจะทำให้คนชนบทได้รับการบริการด้านการแพทย์อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน การผ่าตัดจากระยะไกลนี้มักเรียกกันว่า telepresence

1. หลายคนเชื่อกันว่าการผ่าตัดภายในแบบที่เรียกว่า endoscopic surgery เป็นการผ่าตัดที่ทำโดยการใช้ระบบ telepresence ได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การผ่าตัดแบบนี้จะใช้กล้องและเครื่องมือผ่าตัดขนาดจิ๋วสอดใส่เข้าไปในร่างกายคนไข้โดยผ่านรอยผ่าขนอดเล็ก กล้องทีวีจะส่งภาพให้ศัลยแพทย์เห็นว่าเครื่องมือผ่าตัดอยู่ตรงไหนในร่างกายของคนไข้ การผ่าตัดแบบนี้มักจะใช้กับการผ่าตัดข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวเข่า หัวไหล่ หรือการผ่าตัดในทรวงอก ผ่าตัดถุงน้ำดี ตลอดจนถึงแก้ไขความผิดปกติของรังไข่ ขั้นตอนแรกของการผ่าตัดภายในโดยใช้ telepresence นี้ก็คือ ต้องสอดใส่กล้องและเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดเข้าไปในร่างกายของคนไข้ก่อน

2. เจ้าหน้าที่พยาบาลในห้องผ่าตัดจริงจะเตรียมคนไข้ก่อนการผ่าตัด และคอยช่วยคนไข้หลังการผ่าตัด นอกจากนี้จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อยู่ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการผ่าตัดทำงานได้อย่างเรียบร้อย

3. ศัลยแพทย์จะต้องอยู่ในห้องที่สามารถติดต่อกับห้องผ่าตัดจริงได้ โดยผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตที่มีความเชื่อถือได้และมีความเร็วสูง การเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงนั้นจำเป็นในการผ่าตัดมาก เพราะว่ามีข้อมูลมากมายมหาศาลที่จะต้องถูกส่งไปมาระหว่างกล้องและเครื่องมือผ่าตัดมายังศัลยแพทย์ และกลับไปยังห้องผ่าตัด ในการผ่าตัดนั้นแพทย์จะต้องสวมแว่นตาความจริงเสมือน ( virtual reality goggles ) ที่เมื่อสวมแล้วจะสามารถเห็นภาพสามมิติซึ่งถูกส่งมาจากกล้องที่อยู่ในร่างกายคนไข้ได้ และมันจะแสดงให้เห็นว่าเครื่องมือผ่าตัดอยู่ที่ตรงไหนอย่างถูกต้องด้วย

4. นอกจากนี้ศัลย์แพทย์อาจจะสวมถุงมือความจริงเสมือน ( virtual reality data glove ) แบบพิเศษ ซึ่งถุงมือนี้จะทำหน้าที่สองอย่างคือ จะมีตัวเซ็นเซอร์ติดอยู่ซึ่งจะทำให้หมอรู้สึกเหมือนกับว่าได้ทำการผ่าตัดจริง ๆ และยังสามารถทำให้หมอบังคับเครื่องมือผ่าตัดจากระยะไกลได้ด้วย เมื่อใดที่มือหรือนิ้วในถุงมือเคลื่อนไหว ก็จะทำให้เครื่องมือผ่าตัดที่อยู่ระยะไกลในร่างกายคนไข้นั้นจะเคลื่อนไหวตามไปด้วย

5. ข้อมูลสองประเภทนี้จะถูกส่งจากภายในร่างกายคนไข้ผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังศัลยแพทย์ นั่นคือกล้องจะส่งภาพสามมิติไปปรากฏที่แว่นตา VR ของแพทย์ และเครื่องมือผ่าตัดก็จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเครื่องมือกลับมาด้วย ข้อมูลทั้งสองอย่างนี้จะถูกนำมาประกอบกันบนจอแว่นตา VR ของแพทย์ เพื่อให้แพทย์เห็นภาพภายในร่างกายของคนไข้และเห็นตำแหน่งที่แน่นอนของเครื่องมือผ่าตัดไปพร้อม ๆ กัน

6. ในอนาคตศัลยแพทย์อาจจะทำการผ่าตัดแบบอื่น ๆ ได้โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแว่นตาและถุงมือแบบเดิมนั้นก็ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้อยู่ แต่ไม่ใช่เพื่อการผ่าตัดเล็ก ๆ อีกแล้ว แต่จะไปควบคุมแขนหุ่นยนต์เพื่อทำการผ่าตัดที่ใหญ่ขึ้น และเพื่อการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ เหมือนกับการผ่าตัดอื่น ๆ ตามปกติ

6 มีนาคม 2541




[ home ] [ menu ] [ Internet ]