โฮมเพจเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



 

สารบัญ


พัฒนาการแห่งโรงเรียนกฎหมาย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


หลังจากนั้นในอีก 2 ปีถัดมา คือเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2462 เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้ออกข้อบังคับและระเบียบการ กำหนดหลักสูตรการอบรมศึกษาในโรงเรียนกฎหมายใหม่ กล่าวคือในเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียนกฎหมายนั้น ประเภทหนึ่งจะรับเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 หรือผู้ที่สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรอื่นซึ่งเทียบเท่าไม่ต่ำกว่ามัธยมปีที่ 6 ส่วนอีกประเภทหนึ่งได้แก่ ผู้ที่รับราชการในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ โดยมีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นนายเวรขึ้นไป หรือผู้ที่รับราชการในกระทรวงยุติธรรมโดยมีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นเสมียนเอกขึ้นไป เมื่ออธิบดีรับรองว่าเป็นผู้มีความรู้และความประพฤติดี สมควรที่จะเข้าเป็นนักเรียนกฎหมายได้ หรือเมื่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาเห็นสมควร ก็ให้รับบุคคลดังกล่าวเข้าเป็นนักเรียนกฎหมาย แต่บุคคลที่เป็นนายเวรหรือเสมียนเอกขึ้นไปนี้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปด้วย นอกจากนั้นยังเป็นครั้งแรกที่กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนเป็น 2 ปีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ภาค ๆ ละ 1 ปี โดยเพิ่มการสอนมากขึ้น และมีการบรรยายวิชาธรรมศาสตร์หรือนิติปรัชญาอีกด้วย วิชาที่กำหนดสอนในภาคแรก ได้แก่ วิชาธรรมศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความอาญา มูลคดีสัญญา ลักษณะประทุษร้ายส่วนแพ่ง และกฎหมายที่ดิน ส่วนวิชาที่กำหนดสอนภาคที่ 2 ได้แก่ เอเยนต์ หุ้นส่วนบริษัท ล้มละลาย ตั๋วเงิน ซื้อขาย เบสเมนต์ ลักษณะผัวเมีย มรดก ลักษณะพยาน วิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

การกำหนดสอบไล่แบ่งเป็น 2 ภาคตามวิชาที่เปิดสอน การสอบไล่แต่ละภาคแบ่งเป็น 4 วัน กรรมการสอบไล่แบ่งเป็น 4 กอง การสอบไล่ในภาคที่ 2 จะมีการสอบปากเปล่าอีก 1 วัน นักเรียนทุกคนจะต้องสอบไล่ได้ทั้ง 2 ภาคจึงจะสำเร็จการศึกษาชั้นเนติบัณฑิต แต่มีข้อบังคับเพิ่มเติมว่าจะไม่อนุญาตให้สอบไล่ภาค 2 เมื่อนักเรียนยังสอบไล่ภาคแรกไม่ได้ นักเรียนที่ยังไม่เคยเข้าสอบไล่จะได้รับอนุญาตให้เข้าสอบไล่ได้เพียงภาคแรกเท่านั้น แต่จะเข้าสอบไล่ได้ต่อเมื่อเป็นนักเรียนที่ได้ลงชื่อในทะเบียนครบ 1 ปีนับจนถึงวันกำหนดสอบไล่ ส่วนนักเรียนที่เคยเข้าสอบไล่ก่อนพ.ศ.2462 จะได้รับอนุญาตให้เข้าสอบไล่ทั้ง 2 ภาคภายในปีเดียวกันได้ การสอบไล่ภาคแรกไม่เหมือนกับการทดสอบความรู้กฎหมายเบื้องต้นซึ่งแต่เดิมจะต้องทดสอบกันทุกครั้งก่อนที่จะมีการสอบไล่ ส่วนการสอบไล่ภาคแรกจะสอบกันเพียงครั้งเดียว ถ้าสอบได้แล้วก็ไม่ต้องสอบกันอีก ดังนั้นการทดสอบความรู้กฎหมายเบื้องต้นตามที่เคยกระทำมาก็เป็นอันยกเลิกไป

การเรียนกฎหมายเพื่อให้สอบไล่ได้ในสมัยนั้นจะอาศัยเพียงการมาฟังคำสอนที่โรงเรียนเท่านั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองอีก เช่นศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐาน หรือไม่ก็ไปพบเนติบัณฑิตเพื่อขอให้ช่วยแนะนำวิชาความรู้หรือแก้ปัญหาข้อกฎหมายที่สงสัย ลูกศิษย์บางคนของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งได้เป็นผู้พิพากษาไปแล้ว ก็ยังคงให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่นักเรียนกฎหมายตามแบบฉบับที่พระองค์ท่านวางไว้ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนและในเวลาว่างก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียนไปพบที่บ้านเพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการศึกษากฎหมาย   เช่น  พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย)     พระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นต้น สำหรับข้อสอบจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่หนักไปในทางให้วินิจฉัย และมิได้คำนึงว่าอาจารย์ผู้สอนจะได้สอนลูกศิษย์ไว้เพียงใดหรือไม่ เพราะบางท่านอาจมิได้มาสอนเต็มตามเวลาที่กำหนดรวมทั้งสอนไม่จบ จึงเป็นหน้าที่ของนักเรียนกฎหมายที่จะต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้เอาเอง เพื่อจะได้มีภูมิความรู้สมใจคณะกรรมการสอบไล่

ตามที่ได้กล่าวมาในตอนต้นว่า การบริหารจัดการโรงเรียนกฎหมายโดยสภาเนติบัณฑิตสิ้นสุดลงเมื่อโรงเรียนกฎหมายได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรมในพ.ศ.2454 แต่ต่อมาเมื่อพ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเนติบัณฑิตยสภาขึ้น โดยทรงรื้อฟื้นขึ้นจากสภาเนติบัณฑิตที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์ที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงก่อตั้งขึ้น โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ปรึกษากับกรมหลวงสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์ อธิบดีศาลฎีกา เพื่อเลือกคณะกรรมการร่วมประชุมในการร่างข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภา โดยพระองค์ได้พระราชทานบันทึกหรือร่างข้อบังคับมาให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นแนวทาง

เนติบัณฑิตยสภาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงการศึกษากฎหมาย ฝึกอบรมให้มีความเชี่ยวชาญในการว่าความ ควบคุมดูแลมรรยาทของทนายความโดยมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตให้ว่าความของทนายความที่ประพฤติตนไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติทนายความ อันเป็นการยกมาตรฐานวิชาชีพกฎหมายให้ได้รับการยกย่องจากประชาชน การก่อตั้งเนติบัณฑิตยสภาเพื่อควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของนักกฎหมายหรือทนายความ ทำให้วงการวิชาชีพกฎหมายมีความเป็นระเบียบและมีจรรยาบรรณในการทำงาน อันเป็นหลักประกันในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน

แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการบำรุงการศึกษากฎหมาย และในข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาข้อ 25 จะมีข้อความว่า " กรรมการเนติบัณฑิตยสภามีหน้าที่จัดการโรงเรียนกฎหมายตามคำสั่งของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม..." แต่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมก็ยังมิได้มีคำสั่งให้เนติบัณฑิตยสภามีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการโรงเรียนกฎหมายแต่ประการใดเลย เป็นแต่เพียงเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้มีหนังสือที่ 1/1339 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2461 มอบหมายให้เนติบัณฑิตยสภา เป็นผู้พิจารณาอนุญาตในการรับผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียนกฎหมายแทนเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมต่อไป ตามระเบียบการโรงเรียนกฎหมายฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม 2459 และให้มีอำนาจผ่อนผันในเรื่องกำหนดเวลายื่นใบสมัคร ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาได้พิจารณาแล้วมีมติให้นายกเนติบัณฑิตยสภาเป็นผู้สั่งรับหรือไม่รับนักเรียนกฎหมาย ส่วนการปกครองโรงเรียนกฎหมายตลอดจนการจัดการเรื่องการเรียนการสอนและการสอบไล่ มิได้เป็นหน้าที่ของเนติบัณฑิตยสภา

จะเห็นได้ว่าโรงเรียนกฎหมายในสมัยดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของการจัดการศึกษาวิชากฎหมายในประเทศไทย ที่เริ่มหันเหจากการศึกษาแบบวิชาชีพ ไปสู่การศึกษาตามแบบวิชาการ ซึ่งคล้ายกับการศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยของประเทศแถบยุโรป และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในสมัยต่อมา นอกจากนี้หลักสูตรการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นแบบอย่างของหลักสูตรวิชากฎหมายที่เปิดสอนในปัจจุบันด้วย

การเรียนการสอนและการสอบไล่วิชากฎหมายตั้งแต่แรกมานั้น นอกจากจะเป็นการให้การศึกษาเกี่ยวกับหลักกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสอนเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้และวินิจฉัยคดีอย่างผู้พิพากษาด้วย ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายเบื้องต้นของการก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายคือ การสร้างนักกฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาในระบบการศาลแบบสมัยใหม่ที่ปฏิรูปขึ้นมา และกระทรวงยุติธรรมก็มีนโยบายที่จะรับเนติบัณฑิตทุกคนของโรงเรียนกฎหมายไว้รับราชการศาล เว้นแต่ในกรณีที่มีความประพฤติเสียหายร้ายแรง จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2460 กระทรวงยุติธรรมได้ออกประกาศว่าจะไม่รับบุคคลเข้าราชการศาลจนกว่าจะมีตำแหน่งว่าง ดังนั้นจึงมีเนติบัณฑิตส่วนหนึ่งออกไปประกอบวิชาชีพกฎหมายในสาขาอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังอาจจะกล่าวได้ว่าตั้งแต่เมื่อแรกตั้งโรงเรียนกฎหมายจนถึงสมัยเป็นโรงเรียนหลวงในสังกัดกระทรวงยุติธรรมนั้น การสร้างนักกฎหมายของโรงเรียนกฎหมายเพื่อเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา ยังเป็นความต้องการของกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้น

    <- ย้อนกลับ   

    หน้าถัดไป ->